วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2564

ระบำมาตรฐาน ชุด ระบำดาวดึงส์

 

ระบำมาตรฐาน ชุด ระบำดาวดึงส์

 

ผศ.สมภพ เพ็ญจันทร์

สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

 

ความนำ

ระบำดาวดึงส์ เป็นระบำที่ได้ประดิษฐ์ปรับปรุงขึ้นใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กล่าวกันว่าท่ารำที่แสดงยกมือประสานไขว้ไว้ที่ทรวงอก พร้อมทั้งขยับฝ่ามือขึ้นลงเป็นจังหวะ พร้อมกับเต้นย่ำเท้า เป็นท่ารำที่เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทรงประดิษฐ์ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยเลียนแบบมาจากท่าเต้นทุบอกในพิธีเจ้าเซ็น ของชนนับถือศาสนาอิสลามนิกายเจ้าเซ็น (พิธีแห่เจ้าเซ็น หรือ พิธีเต้นเจ้าเซ็น ในชุมชนชีอะฮ์ในไทยเรียก พิธีมะหะหร่ำ เพื่อไว้อาลัยแก่ฮุซัยน์ อิบน์ อะลี หลานตาของนบีมุฮัมมัด ซึ่งถูกสังหารหมู่ที่เมืองกัรบะลาอ์ในวันอาชูรออ์ ตรงกับวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม ในไทยเรียก มะหะหร่ำ ของทุกปี  ในพิธีจะมีการแห่ตุ้มบุด หรือ โต้ระบัต ซึ่งเป็นเครื่องจำลองคานหามบรรจุศพอิหม่ามฮุซัยน์มาแห่ มีการตีอกชกตัว เรียกว่า มะต่ำ)

ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้ทรงนิพนธ์บทร้องขี้นประกอบการแสดง ในบทละครดึกดำบรรพ์เรื่องสังข์ทอง ตอนที่ ๒ ตอนตีคลี ฉากดาวดึงส์ ในฉากนี้มีพระอินทร์กับพระมเหสีประทับอยู่บนแท่น พระวิษณุกรรม และพระมาตุลี นั่งอยู่ชั้นลดสองข้าง พวกคนธรรพ์ประจำเครื่องดนตรีอยู่ด้านหน้า เหล่าเทวดานางฟ้าเข้านั่งเฝ้าสองข้าง เริ่มเปิดฉากเหล่าเทวดานางฟ้าก็จับระบำถวาย การแสดงเรื่องนี้จัดแสดงที่โรงละครดึกดำบรรพ์ ริมถนนอัษฎางค์ (วังบ้านหม้อ) ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื้อร้องของระบำพรรณนาถึงความงดงามความโอฬารของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และความมโหฬารตระการตาในทิพย์สมบัติของพระอินทร์ ตลอดจนความงดงามของเหล่าเทวดานางฟ้าในสรวงสวรรค์

หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา (หม่อมเจ้าในพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์) เป็นผู้ควบคุม ฝึกหัด และปรับปรุงท่ารำขึ้นจากท่ารำเจ้าเซ็น ของเจ้าฟ้ากรมพิทักษ์มนตรี ต่อมาการแสดงชุดนี้ได้นำมาจัดแสดงเป็นชุดเอกเทศ จึงนำออกด้วยเพลงเหาะ และรำตามเนื้อร้องในเพลงตะเขิ่ง, เจ้าเซ็น แล้วจบท้ายด้วยเพลงรัว นับเป็นระบำชุดหนึ่งที่ได้ปรับปรุงทางดนตรี และทางรำให้ได้กะทัดรัด เป็นระบำที่ได้รับการยกย่องว่ามีความคิดสร้างสรรค์ก้าวหน้าอย่างยิ่งในสมัยนั้น เพราะไม่ได้ตีท่าตามบทร้องเหมือนระบำอื่นๆ แต่งใช้การแปรแถว การเข้าพรู การจับคู่ และการเคลื่อนไหวอย่างสวยงาม  จนเป็นนาฏศิลป์ไทยชุดหนึ่งที่ได้ยึดถือเป็นแบบระบำแสดงความรื่นเริงบันเทิงใจ ซึ่งนาฏศิลปินได้อนุรักษ์ไว้เป็นแบบแผนสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

 

 

 

