วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564

ภาษาท่า ภาษานาฏศิลป์ ภาษาโขน รำใช้บท หรือ รำตีบท

 เอกสารประกอบการสอน

วิชา ศ ๓๓๒๒๕ ทฤษฎีนาฏศิลป์ไทย ๕ การสื่อสารในนาฏกรรมไทย

ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖

จัดทำโดย ผศ.สมภพ เพ็ญจันทร์

วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

 

 

ภาษาท่า ภาษานาฏศิลป์ ภาษาโขน รำใช้บท หรือ รำตีบท

 

หลักการสื่อความหมายด้วยท่าทางในรูปแบบนาฏศิลป์ไทย

การที่นักเรียนจะแสดงโขน ละคร ได้อย่างถูกต้อง หรือจะดูโขน ละคร ให้รู้เรื่องนั้น นักเรียนจะต้องศึกษาเรื่องของภาษาท่า ภาษานาฏศิลป์ ภาษาโขน รำตีบท รำใช้บท รำหน้าพาทย์ และความหมายของท่ารำก่อน เพราะการแสดงโขน-ละคร นั้น บางช่วงบางตอน นักเรียนจะต้องสื่อความหมายให้ผู้ชมหรือให้ตัวแสดงด้วยกันทราบ ด้วยภาษาท่าทางตามรูปแบบนาฏศิลป์ไทย ซึ่งครูบาอาจารย์ตั้งแต่ครั้งอดีตได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น และจดจำ ถ่ายทอด ต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน

 

ภาษาท่า

ภาษาประจำวันของเรานั้น มิใช่มีแต่คำพูดซึ่งเปล่งเป็นเสียงออกมาทางปากเท่านั้น หากแต่เราใช้ท่า คือ ใช้อวัยวะส่วนอื่นแสดงออกมาเป็นกิริยาท่าทางแทน เราก็สามารถรู้ภาษาและรู้ความหมายกันได้ (ปัจจุบันมีการเรียนภาษามือของผู้บกพร่องทางการได้ยิน ที่เป็นภาษาสากลทั่วโลก)
       ภาษาท่าเหล่านี้ เราใช้กันทุกวัน และกิริท่าทางของคนเรา ก็ย่อมมีความหมายอยู่ในตัว แม้ไม่ต้องพูดออกมาทางปาก
          กิริยาท่าทางจึงนับเป็นภาษาส่วนหนึ่ง อาจเรียกได้ว่าเป็น
ภาษาท่า เช่นเดียวกับภาษาที่เปล่งเป็นคำพูดออกมาทางปาก

           “ภาษาท่า อาจจำแนกออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

          ๑. "ท่า"ซึ่งให้แทนคำพูด เช่น รับ ปฏิเสธ สั่ง เรียก เป็นต้น

          ๒. "ท่า"ซึ่งเป็นอิริยาบถและกิริยาอาการ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน เคารพ และการกระทำอื่นๆ 

          ๓. "ท่า"ซึ่งแสดงถึงอารมณ์ภายใน เช่น รัก โกรธ ดีใจ เสียใจ ร่าเริง เป็นต้น

 แต่ลักษณะของท่าที่แยกเป็น 3 ประเภทดังกล่าว ก็มีเหลื่อมล้ำคาบเกี่ยวกันอยู่ จะแยกเด็ดขาดลงไปที่เดียวหาได้ไม่

 

ภาษานาฏศิลป์

ในศิลปะทางนาฏกรรมหรือนาฏศิลป์ ได้มีการประดิษฐ์ดัดแปลง "ภาษาท่า" ต่างๆ ให้วิจิตรพิสดารและสวยงามยิ่งกว่าท่าธรรมดา โดยให้สอดคล้องประสานประสมกลมกลืนกับศิลปะที่เป็นส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เพลง ดนตรี และคำขับร้อง เป็นต้น แต่ก็ประดิษฐ์ดัดแปลงขึ้นมาจากกิริยาท่าทางอันเป็นธรรมดาสามัญ ๓ ประเภทดังกล่าวข้างต้น คือ

