วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2564

การละครตะวันตก ตอนที่ 1 (ประวัติการละครตะวันตก)

 

เอกสารประกอบการสอน รายวิชาการละครตะวันตก

จัดทำโดย ผศ.สมภพ เพ็ญจันทร์

วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

กระทรวงวัฒนธรรม

ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564


การละครตะวันตก (ตอนที่ 1)

ประวัติการละครตะวันตก

1.ละครยุคดั้งเดิม (The  Theatre of the past)  

1.1 การละครยุคกรีก (250 ปีก่อน พ.ศ. – พ.ศ. 250)

ละครกรีกสันนิษฐานว่า ถือกำเนิดขึ้นประมาณ  800 – 700 ปีก่อนคริสตกาล (250 ปีก่อน พ.ศ. – พ.ศ.250) โดยเริ่มจากการประกวดการร้องรำทำเพลงเป็นหมู่ (Choral dance) ซึ่งเรียกว่า ดิธีแรมบ์ (dithyramb) ในเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อบวงสรวงเทพเจ้า      ไดโอนีซุส (Dionysus) เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นและความอุดมสมบูรณ์

จากการร้องรำทำเพลงเป็นหมู่โดยกลุ่มคนที่เรียกว่า คอรัส (Chorus)  ในการแสดงดิธีแรมบ์  (dithyramb) ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การแสดงในรูปแบบของละคร กล่าวคือมีนักแสดงเดี่ยวๆ แยกออกมาต่างหาก และทำการสนทนาโต้ตอบกับกลุ่มคอรัส  ฉะนั้น แทนที่จะเป็นเพียงการร้องเพลงเล่าเรื่องจากพวกคอรัสตรงๆ ก็เปลี่ยนเป็นการสนทนาระหว่างตัวละครกับกลุ่มคอรัส

ในปี 534 ก่อนคริสตกาล เริ่มมีการประกวดการแต่งบทและการจัดแสดงละครแทรเจดี  นักการละครชื่อ เธสพิส (Thespis) เป็นผู้ชนะการประกวดครั้งแรกนี้   ละครของเธสพิสใช้นักแสดงเพียงคนเดียว  เล่นทุกบทที่มีอยู่ในละครเรื่องนั้น โดยใช้การเปลี่ยนหน้ากาก (Masks) เป็นการเปลี่ยนบทที่แสดง และมีคอรัสเป็นตัวเชื่อมโยงเรื่องราวเข้าด้วยกัน

500 ปีก่อนคริสตกาล ถือว่าเป็นยุคทองของการละครกรีก มีการประกวดเขียนบทละครและจัดการแสดงละครในด้านต่างๆ ทำให้การละครรุ่งเรืองมาก บทละครส่วนใหญ่ของกรีกที่เหลือมาถึงปัจจุบัน ก็เป็นบทละครที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลนี่เอง

นักเขียนบทละครกรีกยุคแรกที่มีผลงานหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันมี 5 คน คือ เอสคิลุส (Aeschylus) โซโฟคลีส (Sophocles)  ยูริพิดีส (Euripides) อริสโตเฟนีส (Aristophanes) และ มิแนนเดอร์ (Menander)  ก่อนที่จะมาถึงยุคของอริสโตเติล

 

 

ทฤษฎีการละครตะวันตกของอริสโตเติล

อริสโตเติล (Aristotle) ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวกรีก เกิดเมื่อปี พ.ศ.159 และเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.221 อายุ 62 ปี อริสโตเติลเป็นนักปรัชญาชาวกรีก เป็นศิษย์ของเพลโต  งานนิพนธ์ของอริสโตเติลมี 400-1,000 เล่ม ครอบคลุมหลายสาขาวิชารวมทั้งฟิสิกส์ ชีววิทยา สัตววิทยา อภิปรัชญา ตรรกศาสตร์ จริยศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ บทกวี การละคร ดนตรี วาทศาสตร์ จิตวิทยา ภาษาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมืองและการปกครอง

อริสโตเติลเป็นผู้สังเคราะห์อย่างซับซ้อนซึ่งปรัชญาต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้าเขา  โลกตะวันตกได้รับเอาศัพทานุกรมทางปัญญาจากคำสอนของเขา ตลอดจนปัญหาและวิธีการสอบสวนของเขามาใช้ ปรัชญาของอริสโตเติลส่งอิทธิพลเป็นเอกลักษณ์ต่อความรู้แทบทุกแบบในโลกตะวันตก

ด้านศิลปะ อริสโตเติลได้เขียนหนังสือ ชื่อ   “กวีศาสตร์” หรือ “โพเอทติกส์” (Poetics) ซึ่งนับเป็นตำราเกี่ยวกับทฤษฎีการละครเล่มแรกของโลก  

สุนทรียศาสตร์หรือปรัชญาศิลปะของอริสโตเติลนั้น อริสโตเติลมีทัศนะว่า “ศิลปะเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ” เขากล่าวว่า ศิลปะเกิดจากนิสัยรักการเลียนแบบของมนุษย์ มนุษย์ชอบดูของที่เลียนแบบมาจากของจริง การชอบดูนี้มาจากธรรมชาติอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ การได้เห็นภาพจำลองในงานศิลปะช่วยให้มนุษย์เรียนรู้เกี่ยวกับของจริงมากขึ้น (ดังนั้น สาเหตุที่คนดูชอบดูละคร เพราะละครเลียนแบบชีวิตจริง  คนดูต้องการเข้าใจความจริงในชีวิตมากขึ้น)

อริสโตเติล ได้ให้ความหมายของโศกนาฏกรรม (Tragedy) หัสนาฏกรรม (Commedy) และมหากาพย์ (Epic) ไว้ดังนี้

1. โศกนาฏกรรม (Tragedy) หมายถึง การเลียนแบบพฤติกรรมของวีรบุรุษ ด้วยภาษาและภาพที่เร้าความรู้สึกสงสารและหวาดกลัวในหมู่ผู้ชม จนกระทั่งผู้ชมได้ระบายความรู้สึกเหล่านั้นออกมา ในเรื่องโศกนาฏกรรมจะมีการวาดภาพตัวเอกของเรื่องให้ดูดีกว่าคนปกติในเบื้องต้น เพื่อว่าผู้ชมจะได้รู้สึกสงสารหรือเศร้าโศก เมื่อตัวละครต้องประสบเคราะห์กรรมในบั้นปลายเพราะความผิดพลาดบางประการ ผู้ชมจะรู้สึกว่า มนุษย์ย่อมมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา ความกลัวจะเกิดขึ้นในใจผู้ชม เมื่อพวกเขาระลึกได้ว่า พวกเขาก็ไม่ได้ต่างไปจากตัวเอกในเรื่องนั่นเอง พวกเขาอาจทำผิดและประสบชะตากรรมทำนองเดียวกัน ความรู้สึกสงสารและหวาดกลัวเกิดขึ้น เพราะโศกนาฏกรรมได้กระตุ้นจิตใจผู้ชม เมื่อละครจบ ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนได้ระบายความรู้สึกเศร้าและหวาดกลัวออกไปบ้าง การระบายความรู้สึก (Catharsis) นี้ เป็นผลของการชมโศกนาฏกรรม

2. หัสนาฏกรรม (Commedy) เป็นเรื่องตลกที่ทำให้ผู้ชมหัวเราะ สนุกสนาน เรื่องหัสนาฏกรรมหรือคอมเมดี้ จะวาดภาพให้ตัวเอกของเรื่องให้ดูแย่กว่าคนปกติ เพื่อว่าผู้ชมจะได้รู้สึกตลกขบขัน แต่การวาดภาพตัวเอกนั้น ต้องไม่ดูเลวร้ายจนน่าสงสาร มิฉะนั้นจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมไป

3. มหากาพย์ (Epic) เป็นการใช้พรรณนาโวหารเกี่ยวกับเหตุการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง มหากาพย์ต่างจากโศกนาฏกรรมตรงประเด็นที่ว่า โศกนาฏกรรมของกรีกจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจบลงภายนวันเดียว แต่มหากาพย์ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา

 

ทฤษฎีการละครของอริสโตเติลนั้น อริสโตเติลได้จำแนกและลำดับความสำคัญขององค์ประกอบของบทละครได้  6  ประการ คือ โครงเรื่อง  ตัวละครและการวางลักษณะนิสัยตัวละคร  ความคิด  การใช้ภาษา  เพลง  และภาพ 

1.โครงเรื่อง (Plot)

       โครงเรื่อง หมายถึง การลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในละครอย่างมีเหตุผลและมีจุดหมายปลายทาง การวางโครงเรื่องก็คือ การวางแผนหรือการกำหนดเส้นทางการกระทำของตัวละคร ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในละครเรื่องนั้น คือ  มีใครทำอะไร  ด้วยจุดมุ่งหมายอย่างไร  ภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นไร  พบอุปสรรคอย่างใด  แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือตัดสินใจอย่างไร และผลคืออะไร

        อริสโตเติล ได้ให้ความเห็นไว้ว่า โครงเรื่องที่ดีจะต้องมีความสมบูรณ์ในตัวมันเอง มีความยาวพอเหมาะ ประกอบด้วยตอนต้น ตอนกลาง และตอนจบ เหตุการณ์ทุกตอนมีความสัมพันธ์อย่างสมเหตุสมผลตามกฎแห่งกรรม  กล่าวคือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในฉากหนึ่ง จะต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำในฉากที่นำมาก่อน  และในทำนองเดียวกันก็จะเป็นสาเหตุของเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในฉากต่อไป ฉะนั้น ในบทละครที่มีการวางโครงเรื่องอย่างรัดกุม เราจะไม่สามารถตัดฉากใดฉากหนึ่งทิ้งไปได้ โดยไม่กระทบกระเทือนฉากอื่น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น มีความสัมพันธ์และเป็นเหตุเป็นผลต่อกันอย่างแท้จริง

                

2.ตัวละครและการวางลักษณะนิสัยตัวละคร

(Character and Characterization)

      องค์ประกอบของบทละครที่สำคัญเป็นลำดับที่ 2 คือ ตัวละคร และการวางลักษณะนิสัยตัวละคร ซึ่งหมายรวมถึงพัฒนาการของนิสัยตัวละครด้วย

       ตัวละคร คือ ผู้กระทำ และผู้ที่ได้รับผลจากการกระทำในบทละคร

       การวางลักษณะนิสัยตัวละคร คือ การที่ผู้เขียนกำหนดให้ตัวละครมีลักษณะนิสัยอย่างไรตามความเหมาะสมของเรื่องราวที่เสนอ  ส่วน “พัฒนาการของนิสัยตัวละคร” นั้น หมายถึง การที่นิสัยใจคอหรือเจตคติเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตของตัวละคร มีพัฒนาการหรือเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากประสบการณ์หรือเหตุการณ์ที่มากระทบวิถีชีวิตของตน

 

        ตัวละครที่เรามักจะพบเห็นกันในบทละครโดยทั่วไป สามารถแยกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

ก.ตัวละครที่ลักษณะเป็นแบบตายตัว (Typed  Character) เป็นตัวละครที่มองเห็นได้เพียงด้านเดียว  และมักมีลักษณะนิสัยตามแบบฉบับที่นิยมใช้กันในบทละครทั่วๆ ไป เช่น พระเอก นางเอก ผู้ร้าย ตัวโกง ตัวอิจฉา ฯลฯ ซึ่งตัวละครเหล่านี้ ไม่ว่าจะอยู่ในบทละครเรื่องใด ก็มักจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน และมักจะทำในสิ่งที่ผู้ชมคาดหมายไว้สำหรับตัวละครแบบนั้นๆ ทำให้ผู้ชมสามารถติดตามเรื่องราวได้โดยง่าย ตัวละครประเภทนี้จึงมักใช้ในละครสำหรับเด็ก หรือละครที่มีลักษณะเป็นเทพนิยาย ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ที่ไม่ต้องการความละเอียดลึกซึ้งในลักษณะนิสัยตัวละคร เท่ากับความสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจของท้องเรื่องที่ชวนให้คนติดตาม  

ข.ตัวละครที่เห็นได้รอบด้าน  (Well - Rounded  Character) ตัวละครประเภทนี้มีความลึกซึ้ง และเข้าใจยากกว่าตัวละครที่มีลักษณะตายตัว มักมีลักษณะคล้ายคนจริงๆ  ที่มองได้รอบด้าน มีทั้งส่วนดีส่วนเสีย และต้องศึกษาอย่างละเอียดจึงจะสามารถเข้าใจได้  ตัวละครประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการทางด้านนิสัยใจคอ  หรือมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเจตคติเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในชีวิต เนื่องจากผลกระทบของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในละคร  ตัวละครประเภทนี้ เรามักพบในละครโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ หรือในบทละครสมัยใหม่ ที่มีลักษณะเป็นวรรณกรรมขั้นสูง

ความสัมพันธ์ของตัวละครกับโครงเรื่อง หรือ “การกระทำ” ในละคร

       เหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มี “ตัวละคร” เป็นผู้ทำให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น  และเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นก็จะไม่มีความหมาย ถ้ามิได้ไปมีผลกระทบกระเทือนต่อผู้หนึ่งผู้ใดในละครเรื่องนั้น  ฉะนั้น จะมี “เรื่อง” ได้ ก็ต้องมี “ตัวละคร” และ “ตัวละคร” จะดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ ก็ต้องอาศัย “การกระทำ” หรือ “เรื่อง” ที่น่าสนใจและชวนให้ติดตาม ความสัมพันธ์ระหว่าง “การกระทำ” กับ “ตัวละคร” จึงแน่นแฟ้นมาก ขนาดจะแยกออกจากกันไม่ได้

        ในการเขียนบทละคร ผู้เขียนบทจะต้องระลึกไว้เสมอว่า พัฒนาการของเรื่องราวและนิสัยตัวละคร จะต้องสมเหตุสมผล  กล่าวคือ ลักษณะนิสัยของตัวละครกับการกระทำ  จะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น

 

3.ความคิด (Thought)

       “ความคิด” ที่อยู่ในบทละครนั้น คือ ข้อเสนอที่ผู้เขียนพิสูจน์ว่าเป็นจริง จากเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในละคร  กล่าวคือ หลังจากที่ได้ชมละครเรื่องนั้นไปแล้ว ผู้ชมจะได้รับแง่คิดความเห็นเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารต่อผู้ชม

      “ความคิด” ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวในละคร ก็คือ จุดมุ่งหมายหรือความหมาย (Premise) ของบทละครเรื่องนั้น ในปัจจุบัน มักมีผู้นิยมใช้คำว่า “แก่น” (theme) ของเรื่อง ซึ่งหมายความว่าละครเรื่องนั้นพูดถึงอะไร และพูดถึงเรื่องนั้นว่าอย่างไร ซึ่งก็ได้แก่ “ความคิด” ตามความหมายของอริสโตเติลนั่นเอง

 

ความสัมพันธ์ของความคิดกับโครงเรื่องและตัวละคร

       หลักสำคัญเกี่ยวกับ “ความคิด” ที่นักศึกษาที่จะนำไปใช้ในการสร้างสรรค์ วิจักษ์ วิจารณ์บทละครได้ก็คือ ความคิดที่อยู่ในบทละคร จะต้องมีความกลมกลืนกับโครงเรื่องและตัวละครอย่างที่จะแยกจากกันไม่ได้  วิธีแสดงความคิดของผู้เขียนบทก็คือ แสดงผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในละคร  ซึ่งจะต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล  และมีความเหมาะสมทั้งในแง่ของโครงเรื่องและตัวละคร

