วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

รำกราวชัย (บางสมัยไทยด้อยจนย่อยยับ)

 

รำกราวชัย

 

“รำกราวชัย” เดิมชื่อ “กราวถลาง” อยู่ในบทละคร เรื่อง ศึกถลาง ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการ แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ซึ่งขณะนั้น หลวงวิจิตรวาทการ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๗-๒๔๘๓ ท่านได้รับมอบหมายให้ทำงาน “ปลูกต้นรักชาติ” (ประอรรัตน์ บูรณมาตร์ : ๒๕๒๘ หน้า ๕๕)  อาจกล่าวได้ว่า บทละครประวัติศาสตร์ของท่าน เกิดขึ้นจากแรงผลักดันทางการเมืองในช่วงระยะเวลานั้น

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ คือ เมื่อวันที่    พฤษภาคม  ๒๔๗๖ ได้มี พระราชบัญญัติ จัดตั้งกรมศิลปากร ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง (หลังจากถูกยุบไปเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๖๙ จากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก สืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๑)  โดยอยู่ในสังกัดกระทรวงธรรมการ แผนกละครและสังคีต  สังกัดอยู่กองศิลปะวิทยาการ เฉพาะ “แผนกละครและสังคีต”   มีหน้าที่ค้นคว้าและหาทางบำรุงความรู้ในศิลปะทางละครและสังคีต (ประวัติและบทบาทสำนักการสังคีต สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๔)

           พ.ศ.๒๔๗๗  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นอธิบดีกรมศิลปากรคนแรก  และในปีเดียวกันนี้ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๗๗ กรมศิลปากร ได้จัดตั้ง “โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์” (ปัจจุบันคือวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม)  ซึ่งคณะครูยุคเริ่มก่อตั้งในปี ๒๕๗๗ มีคุณครูศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก (หม่อมครูต่วน-ละครนาง) คุณครูลมุล ยมะคุปต์ (ละครพระ) คุณครูมัลลี คงประภัทร์ (ย่าหมัน) ครูผัน โมรากุล โดยมีศิลปินจากแผนกละครและสังคีต ทำหน้าที่ทั้งครูและศิลปินควบคู่กันไป

 พ.ศ.๒๔๗๘  กระทรวงวัง ถูกยุบเป็นสำนักพระราชวัง   กรมศิลปากรรับโอนข้าราชการโขน  ละคร   ปี่พาทย์   เครื่องสายฝรั่ง จากกระทรวงวัง ไปสังกัดกองศิลปะวิทยาการ  กรมศิลปากร  

           ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๗-๒๔๗๙ หลวงวิจิตรวาทการ ได้แต่งบทและจัดแสดงละครประวัติศาสตร์ คือ นเรศวรประกาศอิสรภาพ (๒๔๗๗) พระราชธิดาพระร่วง (๒๔๗๗) เลือดสุพรรณ (๒๔๗๙) ราชมนู (๒๔๗๙)

ในปี ๒๔๘๐ หลวงวิจิตรวาทการ ได้แต่งบทและจัดแสดงละครประวัติศาสตร์ เรื่อง พระเจ้ากรุงธน และ ศึกถลาง แน่นอนว่านักแสดงคงจะเป็นศิลปินจากแผนกละครและสังคีต กรมศิลปากร และนักเรียนจากโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์นั่นเอง

ในหนังสือ ๑๐๑ ปีละครวังสวนกุหลาบ (๒๕๕๕ หน้า ๑๒๒) กล่าวถึงประวัติ คุณครูลมุล ยมะคุปต์ ไว้ว่า หลังจากคุณครูลมุล ออกจากวังสวนกุหลาบ มาสอนที่โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์นั้น

“นอกจากจะมีหน้าที่ในการสอนแล้ว ท่านยังมีหน้าที่ในการควบคุมและฝึกซ้อมการแสดงของกรมศิลปากรอีกด้วย ดังนั้น การแสดงของกรมศิลปากรทุกชุด ตั้งแต่เปิดโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ๒๔๗๗-๒๕๒๖ จึงเป็นผลงานของท่านทั้งสิ้น”

ในหนังสือคุณานุสรณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพคุณครูลมุล ยมะคุปต์ (๒๕๒๖ หน้า ๑๙) ได้กล่าวถึงผลงานการประดิษฐ์ท่ารำของคุณครูลมุลไว้ว่า

“ในสมัยที่ พณฯท่าน หลวงวิจิตรวาทการ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ท่านได้ประพันธ์บทละครปลุกใจไว้หลายเรื่อง เช่น เลือดสุพรรณ (๒๔๗๙) เจ้าหญิงแสนหวี (๒๔๘๑) อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง (๒๔๙๗) อานุภาพแห่งความเสียสละ (๒๔๙๘) อานุภาพแห่งความรัก (๒๔๙๙) ซึ่งมีระบำประกอบเพลงสลับฉากหลายชุด คุณครูลมุล ยมะคุปต์ท่านได้มีส่วนร่วมในการคิดประดิษฐ์ท่ารำทุกชุด เช่น ระบำเชิญขวัญ (ละครเรื่องน่านเจ้า ๒๔๘๒) ระบำในน้ำมีปลาในนามีข้าว (อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ๒๔๙๗) ระบำเสียงระฆัง (อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ๒๔๙๗) ระบำชุมนุมเผ่าไทย (อานุภาพแห่งความเสียสละ ๒๔๙๘) ระบำนกสามหมู่ (อานุภาพแห่งความเสียสละ ๒๔๙๘) เป็นต้น”