            ๑. ภาษานาฏศิลป์ซึ่งให้แทนคำพูด เช่น ท่ารับ ปฏิเสธ สั่ง เรียก เป็นต้น

          ๒. ภาษานาฏศิลป์ซึ่งเป็นอิริยาบถและกิริยาอาการ เช่น ท่ายืน เดิน นั่ง นอน เคารพ และการกระทำอื่นๆ 

          ๓. ภาษานาฏศิลป์ซึ่งแสดงถึงอารมณ์ภายใน เช่น ท่ารัก โกรธ ดีใจ เสียใจ ร่าเริง เป็นต้น

นอกจากเพื่อเป็นการส่งภาษาให้หมายรู้กันได้ด้วยสายตาแล้ว ในศิลปะทางนาฏกรรม เขาจำเป็นต้องมุ่งให้เต้นและรำได้งดงามและเป็นสง่า ที่เรียกกันว่า “สุนทรียรส” อีกด้วย เพราะความงดงาม หรือ สุนทรียรส เป็นหลักสำคัญของศิลปะ 

ท่าเต้นท่ารำของโขนและละครรำของไทยก็ดี หรือของชาติอื่นๆก็ดี เป็นการประดิษฐ์โดยอาศัย “หลักความงาม” ของศิลปะชาติดังกล่าว เป็นการส่งภาษาโดยเฉพาะ อย่างที่เรียกว่า “นาฏยภาษา” หรือ “ภาษานาฏศิลป์” (Dance Language) 

"ภาษานาฏศิลป์" จึงมีควาหมยแสดงออกมาเช่นเดียวกับคำพูดที่เราได้ยินได้ฟังด้วยหูของเรา แต่เป็นคำพูดที่พูดด้วยมือ แขน เท้า ขา ลำตัว ลำคอ ใบหน้า และศีรษะ  ด้วยเหตุนี้ การดูโขนจึงอยู่ที่ดู "ท่าเต้นท่ารำ" เพราะท่าเต้นท่ารำนั้นเป็นคำพูดของโขน โดขนจึงพูดด้วยท่าเต้นท่ารำท่าทำบท ซึ่งเป็น "ภาษานาฏศิลป์" ของการแสดงศิลปะชนิดนี้

ตัวอย่างของภาษานาฏศิลป์ เช่น ท่ายิ่งใหญ่ ท่าสวยงาม ท่าเจริญรุ่งเรือง ท่าพระญาติวงศ์ ท่าในท้องพระโรง ท่าพระนารายณ์อวตาร เป็นต้น

 

ภาษาโขน

ภาษาโขน คือ ท่าทางที่ตัวโขนแสดงออกมา ไม่ว่าจะเป็นการเต้นหรือการรำ เพื่อสื่อความหมายต่อผู้ชม ให้มีความรู้สึกสนุกสนาน ยิ่งเป็นผู้เล่นโขนที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และมีฝีไม้ลายมือในการส่งภาษาโขนด้วยแล้ว รสสนุกในการดูก็จะทวียิ่งขึ้น ผู้เล่นโขนคนใดแสดงภาษาโขน คือการแสดงท่าเต้นท่ารำออกมาได้ชัดเจนและถูกต้องสวยงาม ก็จะได้รับการยกย่องว่าตีบทแตกถ้าเทียบหลักศิลปะตะวันตก ก็แสดงว่าผู้แสดง “แปลความหมาย (Interpretation) ของเรื่อง ตอนที่ตนแสดงได้ถูกต้อง กล่าวคือเข้าถึงบท อย่างที่เรียกว่า Attack his parts

แต่โดยเหตุที่โขนต้องเต้นและรำไปตามบทพากย์ บทเจรจา บทขับร้อง และเพลงดนตรีปี่พาทย์ จึงจำแนกการเต้นการรำของโขนละครออกเป็น ๒ ชนิด คือ  รำหน้าพาทย์ และ รำบทหรือรำใช้บท


