วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

วิเคราะห์วรรณคดีการละครเรื่องลิลิตพระลอ ตอน ปู่เจ้าเรียกไก่


วิเคราะห์วรรณคดีการละครเรื่องลิลิตพระลอ ตอน ปู่เจ้าเรียกไก่

โดย อาจารย์สมภพ  เพ็ญจันทร์
ครู (ชำนาญการพิเศษ) วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

ความนำ
เมื่อกล่าวถึง “พระลอ” คนไทยทั่วไปคงคิดถึง พระเพื่อนพระแพง คิดถึงดินแดนล้านนาที่มีอากาศเย็นสบาย  มีเทือกเขาลำเนาไพร  มีเพลงบรรเลงกล่อมที่แสนไพเราะอ่อนหวาน  คิดถึงไก่แก้วแสนงาม   คิดถึงฉากพระลอตามไก่ และแน่นอนย่อมคิดถึงความโศกสลดในจุดจบของตัวเอกในเรื่อง   “พระลอ” เป็นวรรณกรรมที่แฝงความเป็นดินแดนล้านนาอย่างเต็มเปี่ยม  
          ก่อนที่วิเคราะห์ตามเนื้อร้องของบทละคร ขอเล่าประวัติที่มาของลิลิตพระลอก่อนว่า ลิลิตพระลอนี้สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยอยุธยาตอนต้น ระหว่าง พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๒๖ ส่วนผู้แต่งนั้นไม่สามารถระบุได้ แต่สันนิษฐานว่าอาจเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่ง หรือพระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่ง หรืออาจเป็นบุคคลในราชสำนักด้านอักษรศาสตร์แต่งถวายพระเจ้าแผ่นดิน  (ลิลิตพระลอ, ๒๕๕๔) หรืออาจเป็นกวีชาวล้านนา ที่ร้อยเรียงวรรณคดีชิ้นเยี่ยมนี้ขึ้นมา แต่ใครจะเป็นผู้แต่งที่แท้จริงนั้น เราคงรู้ได้ในอนาคตไม่ไกลดอกกระมัง?
เนื้อร้องปู่เจ้าเรียกไก่ ซึ่งสอดแทรกระบำไก่อยู่ด้วยนั้น อยู่ในลิลิตพระลอ มีเรื่องย่อว่าปู่เจ้าสมิงพรายได้ตอบรับที่จะช่วยเหลือพระเพื่อนพระแพง โดยจะใช้เวทมนต์นำพระลอหนุ่มรูปงามมาพบพระเพื่อนพระแพงที่เมืองสรอง โดยปู่เจ้าสมิงพรายได้ระลึกถึงฝูงไก่ในป่า พอไก่มาปู่เจ้าก็เลือกไก่ได้ตัวหนึ่ง เรียกว่า ไก่แก้ว แล้วสั่งให้วิญญาณภูตผีเข้าสิงในไก่แก้วตัวนั้น เพื่อไปหลอกล่อให้พระลอข้ามแม่น้ำกาหลงมาถึงเมืองสรองของพระเพื่อนพระแพง
การที่ปู่เจ้าเรียกไก่มาเป็นฝูงนั่นเอง เป็นที่มาของระบำไก่ ซึ่งตามประวัติกล่าวว่าอยู่ในบทละครพันทาง เรื่อง พระลอ ตอน พระลอตามไก่ บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์  บรรจุเพลงร้องคือเพลงลาวจ้อย โดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรา-  นุวัดติวงศ์  ประดิษฐ์ท่ารำโดยเจ้าจอมมารดาเขียนและคณะครูละครพันทางคณะนฤมิตร หรือคณะละครหม่อมต่วน  ของหม่อมหลวงต่วนศรี  วรวรรณ   ซึ่งเป็นหม่อมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (สุรพล  วิรุฬห์รักษ์ : ๒๕๔๗ หน้า ๒๓๒)

