วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

แบบทดสอบหลังเรียนวิชานาฏศิลป์ไทย (ชุดที่ ๑)


แบบทดสอบหลังเรียน
วิชานาฏศิลปไทย (ชุดที่ ๑)
โดย ผศ.สมภพ  เพ็ญจันทร์ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

๑.  ระบำโบราณคดี ๕ ชุดในข้อใด เรียงลำดับได้ถูกต้อง?
ก.       ระบำศรีวิชัย ระบำเชียงแสน ระบำทวารวดี ระบำลพบุรี ระบำสุโขทัย
ข.       ระบำศรีวิชัย ระบำทวารวดี ระบำเชียงแสน ระบำลพบุรี ระบำสุโขทัย
ค.       ระบำทวารวดี ระบำศรีวิชัย ระบำลพบุรี ระบำเชียงแสน ระบำสุโขทัย
ง.        ระบำทวารวดี ระบำศรีวิชัย ระบำเชียงแสน ระบำลพบุรี ระบำสุโขทัย
๒.  ละครไทยชนิดแรกเกิดขึ้นในสมัยใด?
ก.       สมัยสุโขทัย
ข.       สมัยอยุธยา
ค.       สมัยธนบุรี
ง.        สมัยรัตนโกสินทร์
๓.  ละครไทยแบ่งตามลักษณะการแสดงได้ ๓ กลุ่มคืออะไรบ้าง?
ก.       ละครรำ  ละครร้อง  ละครพูด
ข.       ละครชาตรี  ละครนอก  ละครใน
ค.       ละครเสภา ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์
ง.        ละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ ละครเวที
๔.  ข้อใดเป็นละครรำแบบดั้งเดิมของไทย?
ก.       ละครโนห์รา ละครชาตรี ละครนอก ละครใน
ข.       ละครรำ ละครร้อง ละครพูด
ค.       ละครนอก ละครใน
ง.        ละครชาตรี
๕.  ละครรำที่ปรับปรุงขึ้นใหม่คือข้อใด?
ก.       ละครโนห์รา ละครชาตรี ละครนอก ละครใน
ข.       ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง ละครเสภา
ค.       ละครนอก ละครใน ละครพันทาง
ง.        ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง ละครโนห์รา
 ๖.  ละครชาตรีเล่นที่ภาคกลาง ถ้าเล่นที่ภาคใต้เรียกละครอะไร?
ก.       ละครใน
ข.       ละครเสภา
ค.       ละครนอก
ง.        ละครโนห์รา
๗.  การแต่งกายเลียนแบบพระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณเรียกว่าอะไร?
ก.       แต่งองค์
ข.       แต่งยืนเครื่อง
ค.       แต่งพระ-นาง
ง.        แต่งเต็มยศ
๘.  ละครในของไทยนิยมแสดงเรื่องใด?
ก.       อิเหนา
ข.       ขุนช้าง-ขุนแผน
ค.       ไกรทอง
ง.        สังข์ทอง
๙.  ข้อใดไม่นิยมนำมาเล่นละครนอก?
ก.       รถเสน
ข.       มณีพิชัย
ค.       อุณรุท
ง.        ไชยเชษฐ์
๑๐.  รัชกาลใด แสดงละครด้วยพระองค์เอง?
ก.  รัชกาลที่ ๑                     
ข.  รัชกาลที่ ๓
ค.  รัชกาลที่ ๕                     
ง.  รัชกาลที่ ๖
๑๑.  ยุคทองของละครในคือรัชกาลใด?
ก.  รัชกาลที่ ๒                      
ข.  รัชกาลที่ ๑
ค.  รัชกาลที่ ๖                       
ง.  รัชกาลที่ ๙

