วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564

การละครตะวันตก ตอนที่ 3 (การฝึกปฏิบัติละครตะวันตกร่วมสมัย)


เอกสารประกอบการสอน วิชาการละครตะวันตก

ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564

จัดทำโดย ผศ.สมภพ  เพ็ญจันทร์

วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 

กระทรวงวัฒนธรรม 


การละครตะวันตก (ตอนที่ 3)

การฝึกปฏิบัติละครตะวันตกร่วมสมัย

             ในการฝึกฝนศิลปะการแสดงละครตะวันตกร่วมสมัยนั้น  มีหลายวิธี  ซึ่งแล้วแต่คณะละครนั้นๆจะเน้นการฝึกฝนด้านใด  ในแบบฝึกหัดของบทนี้  ได้นำแบบฝึกหัดมาจากประสบการณ์ตรงของผู้สอนและส่วนหนึ่งอ้างอิงจากหนังสือของ  John  Hodgson  and  Emest ชื่อ  Improvisation  เป็นหลัก

            ก่อนจะฝึกปฏิบัตินั้น  นักศึกษาจะต้องแต่งตัวให้พร้อม  ใส่เสื้อผ้าที่สบายๆ  ไม่รัดรูปจนเกินไป  เช่น  นุ่งกางเกงขาก๊วย  กางเกงชาวเล  กางเกงพลศึกษา  กางเกงขาสามส่วน  หรือ  กางเกงอื่นๆ (ไม่ควรใสกางเกงขาสั้น  เพราะธรรมเนียมไทยถือว่าไม่สุภาพ)  ส่วนเสื้อ  ควรเป็นเสื้อยืดคอกลม  คอวี  ที่ไม่กว้างเกินไป  สีสันต้องสุภาพ  เช่น  ดำ  เทา  เป็นต้น  ไม่ควรใส่เสื้อกล้าม  เพราะไม่สุภาพเรียบร้อย  การฝึกต้องถอดร้องเท้า  ถุงเท้า  ผมรัดให้เรียบร้อย  ไม่รุ่มร่ามเกะกะ  

 

1.Warm Up ( การอบอุ่นร่างกายก่อนการแสดง )

 

                การอบอุ่นร่างกายก่อนการแสดง  เป็นหลักการพื้นฐานของการฝึกฝนศิลปะการแสดงทุกประเภทอยู่แล้ว  ยกตัวอย่างเช่นการฝึกโขน ละครของไทยเรา  ที่ผู้เรียนจะต้องอบอุ่นร่างกายก่อนการเรียนอยู่เสมอ  ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการฝึกโขน  ที่ก่อนเรียนจะต้องมีการเต้นเสา  ถีบเหลี่ยม  ฉีกขาหักข้อมือ  ดัดนิ้ว ฯลฯ  การฝึกละครตะวันตกร่วมสมัยก็เช่าเดียวกัน  ก่อนที่นักศึกษาจะฝึกศิลปะการแสดง  ก็ต้องมีการอบอุ่นร่างกายก่อน

                 วิธีอบอุ่นร่างกายของละครตะวันตกร่วมสมัย มีหลากหลายวิธี  แต่ละวิธีมีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือให้ร่างกายพร้อมที่จะได้รับการฝึกฝนอย่างหนัก  ไม่เกิดอาการบาดเจ็บ  ส่วนการฝึกออกเสียง  ก็เพื่อให้เสียงที่เปล่งออกมาชัดเจน ลิ้นไม่แข็งตัว ร ตัว ล คำควบกล้ำชัดเจน ไม่เหนื่อยง่าย

                 การอบอุ่นร่างกายในที่นี้ขอแบ่งเป็น 3 หัวข้อ  คือ  ก.การอบอุ่นกล้ามเนื้อ  ข.การฝึกลมหายใจ  ค.การฝึกออกเสียง

              ก.การอบอุ่นกล้ามเนื้อ

             วิธีฝึก

            ( 1 ) วิ่ง  โดยให้นักศึกษาวิ่งเหยาะๆ ไปรอบๆ ห้องฝึก อย่าวิ่งเร็ว เล่นกัน แกล้งกันเพราะอาจ      ทำให้เกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บได้  ขณะวิ่ง  อาจสะบัดข้อมือ หมุนไหล่หมุนคอไปด้วยก็ได้ ท่าวิ่ง อาจมีได้หลายท่า เช่น วิ่งตรงๆ วิ่งสลับเท้า วิ่งด้านข้าง วิ่งถอยหลัง ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้ร่างกายทุกส่วนตื่นตัว

            ( 2 ) เมื่อวิ่งได้สัก 510 นาที  ให้นักศึกษาจัดแถวเป็นวงกลม เริ่มต้นบริหารอบอุ่นกล้ามเนื้อ โดย    ให้นักศึกษาเปลี่ยนกันเป็นผู้นำ โดยผู้นำมาอยู่กลางวงกลม แล้วให้ทุกคนปฏิบัติตาม

            -บริหารคอ โดยก้มหน้าลง เงยหน้าขึ้น มองไปทางซ้าย มองทางขวา  แล้วหมุนคอไปตามเข็มนาฬิกา

            -บริหารไหล่ โดยยกไหล่ขึ้นสูง  กดไหล่ลงให้สุด ทำสลับกับ  แล้วเริ่มต้นหมุนไหล่ หมุนไปข้างหน้า  แล้วหมุนกลับหลัง  ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหยียดตึงแล้วหมุนแขนจากวงเล็กๆ  จนวงกว้างขึ้น หมุนไปข้างก่อน  แล้วหมุนกลับหลัง

            -บริหารหน้าอก  โดยยื่นหน้าอกไปทางซ้าย แล้วโก่งไปข้างหลังอย่างรวดเร็วยื่นหน้าอกไปทางขวา  แล้วโก่งหลังอย่างรวดเร็ว ทำสลับกันไปมา แล้วเริ่มหมุนเป็นวงกลม

            -บริหารสะเอวและสะโพก  โดยหมุนรอบเล็กก่อน หมุนตามเข็มนาฬิกาหมุนทวนเข็มนาฬิกา  จากนั้นหมุนเอวรอบใหญ่ โดยเหวี่ยงแขนหมุนไปด้วยทั้งตามเข็ม ทวนเข็มนาฬิกา

            -บริหารหัวเข่า โดยใช้มือทั้งสองจับหัวเข่า แล้วหมุนตามเข็มนาฬิกา หมุนทวนเข็มนาฬิกา

            -บริหารข้อเท้า โดยหมุนข้อเท้ากับพื้นเบาๆ จากนั้นยกเท้าขึ้น หมุนข้อเท้าหมุนเข่า แล้วสะบัดออก ทำสลับกันทั้งสองข้าง

