รำเถิดเทิง
ประวัติความเป็นมา
รำเถิดเทิง
เป็นรำที่กรมศิลปากรปรับปรุงมาจากการละเล่นกลองยาวของชาวบ้าน
ซึ่งการละเล่นกลองยาวนั้น ไม่ปรากฎหลักฐานแน่นอนชัดเจนว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นก่อน
อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ (๒๕๓๑ หน้า ๓๒๐) อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวว่า ประเพณีการเล่นเทิงบ้องกลองยาวหรือเถิดเทิง
มีผู้เล่าให้ฟังเป็นเชิงสันนิษฐานว่า เป็นของพม่านิยมเล่นกันมาก่อน เมื่อครั้งพม่ามาทำสงครามกับไทยในสมัยกรุงธนบุรี
หรือสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เวลาพักรบ พวกทหารพม่าก็เล่นสนุกสนานด้วยการเล่นต่างๆ
ซึ่งทหารพม่าบางพวกก็เล่น “กลองยาว” พวกไทยเราได้เห็นก็จำมาเล่นกันบ้าง
ยังมีเพลงดนตรีเพลงหนึ่งซึ่งดนตรีไทยนำมาใช้บรรเลง มีทำนองเป็นเพลงพม่า เรียกกันมาแต่เดิมว่า
“เพลงพม่ากลองยาว” ต่อมาได้มีผู้ปรับเป็นเพลงระบำ
กำหนดให้ผู้รำแต่งตัวใส่เสื้อนุ่งโสร่งตา ศีรษะโพกผ้าสีชมพู (หรือสีอื่นๆ บ้างตามแต่จะให้สีสลับกัน เห็นสวยอย่างแบบระบำ) มือถือขวานออกมาร่ายรำเข้ากับจังหวะเพลงที่กล่าวนี้
จึงเรียกเพลงนี้กันอีกชื่อหนึ่งว่า “เพลงพม่ารำขวาน”
อีกความหนึ่ง
มีผู้เล่าว่า การเล่นเทิงบ้องกลองยาวนี้
เพิ่งมีเข้ามาในเมืองไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง กล่าวคือ
มีพม่าพวกหนึ่งนำเข้ามาในรัชกาลนั้น ยังมีบทร้อง
“กราวรำ” ยกทัพพม่า ในการแสดงละครเรื่องพระอภัยมณี
ตอน ศึกเก้าทัพ
ซึ่งนิยมเล่นกันมาแต่ก่อน สังเกตดูก็เป็นตำนานอยู่บ้างแล้ว
คือ ร้องกันว่า
ตกมาเมืองไทย มาเป็นผู้ใหญ่ตีกลองยาว
ตีว่องตีไวตีได้จังหวะ ทีนี้จะกะเป็นเพลงกราว
เลื่องชื่อลือฉาว ตีกลองยาวสลัดไดฯ
ผู้รู้บางท่านกล่าวว่า คำว่า “สลัดได”
เป็นชื่อของชาวพม่า ผู้เข้ามาสอนการเล่นกลองยาวให้ชาวไทย มีชื่อว่า “หม่องสลัดได” เมื่อชาวไทยเราเห็นเป็นการละเล่นที่สนุกและเล่นได้ง่าย ก็เลยนิยมเล่นกันแพร่หลายไปแทบทุกหัวบ้านหัวเมือง
สืบมาจนตราบทุกวันนี้
กลองยาวที่เล่นกันในวงหนึ่งๆ
มีเล่นกันหลายลูก มีสายสะพายเฉวียงป่าของผู้ตี ลักษณะรูปร่างของกลองยาวขึงหนังด้านเดียว
อีกข้างหนึ่งเป็นหางยาวบานปลาย เหมือนกับกลองยาวของชาวเชียงใหม่
(ที่คนเชียงใหม่เรียกว่ากลองปู่เจ่ : ผู้เขียน)
แต่ กลองยาวของชาวเชียงใหม่
