ฟ้อนสาวไหมแมงบ้ง
ฟ้อนสาวไหมแมงบ้ง
ฟ้อนสาวไหมแมงบ้ง
เป็นผลงานสร้างสรรค์ของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔
เป็นลีลาท่าฟ้อนที่สืบเนื่องมาจากการฟ้อนเจิง ตบมะผาบ ของผู้ชายล้านนา
ซึ่งพ่อครูมานพ ยาระณะ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง-ช่างฟ้อน พ.ศ.๒๕๔๘
ได้รับการสืบทอดจากพ่อครูเผชิญ (ไม่ทราบนามสกุล) พ่อครูของท่าน
ตั้งแต่ท่านอายุประมาณ ๑๙-๒๐ ปี คำว่า “แมงบ้ง” เป็นภาษาถิ่นล้านนา
ในที่นี้หมายถึง “หนอนผีเสื้อ” หรือที่ชาวบ้านล้านนาเรียกว่า “หนอนกำเบ้อตาควาย”
ที่ชอบเกาะกินใบกะท้อน ใบฝรั่ง ใบมะเขือ ใบสะบันงา ฯลฯ เมื่อกัดกินจนอิ่มแล้ว
ก็จะเริ่มสาวไหมเพื่อสร้างรังห่อหุ้มร่างตัวเอง
ในขณะที่สาวไหมเชื่อกันว่าแมงบ้งจะร่ายคาถาที่ชื่อว่า “คาถาเก้ากลุ่ม”
เพื่อเป็นเกราะป้องกันตนเองให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ
กิริยาที่ตัวแมงบ้งสาวไหมและร่ายคาถาเก้ากลุ่มนี้เอง
ที่ศิลปินช่างฟ้อนเจิงของล้านนาได้ลอกเลียนแบบมาเป็นศิลปะท่าฟ้อนสาวไหมอย่างงดงาม
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้การนำของ ดร.กษมา ประสงค์เจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัย
ได้เล็งเห็นคุณค่าของฟ้อนสาวไหมแมงบ้ง
ซึ่งเป็นศิลปะการฟ้อนเจิงชั้นสูงของพ่อครูมานพ ยาระณะ จึงต้องการอนุรักษ์ไว้
ในรูปแบบของการแสดง โดยได้สร้างสรรค์ท่าเข้า-ออก ท่าเชื่อม การแปรแถว
เครื่องแต่งกาย ดนตรี โดยนำเสนอการแสดงใน ๓ ช่วงชีวิตของผีเสื้อ คือ ช่วงก่อกำเนิด
ช่วงสร้างชีวิต และช่วงเริงระบำ ท่วงทำนองเพลงประพันธ์โดย ครูรักเกียรติ ปัญญายศ
ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระดนตรีพื้นเมือง
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น