            -บริหารข้อมือและข้อศอก โดยสลัดข้อมือ ข้อศอกขึ้น ลง ซ้าย ขวา

            -ยึดกล้ามเนื้อหลังหรือดัดหลัง ( สะพานโค้ง )

            -ยืดกล้ามเนื้อน่อง  ยืดกล้ามเนื้อหลังต้นขา  โดยก้าวเท้าใดเท้าหนึ่งไปข้างหน้า  โถมน้ำหนักตัวไปด้านหน้า ใช้มือยันเข้าหรือยันพื้นไว้

            -ยืดกล้ามเนื้อหน้าขา โดยนั่งลงคล้ายขัดสมาธิ แต่ใช้เท้าชนกัน ใช้มือทั้งสองกดแบะหน้าขาหรือแบะเข่าออกให้แบนราบลงติดพื้น  ท่านี้อาจจะให้เพื่อนช่วยกดหัวเข่าไว้

            -ยืดกล้ามเนื้อ และบริหารทุกส่วนที่เหลือ เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า นวดหน้า ดวงตา ใบหู ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายทุกส่วนตื่นตัว

 

    ข. การฝึกลมหายใจ ( breathing )

                        เมื่ออบอุ่นร่างกายจนได้ที่แล้ว ( ประมาณ 2030 นาที ) ขั้นต่อไปก็เป็นการฝึกลมหายใจ มีประโยชน์คือ เมื่อเราแสดงบนเวที จะไม่เหนื่อยง่าย เพราะการแสดงละครเวทีร่วมสมัยนั้น เป็นการแสดงสด ๆ  นักแสดงจะต้องใช้พลังในการแสดงมาก  ซึ่งเมื่อแสดงไปนานๆ จะเกิดอาการเหนื่อยหอบ ทำให้การแสดงสูญเสียคุณภาพได้

 

วิธีฝึก

           ( 1 )  ทำแรก ให้นักศึกษา ใช้มือซ้ายแตะเบาๆ ที่ท้องตรงกระบังลม สูดหายใจเช้าช้าๆ              ท้องจะป่องขึ้น ปล่อยลมหายใจออกช้าๆ เบาๆ ให้ลมออกจากปากพร้อมทำเสียง ชู่…” ช้าๆ ยาวๆ  จนลมหมดจากกระบังลม ท้องจะค่อยๆ แฟบลง ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนจังหวะการหายใจไหลลื่น

            ( 2 )  ท่าที่สอง  ให้นักศึกษาใช้สองแขนและสองมือ  ทำท่าคล้ายปั้นลูกฟุตบอลกลมๆ ลูกใหญ่ๆ พร้อมกับสูดหายใจเข้าเต็มปอดหรือกระบังลม ก้าวเท้าขวาถอยหลัง จากนั้นใช้มือขวาทำท่าคล้ายตันวงกลมหรือลูกฟุตบอลนั้นไปข้างหน้า  ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าเช่นกัน  พร้อมกับปล่อยลมหายใจออกทางปาก ส่งเสียง ชู่…” ดังๆ ช้าๆ ยาวๆ โดยในขณะที่ผลักนั้น ให้ใช้ความรู้สึกว่าดันลูกบอลออกไปแรงๆ เพื่อให้เกิดพลัง  เมื่อทำด้านขวาไปพอสมควรแล้ว ก็เปลี่ยนเป็นใช้มือซ้ายผลัก ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าบ้าง เพื่อไม่ให้เมื่อยจนเกินไป

              ( 3 ) ท่าที่สาม ให้นักศึกษาหายใจเข้า พร้อมกับสองแขนขึ้นเหนือศีรษะสุดแขนหายใจเข้าให้เต็มปอดหรือกระบังลม จากนั้นสลัดแขนทั้งสองข้างลงมาอย่างรวดเร็ว พร้อมกับก้มตัวลง ปล่อยลมหายใจออกทางปาก ส่งเสียง ชู่สั้นๆ แรงๆ  ในขณะที่ทำ เท้าให้

เคลื่อนไหวไปด้วย  อาจจะก้าวถอยหลัง ก้าวไปข้างหน้าไปทั่วๆ ห้องเรียน  ระวังอย่าให้ชนกัน อาจจะรับบาดเจ็บได้ เมื่อฝึกลมหายใจจนรู้สึกว่าหายใจได้คล่องเกิดพลังแล้ว เราจะฝึกออกเสียงต่อไป

 

 ค. การฝึกออกเสียง ( Voice )

               การฝึกออกเสียงมีความสำคัญมากในการละครตะวันตกร่วมสมัย  เพราะละครตะวันตกร่วมสมัยส่วนใหญ่จะเน้นการพูด การร้องเพลง การส่งเสียงต่างๆ ดังนั้น นักแสดงจะต้องมีการออกเสียง

 ( Diction ) ที่ชัดเจน ฟังดูรู้เรื่อง เข้าใจได้ทันที และได้ยินทั่วถึง  เพราะในการแสดงบนเวทีจริงๆ จะไม่มีการพูดซ้ำหรือทวนบทเด็ดขาด  เพราะจะทำให้การดูละครเสียอรรถรสได้ดังนั้น การฝึกออกเสียง การฝึกพูด การฝึกร้อง ก่อนการซ้อมหรือการแสดงจริงจึงมีความสำคัญมาก

                วิธีฝึก

                ( 1 ) ให้นักศึกษาสูดหายใจเข้าจนเต็มกระบังลม  แล้วเปล่งเสียง เอ….ยาวๆ จน   หมดลมหายใจ ต่อไปก็หายใจเข้าเต็มกระบังลม  เปล่งเสียง  อี…..ยาวๆ จนหมดลมหายใจเช่นกัน ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยเปลี่ยนเสียงไล่เรียงจาก  เอ…..อี…..ไอ…..โอ…...ยู…… ( เสียงสระภาษาอังกฤษ A  E  I  O  U นั่นเอง )

                 ( 2 ) ให้นักศึกษาสูดหายใจเข้าสั้นๆ แล้วเปล่งเสียงออกสั้นๆ  5 คำ ว่า  ก๊ะกุ๊กิ๊ เกะ  โก๊ะ” ( คือออกเสียงสระอะ สระอุ สระอิ สระเอะสระโอะ ) แล้วเปลี่ยนอักษรนำไปเรื่อยๆ  เช่น  คะ  คุ๊คิ๊เคะโค๊ะ   ระ   รุ   ริ   เระโร๊ะ ( ให้ออกเสียงสูงไว้ )  การออกเสียงสั้นๆ แบบนี  เรียกตามศัพท์ว่า การออกเสียง  staccato ( สะตัคกาโต แปลว่า การออกเสียงเป็นห้วงๆ ออกเสียงไม่ต่อเนื่องกัน )