       การนำหลักปรัชญาความคิดที่ลึกซึ้งมาสอดใส่ไว้ในบทละคร โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับโครงเรื่องหรืออุปนิสัยตัวละคร  นับว่าเป็นการเขียนบทที่ผิดพลาดและขาดศิลปะเป็นอย่างยิ่ง เช่น ให้ตัวละครที่มิได้มีความฉลาดลึกซึ้ง พูดหลักปรัชญาที่สูงส่ง เพื่อที่จะให้ “ความคิด” แก่ผู้ชม  หรือเขียนบทที่ไม่มีเนื้อหาสาระ แต่นำหลักธรรมคำสั่งสอนทางศาสนามาให้ตัวละครพูดในตอนจบ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นหลักธรรมที่ดีงาม แต่หากมานำมาใช้โดยไม่เข้ากับเรื่องราวและอุปนิสัยของตัวละคร ก็เป็นแต่เพียง “ความคิด” ที่ขโมยมาจากที่อื่น  หาใช่ “ความคิด” ของละครเรื่องนั้นไม่

        หลักของการให้ “ความคิด” ที่ถูกต้อง จะต้องเป็นการให้ที่แนบเนียน โดยผู้ชมจะได้รับความคิดจากประสบการณ์ในการติดตามเรื่องราวในละคร มิใช่ถูกสั่งสอนโดยคำพูดที่ไม่เกี่ยวข้องกับท้องเรื่องแต่อย่างใด ความคิดเบื้องหลังบทละคร จะต้องเป็นสิ่งที่เหตุการณ์ในละครพิสูจน์ให้เราเห็นว่าเป็นความจริง จากการกระทำของตัวละครและจากผลที่ตัวละครได้รับจากการกระทำอันนั้น ความยิ่งใหญ่ของบทละครนอกจากจะขึ้นอยู่กับการวางโครงเรื่องที่ดีและการสร้างตัวละครที่น่าสนใจแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความลึกซึ้งของ “ความคิด” ที่อยู่เบื้องหลังบทละครเรื่องนั้นอีกด้วย   

 

4.การใช้ภาษา (Diction)

       การใช้ภาษา หมายถึง ศิลปะของการถ่ายทอดเรื่องราวและความคิดของผู้ประพันธ์ออกมาทางคำพูดของตัวละครหรือบทเจรจา  ซึ่งอาจเป็นบทร้อยแก้วหรือร้อยกรอง  ตามแต่ความเหมาะสมของลักษณะบทละคร และเหตุการณ์ในแต่ละตอนของบทละครเรื่องนั้นๆ

       ศิลปะของการใช้ภาษานี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะนำไปสู่การเขียนบทละครที่ดี เพราะแม้ว่าจะมีโครงเรื่อง ตัวละคร และความคิดที่ดีเด่น แต่ถ้าผู้เขียนไม่มีศิลปะในการใช้ภาษาแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวและความคิดของตนมาสู่ผู้ชมได้

       ในการเขียนบทเจรจาที่ดี  ผู้เขียนจะต้องสามารถเขียนให้เหมาะสมกับประเภทของบทละคร ลักษณะนิสัยของผู้พูด และเหตุการณ์แต่ละตอนในละคร นอกจากนั้น บทเจรจาที่ดียังจะต้องมีความกระจ่างเพียงพอที่ผู้ชมฟังแล้วจะสามารถติดตามเรื่องได้ แต่ก็ไม่ใช่ง่ายจนเกินไป หรือใช้คำพูดที่ใช้กันมาแล้วจนเคยชิน  ซึ่งจะทำให้บทเจรจาขาดความคมและลึกซึ้งไปได้ 

      ที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง คือ บทเจรจาที่ดีควรจะแสดงนิสัย ความคิดอ่าน และอารมณ์ของผู้พูด มีความหมายเบื้องหลังคำพูดที่นำไปสู่การแสดงออกของตัวละครในแง่ของการกระทำ ตลอดจนมีผลในการดำเนินเรื่องอีกด้วย

5.เพลง (Song)

       เพลง หมายถึง ศิลปะของการถ่ายทอดเรื่องราวและความคิดของผู้ประพันธ์ออกมาทางบทเพลงที่ตัวละครจะต้องขับร้อง

       การที่อริสโตเติล นำ “เพลง” มาลำดับไว้เป็นองค์ประกอบที่ 5 ของบทละครนั้น เพราะบทละครกรีกโบราณล้วนแต่มีบทเพลง ซึ่งกลุ่มนักร้องหรือคอรัส (Chorus) จะต้องขับร้องทั้งสิ้น แม้บทละครในสมัยปัจจุบันจะมิได้มีเพลงทุกเรื่อง แต่นักทฤษฎีการละครมักนิยมนำหัวข้อที่เกี่ยวกับ “เพลง” มาใช้ โดยหมายถึงไปถึงเสียงที่ปรากฏบนเวที คือ เป็น “เพลง” ของภาษาที่ใช้บทเจรจา ซึ่งเราอาจกล่าวได้ว่า เสียงของภาษา และความเงียบระหว่างคำพูด ถือได้ว่าเป็น “เพลง” ในแง่ของละคร บางครั้งความเงียบสนิทหลังจากตัวละครได้รับข่าวร้าย อาจมีผลเป็น “เพลง” ที่ให้ความสะเทือนใจแก่ผู้ชมได้อย่างรุนแรง

       ความสามารถของผู้ประพันธ์ ที่จะสามารถเลือกใช้ถ้อยคำที่ทำให้เกิดเสียง จังหวะ ลีลา และความสูง ต่ำ ดัง ค่อย ของบทพูดบนเวที ซึ่งอาจรวมเรียกว่า “เพลง” นั้น จะเป็นผลทำให้เกิดบรรยากาศ อารมณ์ และปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้ชม ตามความประสงค์ของผู้ประพันธ์ได้เป็นอย่างดี

       ส่วนบทละครที่มีบทเพลงอย่างแท้จริงนั้น แม้จะเป็นบทละครในสมัยปัจจุบัน เราก็สามารถใช้หลักของอริสโตเติล ในการสร้างสรรค์ วิจักษ์ และวิจารณ์ได้ อริสโตเติล กล่าวว่า บทเพลงที่ดีนั้น จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของบทละครเช่นเดียวกับบทเจรจา ผู้เขียนไม่ควรนำบทเพลงใดๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องราวในละคร  หรือไม่เหมาะสมกับนิสัยตัวละครมาสอดแทรกไว้ในบทเพียงเพื่อคั่นเวลา       สรุปได้ว่า ในการเขียนบทละครซึ่งมีบทเพลงเป็นองค์ประกอบ บทเพลงในละครเรื่องนั้น จะต้องมีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ อย่างชนิดที่จะไม่สามารถตัดทิ้งได้ 

6.ภาพ (Spectacle) 

             ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า บทละครมิได้เขียนขึ้นเพื่อใช้อ่าน แต่เขียนขึ้นเพื่อนำมาแสดง ความดีเด่นของบทละคร จึงมิได้อยู่ที่คำพูดของตัวละครที่พิมพ์ไว้บนหน้ากระดาษแต่อย่างเดียว  สิ่งอื่นๆ เช่น บทบาทของตัวละคร ที่จะสามารถนำมาแสดงให้เห็นได้ด้วยใบหน้า ท่าทาง และจังหวะของการเคลื่อนไหวที่แนบเนียน จะเพิ่มพูนรสชาติให้แก่ละครเรื่องนั้นได้เป็นอย่างมาก

            บทละครที่ดีมักเต็มไปด้วยจุดต่างๆ ที่นักแสดง ผู้กำกับการแสดง ผู้ออกแบบและสร้างสรรค์ด้านต่างๆ จะสามารถนำมาตีความหมายและแสดงออกในแง่ของ “ภาพ” ที่ปรากฏบนเวทีได้อย่างมีศิลปะ ชวนให้ติดตาม ฉะนั้น ผู้เขียนบทที่เข้าใจองค์ประกอบที่สำคัญของบทละคร คือ “ภาพ” นี้ จะเป็นผู้ที่สามารถมองเห็นบทบาทของตัวละครบนเวที ทั้งเวลาพูดและไม่พูด ทำให้สามารถสร้างสรรค์บทละครที่เมื่อนำมาแสดงแล้ว จะได้ “ผลรวม” ที่เป็นศิลปะของการละครอย่างแท้จริง

 

            ถึงแม้ว่าองค์ประกอบของบทละครจะมีถึง 6 ข้อ แต่ทุกข้อนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น  เมื่อใดก็ตามที่โครงเรื่อง ตัวละคร และความคิด อันเปรียบเหมือน “วิญญาณ” ของละคร สามารถส่องแสงผ่าน “ร่างกาย” ของบทละคร อันได้แก่ ภาษา เพลง และภาพ ได้อย่างสัมพันธ์กัน เมื่อนั้น เราก็จะได้บทละครที่มีคุณค่าทั้งในแง่ศิลปะและวรรณคดี

 

ประเภทของละครกรีก

       ละครกรีก ที่หลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบันมี  2 ประเภท คือ

(1) ละครแทรเจดี (Tragedy)

                                ละครแทรเจดี มักจะมีการแปลเป็นไทยว่า “ละครโศกนาฏกรรม” เป็นละครที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตตัวละครตัวเอก ที่มีความน่ายกย่องสรรเสริญ   แต่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจของชะตากรรมซึ่งเทพเจ้าเป็นผู้ลิขิต  แม้ว่าในที่สุดจะต้องพ่ายแพ้และประสบหายนะ แต่ก็เป็นความพ่ายแพ้ที่ตัวเอกดิ้นรนต่อสู้ถึงที่สุดแล้ว เรื่องราวของละครกรีก    ยุคแรกๆ เป็นการสรรเสริญและเล่าเรื่องราวเทพเจ้าไดโอนีซุส ต่อมานิยมนำโครงเรื่องมาจากมหากาพย์อีเลียด (Iliad) และ โอดิสซี ( Odyssey) มาเป็นแกนในการดำเนินเรื่อง

(2) ละครคอมเมดี (Comedy)

                    ละครคอมเมดี ได้รับการแปลเป็นไทยว่า “ละครสุขนาฏกรรม” เป็นละครที่เน้นความบันเทิง ผ่อนคลายความตึงเครียด เร้าเสียงหัวเราะ ความรู้สึกตลกขบขันที่เกิดขึ้นเพราะความบกพร่องของมนุษย์  เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นร่วมสมัยนั้น  ซึ่งเกี่ยวกับการเมือง สงครามและสันติภาพ ทัศนะเกี่ยวกับศิลปะในแง่ต่างๆ การโจมตีหรือเสียดสีตัวบุคคล ฯลฯ คอมเมดีเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ มากกว่านำมาจากตำนานเช่นแทรเจดี

 

1.2  การละครยุคโรมัน (พ.ศ. 250 – พ.ศ. 1000)

ละครในยุคโรมัน (ประมาณยุคทวาราวดี) ได้รับอิทธิพลจากละครของกรีกอย่างมาก และได้มีละครชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหลายชนิด เช่น

(1) ละครคอมเมดี    ได้รับอิทธิพลจากคอมเมดีกรีก

(2) ละครแทรเจดี ได้รับอิทธิพลจากตำนานกรีก  ได้มีนักเขียนบทละครชาวโรมัน ชื่อ เซเนกา (Senega) ได้เขียนบทละครที่มีอิทธิพลต่อนักเขียนบทละครยุคต่อมา คือ ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (ยุคเรอเนอซองส์) ลักษณะของละครเซเนกา มีดังนี้

·         โครงสร้างของละครแบ่งเป็น 5 องก์

·         เรื่องราวเกี่ยวพันกับเหตุการณ์รุนแรง หรือการกระทำที่สยดสยอง เช่น การฆ่าตัวตายโดยใช้มีดแหวะหน้าท้อง  การนำเนื้อมนุษย์มาเลี้ยงเป็นอาหารแก่แขกรับเชิญเพื่อเป็นการแก้แค้น  เป็นต้น

·         ความพยาบาทอาฆาตแค้น มักปรากฏเป็นเหตุจูงใจที่สำคัญในการกระทำของตัวละคร

·         มีเรื่องราวของภูตผีปีศาจและการใช้เวทมนตร์คาถา ซึ่งแสดงให้เห็นอำนาจเหนือธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์

(3) ละครแพบูลาอาเทลลานา  เป็นละครตลกสั้นๆ ใช้ตัวละครที่ไม่ลึกซึ้งและมีลักษณะซ้ำกันทุกเรื่อง ใช้เรื่องราวชีวิตในชนบทของชาวบ้านสามัญ  ละครชนิดนี้ได้รับความนิยมสุงสุด

(4) มายม์ (Mime) เป็นละครสั้นๆ ตลกโปกฮา  มีการใช้ผู้หญิงแสดงบทของผู้หญิง (เป็นละครประเภทแรกที่ใช้ผู้หญิงแสดง)  ไม่มีการสวมหน้ากาก แสดงเรื่องราวชีวิตของคนในเมือง ระยะหลังมายม์แสดงเรื่องราวที่ผิดทำนองคลองธรรม เช่น การคบชู้สู่ชาย ความชั่วช้าสามานย์ ภาษาที่หลาบโลน ทำให้เกิดการต่อต้านจากคริสต์ศาสนิกชน

(5) แพนโทมายม์ (Pantomime) เป็นการร่ายรำที่มีความหมายโดยใช้นักแสดงคนเดียว  ซึ่งเปลี่ยนบทบาทโดยการ “เปลี่ยนหน้ากาก” มีพวกคอรัสเป็นผู้บรรยายเรื่องราว  มักเป็นเรื่องราวที่เคร่งเครียดและได้จากตำนานปรัมปรา มีเครื่องดนตรีประกอบหลายชิ้น เช่น ขลุ่ยและเครื่องตี

 

         การละครโรมันถึงยุคเสื่อม เพราะความไร้ศีลธรรมและความฟอนเฟะของการแสดง  ซึ่งเน้นหนักด้านความโหดร้าย การทารุณกรรม การนองเลือด  การอนาจาร ฯลฯ  จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. 1076  จักรพรรดิจัสติเนียน แห่งอาณาจักรโรมันตะวันออก ได้ออกประกาศห้ามการแสดงในโรงละคร

 1.3  การละครยุคกลางของยุโรป (พ.ศ. 1400 – พ.ศ. 1900)

   การละครในโรมันถึงยุคเสื่อม เป็นเวลากว่า 300 ปี จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.1400 คริสตจักรทำให้ละครกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเริ่มจัดการแสดงเป็นฉากสั้นๆ ประกอบเรื่องราวจากพระคัมภีร์ไบเบิล การแสดงจะจัดขึ้นในโบสถ์ เรื่องราวที่แสดงเกี่ยวกับพระเยซู และเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล เช่น วันคริสต์มาส เป็นต้น

ในราว พ.ศ.1700  (ตรงกับยุคสุโขทัย) เริ่มมีการแสดงนอกโบสถ์  แสดงโดยภาษาท้องถิ่น มีฆราวาสและสมาคมอาชีพต่างๆ เป็นผู้จัดการแสดง โดยได้รับการสนับสนุนจากคริสตจักร  การแสดงจะแสดงทั้งบนเวทีที่อยู่กับที่และเวทีที่เคลื่อนที่ได้  เวทีที่อยู่กับที่ มีหลายลักษณะ  ทั้งเวทีสี่เหลี่ยมจัตุรัสดูได้สามด้าน  เวทีครึ่งวงกลม และเวทีวงกลมที่ดูได้รอบทิศ   ส่วนเวทีเคลื่อนที่ มักจะเป็นฉากที่มีล้อเคลื่อนไปได้ เน้นกลไกการจัดฉาก