บทร้องระบำดาวดึงส์

-ปี่พาทย์ทำเพลงเหาะ-

-ร้องตะเขิ่ง-

ดาวดึงส์ เทวโลก มโหฬาร                    เป็นที่อยู่ สำราญ ฤทัยหรรษ์
สารพัด งามจริง ทุกสิ่งอัน                              สารพัน อุดม สมใจปอง
เทพบุตร ผุดพรรณ โฉมยง                             งามทรง อาภรณ์ ไม่มีหมอง
นางอัปสร งอนสงวน นวลละออง                      งามทรง เครื่องทอง และเพชรนิล

-ร้องเจ้าเซ็น-

สมเด็จ พระอัมรินทร์ ปิ่นมงกุฎ               ทรงวชิราวุธ ธนูศิลป์
รักษา เทวสีมา เป็นอาจิณ                              อสุรินทร์ อรี ไม่บีฑา (ซ้ำ)
อันอินทร- ปราสาท ทั้งสาม (ซ้ำ)                      ทรงงาม สูงเงื้อม กลางเวหา
สี่มุข หุ้มมาศ สะอาดตา                                 ใบระกา แกมแก้ว ประกอบกัน
ช่อฟ้า ช้อยเฟื้อย เฉื่อยชด (ซ้ำ)                         บราลี ที่ลด มุขกระสัน (ซ้ำ)
มุขเด็จ ทองดาด กนกพัน                               บุษบก สุวรรณ ชามพูนุท (ซ้ำ)
ราชยาน เวชยันต์ รถแก้ว (ซ้ำ)                         เพริศแพร้ว กำกง อลงกต (ซ้ำ)
แอกงอน อ่อนสลวย ชวยชด (ซ้ำ)                      เครือขด ช่อตั้ง บัลลังก์ลอย
รายรูป สิงห์อัด หยัดยัน                                สุบรรณ จับนาค หิ้วเศียรห้อย (ซ้ำ)
ดุมพราว วาววับ ประดับพลอย                         แปรกแก้ว กาบช้อย สะบัดบัง
เทียมด้วย สินธพ เทพบุตร                             ทั้งสี่ บริสุทธิ์ ดั่งสีสังข์
มาตลี อาจขี่ ขับประดัง                                 ให้รีบรุด สุดกำลัง ดังลมพา

-ปี่พาทย์ทำเพลงรัว-

 

ความรู้ตามบทร้องระบำดาวดึงส์

 

ดาวดึงส์ เทวโลก มโหฬาร

          สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๒ ในจำนวน ๖ ชั้น เรียงจากต่ำไปหาสูง คือ

๑.จาตุมหาราชิกา (จาตุงมหาราช) ๒.ดาวดึงส์ ๓.ยามา ๔.ดุสิต ๕.นิมมานนรดี ๖.ปรนิมมิตวสาวัตดี สำหรับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แปลว่า ที่อยู่ของเทพ ๓๓ องค์

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ เป็นที่อยู่ของอสูรมาก่อน ครั้งเมื่อพระอินทร์จุติมาท่ามกลางอสูร โดยมีเหล่าเทวดาเป็นบริวารของตน พระอินทร์กับบริวารจึงหลอกให้อสูรกินเหล้าจนเมามาย แล้วช่วยกันจับอสูรโยนลงไปอยู่เชิงเขาพระสุเมรุหมด เบื้องล่างจึงกลายเป็นอสูรพิภพ อสูรหายเมาก็ยกทัพไปแก้แค้น เกิดเทวสุรสงคราม ระหว่างเทวดากับอสูร ฝ่ายเทวดามีชัย

หลังสงครามครั้งนี้ พระอินทร์จึงสร้างกำแพง 5 ชั้น โดยให้นาค ครุฑ กุมภัณฑ์ ยักษ์ และเทพชั้นจาตุมหาราชิการักษา มีประตูเข้าออกทางเดียวเรียกว่า จิตตกุตทวาราโกตถคะ มีรูปพระอินทร์ ๒ รูป ประดิษฐานไว้ ณ ประตูนั้น สวรรค์ชั้นดาวดึงษ์หรือไตรตรึงษ์ มีอุทยานอยู่ ๕ ทิศ ประจำเมืองคือ อุทยานนันทวัน (ตะวันออก) จิตรลดาวัน (ตะวันตก) สักกวัน (เหนือ) มหาวัน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) บุณฑริกวัน (ใกล้กับมหาวัน)

 

ในสวนบุณฑริกวัน (สระดอกบัวขาว) มีต้นปาริชาติ กัลปพฤกษ์ (ต้นทองหลาง) ใต้ต้นไม้มีแท่นบรรฑุกัมพลศิลาอาสน์ สำหรับพระอินทร์ประทับ ถ้ามีเหตุเดือดร้อนบนโลกมนุษย์ พระแท่นนี้จะแข็งตัวบอกให้รู้ทันที

