วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

ฟ้อนเจิง (๑) โดยสมภพ เพ็ญจันทร์


บทความวิชาการ
โดย อาจารย์สมภพ  เพ็ญจันทร์
ครู (ชำนาญการพิเศษ) วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
๔  กรกฎาคม  ๒๕๕๓

ฟ้อนเจิง : ศิลปะที่มีความหมายของล้านนา

บทความนี้ ผมเขียนขึ้นด้วยความอยากเรียนรู้เรื่อง “ฟ้อนเจิง” ด้วยตนเองเป็นคนเชียงใหม่ แต่มีความรู้เรื่องฟ้อนเจิงน้อยมาก แล้วก็มีความรู้สึกแปลกๆ เวลาเห็นเขาฟ้อนเจิง เพราะเห็นเขาฟ้อนไม่เหมือนกันซักคน     แต่ละคนฟ้อนแต่ละครั้งก็แตกต่างไปเล็กๆ น้อยๆ  จึงอยากรู้ว่า     “ฟ้อนเจิง” นี้มีกี่สำนัก กี่หมู่บ้าน กี่ตำบล กี่แบบ กี่ครู กันแน่  ก็หาอ่านจากหนังสือที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “ฟ้อนเจิง” ได้ความรู้มาบ้างเล็กน้อย
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ ผมได้มีโอกาสพาลูกศิษย์ ชื่อ ปรเมษฐ์  มณีรัตน์ (ฟลุ้ค) จาก วนศ.สุโขทัย แต่ไปเรียนปริญญาตรี เอกด้านศิลปินโขนยักษ์  ไปพาพ่อครูคำ  กาไวย์  ที่บ้านแพะขวาง บ้านของพ่อครู  เพราะปรเมษฐ์และเพื่อนๆ จะทำศิลปนิพนธ์ผลงานสร้างสรรค์  เรื่อง มวยเจิง  หรือ เชิงมวย  หรือ อะไรประมาณนี้แหละครับ  นักศึกษาก็อยากรู้ท่า “ฟ้อนเจิง” แบบพ่อครูคำ  กาไวย์  พ่อครูก็เป็นผู้ใหญ่ใจดี (มากๆ) เมตตาสอนและถ่ายทอดให้ปรเมษฐ์  รวมทั้งถ่ายวีซีดี  ถ่ายภาพนิ่งด้วย  ผมก็ถามซอกแซกๆ  เรื่องท่าฟ้อนเจิง  ได้ความรู้มาบ้าง จึงอยากเขียนบันทึกไว้กันลืม และเป็นต้นธารที่จะสืบค้นเรื่อง “ฟ้อนเจิง” อย่างละเอียดต่อไป
ฟ้อนเจิง       เป็นนาฏกรรมที่สะท้อนรูปแบบศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนไทยทางภาค เหนือที่นำเอาเรื่องราวของศิลปะป้องกันตัว  ซึ่งเมื่อครั้งอดีต ผู้ชายชาวล้านนามักจะมีการแสวงหาเรียนรู้ “เจิง” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันภัยให้กับตัวเอง  ด้วยรูปแบบและลีลาท่าทางในการแสดงออกที่มีทั้งความเข้มแข็ง สง่างาม ที่ซ่อนเร้นชั้นเชิงอันเป็นแม่ไม้เฉพาะตน  ซึ่งสลับท่าทาง  ไปมา  ยากในการที่จะทำความเข้าใจ 
ฟ้อนเจิงเป็นศิลปะการฟ้อนที่แสดงให้เห็นถึงชั้นเชิง ลีลาการต่อสู้ อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไทย มีการต่อสู้ทั้งรุกและรับ  หลอกล้อกันอย่างสนุกสนาน  ประลองไหวพริบปฏิภาณกัน  เอาชนะกันอย่างมีชั้นเชิง  ให้เกียรติซึ่งกันและกัน  ไม่ข่มเหงเอาเปรียบกัน
ฟ้อนเจิง  แบ่งออกได้เป็น  ๒  ประเภทใหญ่ๆ (สนั่น  ธรรมธิ, ๒๕๓๗) คือ
ก.      ฟ้อนเจิงมือเปล่า
ข.      ฟ้อนเจิงที่ใช้อาวุธ เช่น เจิงหอก เจิงดาบ เจิงไม้ค้อน เป็นต้น

