วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

รำกราวชัย (บางสมัยไทยด้อยจนย่อยยับ)

 

รำกราวชัย

 

“รำกราวชัย” เดิมชื่อ “กราวถลาง” อยู่ในบทละคร เรื่อง ศึกถลาง ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการ แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ซึ่งขณะนั้น หลวงวิจิตรวาทการ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๗-๒๔๘๓ ท่านได้รับมอบหมายให้ทำงาน “ปลูกต้นรักชาติ” (ประอรรัตน์ บูรณมาตร์ : ๒๕๒๘ หน้า ๕๕)  อาจกล่าวได้ว่า บทละครประวัติศาสตร์ของท่าน เกิดขึ้นจากแรงผลักดันทางการเมืองในช่วงระยะเวลานั้น

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ คือ เมื่อวันที่    พฤษภาคม  ๒๔๗๖ ได้มี พระราชบัญญัติ จัดตั้งกรมศิลปากร ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง (หลังจากถูกยุบไปเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๖๙ จากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก สืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๑)  โดยอยู่ในสังกัดกระทรวงธรรมการ แผนกละครและสังคีต  สังกัดอยู่กองศิลปะวิทยาการ เฉพาะ “แผนกละครและสังคีต”   มีหน้าที่ค้นคว้าและหาทางบำรุงความรู้ในศิลปะทางละครและสังคีต (ประวัติและบทบาทสำนักการสังคีต สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๔)

           พ.ศ.๒๔๗๗  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นอธิบดีกรมศิลปากรคนแรก  และในปีเดียวกันนี้ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๗๗ กรมศิลปากร ได้จัดตั้ง “โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์” (ปัจจุบันคือวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม)  ซึ่งคณะครูยุคเริ่มก่อตั้งในปี ๒๕๗๗ มีคุณครูศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก (หม่อมครูต่วน-ละครนาง) คุณครูลมุล ยมะคุปต์ (ละครพระ) คุณครูมัลลี คงประภัทร์ (ย่าหมัน) ครูผัน โมรากุล โดยมีศิลปินจากแผนกละครและสังคีต ทำหน้าที่ทั้งครูและศิลปินควบคู่กันไป

 พ.ศ.๒๔๗๘  กระทรวงวัง ถูกยุบเป็นสำนักพระราชวัง   กรมศิลปากรรับโอนข้าราชการโขน  ละคร   ปี่พาทย์   เครื่องสายฝรั่ง จากกระทรวงวัง ไปสังกัดกองศิลปะวิทยาการ  กรมศิลปากร  

           ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๗-๒๔๗๙ หลวงวิจิตรวาทการ ได้แต่งบทและจัดแสดงละครประวัติศาสตร์ คือ นเรศวรประกาศอิสรภาพ (๒๔๗๗) พระราชธิดาพระร่วง (๒๔๗๗) เลือดสุพรรณ (๒๔๗๙) ราชมนู (๒๔๗๙)

ในปี ๒๔๘๐ หลวงวิจิตรวาทการ ได้แต่งบทและจัดแสดงละครประวัติศาสตร์ เรื่อง พระเจ้ากรุงธน และ ศึกถลาง แน่นอนว่านักแสดงคงจะเป็นศิลปินจากแผนกละครและสังคีต กรมศิลปากร และนักเรียนจากโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์นั่นเอง

ในหนังสือ ๑๐๑ ปีละครวังสวนกุหลาบ (๒๕๕๕ หน้า ๑๒๒) กล่าวถึงประวัติ คุณครูลมุล ยมะคุปต์ ไว้ว่า หลังจากคุณครูลมุล ออกจากวังสวนกุหลาบ มาสอนที่โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์นั้น

“นอกจากจะมีหน้าที่ในการสอนแล้ว ท่านยังมีหน้าที่ในการควบคุมและฝึกซ้อมการแสดงของกรมศิลปากรอีกด้วย ดังนั้น การแสดงของกรมศิลปากรทุกชุด ตั้งแต่เปิดโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ๒๔๗๗-๒๕๒๖ จึงเป็นผลงานของท่านทั้งสิ้น”

ในหนังสือคุณานุสรณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพคุณครูลมุล ยมะคุปต์ (๒๕๒๖ หน้า ๑๙) ได้กล่าวถึงผลงานการประดิษฐ์ท่ารำของคุณครูลมุลไว้ว่า

