วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564

โขน ในเขตดินแดนเชียงใหม่ล้านนา (ตอนที่ ๑)

 

โขนในเขตดินแดนเชียงใหม่ล้านนา (ตอนที่ ๑)

โดย ผศ.สมภพ เพ็ญจันทร์

ข้าราชการบำนาญ

วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

๙ มกราคม ๒๕๖๔

 

          โขน เข้ามาในดินแดนล้านนา ในอาณาเขตภาคเหนือของไทยเราได้อย่างไร? เรามาติดตามดูร่องรอยหลักฐานกัน ว่าจะพบมากน้อยแค่ไหน? 

โขนที่อยุธยา

เรามาย้อนอดีตกันก่อน สมัยเมื่อโขนเกิดขึ้นใหม่ๆ ที่กรุงศรีอยุธยา

พ.ศ.๒๒๓๑ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ได้เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ดูการแสดงมหราสพ ๓ ชนิดของไทย คือ โขน ละคร และระบำ โดยลาลูแบร์ (จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ , ๒๕๔๘ หน้า ๑๕๗) บันทึกไว้ว่า

“ชาวสยามมีมหรสพประเภทเล่นในโรงอยู่ 3 อย่าง (โขน Cone ละคร Lacone  และระบำ Rabam) มหรสพอย่างที่ชาวสยามเรียกว่าโขนนั้น เป็นการร่ายรำเข้าๆ ออกๆ   หลายคำรบตามจังหวะซอและเครื่องดนตรีอย่างอื่นอีก ผู้แสดงนั้นสวมหน้ากาก (หัวโขน) และถืออาวุธ แสดงบทหนักไปในทางสู้รบกันมากกว่าจะเป็นการร่ายรำ การแสดงส่วนใหญ่จะหนักไปในทางโลดเต้นเผ่นโผนโจนทะยานและวางท่าอย่างเกินสมควร นานๆ ก็จะหยุดเจรจาออกมาสักคำสองคำ หน้ากาก (หัวโขน) ส่วนใหญ่นั้นน่าเกลียด เป็นหน้าสัตว์ที่มีรูปพรรณวิตถาร (ลิง) หรือไม่ก็เป็นหน้าปีศาจ (ยักษ์)”

เหตุการณ์ที่เชียงใหม่ล้านนา

ใน พ.ศ.๒๒๓๑ ขณะที่ลาลูแบร์ ได้ชมการแสดงโขนนั้น เชียงใหม่และล้านนาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่า โดยพม่าได้ส่ง “เจพูตราย” โอรสเจ้าเจกุตรา มาปกครองเมืองเชียงใหม่ (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี ,๒๕๓๘ หน้า ๙๙) ดังนั้น ในเมืองเชียงใหม่คงไม่รู้จักการแสดงโขนแบบสยามแน่นอน แต่คนเชียงใหม่ ล้านนา ที่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่ารู้จักเรื่อง  รามายณะ รามเกียรติ์ พระราม หนุมาน หรือไม่? ต้องตามร่องรอยกันต่อไป

 คนเชียงใหม่และล้านนารู้จักรามเกียรติ์หรือไม่?

          คนเชียงใหม่และล้านนา รู้จักเรื่องรามเกียรติ์ในรูปแบบวรรณกรรมชาดกล้านนา ๓ เรื่อง คือ เรื่องหอรมาน พรหมจักร และอุสสาบารส  โดยเรื่องหรมานและพรหมจักร เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของพระราม เช่นเดียวกับเรื่องรามเกียรติ์นั่นเอง ส่วนเรื่องอุสสาบารส ได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากเรื่องรามเกียรติ์ (การศึกษาเปรียบเทียบรามเกียรติ์ฉบับลานนาและฉบับภาคใต้, ๒๕๒๒ หน้า ๓๕)

          ชาดกล้านนา เรื่อง หอรมาน ไม่ทราบปีที่แต่ง, เรื่องพรหมจักร จารเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๘, เรื่อง อุสสาบารส แต่งประมาณ พ.ศ.๑๙๐๐ สมัยพระเจ้ากือนา (วรรณกรรมล้านนา, ๒๕๔๖ หน้า ๒๔๐)

 คนพม่ารู้จักเรื่องรามายณะหรือไม่?

          เรื่องรามายณะเป็นของอินเดีย แพร่หลายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่ผ่านมาแล้ว

คนพม่ารู้จักเรื่องรามายณะในชื่อ “ยามะซ่ะต่อ” ซึ่งเป็นภาษาพม่า แปลว่า พระรามชาดก มีทั้งหมดเก้าบท คำว่า "ยามะ" คือ พระราม และ "ซ่ะต่อ" คือ ชาดก “ยามะซ่ะต่อ” เป็นมุขปาฐะที่สืบมาแต่รัชสมัยพระเจ้าอโนรธา กษัตริย์แห่งพุกาม มีหลักฐานที่ วัดนะเลาน์  เทวสถานที่สร้างเพื่อบูชาพระวิษณุในกำแพงเมืองพุกาม ซึ่งมีประติมากรรมหินรูปพระรามชื่อว่า "รามจันทระ" (Ramachandra) แต่มิทราบว่ามีความเกี่ยวข้องอันใดกับรามายณะฉบับวาลมีกิ แต่อย่างน้อยชื่อหนุมานก็เป็นที่รู้จักในพม่าก่อน พ.ศ. ๒๐๗๐ เพราะพบรูปพระรามประทับบนหลังหนุมาน (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๖๒)

 คนเชียงใหม่ ล้านนา ที่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่ารู้จักเรื่องรามายณะหรือไม่?