แต่เดิมเราสามารถพบเห็นการฟ้อนเจิงในงานประเพณีต่างๆ ของภาคเหนือ ซึ่งบรรดาผู้ฟ้อน (ชาย) ได้เดินทางมาพบปะกันในงานทำบุญ  ก็จะฟ้อนกันตามจังหวะกลองที่มีอยู่  หรือสามารถหาได้ในพื้นที่ เช่น กลองแซะ กลองปู่เจ่  กลองไชยมงคล  กลองสิ้งหม้อง  กลองก้นยาว  เป็นต้น พ่อครูคำ  กาไวย์ บอกกับผู้เขียน (สัมภาษณ์ ๑๑ ตค ๕๒) ว่า  “ฟ้อนเจิง” มักจะฟ้อนในงาน “บวชลูกแก้ว” (บวชเณรน้อย) เป็นส่วนใหญ่ เพราะงานบวชลูกแก้ว มีแต่คนคุ้นเคยรู้จักกัน ชวนกันฟ้อนเจิงด้วยความสนุกสนาน (ฟ้อนเอาม่วน!)  รับรองไม่มีเรื่องหมางใจกัน เพราะเป็นญาติๆ ของลูกแก้ว (เณรน้อย) ทั้งนั้น  แต่งานอื่นๆ เช่น งานปอยหลวง  ฯลฯ ไม่ฟ้อนเจิงกัน เพราะต่างคนต่างมาจากหลายหมู่บ้าน ไม่รู้จักคุ้นเคยกัน ถ้าสะกิดกันออกมาฟ้อนเจิง คงจะต้องมีการชกกันหัวร้างข้างแตกกันบ้าง เพราะ “อวดเชิงกัน” หรือ “ข่มเชิงกัน”  น่าหมั่นไส้  ดังนั้น ฟ้อนเจิง  จึงมักฟ้อนในหมู่คนสนิทๆ และรู้จักกันเท่านั้น   
การฟ้อนเจิงมือเปล่า ผู้ฟ้อนจะเคลื่อนไหว ยกย้าย อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไปตามท่วงทำนองเพลงของกลอง  โดยแม่ท่าและลวดลายต่างๆ มาจากศิลปะการต่อสู้ เจิงดาบ เจิงหอก ฯลฯ ท่าร่ายรำจะถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษและครูผู้สอนที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ความคิดและประสบการณ์ของครูแต่ละสำนัก
กระบวนการต่อท่าฟ้อนเจิงนี่ก็สำคัญนัก พ่อครูคำ  กาไวย์ (สัมภาษณ์ ๑๑ ตค ๕๒) เล่าว่า  ไม่ได้ต่อท่าให้ใครต่อใครได้ง่ายๆ  กว่าจะได้ท่าฟ้อนเจิง พ่อครูต้องไปขอคนนั้น ขอคนนี้ แต่ก็ไม่ได้ต่อ เพราะไม่สนิทกัน คนเฒ่าคนแก่เขาไม่ต่อเขาไม่สอนให้  ที่ได้มาก็ได้มาจากพ่อครูที่สนิทชิดเชื้อกัน  ต้องไปบีบไปนวด ใช้กลอุบายหลอกล่อถามสารพัด จนครูรำคาญ เผลอปากบอกออกมา หรือลุกขึ้นทำท่าให้ดู  เมื่อพูดจี้ใจดำว่า คนนั้นก็ฟ้อนงาม  บ้านโน้นก็ฟ้อนงาม  พ่อครูของครูคำ บอกว่า “กูก็ฟ้อนได้” แล้วก็ลุกขึ้นฟ้อน ไม่บีบไม่นวดแล้ว พ่อครูจึงได้ต่อท่าฟ้อนเจิง
ทีนี้ กระบวนการต่อท่าฟ้อนเจิงนะครับ กระบวนท่าสำคัญสุดยอด คือ “เจิงป้อด” (ออกเสียง “ป้อด” เหมือน “ลอด” นะครับ)  ครูจะไม่ต่อให้ใครง่ายๆ  ถ้าศิษย์มีซัก ๑๐ คน ๑๒ คน ครูจะต่อให้อย่างเก่ง ๑ คน พ่อครูคำเล่าว่า ครูโบราณเขาฉลาด เขาจะดูนิสัยคนก็พาไปในป่าที่มันรกๆ  ให้ถือมีดพร้าคมๆ คนละเล่ม  คนที่ใจร้อนเดินไป หิวไป ร้อนก็ร้อน รกก็รก  เมื่อเดินไม่สะดวก ก็เอามีดพร้าฟันเถาวัลย์ ฟันกิ่งไม้ ฉับๆๆๆๆ เพื่อให้ตนเองเดินได้สะดวก  แต่ศิษย์ที่ใจเย็น สุขุม เดินไปก็หลบหลีก มุด ลอดใต้เถาวัลย์ไป ไม่ได้ฟันใบไม้กิ่งไม้ซักฉึก  เพราะมีจิตใจดี  ครูเห็นก็วิเคราะห์นิสัยลูกศิษย์  ว่าไอ้คนหลังเป็นคนใจเย็น ก็จะต่อ “เจิงป้อด” ให้ เพราะเจิงป้อด เป็นเจิงอันตราย สามารถฆ่าคนได้ด้วยมือเปล่า พ่อครูคำสาธิตเจิงป้อดให้ผมดู  เป็นเจิงที่อันตรายจริงๆ เอานิ้วจิ้มลูกกระเดือก รับรองถ้าจิ้มจริงทะลุได้เลย หรือจิ้มตา ตาบอดทะลักถลนแน่ๆ  ดูไปเหมือนมวยจีนหรือหนังจีนวัดเส้าหลินที่เราดูนั่นแหละครับ  อันตรายสุดๆ  นี่เขาเรียกว่า “เจิงป้อด” สามารถฆ่าคนได้  ครูจึงไม่ถ่ายทอดให้ศิษย์ง่ายๆ โดยเฉพาะศิษย์ขี้โมโห ใจร้อน พ่อครูบอกว่า ครูเขากลัวว่า ศิษย์จะคิดมาล้างครู หรือคิดฆ่าครูทีหลังครับ       

