ประวัติการละเล่นจี-กลี
การละเล่นจีกลี กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ
บ้านโป่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นการละเล่นที่มีมานานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายที่ได้อพยพเข้ามาใน ประเทศไทยแล้วได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมการละเล่นเข้ามาด้วย
ได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันสมัยก่อนไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
จึงไม่มีหลักฐานที่ปรากฏเป็นตัวหนังสือเป็นเพียงการบอกเล่าปากต่อปาก จีกลีมีที่มาจากการดำรงชีวิตของชายหญิงในชนเผ่าที่ต่างกัน
หญิงจะเรียกตนเองว่า ยางบ้าน ชายจะเรียกตนเองว่า ยางป่า จะมีการละเล่นที่เรียกว่า
จีกลี กลี เป็นภาษากลุ่มชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอ กลี หมายถึง สิ่งกลมๆที่ลื่นไหลได้
เช่น ไม้ไผ่ เหล็กที่มีลักษณะกลม การละเล่นจีกลีนี้เกิดขึ้นมาจากการที่
ผู้ชายเข้าป่าไปล่าสัตว์ขณะที่พักในยามว่างหรือในยามกลางคืน ทำให้เกิดความ เบื่อหน่ายจึงคิดหาอะไรมาเล่นและในยามนั้น
ไม้ไผ่เป็นสิ่งที่หาง่ายในป่าจึงนำไม้ไผ่มาเคาะมาตีแล้วเกิดเป็นเสียงจึงนำมาตัดให้ได้ขนาดแล้วเอามาเรียงซ้อนทับกันขึ้นไป
โดยนำท่าทางมาจากการดำรงชีวิต การทำนา
ทำไร่ หาปลา วิ่งไล่กัน ท่าทางเหล่านี้มาถูกนำมาเป็นกระบวนท่าในการละเล่นจีกลีโดยไม่มีความแน่นอน
ในแต่ละหมู่บ้านจะมีกระบวนท่าที่แตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายทอดหรือผู้ที่มีประสบการณ์ในการละเล่นจีกลีว่าจะถ่ายทอดแบบใด
การละเล่นจีกลีเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคี การตั้งอยู่ในสมาธิ
และความบริสุทธิ์จริงของผู้แสดงที่แสดงถึงความโสด
กระบวนท่าในการละเล่นจีกลีของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ
บ้านโป่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง
จังหวัดแม่ฮ่องสอนใช้เพลงกะส่า ยวา ปวอ มีกระบวนท่าทั้งหมด 7 กระบวนท่า ใช้ผู้แสดงแบ่งออกเป็น
2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เล่น และกลุ่มผู้กระทบ
จังหวะในการกระทบจะใช้จังหวะ แตะ แตะ ตึ๊บ กระทบไปเรื่อยๆ จนหมดกระบวนท่า
การละเล่นจีกลีจะใช้การกระโดดเป็นสำคัญ มากกว่ามือ
ผู้เล่นจะกระโดดไปตามจังหวะกระทบของไม้ จนครบกระบวนท่า
ผู้ร้องจะร้องเพลงไปตามทำนอง เมื่อจบเพลงก็จะกลับต้นมาร้องใหม่อีกไปเรื่อยๆ
จนจบกระบวนท่าการละเล่น
เอกสารอ้างอิง
สุขฤดี เทียนชัยพนา, สุนารี กองเมือง และอาภารัตน์ แลเช่อร์. การละเล่นจีกลี : กรณีศึกษา
กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านโป่ง ตำบลแม่ยวม
อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน.
ศิลปนิพนธ์หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต
(5 ปี) สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา ภาควิชานาฏศิลป์ศึกษา
ห้องเรียนเครือข่ายวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ.
2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น