๑๒. สมัยพระนารายณ์มหาราช หลักฐานสำคัญที่รู้ได้ว่ามีโขน-ละคร เกิดขึ้นแล้ว คืออะไร?
ก.  กฎมณเฑียรบาล              
ข.  ศิลาจารึก
ค.  จดหมายเหตุราชทูต        
ง.  พระไอยการ
๑๓.  ในสมัยพระบรมโกศ มีบันทึกถึงละครข้อใดเป็นครั้งแรก?
ก. ละครนอก                      
ข. ละครใน
ค. ละครพันทาง                  
ง.  ละครเสภา
๑๔. พระมหานาค แต่งคำฉันท์เรื่องใด?
ก.  ราโชวาท                      
ข. ปุณโณวาท
ค. ราชาธิวาท                     
ง.  อัคนิวาท
๑๕. ผู้ริเริ่มละครพูดขึ้นคือรัชกาลโด?
ก.  รัชกาลที่ ๒                      
ข.  รัชกาลที่ ๔
ค.  รัชกาลที่ ๖                       
ง.  รัชกาลที่ ๗
๑๖.  ละครไทยที่ได้รับอิทธิพลจากยุโรปตะวันตก คือละครชนิดใด?
ก.       ละครนอก ละครใน
ข.       ละครร้อง ละครพูด
ค.       ละครเสภา
ง.        ละครชาตรี

 ๑๗. ละครเสภานิยมแสดงเรื่องใด?
ก.      ขุนช้าง-ขุนแผน
ข.      สังข์ทอง
ค.      เงาะป่า
ง.       ไกรทอง


๑๘. ผู้ให้กำเนิด “ละครพันทาง” คือ ท่านใด?
ก.      เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ดำรงค์
ข.      เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำมะรง
ค.      เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง
ง.       เจ้าพระยามหินทรศักดิ์รณรงค์
๑๙. ละครร้องนิยมแสดงเรื่องใด?
           ก. ผู้ชนะสิบทิศ
           ข. สาวเครือฟ้า
           ค. รถเสน
           ง. ไกรทอง
๒๐. ข้อใดไม่นิยมเล่นเป็นละครพันทาง?
          ก. ผู้ชนะสิบทิศ
          ข. ราชาธิราช
          ค. สามก๊ก
          ง. อิเหนา
๒๑.โขนเป็นแหล่งรวมศิลปะ โดยพัฒนามาจากการแสดง    ข้อใด?
ก. หนังใหญ่ ชักนาคดึกดำบรรพ์        
ข. หนังใหญ่  ละครดึกดำบรรพ์
ค. หนังตะลุง ชักนาคดึกดำบรรพ์       
ง. หนังตะลุง ละครดึกดำบรรพ์
๒๒.โขนนำวิธีการต่อสู้ ขึ้นลอย มาจากการแสดงชนิดใด?
ก. มวยไทย                   
ข. มวยคาดเชือก
ค. กระบี่-กระบอง           
ง. ปัญจสีลัต
๒๓.ข้อใดเป็นการละเล่นในพระราชพิธี?
ก. โมงครุ่ม กุลาตีไม้ ไต่เชือก  
ข. โมงครุ่ม กุลาตีไม้ ระเบ็ง
ค. โมงครุ่ม กุลาตีไม้ กระบี่-กระบอง   
ง. โมงครุ่ม กุลาตีไม้ ลิงขาวจับลิงดำ

๒๔.การแสดงของอินเดียที่โขนอาจจะได้รับอิทธิพลมาคือข้อใด?
ก. รามลีลา                
ข. ราชลีลา
ค. มณีปุระ                
ง. กถักฬิ
๒๕.ราชทูตชาวฝรั่งเศส ที่บันทึกเรื่องราวของโขนไว้ในสมัยพระนารายณ์มหาราช มีชื่อว่าอะไร?
ก. ลาละบาย            
ข. ลาลูแบร์
ค. ลาลู่                 
ง.  ลาแบร์ตอง
๒๖. โขน นิยมเล่นเรื่องอะไร?
ก. รามเกียรติ์          
ข.  อิเหนา
ค. อุณรุท                 
ง.  ขุนช้างขุนแผน
๒๗. ผู้ให้กำเนิดละครดึกดำบรรพ์ คือท่านใด?
           ก. เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์
          ข. เจ้าพระยาเทเวศร์วัฒนาวิวัฒน์
          ค. เจ้าพระยาเทเวศร์ศิริวิวัฒน์
          ง. เจ้าพระยาเทเวศร์ดำรงวัฒน์
๒๘. ผู้ให้กำเนิดปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ คือท่านใด?
          ก. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศราสวัสดิวงศ์
         ข. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศราวัฒนาวงศ์
         ค. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
         ง. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศราสันตติวงศ์
๒๙. ตามประวัติได้กล่าวว่าโขน-ละคร เริ่มเสื่อมลงในยุคสมัยใด?
         ก. รัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๕
         ข. รัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๖
         ค. รัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๗
          ง. รัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๘
๓๐.  โขนโรงใน สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยใด?
ก. รัชกาลที่ ๒                
ข. รัชกาลที่ ๔
ค. รัชกาลที่ ๖             
ง. รัชกาลที่ ๘

