วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564

เรื่องย่อ เต่าน้อยอองคำหรือนางอุทธะรา (ในหนังสือนิทานเพื่อการเรียนรู้ภาษาล้านนา)

 

เรื่องย่อ เต่าน้อยอองคำหรือนางอุทธะรา (ในหนังสือนิทานเพื่อการเรียนรู้ภาษาล้านนา)

เนื้อหาโดย ณัฐพงษ์ ปัญจุรี  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

          เมืองพาราณสี มีชายเศรษฐีคนหนึ่งชื่อภัททิยะ เขามีเมียสองคน มีเมียหลวงชื่ออุชุจิตตา เมียน้อยชื่อมิจฉารี  เมียหลวงมีลูกสาวชื่อ อุทธรา ส่วนเมียน้อยมีลูกสาวชื่อ สามารี ชายเศรษฐีนั้นรักแต่เมียน้อย แต่เมียน้อยเป็นผีกระสือ

 

วันหนึ่งเศรษฐีพาเมียทั้งสอง ไปลงเรือทอดแห ให้เมียน้อยนั่งหัวเรือ ส่วนเมียหลวงนั่งท้ายเรือ เมื่อเมื่อได้ปลาก็แบ่งให้เมียหลวงบ้าง เมียน้อยบ้าง

 

นางมิจฉารีแอบกินปลาสด แล้วนางก็ทำอุบาย สลับที่นั่งกับนางอุชุจิตตา เมื่อเศรษฐีขอดูปลาในข้องของเมียหลวง ก็มีปลาน้อย เพราะนางมิจฉารีแอบกินไปจำนวนมาก มิหนำซ้ำนางยังให้ร้ายนางอุชุจิตตาว่าเป็นกระสือ ลักกินปลาในข้อง เศรษฐีโมโห ใช้ไม้ตีเมียหลวง จนนางตกน้ำตาย ด้วยความเป็นห่วงลูกสาว นางอุชุจิตตาจึงไปเกิดเป็นเต่า ซึ่งมีกระดองเป็นสีเหลืองดุจทองคำ

 

นางอุทธรา รู้ว่ามีของตนตายไปเกิดเป็นเต่า เพราะหมาที่นางเลี้ยงไว้มาบอกให้รู้ เมื่อนางอุทธราไปเลี้ยงวัวที่ทุ่งนา นางก็จะไปหาแม่เต่าเสมอ แม่เต่าก็จะขึ้นมาจากแม่น้ำ แล้วกลายร่างเป็นคน

 

ฝ่ายนางมิจฉารีเกิดความสงสัย และรู้ว่านางอุชุจิตตาเกิดเป็นเต่า นางมิจฉารีแกล้งป่วย อยากกินเต่ากระดองทอง เศรษฐีจึงให้คนไปหามา แต่ไม่พบ พวกเขาจึงบังคับฟาดตีนางอุทธรา ให้เรียกแม่เต่าขึ้นมาจากน้ำ แม่เต่าสงสารลูกสาวจึงขึ้นมาจากน้ำ แล้วยอมถูกจับ

 

นางมิจฉารีต้มน้ำจนเดือด แล้วบังคับให้นางอุทธราจับแม่เต่าจุ่มลงในหม้อน้ำร้อน นางอุทธราต้องจำใจทำตามคำสั่งของนางมิจฉารี ด้วยน้ำตานองหน้า ก่อนที่แม่เต่าจะตาย ก็ได้บอกแก่ลูกให้เอากระดองของนางห่อผ้าขาว ๗ ชั้น แล้วนำเอาไปฝังใกล้ถนนใหญ่ นางอุทธราก็ปฏิบัติตามคำบอกของแม่ตน

 

กระดองของแม่เต่ากลายเป็นต้นโพธิ์ สร้างความร่มเย็นเป็นที่พึ่งของคนที่สัญจรไปมา ได้อาศัยร่มเงาคลายร้อน ข่าวเล่าลือไปถึงพระญาพาราณสี ว่ามีต้นโพธิ์ใหญ่ที่เวลาลมพัดแล้วมีเสียงไพเราะมากคล้ายกับเสียงดนตรี

 

พระญาพาราณสี จึงให้คนในเมืองช่วยกันขุด แต่ก็ขุดไม่ได้  เกณฑ์คนมาหมดเมืองก็ยังไม่สำเร็จ เหลือแต่นางอุทธราที่ไม่ได้มาช่วย พระญาพาราณสีจึงรับสั่งให้นางอุทธรามาช่วยขุด นางอธิษฐานขอให้ต้นโพธิ์นี้ จงถอนขึ้นโดยง่าย ต้นโพธิ์นั้นก็ถอนได้ พระญาพาราณสีจึงรับนางอุทธราไปเป็นมเหสี พร้อมกับนำต้นโพธิ์ไปปลูกไว้ในวังด้วย