จากหลักฐานที่ปรากฎ สันนิษฐานว่าคนเชียงใหม่ ล้านนา และพม่า ในช่วง พ.ศ.๒๒๓๑ น่าจะรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อเรื่องรามายณะ รามเกียรติ์ พระราม หนุมาน กันแล้วในรูปแบบของเรื่องเล่าหรือชาดก แต่ยังไม่รู้จักการแสดงมหรสพที่เรียกว่า “โขน” เรื่องรามเกียรติ์ของอยุธยาหรือสยาม

 คนเชียงใหม่ล้านนา ที่เล่นโขนคนแรก?

          อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้เขียนหนังสือเรื่อง โขน ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ในหัวข้อ ตำนานโขนหลวง ในเรื่องผู้เล่นโขนแต่แรก (๒๕๓๘ หน้า ๕๗) ไว้ว่า

 “...เพราะฉะนั้น จึงได้เป็นประเพณีสืบมาจนถึงชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ที่พวกโขนหลวงนับอยู่ในพวกผู้ดีที่เป็นมหาดเล็ก จนถึงมีบุตรหลานข้าราชการไปฝึกหัด เช่นเล่ากันมาว่า พระเจ้าเชียงใหม่กาวิโลรสสุริยวงศ์ ได้เคยเป็นตัวอินทรชิต เมื่อเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในรัชกาลที่ ๑ นั้น เป็นต้น...”

 ตามรอยพระประวัติพระเจ้าเชียงใหม่กาวิโลรสสุริยวงศ์

          พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เดิมชื่อ เจ้าสุริยวงศ์ เป็นโอรสของพระเจ้ากาวิละ ไม่ปรากฎชื่อพระมารดา

พ.ศ.๒๓๔๓ ประสูติ (ขณะนั้นพระเจ้ากาวิละ พระชนมายุได้ ๕๘ ปี)

พ.ศ.๒๓๔๘ พระเจ้ากาวิละ นำเจ้านายฝ่ายเหนือเข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๑ (เจ้าสุริยวงศ์ อายุ ๕ ขวบ)

พ.ศ.๒๓๕๐ พระเจ้ากาวิละ จับเงี้ยวเมืองเชียงรุ่ง ชื่อราชาปราบและจาเรอ้ายแก้ว เข้าไปถวายรัชกาลที่ ๑ (เจ้าสุริยวงศ์ อายุ ๗ ขวบ)

พ.ศ.๒๓๕๕ พระเจ้ากาวิละ จับเจ้าสุริยวงส์เมืองยอง พระญาเขื่อนเมืองยาง พระยากาย เข้าไปถวายรัชกาลที่ ๑ (เจ้าสุริยวงศ์ อายุ ๑๒ ขวบ)

พ.ศ.๒๓๕๘ พระเจ้ากาวิละ จับเจ้าเมืองเม็ง (มอญ) และครัวเม็ง ๕,๐๐๐ ครัว เข้าไปถวายรัชกาลที่ ๑ (เจ้าสุริยวงศ์ อายุ ๑๕ ปี)

พ.ศ.๒๓๕๘ พระเจ้ากาวิละกลับจากกรุงเทพมหานครมาถึงเมืองเชียงใหม่ ได้ ๒ เดือน ทรงประชวรและถึงแก่พิราลัย พระชนมายุได้ ๗๔ ปี (เจ้าสุริยวงศ์ อายุ ๑๕ ปี)

  ถ้าเป็นไปตามคำบอกเล่า ที่อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ เขียนว่า “พระเจ้าเชียงใหม่กาวิโลรส     สุริยวงศ์ ได้เคยเป็นตัวอินทรชิต เมื่อเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในรัชกาลที่ ๑” พระเจ้ากาวิโลรส        สุริยวงศ์ คงเข้าไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่อายุ ๕ หรือ ๗ หรือ ๑๒ ขวบ แล้วได้รับการฝึกโขนตัวยักษ์ จนสามารถเล่นเป็นอินทรชิตได้ (สาเหตุที่ถวายตัว คงเพราะเป็นโอรสของเจ้าเมืองประเทศราช ซึ่งต้องถวายตัวเป็นประกัน ตามธรรมเนียมการปกครองหัวเมืองสมัยนั้น)

  

อ้างอิง

ธนิต อยู่โพธิ์. โขน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๙

อภินันท์ บัวหภักดี. การแสดงรามายณะนานาชาติ. วารสารวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๖๒ http://www.culture.go.th

ฉัตรยุพา สวัสดิพงษ์. การศึกษาเปรียบเทียบรามเกียรติ์ฉบับลานนาและฉบับภาคใต้.

ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๒๒

สันต์ ท.โกมลบุตร. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ศรีปัญญา, ๒๕๔๘

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎเชียงใหม่.

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. จัดพิมพ์เพื่อร่วมสมโภชเมืองเชียงใหม่

ในวาระที่มีอายุครบ ๗๐๐ ปี  เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, ๒๕๓๘

อุดม  รุ่งเรืองศรี. วรรณกรรมล้านนา.  ปรับปรุงครั้งที่ ๕ และพิมพ์ครั้งที่ ๒

กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น