 

ประเภทของละครในยุคกลาง

1.ละครศาสนา   เป็นละครที่แสดงในวัด เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา เมื่อละครมาแสดงนอกวัด ก็ยังคงใช้เรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิล เรียกว่ามิสตรี เพลย์ (Mystery  Play) นอกจากนั้น ยังมีละครมิระเคิล เพลย์  (Miracle Play) ที่แสดงเรื่องราวชีวิตของนักบุญและผู้พลีชีพเพื่อศาสนา และละครมอแรลลิตี เพลย์ (Morality Play)  ที่แสดงเรื่องราวของคนธรรมดาสามัญที่ต้องต่อสู้กับทางเลือกระหว่างความดีและความชั่ว

2.ละครฆราวาส

1.1   ละครพื้นเมือง  แสดงเรื่องราวการผจญภัยของวีรบุรุษที่มีชื่อเสียง       เช่น โรบินฮูด เป็นต้น  ความสนุกสนานอยู่ที่การต่อสู้  การแสดงฟันดาบ ระบำสวยๆ การเข่นฆ่ากัน ฯลฯ ละครพื้นเมืองใช้นักแสดงสมัครเล่น แสดงในเทศกาลใหญ่ๆ

1.2   ละครฟาร์ส (Farce)  เป็นละครตลกที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาและไม่ได้มุ่งผลทางการสั่งสอนศีลธรรม  แสดงให้เห็นสันดานดิบของมนุษย์ ที่มีความเห็นแก่ได้ โดยแสดงออกในลักษณะที่ขบขัน เป็นการเล่ห์เหลี่ยมไหวพริบให้เข้ากับประโยชน์ของตน

1.3   ละครอินเทอร์ลูด (Interlude) ละครที่แสดงคั่นระหว่างงานเลี้ยงฉลอง มีทั้งเรื่องน่าเศร้า และเรื่องตลก แต่ไม่เกี่ยวกับศาสนาและการสอนศีลธรรม  

 

 

 

1.4  ละครยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในประเทศอิตาลี (พ.ศ. 1900 - 2100)

        อิตาลีเป็นประเทศแรกในยุโรปที่เกิดการฟื้นฟูศิลปวิทยาขึ้นก่อนเรียกว่ายุคเรอเนซองส์ (Renaissance ตรงกับสมัยอยุธยาของไทยเรา) เป็นยุคที่มีผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะการสร้างโรงละคร การวางรูปเวที การจัดวางฉาก การประพันธ์บท และการจัดการแสดงละคร

        การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ขึ้นใช้ได้สำเร็จ (ประมาณ พ.ศ.1998 สมัยอยุธยา) ช่วยให้มีการตีพิมพ์บทละครของกรีกและโรมันออกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว รวมทั้งทฤษฎีวิจารณ์ละครของฮอเรส (Horace) ปราชญ์ชาวโรมัน และอริสโตเติล (Areistotle) ปราชชญ์ชาวกรีก

        บทละครยุคนี้ มีทั้งละคร คอมเมดี (Comedy) ละครแทรเจดี (Tragedy) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากละครโรมัน และละครพาสเตอรัล (Pastoal) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากละครเซเทอร์ของกรีก โดยฉากชนบทหรือป่าเขาลำเนาไพร และใช้ตัวละคร เช่น นางไม้ คนครึ่งแพะ หรือคนเลี้ยงแกะ เป็นละครล้อเลียนเพื่อความตลกขบขัน ผ่อนคลายความตึงเครียด

         รูปแบบละครในยุคเรอเนเซองส์นี้  ส่วนใหญ่จัดการแสดงเพียงฉากเดียว แต่เป็นฉากที่ใหญ่โตมโหฬาร วิจิตรพิสดาร การแต่งกายหรูหรา มีขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ และมีเหตุการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้น  ด้วยเหตุนี้จึงเกิดรูปแบบการแสดงที่สนองความต้องการด้านนี้ 2 ประการ คือ การแสดงสลับฉากที่เรียกว่า อินเตอร์เมทซี (Intermezzi) และ โอเปรา (Opera)

         1. อินเตอร์เมทซี (Intermezzi)

             เป็นการแสดงสลับฉาก มักเป็นเรื่องราวจากตำนานกรีกและโรมัน ซึ่งมีปรากฏการณ์ที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษเข้าช่วย เช่น เฮอร์คิวลิสเดินทางไปในนรก หรือ เปอร์ซิอุสขี่ม้าเหาะไปต่อสู้กับปีศาจทะเล เป็นต้น มีการใช้ดนตรีและระบำเป็นส่วนประกอบสำคัญ การแสดงสลับฉากนี้อาจอยู่เป็นเอกเทศ ไม่เกี่ยวกับละครที่แสดงอยู่ก็ได้

         2. โอเปรา (Opera)

             โอเปร่า (opera) เป็นศิลปะการแสดงบนเวทีชนิดหนึ่ง โดยมีลักษณะเป็นแบบละครที่ดำเนินโดยใช้ดนตรีเป็นหลักหรือทั้งหมด โดยโอเปร่าถือเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีคลาสสิก ของตะวันตก โอเปร่านั้นจะมีความใกล้เคียงกับละครเวทีชนิดอื่น ๆ ในเรื่องของฉาก การแสดง และเครื่องแต่งกาย แต่สิ่งสำคัญที่แยกโอเปร่าออกจากละครเวทีทั่วไปคือ ความสำคัญของเพลง ดนตรีที่ประกอบการร้อง ซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่วงดนตรีขนาดเล็กจนไปถึงวงออร์เคสตราขนาดเต็ม บางครั้งโอเปร่า อาจใช้คำว่า "อุปรากร" ด้วย

             ประวัติ

             โอเปร่ามีกำเนิดขึ้นในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 16 ณ ประเทศอิตาลี ต้นกำเนิดของโอเปร่าสามารถสืบค้นไปได้ถึงสมัยกรีกโบราณ ซึ่งมีการแสดงที่เรียกว่า tragedies ลักษณะเป็นการขับร้องประสานเสียงประกอบบทเจรจา ในสมัยกลางเรเนสซองส์มีการแสดงที่ใช้การร้องดำเนินเรื่องราว เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 16 กลุ่มนักดนตรีอิตาเลียน ที่เมืองฟลอเรนซ์ได้ศึกษาประวัติเกี่ยวกับละครร้องย้อนไปถึงยุคกรีกโบราณดังกล่าว ในที่สุดจึงคิดรูปแบบการประพันธ์ที่เรียกว่า โอเปร่า (Opera) ขึ้น ผู้ประพันธ์เพลงซึ่งได้ประพันธ์และพัฒนารูปแบบโอเปร่าคือ เพรี ราวต้นศตวรรษที่ 17 มอนเทเวร์ดีได้ปรับรูปแบบโอเปร่าให้สมบูรณ์ขึ้น ทำให้โอเปร่ามีรูปแบบคล้ายกับรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

             ยุคบาโรค โอเปร่าเป็นการแสดงที่ผู้ขับร้องนำตัวพระเอกและนางเอกเป็นสตรีล้วน  ตั้งแต่ยุคคลาสสิกเป็นต้นมาผู้ขับร้องนำทั้งตัวพระเอกและนางเอกใช้ผู้ขับร้องเป็นชายและหญิงแท้จริง

              โมซาร์ท เป็นผู้หนึ่งที่พัฒนารูปแบบโอเปร่าในยุคคลาสสิกให้มีมาตรฐาน โดยได้ประพันธ์โอเปร่าไว้หลายเรื่องด้วยกัน ในยุคโรแมนติก การประพันธ์โอเปร่ามีรูปแบบหลากหลาย บางเรื่องมีความยาวมาก สามารถแสดงได้ทั้งวันทั้งคืน

 

             องค์ประกอบของโอเปร่า

              1. เนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องที่นำมาเป็นบทขับร้อง เป็นบทร้อยกรองที่มาจากตำนาน เทพนิยายนิทานโบราณ และวรรณกรรมต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงมาทำเป็นบทร้อง และที่แต่งขึ้นใหม่สำหรับแสดงโอเปร่าโดยเฉพาะ โดยมีคีตกวีเป็นผู้แต่งทำนองดนตรี คีตกวีบางคนก็มีความสามารถแต่งเรื่องทำเนื้อเรื่องให้เป็นบทร้อยกรองหรือบทละครสำหรับขับร้อง และแต่งดนตรีประกอบทั้งเรื่องด้วย

              2. ดนตรี ดนตรีในโอเปร่านั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้โอเปรามีชีวิตจิตใจ มักเริ่มด้วยดนตรีบรรเลงโหมโรง (Overture) บรรเลงประกอบบทร้อยกรองซึ่งเป็นบทขับร้อง ทั้งดำเนินเรื่องและเจรจากันตลอดทั้งเรื่อง ดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญ จนโอเปร่าได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานของผู้ประพันธ์ดนตรี หรือ คีตกวี (Composer) มากกว่าที่จะคิดถึงผู้ประพันธ์เนื้อเรื่อง หรือ บทขับร้อง เช่น

                   โอเปร่าเรื่อง Madame Butterfly ของ Giacomo Puccini (1878-1924) ปุชชีนี เป็นคีตกวีที่แต่งดนตรีประกอบ ผู้แต่งละครเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย คือ David Belasco (David Belasco ได้เค้าเรื่องนี้จากเรื่องสั้นของ John Luther Long) ผู้ร้อยกรองเนื้อเรื่องให้เป็นบทขับร้อง คือ Luigi lllica และ Giuseppe Giacosa แต่เมื่อพูดถึงโอเปร่าเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลายแล้ว ก็จะยกย่องให้เป็นผลงานของคีตกวีปุชชินี มักไม่มีใครนึกถึงนักประพันธ์ หรือ กวีผู้ร้อยกรองเรื่องให้เป็นบทขับร้อง

                   โอเปร่าเรื่อง คาร์เมน (Carmen) ของ บิเซต์ (Georges Bizet) ที่มี Prosper Merimee เป็นผู้ประพันธ์เรื่อง และมี Henri Meilhac และ Ludovic Halevy เป็นผู้ร้อยกรองบทขับร้อง แต่คนก็จะพูดกันถึงแต่เพียงว่าโอเปร่าเรื่องคาร์เมนของบิเซต์ ดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบเป็นวงออร์เคสตรา (Orchertral)

                             3. ผู้แสดง ผู้แสดงโอเปร่านอกจากต้องเป็นนักร้องที่เสียงไพเราะดังแจ่มใสกังวาน มีพลังเสียงดี แข็งแรง ร้องได้นาน ต้องฝึกฝนเป็นนักร้องอุปรากรโดยเฉพาะ ยังเป็นผู้มีบทบาทยอดเยี่ยมด้วย เน้นในเรื่องน้ำเสียง ความสามารถในการขับร้องและบทบาทมากกว่าความสวยงามและรูปร่างของผู้แสดง มักให้นักร้องเสียงสูงทั้งหญิงและชายแสดงเป็นตัวเอกของเรื่อง โดยทั่วไป น้ำเสียงที่ใช้ในการขับร้องแบ่งเป็น 6 ระดับเสียง คือ เป็นน้ำเสียงนักร้องชาย 3 ระดับ และน้ำเสียงนักร้องหญิง 3 ระดับ ดังนี้

(1) โซปราโน (Soprano) เป็นระดับเสียงสูงสุดของนักร้องหญิง

(2) เมซโซโซปราโน (Mezzo - Soprano) เป็นระดับเสียงกลางของนักร้องหญิง

(3) คอนทรัลโต หรือ อัลโต (Contralto or Alto) เป็นเสียงระดับต่ำสุดของนักร้องหญิง

(4) เทเนอร์ (Tenor) เป็นเสียงระดับสูงสุดของนักร้องชาย

(5) บาริโทน (Baritone) เป็นเสียงระดับกลางของนักร้องชาย

(6) เบส (Bass) เป็นเสียงระดับต่ำสุดของนักร้องชาย

 

 

           ลักษณะของโอเปร่า

            1. ลิเบรตโต (Libretto) คือเนื้อเรื่อง หรือบทละครของโอเปร่า บางครั้งบทโอเปร่าอาจจะเป็นบทหนึ่งที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายหรือบทละครอื่น ๆ บางครั้งบทโอเปราก็เป็นบทที่ผู้ประพันธ์แต่งเนื้อเรื่องขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ประพันธ์เพลงใช้เป็นบทแต่งโอเปร่า เช่น ดา ปองเต (Da Ponte) เขียนบทโอเปร่าบางเรื่องให้กับ โมซาร์ท เช่น เรื่อง Don Giovanni, บัวตา (Boita) เขียนบทโอเปร่าบางเรื่องให้กับแวร์ดี เช่น เรื่อง Otella บางครั้งบทโอเปราเป็นบทประพันธ์ของผู้ประพันธ์เพลงเองโดยแท้ เช่น วากเนอร์ ประพันธ์ Lohengrin และ The Flying Dutchman และเมโนตี (Menotti) ประพันธ์ The Telephone เป็นต้น

          2. โอเวอร์เชอร์ (Overture) คือ บทประพันธ์ที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีล้วน ๆ ใช้เป็นเพลงนำก่อนการแสดงโอเปร่า อาจเรียกเป็นภาษาไทยได้ว่า “เพลงโหมโรง” บางครั้งอาจใช้คำว่า พรีลูด (Prelude) แทนโอเวอร์เชอร์ เพลงโอเวอร์เชอร์อาจจะเป็นเพลงที่แสดงถึงบรรยากาศของ  โอเปร่าที่จะแสดง กล่าวคือ ถ้าโอเปร่าเป็นเรื่องเศร้าโอเวอร์เชอร์จะมีทำนองเศร้า ๆ อยู่ในที เป็นต้น บางครั้งโอเวอร์เชอร์อาจเป็นเพลงที่รวมทำนองหลักของโอเปร่าฉากต่าง ๆ ไว้ก็ได้ โอเวอร์เชอร์มักเป็นเพลงสั้น ๆ ประมาณ 5-10 นาที ปกติจะใช้วงออร์เคสตราทั้งวงบรรเลง ถ้าโอเปราเรื่องนั้นใช้วงออร์เคสตราประกอบ ลักษณะของเพลงโอเวอร์เชอร์ มักรวมเอาองค์ประกอบต่าง ๆ ของดนตรีไว้อย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นด้านความดัง – ค่อย สีสัน ลีลาต่าง ๆ จึงทำให้โอเวอร์เชอร์เป็นบทเพลงที่ชวนฟัง โอเวอร์เชอร์ของโอเปราบางเรื่องมีความไพเราะเป็นที่นิยมฟังและบรรเลงเป็นเพลงบทเพลงแรกของการแสดงคอนเสิร์ตโดยทั่วไป เช่น “Overture of The Marriage of Figaro” ของ โมซาร์ท “Overture of the Barder of Saville” ของ รอสซินี “Overture of Fidelio” ของ เบโธเฟน “Overture of Carmen” ของบิเซต์ เป็นต้น