ละครพันทาง เรื่อง พระลอ แสดงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริว่า หากลิ้นจี่ที่ทรงปลูกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๑ ออกผลวันใด จะหาละครหม่อมต่วนมาแสดงทำขวัญ  เผอิญปี ๒๔๕๑ นั้น ลิ้นจี่ออกลูกเต็มต้น จึงมีพระราชดำรัสให้หาละครหม่อมต่วน  หม่อมต่วนทูลขัดข้องเพราะเลิกละครไปแล้ว  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้หม่อมต่วนหัดละครขึ้นใหม่  และทำการแสดงเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ละครคณะนฤมิตรเป็นละครหลวง เรียกว่า “ละครหลวง นฤมิตร” ละครพันทาง เรื่อง พระลอ ตอนพระลอตามไก่ถึงสยุมพร (ที่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์-ผู้เขียน) จึงมีบทละคร เพลงร้อง เพลงดนตรี การฟ้อนรำ และเครื่องแต่งกาย ที่งดงาม ประณีต สมเป็นละครหลวง (สุรพล  วิรุฬห์รักษ์ : ๒๕๔๗ หน้า ๒๓๒)

บทต้นฉบับที่กล่าวถึงฝูงไก่และไก่แก้ว ใน ลิลิตพระลอ

ร่าย
ปู่กระสันถึงไก่ไพรพฤกษ์    ปู่รำลึกไก่ไก่ก็มา    บรู้กี่คณากี่หมู่    ปู่เลือกไก่ตัวงาม 
ทรงทรามวัยทรามแรง   สร้อยแสงแดงพพราย  ขนเขียวลายยยับ  ปีกสลับเบญจรงค์  เลื่อมลาย    หงส์สิบบาท  ขอบตาชาดพพริ้ง  สิงคลิ้งหงอนพรายพรรณ  ขันขานเสียงเอาใจ  เดือยงอนใส           สีระรอง  สองเท้าเทียมนพมาศ  เพียงฉลุชาดทารง  ปู่ก็ใช้ผีลงแก่ไก่  ไก่แก้วไซร้รับมิกลัว  ขุกผกหัวองอาจ  ผาดผันตีปีกป้อง  ร้องเรื่อยเฉื่อยฉาดฉาน  เสียงขันขานแจ้วแจ้ว  ปู่ก็สั่งแล้วทุกประการ       มินานผาดโผนผยอง  ลงโดยคลองบหึง  ครั้นถับถึงพระเลืองลอ  ยกคอขันขานร้อง  ตีปีกป้องผายผัน  ขันเอื้อยเจื้อยไจ้ไจ้  แล้วไซ้ปีกไซ้หาง  โฉมสำอางสำอาจ  ท้าวธผาดเห็นเป็นตระการ  ภูบาลบานหฤทัย......”    (ลิลิตพระลอ : ๒๕๕๔ หน้า ๘๕)

บทละคร ที่ปรับปรุงมาจากลิลิต
(พิมพ์เหมือนต้นฉบับ จากบทของอาจารย์ปัญญา  นิตยสุวรรณ   บทละครพันทาง เรื่อง พระลอ ตอน เล่ห์ปู่เจ้า  กรมศิลปากรจัดแสดง ณ สังคีตศาลา วันอาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๗ เวลา ๑๗.๐๐ น.)
-ร้องเกริ่นลาว-
          ปู่กระสันถึงไก่                       ในไพรพฤกษ์
(ไก่ออก)
ปู่รำลึกถึงไก่ไก่ก็มา                            บรู้กี่คณะกี่หมู่ 
ปู่เลือกไก่ตัวงาม                               ทรงทรามวัยทรามแรง  
-ร้องเพลงลาวจ้อย-
(๑)      สร้อยแสงแดงพระพราย            ขนเขียวลายระยับ 
ปีกสลับเบญจรงค์                             เลื่อมลายยงหงสบาท 
(๒)      ขอบตาชาดพระพริ้ง                 สิงคลิ้งหงอนพรายพรรณ 
ขันขานเสียงเอาใจ                            เดือยงอนใสสีลำยอง 
(๓)      สองเท้าเทียมนพมาศ                ปานฉลุชาดทารง 
ปู่ก็ใช้ให้ผีลง                                   ผีก็ลงแก่ไก่ 
(๔)      ไก่แก้วไซร้บ่มิกลัว                   ขุกผกหัวองอาจ 
ผาดผันตีปีกป้อง                              ร้องเรื่อยเฉื่อยฉาดฉาน 
(๕)      เสียงขันขานแจ้วแจ้ว                ปู่สั่งแล้วทุกประการ 
บ่มินานผาดโผนผยอง                         โลดลำพองคะนองบ่หึง 
(๖)      มุ่งถั่นถึงพระเรืองลอ                ยกคอขันขานร้อง 
ตีปีกป้องผายผัน                              ขันเรื่อยเจื้อยไจ้ไจ้ 
(๗)      แล้วไซ้ปีกไซ้หาง                     โฉมสำอางสำอาจ 
กรีดปีกวาดเวียดเย้า                          คอยล่อพระลอเจ้า
จักต้องดำเนิน                                 แลนา
-ปี่พาทย์ทำเพลงลาวจ้อย-
(ปู่เจ้าสั่งไก่แก้วแล้วเข้าโรง , ไก่แก้วเข้าโรง)