กระบวนท่า “ฟ้อนเจิง”
ก. กระบวนท่าฟ้อนเจิง (มือเปล่า) ของพ่อครูคำ  กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ
ใช้แสดงรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๒ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา  ผมทำคำแปลเป็นภาษาไทยกลางไว้  อาจจะความหมายผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ก็เป็นไปในทำนองนี้ หรือแนวทางนี้ ถ้าปรับอีก ๒-๓ ครั้ง หรือสัมภาษณ์พ่อครูคำ กาไวย์ อย่างจริงๆ จังๆ สัก ๒-๓ ครั้ง ก็น่าจะได้ความหมายที่ถูกต้องใกล้เคียง โดยอาจจะต้องศึกษาเอกสารอื่นๆ เช่น พจนานุกรมล้านนา มาเทียบเคียงด้วย
ท่าที่ ๑                   ตบขนาบ (ขะ-หนาบ)        เกี้ยวเกล้าลายทาง
(ตบขนาบ คล้ายกับ ตบมะผาบ แต่ตีมือไปที่หน้าอก แขน ข้อศอกส่วนคำว่า “ลายทาง” = เดินไปตามทาง, เส้นทาง, ถนนหนทาง)
ท่าที่ ๒                   เสือลากหาง  เหลียวเหล่า
(เหล่า = ป่าละเมาะ  ป่าที่ไม่รกทึบนัก ป่าที่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน) 
ท่าที่ ๓                   แม่ฮ้อยคำ  เล่าตี๋ไป
(แม่ฮ้อยคำ =  ท่าที่อันตราย ถ้าไม่ให้เงิน (คำ) ๑ พวง ครูจะไม่ต่อท่าฟ้อนนี้ให้  ส่วนคำว่า “เล่า” มาจาก “เล่าลือ” และคำว่า  ตี๋ แปลว่า ตี)
ท่าที่ ๔                   แม่หมอบไหว  หลบหลีก
(หมอบลงไป แล้วทำท่าเหมือนหลบหลีกคู่ต่อสู้) 
ท่าที่ ๕                   ก๋าตากปีก  บินบน
(ก๋าตากปีก คือ กาตากปีก   บินอยู่บนท้องฟ้า) 
ท่าที่ ๖                    บ่าผาบมน  ลายถี่
(บ่าผาบ = ตบมะผาบ  , มน = หมุนไปรอบตัว  ถี่ = กระชั้นชิดกัน ตบติดต่อกันไปถี่ๆ เร็วๆ) 
ท่าที่ ๗                   จ๊องนางกี้  เวียนวน
(จ๊อง = ช้องผม   นาง = ผู้หญิง  กี้ = คลี่ผม  ม้วนผมหมุนวนไป) 
ท่าที่ ๘                   เสือหมอบยน  ใส่เญื่อ
(ยน = กระโจน  เญื่อ = เหยื่อ) 