เป็นกลองยาวจริง ๆ ยาวถึงประมาณ ๒ วา ส่วนกลองยาวภาคกลางอย่างที่เล่นกันนี้ ยาวเพียงประมาณ
๓ ศอกเท่านั้น ซึ่งสั้นกว่าของเชียงใหม่มาก ทางภาคอีสานเรียกกลองยาวชนิดนี้ว่า “กลองหาง”
ในครั้งที่อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ เป็นหัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร
(พ.ศ.๒๔๘๘-๒๔๙๘) นั้น ได้มีการปรับปรุงและประดิษฐ์ชุดการแสดงขึ้นใหม่หลายชุด หนึ่งในนั้นคือการละเล่นเทิ้งบ้องกลองยาว
ที่ได้ถูกปรับปรุงให้เป็นการแสดงอย่างใหม่เรียกว่า “รำเถิดเทิง” ซึ่งได้คิดประดิษฐ์ขึ้น
เมื่อครั้งไปเผยแพร่นาฏศิลป์ไทย ณ สหภาพพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ผู้คิดท่ารำ คือ คุณครูลมุล
ยมะคุปต์ (หนังสือพระราชทานเพลิงศพ ๒๕๒๖ หน้า ๑๗) และท่านผู้หญิงแผ้ว
สนิทวงศ์เสนี (หนังสือพระราชทานเพลิงศพ ๒๕๔๓
หน้า ๑๑๖)
ต่อมาอีกไม่นาน ในปี
พ.ศ.๒๕๐๖ อาจารย์ธนิตทราบว่า ที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก
อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีการละเล่นกลองยาว ที่สืบทอดกันมาช้านาน ประกอบการเล่นที่เรียกว่า
“รำเหย่ย” หรือ “รำพาดผ้า” ซึ่งเริ่มแสดงด้วยการประโคมกลองยาวอย่างกึกก้อง เร่งเร้า
สนุกสนาน จากนั้นจึงเป็นการร่ายรำ กลองยาวที่ตำบลจระเข้เผือก จังหวัดกาญจนบุรีนี้ สันนิษฐานว่าชาวบ้านจะรับถ่ายทอดหรือได้รับอิทธิพลมาจากทหารกองทัพพม่า
ที่มักใช้เส้นทางนี้เดินทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา โดยเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์
อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ ได้มีบัญชาให้กรมศิลปากร ส่งคณะครู ศิลปิน
และนักเรียน ไปศึกษาเพื่อขอถ่ายทอดศิลปะการเล่นกลองยาวนี้ไว้ไม่ให้สูญหาย เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน
๒๕๐๖ คณะผู้ไปศึกษาครั้งนั้นประกอบด้วย
๑. คุณครูประสิทธิ์ ถาวร
๒. นายยอแสง ภักดีเทวา
๓. นายฉลาด พลุกานนท์
๔. นายเสรี หวังในธรรม
๕. นายราฆพ โพธิเวส
๖. นายธงไชย โพธยารมณ์
๗. นายปฐมรัตน์ ถิ่นธรณี
๘. นางสุวรรณี ชลานุเคราะห์
๙. นางสาวสุนันทา บุญเกตุ
๑๐. นางสาวศิริรัตน์ แสงสว่าง
๑๑. นางสาวรจนา พวงประยงค์
ต่อมาภายหลังจนถึงปัจจุบันนี้ การละเล่น
“เถิดเทิงกลองยาว” และ “รำเหย่ย” ก็เป็นที่รู้จักและนิยมเล่นกันในหมู่ประชาชนและวงการศึกษา
ตลอดจนหน่วยงานราชการทั่วไป