การแปลและวิเคราะห์
แปลและวิเคราะห์ร้องเกริ่นลาว

-ร้องเกริ่นลาว-
(๑)      ปู่กระสันถึงไก่                       ในไพรพฤกษ์
(ไก่ออก)
ปู่รำลึกถึงไก่ไก่ก็มา                            บรู้กี่คณะกี่หมู่ 
ปู่เลือกไก่ตัวงาม                               ทรงทรามวัยทรามแรง  

คำแปล
กระสัน            =   คะนึง, คิดผูกพันอยู่, มีใจจดจ่ออยู่
คณะ, คณา       =   หมู่, พวก
ทรง               =   รูปร่าง
ทรามวัย          =   หญิงสาววัยรุ่น
ทรามแรง         =   ไม่มีคำแปล
แปลความหมาย
ปู่เจ้าสมิงพราย  คิดคะนึงถึงไก่ในดงป่าทั้งหลาย ไก่ก็มารวมฝูงกันอยู่เป็นกลุ่มๆ เต็มไปหมด ปู่เจ้าได้เลือกไก่ตัวหนึ่ง ที่มีรูปร่างงาม เป็นไก่วัยรุ่นแข็งแรง
วิเคราะห์
·       คำว่า “ถึง” เพิ่มเติมเข้ามา ไม่มีในบทลิลิต 
·       คำว่า “คณะ” ในบทละคร น่าจะพิมพ์ผิด ที่ถูกต้องควรเป็น “คณา” เหมือนลิลิต

แปลและวิเคราะห์เพลงลาวจ้อย (๑)
 (๑)     สร้อยแสงแดงพระพราย            ขนเขียวลายระยับ 
ปีกสลับเบญจรงค์                             เลื่อมลายยงหงสบาท 
คำแปล
สร้อย             =   ขนคอสัตว์ เช่น สร้อยคอไก่
พราย (พพราย)  =   แวววาว  พรายแพรว
พระพราย        =   ไม่มีคำแปล
ระยับ             =   พรายแพรว วับวาบ
ยยับ (ยับๆ)       =   มีแสงแวบๆ ยิบๆ 
เบญจรงค์         =   แม่สีทั้งห้า คือ ดำ แดง ขาว เขียว เหลือง
ยง                =   อร่ามเรือง
หงสบาท          =   สีคล้ายเท้าหงส์ คือ สีแดงปนเหลือง สีแดงเรื่อ หรือ สีแสด
(หงส์สิบบาท     ไม่มีคำแปลในพจนานุกรม)

แปลความหมาย (๑)
ไก่แก้วที่ปู่เจ้าสมิงพรายเลือกนั้น   มีขนสร้อยคอสีแดงพรายแพรว ส่วนขนตามตัวนั้นเป็นสีเขียวสลับลวดลายงามระยับ  ส่วนปีกนั้นเป็นสีเบญจรงค์ คือ ดำ แดง ขาว เขียว เหลือง และมีสีแสดสอดสลับเป็นมันเลื่อม งดงามยิ่งนัก


วิเคราะห์
·       คำว่า “พระพราย” ไม่มีคำแปล ที่ถูกต้องน่าจะใช้คำว่า “พพราย” ตามต้นฉบับลิลิต ซึ่งเป็นคำประพันธ์ที่เล่นคำให้ไพเราะ เช่น  พพาย  พพริ้ง ยยับ รรัว ททึก ฯลฯ ส่วนคำว่า “พระพาย” ผิดถนัด เพราะแปลว่า ลม
·       คำว่า “ระยับ” ใช้แทน “ยยับ” ได้ความเหมือนกัน
แปลและวิเคราะห์เพลงลาวจ้อย (๒)
(๒)      ขอบตาชาดพระพริ้ง                 สิงคลิ้งหงอนพรายพรรณ 
ขันขานเสียงเอาใจ                            เดือยงอนใสสีลำยอง 