          3. รีซิเททีฟ (Recitative) คือบทสนทนาในโอเปร่าที่ใช้การร้องแทนการใช้คำพูด อย่างไรก็ตามมักจะไม่เป็นทำนองที่ไพเราะมากนัก จะเน้นที่คำพูดมากกว่า แต่ก็มีดนตรีและการร้องช่วยทำให้บทสนทนาน่าสนใจ เป็นลักษณะการร้องหรือดนตรีอีกประเภทหนึ่ง

          4. อาเรีย (Aria) คือ บทร้องเดี่ยวในโอเปร่า มีลักษณะตรงกันข้ามกับรีซิเททีฟ เนื่องจากเน้นการร้องและดนตรีเป็นหลัก มากกว่าเน้นการสนทนา อาเรียเป็นบทร้องที่ตัวละครตัวเดียวร้องซึ่งจัดเป็นบทร้องที่เต็มไปด้วยลีลาของดนตรีที่งดงาม จึงยากแก่การร้อง กล่าวได้ว่าอาเรียเป็นส่วนที่ทำให้โอเปร่ามีความเป็นเอกลักษณ์ได้เลยทีเดียว

          5. บทร้องประเภทสอง สาม สี่ และมากกว่านี้ของตัวละคร (Duo, Trio, and Other Small Ensembles) บทร้องที่มีคนร้องสองคนแทนที่จะเป็นคนเดียวในลักษณะของอาเรียเรียกว่า ดูโอ (Duo) ถ้าเป็น 3 คนร้องเรียกว่า ทรีโอ (Trio) สี่และห้าคนร้องเรียกว่า ควอเต็ต (Quartet) และ ควินเต็ต (Quintet) และอาจมีมากกว่าห้าคนก็ได้ เช่น บทร้อง 6 คน (Sextet) “Lucia” จากเรื่อง Rigoletto เป็นบทร้องที่มีชื่อเสียงของโอเปร่ามาก

          6. บทร้องประสานเสียง (Chorus) ในโอเปร่าบางเรื่องที่มีฉากประกอบด้วยผู้เล่นเป็นจำนวนมาก มักจะมีการร้องประสานเสียงเสมอ บทร้องประสานเสียงจากโอเปร่าที่มีชื่อเสียง เช่น “The Anvil Chorus” จาก II Irovatore, “The Pilgrim’s Chorus” จาก “Tannhauser, The Triumphal Chorus” จาก Aida

             7. ออร์เคสตรา (Orchestra) วงออร์เคสตรานอกจากจะเล่นโอเวอร์เชอร์แล้ว ยังใช้ประกอบการร้องในลักษณะต่าง ๆ ในโอเปราตลอดเรื่องในบางครั้งออร์เคสตราจะบรรเลงโดยไม่มีผู้ร้องเพื่อให้การร้องหรือรีซิเททีฟแต่ละตอนต่อเนื่องหรือสร้างอารมณ์ในเนื้อเรื่องให้เข้มข้นขึ้น บางครั้งวงออร์เคสตราจะมีบทบาทในโอเปร่ามากทีเดียว เช่น โอเปร่า ที่แต่งโดยวากเนอร์ มักจะเน้นการบรรเลงของวงออร์เคสตราเสมอ

            8. ระบำ (Dance) ในโอเปร่าแทบทุกเรื่องมักจะมีบางตอนของฉากใด ฉากหนึ่งที่มีระบำประกอบ โดยทั่วไปการเต้นรำมักเป็นการแสดงบัลเลต์ที่สวยงาม ซึ่งเป็นของคู่กันกับโอเปราแบบฝรั่งเศส (French Opera) บางครั้งอาจจะเป็นระบำในลักษณะอื่น ๆ เช่น ระบำพื้นเมือง การเต้นรำแบบต่าง ๆ เช่น วอล์ทซ (Waltz) เพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องของโอเปร่า

            9. องก์ และฉาก (Acts and Scenes) โอเปร่าก็เช่นเดียวกับละครทั่ว ๆ ไป มีการแบ่งเป็นตอน ๆ เรียกว่า องก์ และแบ่งย่อยลงไปเป็นฉาก เช่น คาร์เมน (Carmen) เป็นโอเปร่า ประกอบด้วย 4 องก์ เป็นต้น

          10. ไลท์โมทีฟ (Leitmotif) ในโอเปร่าบางเรื่อง ผู้ประพันธ์จะมีแนวทำนองต่าง ๆ แทนตัวละครแต่ละตัว หรือแทนเหตุการณ์ สภาพการณ์ และแนวทำนองเหล่านี้จะปรากฏอยู่ตลอดเวลาในโอเปร่าเพื่อแทนตัวละครหรือเหตุการณ์นั้น ๆ วากเนอร์เป็นผู้หนึ่งที่ชอบใช้ไลท์โมทีฟ เช่น Ring motive ของ Ring Cycle และ Love motive ใน Tristan and Isolde

      

        ประเภทของโอเปร่า

           1. โอเปร่า (Opera) โดยปกติคำว่า “โอเปร่า” มักจะใช้จนเป็นที่เข้าใจว่า หมายถึง โอเปราซีเรีย (Opera seria) หรือ Serious opera หรือ Grand opera ซึ่งเป็นโอเปร่าที่ผู้ชมต้องตั้งใจดูอย่างมากเพราะการดำเนินเรื่องใช้บทร้องลักษณะต่าง ๆ และรีซิเททีฟไม่มีการพูดสนทนาซึ่งจัดว่าเป็นศิลปะดนตรีชั้นสูง เช่นเดียวกับการเข้าถึงศิลปะแขนงอื่น ๆ การชมโอเปร่าประเภทนี้จึงต้องมีพื้นความรู้และมีความเข้าใจในองค์ประกอบของโอเปร่า โดยเฉพาะด้านดนตรีเพื่อความซาบซึ้งอย่างแท้จริงเรื่องราวของโอเปร่าประเภทนี้มักจะเป็นเรื่องของความเก่งกาจของพระเอกหรือตัวนำ หรือเป็นเรื่องโศกนาฏกรรม (Heroic or tragic drama) โอเปร่าประเภทนี้มักดำเนินเรื่องด้วยการร้องตลอดเรื่อง ไม่มีบทพูด หรือเจรจาอยู่เลย โดยใช้บทร้องกึ่งพูด รีซิเททีฟ (Recitative) ทั้งหมด

           2. โคมิค โอเปร่า (Comic Opera) หรือโอเปร่าชวนหัว คือ โอเปร่าที่มักจะมีเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ตลกขบขันล้อเลียนคน หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ มักมีบทสนทนาที่ใช้พูดแทรกระหว่างบทเพลงร้อง โอเปร่าประเภทนี้จะดูง่ายกว่าประเภทแรก เนื่องจากเนื้อเรื่องสนุกสนาน มีบทสนทนาแทรก ดนตรีและเพลงที่ฟังไพเราะไม่ยากเกินไป โคมิคโอเปร่ามีหลายประเภท เช่น Opera–comique (ฝรั่งเศส) Opera buffa (อิตาเลียน) Ballad opera (อังกฤษ) และ Singspiel (เยอรมัน)

           3. โอเปเรตตา (Operetta) โอเปอเรตตาจัดเป็นโอเปร่าขนาดเบา เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นการสะท้อนชีวิตจริงในสังคม โดยมีการสอดแทรกบทตลกเบาสมองอยู่ด้วย บางครั้งอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักกระจุ่มกระจุ๋ม คล้าย ๆ กับ โคมิคโอเปรา โดยปกติโอเปเรตตาใช้การพูดแทนการร้องในบทสนทนา

          4. คอนทินิวอัส โอเปร่า (Continuous opera) เป็นโอเปร่าที่ผู้ประพันธ์ใช้ดนตรีเชื่อมโยงเรื่องราวตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ มิใช่เป็นการร้องหรือสนทนาที่เป็นช่วง ๆ ลักษณะของคอนทินิวอัส โอเปร่านี้วากเนอร์เป็นผู้นำและใช้เสมอในโอเปร่าที่เขาเป็นผู้ประพันธ์

 

ตัวอย่างบทประพันธ์โอเปร่าที่สำคัญ

1. Opera, Serious Opera

Don Giovanni โดย โมซาร์ท

The Magic Flute โดย โมซาร์ท

Alceste โดย กลุ๊ค

La Bohème โดย ปุชชีนี

Hensel and Gretel โดย ฮัมเปอร์ดิง

Julius Caesar โดย ฮันเดล

Lohengrin โดย วากเนอร์

Madama Butterfly โดย ปุชชีนี

2. Comic Opera, Operetta

The Abduction From The Seraglio โดย โมซาร์ท

The Barber of Seville โดย รอสชินี

The Bartered Bride โดย สเมนตานา

Die Fledermaus โดย โยฮัน สเตราส์

Hary Janos โดย โคดาย

H.M.S. Pinafore โดย กิลเบิร์ต และซัลลิแวน

The Marriage of Figaro โดย โมซาร์ท

 

1.5  การละครอังกฤษ (พ.ศ. 2000 - 2200)

         ละครในประเทศอังกฤษ ได้รับอิทธิพลจากละครยุคกลางมากกว่ายุคเรอเนซองส์ของอิตาลี มีโรงละคร 2 แบบในสมัยนี้ คือ (1) โรงละครสาธารณะ เป็นโรงละครกลางแจ้ง มีรายละเอียดและรูปลักษณะที่แตกต่างกันอย่างมาก ขนาดใหญ่จุดคนดูได้ระหว่าง 2,000-3,000 คน  (2) โรงละครไปรเวท เป็นโรงละครในร่ม  มีขนาดเล็กกว่า จุคนดูได้น้อยกว่า เก็บค่าดูสูงกว่า  และคนมาดูเป็นคนชั้นสูง

          นักเขียนบทละครคนสำคัญของอังกฤษในยุคนี้ คือ

           วิลเลียม  เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2107 – 2159  (ตรงกับสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พ.ศ.2112 สมัยพระนเรศวรกู้กรุงศรีอยุธยา และสมัยพระเจ้าปราสาททอง)  เชคสเปียร์ เขียนบทละครทั้งหมดประมาณ 38 เรื่อง โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

(1)   ละครประวัติศาสตร์ประเทศอังกฤษ  เช่น ริชาร์ดที่ 2 เฮนรี่ที่ 4 เฮนรี่ที่ 5 ฯลฯ

(2)  ละครคอมเมดี เช่น ตลกเข้าใจผิด, ตามใจท่าน, คืนที่สิบสอง ฯลฯ

(3)  ละครแทรจิดี  อัจฉริยะของเชคสเปียร์ ปรากฎเด่นชัดที่สุดในละครประเภทนี้ เช่น เรื่องโรเมโอและจูเลียต   แฮมเล็ต   แมคเบธ ฯลฯ

1.6  การละครสเปน (พ.ศ. 2123 - 2223)

                      ยุคนี้เป็นยุคทองของวรรณกรรมการละครของสเปน  โรงละครสาธารณะของสเปนในยุคนี้ สร้างอยู่ระหว่างบริเวณลานกลางซึ่งล้อมรอบด้วยตัวอาคาร โดยใช้ระเบียงตึกและห้องริมนอกตัวตึกเป็นที่นั่งคนดู มีที่ยืนดู และม้านั่งอยู่ตรงกลางลานสำหรับคนดูด้วย เวทีเปิดโล่งโดยไม่มีกรอบเวที การจัดเวทีมีลักษณะง่ายๆ ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก

                       นักเขียนบทละครที่มีชื่อเสียงของสเปนได้แก่ โลเป เดอ เวกา (Lope de Vega ค.ศ.1562-1635) และกาลเดรอง เดอลา บาร์กา (Calderon de la Barca ค.ศ.1600-1681)

1.7 การละครฝรั่งเศส (พ.ศ. 2100 - 2200)

                      การละครในฝรั่งเศสรักษาลักษณะตามแบบละครยุคกลาง จนมาถึงประมาณ พ.ศ.2100 จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ เกิดละครนีโอคลาสสิค (Neoclassicism) ขึ้น ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากละครยุคกรีกและโรมัน 5 ประการ คือ

(1)   ต้องมีความสมจริง

(2)  แบ่งแยกเด็ดขาดระหว่างแทรเจดีกับคอมเมดี คือ แทรเจดี เป็นเรื่องราวของชนชั้นสูง จบด้วยความเศร้า ส่วนคอมเมดี เป็นเรื่องราวของชนชั้นกลางและชั้นต่ำ เรื่องราวจบด้วยความสุข

(3)  ให้แง่คิดแก่ผู้ชม

(4)  ต้องมีความเหมาะสมในการวางบุคลิกตัวละคร

(5)  ยึดหลักเอกภาพ 3 ประการ คือ เรื่องราว,  เวลา และ สถานที่   เรื่องราวต้องเป็นเรื่องเดียวไม่มีเรื่องปลีกย่อย  เวลาต้องอยู่ใน 24 ชั่วโมง และสถานที่ต้องอยู่ในเมืองๆ หนึ่งเท่านั้น

           นักเขียนบทละครที่ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสในยุคนีโอคลาสสิค มีอยู่ 3 คน คือ ปิแอร์ คอร์แนย์ (Pierre Corneille ค.ศ.1606-1684)  ชอง  ราซีน (Jean Racine ค.ศ.1639-1699) และ โมลิแยร์ (Moliere ค.ศ.1622-1673)

1.8 การละครยุโรปช่วงปี ค.ศ.1700-1800 (พ.ศ. 2243 – 2343)

                      การละครเริ่มแพร่หลายไปทั่วยุโรป ระหว่างปี ค.ศ.1700-1800 (พ.ศ.2243 – 2343  (ตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์) ทั้งในอังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน รัสเซีย นอรเวย์ เดนมาร์ก สวีเดน ฯลฯ  ประเภทของละครที่เกิดใหม่ในยุคนี้ที่น่าสนใจ คือ  ละครเซนติเมนตัล (Sentimental Drrama) ละครโรแมนติค  (Romanticism) และละครเมโลดรามา (Melodrama)

            (1) ละครเซนติเมนตัล (Sentimental Drrama) มีจุดเด่นคือ การเรียกร้องให้คนดูสงสาร เห็นอกเห็นใจในเคราะห์กรรมของตัวละครอย่างมากมายเกินเหตุ แม้กระทั่งละครเซนติเมนตัลคอมเมดี้ จุดมุ่งหมายของละครคือ เพื่อเรียกน้ำตาและรอยยิ้ม ลักษณะของตัวละครมักจะละเมียดละไม เต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหว ต้องถูกบีบคั้นจากสถานการณ์ที่โหดร้าย แต่ตัวละครก็อดกลั้นและยอมทนสู้อย่างไม่หวั่นไหว และผ่านพ้นมาได้อย่างน่าสรรเสริญและได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าในที่สุด

             ละครเซนติเมนตัลมีทั้งที่เป็นแบบแทรจิดีและคอมเมดี ทั้งสองแบบใช้ตัวละครที่เป็นคนธรรมดาสามัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นค่านิยมของชนชั้นกลาง สิ่งที่แตกต่างกันคือ ตอนจบของเรื่อง ซึ่งในคอมเมดีจบลงด้วยความสุข ตัวเอกได้รับผลรางวัลตอบแทนความดี ที่ระงับจิตใจจากการทำชั่ว ส่วนในแทรจิดีจบลงอย่างน่าสลดใจ โดยแสดงผลกรรมที่น่ากลัวจากการที่ปล่อยตัวให้ประกอบกรรมชั่วลงไป