เรื่องย่อชาดกล้านนา แสงเมืองหลงถ้ำ


เอกสารประกอบการสอน
รายวิชา วรรณกรรมพื้นบ้านและชาดกล้านนา
ผศ.สมภพ เพ็ญจันทร์
วิทยาลัยนาฏศฺลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

เรื่องแสงเมืองหลงถ้ำ
          ณ เมืองเชียงทอง กาลครั้งหนึ่งท้าวมันธราชและนางสุมิรา ขึ้นครองราชย์แต่ไม่มีโอรส ท้าวมัณธราชจึงให้นางสุมิรา รับประทานอาหารวันละมื้อ รักษาศีล ๗ วันเพื่อขอลูก ซึ่งก็ร้อนถึงพระอินทร์ ต้องไปเชิญพระโพธิสัตว์มาปฏิสนธิในครรภ์นางสุมิรา และให้เทวดามาเกิดอีก ๑,๐๐๐ องค์ ในเมืองนั้น
          ในขณะประสูตินั้นเกิดอัศจรรย์ 3 ประการคือ ต้นไม้เหลืองไปหมด แม่น้ำแดงไปทั้งหมด และโดยเฉพาะหินทรายทั้งมวล กลายเป็นสีเขียวไปถึง 5 วัน เหตุนั้นจึงให้ชื่อพระโอรสว่า เจ้าชายเขียว และเนื่องจากพระอินทร์แปลงนำเอา “แสง” (แก้วมณี) มาให้ จึงตั้งชื่อว่า “แสงเมือง” อีกนามหนึ่ง เมื่อจำเริญอายุถึง ๑๖ ปีแล้ว เจ้าแสงเมืองก็เป็นที่เล่าลือกันทั่วไปว่ามีรูปงามยิ่งนัก และในช่วงนั้นพรานป่าได้ลูกหงส์คู่หนึ่งจากป่าหิมพานต์ จึงนำไปถวายเป็นเพื่อนเจ้าแสงเมือง หงส์ทั้งคู่ฉลาดและพูดภาษาคนได้
          เมื่อเจ้าแสงเมืองอายุ ๑๖ ปีนั้น พระบิดาโปรดให้สตรีสาวในเมืองเชียงทองทั้งสิ้นเข้าเฝ้าเจ้าแสงเมืองเพื่อให้ทรงเลือกเป็นชายา แต่บังเอิญคืนก่อนพิธีนั้นเจ้าแสงเมืองฝันไปว่า  หงส์ทั้งคู่ไปนำนางรูปงามผู้หนึ่งมาถวาย     จึงทำให้เจ้าแสงเมืองตั้งใจว่า หากไม่พบคนที่งามเหมือนฝันแล้วจะไม่เลือกนางใด เมื่อเห็นบรรดาสตรีที่มาให้ทรงเลือกนั้นไม่เหมือนนางในฝัน เจ้าแสงเมืองจึงไม่เลือกผู้ใด จากนั้นเจ้าแสงเมืองโปรดให้คนมาวาดภาพนางตามที่ตนฝัน แล้วให้หงส์นำรูปนั้นไปค้นหานางที่มีโฉมเหมือนรูป พร้อมกับมอบศุภสารไปถึงนางด้วย หงส์ก็เดินทางไปเที่ยวแสวงหานางในฝันนั้น ในเมืองพันธุมตินคร (โยนกนาคพันธุ์นคร-เชียงราย) ติสสรัฐ (อุตรดิตถ์) หริภุญไชย (ลำพูน)  นันทบุรี (น่าน) โกไศย (แพร่) จนกระทั่งไปพบนางเกี๋ยงคำแห่งเขมรัฐราชธานี (เชียงตุง)