การที่เรียกการละเล่นชนิดนี้ว่า “เทิงบ้อง” นั้น คงมาจากเสียงที่ตีกลองยาว
เช่น มีเสียงเมื่อเริ่มแรกที่ตีจังหวะ
ได้ยินเป็นเสียงว่า “เถิด-เทิง-บ้อง, บ้องเทิงบ้อง ฯลฯ” เลยเรียกกันว่า “เถิดเทิง”
หรือ “เทิงบ้องกลองยาว” ควบกันไป เห็นจะเพื่อให้ต่างกับกลองอย่างอื่นอย่างอื่นหรือกลองยาวที่เล่นเป็นการเล่นอย่างอื่นๆ
เมื่อระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
พ.ศ.๒๕๐๙ รัฐบาลไทยมอบให้อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ (ท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร
ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๑๑) นำคณะนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร ไปแสดงเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี
ณ นครย่างกุ้งและมัณฑเลย์ ประเทศพม่า อีกครั้งหนึ่ง (หลังจากไปเมื่อปี ๒๔๙๘)
ในคณะนักแสดงดังกล่าวนี้ มีอาจารย์ปฐมรัตน์ ถิ่นธรณี
นักดนตรีของกรมศิลปากรร่วมอยู่ด้วย อาจารย์ปฐมรัตน์
ได้มีโอกาสเห็นกลองชนิดหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกับกลองยาวมาก
หากแต่ของพม่านั้นปิดทองประดับกระจกที่หุ่นกลอง สวยงามตามแบบศิลปะพม่า
และพม่าเรียกกลองชนิดนี้ว่า “โอสิ”
อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์
ได้มีโอกาสสอบถามนักโบราณคดีชาวพม่าผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้นำชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติและโบราณสถานต่างๆ
ถึงเรื่องกลองยาว หรือ “โอสิ” ว่า มีกำเนิดเป็นมาอย่างไร นักโบราณคดีพม่าตอบว่า
กลองยาวพม่าได้มาจากไทยใหญ่อีกต่อหนึ่ง (คงเป็นกลองปู่เจ่หรือกลองก้นยาว : ผู้เขียน)
กลองยาวแบบของพม่า ที่เรียกว่า “โอสิ” นี้
มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลองของชาวไทยอาหมในแคว้นอัสสัม เว้นแต่ของกลองชาวไทยอาหม
มีรูปร่างคล้ายตะโพน คือ หัวท้ายเล็ก กลางป่อง ใบเล็กกว่าตะโพน ขึ้นหนังทั้งสองข้าง ผูกสายสะพายตีได้
ตามที่เห็นวิธีเล่น ทั้งกลองยาวของพม่าและกลองของชาวไทยอาหม
ดูวิธีการเล่นเป็นแบบเดียวกัน อาจเลียนแบบการเล่นไปจากกันก็ได้
เมื่อกลองยาวแพร่หลายเข้ามาในกรุงเทพมหานคร
ปรากฎว่านักดนตรีที่บรรเลงอยู่ในวงปี่พาทย์ประกอบการแสดงละครของคณะเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง
(เพ็ง เพ็ญกุล) ได้นำเอาวิธีการเล่นกลองยาวมาใช้ประกอบการแสดงละครพันทางเรื่อง