             นักเขียนและบทละครที่มีชื่อเสียง เช่น

              เซอร์ริชาร์ด สตีล (Sir Richard Steele ค.ศ.1672-1729) ชาวอังกฤษ บทละครเรื่อง คู่รักผู้มีคุณธรรม (The Conscious overs) อยู่ในประเภทคอมเมดี เป็นเรื่องราวของนางเอกยากจน ถูกกีดกันความรักและเผชิญอุปสรรคนานาประการ นางเอกต้องพิสูจน์๕วามดีตนเอง จนกระทั่งเรื่องราวเผยออกมาว่า แท้จริงเธอเป็นบุตรสาวของพ่อค้าที่มั่งคั่งคนหนึ่ง พ่อขอพระเอกจึงยอมให้ทั้งสองแต่งงานกัน

              จอร์ช ลิลโล (George Lillo ค.ศ.1693-1739) ชาวอังกฤษ เขียนเรื่อง พ่อค้าในลอนดอน (London Merchant) ประเภทแทรจิดี เรื่องราวแสดงถึงชายหนุ่มที่หลงผิดเพราะหญิงชั่วคนหนึ่ง จนถึงกับปล้นนายจ้างของตนและฆ่าลุงของตัวเองตาย ในเรื่องแสดงอย่างชัดแจ้งว่า ถ้าชายหนุ่มหักห้ามใจไม่หลงไปกับความเย้ายวนต่างๆ ก็จะต้องได้แต่งงานกับลูกสาวนายจ้างและมีฐานะร่ำรวยขึ้นมาเอง

          (2) ละครโรแมนติซิสม์  (Romanticism) คือ ละครที่ตรงข้ามกับละครนีโอคลาสสิคของฝรั่งเศสทุกอย่าง  ละครโรแมนติซิสม์เชื่อในเสรีภาพของมนุษย์ในการทำตามความรู้สึกและหัวใจ  มากกว่าเอาเหตุผลมาบีบบังคับ เรื่องราวนำมาจากนิยายปรัมปราของยุคกลาง เรื่องวีรบุรุษพื้นเมือง แก่นของเรื่องแสดงถึงการดิ้นรนเพื่อจะบรรลุเสรีภาพในอุดมคติและการปฏิบัติตน  เป็นคล้ายๆ ละครชวนฝัน  เป็นเรื่องโรแมนติค ซึ่งไม่อาจพบได้ในชีวิตจริง

           นักเขียนและบทละครที่มีชื่อเสียง เช่น

            ฟรีดริค ชิลเลอร์ (Friedrich Schiller ค.ศ.1759-1805) ชาวเยอรมัน เขียนเรื่อง จอมโจร (The Robbers) เรื่องของชายคนหนึ่งซึ่งถูกบีบให้กลายเป็นจอมโจรนอกกฎหมาย

            วิคเตอร์ ฮิวโก (Victor Hugo ค.ศ.1802-1885) ชาวฝรั่งเศส เขียนเรื่อง แอร์นานี (Hernani) แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ในความรักและเกียรติยศ

 

           (3) ละครเมโลดรามา (Melodrama) เป็นการผสมกันระหว่างดนตรีและละคร   ดนตรีจะช่วยกระตุ้นอารมณ์ของผู้ชม  ลักษณะสำคัญของละครเมโลดรามาคือ การเร้าอารมณ์ผู้ชม โดยกระตุ้นให้เกิดความสงสาร หรือ โกรธ ไปชั่วขณะ มีฉากเบาสมองเพื่อผ่อนคลายความเครียดแทรกอยู่บ้าง  โครงเรื่องเข้าใจง่าย ตอนจบมักผันแปรเหตุการณ์อย่างไม่น่าเป็นไปได้  ตัวละครมีลักษณะตายตัว เด่นชัดตลอดทั้งเรื่อง ไมว่าจะเป็นพระเอก นางเอก ตัวตลก ผู้ร้าย ตัวอิจฉา ละครเมโลดรามานี้ได้รับความนิยมอย่างสูง นักวิจารณ์บางท่านให้คำนิยามละครชนิดนี้ว่า "ละครน้ำเน่า"

           นักเขียนและบทละครที่มีชื่อเสียง เช่น

            คอทเซบู (Kotzebue ค.ศ.1761-1819) ชาวเยอรมัน เขียนบทละครทั้งหมดกว่า 200 เรื่อง และได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ก่อให้เกิดการเลียนแบบขึ้นมากมาย

            พิเซเรกูรต์ (Pixe’re’court ค.ศ.1773-1844) ชาวฝรั่งเศส เขียนบทละครกว่า 100 เรื่อง และได้ทำให้รูปแบบของเมโลดรามาเด่นชัดขึ้นมา

 

2. การละครสมัยใหม่  (The  Modern Theatre)

    2.1 ยุคเริ่มต้นของการละครสมัยใหม่ (พ.ศ. 2418 -  2490)

                ในภาวการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะยุ่งเหยิงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมของประเทศทางยุโรปในขณะนั้น  (ประมาณสมัยรัชกาลที่ 4-5 ของไทย) มีผลต่อเนื่องมาถึงความแออัดของผู้คนในเมือง  จากการที่กรรมกรในชนบทอพยพเข้ามาอยู่กันหนาแน่นตามเมืองใหญ่  ความอดอยากและอัตราของอาชญากรรมพุ่งสูงขึ้น    แนวความคิดเพ้อฝันแบบละคร โรแมนติค  และ ความไม่สมจริงแบบละครเมโลดรามา ดูจะไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เป็นอยู่เลย ศิลปะการละครเริ่มเปลี่ยนแปลงมาสู่การแสวงหาความเป็นจริงมากขึ้น  จึงเกิดละครในรูปแบบใหม่ ที่ละทิ้งธรรมเนียมเดิมขึ้น เช่น

(1)   ละครแนวเหมือนจริงหรือแนวสัจจนิยม (Realism) และแนวธรรมชาตินิยม (Naturalism)

      ละครสมัยใหม่ ที่เรียกกันว่าแนวสัจจนิยมหรือแนวสมจริง (Realism) และแนวธรรมชาตินิยม (Naturalism) ให้ความสำคัญมากแก่คนธรรมดาสามัญยิ่งกว่ายุคที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นตัวละครที่เป็นสามัญชนจะเข้ามามีบทบาทก็เพียงตัวประกอบ ตัวคนใช้ ปราศจากความสำคัญ ส่วนตัวเอกจะเป็นคนฐานะร่ำรวย สมบูรณ์พร้อมด้วยฐานันดรศักดิ์ทุกประการ แต่ละครสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงรูปโฉมดังกล่าวเสียสิ้น

      ละครสมัยใหม่ไม่จำกัดวิถีชีวิตของสามัญเอาไว้ ทว่าจะนำมาสู่สาระของเรื่องราวให้มากขึ้น ตัวละครเอกอาจจะเป็นชาวนา เสมียน โจร ขอทาน โสเภณี ฯลฯ เทคนิคการแต่งตัวก็เปลี่ยนตามไปด้วย การเสนอละครเรื่องหนึ่งไม่ใช่การสมมติขึ้นเท่านั้น แต่ตัวละครทุกตัวมีชีวิตความเป็นอยู่เช่นนั้นจริงๆ  ตัวละครไม่รับรู้ว่ากำลังมีผู้ชมจ้องดูอยู่ เทคนิคนี้เรียกว่า “แบบฝาที่สี่” (Fourth Wall) หมายถึง ตัวละครอยู่ในบ้านซึ่งมีผนังสี่ด้าน ผู้ชมกำลังมองจากด้านใดด้านหนึ่งที่เป็นด้านที่สี่ คือ ด้านหน้าเวที

        รูปแบบการเขียนบทละครเวทีตามทฤษฎีเหมือนจริงและธรรมชาติ จึงถือประเด็นสำคัญว่าจะบิดผันให้แตกต่างจากความสมจริงไม่ได้เด็ดขาด  ต้องเสนอภาพอย่างตรงไปตรงมา อย่างเป็นกลาง และเที่ยงธรรมที่สุด โดยไม่บิดเบือนไปจากสิ่งที่เห็น มักจะเน้นถึงชีวิตของกรรมกรที่ประสบความทุกข์ยาก สะท้อนความจริงของสังคมในยุคนั้น  การใช้ฉาก และแสง มีความสำคัญมากกว่าในอดีต ฉากเป็นแบบ 3 มิติมากกว่าใช้ภาพวาด แสงใช้แสงจากไฟฟ้าแทนแสงเทียนและตะเกียงน้ำมัน

       นักเขียนบทละครแนวสัจจนิยมคนสำคัญ เช่น

        แกร์ฮาร์ต เฮาพท์มานน์ (Gerhart  Hauptmann ค.ศ.1862-1946) ชาวเยอรมัน เป็นที่รู้จักกันดีจากบทละครเรื่อง กรรมการทอผ้า (The Weavers) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกลุ่มกรรมกรทอผ้าซึ่งอดอยากยากแค้น จนลุกฮือขึ้นต่อสู้กับพวกนายจ้าง นับเป็นตัวอย่างของละครแบบที่เราเรียกว่า ธรรมชาตินิยม (Naturalism)

        เฮ็นริค  อิบเส็น (Henrik  Ibsen ค.ศ.18261906 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3-5 ของไทยเรา) ชาวนอรเวย์  แนวการเขียน : คตินิยมทางธรรมชาติ จินตนิย  เฮนริก อิบเส็น เป็นบิดาแห่งโรงละครสมัยใหม่และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งคตินิยมสมัยใหม่ของโรงละคร นักเขียนบทละครที่ยิ่งใหญ่และบุคคลสำคัญในช่วงฟื้นฟูศิลปะวิทยา บทละครเรื่องแรกของเขาที่ได้รับการตีพิมพ์คือ “The Vikings at Helgeland” แต่บทละครที่ทำให้อิบเซนกลายเป็นทีรู้จักคือบทละครเรื่อง “Peer Gynt”

      เฮนริก อิบเสน ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าในวงการละครทั่วยุโรปด้วยแก่นเรื่องที่น่าตระหนกตกใจสำหรับสังคมตามแบบแผนใน A Doll’s House (1879) และ Ghosts (1881) เขาเชิดชูเสรีภาพและความจริงซึ่งปัจเจกชนควรจะเผชิญหน้า โดยไม่ต้องคำนึงถึงการรักษาภาพลักษณ์ที่หลอกลวงต่อสังคม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาจากพวกหัวเก่าที่ยึดถือแบบแผนประเพณีทำให้เขาตอบโต้ด้วยบทละครเรื่อง An Enemy of the People (1882) ซึ่งเขายิ่งแสดงความเป็น”กบฏ” หัวรุนแรงอย่างโจ่งแจ้งเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเปิดโปงประณามความไม่โปร่งใสและหน้าไหว้หลังหลอกของสังคมอย่างเจ็บแสบ ไม่ว่าจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยม พวกเสรีนิยม หรือพวกมัชฌิมนิยม รวมทั้งความโง่เง่าของ “เสียงส่วนมากที่ผนึกกำลังแน่น” (solid majority หรือ compact majority)

       อิบเส็นประกาศตัวเป็นนักปัจเจกนิยมและผู้เชิดชูและแสวงหาความจริงโดยถ่องแท้ เขาประณามความหน้าไหว้หลังหลอกของกลุ่มอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ รวมทั้งสื่อมวลชนที่ “ไม่โปร่งใส” ด้วยในเรื่อง ดร.สต็อกมันน์ผู้ซึ่งทุ่มเทและคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุดกลับถูกตราหน้าว่าเป็น “ศัตรูประชาชน” ซึ่งทำให้เขาได้ค้นพบความจริงอีกข้อหนึ่งในที่สุดว่า “คนที่แกร่งที่สุดคือคนที่ยืนอยู่โดยลำพัง” หมอสต็อกมันน์กลายเป็นพระเอกของบทละครที่เชิดชูความจริงและ “ความโปร่งใส” มากที่สุดคนหนึ่งในวรรณกรรมการละคร

      บทละครของเฮนริก อิบเส็น Henrik Ibsen พอจะแบ่งออกคร่าวๆ ได้เป็น 3 ประเภท คือ

      1. ละครโรแมนติก (Romantic Drama) ละครที่อิบเส็นเขียนขึ้นระยะแรกๆ ตั้งแต่ Catiline ในปี 1850 ถึงเรื่อง Emporer and Galilean ในปี 1873 บทที่เด่นที่สุดในระยะนี้ คือ Peer Gynt ในปี 1867 ซึ่งถึงแม้จะเขียนเป็นบทละครร้อยกรองแบบโรแมนติก ละครเรื่องนี้ก็มีลักษณะเป็นละครสมัยใหม่อย่างสมบูรณ์ และตัวเองคือ Peer Gynt ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของตัวเอกที่ปราศจากความเป็นวีรบุรษ (Antihero) ซึ่งเป็นลักษณะที่มักนิยมกันในละครสมัยใหม่

      2. ละครรีลลิสติก (Realistic Drama) หรือละคร "เหมือนชีวิต" มีบทเจรจาเป็นร้อยแก้ว มีตัวละครเอกเป็นคนธรรมดาสามัญ เสนอปัญหาเกี่ยวกับสังคมและชีวิตอย่างไม่หวั่นเกรงต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใด ละครประเภทนี้เริ่มต้นตั้งแต่เรื่อง The Pillars of Society ในปี 1877 และสิ้นสุดลงด้วยเรื่อง Hedda Gabler ในปี 1890 ละครที่เขียนระยะนี้เป็นละครที่มีอิทธิพลต่อการละครและแนวคิดของคนสมัยใหม่มากที่สุด เรื่องที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ A Doll's House (1879) และ Ghosts (1881)

      3. ละครซิมโบลิสต์ (Symbolism Drama) เป็นละครที่เสนอความจริงเกี่ยวกับชีวิตและมนุษย์ โดยใช้สัญลักษณ์ ตั้งแต่เรื่อง The Lady from the Sea ในปี 1888 ถึงเรื่อง When We Dead Awaken (1899) ซึ่งเป็นละครเรื่องสุดท้ายของอิบเส็น

      หันกลับไปมองดูผลงานของอิบเส็นในขณะนี้ เราอาจจะเห็นว่า ความยิ่งใหญ่ของอิบเส็นมิใช่อยู่ที่การเขียนบทละครท้าสังคมที่ทำให้คนดูตื่นตะลึง เช่นเรื่อง A Doll's House หรือ Ghosts แม้ว่าบทละครดังกล่าวจะมีอิทธิพลต่อโลกการละครและแนวคิดของคนสมัยนั้นเพียงไรก็ตาม ความดีเด่นที่แท้จริงที่ทำให้บทละครของอิบเส็นเป็นละคร "อมตะ" ไม่สูญหายไปกับการเวลา อยู่ที่ความสามารถของอิบเส็นในการสร้างตัวละครที่เต็มไปด้วยวิญญาณ อารมณ์ และความคิดที่เราไม่สามารถลืมได้

 

ผลงานการละครของอิบเส็น เช่น

Catiline คาติลินา (1850)

Kjempehøienสุสานฝังศพ (1850)

แซงค์ทันสแนทเทน (1852)

Fru Inger til Osteraad (1854) 

Gildet Pa Solhoug (1855)

Olaf Liljekrans (1857)

ชาวไวกิ้งที่ Helgeland (1858)

รักตลก (1862)

คนแกล้ง (1863)

การเนรเทศตนเองและความสำเร็จ (1864–1882)

Brand ยี่ห้อ (1866)

Peer Gynt (1867)