จากข้อความดังกล่าว จึงอาจสรุปได้ว่า คุณครูลมุล ยมะคุปต์ ได้ร่วมคิดท่ารำและฝึกซ้อมละคร เรื่อง ศึกถลาง และ “รำกราวถลาง” นี้ด้วย โดยอาจจะมีคุณครูท่านอื่นช่วยกันคิดท่ารำและฝึกซ้อมด้วย

 

เพลงกราวถลาง

(บทละครเรื่องศึกถลาง ๒๕๐๖ หน้า ๑๘)

 

ถลางของเราใครเข้ามาย่ำ                    จะตีกระหน่ำให้มันพ่ายแพ้ไป

ถลางเป็นถิ่นของไทย                                   ไล่ศัตรูออกไป –ชโย

 

เลือดไทย ใจเด็ด ไม่เข็ดขาม                  สงคราม แกล้วกล้า จะหาไหน

สละชีพ เพื่อชาติ จนขาดใจ                            ไม่ให้ ศัตรู มาดูแคลน

ชาติใด ใจพาล รุกรานมา                     จะเคี่ยวฆ่า มันให้ยับ นับแสน

ก่อกรรม ทำทุกข์ รุกเขตแดน                          แก้แค้น ให้พ้น แผ่นดินไทย

ชาติไทย เคยด้อย ย่อยยับ                    ยังกลับ แก้ฟื้น คืนได้
เพราะไทย ใจสมัคร รักเป็นไทย                        เต็มใจ ต่อสู้ หมู่ไพรี

มาเถอะเหวย ยกมา ทั่วสากล                ไทยจะทน สู้ตาย ไม่พ่ายหนี
ถ้าแม้นมัน มีชัย พวกไพรี                              ก็ได้แต่ ปฐพี ไม่มีคน

หาเช้า กินค่ำ ยามสงบ                       เกิดศึก ก็รบ ไม่ย่อย่น
ชาติใด ใจกล้า มาประจญ                              ทุกคน ยอมตาย ให้บ้านเมือง

มาเถิด ชาวไทย ทั้งหญิงชาย                 ไว้ลาย ให้โลก เขาลือเลื่อง
ไว้เกียรติ กรุงสยาม นามประเทือง                     ให้รุ่งเรือง วัฒนา ชั่วฟ้าดิน

 

การรำกราวถลางให้ทำอย่างนี้

1. คุณหญิงจันทร์กับคุณหญิงมุกด์ยืนกันอยู่คู่ บนที่สูงทั้งสองคน

2. น้อมกับเนื่องยืนอยู่คนละข้าง คนถือธงยืนกลาง ที่ยืนต่ำกว่าคุณหญิง แต่สูงกว่าคนอื่น

3. คนธงออกรำก่อน แล้วทหารออกมาเป็นพวกๆ ชายพวกหนึ่ง หญิงพวกหนึ่งสลับกันไปและร้องคนละบท

 

ต่อมา ได้มีการนำการแสดงชุด “กราวถลาง” นี้ มาออกแสดงเดี่ยวๆ เป็นเอกเทศ ไม่ประกอบละครเป็นเรื่องเป็นราว โดยปรับเปลี่ยนเนื้อร้องเล็กน้อย และนำบรรจุไว้สอนในหลักสูตรของโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์หรือโรงเรียนนาฏศิลป สืบมาจนถึงปัจจุบัน ใช้ชื่อชุดการแสดงว่า “กราวชัย”

-ปี่พาทย์ทำเพลงกราวกลาง-

ร้องเพลงกราวชัย

บางสมัย ไทยด้อย จนย่อยยับ                ไทยกลับ แก้ฟื้น คืนได้

เพราะไทย ใจสมัคร รักเป็นไทย                        เต็มใจ ต่อสู้ หมู่ไพรี

มาเถอะเหวย ยกมา ทั่วสากล                ไทยจะทน สู้ตาย ไม่พ่ายหนี
ถ้าแม้นมัน มีชัย พวกไพรี                              ก็ได้แต่ ปฐพี ไม่มีคน

หาเช้า กินค่ำ ยามสงบ                       เกิดศึก ก็รบ ไม่ย่อย่น
ชาติใด ใจกล้า มาประจญ                              ทุกคน ยอมตาย ให้บ้านเมือง

มาเถิด ชาวไทย ทั้งหญิงชาย                 ไว้ลาย ให้โลก เขาลือเลื่อง
ไว้เกียรติ กรุงสยาม นามประเทือง                     ให้รุ่งเรือง วัฒนา ชั่วฟ้าดิน

-ปี่พาทย์ทำเพลงเชิด-

 

 

อ้างอิง

 

การสังคีต,สำนัก. ประวัติและบทบาทสำนักการสังคีต. https://www.finearts.go.th

สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๔

วิจิตรวาทการ,หลวง. บทละครเรื่องศึกถลางกับน่านเจ้า. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ

นางบุญทรง คุณะเกษม ณ เมรุวัดมกุฎกษัติรยาราม ๑๐ มีนาคม ๒๕๐๖

ประเมษฐ์ บุณยะชัย (บรรณาธิการ) . ๑๐๑ ปีละครวังสวนกุหลาบ. พิมพ์ครั้งที่ ๒

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๕.

ประอรรัตน์ บูรณมาตร์. หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๘

หนังสือคุณานุสรณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพนางลมุล ยมะคุปต์.

ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๖.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น