                    ( 3 ) ให้นักศึกษาออกเสียงตัว    เรือ  ตัว    ลิง   และคำควบกล้ำ  โดยออกเสียงเป็นประโยค เช่น

            แบบฝึกหัดออกเสียง ตัว ร เรือ

                       โรงเรียน รุงรัง รำไร รีบร้อน เรื่องราว รกร้าง

                        รวดเร็ว รวนเร รบเร้า รับรอง รัดรูป เร่าร้อน

                        โรคเรื้อน เรไร เรี่ยวแรง เรื้อรัง รบรา รวบรัด

            แบบฝึกหัดออกเสียง ล

                         ลดเลี้ยว ลนลาน ลิงลม ล้มลุก ลิลิต ล่วงลับ

                         ลวดลาย ลงโลง ลวนลาม ลอกเลน ล่อลวง ล้อเลื่อน

                         ลอกแลก ล่องลม ลอกลาย ลักลอบ ลาภลอย ลืมเลือน

            แบบฝึกหัดคำ ร ,

                         ลานโรงเรียนเลี่ยนราบและร่มรื่น เด็กรื่นรมย์ซ่อนเร้นเล่นซ่อนหา

                         ลุกลี้ลุกลนนักชักระอา อย่ารอราเร่งเร้าเข้าห้องเรียน

                         ครูรับรองลองวิชาถ้าพากเพียร จักเป็นเธียรคนเทิดเรียนเลิศเอย

            แบบฝึกหัดการอ่านคำควบกล้ำ

                        ศรีปราชญ์เป็นกวีที่ปราดเปรื่อง  และเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์

                        ท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะดินฟ้าอากาศเกิดปรวนแปร และในไม่ช้าฝนก็โปรยปรายลงมา

 

        ผู้สอนขอย้ำอีกครั้งว่า การฝึกเสียงมีความสำคัญมากในการแสดงละครเวทีร่วมสมัย นักแสดงละครมืออาชีพ ก่อนการฝึกซ้อมจะมีการฝึกเสียงทุกครั้ง ครั้งละเป็นเวลานานๆ 2030 นาที เพื่อให้การออกเสียงชัด ลิ้นไม่ระรัวหรือที่พูดกันว่า ลิ้นพันกัน ในขณะแสดง

         จากประสบการณ์ตรงของผู้สอนพบว่า การแสดงละครไทยของเรา ไม่ว่าจะเป็นละครนอก ละครใน ละครพันทาง ละครพูด ละครร้อง ฯลฯ นักแสดงของไทยเรามักไม่นิยมการฝึกเสียง หรือวอร์มเสียงก่อนการแสดงมากนัก ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะว่า ละครเราเน้นเรื่องการ รำ  มากกว่าการ “พูดและ  ร้องก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากนักศึกษาได้รับบทบาทหน้าที่เป็นนักแสดงที่มีบทพูด บทร้อง หากเรานำความรู้เรื่อง  “การฝึกเสียง” “การฝึกลมหายใจหรือ การอบอุ่นร่างกายไปใช้ให้เหมาะสม ผู้สอนเชื่อว่า การแสดงของนักศึกษาจะมีคุณภาพมากขึ้น

 

2. แบบฝึกหัดการแสดง ( Workshop )

 

           แบบฝึกหัดต่อไปนี้ เป็นแบบฝึกหัดสั้นๆ สำหรับนักแสดง เพื่อนำอารมณ์ ความรู้สึก การเคลื่อนไหว ฯลฯ ที่ได้รับจากแบบฝึกหัดนี้ไปใช้ในการแสดงละครเป็นเรื่องราวต่อไป การฝึกหัดหรือฝึกปฏิบัติแบบนี้ ศัพท์ทางการละครมักจะเรียกว่าการทำ เวิร์คชอป(Workshop)

        แบบฝึกที่ 1

            แบบฝึก Contact คือ การฝึกสัมผัส หรือ ฝึกการรับ ส่ง ในขณะแสดงบนเวที การ Contact บนเวที มีทั้งการ Contact ด้วยสายตา และ Contact ด้วยร่างกาย

            -ฝึก Contact ด้วยสายตา ให้นักศึกษายืนเป็นวงกลม แต่ละคนยืนห่างกันเล็กน้อยประมาณ 1 ช่วงแขน ให้นักศึกษาคนแรกเริ่มต้นด้วยการเรียกชื่อเล่นของตนเองจากนั้นมองไปเพื่อนคนใดคนหนึ่ง เรียกชื่อเล่นของเพื่อนคนนั้น, นักศึกษาคนที่ถูกเรียกชื่อ ก็ทำเหมือนกันคือ เรียกชื่อตนเอง แล้วมองหาเพื่อนคนต่อไป เรียกชื่อเพื่อนคนนั้น ห้ามซ้ำคน ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ ประโยชน์ของแบบฝึกนี้ คือนักแสดงจะฝึกการมองตาเพื่อน มองตาคนอื่น เพราะการใช้สายตามองนักแสดงด้วยกันบนเวทีแสดง มีความสำคัญมาก ประโยชน์อีกข้อคือ ถ้าเป็นนักแสดงที่ไม่รู้จักกัน ก็จะได้ทำความรู้จักชื่อเล่นและคุ้นเคยกันมากยิ่งขึ้น

            -ฝึก Contact ด้วยสายตา ให้นักศึกษายืนเป็นวงกลมเช่นเดิม คนที่หนึ่งหรือผู้สอนใช้มือทั้งสองปั้นลูกฟุตอลกลมๆ ขณะที่ปั้นให้ออกเสียง อา…. ” ไปด้วย จากนั้นมองหาคนที่จะส่งลูกบอลให้ เมื่อสบตาแล้ว ก็ส่งลูกฟุตบอลลมนั้นไปให้ พร้อมกับส่งเสียง ฮ่ะสั้นๆ ดังๆ เป็นการฝึกเสียงไปด้อย เมื่อลูกบอลลมลูกแรกถูกส่งไปนักศึกษาคนแรกหรือผู้สอน ก็ปั้นลูกฟุตบอลลมลูกต่อไป โดยปั้นประมาณ 3 ลูก กำลังดี ถ้ามากไปจะสับสน ดังนั้น ทุกคนจะต้องมองว่าเพื่อนคนใดรับลูกฟุตบอลลมลูกใด และจะส่งมาตัวเองหรือไม่ แบบฝึกนี้ จะช่วยให้นักแสดงมองทุกคนบนเวทีว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร

