วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หลักการบำเพ็ญตนของศิลปินที่ดี

เอกสารประกอบการสอน
วิชา พื้นฐานนาฏกรรมไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔
จัดทำโดย คุณครูสมภพ  เพ็ญจันทร์ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

หลักการบำเพ็ญตนของศิลปินที่ดี
๑.      ตรงต่อเวลา  การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญในวงการศิลปะอย่างยิ่ง เพราะมีผู้ทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ศิลปินต้องตรงต่อเวลา ต้องรับผิดชอบต่อผู้ชม ต่อผู้ร่วมงาน หากเราไม่ตรงเวลา ก็จะทำให้กำหนดการฝึกซ้อม กำหนดการแสดง หรือกำหนดการทำงานทุกอย่างคลาดเคลื่อนไปหมด  ทำให้งานการแสดงครั้งนั้นๆ เกิดความเสียหาย  ศิลปินต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นคน “ตรงต่อเวลา” ทั้งนี้เพื่อความสำเร็จของผู้ร่วมงานทุกฝ่าย
๒.     อุตสาหะ  ศิลปินต้องมีความอุตสาหะและความเพียรพยายามในการฝึกฝนตนเอง ทั้งในด้านความรู้ความสามารถ การศึกษาค้นคว้าหาความรู้ใหม่อยู่เสมอ ถึงแม้จะมีความชำนาญจนช่ำชองแล้วก็ตาม ศิลปินไม่ควรทะนงตนว่าเก่งแล้ว ดีเลิศแล้ว จึงขาดการฝึกซ้อม ศิลปินต้องถือคติว่า  “การขาดการฝึกซ้อมเป็นบ่อเกิดของความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง”
๓.     ตั้งใจจริง  ทั้งในเวลาเรียน เวลาฝึกซ้อม และการแสดงจริง ความตั้งใจจริงนี้ฝึกเป็นนิสัยได้โดยการกระทำซ้ำๆ และบ่อยครั้ง แล้วนิสัยนี้จะปรากฏขึ้นเอง ศิลปินที่ดีนั้น แม้จะมีความเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ก็ต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถของตนเองจะอำนวยให้
๔.     รักษาเกียรติ   โดยยึดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหลักประจำใจ ไม่ประพฤติเหลวไหลหรือลุ่มหลงในอบายมุข นอกจากจะรักเกียรติของตนเองแล้ว ศิลปินที่ดีต้องรักษาเกียรติของศิลปะด้วย เช่น ไม่นำศิลปะไปใช้ในทางที่ผิดจนกลายเป็นอนาจาร หรือลดค่าของศิลปะ เพราะเห็นแก่สินจ้างรางวัล
๕.     รักษาหน้าที่   หน้าที่เป็นสิ่งที่ศิลปินต้องรักษาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยตั้งใจทำให้ดีที่สุด ถ้าไม่เข้าใจหน้าที่ของตนเอง ต้องไต่ถามจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทางศาสนาถือว่า “ผู้ใดทำตามหน้าที่   ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม” อนึ่ง อย่าทำงานก้าวก่ายหน้าที่ของผู้อื่นเป็นอันขาด
๖.     มารยาทดี   ต้องมีมารยาทเรียบร้อย ทั้งกับคนในและหมู่คณะและบุคคลอื่นทั่วไป ความเย่อหยิ่งทะนงตัว ไม่ควรมีในศิลปินที่ดี ศิลปินต้องมีความสำรวมในการปรากฏตัวต่อที่ชุมชน ระมัดระวังในเรื่องการกินอยู่และอื่นๆ   รู้จักวางตัวให้เหมาะสมกับบุคคลและกาลเทศะ
๗.     สามัคคี    คือความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความสามัคคีจะทำให้เกิดประโยชน์ เกิดความสุข และเกิดความสำเร็จกับกิจการในหมู่คณะ  การหลงผิดและความอิจฉาริษยาเป็นบ่อเกิดของความแตกแยกในหมู่ศิลปิน เราต้องยึดหลักว่าทุกคนทุกฝ่ายมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด
๘.     ควบคุมอารมณ์     ศิลปินเป็นผู้มีอารมณ์รุนแรงตามปกติวิสัย    ถ้าเกิดความไม่พอใจต้องรู้จัก  อดกลั้นและควบคุมอารมณ์ได้ ต้องไม่นำอารมณ์ส่วนตัวมาปะปนกับงานในหน้าที่  รู้จักแบ่งงาน กับอารมณ์ออกจากกัน
๙.     ขันติ   คือความอดทน ศิลปินต้องอดทนต่อความยากลำบากและอุปสรรคต่างๆ ที่มีต่องานศิลปะ จะต้องรู้จักอดกลั้นต่อความไม่พอใจต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในกลุ่มศิลปินด้วยกันเอง  หรือกลุ่มบุคคลอื่นๆ   ในขณะปฏิบัติหน้าที่
๑๐. กล้าหาญ  คือ ไม่รู้สึกกระดากอายที่จะแสดงศิลปะของตน ความกล้าหาญต้องอาศัยความเชื่อมั่นของตนเองเป็นหลัก ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตนเองจะเป็นผู้ที่กล้าหาญ และสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้ดีเด่นเป็นพิเศษ
๑๑. มีน้ำใจนักกีฬา   ต้องรู้จักแพ้ รู้จักชนะ ในการประชันขันแข่งทางวิชาการและการแสดงความสามารถ
๑๒. ร่าเริง   ศิลปินเป็นผู้ที่ทำให้ผู้อื่นสนุกสนานร่าเริง ฉะนั้นตนเองจะต้องเป็นผู้มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใสด้วย ศิลปินจะต้องเป็นผู้มองโลกในแง่ดีเสมอ รู้จักปฏิบัติตนให้อยู่ในขอบเขตและรู้จักกาลเทศะ มิใช่ทำตนให้สนุกสนานร่าเริงจนขาดมารยาทที่ดีหรือทำให้เสียงาน
๑๓. อุทิศตนเพื่อศิลปะ   ศิลปินต้องอุทิศตนเพื่อเชิดชูศิลปะ มิฉะนั้นงานศิลปะของตนก็จะหมดความหมายต่อประชาชน ในการอุทิศตนเพื่อศิลปะ ศิลปินจะต้องรู้จักคำว่า “เสียสละ” ซึ่งหมายถึง สิ่งใดๆ ก็ตามที่ศิลปินสามารถสละได้ก็ควรทำ

เอกสารอ้างอิง
จาตุรงค์  มนตรีศาสตร์ และอาภรณ์ มนตรีศาสตร์.  นาฏศิลป์เพื่อการศึกษาเบื้องต้น.
          กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๒๖.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น