วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2561

ชาดกล้านนา เรื่อง พรหมจักรชาดก


พรหมจักรชาดก
พรฯ฿หมฯจักรฯ ชาด฿กฯ

          ในอดีตกาลยังมีกษัตริย์องค์หนึงชื่อ “พญาวิโรหาราชา” เสวยราชที่เมืองลังกา มีอัครมเหสีชื่อกัญจนเทวี มีโอรส ๒ องค์คือ วิโรหาราชกุมารและนันทกุมาร เมื่อวิโรหาราชกุมารอายุ ๑๖ ปีและนันทกุมารอายุ ๑๓ ปี ต่างก็เรียนรู้ศิลปศาสตร์และไตรเพททังมวล ส่วนวิโรหาราชกุมารนันมีของทิพย์คู่บุญคือ เกือกทิพย์ ธนูทิพย์และดาบทิพย์คือดาบสรีกัญไชย ต่อมาวิโรหาราชกุมารก็อภิเษกสมรสและรับสมบัติแทนพระบิดาสืบมา
          พญาวิโรหามีฤทธิ์เป็นอันมาก อาจใช้เกือกทิพย์เหาะไปที่ต่างๆ  วันหนึ่งวิโรหาได้เนรมิตกายเป็นพระอินทร์ไปเสพสุขกับนางสุธัมมา เมื่อพระอินทร์ได้หลักฐานว่าพญาวิโรหาเข้าหาเมียของตนเช่นนั้นก็คิดว่า หากจะกำจัดพญาวิโรหาเสีย ก็ย่อมไม่สมควรแก่ความเป็นหัวหน้าเทวดาจึงปล่อยตัววิโรหาไปในที่สุด เมื่อถึงกำหนดที่นางสุธัมมาจะจุติแล้ว พระอินทร์ก็ให้นางไปเกิดในเมืองลังกาเพื่อทำลายพญาวิโรหา นางจึงไปปฏิสนธิในครรภ์ของนางเกสี เมื่อคลอดแล้วพญาวิโรหาก็ตั้งชื่อว่ารัตนกุมารี โชติพราหมณ์ที่พญาวิโรหาเชิญมาก็ทำนายว่ากุมารีนันมีบุญนัก แต่นางจะทำให้พญาวิโรหาถึงแก่ความพินาศ ควรที่จะนำไปลอยแพเสีย เมื่อนำนางไปลอยเเพแล้ว แพของรัตนกุมารีก็ลอยไปติดที่ท่าน้ำของฤาษีรูปหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับเอากุมารีนั้นไปเลี้ยงจนโตขึ้นมา และได้ชื่อใหม่ว่า “นางสีดา” และนางก็ให้ความอุปฐากแก่ฤาษีเหมือนเป็นบิดาของตนเรื่อยมา
          ในเมืองพาราณสี มีกษัตริย์ชื่อท้าวพรหมทัต มีมเหสีซี่อนางสุคันธเกสีเทวี เมื่อครบกำหนดที่พระโพธิสัตว์จะจุตินั้น ก็ได้มาปฏิสนธิเป็นโอรสของท้าวพรหมทัต และได้รับการขนานพระนามว่า “พรหมจักร” อีกปีหนึ่งต่อมาก็มีราชโอรสอีกองค์หนึ่งชื่อว่า “รัมมจักร” เมื่อกุมารทั้งสองมีอายุได้ ๑๖ ปี และ ๑๕ ปี ก็ได้พากันไปเรียนวิชาการรบพุ่งต่างๆ ที่เมือง   ตักกสิลาเป็นเวลา ๑ เดือน เมื่อจบแล้วก็เดินทางกลับพาราณสี ในขณะที่เดินผ่านป่าแห่งหนึ่งได้พบครุฑกำลังรบกันอยู่ พรหมจักรก็ยิงถูกครุฑผู้น้องตกลงมาตาย พญาครุฑผู้พี่จึงได้เข้ามาขอเป็นข้าช่วงใช้ จากนั้นสองพี่น้องก็เดินทางต่อไปอีก 16 วันก็ถึงเมืองพาราณสี ท้าวพรหมทัตก็ได้อภิเษกให้พรหมจักรเป็นกษัตริย์และตั้งรัมมจักรเป็นอุปราช
          คืนหนึ่งพรหมจักรฝันไปว่า ได้นางเทพธิดามาเป็นชายา แต่กลับถูกวิทยาธรตนหนึ่งมาลักไป ความฝันนี้ทำให้พรหมจักรคิดออกเดินป่าค้นหานางแก้วคู่บุญ ฝ่ายพระอินทร์เมื่อเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่นางสีดาควรจะได้พบกับโพธิสัตว์ จึงแปลงเป็นกวางทองมาชักนำให้นายพรานตามไปจนพบนางสีดา เมื่อเห็นนางงามเช่นนั้น นายพรานก็คิดจะไปทูลให้พญา  วิโรหาของตนให้รู้ ระหว่างทางกลับเมืองลังกานั้น นายพรานก็ได้พบพ่อค้าต่างเมืองอีกหลายคน ก็เล่าเรื่องนางสีดาให้ฟังพ่อค้าเหล่านั้นก็นำกิตติศัพท์ความงามของนางสีดาเล่าต่อกันไปและนำไปกราบทูลกษัตริย์ของตน ส่วนพรานผู้นั้นเมื่อถึงลังกาแล้วก็ไปทูลพญาวิโรหา ซึ่งพระองค์ก็รีบยกพลไปขอนางสีดาทันที ฝ่ายกษัตริย์อื่นๆ อีกร้อยเอ็ดเมืองต่างก็มาด้วยความประสงค์อย่างเดียวกัน พระฤาษีจึงให้กษัตริย์เหล่านั้นยิงธนูดู ผู้ใดยิงได้จึงจะได้นาง กษัตริย์ทุกองค์รวมทั้งวิโรหาด้วยก็ไม่มีผู้ใดยิงได้ กษัตริย์ต่างๆ ก็พากันกลับไปหมด พญาวิโรหาก็ให้กองทัพยกกลับไป ส่วนตัวเองก็แอบอยู่ในบริเวณนั้นเพื่อรอโอกาสอยู่
          ฝ่ายพรหมจักรและทหารคู่ใจ 5 นายเดินทางจากพาราณสีได้ 7 วัน ได้รบชนะยักษ์ตนหนึ่ง ซึ่งก็ได้แก้ววิเศษชื่อ “ทิพพจักขุ” และยักษ์นั้นขอเป็นข้าช่วงใช้ด้วย จากนั้นจึงเดินทางต่อไป บังเอิญไปพบนางสีดาซึ่งสรงน้ำในสระแห่งหนึ่ง ทั้งสองเกิดเสน่หาต่อกัน พรหมจักรจึงไปขอนางจากฤาษี ซึ่งฤาษีก็ให้พรหมจักรลองขึ้นสายธนูและยิงก้อนหินให้ดู     พรหมจักรสามารถทำได้อย่างง่ายดาย จึงได้รับนางสีดาและธนูเป็นรางวัล พรหมจักรจึงพานางคืนสู่กุรุรัฏฐนคร