ลีกเยาวชน (1869)

Digteบทกวี (1871)

Emperor and Galilean จักรพรรดิและกาลิเลียน (1873)

The Pillars of Society เสาหลักของสังคม (1877)

A Doll's House บ้านตุ๊กตา  (1879)

Ghosts ผี (1881)

An Enemy of the People ศัตรูของประชาชน (1882)

Introspective Plays (1884–1906)

The Wild Duck เป็ดป่า (1884)

รอสเมอร์สโฮล์ม (1886)

The Lady from the Sea เลดี้จากทะเล (1888)

Hedda Gabler (1890)

The Master Builder ผู้สร้างหลัก (1892)

ลิตเติ้ลอายอล์ฟ (1894)

จอห์นกาเบรียลบอร์กแมน (1896)

When We Dead Awaken เมื่อคนตายตื่นขึ้น (1899) ซึ่งเป็นละครเรื่องสุดท้ายของอิบเส็น

 

(2)   ละครแนวไม่เหมือนจริงหรือแนวต่อต้านสัจจนิยม (Anti – realism)

        การละครที่มองความเป็นจริงแบบสัจจนิยมนั้นเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นแนวใหญ่ในการละคร ถึงกระนั้นก็มีบุคคลหลายกลุ่มที่ไม่ยอมรับว่าสัจจนิยมจะเป็นการเสนอละครแบบที่ดีที่สุด มีละครแนวต่อต้านเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งโดยมากจะคงอยู่ได้ไม่นานนัก แต่ก็มีผลกระทบทำให้ละครแนวสัจจนิยมต้องเปลี่ยนไป แนวใหญ่ๆ มีดังนี้

       ก.ละครสัญญลักษณนิยม (Symbolism) เป็นละครที่ใช้วัตถุหรือการกระทำที่เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งจะกระตุ้นและโยงความรู้สึกนึกคิดของคนดูเข้ากับญาณพิเศษที่นักเขียนรู้สึกเกี่ยวกับความเป็นจริง ละครชนิดนี้พยายามมองให้ลึกลงไปถึงสัจธรรมที่ไม่อาจจับต้องได้ เช่น ความหมายของชีวิตและความตาย จึงมักดูลึกลับ ลางเลือน และสร้างปมปริศนาไว้ให้ขบคิด

 

นักเขียนและบทละคร

        โมริซ แมเทอร์ลิงค์ (Maurice Maeterlinck ค.ศ.1862-1949) ชาวเบลเยี่ยม เป็นนักเขียนบทละครแนวสัญลักษณ์นิยมที่มีชื่อเสียงที่สุด บทละครที่อยู่ในแนวนี้ เช่น เปลเลอัสและเมลิซองค์ (Pelle’eas and Me’lisande) และ ผู้บุกรุก (The Intruder) ซึ่งมีบรรยากาศของเรื่อง ทำให้เรานึกถึงความลึกลับของชีวิตที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผลอย่างกระจ่างชัด

       ข.ละครเอ็กซ์เปรสชั่นนิสม์ (Expressionism ศิลปะช่วงประมาณปี พ.ศ.2400 ที่มุ่งแสดงความรู้สึกมากกว่าแสดงให้เหมือนจริง) เป็นละครที่เสนอความเป็นจริงตามความคิดของตัวละคร ซึ่งอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ปรากฏแก่สายตาคนทั่วไป  โดยใช้ฉากที่มีสภาพไม่เหมือนจริง  ใช้คำพูดที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลนัก หรือใช้ข้อความสั้นๆ ห้วนๆ  ฉากแบบเอ็กซ์เปรสชั่นนิสม์ มีลักษณะพิเศษที่สะท้อนความรู้สึกภายในของตัวละคร  เน้นรูปลักษณะภายนอก  สีสัน และขนาดที่ผิดปกติไป

 

นักเขียนและบทละคร

                  1.ออกัสต์ สตรินด์เบิกร์ก (August Strindberg ค.ศ.1849-1912) ชาวสวีเดน บทละครที่ดีเด่นในแนวเอ็กซ์เปรสชั่นนิสม์ของเขา ชื่อ นิมิตมายา (The Dream Play) ซึ่งใช้ความฝันเข้ามาอธิบายการดำเนินเรื่องที่ไม่ได้เป็นไปตามเหตุผลสามัญ ในเรื่อง ธิดาของพระอินทร์ซึ่งสงสัยใคร่รู้ในเรื่องราวของมนุษยโลก ได้ลงมาดูความเป็นไปบนพื้นพิภพ และได้พบว่าชชีวิตมนุษย์นั้น กอปรไปด้วยความทุกข์ทรมาน ความเป็นอนิจจัง และไม่จีรังยั่งยืน

 

    2.จอร์ช ไคเซอร์ (Georg Kaiser ค.ศ.1878-1945) ชาวเยอรมัน บทละครเรื่อง จากเช้าจวบเที่ยงคืน (From Morn Till Midnight) แสดงให้เห็นมนุษย์คนหนึ่งในโลกสมัยใหม่ ซึ่งถูกลดค่าลงจนเป็นเพียงเหมือนเครื่องจักรกลปราศจากชีวิตจิตใจ มีแต่เพียงความปรารถนาในวัตถุ เรื่องราวถูกเสนอออกมาในลักษณะขยายให้เกินจริง เสมือนภาพในความคิดของตัวเอกในเรื่อง

 

ค.ละครเพื่อสังคม (Theatre for Social Action) หรือละครเอพิค (Epic Theatre) เป็นละครที่กระตุ้นความสำนึกทางสังคม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขสังคมให้ดีขึ้น โดยไม่คำนึงถึงความเป็นกลางแบบธรรมชาติ หรือการบันทึกความเป็นจริงแบบตรงไปตรงมา แต่นักเขียนบทละครอาจโน้มเอียงมีอคติจนเห็นได้ชัด จุดสำคัญ คือ ต้องการให้ผู้ชม ชมอย่างไตร่ตรองมากกว่าจะให้เห็นคล้อยตามเรื่องไป  ผู้ชมจะถูกทำให้ตระหนักอยู่ทุกขณะที่กำลังชมละครว่า นั่นคือการแสดงทั้งสิ้น  เป็นการเสนอออกมาให้ได้รู้ได้เห็นเท่านั้น หาใช่ความเป็นจริงไม่  ผู้ชมจะต้องคิดพิจารณาตาม ด้วยวิจารณญาณที่รอบคอบ

รูปแบบละครเพื่อสังคมหรือละครเอพิค

1. เป็นการเล่า

2. ทำให้ผู้ชมเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์

3. กระตุ้นความสามารถในการกระทำ (การดู การคิดวิเคราะห์) ของผู้ชม

4. บังคับให้ผู้ชมต้องตัดสินใจ

5. ผู้ชมถูกกำหนดให้เผชิญหน้ากับบางสิ่งบางอย่าง

6. กระตุ้นการโต้แย้ง

7. ความรู้สึกถูกกระตุ้นจนถึงขั้นที่กลายเป็นการหยั่งรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

8. ผู้ชมยืนอยู่วงนอก

9. ผู้ชมศึกษาตัวละคร

10. เรายังไม่รู้จักมนุษย์ดีพอ มนุษย์เป็นสิ่งที่เราจะต้องสำรวจ

11. มนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

12. ผู้ชมติดตามเรื่องที่กำลังดำเนินอยู่

13. แต่ละฉากเป็นตัวของตัวเอง

14. เรื่องขยายวงด้วยการปะติดปะต่อ

15. เดินเรื่องแบบเส้นโค้ง

16. เรื่องกระโดดไปเรื่อยๆ

17. มนุษย์ไม่ใช่สิ่งตายตัว แต่มนุษย์เป็นกระบวนการ

18. ความเป็นไปทางสังคมเป็นตัวกำหนดความคิด

19. ใช้เหตุผล ไม่ใช่ความรู้สึก

 

     ละครแนวนี้ มีบทบาทสำคัญมากต่อสังคมโลกและการละครเวทีสมัยใหม่ นักเขียนบทละครคนสำคัญ คือ แบร์ทอลท์ เบรชท์

 

ประวัติแบร์ทอลท์ เบรชท์ (Bertolt Brecht)  

     แบร์ทอลท์ เบรชท์ (Bertolt Brecht  ค.ศ.18981956 ตรงกับสมัย รัชกาลที่ 6 – รัชกาลที่ 9)  เป็นชาวเยอรมัน เกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1898  ที่เมืองเอ้าซบูร์ก (Augsburg) เกิดในครอบครัวที่สะดวกสบายตามสถานะของผู้ร่ำรวย เบรชท์เป็นคนฉลาดหลักแหลม เขามีเพื่อนฝูงที่สนิทสนมกลุ่มหนึ่ง ใช้ชีวิตกันอย่างสนุกสนาน จับกลุ่มกันร้องเพลง เบรคชค์มีฝีมือด้านการการแต่งกวีนิพนธ์และแต่งเพลง เมืองเอ้าซบูร์ก แม้ว่าจะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ก็มีโรงละครประจำเมือง เบรชท์กับเพื่อนๆ ได้มีโอกาสไปดูละครอยู่ตลอดเวลา เขาเขียนบทวิจารณ์ฃะครและเริ่มเขียนบทละครสั้นๆ ตั้งแต่อยู่โรงเรียนมัธยม

     เบรชท์ เรียนคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิวนิค แต่ไม่จบ เขาลาออกมาเพื่อใช้ชีวิตนักประกันธ์และนักการละครอย่างเต็มที่ ละครเรื่องแรกของเขาคือ เรื่องบาล (Baal) แต่งตอนเขาอายุได้เพียง 20 ปี “บาล” เป็นละครที่เกี่ยวกับชีวิตนักประพันธ์ขี้เมาคนหนึ่ง ซึ่งใช้ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับการกินเหล้าเมายาและกามารมณ์ตลอดเรื่อง จนจบชีวิตไปแบบหมาข้างถนน เขาเป็นคนที่ไม่เคยรู้จักว่าศีลธรรมคืออะไร คือมิใช่ “ไร้” ศีลธรรม แต่ไม่เคยคำนึงว่าการกระทำอันใดอยู่ในกรอบของศีลธรรมหรือไม่ ในเรื่องของรูปแบบละคร “บาล” จัดอยู่ในละครแบบเปิด (offene Form) คือ ใช้ฉากเชื่อมโยงกันอย่างหลวมๆ มีการเปลี่ยนฉากบ่อย เบรชท์ใช้ฉากสั้นๆ รวมกัน 24 ฉาก การเปลี่ยนฉากบ่อยครั้ง ช่วยให้การแสดงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ผู้ชมจะได้ติดตามวิถีชีวิตของบาล ได้เห็นเขาในสภาวะต่างๆ กัน เช่น ในสังคมคนร่ำรวย ในคาบาเร่ต์ ในโรงเตี๊ยม ในห้องใต้หลังคาซึ่งเป็นที่ซุกหัวนอนของเขา ในชนบท ฯลฯ

      เบรชท์ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในละครเรื่องที่สอง คือ เรื่องเสียงกลองในยามดึก (Trommeln in der Nacht)  แต่งในปี 1922 เมื่อเขาอายุเพียง 24 ปี เรื่องนี้เป็นเรื่องของทหารชื่อ แครคเลอร์ (Kragler) ที่กลับมาจากสงคราม เขาไปรบที่แอฟริกามา ถูกจับเป็นเชลยและฝ่าฟันอันตรายนานัปการ แต่ก็รอดตายมาได้ พอกลับมาบ้านปรากฎว่าคู่หมั้นกลับไปแต่งงานกับคนใหม่เสียแล้ว

 

     ช่วงปี 1923 เบรชท์เริ่มสนใจการเมือง โดยให้การสนับสนุนชบวนการสังคมนิยม ซึ่งจะมีผลต่อเขาภายหลัง เพราะชื่อของเขาติดไปด้วยกับกลุ่มก่อรัฐประหาร

     ปี 1930  เบรชท์แต่งบทละครเรื่อง “ข้อยกเว้นและกฎเกณฑ์” (The Exception and The Rule) ละครเรื่องนี้ เบรชท์ผูกเรื่องอย่างเรียบง่ายโดยใช้ตัวละครไม่กี่ตัว เรื่องมีอยู่ว่าพ่อค้าหนึ่งว่าจ้างคนนำทางคนหนึ่งกับกุลีอีกคนหนึ่งเดินทางข้ามทะเลทรายในมองโกเลีย โดยมุ่งไปสู่เมืองอูรกา (Urga) อันเป็นบ่อน้ำมัน โดยที่ต้องการจะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางก่อนพ่อค้าอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคู่แข่ง ทั้งนี้เพื่อหวังที่จะได้สัมปทานน้ำมันก่อน ในระหว่างเดินทางนั้นกุลีซึ่งเป็นผู้แบกหามสัมภาระถูกทารุณกรรมต่างๆ นานาเพราะพ่อค้าต้องการจะเอาชนะคู่แข่งให้ได้ คนนำทางแสดงความเห็นอกเห็นใจกุลี ซึ่งทำให้พ่อค้าไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง พอไปถึงกึ่งทางที่สถานีฮัน (Han) พ่อค้าก็ตัดสินใจไล่คนนำทางออก ทั้งๆที่การเดินทางไปในช่วงต่อไปเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุด เพราะต้องฝ่าทะเลทรายและต้องข้ามแม่น้ำ พ่อค้าขอให้คนนำทางบอกทางแก่กุลี แล้วออกเดินทางต่อไปกับกุลี พอมาถึงแม่น้ำมีร์ (Mir) กุลีก็ไม่กล้าข้ามเพราะแม่น้ำเชี่ยว และตัวก็ว่ายน้ำไม่แข็ง แต่พ่อค้าก็ใช้ปืนขู่จนกุลีต้องยอมและก็เกือบจมน้ำตาย มิหนำซ้ำได้รับอุบัติเหตุแขนหักในตอนที่ข้ามน้ำ เมื่อเดินทางฝ่าทะเลทรายต่อไปทั้งสองก็หลงทางหลายครั้ง ในขณะที่หยุดพักค้างคืน กุลีจัดการปักเต็นท์ให้พ่อค้านอน ทั้งๆที่แขนหักอยู่ข้างหนึ่ง แต่พ่อค้าก็ไม่ไว้ใจ จึงไม่ยอมเข้าไปนอนในเต็นท์ในตอนกลางคืน กุลีคิดขึ้นมาได้ว่าควรจะเอาน้ำที่ตนได้รับมาจากคนนำทางไปแบ่งให้พ่อค้า จึงเดินเข้าไปหาพ่อค้าพร้อมด้วยกระติกน้ำในมือ พ่อค้านึกว่ากุลีถือก้อนหินจะมาทุ่มใส่ตน จึงชักปืนออกมายิงกุลีตาย ตอนสุดท้ายของเรื่องเป็นฉากในศาล ภรรยาหม้ายของกุลีนำเรื่องขึ้นฟ้องศาลที่เมืองอูรกา (Urga) เพื่อขอความเป็นธรรมและขอค่าเสียหาย โดยมีคนนำทางเป็นพยานให้และให้การว่าเขาเองเป็นผู้ให้กระติกน้ำแก่กุลี ตัวพ่อค้าเองก็ยอมรับต่อศาลว่าเขาเข้าใจผิดว่ากระติกน้ำใบนั้นเป็นก้อนหิน จึงได้ชักปืนออกมายิงกุลี ผู้พิพากษาตัดสินเข้าข้างพ่อค้าโดยตีความว่าพ่อค้ากระทำการครั้งนี้ไปเป็นการป้องกันตัว เพราะในสถานการณ์เช่นนั้นพ่อค้าย่อมจะต้องระแวงสงสัยกุลีว่าจะประทุษร้ายเขาได้ทุกเมื่อ ด้วยเหตุที่เขาเองไร้ความปรานีใดๆต่อกุลีมาตลอด การที่กุลีเอาน้ำมาแบ่งให้กลางทะเลทราย ย่อมเป็นสิ่งที่เราจะต้องคิดว่าเป็นไปไม่ได้เพราะมิใช่ปกติวิสัย เป็น “ข้อยกเว้น” มิใช่เป็น “กฎเกณฑ์” การที่เขาฆ่ากุลีตายจึงเป็นสิ่งที่ศาลเข้าใจและเห็นใจ คำพิพากษาก็เป็นไปตาม “กฎเกณฑ์” เรื่องจบลงด้วยการที่ศาลยกฟ้อง