“ในสมัยที่ พณฯท่าน หลวงวิจิตรวาทการ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ท่านได้ประพันธ์บทละครปลุกใจไว้หลายเรื่อง เช่น เลือดสุพรรณ (๒๔๗๙) เจ้าหญิงแสนหวี (๒๔๘๑) อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง (๒๔๙๗) อานุภาพแห่งความเสียสละ (๒๔๙๘) อานุภาพแห่งความรัก (๒๔๙๙) ซึ่งมีระบำประกอบเพลงสลับฉากหลายชุด คุณครูลมุล ยมะคุปต์ท่านได้มีส่วนร่วมในการคิดประดิษฐ์ท่ารำทุกชุด เช่น ระบำเชิญขวัญ (ละครเรื่องน่านเจ้า ๒๔๘๒) ระบำในน้ำมีปลาในนามีข้าว (อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ๒๔๙๗) ระบำเสียงระฆัง (อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ๒๔๙๗) ระบำชุมนุมเผ่าไทย (อานุภาพแห่งความเสียสละ ๒๔๙๘) ระบำนกสามหมู่ (อานุภาพแห่งความเสียสละ ๒๔๙๘) เป็นต้น”

จากข้อความดังกล่าว จึงอาจสรุปได้ว่า คุณครูลมุล ยมะคุปต์ ได้ร่วมคิดท่ารำและฝึกซ้อมละคร เรื่อง ศึกถลาง และ “รำกราวถลาง” นี้ด้วย โดยอาจจะมีคุณครูท่านอื่นช่วยกันคิดท่ารำและฝึกซ้อมด้วย

 

เพลงกราวถลาง

(บทละครเรื่องศึกถลาง ๒๕๐๖ หน้า ๑๘)

 

ถลางของเราใครเข้ามาย่ำ                    จะตีกระหน่ำให้มันพ่ายแพ้ไป

ถลางเป็นถิ่นของไทย                                   ไล่ศัตรูออกไป –ชโย

 

เลือดไทย ใจเด็ด ไม่เข็ดขาม                  สงคราม แกล้วกล้า จะหาไหน

สละชีพ เพื่อชาติ จนขาดใจ                            ไม่ให้ ศัตรู มาดูแคลน

ชาติใด ใจพาล รุกรานมา                     จะเคี่ยวฆ่า มันให้ยับ นับแสน

ก่อกรรม ทำทุกข์ รุกเขตแดน                          แก้แค้น ให้พ้น แผ่นดินไทย

ชาติไทย เคยด้อย ย่อยยับ                    ยังกลับ แก้ฟื้น คืนได้
เพราะไทย ใจสมัคร รักเป็นไทย                        เต็มใจ ต่อสู้ หมู่ไพรี

มาเถอะเหวย ยกมา ทั่วสากล                ไทยจะทน สู้ตาย ไม่พ่ายหนี
ถ้าแม้นมัน มีชัย พวกไพรี                              ก็ได้แต่ ปฐพี ไม่มีคน

หาเช้า กินค่ำ ยามสงบ                       เกิดศึก ก็รบ ไม่ย่อย่น
ชาติใด ใจกล้า มาประจญ                              ทุกคน ยอมตาย ให้บ้านเมือง

มาเถิด ชาวไทย ทั้งหญิงชาย                 ไว้ลาย ให้โลก เขาลือเลื่อง
ไว้เกียรติ กรุงสยาม นามประเทือง                     ให้รุ่งเรือง วัฒนา ชั่วฟ้าดิน

 

การรำกราวถลางให้ทำอย่างนี้

1. คุณหญิงจันทร์กับคุณหญิงมุกด์ยืนกันอยู่คู่ บนที่สูงทั้งสองคน

2. น้อมกับเนื่องยืนอยู่คนละข้าง คนถือธงยืนกลาง ที่ยืนต่ำกว่าคุณหญิง แต่สูงกว่าคนอื่น

3. คนธงออกรำก่อน แล้วทหารออกมาเป็นพวกๆ ชายพวกหนึ่ง หญิงพวกหนึ่งสลับกันไปและร้องคนละบท

 

ต่อมา ได้มีการนำการแสดงชุด “กราวถลาง” นี้ มาออกแสดงเดี่ยวๆ เป็นเอกเทศ ไม่ประกอบละครเป็นเรื่องเป็นราว โดยปรับเปลี่ยนเนื้อร้องเล็กน้อย และนำบรรจุไว้สอนในหลักสูตรของโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์หรือโรงเรียนนาฏศิลป สืบมาจนถึงปัจจุบัน ใช้ชื่อชุดการแสดงว่า “กราวชัย”

-ปี่พาทย์ทำเพลงกราวกลาง-

ร้องเพลงกราวชัย

บางสมัย ไทยด้อย จนย่อยยับ                ไทยกลับ แก้ฟื้น คืนได้

เพราะไทย ใจสมัคร รักเป็นไทย                        เต็มใจ ต่อสู้ หมู่ไพรี

มาเถอะเหวย ยกมา ทั่วสากล                ไทยจะทน สู้ตาย ไม่พ่ายหนี
ถ้าแม้นมัน มีชัย พวกไพรี                              ก็ได้แต่ ปฐพี ไม่มีคน