          ฝ่ายพญาวิโรหาเมื่อทราบเหตุด้วยตาทิพย์ ก็เนรมิตกายเป็นกวางทอง มาล่อให้พรหมจักรตามไป แล้วแปลงเป็นฤาษีบิดาบุญธรรมของนางสีดาเข้ามาหานางและอุ้มเอานางสีดาเหาะไปลังกา ระหว่างทางก็ได้ผ่านป่างิ้วซึ่งเป็นป่าที่อยู่ของครุฑ พญาครุฑจึงพาบริวารเข้าจิกตีวิโรหาแต่ก็พ่ายแพ้ ถูกพญาวิโรหาฟันร่วงลงสู่พื้นจนหมดสิ้น เมื่อถึงลังกาแล้วพญา     วิโรหาจะเข้าเสพสุขกับนาง ก็เกิดรุ่มร้อนไปหมด จึงให้นางอยู่ที่ปราสาทแห่งหนึ่งเพื่อจะหาวิธีจะได้นางต่อไป
          ทางด้านพรหมจักรเมื่อทราบว่าเมียหายก็ออกตามจนไปพบพญาครุฑและบริวารที่บาดเจ็บ ครุฑเหล่านั้นได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้พรหมจักรฟัง พรหมจักรก็ได้ช่วยเสกเป่าด้วยมนต์ให้ครุฑเหล่านั้นหายเป็นปกติดังเดิม
          พรหมจักรเดินทางต่อไป ได้พบ “พญากาวินทะ” ซึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งและได้นางวานรตัวหนึ่งเป็นเมีย ลูกที่เกิดมานั้นให้ชื่อว่า “หรมาร” และเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์เป็นอันมาก พญากาวินทะกล่าวว่าตนเป็นน้องของ “พญากาสีกราช”  ผู้ครองเมืองกาสี
          คราวหนึ่งมีควายตัวหนึ่งมีนางควายเป็นเมียได้หมื่นตัว ก็ได้ฆ่าลูกที่เป็นตัวผู้หมด ครั้งนั้นมีนางควายตัวหนึ่งตั้งท้องแล้วไปคลอดในถ้ำแห่งหนึ่ง ตกลูกเป็นตัวผู้ ลูกควายนั้นเมื่อเจริญวัยก็ได้ฝึกฝนการต่อสู้ จนเห็นว่าสามารถต่อสู้กับพ่อตัวเองได้แล้ว จึงไปท้าพ่อควายให้มาลองต่อสู้กัน การรบคราวนั้นพ่อควายแพ้  ลูกควายก็ได้ครองฝูงสืบมาต่อมา เมื่อลูกควายมีความหยิ่งผยองในฤทธิ์ของตนมากขึ้น ก็พาบริวารไปทำลายไร่นาของชาวเมืองกาสี พญาสีกราชก็รบกับควายและไปสู้กันต่อในถ้ำ พร้อมกับสั่งพญากาวินทะและอำมาตย์ให้คอยดูว่า ถ้าเลือดข้นไหลออกมาก็แสดงว่าเป็นเลือดควาย หากเลือดที่ไหลออกมาเหลวใส ก็หมายความว่าตนเสียทีแล้ว ให้เอาหินปิดถ้ำและให้พญากาวินทะครองเมืองแทน ครั้งนั้นพญากาสีกราชชนะและฆ่าควายได้ แต่เลือดควายที่ไหลออกมานั้นปนกับน้ำ จึงดูเหมือนกับเลือดเหลวใส พญากาวินทะและอำมาตย์จึงชวนกันปิดถ้ำ แล้วกลับไปยังเมืองพาราณสีและอภิเษกพญากาวินทะเป็นกษัตริย์ ฝ่ายพญากาสีกราชเห็นถ้ำ  ปิดอยู่ก็โกรธ จึงทลายถ้ำแล้วขับไล่พญากาวินทะออกจากเมือง พญากาวินทะจึงไปอยู่ป่าและได้เมียเป็นวานรตั้งแต่บัดนั้น
          พรหมจักรได้เล่าเรื่องของตนให้พญากาวินทะฟังบ้าง ซึ่งพญากาวินทะก็เห็นใจและอาสาจะช่วยพรหมจักรรบกับ  วิโรหา จากนั้นพรหมจักร พญากาวินทะ หรมาร และบ่าวไพร่ก็เดินทางเข้าสู่เมืองกาสีเพื่อหาทางช่วยให้พญากาวินทะได้ครองเมือง แต่ได้ทราบว่าพญากาสีกราชสิ้นพระชนม์ไปแล้ว เสนาอำมาตย์จึงเชิญพญากาวินทะขึ้นครองเมืองกาสีต่อไป
          หลังจากนั้นพรหมจักรก็ส่งสาส์นไปกราบทูลเรื่องต่างๆ ให้พญาพรหมทัตเป็นบิดาทรงทราบ แล้วจึงขอกองทัพจากเมืองกาสีและกองทัพจากร้อยเอ็ดหัวเมืองเพื่อไปรบกับพญาวิโรหา คราวนั้นรมจักรผู้เป็นอุปราชเมืองพาราณสีก็ได้ยกพลมาที่เมืองกาสี พญากาวินทะก็จัดทัพใหญ่โดยมีพระองค์เองและหรมารเป็นแม่ทัพ เมื่อกองทัพต่างๆพร้อมแล้วก็ออกเดินทางใช้เวลา 3 เดือนก็บรรลุถึงฝั่งมหาสมุทร จึงได้หาทางข้ามมหาสมุทรต่อไป
          จากนั้นการสร้างสะพานก็เริ่มขึ้น หรมารเอาเถาวัลย์และหวายผูกติดเอวของตนเหาะไปถึงเกาะกลางน้ำ แล้วเอาเถาวัลย์หวายนั้นผูกกับต้นไม้ใหญ่ ถัดนั้นจึงเอาไม้ไผ่ไม้กลวงทำเป็นทุ่นลอย เพื่อลำเลียงอุปกรณ์และเริ่มลงหลักสร้างสะพานต่อมา ในขณะนั้นพวกสัตว์น้ำก็ได้มาทำร้ายผู้คนจนล้มตายไปมาก หรมารจึงต้องดำน้ำลงไปรักษาการณ์อยู่ การสร้างสะพานดำเนินไปเดือนหนึ่งจึงสำเร็จลง แล้วจึงพากันยกพลข้ามสะพานไปสู่ลังกา
          ในขณะที่หรมารรักษาการณ์ในน้ำนั้น ยังมีนาคสาวตนหนึ่งชื่อ “นาคมาลิกา” ได้ดูดกินน้ำปนเหงื่อและปัสสาวะของ   หรมารจึงตั้งครรภ์ เมื่อบิดานางรู้เรื่องทั้งหมด ก็แปลงเป็นคนไปดูการสร้างสะพาน บังเอิญมีครุฑบินผ่านมาเห็นจึงเข้าจับพญานาคแปลงแล้วบินไปทางเมืองลังกา ขนาดนั้นพญาวิโรหาออกมานั่งผิงแดดอุ่นในยามเช้าอยู่ เห็นครุฑแสดงอาการไม่เกรงตนจึงใช้ธนูยิงครุฑ ครุฑตกใจจึงปล่อยนาคแล้วหนีไปหาพรหมจักร พร้อมทั้งอาสาจะช่วยพรหมจักรรบกับวิโรหา ฝ่ายนาคเมื่อพ้นจากความตายแล้ว ก็ไปเล่าเรื่องการสร้างสะพานแก่พญาวิโรหาพร้อมทั้งอาสาจะช่วย
          ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายส่งทหารออกลาดตระเวนนั้น พรหมจักรก็ให้หรมารไปสืบข่าวว่านางสีดาจะยังคงรักตนหรือไม่ พร้อมทั้งส่งสาส์นไปให้นางด้วย หรมารเหาะไปแต่เหาะข้ามเมืองลังกาไปถึงป่าหิมพานต์ จึงเข้าไปถามทางจากฤาษีตนหนึ่งแล้วพักอยู่ด้วยในคืนนั้น รุ่งเช้าฤาษีไปบิณฑบาตและสั่งห้ามมิให้หรมารไปทางทิศเหนือของอาศรม แต่หรมารไม่เชื่อจึงถูกยักษ์แปลงเป็นปลิงพันขาพญาวานรไว้ เพื่อจะลากลงไปกินในสระ ต่างฝ่ายต่างดึงกันอยู่ เมื่อฤาษีกลับมาพบเข้าจึงถ่มน้ำลายถูกปากปลิง ปลิงก็ปล่อย เมื่อรับประทานอาหารแล้วฤาษีก็บอกทางไปเมืองลังกาแก่หรมาร
          เมื่อหรมานพบกับนางสีดาแล้าก็ถวายสาส์น นางสีดาจึงสั่งความไปทูลให้พรหมจักรรีบยกทัพมารับนาง ในตอนเดินทางกลับนั้นหรมารอยากรู้ทางเข้าออกของเมือง จึงมาที่เสนาทั้งหลายชุมนุมกันอยู่และถูกจับไปนอกเมือง เสนาจึงเอาหญ้าคามัดหลังหรมารแล้วจุดไฟเผาและปล่อยไป หรมารจึงไปสู่เรือนของพญาและอามาตย์ทั้งหลายจนไฟไหม้ทั้งเมือง  แล้วหรมารก็โดดลงน้ำเพื่อดับไฟและเหาะกลับไปยังกองทัพของพรหมจักร
          พรหมจักรเริ่มเคลื่อนทัพตีหัวเมืองลังกาเข้าไปตามลำดับ ทหารของลังกาที่พ่ายแพ้จึงไปทูลให้พญาวิโรหาทรงทราบ ซึ่งวิโรหาก็สั่งให้จัดทัพและเรียกพลจากเมืองต่างๆ ไปรวมกัน แล้วจึงสังเวยอารักษ์ประจำเมือง จากนั้นจึงเคลื่อนทัพออกไป มีนายทัพชื่อต่างๆ จำนวน ๖ นายควบคุมไปตั้งรับข้าศึก ทัพฝ่ายพรหมจักรซึ่งมีนายทัพ ๘ นายก็เข้าต่อสู้กัน    รัมมจักรจึงร่ายมนตร์เกิดเป็นเกวียนไฟ ไล่ทัพลังกาจนพ่ายไป ทัพของพญาวิโรหาเสียนายทัพไป ๓ นายและเสียทหารไปหมื่นเศษ ในการรบครั้งต่อมา “นันทะ” อุปราชฝ่ายลังกาถูกจับได้และลังกาเสียขุนทัพไปอีก ๕ นาย รวมกับเสียทหารอีกหลายโกฏิจนไม่อาจนับได้ แล้วทัพของพรหมจักรก็เข้าล้อมเมืองลังกา ครั้งนั้นวิโรหาและรัมมจักร ได้ต่อสู้กันด้วยการเสกมนตร์เป็นน้ำ ไฟ ลม หรือภาพยนตร์ จนพญาวิโรหาเกิดแค้นใจที่ตนมีฤทธิ์ ซึ่งไม่มีใครต้านทานได้ ยังมาถูกลองฤทธิ์เช่นนี้
          พรหมจักรส่งสาส์นถึงพญาวิโรหาให้ส่งนางสีดาคืน หากไม่คืนก็ให้มาชนช้างในวันรุ่งขึ้น พญาวิโรหาเรียกนาคให้นาคยกทัพไปช่วย จากนั้นก็กรีฑาพล เมื่อทัพทั้งสองเผชิญหน้ากัน ทัพนาคบุกเข้าไปจนกองทัพของพรหมจักรระส่ำระสาย จึงขอให้ครุฑมาช่วยจนนาคหนีไป แล้ววิโรหาก็ใช้ธนูสิงห์ยิงครุฑจนแตกพ่ายไป ครั้งนั้นวิโรหาเนรมิตกายมี ๑๐ เศียร     ตาแดงดังไฟ ถือดาบสรีกัญไชยเข้ารุกจนนายทหารฝ่ายพรหมจักรล้มตายไปมาก เมื่อค่ำลง ทั้งสองฝ่ายก็ยกทัพกลับ พอเช้าขึ้นก็ออกมารบกันใหม่ เป็นเวลานานถึง ๑๐ เดือน
          พญานาคเห็นว่าจะรบกับพรหมจักรบนดินไม่ได้ ก็อาสาพญาวิโรหาว่าจะดั้นแผ่นดินไปที่ทัพพรหมจักร แล้วลักตัวพรหมจักรไปบาดาลและก็ทำได้สำเร็จ เกิดโกลาหลทั่วไปในทัพของพรหมจักร เจ้านันทะอนุชาของวิโรหาซึ่งถูกขับและหนีมาอยู่กับพรหมจักรก็บอกว่าพรหมจักรถูกนาคลักตัวไปและให้หรมารติดตามไปจนถึงเมืองนาค แล้วพาตัวพรหมจักรกลับค่าย ฝ่าย “หรยี” เป็นลูกของหรมารกับนางนาคมาลิกา เห็นผู้มาชิงนักโทษจึงเข้าไปต่อต้าน เมื่อรู้จักกันแล้วหรมารจึงสั่งหรยีให้อยู่กับแม่และหรมารก็พาพรหมจักรกลับคืนไป
          ถัดมาอีก ๓ วันพญาวิโรหาก็ยกทัพใหญ่ออกมารบกับพรหมจักร โดยเนรมิตกายมี ๑๐ เศียร เหาะมาท้ารบกับพรหมจักร คราวนั้นพญาวิโรหายิงธนูมาถูกที่พระบาทของพรหมจักรแล้วยกทัพกลับไป พรหมจักรได้รับความทรมานมากจากพิษธนู เสนาฝ่ายพรหมจักรก็ได้ปรึกษากันและถามเจ้านันทอุปราช เจ้านันทอุปราชก็บอกว่ายาที่จะรักษาพิษธนูนันอยู่ที่จอมดอยจิกดวงปลี พญากาวินทะจึง ให้หรมารเหาะไปนำมาฝนทาที่พระบาท พิษธนูจึงหายไป
          เมื่อหายปวดจากพิษธนูแล้ว พรหมจักรก็ปรึกษากับรัมมจักร, พญากาสี, หรมารและเสนาทั้งหลายว่า บัดนี้รบกันมาได้ ๑๐ เดือนแล้วและเสียโยธาไปมากมาย ยังไม่สามารถเอาชนะกันได้ มีวิธีไหนที่จะปราบวิโรหาได้ เมื่อถามเจ้านันทอุปราชนัน เจ้านันทอุปราชก็บอกให้นำเอาดินติดหางครกกระเดื่อง กับไม้ซีกจากชานบ้านและดินพอกหางหมู รวมกันไปใส่ที่ยอดฉัตร แล้วไปทำพลีกรรม เลี้ยงผีอารักษ์ที่ชื่อ “ราพณาสูร” ซึ่งสถิตอยู่ที่ไม้แคฝอยด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง มีเหล้า ๑๐๐ ไห และความเผือกหนุ่มมาพล่าและแกง กับทางหมูด่างขาวที่เท้ามีกีบติดกัน ปรุงเป็นอาหารอย่างดีไปให้ราพณาสูรอารักษ์ประจำเมืองนั้น ราพณาสรจะแปลงเป็นแร้งมากินเครื่องเซ่น แล้วให้หาชายที่ไม่เคยมองหน้าสตรีครบ ๓ ปี เป็นผู้น้าวธนูยิงผีอารักษ์แปลงนั้นและให้ยิงพญาวิโรหาจึงจะสำเร็จ เมื่อสืบดูแล้วทราบว่า รัมมจักรเป็นผู้เดียวที่ไม่เคยมองหน้าสตรีมาสี่ปีแล้ว และหรมารก็ได้ไปยืมคนธนูและลูกศรมาจากนางยักษ์ตนหนึ่งมาได้ จากนั้นจึงดำเนินการตามคำของนันทอุปราชทุกประการ ทั้งการสังเวยอารักษ์ การประหารอารักษ์และการนําสิ่งอัปมงคลไปใส่ที่ยอดฉัตรของพญา     วิโรหา