 

นางอุทธราครองรักอยู่กัลพระญาพาราณสีจนมีโอรสธิดา นางอุทธรานั้นมีความสามารถด้านการทอผ้า ถึงแม้ไปอยู่ในวัง นางก็ยังคงทอผ้าอยู่

 

นางมิจฉารีและนางสามารี ทั้ง ๒ แม่ลูกอิจฉานางอุทธรา จึงโกหกว่าเศรษฐีป่วยหนักใกล้ตาย ขอร้องให้นางอุทธรามาดูใจ นางอุทธราไม่รู้ทันเล่ห์เหลี่ยม จึงเดินทางมาหาพ่อ

 

เมื่อขบวนถึงบ้าน นางมิจฉารีขอให้คนที่ติดตามนางอุทธรารอคอยอยู่ข้างล่าง แล้วพานางอุทธราขึ้นไปบนบ้าน นางมิจฉารีทำอุบายขอให้นางอุทธราเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเสียก่อน เพราะเกรงว่าเศรษฐีจะจำไม่ได้ แล้วนางมิจฉารีก็ผลักนางอุทธราตกลงหม้อน้ำร้อน ถึงแก่ความตาย

 

จากนั้นนางสามารีได้ปลอมตัวเป็นนางอุทธรา โดยการสวมใส่เครื่องแต่งตัวของนางอุทธรา นางสามารีมีกิริยาที่ต่างจากนางอุทธรา ผู้คนทั้งหลายที่ติดตามขบวนก็สงสัย เมื่อกลับไปในวัง ทั้งพระญาพาราณสี โอรส ดา ก็สงสัยว่าจะไม่ใช่นางอุทธรา พระญาพาราณสีจึงให้นางสามารีทอผ้าต่อจากที่นางอุทธราทอค้างไว้ นางสามารีทอผ้าไม่เป็น จึงทำให้เส้นด้ายขาดหมด

 

พระญาพาราณสีจึงรู้ว่าไม่ใช่นางอุทธราตัวจริง จึงให้ประหารชีวิตนางสามารี แล้วเอาเนื้อมาทำแหนม เอาหัวกะโหลก มือ เท้า ใส่ไว้ก้นไห ส่งไปบ้านเศรษฐี

 

สองผัวเมียดีใจคิดว่าลูกสาวส่งของมาให้เป็นของกำนัล ก็กินแหนนั้น จนในที่สุดก็รู้ว่าเป็นแหนมที่ทำมาจากเนื้อของลูกตนเอง ทั้งเศรษฐีภัททิยะและนางมิจฉารี ตกใจและเสียใจแทบสิ้นชีวิต จึงวิ่งลงจากบ้าน พอเท้าเหยียบพื้นดิน ธรณีก็สูบคนทั้งสองลงนรกหมกไหม้

 

ฝ่ายนางอุทธรานั้น ได้ไปเกิดใหม่เป็นลูกมะตูมสีทอง ซึ่งอยู่ในสวนของสองตายาย ทั้งสองได้สอยเอาผลมะตูมสีทองนั้น ไปเก็บไว้บนหิ้งในกระท่อม

 

เวลาตายายออกไปทำไร่ นางอุทธราก็จะออกมาจากผลมะตูม แล้วช่วยตักน้ำ ตำข้าว หุงหาอาหารไว้ให้สองตายาย สองตายายสงสัยจึงแอบดู ก็รู้ความจริง จึงรับเลี้ยงนางอุทธราไว้

 

 

วันหนึ่งตายายเก็บดอกไม้จะนำไปขาย นางอุทธราจึงร้อยเป็นมาลัยให้ พวกนางสนมกำนัลได้มาซื้อมาลัยไปถวายพระญาพาราณสี พระญาพาราณสีเห็น ก็จำได้ว่าเป็นฝีมือนางอุทธรา จึงได้มายังกระท่อมของสองตายาย และได้พบกับนางอุทธรา พระญาพาราณสีปิติยิ่งนัก พระองค์รับนางอุทธราเข้าไปอยู่ในวังดังเดิม ทั้งอุปการะสองตายาย นางอุทธราจึงได้อยู่กับพระญาพาราณสีและโอรสธิดา อย่างมีความสุขสืบมา

 

จบเรื่องย่อ

 

 

 

อ้างอิง

 

ณัฐพงษ์  ปัญจบุรี. นิทานเพื่อการเรียนรู้ภาษาล้านนา เรื่อง เต่าน้อยอองคำ. โครงการจัดทำ

หนังสือการ์ตูนภาษาล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,

เชียงใหม่ : สุเทพการพิมพ์, 2557.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น