หาเช้า กินค่ำ ยามสงบ                       เกิดศึก ก็รบ ไม่ย่อย่น
ชาติใด ใจกล้า มาประจญ                              ทุกคน ยอมตาย ให้บ้านเมือง

มาเถิด ชาวไทย ทั้งหญิงชาย                 ไว้ลาย ให้โลก เขาลือเลื่อง
ไว้เกียรติ กรุงสยาม นามประเทือง                     ให้รุ่งเรือง วัฒนา ชั่วฟ้าดิน

-ปี่พาทย์ทำเพลงเชิด-

 

 

อ้างอิง

 

การสังคีต,สำนัก. ประวัติและบทบาทสำนักการสังคีต. https://www.finearts.go.th

สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๔

วิจิตรวาทการ,หลวง. บทละครเรื่องศึกถลางกับน่านเจ้า. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ

นางบุญทรง คุณะเกษม ณ เมรุวัดมกุฎกษัติรยาราม ๑๐ มีนาคม ๒๕๐๖

ประเมษฐ์ บุณยะชัย (บรรณาธิการ) . ๑๐๑ ปีละครวังสวนกุหลาบ. พิมพ์ครั้งที่ ๒

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๕.

ประอรรัตน์ บูรณมาตร์. หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๘

หนังสือคุณานุสรณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพนางลมุล ยมะคุปต์.

ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๖.

ระบำวีรชัยอาสา (ทหารเหล่าเกาทัณฑ์ขยันยิ่ง)

 

ระบำวีรชัยอาสา

 

          ระบำชุดนี้ นายธนิต  อยู่โพธิ์ เป็นผู้แต่งบทร้อง ครูมนตรี ตราโมท แต่งทำนองเพลงกราวกลาง เพื่อประกอบการแสดงละครเรื่อง มโนราห์ ตอน พระสุธนยกทัพ ซึ่งกรมศิลปากรนำออกแสดง ณ โรงละครศิลปากร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ ต่อท้ายด้วยเพลงกราวดง ซึ่งเป็นทำนองของเก่า

 

บทละครชาตรีเรื่อง มโนห์รา

ตอน พระสุธนตรวจพล

 

- ปี่พาทย์ทำเพลงกราวกลาง -

(ทหารแต่ละเหล่าวิ่งลอดประตูมาเต้น “ระบำวีระชัย (อาสา)” ตามคำร้อง)

- ร้องเพลงกราวกลาง -

                   ทหารเหล่า  เกาทัณฑ์  ขยันยิ่ง     ขยับยิง  แม่นยำ  ไม่ย่อย่น

          ทหารหอก  ถือหอก  ออกประจญ            แต่ละคน  กล้าหาญ  ชำนาญฤทธิ์

          ทหารดาบ  ถือดาบ  วะวาบแสง             ฟันแทง  แต่ละที  ไม่มีผิด

          ทหารม้า  ควบม้า  ดาประชิด                ปัจจามิตร  ย่นระย่อ  ไม่ต่อตาม

- ร้องเพลงกราวดง -

                             พวกเรา เหล่าทหาร ชำนาญยุทธ์   ฤทธิรุทธิ์ เกรียงไกร  ในสนาม

          เคยผ่านศึก  มีชัย  ในสงคราม                ไม่เคยขาม  คร้ามครั่น  สรรพภัย

(ทหารเต้นระบำวีรชัย)

(พระสุธนออกตรวจพล แล้วไปขึ้นเกยทรงช้าง)

- ร้องเพลงทะแย -

พระสุธน  ขึ้นทรง  คชาธาร        คุมโย-  ธาหาญ  ทัพใหญ่

พรั่งพร้อม  พหล  พลไกร                    คลาไคล  ออกจาก  นิเวศน์วัง

- ปี่พาทย์ทำเพลงเชิด -

(พระสุธนยกทัพเข้าโรง เมื่อกองทัพพระสุธนยกเข้าโรงไปหมดแล้ว คนงานและนายงานออกเล่นตลก)

 

 

อ้างอิง

 

การสังคีต,สำนัก. บทละครเรื่องมโนห์รา ตอน พระสุธนตรวจพล. สำนักการสังคีต กรมศิลปากร, มปป.