          รุ่งขึ้น ปีนใหญ่ฝ่ายพรหมจักรก็ยิงเปิดสงคราม แล้วเคลื่อนทัพเตรียมปล้นเอาเมือง พญากสีเขียนสาส์นลงบนแผ่นไม้ไปท้ารบ พญาวิโรหาโกรธมากก็เหาะมารบด้วยกายเนรมิตและรบกันด้วยอาคม เมื่อได้โอกาสรัมมจักรจึงยิงธนูไปถูกพญาวิโรหาที่สีข้างตกลงมาตาย พรหมจักรจึงยกทัพเข้าเมืองลงกาและได้พบกับนางสีดา หลังจากที่ได้ปูนบำเหน็จนายทัพและทหารแล้า พรหมจักรก็ โปรดให้หรมารนำเอาธนูไปคืนนางยักษ์
          เมื่อเสร็จสงครามแล้วเสนาลังกาจึงขอไถ่เอาเจ้านันทอุปราชไปเป็นกษตริย์แทนพญาวิโรหา พรหมจักรและคณะจึงได้ช่วยงานอภิเษกนันทอุปรารเป็นกษัตริย์แล้ายกทัพกลับตามเส้นทางเดิมซ่อมสะพานเชือกที่เคยทำไว้ เมื่อข้ามไปเสร็จแล้วจึงทำลายสะพานนั้นเสีย ครั้นกลับถึงเมืองกาสีแล้วจึงมีการเลี้ยงฉลองกันอย่างครึกครื้น เมื่อพักอยู่ที่เมืองกาสีพอสมควรแล้วพรหมจักรก็ยกทัพกลับเมืองพาราณสี
          อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่พรหมจักร ไปประพาสอุทยาน นางสีดาซึ่งกำลังทรงพระครรภ์อยู่ได้พักอยู่ที่ปราสาท ครั้งนั้นนางสนมทั้งหลายอยากเห็นรูปของพญาวิโรหาจึงขอให้นางสีดาวาดให้ดู ขณะที่วาดถืงเศียรที่ 7 นั้น บังเอิญพรหมจักรเสด็จมา นางสีดาเกรงพรหมจักรจะเห็นเข้า จึงเอากระดานที่วาดรูปพญาวิโรหานั้นซ่อนไว้ใต้อาสนะของพรหมจักร พรหมจักรประทับนั่งบนอาสนะนั้น รูปของพญาวิโรหาก็พูดว่า เป็นกษัตริย์เหมือนกันกลับมานั่งบนหัวกันแบบนี้ช่างดูหมิ่นกันจริงๆพรหมจักรเปิดอาสนะดูพบรูป จึงบริภาษนางสีดาว่ามีใจยินดีกับพญาวิโรหาจึงวาดภาพไว้ดูต่างหน้า บริภาษแล้วขับไล่นางออกจากเมืองไป
          นางสีดาเมื่อถูกเนรเทศเช่นนั้นก็เข้าไปลาผู้ที่เกี่ยวข้องเดินทางออกจากเมือง เมื่อเหนื่อยอ่อนนางก็พักที่ใต้ร่มไม้ แล้วอธิษฐานขอให้เทวดาทั้งหลายช่วยนางด้วย ครั้งนั้นเมื่อพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระอินทร์ที่เคยอ่อนนุ่มก็แข็งกระด้าง พระอินทร์ก็ทรงทราบเรื่องด้วยทิพยเนตร จึงเสด็จแปลงกายมาลองใจนางสีดา เมื่อเห็นว่านางยังภักดีต่อพรหมจักรมั่นคงนัก พระอินทร์ก็เนรมิตปราสาทให้นางประทับอยู่ในป่า เมื่อครบกำหนดนางสีดาคลอดโอรสที่มีลักษณะงดงาม นางก็ประทับอยู่ที่ปราสาทนั้นเป็นเวลานานใน 3 เดือน
          เมื่อนางสีดาเสด็จไปแล้วพรหมจักรก็ได้แต่ซึมเศร้า บ้านเมืองก็หมองหม่นเงียบสงัดไปหมด ครั้งนั้น เทวดาดลใจให้นางแก้วจันทาธิดาของอำมาตย์ผู้ใหญ่คนหนึ่งไปทูลเล่าว่า ที่นางสีดาวาดรูปนั้นไม่ใช่เพราะจิตปฏิพัทธ์ แต่หากทำตามคำขอของนางสนมทั้งหลาย เมื่อพรหมจักรทราบความจริงก็ดีพระทัย วันหนึ่งเทวดาเข้าดลใจม้าทรงของพรหมจักรให้แล่นไปสู่ปราสาทนางสีดา เมื่อนายม้าออกตามหาม้าก็ไปพบนางสีดาเข้า จึงกลับไปกราบทูลท้าวพรหมจักร ท้าวพรหมจักรจึงไปรับนางกลับเมือง ตั้งชื่อโอรสว่า “พิมพาวัตติกุมาร”
          คืนหนึ่ง พรหมจักรรำพึงว่าหากตนจะได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ขอพระอินทร์มาค้ำชูสมภารแห่งตนเถิด เมื่อ  พระอินทร์ทราบเรื่องจึงบันดาลให้มีสมบัติ 7 ประการของพระยาจักรพรรดิราชและนำนางแก้วชื่อ “สุคันโธ” มาจากอุตตรกุรุทวีปไปเป็นมเหสีฝ่ายซ้ายแก่พระยาจักรพรรดิราชองค์ใหม่และเฉลิมพระนามว่า “พระญาพรหมจักกวัตติราชเจ้า” แล้วตั้งน้องให้เป็น “รัมมจักกราชะ” และเวนราชสมบัติบ้านเมืองให้ พร้อมทั้งนำ “นางราชกัญญา” อันมีเชื้อชาติขัตติยะมาเป็นมเหสีแก่รัมมจักกราชะอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
อุดม  รุ่งเรืองศรี. วรรณกรรมล้านนา.  ปรับปรุงครั้งที่ 5 และพิมพ์ครั้งที่ 2
กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2546.