            -ฝึก Contact ด้วยร่างกาย ให้นักศึกษาจับคู่กัน ชาย หญิงคู่หญิง ให้แต่ละคู่สัมผัสกัน เริ่มจากมือ ศอก ไหล่ ลำตัว ฯลฯ แล้วหมุนตัวสัมผัสกันไปเรื่อยๆ ทุกส่วนของร่างกาย หลักการคือต้องไม่ให้ร่างกายหลุดจากกัน เหมือนเป็นฝาแฝดฉะนั้น ประโยชน์คือ ให้นักแสดงรับรู้ถึงสัมผัสคนอื่นบนเวทีการแสดง

 

            แบบฝึกที่ 2

 

            แบบฝึกดูนักแสดงคนอื่นบนเวทีและฝึกรวมใจเป็นหนึ่งเดียว

            -ให้นักศึกษาทุกคนเดินกระจายไปทั่วห้อง เมื่อผู้สอนตบมือ 1 ครั้ง ให้ทุกคนหยุดจากนั้นให้นักศึกษา 1 คนเริ่มเดินไปทั่วๆ ห้อง ( คนอื่นหยุดนิ่ง แต่สายตามองตามได้ ) นักศึกษาคนที่ 1 จะต้องเดินในมุมที่ทุกคนเห็นความเคลื่อนไหวของตนเอง เมื่อเดินได้สักพักให้คนแรกหยุดเดิน นักศึกษาอีก 2 คน ออกเดินพร้อมกันแล้วหยุดเพิ่มนักศึกษาเป็น 3 คนออกเดินพร้อมกัน ( ห้ามซ้ำคน ) แล้วหยุด จากนั้นเพิ่มนักศึกษาเป็น 4, 5, 6, 7, 8…..คน ตามลำดับจนครบทุกคน ข้อแม้คือ การออกเดินต้องเป็นไปตามจำนวนเท่านั้น หากมีนักศึกษาขยับตัวหรือเดินเกินจำนวนที่กำหนดต้องเริ่มฝึกใหม่ทั้งหมด ประโยชน์ของการฝึกการแสดงนี้ คือ นักแสดงที่ไม่เคลื่อนไหว จะต้องดูนักแสดงที่เคลื่อนไหวหรือมีบทบาทอยู่บนเวที การแสดงถึงจะเป็นหนึ่งเดียว และฝึกให้นักแสดงมีสมาธิอยู่กับการแสดงบนเวที

 

            แบบฝึกที่ 3

 

             แบบฝึกการสร้างอารมณ์การแสดง โดยแบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มๆ ละ 4 - 6 คน สมมติสถานการณ์ว่านักศึกษาเป็นกลุ่มทัวร์  ซึ่งกำลังถูกพาเข้าไปในถ้ำ ช่วงแรกๆ ก็เป็นถ้ำที่สวยงามระยิบระยับ ทุกคนมีอาการร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส

              เมื่อผู้สอนปรบมือครั้งที่ 1 สมมติสถานการณ์ว่าไฟในถ้ำดับๆ ติดๆ ให้ทุกคนเริ่มแสดงอาการตอบรับ

              ผู้สอนปรบมือครั้งที่ 2 สมมติไฟดับพรึ่บ มืดหมดทั้งถ้ำ ทุกคนแสดงอาการตกใจกลัว

              ผู้สอนปรบมือครั้งที่ 3 มีเสียงประหลาดดังขึ้นทุกคนแสดงอาการตกใจกลัวสุดขีด

 

            แบบฝึกที่ 4

 

            แบบฝึกการแสดงเป็นกลุ่ม การเคลื่อนไหวบนเวที และการทำตามผู้นำ

            -ให้นักศึกษาแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ละ 4 คน ยืนเป็นรูป 4 เหลี่ยม สมมติแต่ละกลุ่มเป็นปลา คนที่ 1 เป็นหัวปลา คนที่ 2 และ 3 อยู่ซ้าย ขวาเป็นครีบปลา คนที่ 4 สุดท้ายเป็นหางปลา

            -ให้กลุ่มตัวปลาเคลื่อนที่ไปทางหัว โดยการเคลื่อนที่จะต้องมีท่าทางต่างๆ ที่เหมือนกัน พร้อมส่งเสียงร้องให้เหมือนกันด้วย เช่น เคลื่อนที่เป็นแมว ก็ต้องแสดงท่าแมว พร้อมส่งเสียงแมงไปด้วย ทุกคนต้องตามผู้นำ การเคลื่อนที่ให้เคลื่อนเป็นเส้นตรง เมื่อชนกำแพงให้เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือ กลับหลังหัน โดยคนที่อยู่ด้านหน้าจะกลายเป็นผู้นำกลุ่มปลา หรือเป็นหัวปลาแทน ตัวอย่างเช่น ถ้ากลับหลังหัน คนที่เป็นหางปลา ก็จะกลายเป็นหัวปลาคือเป็นนำหน้า คนที่เป็นหัวก็จะกลายเป็นหาง เป็นต้น แบบฝึกนี้เป็นการฝึกให้นักแสดงเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความสามัคคีพร้อมเพรียง และดูคนอื่นๆ ที่แสดงอยู่บนเวทีเดียวกันด้วย

 

            แบบฝึกที่ 5

 

            แบบฝึกการสร้างอารมณ์การแสดงเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

            -แบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มๆ ละ 810 คน ผู้สอนให้โจทย์ว่า ให้นักศึกษารวมตัวกันเป็นต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น ให้เวลานักศึกษาจับลุ่มอภิปรายกันว่าจะเป็นต้นไม้อะไร ใครจะทำหน้าที่อะไร เพื่อฝึกความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา ผู้สอนกำหนดเงื่อนไขว่า ทุกคนเริ่มต้นจากท่านอนแล้วก่อตัวเป็นรูปต้นไม้ ในเวลาที่กำหนด คือ

          นับ 110                      จากท่าเริ่มต้น นักศึกษาต่อตัวเป็นต้นไม้      

          นับ 1120                    พายุเริ่มก่อตัว ตัวไม้เริ่มสั่นไหว

          นับ 2130                   พายุรุนแรงขึ้นเรื่อง จนรุนแรงที่สุดเมื่อนับถึง 30 

          นับ 3140                   พายุเริ่มสงบลง จนนับถึง 40 ก็สงบนิ่ง

            -ต่อไปให้นักศึกษาฝึกการสร้างอารมณ์เหมือนพายุโดนต้นไม้ คือ อารมณ์สงบนิ่งแล้วเริ่มโกรธ จนถึงโกรดสุดขีด แล้วอารมณ์เริ่มสงบลง ให้นักศึกษาใช้อารมณ์นี้ไปสร้างฉากหนึ่งในการแสดงละครที่นักศึกษาสร้างสรรค์ขึ้นเอา โดยให้แสดงที่ละ 2 คน แบบฝึกหัดนี้จะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจการสร้างอารมณ์มากขึ้น