 

สมเด็จพระอัมรินทร์ปิ่นมงกุฎ

          “สมเด็จพระอมรินทร์ปิ่นมงกุฎ” คือ พระอินทร์ ตามความเชื่อของพุทธศาสนาเชื่อว่า เดิมพระอินทร์เป็นมนุษย์ชื่อ “มฆะ” (เมื่อเป็นพระอินทร์จึงชื่อว่า ท้าวมัฆวาน แปลว่า ผู้บริบูรณ์ด้วยทรัพย์) อยู่ตำบลจุลคาม แคว้นมคธ มฆะกับเพื่อนๆ รวม ๓๓ คน ทำกุศลไว้มาก เช่น ทำศาลาพักร้อน ขุดบ่อน้ำ ฯลฯ เมื่อตายไปจึงได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ หรือ ตรัยตรึงษ์ หรือ ไตรตรึงษ์ (มาจากคำว่า เตติส แปลว่า ๓๓  คือ เป็นที่อยู่ของเทวดา ๓๓ องค์) พระอินทร์มีช้าง ชื่อ เอราวัณ  มีม้าชื่อ อุจไฉศรพ รูปเขียนของพระอินทร์ มีพระวรกายเป็นสีเขียว ทรงช้างเอราวัณ พระกรบางทีมี ๔ กร แต่ส่วนมากมี ๒ กร พระกรขวาถือวชิราวุธ พระกรซ้ายถือธนู บางทีก็เป็นพระขรรค์

 

ทรงวชิราวุธธนูศิลป์

“วชิราวุธ” เป็นอาวุธของพระอินทร์ มีอานุภาพร้ายแรงมาก สายฟ้าวชิราวุธสามารถแทงทะลุเขาสิเนรุราชได้และเผาศัตรูให้ไหม้วอดวายไป

“ธนูศิลป์” ธนูของพระอินทร์ ชื่อ ศักรธนู

“พระขรรค์” ของพระอินทร์ ชื่อ ปรัญชะ

 

อันอินทรปราสาททั้งสาม ทรงงามสูงเงื้อมกลางเวหา

พระอินทร์ ประทับปราสาทชื่อ “ไพชยนตมหาปราสาท” ซึ่งสร้างขึ้นในการฉลองคราวชนะพวกอสูร ปราสาทหลังนี้มีร้อยยอด มีหน้าบัน ๗ ทิศ และมี “สุธรรมาเทวสภา” เป็นที่ประชุมเทวดาทุกวันที่ ๘ ของเดือน

 

สี่มุข หุ้มมาศ

“มุข” คือ ส่วนของตึกหรือเรือนที่ยื่นออกมาจากส่วนใหญ่ มักอยู่ด้านหน้า, สี่มุขหรือจตุรมุข ก็คือ ส่วนของปราสาทที่ยื่นออกมาทั้ง ๔ ด้าน

          “มาศ” แปลว่า ทอง

“หุ้มมาศ” คือ หุ้มทอง

 

ใบระกา แกมแก้ว ประกอบกัน

“ใบระกา” เป็นชื่อไม้สลักหรือปูนปั้นรูปเป็นครีบ ๆ หรือลวดลายต่าง ๆ ติดกับตัวลํายองระหว่างช่อฟ้ากับหางหงส์ ประกอบ ๒ ข้างหน้าบันโบสถ์ วิหาร และปราสาท เป็นต้น,

“ใบระกาแกมแก้ว” เปรียบเทียบ กับ “ทองแกมแก้ว” คือ เครื่องประดับเพชรพลอยหรือกระจก เช่น ลายปั้นกุดั่น คือ ลายปั้นปิดทองประดับกระจก, โกศกุดั่น คือ โกศทำด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก

 

 

 

 

 

 

ช่อฟ้า ช้อยเฟื้อย เฉื่อยชด

“ช่อฟ้า” คือ ชื่อตัวไม้ที่ติดอยู่บริเวณหน้าจั่ว รูปเหมือนหัวนาคชูขึ้นเบื้องบน

“ช้อย”แปลว่า งอนขึ้น. 

“เฟื้อย” แปลว่า ลักษณะของสิ่งที่ยาวมาก

“เฉื่อย” แปลว่า เรื่อย ๆช้า ๆเช่น ลมพัดเฉื่อยไม่รีบร้อนอืดอาดยืดยาดเอื่อย ๆ

“ชด” แปลว่า อ่อน, ช้อย, งอน.