          ท้าวสิริวังโสและนางทาริกาครองเมืองเขมรัฐราชธานีนี้ มีธิดาซึ่งเมื่อคลอดนั้นช่างดอกไม้ได้นำดอกไม้มาถวายและดอกเกี๋ยง (ดอกลำเจียก) ดอกหนึ่งกลายเป็นสีทองจึงโปรดให้ตั้งชื่อตามนั้นว่านางเกี๋ยงคำ เมื่อนางเกี๋ยงคำจำเริญวัยมาถึง ๑๕ ปีแล้ว ก็ทรงสิริโฉมงดงามยิ่งนัก กินปากของนางก็หอมเหมือนกลิ่นดอกลำเจียกอีกด้วย ท้าวสิริวังโสโปรดให้สร้างปราสาทให้นางอยู่ต่างหากและมีบริวารอยู่ด้วยอีกสองคน
          เมื่อหงส์ทราบข่าวนางเกี๋ยงคำจากนกแขกเต้าที่เป็นนกเลี้ยงก็ไปค้นหาและไปพบ เมื่อนางทราบเรื่องแล้วก็พอใจจึงมอบแหวนวิเศษที่มีรูปของนางอยู่ในหัวแหวนนั้นฝากไปถวายเจ้าแสงเมือง การติดต่อดังกล่าวนั้นนางมิให้ผู้ใด
แพร่งพรายเรื่องออกไป ครั้นเจ้าแสงเมืองประจักษ์ความแล้ว จึงนำความและแหวนไปเล่าถวายแก่พระบิดาและมารดาจากนั้นทูตจากเมืองเชียงทองจึงเดินทางไปสู่เมืองเขมรัฐ พร้อมกับราชบรรณาการเพื่อขอนางเกี๋ยงคำ ครั้นท้าวสิริวังโสทราบเรื่องและรู้รายละเอียดในการที่เจ้าแสงเมืองติดต่อมานั้น ก็ทรงรับเครื่องราชบรรณาการและตอบแทนไปด้วย     ราชบรรณาการเช่นกัน เมื่อการติดต่อสำเร็จด้วยดีแล้วทั้งสองเมือง ต่างก็เตรียมจัดงานอภิเษกเป็นงานใหญ่
          ในเมืองเชียงทองนั้น มีพิธีสังเวยเทพารักษ์ประจำเมืองในทุกวันแรม ๑ ค่ำ ที่ดอยหลวงและเนื่องจากเจ้าแสงเมืองจะรีบไปในการอภิเษกนั้นจึงไปทำพิธีสังเวยเทพารักษ์ก่อนกำหนด เมื่อเสร็จพิธีก็อยากเที่ยวในถ้ำจึงพาบริวารอีก ๑,๐๐๐ คนเข้าไปในถ้ำที่ดอยหลวง ขณะที่เที่ยวชมอยู่นั้นคบไฟได้มอดดับไปและทุกคนไม่สามารถหาทางออกได้ แม้คนจากในเมืองพยายามไปตามหาก็ไม่พบกัน ความทุกข์ความหม่นหมองก็เข้าครองเมืองเชียงทอง แล้วกระจายไปสู่เขมรัฐตามลำดับ โดยเฉพาะนางเกี๋ยงคำถึงกับไม่ยอมแต่งเนื้อแต่งตัวไปพักหนึ่ง เมื่อได้สตินางก็สร้างศาลาหลังหนึ่งไว้ในเมืองเพื่อให้คนมาพักและนางก็จัดคนไปคอยฟังข่าวจากคนมาพักที่ศาลานั้น โดยหวังจะทราบเรื่องของเจ้าแสงเมือง และในเมืองเขมรัฐนั้นมีเศรษฐีผู้หนึ่งได้เอาเงินไปถวายพระเจ้าสิริวังโสและขอนางเกี๋ยงคำแก่ลูกชายของตน ครั้งนางเกี๋ยงคำไม่ยอมรับ ก็ไปขอพระเจ้าหลานเธอนางก็ไม่ยอมอีก ลูกเศรษฐีแค้นใจจึงยุทูตจากเมืองจัมปา ให้พระญาจัมปามาตีเมืองเพื่อชิงนางเกี๋ยงคำ