ราชาธิราช ตอน ยกทัพพม่า และเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน พลายเพชรพลายบัวออกศึก
ในราวปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ มีเนื้อร้องใน “เพลงกราวรำพม่า” ว่า
มัดคบ ครบมือ
ถือชุดไฟ พอดึกได้ เวลา คนนอนหลับ
ดาวเดือน เกลื่อนเมฆ
มัวพะยับ โห่สำทับ
อึงมี่ ตีกลองยาว
ทั้งเถิดเทิง เปิงมาง
ฉ่างแฉ่ง คบแดง
ดาดดง ส่งเสียงฉาว
พลหุ่น หนุนแน่น
เป็นระนาว เสียงเกรียวกราว
เคลื่อนทัพ ไปฉับพลัน
นอกจากละครพันทางแล้ว ในการแสดงละครอิงประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการ
เรื่อง เจ้าหญิงแสนหวี ที่แสดง ณ โรงละครกรมศิลปากร ในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ได้นำเอาลีลาการเล่นกลองยาวประกอบเป็นระบำไว้ในละครเรื่องนี้ด้วย เรียกว่าชุด “กลองยาวเขมรัฐ”
การเล่นกลองยาวไม่ได้มีเพียงในการแสดงละครเท่านั้น ในงานนักขัตฤกษ์ต่างๆ ก็ถือเป็นประเพณีนิยมที่จัดการเล่นกลองยาวไว้สืบมาจนทุกวันนี้
เครื่องประกอบการเล่น
เครื่องที่ใช้เล่น “เทิงบ้องกลองยาว” หรือ เถิดเทิง ก็มี
๑.กลองยาว (เล่นกันหลายๆ ลูกก็ได้) ๒.กรับ (หรือเรียกตามสำเนียงที่ตีว่า “แกระ”)
๓.ฉาบ ๔.โหม่ง
เครื่องแต่งกาย
ผู้เล่นเทิงบ้องกลองยาวของชาวบ้านแต่เดิมนั้น
จะแต่งตัวเลียนแบบเครื่องแต่งกายพม่า คือ ใส่เสื้อแขนกว้างและยาวถึงข้อมือ
นุ่งโสร่งตา มีผ้าสีโพกศีรษะ ผู้ตีกลองยาวบางพวกก็ตีหกหัวหกก้น แลบลิ้นปลิ้นตา
กลอกหน้า ยักคิ้ว ยักคอไปพลาง และถ้าผู้ตีคนใดตีได้จนถึงกับถองหน้ากลองด้วยศอก
โขกด้วยคาง กระทุ้งด้วยเข่า โหม่งด้วยหัว เล่นเอาผู้ตีคลุกฝุ่นคลุกดิน
ขะมุกขะมอมไปทั้งตัว สุดแต่จะให้เสียงกลองยาวดังขึ้นได้ เป็นสนุกมาก
และนิยมกันว่าผู้ตีคนนั้นตีกลองยาวได้เก่งมาก ผู้เล่นก็ภูมิใจ
นอกจากนั้น ก็มีคนรำ แต่งตัวต่างสุดแต่สมัครใจ คนดูคนใดรู้สึกสนุกจะเข้าไปรำด้วยก็ได้
เพราะเป็นการเล่นอย่างชาวบ้าน ใครจะสมัครเข้าร่วมเล่นร่วมรำด้วยก็ได้
บางคนก็แต่งตัวพิสดาร ผัดหน้าทาตัวด้วยแป้ง ด้วยเขม่ามินหม้อ หน้าตาเนื้อตัวดำด่าง
สุดแต่จะให้ผู้ดูรู้สึกทึ่งและขบขัน ออกรำเข้ากับจังหวะเทิ้งบ้อง
ต่อมา กรมศิลปากร ได้ปรับปรุงการเล่นเทิงบ้องกลองยาว มีผู้รำทั้งชายและหญิง โดยกำหนด
เครื่องกายไว้ดังนี้ คือ
๑.
ชาย นุ่งกางเกงขายาวครึ่งแข้ง สวมเสื้อคอกลม แขนสั้น เหนือศอก
มีผ้าโพกศีรษะและผ้าคาดเอว
๒.