 

บราลี ที่ลด มุขกระสัน

“บราลี” คือ ยอดเล็กแหลมที่ปักเรียงกันไปตามอกไก่หลังคา ปราสาท ธรรมาสน์ หรือซุ้มบันแถลง

“ที่ลด”  เรียกการซ้อนของหลังคา ไม่ว่าจะเป็นหลังคาของพระอุโบสถ พระวิหาร การเปรียญ หลังคาล่างสุดจะเรียก ซ้อนที่ ๑ แล้วจึงเรียก ซ้อนที่ ๒ ซ้อนที่ ๓ และซ้อนที่ ๔ ตามลำดับ ในแต่ละซ้อนมีระยะห่างของสันหลังคาใกล้เคียงกัน จากน้อยไปหามากในซ้อนบนสุด บางอาคารมีสันหลังคาของซ้อนที่ ๑ ห่างหรือต่ำกว่าซ้อนที่ ๒ มากจะต้องเรียกหลังคาซ้อนที่ ๑ ว่า หลังคาลด หรือ หลังคาชั้นลด ตัวอย่างเช่น หลังคามุขเด็จของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หลังคามุขเด็จของพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุราชิการาม พระอุโบสถวัดกษัตราธิราชจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนอาคารที่มีผังพื้นเป็นมุข และมีหลังคาลด ต้องเรียกหลังคาชนิดนี้ว่า มุขลด ได้แก่ มุขลดของพุทธปรางค์ปราสาท หรือปราสาทพระเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร

“มุขกระสัน” คือ มุขที่เชื่อมระหว่างพระที่นั่งองค์หนึ่ง กับอีกองค์หนึ่ง.


มุขเด็จ ทองดาด กนกพัน

“มุขเด็จ” คือ มุขโถงที่ยื่นออกมาจากหน้าอาคาร เป็นที่เสด็จออก

“ดาด” แปลว่า เอาวัตถุเช่นผ้าเป็นต้นขึงหรือปิดบังให้ทั่วตอนเบื้องบน เช่น ดาดเพดาน ดาดหลังคา

“ทองดาด” แปลว่า ดาดเพดานด้วยผ้าสีทอง

“กนก” แปลว่า ทอง,สุวรรณ,มาศ,ทองคำ

“กนกพัน” แปลว่า พันด้วยทองคำ

 

บุษบก สุวรรณ ชามพูนุท

“บุษบก” มณฑปขนาดเล็ก มีฐานสูง มีเสา ๔ เสา ด้านข้างโปร่ง หลังคาทำเป็นเครื่องยอด เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธี หรือประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นต้น

“สุวรรณ” ทอง

“ชามพูนุท” ทองคำเนื้อบริสุทธิ์

 

ราชยาน เวชยันต์ รถแก้ว

“เวชยันต์” คือ ชื่อรถของพระอินทร์

 

 

เพริศแพร้ว กำกง อลงกต

“กำ” หรือ “กำเกวียน” คือ ซี่ล้อเกวียน หรือซี่ล้อราชรถ ปกติเกวียนที่ใช้งานทั่วไป มีกำ ๑๖ ซี่ แต่ถ้าเป็นเกวียนขนาดเล็ก หรือเกวียนของที่ระลึกจะมีกำ ๑๔ ซี่

“กง” คือ ส่วนวงรอบนอกของล้อเกวียนหรือล้อราชรถ บางทีเรียกว่า กงเกวียน ซึ่งแต่ละชิ้น ที่ประกอบต่อกันเป็นวงขอบ มักถากไม้โค้ง ๔ ชิ้น ประกอบต่อกันเป็นวงขอบนอก บางทีเรียกว่า ฝักมะขาม เพราะมีลักษณะโค้ง คล้ายฝักมะขาม

 

แอกงอน อ่อนสลวย ชวยชด

“แอก” และ “ลูกแอก” คือ คานไม้ที่วางพาดขวาง โดยผูกมัดกับเสาหลักแอก ด้วยเส้นหนังที่เรียกว่า หนังหัวเกวียน  ตรงส่วนปลายของแอกทั้ง ๒ ข้าง จะเจาะรู สำหรับเสียบไม้ลูกแอกหรือลูกแซะ  สำหรับเป็นคานคล้องทาม หรืออ้อง เมื่อจะเทียมม้า เทียมวัว หรือเทียมควาย

 

เครือขด ช่อตั้ง บัลลังก์ลอย

“เครือเถา” คือ ชื่อลายไทยชนิดหนึ่งที่มีรูปกิ่งไม้ร้อยพันกันเป็นช่อหรือพวง

“ก้านขด” คือ ชื่อลายชนิดหนึ่งที่เขียนเป็นลายขดไปขดมา

“ช่อ” ใบไม้ หรือดอกไม้ที่แตกออกเป็นกลุ่ม หรือเป็นพวง

“ตั้ง” ชูตัวขึ้นชูตัวหรือทำให้ทรงตัวในแนวยืน.