          ฝ่ายเจ้าแสงเมืองที่หลงอยู่ในถ้ำด้วยอานุภาพของเวรแต่ปางหลัง เป็นเวลาถึง ๑๑ เดือนบริวารตายไปแล้ว ๙๙๓ คน เหลืออยู่ ๖ คนและเจ้าแสงเมืองอีกหนึ่งองค์ที่ยังไม่สิ้นพระชนม์ ทั้งนี้ด้วยอานุภาพของแก้วมณีที่คาดไว้กับเอวนั้นเพียงแต่ทุกคนผอมจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกและมีลมหายใจรวยรินเท่านั้น เมื่อเข้าตาจนเช่นนั้น เจ้าแสงเมืองจึงอธิษฐานว่าหากตนจะได้เป็นพระพุทธเจ้าจริงแล้ว ก็ขอให้พระอินทร์มาช่วยเถิด จากนั้นก็พาบริวารที่เหลือคลำทางไปในถ้ำไปพบช่องแสงของถ้ำและพระอินทร์แปลงเป็นพรานป่ามีอาวุธและเสบียงมาช่วย เจ้าแสงเมืองรู้ว่าเป็นพระอินทร์จึงขอให้ช่วยสอนมนตร์ชุบชีวิตคน พระอินทร์ก็สอนมนต์ให้และมอบดาบสรีกัญไชยพร้อมทั้งสอนวิธีใช้แก้วมณีประจำตัวนั้นด้วย
          เจ้าแสงเมืองชุบชีวิตบริวารขึ้นมา แล้วก็พากันเดินไปจนถึงอาศรมสุทธฤาษีตามคำบอกของพระอินทร์ ฤาษีได้สอนวิชาการบางอย่างให้ด้วย เมื่อพักอยู่จนแข็งแรงขึ้นบ้างแล้ว ก็เดินทางต่อไปสู่เขมรัฐ ได้พบนายบ้านปัจฉิมคามชื่อโกสิยาและโกธิกา แล้วพักอยู่กับนายบ้านนั้น นายบ้านทั้งสองเห็นลักษณะของเจ้าแสงเมืองแล้วก็ไต่ถาม เมื่อรู้ความจริงจึงยกลูกสาวของคนทั้งสองให้ คือยกนางสุนันทาแก่เจ้าแสงเมือง และยกนางสุวิราแก่เจ้าสุริราซึ่งเป็นคนสนิทยิ่งของเจ้าแสงเมือง รุ่งเช้าเจ้าแสงเมืองจึงนำบริวารทั้ง ๖ คนเหาะไปสู่เมืองเชียงทอง เมื่อไปถึงเมืองแล้วก็เข้าพักในศาลาที่นางเกี๋ยงคำที่นางเกี๋ยงคำสร้างไว้นั้นสร้างไว้นั้น คนของนางซึ่งคอยมาฟังข่าววันละ ๒ ครั้งนั้น เห็นบุคคลที่มีบุคลิกน่าสนใจมาพักและ
สนทนากับหญิงสาวกลุ่มหนึ่ง ก็เข้าไปซักถามแต่ก็ไม่ได้ความนัก นางจึงเข้าไปทูลนางเกี๋ยงคำตามที่ตนสงสัยว่าอาจเป็นเจ้าแสงเมืองก็ได้
          คืนนั้นเจ้าแสงเมืองเหาะไปหานางเกี๋ยงคำ นางเกี๋ยงคำไม่ทราบว่าเจ้าแสงเมืองเหาะได้ ก็คาดว่าคงเป็นเทวดา นาค ครุฑ และไม่ยอมให้เจ้าแสงเมืองเข้าในปราสาท แต่ก็สนทนากันด้วยไมตรี รุ่งขึ้นนางก็ให้นางรัมพรังสีญาติคนสนิทของตนไปสืบข่าว เจ้าแสงเมืองหลบไปนอนในม่านคงให้เจ้าสุริราออกรับหน้า ทั้งสองสนทนากันด้วยความพอใจซึ่งกันและกัน ก่อนกลับนางได้ไปตลบม่านดูอาการของเจ้าแสงเมือง เจ้าแสงเมืองจึงตัดพ้อว่านางเกี๋ยงคำไม่ยอมรับรู้ว่าตนเป็นเจ้าแสงเมืองและไม่ยอมให้ตนเข้าไปหาในปราสาท ในคืนนั้นเจ้าแสงเมืองออกไปหานางเกี๋ยงคำและนางรัมพรังสีในปราสาททั้งสองเข้าใจกันอย่างดียิ่ง นางเกี๋ยงคำชวนเจ้าแสงเมืองให้ไปอยู่ในปราสาท แล้วตนจะไปบอกพระบิดาทีหลัง เจ้าแสงเมืองก็กล่าวว่าเป็นการไม่เหมาะที่จะลบหลู่ท้าวสิริวังโสเช่นนั้น