สุมิตร เทพวงษ์. สารานุกรมระบำ รำ ฟ้อน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2547.

https://www.youtube.com/watch?v=mTJ9uQIJBRA&t=667s

รำลาวกระทบไม้ กรมศิลปากร

 

รำลาวกระทบไม้ กรมศิลปากร

 ประวัติความเป็นมา

“รำกระทบไม้” เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวสุรินทร์ (น่าจะเป็นชาวเขมร) เดิมเรียกว่า “เต้นสาก” (“เรือมอันเร” หรือ “ลูดอันเร” เป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่งในหมู่ชาวไทยเชื้อสายเขมร ในบริเวณอีสานใต้ เดิมนั้นนิยมเรียกว่า “ลูดอันเร” ซึ่ง คำว่า “ลูด” หมายถึง การเต้น หรือกระโดด ส่วนคำว่า “อันเร” หมายถึง “สาก” ซึ่งก็คือ สากตำข้าว นั่นเอง ลูดอันเร จึงหมายถึง การเต้นสาก หรือระบำสาก ในภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการละเล่น และเรียกว่า “เรือมอันเร” โดยคำว่า เรือม หมายถึง การรำ ดังนั้น เรือมอันเร จึงหมายถึง รำสาก มีนัยบ่งบอกถึงความอ่อนโอนและนุ่มนวลกว่าเดิม) ซึ่งการ “เต้นสาก” นี้ เป็นการละเล่นที่สอดคล้องกับอาชีพทำนาผลิตข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักและเป็นสินค้าออกที่สำคัญของไทย ชีวิตประจำวันของชาวไทย-เขมร จึงคลุกคลีอยู่กับการทำนา เริ่มตั้งแต่การไถ การหว่าน ดำนา เกี่ยวข้าว ตำข้าว ฝัดข้าว ฯลฯ ด้วยนิสัยรักสนุกนี้เอง หลังว่างเว้นจากการทำนา คนไทย-เขมร จึงนำสากตำข้าวมากระทบกันเป็นจังหวะ พร้อมกับมีการละเล่นให้เข้ากัน ภายหลังกรมศิลปากรได้ศึกษาการละเล่นชนิดนี้และนำมาปรับปรุงจัดระเบียบแบบแผนอย่างค่อนข้างตายตัว

รำลาวกระทบไม้” ได้นำออกแสดงเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2500 เนื่องในงานแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างไทยกับราชอาณาจักรลาว ในการปรับปรุงครั้งนั้น เนื่องจากบทร้องของเก่าไม่เหมาะสมที่จะรำได้สวยงาม กรมศิลปากรจึงได้ขอให้อาจารย์มนตรี ตราโมท แต่งบทร้อง และท่านผู้หญิงหม่อมแผ้ว สนิทวงศ์เสนีย์ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่ (๒๕๔๓ หน้า ๑๑๖)

การกระทบไม้ แต่เดิมวางไม้สากตามความยาว 2 อัน ใช้ไม้หมอนรองหัวและท้ายไม้ทั้ง 2 ด้าน ปลายสากจะมีคน 2 คน จับปลายเพื่อกระทบกัน ภายหลังกรมศิลปากรปรับปรุงและจัดลำดับท่ารำให้เป็นระเบียบขึ้น แต่ยังคงรักษาเค้าแบบแผนเดิม โดยปรับปรุงเป็นไม้ไผ่ 2 ลำ ขนาดเท่ากันยาวประมาณ 2-4 เมตร และใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นหมอนวางรองทั้งสองปลาย ผู้กระทบนั่งกับพื้นจับปลายทั้งสองคนเพื่อจะได้ตีกระทบกัน

การละเล่นกระทบไม้ มีการเล่นแพร่หลายอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจาก“เรือมอันเร” ของชาวเขมรแล้ว ยังมีแสกเต้นสาก” ของชาวแสก (ชนชาติหนึ่งในกลุ่มภาษาตระกูลไท-ลาว), การเล่น ม้าจกคอก” ของชาวไทใหญ่, การเล่น “ตินิคลิ่ง” (Tinikling) หรือ “แบมบูแดนซ์” (Bamboo Dance) ของชาวฟิลิปปินส์ รวมทั้ง “ติฮัว” หรือ “จิ-กลี” หรือ “กะเหรี่ยงกระทบไม้” ของชาวกะเหรี่ยง

 

การแต่งกาย

          ชาย นุ่งกางเกงหลากสี ขาสามส่วน สวมเสื้อคอกลมหลากสีเช่นกัน มีผ้าคาดเอว และโพกศีรษะ

หญิง นุ่งผ้าซิ่นยาวกรอมเท้า สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสะไบทับเสื้อ ให้สีตัดกัน

 

ดนตรีประกอบ

          นอกจากไม้เคาะจังหวะประกอบการร่ายรำแล้ว กรมศิลปากรได้นำวงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ มาบรรเลงลำนำทำนองเพลงให้ไพเราะด้วย