คำแปล
ชาด               =   สีแดงสด
พริ้ง (พพริ้ง)      =   งามงอน  สะสวยมาก
พระพริ้ง =   ไม่มีคำแปล
สิงคลิ้ง            =   งามอย่างสง่า
เอาใจ (ภาษาถิ่นเหนือว่า เอาจัย)   =   มุ่งให้ได้ชัยชนะฝ่ายตรงกันข้าม 
สีลำยอง          =   สีสวยงาม
สีระรอง          =   สีสุกใส   งาม

แปลความหมาย (๒)
ไก่แก้วตัวนี้มีขอบตาสีแดงสดสะสวยมาก หงอนก็ตั้งตรงงามอย่างสง่า  เสียงขันก็ห้าวหาญมุ่งชัยชนะถ้าเกิดการต่อสู้  เดือยมีลักษณะงอนใส สีสันสวยงาม
วิเคราะห์
·       คำว่า “พระพริ้ง” ไม่มีคำแปล ที่ถูกต้องควรใช้คำว่า “พพริ้ง” ตามต้นฉบับลิลิต
·       คำว่า “ขันขาน” บางครั้งก็ใช้ว่า “ขานขัน” ถ้าตรงกับลิลิตใช้ว่า “ขันขาน”
·       บางครั้งพบคำว่า “เดือยหงอนใส” ซึ่งผิด ต้องเป็น “เดือยงอนใส”
แปลและวิเคราะห์เพลงลาวจ้อย (๓)
(๓)      สองเท้าเทียมนพมาศ                ปานฉลุชาดทารง 
ปู่ก็ใช้ให้ผีลง                                   ผีก็ลงแก่ไก่ 

คำแปล
นพมาศ           =   ทองเนื้อเก้า ซึ่งคนไทยแต่โบราณนิยมว่าเป็นทองเนื้อบริสุทธิ์
รง                 =   ยางไม้มีสีเหลือง
ผีลง               =   ผีสิง
แปลความหมาย (๓)
สองเท้าของไก่แก้วนั้น มีสีสันสวยงามเทียบได้กับทองเนื้อเก้า เปรียบประดุจดังฉลุเป็นลวดลายแล้วทาด้วยสีแดงเหลืองของชาดและรง  เมื่อเลือกได้ไก่แก้วตัวงามนั้นแล้ว ปู่เจ้าก็มีคำสั่งด้วยเวทมนต์ ให้ภูติผีตนหนึ่งเข้าสิงในร่างของไก่แก้ว
วิเคราะห์
·       บทลิลิตว่า “เพียงฉลุชาดทารง” แต่ในบทระบำเปลี่ยนว่า “ปานฉลุชาดทารง”       แต่ก็ไม่ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปมากนัก
·       ในลิลิตต้นฉบับ มีเพียงว่า ปู่ก็ใช้ผีลงแก่ไก่  แต่เมื่อแปลงเป็นบทระบำ ให้ขยายเป็น ๒ วรรคว่า “ปู่ก็ใช้ให้ผีลง          ผีก็ลงแก่ไก่”  เพื่อให้ลงกับเพลงร้อง

แปลและวิเคราะห์เพลงลาวจ้อย (๔)

(๔)      ไก่แก้วไซร้บ่มิกลัว                   ขุกผกหัวองอาจ 
ผาดผันตีปีกป้อง                              ร้องเรื่อยเฉื่อยฉาดฉาน 
คำแปล
ขุก                          =   พลัน ทันทีทันใด
ผกผงก                      =   ผงกหัวขึ้นเหลียวดู
ผาดผัน หรือ ผันผาด      =   วิ่งหกหันไปมา
เฉื่อย                        =   ช้าๆ
ฉาดฉาน                    =   ชัดถ้อยชัดคำ

แปลความหมาย (๔)
ไก่แก้วที่มีผีสิงอยู่นั้น รับคำสั่งของปู่เจ้าสมิงพรายอย่างไม่เกรงกลัว ผงกหัวขึ้นเหลียวดูรอบด้านอย่างรวดเร็วทันใด ด้วยความห้าวหาญองอาจ แล้วตีปีกวิ่งหกหันไปมา พร้อมกับส่งเสียงร้องช้าๆ แต่แจ่มชัด