 

            แบบฝึกที่ 6

 

            ฝึกการเดินและการวิ่ง

            -ฝึกเดินปกติ เดินไปตรงๆ ให้รู้สึกว่าทั้งข้างหน้าและข้างหลังมีสิ่งดันไว้ส่วนบนหัวก็มีเชือกดึงรั้งอยู่ หรือมีหนังสือวางเทินอยู่บนหัว

            -เดินให้เร็วกว่าที่คิดนิดหนึ่ง

            -เดินเข้าไปหา ด้วยความโกรธจัด

            -เดินไปหาคนที่เรารักมากที่สุด ที่ไม่เคยเจอมานานหลายสิบปี

            -เดินแบบคนเมา คือ คิดว่าเดินตรงแล้ว แต่ที่จริงไม่ตรง

            -เดินในทะเลทราย ให้รู้สึกว่ามีแรงโน้นถ่วงของโลกคอยดึงเราลงไป

            -เดินแบบช้าๆ สบายๆ ที่เรียบว่าเดินทอดน่อง

            -เดินช้ากว่าปกติ 10 เท่า

            -เดินช้ากว่าปกติ จนเป็นภาพที่ช้าที่สุด หรือภาพ  Slow – motion

            -ฝึกวิ่งแบบต่างๆ เช่น วิ่งหนีด้วยกลัว วิ่งเข้าหาด้วยความโกรธ วิ่งไล่จับ

            -วิ่งแบบ  Slow-motion

            -แบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มๆละ 6-10 คน ให้แต่ละกลุ่มคิดสร้างสรรค์เรื่องราวขึ้นมา 1 เรื่องที่มีการเดินและการวิ่งลักษณะต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง

            -การสร้างภาพ  Slow-motion  ขึ้นมาในการแสดงบนเวทีละครตะวันตกร่วมสมัยเป็นการแสดงที่น่าสนใจมาก  ผู้สอนจึงให้นักศึกษาฝึกภาพ  Slow-motion แบบต่างๆ และนำมาบรรจุไว้ในฉากหนึ่งของการแสดงด้วย ทำให้การแสดงมีภาพสวยๆ ให้ผู้ชมได้รับชม และนักศึกษาเองก็สนุกในการสร้างภาพสวยๆเหล่านี้ขึ้นมาด้วย

 

             แบบฝึกที่  7

 

            ฝึกการใช่ท่าทางในการแสดง

            -ให้นักศึกษาจับคู่กัน  อาจเป็นชาย-ชาย  หญิง-หญิง  ชาย-หญิง   ก็ได้

            -สมมติให้ทุกคนเป็นมนุษย์ต่างดาว ให้คิดภาษามนุษย์ต่างดาวของตนเอง

            -ผู้สอนให้จับนักศึกษาแยกกัน  และมอบโจทย์ให้เป็นความลับ  โดยในโจทย์นั้นจะมีข้อความที่ผู้แสดงจะต้องสื่อให้อีกฝ่ายรู้ให้ได้  แต่เป็นภาษามนุษย์ต่างดาว เช่น

            -นักศึกษาคนที่ 1 ได้โจทย์ว่า เขามาจากดาวดวงหนึ่ง ไม่มีที่พัก ไม่มีอาหาร  ตอนนี้หิวมาก เพราะไม่ได้กินอะไรมาหลายวันแล้ว อยากจะขอยืมเงินเพื่อนจำนวนหนึ่ง ให้เพียงพอใช้ใน 1 เดือน  แล้วจะนำมาใช้เงินในเดือนหน้า  ให้ดอกร้อยละ 10

            -นักศึกษาคนที่ 2 ได้โจทย์ว่า วันนี้เขาดีใจมาก เพราะเพื่อนรักที่เคยคบกันมาตั้งแต่เด็ก แต่มีเรื่องโกรธกัน ไม่พูดกันมา 1 ปีเต็ม วันนี้เพื่อนยิ้มให้ ขอคืนดีด้วย และขอโทษทุกอย่าง เพราะเข้าใจผิด แต่แล้วเพื่อนรักคนนั้นก็บอกข่าวร้ายว่า เพื่อนเขาเป็นมะเร็ง หมอบอกว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 3 เดือน เขาไม่รู้จะทำยังไงดี เขาจึงอยากเล่าให้ใครฟังสักคนหนึ่ง เพื่อระบายความเครียดที่มี

            -การแสดงเริ่มขึ้นโดยมนุษย์ต่างดาวทั้ง 2 คน มาพบกัน ต่างคนต่างต้องพยายามเล่าเรื่องของตนให้อีกฝ่ายฟัง และต้องพยายามให้อีกฝ่ายพูดให้รู้เรื่องด้วย

            -ผู้สอนให้นักศึกษาแสดงไปประมาณ 5-10 นาที ก็ให้ยุติการแสดง และให้เพื่อนในห้อง 

( ซึ่งต้องไม่รู้โจทย์เช่นกัน ) เดาคำตอบว่า เพื่อนทั้งสองคนพยายามพูดเรื่องอะไร

            -แบบฝึกนี้ จะทำให้นักศึกษาฝึกการใช่ท่าทางประกอบคำพูด เพื่อสื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องอ่านภาษาท่าของอีกฝ่ายให้รู้เรื่องด้วย

            -ผู้สอนให้นักศึกษาทุกคน พล็อตเรื่องราวแล้วนำมาใช้ในการฝึก เพื่อฝึกความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเรื่องราวของนักศึกษา

 

             แบบฝึกที่ 8

 

            การฝึกเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เช่น

            -การฝึกท่าทางของนักแสดงทุกช่วงอายุ  เช่น  เดินแบบเด็ก  เดินแบบวัยรุ่น  เดินแบบผู้ใหญ่  เดินแบบคนแก่  เป็นต้น

            -การฝึกควบคุมร่างกาย  เช่น  การหมุนตัวลุกขึ้นยืน  การหมุนตัวนั่งลง    การพุ่งตัวในแนว 45 องศาแล้วนั่งลงที่เดิม  เป็นต้น