  

เนื้อร้อง รำลาวกระทบไม้

บทร้องและทำนอง โดย  :  อาจารย์มนตรี   ตราโมท

 

แสงรัชนี ส่องสีนวล  (ลา........)   
ชื่นใจชวน ยั่วยวนใจชม อภิรมย์เริงใจ
เคล้าคู่เคียงไป ฟ้อนกรายร่ายรำ (ลา......)  
หนุ่มวอนกลอนกล่าว เว้าสาวหวานฉ่ำ      

จันทร์งามยามค่ำ เป็นสายนำดวงใจ

ยามเดือนลอยเด่น

เหมือนดังเป็นใจให้ สาวหนุ่มพลอดกัน

กรีดกราย ร่ายรำ สำเริงรื่น                  

แสนชื่น ชอบเชิง เริงรำ ทำกางกั้น

สับเปลี่ยน เวียนผัน กันสำราญ
ร่ายรำ ท่ามกลาง แสงเดือนเด่น (ละลา....)                    

เยือกเย็น น้ำค้าง ช่างซาบซ่าน

สาวรำ นำหนุ่ม ชุ่มชื่นบาน

ต่างสุขศานติ์ แสนงาม ยามค่ำคืน

 

อ้างอิง

 

สุขฤดี  เทียนชัยพนา, สุนารี  กองเมือง และอาภารัตน์  แลเช่อร์. การละเล่นจีกลี : กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์

ปกาเกอะญอ บ้านโป่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน.

ศิลปนิพนธ์หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (5 ปี) สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา ภาควิชานาฏศิลป์ศึกษา

ห้องเรียนเครือข่ายวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2555

สุมิตร เทพวงษ์. สารานุกรมระบำ รำ ฟ้อน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2547.

หนังสือที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ เทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๓.

องค์ บรรจุน. “กะเหรี่ยงกระทบไม้มาก่อนเก่า ลาวกระทบทีหลัง” ใน ศิลปวัฒนธรรม. พฤศจิกายน  2557


เสนายักษ์กรุงลงกา ๒๐ ตน

 

เสนายักษ์กรุงลงกา ๒๐ ตน

 ในสมญาภิธานรามเกียรติ์ (นาคะประทีป : ๒๕๑๕ หน้า ๑๒๗) กล่าวว่า “เสนายักษ์”  ของกรุงลงกา มีจำนวน ๒๐ ตน ซึ่งมีชื่อในทำเนียบดังนี้

๑. การุณราช                 (หน้าสีหงส์เสน)           

๒. กาลสูร                    (หน้าสีดำ)

๓. นนทจิตร                  (หน้าสีมอคราม)

๔. นนทไพรี                  (หน้าสีมอหมึก)

๕. นนทยักษ์                 (หน้าสีขาบ)

๖. นนทสูร                   (หน้าสีขาว)

๗. เปาวนาสูร                (หน้าสีขาว)

๘. พัทกาวี                    (หน้าสีเหลือง)

๙. ภานุราช                   (หน้าสีเขียว)

๑๐. มหากาย                 (หน้าสีม่วงแก่)

๑๑. มโหทร                  (หน้าสีเขียว)

๑๒. รณศักดิ์                  (หน้าสีจันทร์)

๑๓. รณสิทธิ์                  (หน้าสีดินแดง)

๑๔. โรมจักร                  (หน้าสีหงสบาท)

๑๕. ฤทธิกาสูรหรือเวรัมภ   (หน้าสีหงส์ชาด)

๑๖. ไวยกาสูร หรือ ศุกสารณ์  (หน้าสีเขียว)

๑๗. ไวยวาสูร หรือ วรวาสูร    (หน้าหงส์ดิน)

๑๘. สุขาจาร                    (หน้าสีเขียว)

๑๙. อสูรกัมปั่น                 (หน้าสีเขียว)

๒๐. อิทธิกาย                   (หน้าสีม่วงอ่อน)

 

(น่าสังเกตว่า มีชื่อ มโหทร และ เปาวนาสูร เป็นเสนายักษ์ด้วย แต่ในการแสดงโขน มโหทรและเปาวนาสูร จะมีศักดิ์เป็น “ยักษ์เสนา” ซึ่งยศสูงกว่าเสนายักษ์ ๑ ขั้น โดยมโหทรและเปาวนาสูรจะสวมศีรษะมียอดน้ำเต้ากลม แต่เสนายักษ์จะหัวโล้น ไม่มียอด)

 

ต่อมา วิทยาลัยนาฏศิลป ได้สร้างสรรค์การแสดง ชุด “๒๐ อสุราลงกามาร” สร้างสรรค์โดย  ผศ.ดร.จุลชาติ อรัณยะนาค และคณะครูโขนยักษ์วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม นำออกแสดงในงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมสี่ภาค ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๑ ณ ลานโบสถ์พระแก้ววังหน้า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มีบทร้องดังนี้