วิเคราะห์
·       บทลิลิตว่า “ไก่แก้วไซร้รับมิกลัว” แต่ในบทระบำเปลี่ยนเป็น “บ่มิกลัว” ความหมายจึงเปลี่ยนไปเล็กน้อย
·       คำว่า “ขุกผกหัว” มักพิมพ์หรือร้องผิดว่า “ผุกผกหัว” หรือ “ขุกขกหัว” ซึ่งทั้งสองคำไม่มีความหมายในพจนานุกรม
·       “ผาดผัน” มักพิมพ์หรือร้องว่า “ผานผัน” ซึ่งไม่มีความหมาย หรือ “ขานขัน” ซึ่งผิดความหมายเดิมไปไกล
แปลและวิเคราะห์เพลงลาวจ้อย (๕)

(๕)      เสียงขันขานแจ้วแจ้ว                ปู่สั่งแล้วทุกประการ 
บ่มินานผาดโผนผยอง                         โลดลำพองคะนองบ่หึง 
คำแปล
ผาดโผน =   เคลื่อนไหวไปมารวดเร็วว่องไวน่าหวาดเสียวต่ออันตราย
ผยอง             =   เผ่นโผน ลำพอง เย่อหยิ่ง ฮึกเหิม
คะนอง            =   แสดงอาการร่าเริง  คึก  ลำพอง
บ่หึง               =   ไม่นาน

แปลความหมาย (๕)
ไก่แก้วส่งเสียงขันเจื้อยแจ้ว ปู่เจ้าสมิงพรายก็สั่งให้ทำตามอุบายที่วางไว้ทุกประการ ไก่แก้วก็บินไปอย่างโลดลำพอง เพื่อให้ถึงตัวพระลอให้รวดเร็วที่สุด
วิเคราะห์
·       คำว่า “บ่หึง” เป็นภาษาโบราณ แปลว่า ไม่นาน ในที่นี้จึงควรแปลว่าใช้เวลารวดเร็วที่สุด หรือใช้เวลาสั้นที่สุด น้อยที่สุด
·       ในบทลิลิตต้นฉบับ เขียนว่า ลงโดยคลองบหึง  ครั้นถับถึงพระเลืองลอ  หมายถึง ไก่แก้วเร่งรีบไปในคลองอย่างรวดเร็ว ไม่นานนักก็ถึงที่พระลอเสด็จอยู่ แต่ในบทละครปรับให้ช้าลง เป็นเพียงว่ากำลังจะไปอย่างรวดเร็ว เพราะยังต้องร้องบทต่อไป
แปลและวิเคราะห์เพลงลาวจ้อย (๖)

(๖)      มุ่งถั่นถึงพระเรืองลอ                ยกคอขันขานร้อง 
ตีปีกป้องผายผัน                              ขันเรื่อยเจื้อยไจ้ไจ้ 
คำแปล
ถั่น                =  ไหล,  กระชั้น, เร็วๆ  พลันๆ  เป็นหลั่นๆ
ไจ้ไจ้ (กลอน)     =   เนืองๆ บ่อยๆ เป็นอยู่อย่างนั้น
แปลความหมาย (๖)
ไก่แก้ว มุ่งหมายที่จะไปให้ถึงตัวพระลอให้รวดเร็วที่สุด  แล้วก็ตีปีก โก่งคอขันติดๆ กัน บ่อยๆ ครั้ง
วิเคราะห์
·       บทลิลิตเดิมว่า  “ขันเอื้อยเจื้อยไจ้ไจ้” บทระบำเปลี่ยนว่า “ขันเรื่อย” 
แปลและวิเคราะห์เพลงลาวจ้อย (๗)

(๗)      แล้วไซ้ปีกไซ้หาง                     โฉมสำอางสำอาจ 
กรีดปีกวาดเวียดเย้า                          คอยล่อพระลอเจ้า
จักต้องดำเนิน                                 แลนา