ชาดกล้านนา เรื่อง หอรมานชาดก


หอรมานชาดก
          เมื่อครั้งปฐมกัปป์ มีพรหมชื่อ ตปรไมสวร มาเกิดเป็นคนมีอายุได้อสงไขยปี มีโอรส 3 องค์ คือ ธตะรัฎฐะ วิรุฬหะ และวิรูปักขะ ซึ่งเกิดในเวลาเดียวกันแต่ต่างมารดากัน เมื่อบุตรทั้งสามมีอายุได้ 16 ปี ตปรไมสวรเกรงว่าลูกจะแย่งสมบัติกันขึ้น จึงโปรดให้ลูกทั้งสามแยกกันไปครองเมือง โดยให้วิรุฬหะครองเมืองลังกาทวีป วิรูปักขะครองเมืองกุรุรัฏฐนคร ส่วนธตรัฏฐะให้สืบแทนบิดาในเมืองพาราณสี พญาธตรัฏฐะมีโอรส 2 องค์ คือ ภารีและสุครีพ ส่วนท้าววิรูปักขะ โอรส 2 องค์คือพระรามและพระลักขณะ
          ครั้งหนึ่ง ราพณาสูรแปลงเป็นพระอินทร์ ไปสมสู่กับนางสุชาดา เมื่อนางสุชาดาทราบความจริงในภายหลังก็โกรธมาก นางได้จุติมาลงเกิดที่ตักของราพณาสูร พราหฌณ์ปุโรหิตแนะให้นำทารกนั้นลอยแพไปและราพณาสูรก็ทำตาม แพนั้นไปติดอยู่ที่ท่าอาบน้ำของกัสสปฤาษี เมื่อกัสสปฤาษีเปิดโกศบรรจุทารก ทารกนั้นก็ยกมือสีที่ตา กัสสปฤาษีจึงให้ชื่อว่า “นางสีตา” และรับนางไปเลี้ยงจนได้มีอายุ 16 ปี มีรูปโฉมงามยิ่งนัก เมื่อพรานป่าเห็นความงามเข้า ก็นำข่าวไปเล่าจนขจรไป กษัตริย์ร้อยเอ็ดพระนครในชมพูทวีปต่างพากันมาขอนางไปเป็นมเหสี แต่กัสสปฤาษี ให้กษัตริย์เหล่านั้นทดลองยก “สหัสสะถามมหาธนู” เสียก่อน หากผู้ใดยกได้ก็จะมอบอำนาจให้แก่ผู้นั้น แต่ไม่มีกษัตริย์ใดยกธนูนั้นได้ ทว่าบุคคลเหล่านั้นก็ไม่ยอมกลับเมือง และต่างก็ตั้งทัพอยู่รอบอาศรมนั้น
          พระรามและพระลักขณะแห่งเมืองกุรุรัฏฐนคร ได้ไปเรียนศิลปศาสตร์ ที่เมืองตักสิลานานถึง 10 ปี จนจบไตรเพทจึงเดินทางกลับเมืองบังเอิญผ่านมาทางอาศรมของกัสสปฤาษีได้ยินเสียงหมู่คนก็ประหลาดใจ จึงเข้าไปถามเรื่องจากคนทั้งหลายและเข้าไปหากัสสปะฤาษี บังเอิญนางสีตาเห็นพระรามก็บังเกิดความปิติจนสลบไป ในปราสาทที่ พระวิสุกรรมเทวบุตรมาเนรมิตให้นั้น เมื่อพระรามทราบข้อกำหนดจึงขอทดลองยกธนู ซึ่งก็สามารถยกสหัสสถามมหาธนูได้ง่ายเหมือนยกกงดีดฝ้าย กัสสปะฤาษีจึงยกนางสีตาพระราม และกษัตริย์ทั้งหลายก็ขอเข้าอยู่ในร่มโพธิสมภารของพระรามอีกด้วย จากนั้นพระรามและพระลักขณะจึงพานางสีตาเดินทางกลับสู่กุรุรัฏฐะต่อไป
          ขณะนี้ที่เดินทางอยู่ในป่านั้น พระอินทร์แปลงเป็นกวางทองเดินผ่าน นางสีตาอยากได้จึงขอพระรามจับให้ เมื่อพระรามตามกวางไปนานแล้วไม่กลับ นางก็ให้พระลักขณะไปตามและก่อนไปพระลักษณะได้ฝากนางไว้กับแม่ธรณี ฝ่ายราพณาสูรเล็งทิพย์เนตรเห็นนางแล้วก็อยากได้ จึงเหาะจากลังกาไปอุ้มเอานางรุ่งไปสู่นครของตน พระรามพระลักขณ์ขณะกลับมาไม่เห็นนางสีตาจึงโศกหนัก
          ต่อมา ภารีไปปราบควายทรพีและให้สุครีพเฝ้าปากถ้ำและสั่งว่าถ้าเห็นเลือดไหลจากถ้ำเป็นเลือดข้นกว่าคือเลือดควาย ถ้าเลือดใสก็คือเรื่องของภารี และให้กลับคืนเมือง สุครีพเห็นเลือดควายที่ปนกับน้ำฝน ดูเหมือนเลือดใสไหลออกมาก็เข้าใจว่าภารีตายแล้วจึงไปครองเมืองแทน ส่วนภารีเมื่อฆ่าควายตายแล้วออกจากถ้ำมาไม่พบสุครีพก็เข้าเมือง เห็นสุครีพนั่งบนบัลลังก์ก็ไล่ฆ่าจนต้องหนีออกมานั่งร้องไห้จนน้ำตาไหลเป็นธารน้ำ และขี้ตาสูงท่วมถึงคอเหมือนจอมปลวก เมื่อสุครีพ ได้พบพระรามแล้ว ก็ได้ถวายตัวกับพระรามในคราวนั้นด้วย

          สุครีพ เล่าต่อไปว่า ในครั้งพญาธตรัฎฐะผู้บิดายังครองเมืองอยู่นั้น มียักษ์ตนหนึ่งชื่อนันทยักษ์ ซึ่งมีนิ้ววิเศษจะชี้ใครคนนั้นก็ตาย พญาธตรัฎฐะประกาศจะให้รางวัลแก่ผู้ปราบนันทยักษ์ได้ นางยักษ์คันธัพพีก็อาสายั่วให้นันทยักษ์ฟ้อนรำตามแบบที่นางร่ายรำ นางรำไปจนถึงตอนชี้นิ้วลงที่กระหม่อม นันทยักษ์ก็ชี้กระหม่อมตนจนตัวตาย เมื่อพญาธตรัฎฐะทราบก็ให้นางรำให้ดู เมื่อเห็นนางฟ้อนรำงามนักก็เกิดปฏิพัทธ์จนน้ำอสุจิไหล นางคันธัพพ์ยักษ์เล็งเห็นด้วยตาทิพย์จึงใช้มือรองรับ แล้วนำน้ำอสุจินั้นไปใส่ปากหญิงตาบอดที่นอนอ้าปากรอลูกมะเดื่อ หญิงตาบอดนั้นก็ตั้งครรภ์ เมื่อครบ 10 เดือนก็คลอดและอีก 7 วันก็ตาย เด็กนั้นจึงชื่อ “ห่อน้ำมาน” ภายหลังเพี้ยนเป็น “หอรมาน”   วันหนึ่งหอรมานเห็นตะวันโผล่ยอดเขา สุกแดงงามเหมือนมะเดื่อที่แม่สั่งให้กินเป็นอาหาร ก็เหาะไปจับ และถูกรัศมีอาทิตย์เผา พระอาทิตย์จึงชุบขึ้นมาใหม่ กลายเป็นผู้มีฤทธิ์มาก ในครั้งนั้นสุครีพก็ถวายองค์คด วรยศและหอรมาน เป็นข้าของพระรามต่อไป
          พระรามก็พาทุกคนกลับที่พำนักชั่วคราวแล้วให้สุครีพไปท้าภารี ภารีก็รบไล่สุครีพจนเข้าเขตที่พระรามตั้งมั่นอยู่ พระรามจึงยิงด้วยธนู แต่ภารีจับไว้ แล้วถามว่ายิงตนด้วยเหตุใด พระรามก็ว่าเพราะสุครีพเป็นข้าของพระราม และหาก  ภารีรักชีวิตก็ขอเพียงเลือดบูชาศร เพียงแค่แมลงวันกินอิ่ม แต่ภารีทะนงในความเป็นกษัตริย์จึงปล่อยให้ธนูแล่นเข้าประหารตน สุครีพจึงได้ครองเมืองต่อไป
          เมื่อกลับกุรุรัฏฐนครแล้ว พระรามก็ได้ปรึกษากับเสนาอำมาตย์ที่จะส่งผู้ไปสืบหานางสีตาที่ลังกา สุครีพเสนอให้ใช้หอรมาน พระรามก็ขอดูฤทธิ์ของหอรมาน ซึ่งหอรมานก็แสดงให้ประจักษ์ โดยที่กราบทูลคำใดก็เป็นอาทิตย์ 7 ดวงและอื่นๆ เมื่อเห็นเช่นนั้นพระรามจึงวางใจให้หอรมานไปลังกาทวีป และนำพระธำมรงค์ไปเพื่อยืนยันแก่นางสีตาด้วย หอรมานเหาะไปลงที่อาศรมฤาษีตาไฟ แล้วไปตบประตูเรียก เมื่อฤาษีถามว่าใครมาหาเท่านั้น หอรมานก็กลายเป็นธุลีเหลือเพียงเลือดติดที่ประตูเพียงหยดเดียว ฤาษีตาไฟชุบหอรมานขึ้นมาแล้วก็ลองฤทธิ์กันบางประการกว่าจะไปลังกาได้
          หอรมาน พยายามสืบหานางสีตาจนพบจึงถึงความต่างๆ และเชิญนางเสด็จไปกับตน นางสีตาไม่ยอมกลับ ด้วยถือว่าหอรมานเป็นชายเกรงจะถูกติฉิน ขอให้พระรามแต่งทูตไปเจรจา หากราพณาสูรไม่ยอม ก็ขอให้ยกพลมาชิงนางจึงจะควร เมื่อเห็นนางสีตาไม่ยอมกลับ หอรมานนจึงสร้างความปั่นป่วนแก่ลังกา โดยสะกดเข้าไปผูกผมราพณาสูรและนางเทวีติดกันและเขียนสั่งว่าหากจะให้หลุด ต้องให้นางเทวีตบเศียรราพณาสูร การนี้ทำให้ตาทิพย์ของราพณาสูรเสื่อมไป จากนั้นหอรมานแสดงตนเป็นลิงเล็กให้ทหารจับ เอาผ้าชุบน้ำมันจุดไฟเผา แล้ววิ่งสู่ปราสาทของราพณาสูร จนปราสาทไหม้ แล้วเหาะไปถึงกรุงกุรุรัฏฐนคร เพื่อกราบทูลพระรามตามที่นางสีตาสั่งความไป