 

-รัวสามลา-

-ร้องเพลงสมิงทองมอญ-

มโหทร มหาอำมาตย์ ราชประยูร   คู่มหา เปาวนาสูร ยักษา

การุณราช ทศรินทร์ อินทรา                 ภานุราช ศักดา พลิกแผ่นดิน 

ชายชาญ กาลสูร ฤทธิ์ล้ำ                     เวรัมภ์ จักรกลด ผกผิน

อิทธิกาย ร่ายเวท พังภิณท์                   มหากาย ชายถิ่น บาดาล 

นนทจิตร ขุนวิทย์ สิทธิศักดิ์                   นนทยักษ์ ขุนทัพ ศักดาหาญ

นนทสูร ขุนทัพ เริงรำบาญ                   นนทไพรี ชำนาญ ชาญณรงค์ 

รณสิทธิ์ ฤทธิรณ บนหลังม้า                  รณศักดิ์ ศักดา พิศวง

ศุกสารณ์ ชำนาญฤทธิ์ บิดองค์                สุขาจาร แปลงทรง องค์สีดา

พัทกาวี ขุนศึก โมกขศักดิ์                     โรมจักร ขุนราช โอรสา

กัมปั่น ขุนผจญ บนคชา                       ไวยวา ขุนกล้า ประจัญบาน

ต่างขุน รู้หลัก สัประยุทธ์                     ต่างขุน ฤทธิรุทธ์ กำแหงหาญ

ยี่สิบ อสุรา เสนามาร                         ท้าวราพณ์ ผู้ผ่าน ลงกา

-กราวใน-

-เชิด-

 

 

เอกสารอ้างอิง

นาคะประทีป (นามแฝง). สมญาภิธานรามเกียรติ์ ของ นาคะประทีป.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา,

๒๕๑๕.

https://www.youtube.com/watch?v=PIyHknLbTY8

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564

ภาษาท่า ภาษานาฏศิลป์ ภาษาโขน รำใช้บท หรือ รำตีบท

 เอกสารประกอบการสอน

วิชา ศ ๓๓๒๒๕ ทฤษฎีนาฏศิลป์ไทย ๕ การสื่อสารในนาฏกรรมไทย

ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖

จัดทำโดย ผศ.สมภพ เพ็ญจันทร์

วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

 

 

ภาษาท่า ภาษานาฏศิลป์ ภาษาโขน รำใช้บท หรือ รำตีบท

 

หลักการสื่อความหมายด้วยท่าทางในรูปแบบนาฏศิลป์ไทย

การที่นักเรียนจะแสดงโขน ละคร ได้อย่างถูกต้อง หรือจะดูโขน ละคร ให้รู้เรื่องนั้น นักเรียนจะต้องศึกษาเรื่องของภาษาท่า ภาษานาฏศิลป์ ภาษาโขน รำตีบท รำใช้บท รำหน้าพาทย์ และความหมายของท่ารำก่อน เพราะการแสดงโขน-ละคร นั้น บางช่วงบางตอน นักเรียนจะต้องสื่อความหมายให้ผู้ชมหรือให้ตัวแสดงด้วยกันทราบ ด้วยภาษาท่าทางตามรูปแบบนาฏศิลป์ไทย ซึ่งครูบาอาจารย์ตั้งแต่ครั้งอดีตได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น และจดจำ ถ่ายทอด ต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน

 

ภาษาท่า

ภาษาประจำวันของเรานั้น มิใช่มีแต่คำพูดซึ่งเปล่งเป็นเสียงออกมาทางปากเท่านั้น หากแต่เราใช้ท่า คือ ใช้อวัยวะส่วนอื่นแสดงออกมาเป็นกิริยาท่าทางแทน เราก็สามารถรู้ภาษาและรู้ความหมายกันได้ (ปัจจุบันมีการเรียนภาษามือของผู้บกพร่องทางการได้ยิน ที่เป็นภาษาสากลทั่วโลก)
       ภาษาท่าเหล่านี้ เราใช้กันทุกวัน และกิริท่าทางของคนเรา ก็ย่อมมีความหมายอยู่ในตัว แม้ไม่ต้องพูดออกมาทางปาก
          กิริยาท่าทางจึงนับเป็นภาษาส่วนหนึ่ง อาจเรียกได้ว่าเป็น
ภาษาท่า เช่นเดียวกับภาษาที่เปล่งเป็นคำพูดออกมาทางปาก