ท่าที่ ๙                    บ่ก่ำเครือ   ยุ่มผุก
(บ่ก่ำ = มะกล่ำ ลูกแดงๆ จุดดำ ,  ยุ่ม = กอบ, โกย , ผุก ผ็อก =      ปาใส่ โยนใส่  แปลทั้งหมดว่า กอบหรือโกยลูกมะกล่ำเครือ แล้วปาใส่คู่ต่อสู้ เหมือนโกยฝุ่นขว้างใส่ตาคู่ต่อสู้ )
ท่าที่ ๑๐                 บ่าผาบตุ๊บ    เหลียวหลัง
(บ่าผาบ = ตบมะผาบ, ตุ๊บ = ทุบ   ท่านี้เอามือทั้งสองตบมะผาบที่กลางหลัง (หัวไหล่) แล้วเอี้ยวตัวเหลียวมอง ) 
ท่าที่ ๑๑                 เกิ้ดเกิ้งกั๋น    ฟ้าผ่า
(เกิ้ดเกิ้ง = ป้องกัน,  กั๋น = กัน   ท่านี้เอามือทั้งสองไขว้กั้นศีรษะตนเอง  เหมือนกลัวฟ้าผ่า) 
ท่าที่ ๑๒                วิ้ดวิ่งล่า  เลยไป
(วิ้ด = กระโดดข้าม ,  ท่านี้ต่อจากท่า ๑๑ เกิ้ดเกิ้งกั๋น  ฟ้าผ่า  โดยเดินหมุนเป็นวงกลมทวนเข็มนาฬิกา) 
 (ท่าก่อนจับดาบ)
(ก)          สาวไหมลายงาม   ซึบซาบ
(เป็นกระบวนท่าสาวไหมแบบครูคำ  กาไวย์ มีความสวยงามยิ่ง) 
(ข)          ตบบ่าผาบ จ๊างต้อดงวง
 (จ๊างต๊อดงวง = ช้างทอดงวง   เป็นลีลาตบมะผาบแบบหนึ่ง) 