          เมื่อทูตจากพระรามคือองค์คดไปขอนางสีตาคืนจากราพณาสูรแล้วไม่สำเร็จ พระรามจึงเตรียมพลจองถนนข้ามสมุทรไปลังกา ในคราวนั้นสัตว์ทุกชนิดแม้ปลวก ริ้น ยุง ก็มาช่วยงาน ยกเว้นค้างคาว นกพิราบ และนกกระจอก เท่านั้นที่ไม่ไปช่วยสร้างถนน การทำถนนดังกล่าวมีหอรมานเป็นหัวหน้า ซึ่งก็สามารถสร้างถนนเสร็จภายใน 7 ปี 6 เดือน ในการทำถนนนั้นมีเสียงสะเทือนไปถึงเมืองปัตตหลุ่มซึ่งอยู่ใต้มหาสมุทร พญาปัตตหลุ่มจึงให้ลูกสาวไปดู นางเห็นหอรมานวิ่งขึ้นลงตอกหลักสร้างทาง มีเหงื่อไหลปนน้ำในมหาสมุทร หนังนาคมัลลิกาได้กินน้ำปนไคลนั้นจึงตั้งครรภ์ มีบุตรชายชื่อ “หัททยี” มีอำนาจเสมอหอรมานผู้เป็นพ่อ
          เมื่อยกทัพข้ามไปแล้ว พระรามก็ให้วรยศเป็นทูตไปขอนางคืนอีก ราพณาสูรเรียกพิเภกมาทำนายต่อหน้าวรยศ พิเภกทายว่าราพณาสูรจะสูญสิ้นทุกอย่าง ทำให้ราพณาสูรไม่พอใจ จึงขับพิเภกหนี พิเภกจึงไปถวายตัวอยู่กับพระราม พระรามให้พิเภกทำนายพระองค์บ้าง พิเภกก็ทายว่าใน 7 วันพระรามจะมีเคราะห์ ถ้าพ้นจากนั้นแล้วจะได้เมืองลังกา เมื่อทราบความเช่นนั้น ท้าวพระยาทั้งหลายจึงป้องกัน โดยขุดหลุมให้พระรามอยู่ และใช้กระดานกรุไว้โดยรอบ เมื่อครบ 7 วันแล้วพระรามก็หายไป เพราะท้าวปัตตหลุ่มเเค้น ที่ลูกสาวท้องเพราะเหงื่อไคลของหอรมาน จึงสะกดทัพจับพระราม ไปขังไว้เตรียมจะฆ่า พิเภกก็บอกให้หอรมานติดตามไป หอรมานลงไปตามรูก้านบัวสู่เมืองปัตตหลุ่ม และหาทางเข้าไปจนสามารถพาพระรามกลับได้ ครั้งนั้นหอรมานได้รบกับหัททยี แต่ไม่แพ้ไม่ชนะกัน เมื่อทราบว่าหัททยีเป็นลูกของตน       หอรมานก็ให้ลูกผู้นั้นครองเมืองปัตตหลุ่มต่อไป
          เมื่อได้พระรามคืนค่ายแล้ว พระลักขณะอาสารบ โดยถือว่าตนเลินเล่อทำให้นางสีตาหาย ราพณาสูรให้น้องคือ    “อินทรชิต” ออกรบ และซัดอาวุธสู้กัน พระลักขณะถูกหอกโมกขศักดิ์ที่กระหม่อมทะลุออกทวาร ส่วนอินทรชิตถูกศรพระลักขณ์ตาย หอรมานไปเอาต้นยามาจากเขาคันธมาทนะ และแปลงเป็นมดไปเอาหินหนุนเศียรราพณาสูรมาฝนยาแล้วทาที่เท้าของพระลักขณะ หอกก็หลุดกระเด็นออกไป ยานั้นจึงชื่อ “ดอยซะเดน” (ดอยกระเด็น)
          ต่อมาพระรามกับราพณาสูรรบกัน ราพณาสูรเนรมิตกายสูงเทียมเขายุคันธร หอรมานจึงแบกพระรามขึ้นบ่าเข้าสู้ ราพณาสูรยิงศรไปไม่ถูกพระราม ศรตกลงดินกลายเป็นต้นกล้วย พระรามยิงถูกเศียรราพณาสูรขาด แต่เศียรใหม่ก็งอกออกมาเรื่อยๆ จึงเลิกทัพกันไป พระรามถามถึงวิธีฆ่าราพณาสูร พิเภกทูลว่าต้องใช้สอนชื่อ"ทสพลควาวชิระ" ซึ่งจมอยู่ในสมุทร ขอบจักรวาลทางด้านใต้ ซึ่งมียักษ์ฤทธิ์มากเฝ้าอยู่ หอรมานบังคับเอาศรจากยักษ์และดึงศรขึ้นมา น้ำก็ไหลเข้าหลุมศรนั้นมาก จนน้ำมหาสมุทรแห้งไปจนครึ่งฝั่ง อีก 7 วันต่อมาพระรามและราพณาสูรก็ออกรบกันอีก ราพณาสูรเนรมิตกายสูงเท่าเขายุคันธร พระรามก็ขึ้นบ่าหอรมานดังเดิม คราวนี้พระรามยิงถูกราพณาสูรสิ้นชีพไป พระรามจึงโปรดให้พิเภกครองลังกา แล้วพระองค์จึงยกกลับเมืองกุรุรัฏฐะ