      วัตถุประสงค์ของเบรชท์ในการแต่ง “ละครบทเรียน” นี้ ก็เพื่อที่จะกระตุ้นความคิดในเรื่องของสังคมและการเมือง ในช่วงที่เขาแต่งละครประเภทนี้เขากำลังสนใจศึกษาทฤษฎีการเมืองแบบมาร์กซิสต์ ละครเรื่อง “ข้อยกเว้นและกฎเกณฑ์” จึงแสดงให้เห็นถึงความคิดพื้นฐานในด้านสังคมและการเมืองอยู่หลายประการ

       ในปี 1933 ขณะที่เขาอายุได้ 35 ปี ละครของเขาถูกรัฐบาลนาซีออกคำสั่งห้ามแสดง เบรชท์ต้องพาครอบครัวลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงปราก ประเทศเชโกสโลวะเกีย รัฐบาลนาซีสั่งเผาวรรณกรรมของเขาและถอนสัญชาติเยอรมัน เบรชท์ต้องย้ายไปอยู่ที่เดนมาร์ก จนถึงปี 1939 เป็นเวลา 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เขาสร้างผลงานละครสำคัญๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เช่น เรื่องอุปรากรของยาจก ปืนของนางคาราร์

       ในปี 1939 เริ่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ภัยสงครามใกล้เข้ามา เบรชท์ลี้ภัยไปสวีเดน ที่นี่เขาสร้างวรรณกรรมเอกของโลก คือ เรื่อง “แม่คูราซกับลูกของเธอ” (Mother Courage and her Kider) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผู้นิยมชมชอบมากในฐานะที่เป็นละครเวที ชื่อเรื่องที่มีลักษณะคล้ายนิทานหรือนิยายก็บ่งอยู่แล้วว่าเป็นไปทฤษฎีของเบรชท์เกี่ยวกับนาฏกรรมแบบเล่าเรื่อง (Epic Theatre) เบรชท์ “เล่าเรื่อง” ก็เพื่อที่จะ “สอน” คนดู เรื่องของแม่คูราซก็เช่นกัน อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ละครสอนคน” ละครเรื่องนี้เล่าเรื่องในช่วงสงคราม 30 ปีในยุโรป เป็นสงครามศาสนาระหว่างฝ่ายโปรแตสแตนท์กับฝ่ายคาทอลิก เป็นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน ทำให้บ้านเมืองในยุโรปตอนกลางโดยเฉพาะในเยอรมันต้องพินาศวอดวายไปมาก พลเมืองล้มตายไปไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ละครของเบรชท์ไม่ได้เล่าถึงกษัตริย์หรือแม่ทัพที่ทำสงครามครั้งนั้น แต่กลับเล่าเรื่องแม่ค้าพเนจรกับพลทหารทั้งหลายที่เป็นลูกค้าของเธอ แม่คูราซกับลูกสามคนของเธอ “ทำสงคราม” เหมือนกัน คือ “เกาะสงครามกิน” แม่คูราซมีลูก 3 คน คนโตและคนกลางเป็นผู้ชาย ไปเป็นทหาร แต่ถูกโทษประหารทั้งคู่ คนเล็กเป็นลูกสาวใบ้ แต่ก็ต้องตายเพราะถูกฝ่ายคาทอลิกยิง ละครจบลงด้วยการที่แม่คูราซเสียลูกไปทีละคนๆ ตามผลการเสี่ยงทายที่เธอทำไว้แล้วตอนต้นเรื่อง แม้ลูกจะตาย แต่เธอก็ยังลากรถสินค้าของเธอติดตามกองทหารต่อไป เป็นส่วนหนึ่งของสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น

        ในปี 1940 กองทัพนาซีของเยอรมันบุกมาถึงเดนมาร์กและนอรเว เบรชท์ต้องลี้ภัยไปฟินแลนด์ ที่นี่เขาเขียนบทละครเรื่อง คนดีแห่งเสฉวน เจ้านายปุนติลาและมัตติบ่าวของเขา

        ในปี 1941 สงครามเกิดทั่วยุโรป เบรชท์ต้องลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกา เขาอยู่อเมริกา 6 ปี ผลงานละครที่เขียนคือ เรื่องชีวิตของกาลิเลโอ วงกลมคอเคเซียน

         ปี 1945 สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง นาซีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เยอรมันถูกแบ่งเป็น 2 ประเทศ คือ เยอรมันตะวันตกและเยอรมันตะวันออก

         ปี 1947 เบรชท์ลี้ภัยไปอยู่สวิสเซอร์แลนด์ ได้เรียบเรียงงานทฤษฎีการละคร ชื่อ “คัมภีร์การละครเล่มน้อย”

         ปี 1948 เบรชท์ย้ายไปอยู่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันตะวันออก ที่นั่นรัฐบาลสนับสนุนละครของเขาอย่างเต็มที่ เขามีโรงละครสำหรับคณะละครของเขา ประกอบด้วยนักแสดง 60 คน ถ้ารวมกับเจ้าหน้าที่มีถึง 250 คน เบรชท์เขียนละครน้อยลง แต่สอนการกำกับการแสดงและนักแสดงรุ่นใหม่มากขึ้น กรุงเบอร์ลินตะวันออกกลายเป็นเมืองหลวงแห่งการละคร  มีนักละคร นักวิจารณ์ และนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเดินทางไปชมละครที่โรงละครของเบรชท์

       เบรชท์ได้รับเกียรติด้านต่างๆ ในช่วงนี้ มีผู้เสนอชื่อเขาเพื่อเข้ารับรางวัลโนเบล ได้รับ “รางวัลแห่งชาติ”  จากรัฐบาลเยอรมันตะวันออก   ได้รับ “รางวัล สตาลินเพื่อสันติภาพ” และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมภาษาและหนังสือของเยอรมันตะวันออก

            เบรชท์ทุ่มเทกำลังกายและกำลังสมองให้แก่งานของเขาอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย สุขภาพจึงทรุดลงอย่างรวดเร็ว เขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 1958 เมื่ออายุเพียง 58 ปี

 

2.2  ละครร่วมสมัยยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2490 – ปัจจุบัน)

                 ละครร่วมสมัยปัจจุบัน เป็นการแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ซึ่งแตกแยกออกไปอย่างมากมาย กล่าวคือ ได้หยิบยืมเอาองค์ประกอบจากแนวละครสมัยใหม่มาใช้ และปรับปรุงแก้ไขให้ใช้ได้ดีกับสภาพการณ์ อีกทั้งปรับปรุงกลไกการจัดเวทีจากอดีตมาใช้ พร้อมทั้งแสวงหาเทคนิคใหม่ๆ ในการเขียนบทละครและการจัดการแสดง

    แนวทางต่างๆ ของละครในปัจจุบัน จะได้พิจารณาเป็น 3 ทาง ซึ่งเป็นตัวแทนของละครต่างๆ ดังนี้ คือ  ละครแนวสัจจนิยมประยุกต์,   ละครเพลง และ ละครแอบเสิร์ด

(1)ละครแนวสัจจนิยมประยุกต์ (Modified Realism)

                    การแสดงแนวเหมือนชีวิต ยังเป็นที่นิมอยู่อย่างกว้างขวางแม้ในปัจจุบัน เพราะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปทำความเข้าใจได้ง่าย อย่างไรก็ตามละครแนวเหมือนจริงในยุคปัจจุบันนี้ ไม่ได้พยายามจะจำลองชีวิตมาทุกกระเบียดนิ้วเช่นในยุคแรกเริ่ม นักการละครไม่จำเป็นต้องซื่อสัตย์ต่อความเป็นจริงจนเกินไปนัก คนดูพร้อมจะยอมรับวิธีการเสนอละครในแบบต่างๆ มากขึ้น โดยเข้าใจได้ว่าละครนั้นแตกต่างออกไปจากชีวิตจริง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องจำลองภาพลวงของความเป็นจริงมาทุกแง่ทุกมุม

                   ฉากละครจึงเลือกเอาแต่บางส่วนที่สำคัญอันเป็นที่เกิดเหตุมาใช้ หรือเป็นเค้าของสถานที่ มากกว่าจะเสนอรายละเอียดของสถานที่อย่างสมบูรณ์ เหมือนในแนวสัจจนิยมและธรรมชาตินิยมดั้งเดิม คนดูจะต้องสร้างมโนภาพต่อเติมเอาเองบ้าง เช่น มีเพียงโครงของหลังคา ทำให้เรารู้ว่าส่วนนั้นเดิมอยู่ภายในบ้าน ประตูอาจมีเพียงกรอบให้เห็น กล่าวคือ รายละเอียดของความจริงลดน้อยลงและทำให้ง่ายเข้า

                    โครงสร้างของละครก็มีอิสระมากขึ้น และไม่มีรูปแบบแน่นอน เป็นแบบทดลองแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำได้แต่ละสภาพการณ์ เรื่องราวและจิตวิทยาของตัวละคร แม้บางครั้งจะดูเกินจริงไปบ้าง ก็เป็นที่ยอมรับกัน ถ้าจะทำให้เรื่องเป็นที่เข้าใจได้ดีขึ้น กล่าวโดยสรุปคือ ละครสัจจนิยมแบบประยุกต์นี้  นำเอาความคิดและวิธีการของแนวต่อต้านสัจจนิยมมากลั่นกรอง และผสมกลมกลืนกันตามแต่จะต้องการใช้ เพื่อพยายามเสนอสัจจะนั่นเอง

                     นักเขียนบทละครคนสำคัญ คือ อาเธอร์ มิลเลอร์ (Arthur Miller)

 

ประวัติอาเธอร์ มิลเลอร์ (Arthur Miller)

 

1915 (2458)    เกิดที่นิวยอร์ค 17 ต.ค.เป็นหนึ่งในสามหนูน้อยจากครอบครัวยิวชนชั้นกลาง

พ่อของเขาเป็นพนักงานโรงงานทำเสื้อโค้ตผู้หญิง และเมื่อเงินไม่พอส่งเสียให้เขาเรียนวิทยาลัย มิลเลอร์จึงไปทำงานเป็นพนักงานขนของเพื่อหาเงิน

ค่าเทอมจนได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมิชิแกน

1936 (2479)   อายุ 21 ปี ขณะศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ประพันธ์บทละคร

เรื่องแรก คือ Honors at Dawn แสดงที่มหาวิทยาลัย และได้รับรางวัล A very Hopwood Award ของมหาวิทยาลัย

1937 (2480)   อายุ 22 ปี ประพันธ์ละครเรื่อง No Villain แสดงที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน

1938 (2481)   อายุ 23 ปี แก้ไขเรื่อง No Villain เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น They too Arise

แสดงที่มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัล Hopwood Award อีกครั้งหนึ่ง และรางวัลจาก Theatre Guild Bureau of New Plays สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ร่วมทำงานกับ Federal Theatre Project

1944 (2487)   อายุ 29 ปี ระหว่างสงครามเขียนบทละครวิทยุ ละครเรื่อง The Man Who

Had All The Luck แสดงที่นิวยอร์ค ระหว่างที่เป็นทหาร มิลเลอร์ ได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในค่าย ซึ่งต่อมาได้ใช้เป็นเค้าโครงของละครเรื่อง The Story of G.I. Joe และหนังสือแถลงข่าวชื่อ Situation Normal

1947 (2490)   อายุ 32 ปี ละครเรื่อง All My Sons แสดงที่นิวยอร์ค ได้รับรางวัล

Tony Awards (จัดเป็นครั้งแรก) รางวัล Tony Awards เป็นรางวัลที่มอบให้กับศิลปะการแสดงละครเวทีบรอดเวย์ของชาวอเมริกัน  ถือเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของการแสดงละครเวทีในสหรัฐอเมริกา เปรียบเสมือนรางวัลออสการ์ของทางฝั่งละครเวที

1949 (2492)   อายุ 34 ปี ละครเรื่อง Death of A Salesman แสดงที่นิวยอร์ค

ได้รับรางวัล Tony Awards, รางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize)

ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศแก่คนทำงานในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย วรรณกรรม ละคร และบทประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดรางวัลหนึ่งของโลก บริหารจัดการโดยมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

1951 (2493)    อายุ 36 ปี Death of A Salesman ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์

1953 (2495)  อายุ 38 ปี The Crucible ได้รับรางวัล Tony Awards

1956 (2498) อายุ 41 ปี มิลเลอร์ถูกคณะกรรมการ House Un-American Activities

Committee ไต่สวนและพิพากษาว่าต่อต้านอเมริกัน แต่เขาปฏิเสธ ไม่ยอมเอ่ยชื่อบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

1959 (2502)   อายุ 44 ปี ได้รับเหรียญทองสำหรับการละคร จาก The National

Institute of Arts and Letters

1968 (2511)    อายุ 53 ปี The Price ได้รับรางวัล Tony Awards

1994 (2537)   อายุ 79 ปี Broken Glass ได้รับรางวัล Tony Awards

2000 (2543)  อายุ 85 ปี The Ride Down Mt. Morgan ได้รับรางวัล Tony Awards

2005 (2548)  อายุ 90 ปี เสียชีวิต

 

เรื่องย่อ อวสานของเซลล์แมน

(Death of a Salesman)

โดย Arthur Miller

ใครเรียนวรรณคดีอังกฤษอเมริกัน ต้องเคยอ่านบทละคร Death of a Salesman ผลงานของอาร์เธอร์ มิลเลอร์

บทละครกล่าวถึงชีวิตของวิลลี่ โลแมน เซลส์แมนที่ต้องวิ่งหาลูกค้า เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ยอมทำทุกอย่างแม้กระทั่งการโกหกพกลม แต่แล้วก็ต้องยอมพ่ายแพ้ต่อโชคชะตาด้วยความขมขื่น

โลแมนกอบกู้ศักดิ์ศรีของตัวเองโดยการฆ่าตัวตาย เพื่อการยอมรับจากลูกเมียของตัวเอง

อวสานเซลส์แมน ได้รับการยกย่องว่าเป็นละครแห่งยุค มิลเลอร์สามารถสะท้อนสภาพสังคม และความฝันของคนอเมริกันชนได้อย่างถึงแก่น

เป็นผลงานชิ้นเอกของมิลเลอร์ ถูกนำมาแสดงเป็นละครเวทีและภาพยนตร์หลายครั้ง ในเมืองไทยมีการนำบทละครเรื่องนี้มาสร้างหลายครั้ง

 

(2)ละครเพลง (Musical Theatre)