           “ภาษาท่า อาจจำแนกออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

          ๑. "ท่า"ซึ่งให้แทนคำพูด เช่น รับ ปฏิเสธ สั่ง เรียก เป็นต้น

          ๒. "ท่า"ซึ่งเป็นอิริยาบถและกิริยาอาการ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน เคารพ และการกระทำอื่นๆ 

          ๓. "ท่า"ซึ่งแสดงถึงอารมณ์ภายใน เช่น รัก โกรธ ดีใจ เสียใจ ร่าเริง เป็นต้น

 แต่ลักษณะของท่าที่แยกเป็น 3 ประเภทดังกล่าว ก็มีเหลื่อมล้ำคาบเกี่ยวกันอยู่ จะแยกเด็ดขาดลงไปที่เดียวหาได้ไม่

 

ภาษานาฏศิลป์

ในศิลปะทางนาฏกรรมหรือนาฏศิลป์ ได้มีการประดิษฐ์ดัดแปลง "ภาษาท่า" ต่างๆ ให้วิจิตรพิสดารและสวยงามยิ่งกว่าท่าธรรมดา โดยให้สอดคล้องประสานประสมกลมกลืนกับศิลปะที่เป็นส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เพลง ดนตรี และคำขับร้อง เป็นต้น แต่ก็ประดิษฐ์ดัดแปลงขึ้นมาจากกิริยาท่าทางอันเป็นธรรมดาสามัญ ๓ ประเภทดังกล่าวข้างต้น คือ

            ๑. ภาษานาฏศิลป์ซึ่งให้แทนคำพูด เช่น ท่ารับ ปฏิเสธ สั่ง เรียก เป็นต้น

          ๒. ภาษานาฏศิลป์ซึ่งเป็นอิริยาบถและกิริยาอาการ เช่น ท่ายืน เดิน นั่ง นอน เคารพ และการกระทำอื่นๆ 

          ๓. ภาษานาฏศิลป์ซึ่งแสดงถึงอารมณ์ภายใน เช่น ท่ารัก โกรธ ดีใจ เสียใจ ร่าเริง เป็นต้น

นอกจากเพื่อเป็นการส่งภาษาให้หมายรู้กันได้ด้วยสายตาแล้ว ในศิลปะทางนาฏกรรม เขาจำเป็นต้องมุ่งให้เต้นและรำได้งดงามและเป็นสง่า ที่เรียกกันว่า “สุนทรียรส” อีกด้วย เพราะความงดงาม หรือ สุนทรียรส เป็นหลักสำคัญของศิลปะ 

ท่าเต้นท่ารำของโขนและละครรำของไทยก็ดี หรือของชาติอื่นๆก็ดี เป็นการประดิษฐ์โดยอาศัย “หลักความงาม” ของศิลปะชาติดังกล่าว เป็นการส่งภาษาโดยเฉพาะ อย่างที่เรียกว่า “นาฏยภาษา” หรือ “ภาษานาฏศิลป์” (Dance Language) 

"ภาษานาฏศิลป์" จึงมีควาหมยแสดงออกมาเช่นเดียวกับคำพูดที่เราได้ยินได้ฟังด้วยหูของเรา แต่เป็นคำพูดที่พูดด้วยมือ แขน เท้า ขา ลำตัว ลำคอ ใบหน้า และศีรษะ  ด้วยเหตุนี้ การดูโขนจึงอยู่ที่ดู "ท่าเต้นท่ารำ" เพราะท่าเต้นท่ารำนั้นเป็นคำพูดของโขน โดขนจึงพูดด้วยท่าเต้นท่ารำท่าทำบท ซึ่งเป็น "ภาษานาฏศิลป์" ของการแสดงศิลปะชนิดนี้

ตัวอย่างของภาษานาฏศิลป์ เช่น ท่ายิ่งใหญ่ ท่าสวยงาม ท่าเจริญรุ่งเรือง ท่าพระญาติวงศ์ ท่าในท้องพระโรง ท่าพระนารายณ์อวตาร เป็นต้น

 

ภาษาโขน

ภาษาโขน คือ ท่าทางที่ตัวโขนแสดงออกมา ไม่ว่าจะเป็นการเต้นหรือการรำ เพื่อสื่อความหมายต่อผู้ชม ให้มีความรู้สึกสนุกสนาน ยิ่งเป็นผู้เล่นโขนที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และมีฝีไม้ลายมือในการส่งภาษาโขนด้วยแล้ว รสสนุกในการดูก็จะทวียิ่งขึ้น ผู้เล่นโขนคนใดแสดงภาษาโขน คือการแสดงท่าเต้นท่ารำออกมาได้ชัดเจนและถูกต้องสวยงาม ก็จะได้รับการยกย่องว่าตีบทแตกถ้าเทียบหลักศิลปะตะวันตก ก็แสดงว่าผู้แสดง “แปลความหมาย (Interpretation) ของเรื่อง ตอนที่ตนแสดงได้ถูกต้อง กล่าวคือเข้าถึงบท อย่างที่เรียกว่า Attack his parts