            -การฝึกส่งพลังการแสดงให้เพื่อน (Force) เช่น  ให้นักศึกษาจับคู่กัน  แล้วจ้องมองกันด้วยอารมณ์ต่างๆ เช่น เคียดแค้น  เยาะเย้ย ฯลฯ การส่งอารมณ์จากด้านหลังของเพื่อน

            -การฝึกแยกชิ้นส่วนของร่างกาย เช่น การเคลื่อนไหวเฉพาะมือ  เฉพาะแขน  เฉพาะศีรษะ  เฉพาะขา  เฉพาะเท้า  เป็นต้น

            การฝึกการแสดงละครตะวันตกร่วมสมัย  มีหลายสถาบัน  หลายคณะ  หลายสำนัก  ซึ่งแต่ละแห่งก็มีวิธีฝึกแต่งต่างกันออกไป  แต่จะมุ่งหมายเหมือนกัน คือ ให้การแสดงมีคุณภาพสูงที่สุดและคนดูพอใจ

 

3. การฝึกประสาทสัมผัสเพื่อใช่ในการแสดง

 

            John  Hodgson  and  Emest  Richards ( 1977 : 50 - 55 ) ได้กล่าวถึงวิธีการฝึกประสาทสัมผัสของนักแสดงไว้ในหนังสือ  Improvisation ซึ่งผู้สอนได้นำมาปรับใช้ในการสอนนักศึกษา  ดังนี้

 

    3.1   การฝึกดูหรือฝึกสายตา ( Looking )

 

            -ให้นักศึกษาแต่ละกลุ่ม  ดูสิ่งของที่เตรียมผู้สอนไว้ในห้องเรียนประมาณ 15 อย่าง ให้เวลา 1 นาที จากนั้นให้นักศึกษาประชุ่มกลุ่มย่อยระดมสมอง เพื่อนำสิ่งของที่เห็นทั้งหมด มาผูกโยงเป็นเรื่องราวละครสั้นๆให้เวลาแสดงกลุ่มละ 10 นาที

            -ให้นักศึกษาแต่ละกลุ่ม  ดูภาพถ่าย  ภาพในหนังสือพิมพ์  วารสาร ฯลฯ ที่เป็นภาพกิริยาทางท่าต่างๆ ในเวลา 1 นาที  แล้วนำมาสร้างสรรค์การแสดง  โดยเก็บรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

            -ให้นักศึกษาทุกคนสำรวจดูเสื้อที่ตัวเองสวมใส่  แล้วจินตนาการว่าจะเก็บลงกระเป๋าได้อย่างไร?

            -ให้นักศึกษาดูผู้คนที่ประกอบอาชีพต่างๆ  เป็นภาพข่าวจากโทรทัศน์  ดีวีดีหรือวีซีดี  แล้วสมมติว่าเรามีอาชีพอย่างนั้นบ้าง  เช่น  เจ้านายนั่งอ่านรายงานของลูกน้อง   การจัดงานเลี้ยงพิเศษ  การปิดไฟ  การขึ้นรถ ฯลฯ  ให้นักศึกษาแสดงให้ดู

            -ให้นักศึกษาสังเกตสีหน้าของผู้คนในอารมณ์ต่างๆ  แล้วนำมาฝึกหน้ากระจก  เช่น  อารมณ์รัก โกรธ เศร้า เหงา หงุดหงิด เชื่องซึม ร่าเริง ยิ้ม ดีใจ ฯลฯ

            -ให้นักศึกษา 2 คนหันหน้าเข้าหากัน  ฝึกทำท่าที่แต่ละคนเป็นกระจกให้กัน

            -ให้นักศึกษาดูท่าทางการเดิน การวิ่ง  การเต้นรำ  ของผู้คน  ตั้งใจดูทิศทางการเคลื่อนไหว  และนำมาใช่ในฉากการแสดง

            -ให้นักศึกษาฝึกการแสดง  การเคลื่อนไหวของละครแบบต่างๆโดยแยกอายุตัวละครตั้งแต่ทารกถึงคนแก่  หรือแยกเป็นผู้คนในหลากหลายอาชชีพ  หลากหลายกลุ่มสังคม  ฯลฯ   

           

    3.2 การฝึกฟังเสียง (Listening)

 

-ให้นักศึกษา ฝึกการฟังเสียงที่หลากหลายจากเสียงที่บันทึกเทปไว้หรือเสียงสดๆ เช่น เสียงที่เกิดจากมือ เช่น ปรบมือ เคาะประตู ตบโต๊ะ ฯลฯ เสียงจากอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ตีระฆัง จุดไฟแช็คแก๊ส ฯลฯ แล้วนำมาใช้ในการแสดง

-ให้นักศึกษาฝึกฟังเสียงดนตรีท่อนสั้นๆ แล้วร้องเพลงหรือแสดงละครแบบสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ สร้างฉากที่มีเสียงประกอบเหล่านี้ ให้เสียงมีความสำคัญที่สุดในฉากนั้น หรือ ให้เสียงเป็นต้นกำเนิดให้เกิดการแสดง

-ให้นักศึกษาฟังจังหวะของเครื่องจักรกลต่างๆ และแสดงตาม พยายามทำเสียงให้น่าสนใจ ซึ่งอาจจะแสดงออกด้วยการเคลื่อนไหวหรือแสดงท่าทางแบบละคร

-ให้นักศึกษาฟังเสียงดนตรีเป็นชิ้นๆ ฟังทำนองและเลียนเสียงเครื่องดนตรีนั้นๆ

-ให้นักศึกษาฟังเสียงซึ่งแตกต่างกัน และนำเสียงนั้นมาใช้ในฉาก ออกคำสั่งให้แสดงออกแตกต่างกัน และแบ่งฉากให้มีความหมายต่างกัน

-ให้นักศึกษาแยกแยะเสียง ทั้งเสียงสั้นๆและยาว เสียงแบบ staccato คือ ออกเสียงสั้นๆ ขาดเป็นห้วงๆ ไม่ติดต่อกันโดยออกจากช่องท้อง เสียงแหลมบาดหู (harsh) เสียงราบเรียบไพเราะเพลิดเพลิน (smooth) ฯลฯ นำเสียงเหล่านี้มาประกอบในฉาก

-ให้นักศึกษาฟังเสียงผู้คน เสียงสัตว์ ฯลฯ แล้วนำเสียงนั้นมาแสดงในฉาก

-ให้นักศึกษาฟังเสียงต่างๆ เช่น เสียงเคาะประตู ลมพายุ เสียงดนตรีดังๆ ฯลฯ ให้นักแสดงแต่ละกลุ่ม เลือกเสียงใดเสียงหนึ่ง และสร้างการแสดงจากเสียงนั้น เช่น