คำแปล
สำอาง            =   สะอาดหมดจด
สำอาจ            =   ไม่มีคำแปล
วาด               =    การฟ้อนรำที่อ่อนช้อย
เวียด              =   ไม่มีคำแปล
เย้า               =   หยอก  สัพยอก
แปลความหมาย (๗)
ไก่แก้วไซ้ปีกไซ้หาง เพื่อให้ร่างกายสะอาดหมดจด แล้วกรีดปีกเหมือนกำลังฟ้อนรำอย่างอ่อนช้อย  เพื่อสัพยอกหยอกเล่นกับคนที่มาพบ โดยเฉพาะคอยหลอกล่อพระลอ ที่จะเดินทางผ่านมาในเส้นทางนี้
วิเคราะห์
·       บทลิลิตว่า “แล้วไซ้ปีกไซ้หาง  โฉมสำอางสำอาจ  ท้าวธผาดเห็นเป็นตระการ  ภูบาลบานหฤทัย......” หมายความว่า ในบทลิลิต พระลอพบไก่แก้วในทันที แต่ในบทละคร ให้ความหมายว่า ไก่แก้วกำลังคอยหลอกล่อพระลออยู่ พระลอยังไม่พบ ทั้งนี้ เป็นไปตามลีลาการแสดง

สรุปคำแปลบทระบำไก่ทั้งหมด
เกริ่นลาว
ปู่เจ้าสมิงพราย  คิดคะนึงถึงไก่ในดงป่าทั้งหลาย ไก่ก็มารวมฝูงกันอยู่เป็นกลุ่มๆ เต็มไปหมด ปู่เจ้าได้เลือกไก่ตัวหนึ่ง ที่มีรูปร่างงาม เป็นไก่วัยรุ่นแข็งแรง
เพลงลาวจ้อย
(๑)    ไก่แก้วที่ปู่เจ้าสมิงพรายเลือกนั้น   มีขนสร้อยคอสีแดงพรายแพรว ส่วนขนตามตัวนั้นเป็น สีเขียวสลับลวดลายงามระยับ  ส่วนปีกนั้นเป็นสีเบญจรงค์ คือ ดำ แดง ขาว เขียว เหลือง และมีสีแสดสอดสลับเป็นมันเลื่อม งดงามยิ่งนัก
(๒)    ไก่แก้วตัวนี้มีขอบตาสีแดงสดสะสวยมาก หงอนก็ตั้งตรงงามอย่างสง่า  เสียงขันก็   ห้าวหาญมุ่งชัยชนะถ้าเกิดการต่อสู้  เดือยมีลักษณะงอนใส สีสันสวยงาม
(๓)    สองเท้าของไก่แก้วนั้น มีสีสันสวยงามเทียบได้กับทองเนื้อเก้า เปรียบประดุจดังฉลุเป็นลวดลายแล้วทาด้วยสีแดงเหลืองของชาดและรง  เมื่อเลือกได้ไก่แก้วตัวงามนั้นแล้ว ปู่เจ้าก็มีคำสั่งด้วยเวทมนต์ ให้ภูติผีตนหนึ่งเข้าสิงในร่างของไก่แก้ว
(๔)    ไก่แก้วที่มีผีสิงอยู่นั้น รับคำสั่งของปู่เจ้าสมิงพรายอย่างไม่เกรงกลัว ผงกหัวขึ้นเหลียวดูรอบด้านอย่างรวดเร็วทันใด ด้วยความห้าวหาญองอาจ แล้วตีปีกวิ่งหกหันไปมา พร้อมกับส่งเสียงร้องช้าๆ แต่แจ่มชัด
(๕)    ไก่แก้วส่งเสียงขันเจื้อยแจ้ว ปู่เจ้าสมิงพรายก็สั่งให้ทำตามอุบายที่วางไว้ทุกประการ    ไก่แก้วก็บินไปอย่างโลดลำพอง เพื่อให้ถึงตัวพระลอให้รวดเร็วที่สุด
(๖)    ไก่แก้วมุ่งหมายที่จะไปให้ถึงตัวพระลอให้รวดเร็วที่สุด  แล้วก็ตีปีก โก่งคอขันติดๆ กัน บ่อยๆ ครั้ง
(๗)    ไก่แก้วไซ้ปีกไซ้หาง เพื่อให้ร่างกายสะอาดหมดจด แล้วกรีดปีกเหมือนกำลังฟ้อนรำอย่างอ่อนช้อย  เพื่อสัพยอกหยอกเล่นกับคนที่มาพบ โดยเฉพาะคอยหลอกล่อพระลอ ที่จะเดินทางผ่านมาในเส้นทางนี้
ส่งท้าย
การแปลและวิเคราะห์บทร้องปู่เจ้าเรียกไก่และระบำไก่นี้ เป็นความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัวล้วนๆ แล้วก็ทำให้เกิดความรู้ใหม่ขึ้นมาอย่างมากมาย  ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาได้ในขณะนี้ว่า บทโขน ละคร ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง หรือ บทอะไรก็ตาม ที่ครูบาอาจารย์สมัยโบราณท่านคิดท่านทำไว้ให้เรานั้น ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าทั้งสิ้น  แต่คุณค่านั้นจะอยู่ใน “ระดับ” ใน  ก็ขึ้นอยู่กับการ “ค้นพบ” ของบุคคลนั้นๆ  ไม่สามารถที่จะโอนย้ายถ่ายเทให้กันได้
การที่คุณครูอาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป ได้บรรจุเพลงโขน ละคร ระบำ รำ ฟ้อน ฯลฯ ลงไปในหลักสูตร เป็นเรื่องที่งดงาม วิจิตร มีคุณค่า ทั้งสิ้น  สมควรที่นักเรียนนักศึกษา จะศึกษา วิเคราะห์ อย่างลึกซึ้ง สมกับเป็นศิลปินทางด้านศิลปะ  ยิ่งเรียนสูงขึ้น ก็ยิ่งต้องศึกษาให้ลึกซึ้ง ให้สมกับคำว่า “บัณฑิตด้านศิลปะ” ซึ่งถึงแม้จะเป็นสาขาใด วิชาเอกใด ก็มีคุณค่าสร้างประโยชน์ให้กับชีวิตเราได้ทั้งสิ้น


