วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ฟ้อนฉาบ

ฟ้อนฉาบ
ผศ.สมภพ เพ็ญจันทร์
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
๕ ธันวาคม ๒๕๕๘

          ฟ้อนฉาบ เป็นผลงานสร้างสรรค์ของพ่อครูมานพ  ยาระณะ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง-ช่างฟ้อน และวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ โดยสร้างสรรค์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๒ คำว่า “ฉาบ” คนภาคเหนือเรียกว่า “สว่า” เป็นฉาบขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐-๒๐ นิ้ว ทำด้วยโลหะทองเหลือง (ทองแดงผสมสังกะสี) ใช้ตีเป็นเครื่องประกอบจังหวะในวงกลองแอว กลองไชยมงคล กลองบูชา กลองสะบัดชัย กลองปู่เจ่ กลองมองเซิง วงป๊าดก๊อง ฯลฯ
ก. ทำนองเพลง
          ฟ้อนฉาบ เป็นฟ้อนที่ขับเน้นความสำคัญของฉาบที่ตีเป็นทำนองเพลงต่างๆ เรียกว่า “เพลงฉาบ” ซึ่งเป็นการเรียกชื่อตามเสียงที่ได้ยิน ประกอบด้วย ต้นเพลงอีเชงแต้งแช (หมายถึง อิ ติ ปิ โส) เพลงหัวใจอิ ติ ปิ โส  เพลงเขียดขอฝน เพลงเขียดโขด เพลงนกยูงคำ และเพลงนกปู่ติ้ด
ข. เครื่องดนตรี
          ใช้วงกลองปู่เจ่ ประกอบด้วย กลองปู่เจ่ ๑ ใบ ฉาบใหญ่ ๑ คู่ โหม่ง ๕ ใบ       
ค. การแต่งกายของนักดนตรี
          นักดนตรีเป็นชายล้วน แต่งกายแบบชายชาวไต เพราะพ่อครูมานพ  ยาระณะ มีเชื้อสายชาวไตลื้อ (ตระกูลฝ่ายแม่) โดยนุ่งกางเกงขาก๊วย (เตี่ยวสะดอ) เสื้อแขนยาว ใช้ผ้าโพกศีรษะ
ง. ผู้แสดงและการแต่งกาย
          ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน แต่งกายแบบหญิงไตลื้อ โดยผู้ฟ้อนสวมเสื้อแขนยาวป้ายข้าง ผ้าถุงลายเชิงดำประดับเม็ดเงิน เกล้าผมมวยทรงเจดีย์ โพกศีรษะ ปักปิ่นเงิน สวมกำไลเงิน สร้อยคำ และต่างหูเงิน


จ. ความหมายของการฟ้อนและลำดับของท่าฟ้อน
ฟ้อนฉาบได้นำศิลปะแห่งกระบวนท่าฟ้อน มาประสานสอดคล้องกับการสื่อความหมายทางด้านคุณธรรม โดยผูกโยงเป็นเรื่องราว ๓ ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ ๑ ศรัทธา
                   หมายถึง ความถึงพร้อมแห่งใจกายที่มีความเลื่อมใสศรัทธา เชื่อมั่นในหลักแห่งความดี ปัจจัยแห่งความเป็นเหตุเป็นผลในการดำเนินชีวิตให้เกิดความมั่นคงเจริญงอกงาม ตามแนวทางของพุทธศาสนา
ท่าฟ้อน
๑. ท่าฉาบจ๊างโขงระวังภัย
๒. ท่าฉาบอีเชงแต้งแช

ช่วงที่ ๒ บูชา
                   หมายถึง การรู้จักคิด รู้จักพิจารณา และมีความตั้งใจแสดงออกด้วยความเคารพ อ่อนน้อม ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนาอย่างจริงใจ
ท่าฟ้อน
๓. ท่าฉาบประมะหรือป๋ารมี
๔. ท่าฉาบแม่ธรณีรีดผม
๕. ท่าฉาบปู่จาตะวัน
๖. ท่าฉาบปู่จาต๊าวตังสี่
๗. ท่าฉาบเกี้ยวเกล้า
๘. ท่าฉาบหลดศอก
๙. ท่าฉาบปู่จาแก้วตังสาม
๑๐. ท่าฉาบบิดบัวบาน

ช่วงที่ ๓ ปิติยินดี
                   หมายถึง การแสดงความปรีดาปราโมทย์ของเหล่ากัยาณมิตร ในการประกอบคุณงามความดีร่วมกัน อันจะส่งผลต่อความเป็นสิริมงคล

ท่าฟ้อน
๑๑. ท่าฉาบสางหลวง
๑๒. ท่าฉาบสางเกิ่ง
๑๓. ท่าฉาบบิดบัวบาน
๑๔. ท่าฉาบเกี้ยวเกล้า
๑๕. ท่าฉาบหลดศอก
๑๖. ท่าฉาบปรมะหรือป๋ารมี
๑๗. ท่าฉาบเกิ๊ดหาญ
๑๘. ท่าต่างฉาบ
๑๙. ท่าฉาบเขยาะก๋า
๒๐. ท่าฉาบออกวงเกวี๋ยน
๒๑. ท่าฉาบปู่จาตะวัน
๒๒. ท่าฉาบปู่จาแม่ธรณี
๒๓. ท่าฉาบเขียดขอฝน
๒๔. ท่าฉาบจ๊างโขงระวังภัย
๒๕. ท่าฉาบมหิงสาระวังฝูง



บรรณานุกรม
ดิษฐ์ โพธิยารมณ์และคณะ. ผลงานสร้างสรรค์การแสดงชุด ฟ้อนฉาบ.
งานวิจัยสร้างสรรค์ของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๕๒.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น