-เสียงเทป ซีดี วิทยุ ที่เซ็งแซ่ไปหมด

-เสียงคนพูดโทรศัพท์

-เสียงนักการเมืองหาเสียง หรือเสียงประกาศในท้องถนน

-เสียงบ่นของพ่อแม่ เสียงทะเลาะ ระหว่างสามีภรรยา

 

      3.3 การฝึกสัมผัส (Touching)                   

ตัวอย่างเช่น

-ให้นักศึกษาปิดตาหรือหลับตาทุกคนจะสัมผัสสิ่งเดียวกัน เช่น ลูกฟุตบอล หนังสือ ปากกา ขวดน้ำ แจกัน ฯลฯ ให้ทุกคนแยกแยะโดยการสัมผัส ให้รู้สึกถึงความแตกต่างของรูปทรง ขนาด ชนิดสิ่งของที่สัมผัสว่าเป็นไม้ โลหะ หิน ฯลฯ จากนั้นก็ฝึกสัมผัสแบบลืมตา สัมผัสโดยใช้ส่วนอื่นๆ ของร่างกายนอกจากมือ ส่งต่อเปลี่ยนคนไปเรื่อยๆเป็นวงกลม

-ให้นักศึกษาฝึกการคาดคะเนถึงน้ำหนัก ขนาด ความราบเรียบ ขรุขระ เริ่มด้วยการผลักสิ่งของต่างๆ ทั้งหนักและเบา โดยทุกคนจะต้องแสดงออกถึงความหนัก เบา ทางสีหน้า มือ เท้า และส่วนอื่นๆ จากนั้น ให้ผลักสิ่งของด้วยสัมผัสของมือเปล่า ผลักโดยใช้ถุงมือ ใช้นิ้ว ไม่ใช้นิ้ว ใช้นิ้วเพียงครึ่งเดียว ใช้วัสดุต่างๆกัน เช่น ขนสัตว์ ด้าย ถุงมือ ฯลฯ ให้รู้สึกถึงน้ำหนักตัว  เมื่อสวมถุงเท้าขนาดต่างๆ เมื่อสวมรองเท้าส้นเตี้ย ส้นสูง รองเท้าบู้ต ฯลฯ ทั้งรองเท้ายุคปัจจุบัน ในอดีต รองเท้าล้ำยุค และนำสิ่งเรานี้มาใช้ในการแสดง

-ให้นักศึกษาฝึกสัมผัสความร้อน ความเย็น รู้สึกถึงความเย็นระดับต่างๆ แล้วพัฒนาการแสดงต่อไปว่า ร้อน เย็น เท่าไหร่ ด้วยการใช้ร่างกายทุกส่วนสัมผัส

-ให้นักศึกษาฝึกสัมผัสระหว่างบุคคล เริ่มด้วยความกลัวที่จะสัมผัส การสัมผัสด้วยส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น แตะไหล่ แตะด้วยเท้า ฯลฯ แล้วก้าวร้าวขึ้นเรื่อยๆ ฝึกสัมผัสแก้ม มือ เท้า ของเด็กทารก ฯลฯ นำความรู้สึกสัมผัสนี้มาใช้ในการแสดง

 

      3.4 การฝึกดูและสัมผัส (Seeing and Touching)

 

-ให้นักศึกษาเริ่มฝึกด้วยจินตนาการว่าในมือถือสิ่งของต่างๆ เช่น กล้วย บุหรี่ ถ้วยชา ฯลฯ และส่งมอบให้คนต่อไป  หลักการคือ รักษาความจริงไว้  ทั้งขนาด รูปทรง ความราบเรียบ ความขรุขระ        ความหนักเบา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการแสดง ภายใต้หลักการที่ว่าเป็นจินตนาการ แต่จะต้องมีสมาธิใน 3 หัวข้อ คือ ขนาด ความคมชัด และรูปทรง

-ให้นักศึกษาสังเกตดูอาชีพต่างๆ ของบุคคล และฝึกสัมผัสจับต้องสิ่งของต่างๆ ซึ่งจะสามารถช่วยในการพัฒนาความสามารถของนักแสดง โดยนำการดูและการสัมผัส มาผสมผสานกัน เช่น การขุดเจาะซ่อมแซมถนน การทำความสะอาดคาราวานรถ ปฏิบัติการระเบิดท่อน้ำมัน การทำขนมพาย การดัดผม เป็นต้น

จากการฝึกฝนที่กล่าวมา เราสามารถสร้างการแสดงฉากใหญ่ๆ ได้ เช่น ฉากที่สร้างจากนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายที่แปลกประหลาด การถูกโจมตีฉากใต้ดินซึ่งประกอบด้วยถ้ำ การฝ่าพันอุปสรรคต่างๆ หรือฉากธรรมดาภายในบ้าน ซึ่งประกอบด้วยบันได ห้องที่อึดอัด ฯลฯ ใช้บทพูดที่คิดขึ้นทันทีทันใดโดยไม่ต้องเตรียมตัว (Improvise)

 

     3.5 การฝึกจดจำกลิ่น (Smelling)

-ให้นักศึกษาฝึกดมกลิ่นที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ เช่น กลิ่นในขวด หรือจากแหล่งอื่นๆ จินตนาการถึงกลิ่นที่อยู่ในนั้น แยกแยะชนิดของกลิ่นน้ำหอม กลิ่นดอกกุหลาบ กลิ่นดอกไวโอเลต กลิ่นเหล้าองุ่น กลิ่นกองฟาง กลิ่นอาหาร ฯลฯ

-ให้นักศึกษาฝึกการแสดงที่รวบรวมความหลากหลายของกลิ่นไว้ เช่น กลิ่นห้องนอนที่อบอวลด้วยน้ำหอม  กลิ่นเหม็นอับในห้องใต้ดินที่ชื้นแฉะ กลิ่นต้นไม้ที่เน่าเปื่อย กลิ่นก๊าซต่างๆ กลิ่นเหล่านี้ไม่เฉพาะแต่ทำให้เราเกิดความไม่สบายใจเท่านั้น แต่รวมถึงสร้างความอึดอัด และมีผลต่อสุขภาพเราด้วย

-ให้นักศึกษาฝึกการแสดงฉากต่อๆไป โดยเปรียบเทียบความแตกต่างของกลิ่น 2 กลิ่น และให้เป็นส่วนสำคัญของการแสดงนั้น ลองจินตนาการถึงท้องถิ่นหรือบ้านเกิดเมืองนอนของเรา คิดถึงกลิ่นของภูมิประเทศรอบบ้านเรา แล้วเชื่อมโยงด้วยความคิดถึงบ้าน เช่น กลิ่นโคลน กลิ่นดอกกระถิน กลิ่นควันไฟ เป็นต้น