เอกสารอ้างอิง

ปัญญา  นิตยสุวรรณ.  บทละครพันทาง เรื่อง พระลอ ตอน เล่ห์ปู่เจ้า.  กรมศิลปากรจัดแสดง
ณ สังคีตศาลา วันอาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๗ เวลา ๑๗.๐๐ น.
พัฒนี  พร้อมสมบัติ (บรรณาธิการ).  “ระบำไก” ใน วิพิธทัศนา พร้อมคำอธิบายชุดการแสดงและ
ภาพประกอบ.  สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์   พิมพ์ครั้งที่ ๑     กรุงเทพฯ : บริษัทเซเว่น
พริ้นติ้งกรุ๊ป, ๒๕๔๒ หน้า ๑๐๕
ราชบัณฑิตยสถาน.  พจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕.  กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์,
๒๕๓๐.
วรพล  สุทธินันท์ (บรรณาธิการ).  ลิลิตพระลอ ฉบับถอความและอธิบายศัพท์.  กรุงเทพฯ :
บันทึกสยาม, ๒๕๔๔.
สุมิตร  เทพวงษ์. “ประวัติระบำไก่” ใน สารานุกรม ระบำ รำ ฟ้อน .  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์
ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า ๑๙
สุรพล  วิรุฬห์รักษ์.  วิวัฒนาการนาฏยศิลป์ไทยในกรุงรัตนโกสินทร์.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  ๒๕๔๗.


1 ความคิดเห็น:

  1. ๑. ทราม ในทางดีหมายถึงกำลังดี กำลังพอเหมาะ ใช้ประกอบหน้าคำ เช่น
    ทรามเชย อยู่ในระยะที่น่าชมน่าเชย, ทรามวัย วัยกำลังดี ถ้าหญิงก็สาวเต็มตัว, ทรามแรง มีแรงกำลังดี ถ้าชายก็วัยฉกรรจ์
    ๒. พระพราย ควรเป็น พะพราย กร่อนเสียงมาจาก พราย ๆ
    ๓. หงสิบบาท หงเป็นชื่อเรียกกลุ่มสี เช่น หงมอ หงสิบบาท อาจพบเขียนต่าง ๆ กัน เช่น หงษสิบบาท หงษ์สิบบาท หงสิบบาท สีชมพูอมแสดอย่างสีที่บนหัวมะพร้าวไฟ (มะพร้าวไฟไทย ผลสีเขียว)หรือสีหน้าโขนตัวหนึ่งลืมชื่อไปแล้ว ในเรื่องพระลอใช้เป็นหงสบาทหมายถึงสีดังสีตีนหงส์

    ตอบลบ