รำหน้าพาทย์

       รำหน้าพาทย์ ได้แก่ การรำตามทำนองเพลงดนตรีปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการเล่นโขน กล่าวคือ ผู้เล่นโขนต้องเต้นรำไปตามจังหวะและทำนองเพลงดนตรี ซึ่งมีชื่อบัญญัติเรียกอยู่ในวงวิชาการดนตรีอีกส่วนหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เพลงเชิด เสมอ รัว ลา ตระ คุกพาทย์ กราวนอก กราวใน แผละ โอด เป็นต้น


รำใช้บท หรือ รำตีบท

รำใช้บท หรือ รำตีบท หรือ รำบท ได้แก่ การรำตามบทร้อง บทเจรจา และบทพาทย์ กล่าวคือ รำทำบทไปตามถ้อยคำ ซึ่งมีผู้ร้อง ซึ่งมีคำร้อง ผู้เจรจา หรือผู้พากย์ให้ ผู้แสดงโขนจะต้องแสดงภาษาท่าไปตามคำนั้นๆ เช่น ไม่มี ไม่ดี ไม่เอา ไม่ใช่ ไม่รู้ ไม่กลัว เรียกให้เข้ามา สั่งให้ออกไป ตาย รัก เดือดเนื้อร้อนใจ ทุกข์โศก ร้องไห้ สะอึกสะอื้น ยิ้ม ดีใจ หัวเราะ โกรธ เหม่ มาซิวะ เป็นต้น

ท่ารำใช้บท รำตีบท หรือรำบท คือการประดิษฐ์เลือกสรรขึ้นมาจากกิริยาท่าทางอันเป็นธรรมดาสามัญของมนุษย์ เช่นที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำทุกวันนั่นเอง แต่ที่มีท่าทางผิดเพี้ยนไปจากท่าธรรมดา ก็มุ่งด้วยความสวยงามตามแนวคิดของศิลปินไทย เช่นเดียวกับลวดลายจิตรกรรม ที่ช่างศิลป์ประดิษฐ์เขียนรวงข้าวหรือเครือเถา เป็นต้น

ท่ารำใช้บท ตีบท ของโขนละครไทยนั้น บรมครูแต่โบราณได้ประดิษฐ์และเลือกคัดจัดสรรไว้เป็นเวลานาน และจดจำสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน บางท่าจึงเป็นการยากที่จะอธิบายความหมายให้เข้าใจได้ในสมัยนี้ หน้าที่ของศิลปินผู้ฉลาดในยุคต่อมาก็คือ รู้จักเลือกคัดจัดท่า หรือประดิษฐ์ดัดแปลงนำไปใช้ให้เหมาะสมแก่การแสดงอารมณ์ในท้องเรื่องและโอกาส

อีกประการหนึ่ง ท่าของโขนและละครรำนั้น ผู้แสดงจะเต้นรำทำท่า ให้ช้าเร็วไปตามใจหาได้ไม่ หากจะต้องรำทำท่าให้ประสานประสมกลมกลืนกันไปกับจังหวะของคำพากย์ คำเจรจา คำขับร้อง และเพลงหน้าพาทย์ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการเต้น การรำ ท่าทางเหล่านั้นจึงแผกเพี้ยนไปจากกิริยาท่าทางอันธรรมดาสามัญ

ท่าเต้น ท่ารำ ของผู้แสดงโขนดังกล่าวมานี้ นับว่าเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูง ที่บรมครูแต่โบราณได้ประดิษฐ์เลือกคัดจัดสรรไว้ และยกย่องกันต่อมาว่าเป็นนาฏศิลป์ที่วิจิตรบรรจง ประดุจลวดลายจิตรกรรมที่งดงาม ยากที่จะอธิบายด้วยถ้อยคำให้ละเอียดถี่ถ้วนและชัดเจนแจ่มแจ้งได้ ควรที่ชนรุ่นหลังจะอนุรักษ์ไว้ไม่หายสูญหายไป

 


อ้างอิง

 

ธนิต  อยู่โพธิ์โขน.   พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๐๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น