หญิง นุ่งผ้าซิ่นมีเชิงยาวกรอมเท้า สวมเสื้อทรงกระบอก คอปิด ผ่าอกหน้า
ห่มสไบทับเสื้อ
คาดเข็มขัดทับเสื้อ
ใส่สร้อยคอและต่างหู ปล่อยผมทัดดอกไม้
โอกาสที่เล่น
ประเพณีการเล่น
“เถิดเทิง” หรือ “เทิงบ้องกลองยาว” ในเมืองไทยนั้น มักนิยมเล่นกันในงานตรุษ งานสงกรานต์
หรืองานแห่แหน ซึ่งต้องเดินเคลื่อนขบวน เช่น ในงานแห่นาค แห่พระ และแห่กฐิน เป็นต้น
เคลื่อนไปกับขบวน พอถึงที่ตรงไหน เห็นว่ามีลานกว้างหรือเป็นที่เหมาะ ก็หยุดตั้งวงเล่นและรำกันก่อนเสียพักหนึ่ง
แล้วก็เคลื่อนขบวนต่อไปใหม่ แล้วก็มาหยุดตั้งวงเล่นและรำกันอีก
ถ้าขบวนที่จะผ่านไปเป็นย่านทางไกล ก็หยุดตั้งวงเล่นกันหลากพักหลายครั้งหน่อย
แบบแผนการเล่น
การเล่น “รำเถิดเทิง” ที่กรมศิลปากรปรับปรุงใหม่
ได้กำหนดให้มีแบบแผนลีลาท่ารำ โดยกำหนดให้มี “กลองรำ” และ “กลองยืน” ด้วย
-
กลองรำ หมายถึง ผู้ที่แสดงที่สะพายกลองและมีลวดลายลีลาในการร่ายรำด้วย
- กลองยืน หมายถึง ผู้สะพายกลอง
มีหน้าที่ตียืนให้จังหวะในการรำ
การเล่น “รำเถิดเทิง” ของกรมศิลปากรนี้
มีมาตรฐานตายตัว ผู้เล่นทั้งหมดต้องได้รับการฝึกฝนมาก่อน
คนดูจะได้เห็นความงามและความสนุกสนาน แม้จะไม่ได้ร่วมเล่นด้วยก็ตาม จำนวนผู้แสดงแบบนี้จะมีเป็นชุด
คือ พวกตีเครื่องประกอบจังหวะ คนตีกลองยืน คนตีกลองรำ และผู้หญิงที่รำล่อ
พวกตีประกอบจังหวะ จะร้องเพลงประกอบ เพื่อเร่งเร้าอารมณ์ให้สนุกสนานในขณะที่ตีด้วย
บางคำก็เป็นคำสองแง่สองง่ามคล้ายเพลงพื้นบ้าน เช่น
๑. มาละโหวย มาละวา
มาแต่ของเขา ของเราไม่มา ตะละลา หุย ฮา
๒. มาละโหวย
มาละวา (รับ) มาแต่ของเขา ของเราไม่มา อยู่เดียวเปลี่ยวเอกา เมื่อไหร่จะมาซักทีเอย
เอ๋ย โอละหน่าย โอละหน่าย หน่อยเอย เอ้อ เอ่อ
เฮ้อ เอย......
๓.
ใครมีมะกรูด มาแลกมะนาว (รับ) ใครมีลูกสาว มาแลกลูกเขย (รับ)
เอาวะ เอาเหวย ลูกเขยกลองยาว ตะละลา หุย ฮา
๔.
ต้อนไว้ ต้อนไว้ เอาไปบ้านเรา (รับ) พ่อก็แก่ แม่ก็เฒ่า (รับ) เอาไปหุงข้าว ให้พ่อเรากิน
พ่อไม่อยู่ ให้ปู่เรากิน ปู่ไม่กิน เรากินเอง
ตะละลา
๕.
เจ๊กตาย ลอยน้ำมา (รับ) ไม่นุ่งผ้า ชะฎาแหลมเปี๊ยบ ตะละลา
๖.
น่าดู อีหนูเสื้อแดง (รับ) อีหนูเสื้อแดง หน้าแดงน่าดู ตะละลา
๗.
เธอจ้ะเธอจ๋า เธอเกาอะไร (รับ) เกาโน่นเกานี่ เกา...หวี...ทำไม ตะละลา
๘.
กอ ขอ กอ กี (รับ) แม่ม่ายนอนหลับ ขยับทุกที ตะละลา
๙.
ทิงโนงโท้งโนง นกกิ้งโครงมาจับหลังคา จับแมวแจวเรือ จับเอาเสือไถนา
จับเป็ดจับไก่ มาจับเอาไข่พ่อตา
จับโน่นจับจับนี่ มาจับเอา..หวี..แม่ยาย ตะละลา
๑๐.