“บัลลังก์” คือ พระแท่นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ภายใต้เศวตฉัตร 

“ลอย” แปลว่า เด่นขึ้น หรือนูนขึ้น


รายรูป สิงห์อัด หยัดยัน

“รายรูป สิงห์”  เรียงรายไปด้วยรูปสิงห์

“สิงห์” คือ สัตว์ในป่าหิมพานต์ เป็นสัตว์ที่ดูสง่า และน่าเกรงขาม สิงห์ในตำนานหิมพานต์สามารถจำแนกออกได้เป็น ๒ ชนิดหลักๆ คือ ราชสีห์ และ สิงห์ผสม ราชสีห์เป็นสัตว์ที่มีพละกำลังสูง ราชสีห์มีอยู่ด้วยกัน ๔ ชนิดคือ บัณฑุราชสีห์ กาฬสีหะ ไกรสรราชสีห์ และ ติณสีหะ ส่วนสิงห์ผสมนั้นมีอยู่มากมาย โดยปกติสิงห์ผสมคือสัตว์ประสมที่มีลักษณะของราชสีห์กับสัตว์ประเภทอื่น

“อัด” แปลว่า ตรง, เต็ม, ตรงแบน, (ใช้แก่ลักษณะด้านหน้า) เช่น หน้าอัด สิงห์อัด

“หยัด” ยืดออกเหยียดออก.

“ยัน” ค้ำไว้เพื่อช่วยพยุง เช่น ใช้มือยันพื้นเพื่อยืนขึ้น ใช้ไม้เท้ายันไว้เพื่อทรงตัว

 

สุบรรณ จับนาค หิ้วเศียรห้อย

“สุบรรณ” แปลว่า ครุฑ

 
ดุมพราว วาววับ ประดับพลอย

“ดุม” หรือ “ดุมเกวียน” คือ ส่วนกลางของวงล้อเกวียน วงล้อราชรถ ซึ่งเจาะรูทะลุสำหรับสอดเพลาเกวียน, เพลาราชรถ

 

 

แปรกแก้ว กาบช้อย สะบัดบัง

“แปรก” มีชื่อเรียกแตกต่างกัน คือ แพด ปะแหรก ปะแหลก บางทีเรียกว่า แปรกบัง เป็นชิ้นส่วนที่ทำหน้าที่ขนาบบังคับล้อเกวียนหรือล้อราชรถทั้ง๒ ข้าง ไม่ให้หลุดออกไป

 


เทียมด้วย สินธพ เทพบุตร ทั้งสี่ บริสุทธิ์ ดั่งสีสังข์

“สินธพ” แปลว่า ม้าพันธุ์ดีที่เกิดในลุ่มแม่น้ำสินธุ ประเทศอินเดีย

“ม้าสินธพมโนมัย” คือม้าที่เกิดจากกลุ่มน้ำสินธูในประเทศอินเดีย เป็นม้าขนาดใหญ่อย่างที่เราเรียกว่าม้าเทศ


มาตลี อาจขี่ ขับประดัง ให้รีบรุด สุดกำลัง ดังลมพา

“พระมาตุลี” เทวดาองค์หนึ่ง ทำหน้าที่เป็น “สารถี” หรือ คนขับรถเวชยนต์ ซึ่งเทียมด้วยม้าสินธพถึง 1000 ตัว มีท่านองค์เดียวที่สามารถบังคับม้าทั้งหมดให้บินได้ พระมาตุลีเป็นสหายของพระอินทร์ด้วย

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

ประจักษ์ ประภาพิทยากร. เทวดานุกรมในวรรณคดี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๙.

พลูหลวง (นามแฝง). เทวโลก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๓๐.

สมใจ นิ่มเล็ก. “ความสับสนในงานสถาปัตยกรรมไทย” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ฉบับพฤศจิกายน 2555

เผยแพร่ วันพฤหัสที่ 10 กันยายน พ.ศ.2563 https://www.silpa-mag.com/art

สุมิตร  เทพวงษ์. สารานุกรม ระบำ รำ ฟ้อน.  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, มปป.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น