          ต่อมาพระรามเห็นว่าเมืองกุรุรัฏฐะแคบไปจึงคิดสร้างเมืองใหม่ โดยยิงศรทสพลควาวชิระ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วให้หอรมานเอาเขาสรรพยาวางบนฝ่ามือแล้วเหาะตาม เมื่อพบศรที่ตกอยู่ หอรมานจึงวางเขาสรรพยาทิศเหนือของบริเวณนั้น แล้วเอาหางกวาดที่ให้เตียนรอพระราม เมื่อพระรามยกพลไปถึง จึงถามว่าขณะที่กวาดบริเวณนั้นได้หาฤกษ์ หรือไม่ เมื่อหอรมานตอบว่าไม่ได้หาฤกษ์แต่ประการใด พระรามจึงตรัสว่าเป็นการทำที่ไม่เป็นมงคล จึงละทิ้งที่นั้นเสีย ที่นั้นต่อมา กลายเป็นเมืองชื่อว่า "ละโว้"
          จากนั้นพระรามยกพลตามลำแม่น้ำไปพบบริเวณสวยงามมาก จึงตั้งชื่อว่า “พินสมุทร” แล้วยกพลล่องตามแม่น้ำจนถึงที่แม่น้ำประสบกัน ได้หยุดตั้งทัพเล่นมหรสพสนุกเหมือนเมืองสวรรค์ จึงตั้งชื่อที่นั้นว่า “นครสวรรค์” จากนั้นเดินทางต่อไปถึงเกาะแห่งหนึ่ง ใช้ศรยิงยักษ์นันทราช ซึ่งดูแลสถานที่นั้นตาย แล้วจึงสร้างเมืองที่เกาะดังกล่าว ให้ชื่อว่าเมือง    “อโยธิยา” แล้วตั้งอยู่ที่นั้น
          วันหนึ่งเมื่อพระรามออกไปเลียบเมือง นางสนมอยากเห็นรูปราพณาสูร จึงขอนางสีตาวาดให้ดู บังเอิญขณะนั้นพระรามเสด็จกลับมาพอดีไม่ทันที่นางสีตาลบรูปนั้นได้ทัน จึงเอารูปวาดนั้นซ่อนไว้ใต้บัลลังก์ของพระราม เมื่อพระรามนั่งบัลลังก์ ราพณาสูรก็กล่าวว่า “มหากษัตริย์ดั่งกั๋น พ้อยมานั่งบนหัวกั๋นสัง” (เป็นกษัตริย์เหมือนกัน กลับมานั่งทับหัวกันทำไม) พระรามจึงถามหาคนวาดรูป เมื่อรู้ว่านางสีตาเป็นคนวาดก็กริ้วมาก สั่งให้เพชฌฆาตนำนางไปฆ่า
          ขณะนั้นนางสีตาทรงครรภ์ พระลักขณะทูลว่าขอประหารนางเอง แล้วจึงพานางไปสู่ป่าช้าผีดิบและปล่อยให้นางหนีไป ส่วนตนก็เอาดาบฟันหมาที่พระอินทร์เนรมิตมา ให้เลือดติดดาบไปแสดงแก่พระราม นางสีตาหนีเข้าป่าไปพบ     ทิพจักขุฤาษีและขออาศัยอยู่ด้วย ต่อมานางคลอดบุตรชายจึงให้ชื่อว่า “พระบุตร” ส่วนนางก็หาอาหารถวายพระฤาษี   วันหนึ่งนางไปหาผลไม้จนเกือบค่ำ พระบุตรยังไม่กลับ ฤาษีเกรงว่านางจะเป็นห่วงและโศกเศร้า จึงเอากระดานประตูมาวาดรูปพระบุตร เผื่อจะชุบให้มีชีวิต แต่เมื่อนางสีตาพาพระบุตรมาจากป่าฤาษีก็จะลบภาพนั้นทิ้ง นางสีตาจึงขอให้ฤาษีชุบรูปนั้นเพื่อเป็นเพื่อนกับพระบุตร รูปเนรมิตเหมือนกับพระบุตรมาก จนนางเองก็จำแนกไม่ได้ จึงให้ชื่อกุมารเนรมิตว่า “พระเทียมฅิง” (คล้ายหรือเหมือนตัวจริง)
          ต่อมาพระบุตรครับกับพระเทียมฅิง เดินทางไปจนถึงอโยธิยา ได้ยินแม่ค้าแตง 2 คนพูดกันว่า เกลียดหอรมานที่หน้าเป็นลิงยิ่งนัก เพราะชอบมาเก็บแตงของนางไปกินบ่อยๆ กุมารทั้งสองก็คิดว่าจะช่วยโดยไม่จ่ายค่าภาษีเป็นเวลา 2 วัน พอถึงวันที่ 3 หอรมานจึงมาอีก เห็นเด็กก็ไม่คิดระแวง จึงฉวยแตงไปกินอีก พระบุตรจึงเขกหัวหอรมานจนแตก หอรมานตกใจมากจึงวิ่งหนีจากอยุธิยาไปทางทิศตะวันออก ราชบุตรทั้งสองก็หนีไปและเกิดโกลาหลทั่วเมือง
          ครั้นพระรามทราบเรื่องจึงฉวยธนูไล่ราชบุตรไปจนพบก็ขึ้นธนูยิง แต่ยิงเท่าไหร่ ก็ไม่ถูก ราชบุรีก็อธิษฐานว่า หากพระรามไม่ใช่บิดาก็ขอให้ถูกศรตาย หากใช่บิดาก็ขอให้ศรเวียนรอบพระรามแล้วกลับไปหาตน ซึ่งก็เป็นไปตามประการหลัง พ่อลูกจึงพบกันและพ่อพาลูกไปเสวยเมือง ฝ่ายนางสีตาเมื่อไม่พบลูกก็คร่ำครวญหนัก ครั้นฤาษีบอกความให้ทราบก็รอลูกอยู่ เมื่อพระบุตรและพระเทียมฅิงเล่าเรื่องให้ฟังแล้ว พระรามก็ยกพลไปรับนางสีตากลับเมือง แล้วอภิเษกพระบุตรกับพระเทียมฅิงเป็นกษัตริย์คู่ขึ้นครองอโยธิยา เมื่อนางสีตาสิ้นอายุก็กลับไปเป็นชายาของพระอินทร์ดั้งเดิม

เอกสารอ้างอิง
อุดม  รุ่งเรืองศรี. วรรณกรรมล้านนา.  ปรับปรุงครั้งที่ 5 และพิมพ์ครั้งที่ 2
กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2546.

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

แบบทดสอบหลังเรียนวิชานาฏศิลป์ไทย (ชุดที่ ๑)


แบบทดสอบหลังเรียน
วิชานาฏศิลปไทย (ชุดที่ ๑)
โดย ผศ.สมภพ  เพ็ญจันทร์ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