ใครมีดอกจิก มาแลกดอกจอก (รับ) ใครมีดอกจอก มาแลกดอกจาก (รับ)
แม่ค้าขายหมาก นมยานโตงเตง ตะละลา
๑๑.
เอ้า โห่โห้โห่ (รับ) เอ้า เห่เฮ้เห่ (รับ) โห่น่า เห่น่า โห่น่า เห่น่า ตะละลา
๑๒.
ลอยหน้า ลอยตา เชิ้บ เชิ้บ.... ลอยหน้า
ลอยตา เชิ้บ เชิ้บ
๑๓.
(ต้นเสียง) ไอ้ลูกกลมๆ (ลูกคู่) เขาเรียกมะนาว (ต้นเสียง) ไอ้ลูกยาวๆ (ลูกคู่)
เขาเรียกมะดัน
(ต้นเสียง) สองอันติดกัน (ลูกคู่) ไม่บอกๆ
ตะลาลา หุย ฮา
๑๔.
(ต้นเสียง) ไอ้ลูกกลมๆ (ลูกคู่) เขาเรียกมะนาว (ต้นเสียง) ไอ้ลูกยาวๆ (ลูกคู่)
เขาเรียกมะดัน
(ต้นเสียง) ไอ้ลูกสั้นๆ (ลูกคู่)
เขาเรียกพุทรา ตะลาลา หุย ฮา
๑๕.
(ต้นเสียง) ไอ้ลูกกลมๆ (ลูกคู่) เขาเรียกมะนาว (ต้นเสียง) ไอ้ลูกยาวๆ (ลูกคู่)
เขาเรียกมะเขือ
(ต้นเสียง) เอาไปบ้านเหนือ (ลูกคู่)
เอาไปฝากเนื้อเย็น ตะลาลา หุย ฮา
๑๖. (ต้นเสียง) แบะแบ แบะแบ (ลูกคู่) แบะแบ
แบะแบ
(ต้นเสียง)
ลูกควายหลงแม่ (ลูกคู่) ไปกินนมใคร
(ต้นเสียง)
กินนมตั๊กแตน (ลูกคู่) ท้องแบนท้องควาย ตะละลา
๑๗. ทิงโนง
โน้งโนง นกกิ้งโครงมาเกาะหลังคา จับแมวแจวเรือ จับเสือไถนา
จับเป็ดจับไก่
ไปจับเอาไข่พ่อตา จับโน่นจับนี่ ไปจับเอา..หวี..แม่ยาย ตะละลา
๑๘. แดงแจ้ด แดงแจ้ด แดงแจ๋ แดงแจ้ดแจ๋
แดงแจ๋ แดงแจ๊ด ตะละลา
๑๙. ดำปิ้ด ดำปิ้ด ดำปี๋ ดำปิ้ดปี๋
ดำปี๋ดำปิ้ด ตะละลา
อ้างอิง
ธนิต อยู่โพธิ์. ศิลปะละคอนรำหรือคู่มือนาฏศิลป์ไทย. กรมศิลปากรจัดพิมพ์ครั้งที่ ๒.
กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, ๒๕๓๑.
วรรณวิภา มัธยมนันท์. รำเหย่ย
: การละเล่นพื้นบ้านสู่นาฏศิลป์ กรมศิลปากร. วิทยานิพนธ์
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขานาฏยศิลป์ไทย ภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
๒๕๕๓.
หนังสือคุณานุสรณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพนางลมุล
ยมะคุปต์.
ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันพฤหัสบดีที่
๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๖.
หนังสือที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงแผ้ว
สนิทวงศ์เสนี.
ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ เทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๓.
.เพลงที่ร้องประกอบการละเล่นเถิดเทิง จะมีคนร้องนำ แล้วมีคนคอยรับ เรียกทั้ง2 นี้ ว่าอะไ
ตอบลบ