แต่โดยเหตุที่โขนต้องเต้นและรำไปตามบทพากย์ บทเจรจา บทขับร้อง และเพลงดนตรีปี่พาทย์ จึงจำแนกการเต้นการรำของโขนละครออกเป็น ๒ ชนิด คือ  รำหน้าพาทย์ และ รำบทหรือรำใช้บท


รำหน้าพาทย์

       รำหน้าพาทย์ ได้แก่ การรำตามทำนองเพลงดนตรีปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการเล่นโขน กล่าวคือ ผู้เล่นโขนต้องเต้นรำไปตามจังหวะและทำนองเพลงดนตรี ซึ่งมีชื่อบัญญัติเรียกอยู่ในวงวิชาการดนตรีอีกส่วนหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เพลงเชิด เสมอ รัว ลา ตระ คุกพาทย์ กราวนอก กราวใน แผละ โอด เป็นต้น


รำใช้บท หรือ รำตีบท

รำใช้บท หรือ รำตีบท หรือ รำบท ได้แก่ การรำตามบทร้อง บทเจรจา และบทพาทย์ กล่าวคือ รำทำบทไปตามถ้อยคำ ซึ่งมีผู้ร้อง ซึ่งมีคำร้อง ผู้เจรจา หรือผู้พากย์ให้ ผู้แสดงโขนจะต้องแสดงภาษาท่าไปตามคำนั้นๆ เช่น ไม่มี ไม่ดี ไม่เอา ไม่ใช่ ไม่รู้ ไม่กลัว เรียกให้เข้ามา สั่งให้ออกไป ตาย รัก เดือดเนื้อร้อนใจ ทุกข์โศก ร้องไห้ สะอึกสะอื้น ยิ้ม ดีใจ หัวเราะ โกรธ เหม่ มาซิวะ เป็นต้น

ท่ารำใช้บท รำตีบท หรือรำบท คือการประดิษฐ์เลือกสรรขึ้นมาจากกิริยาท่าทางอันเป็นธรรมดาสามัญของมนุษย์ เช่นที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำทุกวันนั่นเอง แต่ที่มีท่าทางผิดเพี้ยนไปจากท่าธรรมดา ก็มุ่งด้วยความสวยงามตามแนวคิดของศิลปินไทย เช่นเดียวกับลวดลายจิตรกรรม ที่ช่างศิลป์ประดิษฐ์เขียนรวงข้าวหรือเครือเถา เป็นต้น

ท่ารำใช้บท ตีบท ของโขนละครไทยนั้น บรมครูแต่โบราณได้ประดิษฐ์และเลือกคัดจัดสรรไว้เป็นเวลานาน และจดจำสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน บางท่าจึงเป็นการยากที่จะอธิบายความหมายให้เข้าใจได้ในสมัยนี้ หน้าที่ของศิลปินผู้ฉลาดในยุคต่อมาก็คือ รู้จักเลือกคัดจัดท่า หรือประดิษฐ์ดัดแปลงนำไปใช้ให้เหมาะสมแก่การแสดงอารมณ์ในท้องเรื่องและโอกาส

อีกประการหนึ่ง ท่าของโขนและละครรำนั้น ผู้แสดงจะเต้นรำทำท่า ให้ช้าเร็วไปตามใจหาได้ไม่ หากจะต้องรำทำท่าให้ประสานประสมกลมกลืนกันไปกับจังหวะของคำพากย์ คำเจรจา คำขับร้อง และเพลงหน้าพาทย์ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการเต้น การรำ ท่าทางเหล่านั้นจึงแผกเพี้ยนไปจากกิริยาท่าทางอันธรรมดาสามัญ

ท่าเต้น ท่ารำ ของผู้แสดงโขนดังกล่าวมานี้ นับว่าเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูง ที่บรมครูแต่โบราณได้ประดิษฐ์เลือกคัดจัดสรรไว้ และยกย่องกันต่อมาว่าเป็นนาฏศิลป์ที่วิจิตรบรรจง ประดุจลวดลายจิตรกรรมที่งดงาม ยากที่จะอธิบายด้วยถ้อยคำให้ละเอียดถี่ถ้วนและชัดเจนแจ่มแจ้งได้ ควรที่ชนรุ่นหลังจะอนุรักษ์ไว้ไม่หายสูญหายไป

 


อ้างอิง

 

ธนิต  อยู่โพธิ์โขน.   พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๐๘.