          รุ่งขึ้นนางเกี๋ยงคำจึงไปทูลเรื่องเจ้าแสงเมืองแก่พระราชบิดา ท้าวสิริวังโสดีพระทัยรักจึงให้จัดขบวนไปรับเสด็จ
เข้าเมือง แล้วต่อมาก็ได้อภิเษกนางเกี๋ยงคำกับเจ้าแสงเมือง นางรัมพรังสีกับเจ้าสุริรา ให้ลูกสาวอำมาตย์ ๔ นาง แต่งงานกับบริวารของเจ้าแสงเมือง และในคราวนั้นนายบ้านทั้งสองก็ได้นำธิดาของตนมาสมทบในการอภิเษกด้วย ต่อมาท้าวสิริวังโสก็มอบราชสมบัติให้เจ้าแสงเมืองครอบครองแทน
          เมื่ออยู่ในเขมรัฐปีหนึ่งแล้ว เจ้าแสงเมืองจึงพาคณะเดินทางไปเยี่ยมเมืองเชียงทองเมืองของพระบิดาตน แต่เดินทางไปได้เพียง ๓ วัน พระญาจัมปาก็ยกพลมาจะเข้าตีเมืองเพื่อชิงนางเกี๋ยงคำ ท้าวสิริวังโสจึงให้คนไปตามเจ้าแสงเมืองเจ้าแสงเมืองให้คณะยกตามมา ส่วนตนเหาะกลับเข้าเมืองก่อน จากนั้นเจ้าแสงเมืองก็ได้เริ่มรบด้วยอาคมกับของฝ่ายจัมปานคร การรบเข้มข้นขึ้นตามลำดับ จนในที่สุดพระญาจัมปาก็ยอมอ่อนน้อมต่อเจ้าแสงเมือง
          เมื่อเสร็จศึกแล้วเจ้าแสงเมืองจึงได้เดินทางไปเยี่ยมเชียงทองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงก็มีการฉลองกันอย่างใหญ่โตและอภิเษกเจ้าแสงเมืองขึ้นครองราชย์อีกด้วย จากนั้นเจ้าแสงเมืองจึงพาคนไปยังถ้ำที่ตนเคยหลงอยู่นั้นแล้วขนทรัพย์สมบัติในถ้ำใส่เกวียนกลับเมือง ซึ่งต้องใช้เวลาขนถึง ๓ วันกว่าสมบัติจะหมดสิ้น ส่วนหงส์ทองของเจ้าแสงเมืองนั้นเมื่อเห็นว่านายของตนเองหายไปก็มีแต่ความทุกข์ พยายามไปค้นหาตามเมืองต่างๆ ในที่สุดก็ไปอยู่ที่เดิมของตนในป่าหิมพานต์และสุดท้ายก็ถูกเหยี่ยวลวงไปให้เสือจับกิน ครั้นนายพรานที่เคยนำของไปถวายนั้นพบเศษขนก็จำได้ จึงนำขนหงส์ไปถวายเจ้าแสงเมือง เจ้าแสงเมืองจึงโปรดให้เอาขนนั้นไปทำเป็นพัด หลังจากนั้นทุกฝ่ายก็ดำเนินชีวิตอย่างสงบจนถึงแก่อายุขัยแห่งตน


เอกสารอ้างอิง

อุดม  รุ่งเรืองศรี. วรรณกรรมล้านนา.  ปรับปรุงครั้งที่ 5 และพิมพ์ครั้งที่ 2
กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2546.