๑.  ระบำโบราณคดี ๕ ชุดในข้อใด เรียงลำดับได้ถูกต้อง?
ก.       ระบำศรีวิชัย ระบำเชียงแสน ระบำทวารวดี ระบำลพบุรี ระบำสุโขทัย
ข.       ระบำศรีวิชัย ระบำทวารวดี ระบำเชียงแสน ระบำลพบุรี ระบำสุโขทัย
ค.       ระบำทวารวดี ระบำศรีวิชัย ระบำลพบุรี ระบำเชียงแสน ระบำสุโขทัย
ง.        ระบำทวารวดี ระบำศรีวิชัย ระบำเชียงแสน ระบำลพบุรี ระบำสุโขทัย
๒.  ละครไทยชนิดแรกเกิดขึ้นในสมัยใด?
ก.       สมัยสุโขทัย
ข.       สมัยอยุธยา
ค.       สมัยธนบุรี
ง.        สมัยรัตนโกสินทร์
๓.  ละครไทยแบ่งตามลักษณะการแสดงได้ ๓ กลุ่มคืออะไรบ้าง?
ก.       ละครรำ  ละครร้อง  ละครพูด
ข.       ละครชาตรี  ละครนอก  ละครใน
ค.       ละครเสภา ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์
ง.        ละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ ละครเวที
๔.  ข้อใดเป็นละครรำแบบดั้งเดิมของไทย?
ก.       ละครโนห์รา ละครชาตรี ละครนอก ละครใน
ข.       ละครรำ ละครร้อง ละครพูด
ค.       ละครนอก ละครใน
ง.        ละครชาตรี
๕.  ละครรำที่ปรับปรุงขึ้นใหม่คือข้อใด?
ก.       ละครโนห์รา ละครชาตรี ละครนอก ละครใน
ข.       ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง ละครเสภา
ค.       ละครนอก ละครใน ละครพันทาง
ง.        ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง ละครโนห์รา
 ๖.  ละครชาตรีเล่นที่ภาคกลาง ถ้าเล่นที่ภาคใต้เรียกละครอะไร?
ก.       ละครใน
ข.       ละครเสภา
ค.       ละครนอก
ง.        ละครโนห์รา
๗.  การแต่งกายเลียนแบบพระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณเรียกว่าอะไร?
ก.       แต่งองค์
ข.       แต่งยืนเครื่อง
ค.       แต่งพระ-นาง
ง.        แต่งเต็มยศ
๘.  ละครในของไทยนิยมแสดงเรื่องใด?
ก.       อิเหนา
ข.       ขุนช้าง-ขุนแผน
ค.       ไกรทอง
ง.        สังข์ทอง
๙.  ข้อใดไม่นิยมนำมาเล่นละครนอก?
ก.       รถเสน
ข.       มณีพิชัย
ค.       อุณรุท
ง.        ไชยเชษฐ์
๑๐.  รัชกาลใด แสดงละครด้วยพระองค์เอง?
ก.  รัชกาลที่ ๑                     
ข.  รัชกาลที่ ๓
ค.  รัชกาลที่ ๕                     
ง.  รัชกาลที่ ๖
๑๑.  ยุคทองของละครในคือรัชกาลใด?
ก.  รัชกาลที่ ๒                      
ข.  รัชกาลที่ ๑
ค.  รัชกาลที่ ๖                       
ง.  รัชกาลที่ ๙

๑๒. สมัยพระนารายณ์มหาราช หลักฐานสำคัญที่รู้ได้ว่ามีโขน-ละคร เกิดขึ้นแล้ว คืออะไร?
ก.  กฎมณเฑียรบาล              
ข.  ศิลาจารึก
ค.  จดหมายเหตุราชทูต        
ง.  พระไอยการ
๑๓.  ในสมัยพระบรมโกศ มีบันทึกถึงละครข้อใดเป็นครั้งแรก?
ก. ละครนอก                      
ข. ละครใน
ค. ละครพันทาง                  
ง.  ละครเสภา
๑๔. พระมหานาค แต่งคำฉันท์เรื่องใด?
ก.  ราโชวาท                      
ข. ปุณโณวาท
ค. ราชาธิวาท                     
ง.  อัคนิวาท
๑๕. ผู้ริเริ่มละครพูดขึ้นคือรัชกาลโด?
ก.  รัชกาลที่ ๒                      
ข.  รัชกาลที่ ๔
ค.  รัชกาลที่ ๖                       
ง.  รัชกาลที่ ๗
๑๖.  ละครไทยที่ได้รับอิทธิพลจากยุโรปตะวันตก คือละครชนิดใด?
ก.       ละครนอก ละครใน
ข.       ละครร้อง ละครพูด
ค.       ละครเสภา
ง.        ละครชาตรี

 ๑๗. ละครเสภานิยมแสดงเรื่องใด?
ก.      ขุนช้าง-ขุนแผน
ข.      สังข์ทอง
ค.      เงาะป่า
ง.       ไกรทอง


๑๘. ผู้ให้กำเนิด “ละครพันทาง” คือ ท่านใด?
ก.      เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ดำรงค์
ข.      เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำมะรง
ค.      เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง
ง.       เจ้าพระยามหินทรศักดิ์รณรงค์
๑๙. ละครร้องนิยมแสดงเรื่องใด?
           ก. ผู้ชนะสิบทิศ
           ข. สาวเครือฟ้า
           ค. รถเสน
           ง. ไกรทอง
๒๐. ข้อใดไม่นิยมเล่นเป็นละครพันทาง?
          ก. ผู้ชนะสิบทิศ
          ข. ราชาธิราช
          ค. สามก๊ก
          ง. อิเหนา
๒๑.โขนเป็นแหล่งรวมศิลปะ โดยพัฒนามาจากการแสดง    ข้อใด?
ก. หนังใหญ่ ชักนาคดึกดำบรรพ์        
ข. หนังใหญ่  ละครดึกดำบรรพ์
ค. หนังตะลุง ชักนาคดึกดำบรรพ์       
ง. หนังตะลุง ละครดึกดำบรรพ์
๒๒.โขนนำวิธีการต่อสู้ ขึ้นลอย มาจากการแสดงชนิดใด?
ก. มวยไทย                   
ข. มวยคาดเชือก
ค. กระบี่-กระบอง           
ง. ปัญจสีลัต
๒๓.ข้อใดเป็นการละเล่นในพระราชพิธี?
ก. โมงครุ่ม กุลาตีไม้ ไต่เชือก  
ข. โมงครุ่ม กุลาตีไม้ ระเบ็ง
ค. โมงครุ่ม กุลาตีไม้ กระบี่-กระบอง   
ง. โมงครุ่ม กุลาตีไม้ ลิงขาวจับลิงดำ

๒๔.การแสดงของอินเดียที่โขนอาจจะได้รับอิทธิพลมาคือข้อใด?
ก. รามลีลา                
ข. ราชลีลา
ค. มณีปุระ                
ง. กถักฬิ
๒๕.ราชทูตชาวฝรั่งเศส ที่บันทึกเรื่องราวของโขนไว้ในสมัยพระนารายณ์มหาราช มีชื่อว่าอะไร?
ก. ลาละบาย            
ข. ลาลูแบร์
ค. ลาลู่                 
ง.  ลาแบร์ตอง
๒๖. โขน นิยมเล่นเรื่องอะไร?
ก. รามเกียรติ์          
ข.  อิเหนา
ค. อุณรุท                 
ง.  ขุนช้างขุนแผน
๒๗. ผู้ให้กำเนิดละครดึกดำบรรพ์ คือท่านใด?
           ก. เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์
          ข. เจ้าพระยาเทเวศร์วัฒนาวิวัฒน์
          ค. เจ้าพระยาเทเวศร์ศิริวิวัฒน์
          ง. เจ้าพระยาเทเวศร์ดำรงวัฒน์
๒๘. ผู้ให้กำเนิดปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ คือท่านใด?
          ก. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศราสวัสดิวงศ์
         ข. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศราวัฒนาวงศ์
         ค. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
         ง. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศราสันตติวงศ์
๒๙. ตามประวัติได้กล่าวว่าโขน-ละคร เริ่มเสื่อมลงในยุคสมัยใด?
         ก. รัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๕
         ข. รัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๖
         ค. รัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๗
          ง. รัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๘
๓๐.  โขนโรงใน สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยใด?
ก. รัชกาลที่ ๒                
ข. รัชกาลที่ ๔
ค. รัชกาลที่ ๖             
ง. รัชกาลที่ ๘