ปะถะมะลายเจิง
การแสดงสร้างสรรค์ ชุด
ปะถะมะลายเจิง เป็นผลงานสร้างสรรค์ของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช
๒๕๕๖ มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์กระบวนท่าฟ้อนเจิงแบบพ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕
ฟ้อนเจิง
เป็นนาฏกรรมที่สะท้อนรูปแบบศิลปะป้องกันตัว
ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชายชาวล้านนา
ซึ่งเมื่อครั้งอดีตมักจะมีการแสวงหาเรียนรู้เจิง
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันภัยให้กับตัวเอง
ด้วยรูปแบบและลีลาท่าทางในการแสดงออกที่มีทั้งความเข้มแข็ง สง่างาม
ที่ซ่อนเร้นชั้นเชิงอันเป็นแม่ไม้เฉพาะตน สลับท่าทางกันไปมายากในการที่จะทำความเข้าใจ “ปะถะมะลายเจิง” หมายถึง เจิงที่เป็นแม่บท
หรือเจิงปฐมเริ่มต้น ที่พ่อครูคำ กาไวย์
ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง-ช่างฟ้อน พ.ศ.๒๕๓๕
ได้ร้อยเรียงกันชื่อคล้องจองติดต่อกันไปให้ลูกศิษย์ได้จดจำง่าย คือ ท่าตบขะหนาบ เกี้ยวเกล้าลายทาง เสือหางเหลียวเหล่า แม่ฮ้อยคำเล่าตี๋ไป
แม่หมอบไหวหลบหลีก ก๋าตากปีกบินบน บ่ผาบมนลายถี่ จ๊องนางกี้เวียนวน
เสือหมอบยนใส่เญื่อ บ่ก่ำเครือยุ่มผุก บ่ผาบตุ๊บเหลียวหลัง เกิ้ดเกิ้งกั๋นฟ้าผ่า วิ้ดวิ่งล่าเลยไป สาวไหมลายงามซึบซาบ
และท่าตบบ่ผาบจ๊างต้อดงวง ผู้แสดงแต่งกายแบบชายชาวล้านนาโบราณ
นุ่งผ้าต้อย (ผ้าโจงกระเบน) แบบ เก้นม้ำ สวมใส่เสื้อยันต์แขนกุด คอสวมตะกรุด
แขนคาดผ้ายันต์
คาดผ้าคาดเอวสีแดงมีขลิบสีทอง ศีรษะไว้ผมเกล้ามวย มีผ้าคาดศีรษะ ๒ ผืน รูปแบบการแสดง ใช้นักแสดง
๑๖ คน จัดเป็น ๒ กลุ่มๆละ ๘ คน มีการแปรขบวนแถว ๔ รูปแบบ คือ แถวหน้ากระดาน แถวหน้ากระดานสลับฟันปลา แถวรูปกาตากปีก และแถวรูปพญาเสือโคร่ง วงดนตรีประกอบการแสดงใช้วงกลองถิ้งบ้อม เครื่องดนตรีประกอบด้วย
กลองสิ้งหม้อง, กลองตั้งหรือกลองโต้ม, ฉาบ และ โหม่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น