ตบมะผาบแล้ว ก็เดินเกี้ยวเกล้าวนทางซ้าย (ทวนเข็มนาฬิกา) แล้วมาจับดาบ


ข. กระบวนท่าฟ้อนเจิง (มือเปล่า) ของพ่อครูมานพ  ยารณะศิลปินแห่งชาติ
     กระบวนท่าที่พ่อครูมานพ  ยารณะศิลปินแห่งชาติ ที่ได้ร้อยเรียงใหม่ เป็นชุด “ฟ้อนเจิง” (มือเปล่า) ของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ (ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน) มีดังต่อไปนี้
ท่าที่ ๑                    ท่าสางหลวง
ท่าที่ ๒                   ท่าแม่ธรณีรีดผม
ท่าที่ ๓                   ท่าหลดศอก 
ท่าที่ ๔                   ท่าเกี้ยวเกล้า
ท่าที่ ๕                   ท่าแทงวัน  
ท่าที่ ๖                    ท่าตบมะผาบ
ท่าที่ ๗                   ท่าปรมะ
ท่าที่ ๘                   ท่าสางหลวงนั่ง
ท่าที่ ๙                    ท่าเขยาะก๋า ออกวงเกวี๋ยน
ท่าที่ ๑๐                 ท่าบิดบัวบาน
หมายเหตุ              มีท่าที่เป็นท่าเชื่อมของแต่ละท่า เรียกว่า “ท่าติดกะ” และ  “ท่าฟ้อนยุ่ม”
กระบวนท่าฟ้อนเจิงของพ่อครูมานพนี้ กระผมผู้เขียน ยังมีความเข้าใจน้อยมาก    เพราะยังไม่มีโอกาสสอบถามจากปากพ่อครูโดยตรง แต่วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ได้จัดทำเอกสาร เรื่อง “ฟ้อนเจิง” ขึ้นมาเล่มหนึ่ง ถ้ามีโอกาสผมจะนำมาเขียนเผยแพร่ครับ



เอกสารอ้างอิง

นาฏศิลปเชียงใหม่,วิทยาลัย.  ฟ้อนเจิง.  เอกสารประกอบการนำเสนอผลงานทางวิชาการ
ในงานนิทรรศการและการแสดงศิลปวัฒนธรรมของสถานศึกษา ในสังกัดกรมศิลปากร ประจำปี ๒๕๔๔
ปาริชาติ  สุริยวงศ์.  ศิลปะการใช้อาวุธของชาวล้านนาไทย.  วิทยานิพนธ์ศิลปะ คณะนาฏศิลป์
และดุริยางค์  วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา  ประจำปี ๒๕๒๔.
สนั่น  ธรรมธิ. นาฏดุริยการล้านนา.  หนังสือชุดล้านนาคดี สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่     เชียงใหม่ : สุเทพการพิมพ์, ๒๕๕๐.
สนั่น  ธรรมธิ (บรรณาธิการ). ฟ้อนเชิง : อิทธิพลที่มีต่อฟ้อนล้านนา. เอกสารวิชาการชุด
ล้านนาคดีศึกษา  โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๓๗.


3 ความคิดเห็น:

  1. ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณ ท่านผู้รู้ ทรงคุณวุฒิที่เมตตาให้วิทยาทาน ที่สำคัญยิ่งคือ สายใจผูกพันวัฒนธรรมภูมิปัญญาไทยอย่างเหนียวแน่น...ขอจงรักษาพัฒนาให้สมบูรณ์เพื่อ
    เป็นมรรคผล อันยั่งยืนถาวร..สืบไป

    ตอบลบ
  2. ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณ ท่านผู้รู้ ทรงคุณวุฒิที่เมตตาให้วิทยาทาน ที่สำคัญยิ่งคือ สายใจผูกพันวัฒนธรรมภูมิปัญญาไทยอย่างเหนียวแน่น...ขอจงรักษาพัฒนาให้สมบูรณ์เพื่อ
    เป็นมรรคผล อันยั่งยืนถาวร..สืบไป

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณคะ ครูคะ กำลังหาข้อมูลเลยคะ

    ตอบลบ