วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

รำลาวกระทบไม้ กรมศิลปากร

 

รำลาวกระทบไม้ กรมศิลปากร

 ประวัติความเป็นมา

“รำกระทบไม้” เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวสุรินทร์ (น่าจะเป็นชาวเขมร) เดิมเรียกว่า “เต้นสาก” (“เรือมอันเร” หรือ “ลูดอันเร” เป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่งในหมู่ชาวไทยเชื้อสายเขมร ในบริเวณอีสานใต้ เดิมนั้นนิยมเรียกว่า “ลูดอันเร” ซึ่ง คำว่า “ลูด” หมายถึง การเต้น หรือกระโดด ส่วนคำว่า “อันเร” หมายถึง “สาก” ซึ่งก็คือ สากตำข้าว นั่นเอง ลูดอันเร จึงหมายถึง การเต้นสาก หรือระบำสาก ในภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการละเล่น และเรียกว่า “เรือมอันเร” โดยคำว่า เรือม หมายถึง การรำ ดังนั้น เรือมอันเร จึงหมายถึง รำสาก มีนัยบ่งบอกถึงความอ่อนโอนและนุ่มนวลกว่าเดิม) ซึ่งการ “เต้นสาก” นี้ เป็นการละเล่นที่สอดคล้องกับอาชีพทำนาผลิตข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักและเป็นสินค้าออกที่สำคัญของไทย ชีวิตประจำวันของชาวไทย-เขมร จึงคลุกคลีอยู่กับการทำนา เริ่มตั้งแต่การไถ การหว่าน ดำนา เกี่ยวข้าว ตำข้าว ฝัดข้าว ฯลฯ ด้วยนิสัยรักสนุกนี้เอง หลังว่างเว้นจากการทำนา คนไทย-เขมร จึงนำสากตำข้าวมากระทบกันเป็นจังหวะ พร้อมกับมีการละเล่นให้เข้ากัน ภายหลังกรมศิลปากรได้ศึกษาการละเล่นชนิดนี้และนำมาปรับปรุงจัดระเบียบแบบแผนอย่างค่อนข้างตายตัว

รำลาวกระทบไม้” ได้นำออกแสดงเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2500 เนื่องในงานแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างไทยกับราชอาณาจักรลาว ในการปรับปรุงครั้งนั้น เนื่องจากบทร้องของเก่าไม่เหมาะสมที่จะรำได้สวยงาม กรมศิลปากรจึงได้ขอให้อาจารย์มนตรี ตราโมท แต่งบทร้อง และท่านผู้หญิงหม่อมแผ้ว สนิทวงศ์เสนีย์ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่ (๒๕๔๓ หน้า ๑๑๖)

การกระทบไม้ แต่เดิมวางไม้สากตามความยาว 2 อัน ใช้ไม้หมอนรองหัวและท้ายไม้ทั้ง 2 ด้าน ปลายสากจะมีคน 2 คน จับปลายเพื่อกระทบกัน ภายหลังกรมศิลปากรปรับปรุงและจัดลำดับท่ารำให้เป็นระเบียบขึ้น แต่ยังคงรักษาเค้าแบบแผนเดิม โดยปรับปรุงเป็นไม้ไผ่ 2 ลำ ขนาดเท่ากันยาวประมาณ 2-4 เมตร และใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นหมอนวางรองทั้งสองปลาย ผู้กระทบนั่งกับพื้นจับปลายทั้งสองคนเพื่อจะได้ตีกระทบกัน

การละเล่นกระทบไม้ มีการเล่นแพร่หลายอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจาก“เรือมอันเร” ของชาวเขมรแล้ว ยังมีแสกเต้นสาก” ของชาวแสก (ชนชาติหนึ่งในกลุ่มภาษาตระกูลไท-ลาว), การเล่น ม้าจกคอก” ของชาวไทใหญ่, การเล่น “ตินิคลิ่ง” (Tinikling) หรือ “แบมบูแดนซ์” (Bamboo Dance) ของชาวฟิลิปปินส์ รวมทั้ง “ติฮัว” หรือ “จิ-กลี” หรือ “กะเหรี่ยงกระทบไม้” ของชาวกะเหรี่ยง

 

การแต่งกาย

          ชาย นุ่งกางเกงหลากสี ขาสามส่วน สวมเสื้อคอกลมหลากสีเช่นกัน มีผ้าคาดเอว และโพกศีรษะ

หญิง นุ่งผ้าซิ่นยาวกรอมเท้า สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสะไบทับเสื้อ ให้สีตัดกัน

 

ดนตรีประกอบ

          นอกจากไม้เคาะจังหวะประกอบการร่ายรำแล้ว กรมศิลปากรได้นำวงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ มาบรรเลงลำนำทำนองเพลงให้ไพเราะด้วย

  

เนื้อร้อง รำลาวกระทบไม้

บทร้องและทำนอง โดย  :  อาจารย์มนตรี   ตราโมท

 

แสงรัชนี ส่องสีนวล  (ลา........)   
ชื่นใจชวน ยั่วยวนใจชม อภิรมย์เริงใจ
เคล้าคู่เคียงไป ฟ้อนกรายร่ายรำ (ลา......)  
หนุ่มวอนกลอนกล่าว เว้าสาวหวานฉ่ำ      

จันทร์งามยามค่ำ เป็นสายนำดวงใจ

ยามเดือนลอยเด่น

เหมือนดังเป็นใจให้ สาวหนุ่มพลอดกัน

กรีดกราย ร่ายรำ สำเริงรื่น                  

แสนชื่น ชอบเชิง เริงรำ ทำกางกั้น

สับเปลี่ยน เวียนผัน กันสำราญ
ร่ายรำ ท่ามกลาง แสงเดือนเด่น (ละลา....)                    

เยือกเย็น น้ำค้าง ช่างซาบซ่าน

สาวรำ นำหนุ่ม ชุ่มชื่นบาน

ต่างสุขศานติ์ แสนงาม ยามค่ำคืน

 

อ้างอิง

 

สุขฤดี  เทียนชัยพนา, สุนารี  กองเมือง และอาภารัตน์  แลเช่อร์. การละเล่นจีกลี : กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์

ปกาเกอะญอ บ้านโป่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน.

ศิลปนิพนธ์หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (5 ปี) สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา ภาควิชานาฏศิลป์ศึกษา

ห้องเรียนเครือข่ายวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2555

สุมิตร เทพวงษ์. สารานุกรมระบำ รำ ฟ้อน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2547.

หนังสือที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ เทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๓.

องค์ บรรจุน. “กะเหรี่ยงกระทบไม้มาก่อนเก่า ลาวกระทบทีหลัง” ใน ศิลปวัฒนธรรม. พฤศจิกายน  2557


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น