 

    3.6 การฝึกแยกแยะรสชาติ (Tasting)

 

-ให้นักศึกษาลองชิมและจินตนาการถึงรสชาติของสิ่งต่างๆ เช่น ช็อคโกแลต เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ชา ฯลฯ แล้วออกแบบฉากการแสดงที่มีการดื่ม การชิม การกิน ของที่มีรสชาติต่างๆ

-ให้นักศึกษาจินตนาการถึงรสชาติของสิ่งต่างๆ พยายามแยกแยะรสชาติเหล่านั้น ขมหรือเปรี้ยว อภิปรายถึงความแตกต่างระหว่างรสชาติต่างๆ เช่น หวาน แห้งผาก ชุ่มชื้น ร้อน เย็น ฯลฯ

-ให้นักศึกษาทดลองฝึกซ้อมความแตกต่างระหว่างรสชาติต่างๆ และทดลองความสัมพันธ์ระหว่างรสชาติและสัมผัสด้วยปาก ไม่เฉพาะสิ่งของที่เป็นเครื่องดื่ม หรืออาหารเท่านั้น

 

4.แบบฝึกหัดการสร้างสมาธิในขณะทำการแสดง (More Difficult Concentration Practice)

 

            4.1 ผู้ฝึกคนแรกในกลุ่ม เริ่มต้นทำเสียงเพรียกร้องของนก (Whistling) คนที่สอง ที่สาม ทำเสียงนกชนิดอื่นๆ แต่ที่สำคัญคือ  ไม่เพิ่มระดับเสียง ให้ผู้ฝึกบันทึกจดจำเสียงต่างๆไว้ พยายามจัดกลุ่มเสียงใกล้เคียงกันให้เป็นกลุ่มเดียวกัน

            4.2 ให้ผู้ฝึกคนหนึ่งอ่านออกเสียงบทความในหนังสือพิมพ์ดังๆ ขณะที่คนอื่นๆ พยายามรบกวนสมาธิ ผู้ฝึกอ่านเรื่องราวในหนังสือพิมพ์ดังๆ ต่อไป คนอื่นๆออกเสียงรบกวนอีก คราวนี้ เมื่อมีคนรบกวน ผู้อ่านใช้นิ้วจับหนังสือพิมพ์ไว้ หูฟังคนส่งเสียงรบกวน ตอบคำถามคนรบกวน แล้วหันมาอ่านเรื่องราวในหนังสือพิมพ์ต่อ มีคนรบกวนถามแทรกอีก หันมาตอบคำถาม แล้วอ่านหนังสือพิมพ์ต่อจนจบ ให้สังเกตว่าคนอ่านมีสามธิในการอ่านหนังสือพิมพ์แค่ไหน

            4.3 ให้ผู้ฝึกกล่าวสุนทรพจน์ คนอื่นๆ คอยขัดคอด้วยคำถาม ผู้ฝึกต้องพยายามรักษาประโยคที่พูดไว้ โดยไม่สนใจเสียงตะโกนรบกวนจากข้างล่าง จากนั้นให้หันมาตอบคำถามจากเพื่อนๆข้างล่าง แล้วหันไปกล่าวสุนทรพจน์ต่อเนื่องไป โดยไม่เสียสมาธิ

            4.4 สร้างบุคลิกลักษณะตัวละครที่แตกต่างไปตามเชื้อชาติต่างๆ  สมมติสถานการณ์ว่าเป็น ประชุมนานาชาติ หลักการคือ ทุกคนต้องรักษาบุคลิกตัวละครไว้โดยตลอด และพูดโต้ตอบกัน (respond)  โดยไม่สูญเสียเอกลักษณ์เฉพาะตัว

            4.5 ฝึกการแสดงละครในยุคสมัยต่างๆ กัน เช่น ยุคกรีก โรมัน ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ยุควิคตอเรีย ฯลฯ ค้นให้พบตัวเองที่อยู่ในยุคต่างๆ ศึกษาในรายละเอียดของบุคลิกแต่ละอย่างว่า สิ่งใดควรรักษาไว้ (sustain)

 

5. แบบฝึกหัดการพัฒนาอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ (Spontaneity)

 

อารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ จะเกิดขึ้นและสำเร็จได้ด้วยการฝึกฝน นักศึกษาจะต้องมีความสนใจเป็นพิเศษ จึงจะสามารถช่วยในการพัฒนาอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาตินี้ได้ นักศึกษาจะต้องได้รับคำแนะนำติชม และต้องมีการวางแผนในการแสดงให้นักศึกษาล่วงหน้า

 

5.1 ให้ผู้ฝึกคนหนึ่งในกลุ่ม พูดคำๆ หนึ่งออกมา จากนั้นให้คนอื่นๆในกลุ่ม แสดงปฏิกิริยา อย่างฉับพลันด้วยการพูดอะไรก็ได้ต่อจากคนแรก แต่ต้องเป็นคำที่รับรู้ทั่วไป จากนั้นก็ให้ทุกคนพูดติดต่อกันเป็นเรื่องราว

5.2 ให้สมาชิกในกลุ่มเล็กๆ คนหนึ่ง เริ่มต้นจินตนาการเกี่ยวกับการบรรจุสิ่งของลงในกระเป๋าเดินทาง แล้วให้คนที่สอง คนที่สาม และคนอื่นๆ ทำตาม โดยสิ่งที่จัดลงในกระเป๋าจะต้องไม่ซ้ำกัน

5.3 ให้ผู้ฝึกเล่าเรื่อง เริ่มจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งต่อกันไปเรื่อยๆ แต่ตอนจบของแต่ละคนจะต้องตั้งคำถามให้คนต่อไปด้วย เช่น ที่ไหน เมื่อไหร่ เท่าไหร่

5.3 สร้างฉากการแสดงที่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ เช่น เพดานห้องเริ่มทรุดต่ำลง โทรเลขดังขึ้น บางคนเริ่มทำลายข้าวของ กางเกงขายาวของคุณเริ่มหลุดลุ่ย อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 40 องศา บรรยากาศรอบๆตัวคุณ เหมือนเกาะที่เป็นทะเลทราย มีแสงจันทร์ มีเนินดินเล็กๆ (molehill) ฯลฯ

 

 

เอกสารอ้างอิง

John Hodgson and Ernest Richards. (1977). Improvisation.  Great Britain: Fletcher and

Son Ltd,Norwich.