                     หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ละครเพลงกลายเป็นละครที่มีผู้นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ  และเป็นละครที่แพร่หลายมากที่สุดแบบหนึ่งในโลกบันเทิงธุรกิจ ละครเพลงที่เรารู้จักกันนี้ นำเอาองค์ประกอบของการแสดงละครย่อยแบบต่างๆ  มาใช้ 

                    ในระยะแรกนั้น การแสดงส่วนใหญ่เนื้อเรื่องจะไม่มีความสำคัญเท่ากับการจัดฉากสวยงามตระการตา  เพลงในเรื่องเพราะๆ  ฉากเต้นรำหมู่จัดอย่างมโหฬาร  เครื่องแต่งกายสะดุดตา  ต่อมาได้มีวิวัฒนาการมาสนใจในด้านการสร้างลักษณะนิสัยตัวละคร ซึ่งทำให้เรื่องมีความดีเด่นกินใจผู้ชมมากขึ้น

                   ละครเหล่านี้มักจะประสบผลสำเร็จยิ่งใหญ่ในการแสดงที่บรอดเวย์ กรุงนิวยอร์ค  ประเทศสหรัฐอเมริกา  ที่รู้จักกันดีในชื่อว่า “ละครบรอดเวย์”  เรื่องที่รู้จักกันดีทั่วโลก เช่น เวสท์ไซด์สตอรี่ (West  Side  Story)  มายแฟร์เลดี้ (My Fair Lady) คาเมลอท (Camelot)      เป็นต้น  

 

(3)ละครแอบเสิร์ด (Theatre of the Absurd)

                     ละครแอบเสิร์ด (Absurd แปลว่า เหลวไหล ไร้สาระ น่าหัวเราะ โง่เขลา)  ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากปรัชญาแบบเอ็กซิสเตนเชียนลิสม์ (Existentialism ทฤษฎีแห่งปรัชญาที่ว่าทุกคนนั้น มีอิสระและรับผิดชอบในการกระทำของเขา)  ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.2450 (ปลายรัชกาลที่ 5) ปรัชญานี้ลบล้างความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาเกี่ยวกับความหมายของการใช้ชีวิตของคนเรา โดยเชื่อว่าชีวิตไม่มีความหมาย และเชื่อว่าไม่มีแบบแผนหรือคุณธรรมอะไรที่คอยบงการอยู่เหนือการใช้ชีวิตมนุษย์ คนเราล่องลอยอย่างไร้จุดหมาย ในโลกที่ไร้จุดประสงค์และวิถีทาง ฉะนั้น มนุษย์จึงเป็นไทแก่ตัวเอง โดยไม่ต้องผูกมัดกับพระเจ้าหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ตามที่เคยเชื่อถือ มนุษย์รับผิดชอบต่อตัวเองเท่านั้น ทุกคนจะต้องแสวงหาค่านิยมของตนเอง และปฏิบัติตามสิ่งที่ตนเชื่อ มนุษย์จึงเป็นผู้กำหนดทางชีวิตของตนเอง มากกว่าจะตกอยู่ใต้อาณัติของสภาวะแวดล้อมหรือผู้อื่นใด แม้กระทั่งพระผู้เป็นเจ้า

                     ในช่วงปี พ.ศ.2493 – 2503 (ตรงกับรัชกาลปัจจุบัน) เกิดมีแนวละครแอบเสิร์ด ซึ่งได้อิทธิพลจากปรัชญาแบบเอ็กซิสเตนเชียลิสม์ (Existentialism) ดังที่กล่าวมาแล้ว คำว่า “แอบเสิร์ด” ในที่นี้ ใช้ในความหมายว่า “สิ่งที่ไม่มีเหตุผล ขาดความหมายที่เข้าใจได้” สรุปแล้วพวกแอบเสิร์ดมีความเห็นว่า โลกเรานี้เป็นกลางอย่างแท้จริง สิ่งต่างๆ ไม่มีความหมายอยู่ในตัวเอง คนเราเป็นผู้เอาความหมายไปใส่ไว้ให้กับมันตามอำเภอใจตัวเอง  ฉะนั้น ถ้าเราจะถือว่าการกระทำใดเลว ก็ไม่ได้แสดงว่าการกระทำนั้นเลวจริงๆ เพียงแต่ว่าเราเลือกที่จะคิดว่ามันเป็นอย่างนั้นต่างหาก

                    กลุ่มละครแอบเสิร์ดเห็นว่า สัจจธรรมสูงสุดมีอยู่ในความวุ่นวายสับสน ความไร้ระเบียบ ความขัดแย้ง และความไร้สาระ ซึ่งประกอบกันเข้าเป็นการดำเนินชีวิตไปวันหนึ่งๆ        สัจจธรรมเป็นสิ่งไร้เหตุผล ไร้ระเบียบ และไร้ความแน่นอน

                     ลักษณะการเสนอเรื่องของละครแอบเสิร์ด ก็สะท้อนเนื้อหาที่พยายามแสดงออกมาด้วยคือ มีลักษณะไม่ปะติดปะต่อเชื่อมโยงกัน เป็นเหตุผลต่อกัน แต่ตัวละครพูดหรือทำอะไรไปโดยไม่มีความหมาย เราจะเข้าใจละครแอบเสิร์ดได้ก็ต่อเมื่อเราละทิ้งเหตุผล และใช้ความรู้สึกไปตามสิ่งที่ได้เห็นเท่านั้น

                     โดยรวมๆ แล้ว ละครแอบเสิร์ดอาจจะนับว่ามองโลกในแง่ร้าย แต่ก็เป็นการแสดงภาพความเป็นจริงในทัศนะใหม่ และเป็นการนำทางไปสู่โลกที่ดีขึ้น โดยการเผชิญหน้ากับความเป็นจริง เป็นความพยายามจะไม่หลบเลี่ยงความเป็นจริงที่รู้สึกในโลกสมัยใหม่

           

ลักษณะของละครแอบเสิร์ด

 

            1. บทละครจะกล่าวถึงเหตุการณ์หรือสถานการณ์ มากกว่าที่จะเป็นการเล่าเรื่อง ฉะนั้น จึงไม่มีการดำเนินเรื่องหรือพัฒนาการของเรื่อง ที่เกิดจากเหตุและผลเหมือนละครทั่วๆ ไป

            2. ตัวละครไม่มีการพัฒนา แต่จะนิ่งและเหมือนเดิมตั้งแต่ต้นจนจบ รวมทั้งมีบุคลิกที่เด่นชัด จับได้ง่าย

            3. สภาพแวดล้อม เวลา และสถานที่ จะเปรยไว้อย่างกว้างๆ และไม่มีการระบุเป็นรายละเอียด

            4. ภาษาที่ใช้ในบทสนทนาจะเป็นภาษาง่ายๆ

            5. ภาพที่ปรากฎแก่สายตา จะเป็นสื่อสร้างนำความคิดในลักษณะของสัญลักษณ์ และการเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย

 

นักเขียนบทละครคนสำคัญของละครแอบเสิร์ด คือ แซมมวล  เบ็คเก็ท (Samuel  Beckelt) ชาวไอริช 

 

ประวัติแซมมวล  เบ็คเก็ท (Samuel  Beckelt)

1906               เกิดที่ Foxrock ใกล้กรุงดับลิน ในประเทศไอร์แลนด์

1923-27          เป็นนักศึกษาที่ทรินิตี้คอลเลจในดับลิน แขนงวรรณคดีฝรั่งเศส

สมัยใหม่ และอิตาเลียนสมัยใหม่

1930               บทกวีของเขาได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก, เป็นอาจารย์สอน

ในทรินิตี้คอลเลจ สอนได้ 4 เทอมก็ลาออก

1931                (อายุ 25 ปี) บทละครเรื่องแรก Le Kid ได้ถูกนำไปแสดง

1932                (อายุ 26 ปี) เดินทางและคิดตั้งรกรากในฝรั่งเศส

1942                (อายุ 36 ปี) กลุ่มการเมืองในฝรั่งเศสที่เบคเกตต์เข้าร่วมกิจกรรม

ถูกเกสตาโปจับได้ ทำให้เขาต้องหลบหนี

1952                (อายุ 46 ปี) บทละครเรื่อง Waiting for Godot ได้รับการตีพิมพ์

(เป็นละครแอบเสิร์ดที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุด เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นการรอคอยในสิ่งที่เป็นความหวังของมนุษย์ แต่ไม่เคยมาถึงเลยจริงๆ)

1953                เปิดการแสดงละครเรื่อง Waiting for Godot ที่กรุงปารีส

ฝรั่งเศส แสดงยาวนานถึง 300 รอบ

1955                แสดงที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

1956               แสดงครั้งแรกที่ไมอามี่ สหรัฐอเมริกา ในการแสดงคืนแรก

คนดูเดินออกเกือบครึ่งโรง

1969               (อายุ 66 ปี) ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม

1989               (อายุ 86 ปี) เสียชีวิต

 

 

เรื่องย่อละครแอบเสิร์ด เรื่อง “คอยโกโดท์” (Waiting for Godot)

 

ชายพเนจร 2 คน ชื่อ เอสทรากอนและวลาดิมีร์ ฆ่าเวลาให้ผ่านไปด้วยสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสาร พูดคุยด้วยเรื่องราวที่ไม่สลักสำคัญ ในขณะที่ “กำลังรอ” (Waiting) ให้สิ่งที่เขาคิดว่า “ดีกว่า” มาถึง นั่นคือ “โกโดต์” (Godot) ทั้งสองเชื่อว่าเมื่อโกโดต์มาถึง ทุกสิ่งจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หากแต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น มีแต่เพียงเด็กชายคนหนึ่งมาส่งข่าวว่า “คุณโกโดต์สั่งให้ผมมาบอกคุณว่า เย็นนี้เขาจะไม่มา แต่พรุ่งนี้จะมาแน่ๆ”  วันรุ่งขึ้นชายทั้งสองคนมารอโกโดต์อีก และเจอเด็กชายที่มาส่งข่าวด้วยประโยคเดิมว่า “พรุ่งนี้เขาจะมาแน่ๆ” แต่ “พรุ่งนี้” ไม่เคยมาถึงสำหรับชายทั้งสองคน เพื่อที่จะได้พบกับความสมหวังเลย

 

แนวโน้มของละครตะวันตกในยุคปัจจุบัน

            การละครยุคปัจจุบัน ซับซ้อน และมีรูปแบบต่างๆ มากมาย แนวที่เกิดขึ้นใหม่ๆ มักจะมีแนวโน้มไม่ยอมรับแบบแผนที่มีมา แต่จะเป็นไปทางแสวงหาใหม่ๆ โดยการทดลองใช้องค์ประกอบต่างๆ ไปเรื่อยๆ นับแต่ราวปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมา ได้มีการนำข้อปฏิบัติและมาตรฐานของละครทุกรูปแบบมาพิจารณา และเกิดเป็นเทคนิคและเนื้อหาใหม่ ขึ้นมา ซึ่งยังหาจุดลงเอยไม่ได้

            ในขณะที่ในโลกของธุรกิจบันเทิง สื่อการแสดงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน คือ ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ ได้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของละครเวที ในด้านการให้ความบันเทิงแก่สาธารณชน ละครเวทีได้เริ่มแสวงหาแนวของตัวเอง โดยหันเข้าสู่การหาเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าของชีวิต มีการละครเป็นเครื่องมือเรียกร้องทางการเมืองและสังคม ต่อต้านสงคราม คัดค้านขนบประเพณีและค่านิยมของสังคม บางทีก็เปิดการแสดงตามถนนหนทาง หรือที่สาธารณะเพื่อประท้วง

            ลักษณะการแสดง มีแนวโน้มไปในรูปของการใช้สื่อผสม (Multi Media) ซึ่งหมายถึง การเสนอละครโดยรวมการแสดงสดของนักแสดง การฉายภาพนิ่ง ภาพยนตร์ระบบเสียงรอบทิศ การเล่นแสงสี การเต้นรำ ดนตรี แม้กระทั่งการเข้าถึงคนดูโดยทางประสาทรับรู้อื่นๆ เช่น ฉีดกลิ่นหอมกระจายไปทั้งโรงละคร แจกอาหารให้รับประทาน เป็นต้น

            แต่ขณะเดียวกัน ก็มีแนวโน้มละครอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ต่อต้านการใช้เทคนิคต่างๆ และพยายามเลิกใช้องค์ประกอบที่นิยมใช้ในละครทั่วๆ ไป ในประเทศโปแลนด์มีแนวละครที่เรียกตัวเองว่า “ละครยากจน” (Poor  Theatre)  เป็นละครที่ไม่ต้องใช้องค์ประกอบของฉาก แสง สี เสียง เครื่องแต่งกาย ฯลฯ เข้าเป็นส่วนสำคัญ  โดยพยายามเข้าถึงแก่นของละครโดยเน้นที่ปัจจัยสำคัญ 2 อย่างเท่านั้น คือ นักแสดง และ ผู้ชม  เมื่อหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งประกอบ นักแสดงก็ต้องใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ ต้องใช้เวลาฝึกฝนนับปี และอุทิศตัวให้ละครในทางจิตและวิญญาณ

            การละครปัจจุบัน พยายามหาแนวทางใหม่ๆ และแสวงหาความหมายให้แก่ชีวิตที่สับสนและอ้างว้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นโลกในยุคปัจจุบันนั่นเอง นักการละครสมัยใหม่มักจะไม่ยึดถืออยู่กับกฎเกณฑ์การแสดงแบบใดแบบหนึ่ง แต่จะทดลองรูปแบบใหม่ๆ เพื่อแสวงหาทางอันจะทำให้ชีวิตที่สับสนและอ้างว้างมีความหมายขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็แก่ตัวเอง

 

การละครตะวันตกในยุคโควิด 19

ละครบรอดเวย์ นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

 

            ในปี 2019 เกิดโรคระบาดไวรัสโคโรน่า (โควิด 19)  ทำให้วงการละครตะวันตกได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยกรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาได้มีคำสั่งปิดโรงละครและโรงภาพยนต์ทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2020 (2563) เป็นต้นไป โรงละครในย่านบรอดเวย์ที่มีการแสดงอยู่ 31 โรง และกำลังเตรียมเปิดการแสดงในเดือนเมษายน 2020 อีก 8 โรง ต้องหยุดแสดงทันที การประกาศรางวัล Tony Awards (รางวัลละครเวทียอดเยี่ยมประจำปี) ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ไวรัสโคโรน่า ได้ทำลายอุตสาหกรรมการแสดงละครเวที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรอดเวย์ ศูนย์กลางใจกลางเมืองในนิวยอร์กซิตี้ การแสดงละครยอดนิยมไม่มีรายได้  การไม่มีผู้ชมละคร ซึ่งใช้จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในร้านอาหาร โรงแรม และการขนส่งสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองนิวยอร์คอย่างหนัก

ในช่วงฤดูกาลละครบรอดเวย์ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2018 ถึง 26 พฤษภาคม 2019 (1 ปี) การแสดงได้ทำเงินมากกว่า 1,830 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 56,730 ล้านบาท) ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ แต่ในปี 2020 (2563) กลับทำรายได้เพียง 300 ล้านดอลลาร์ (9,300 ล้านบาท) ก่อนที่จะปิดตัวลง

เมื่อสถานการณ์โคโรนาไวรัสคลี่คลายลง ชาวอเมริกันได้รับวัคซีนมากขึ้น รัฐบาลท้องถิ่นกรุงนิวยอร์ค จึงอนุญาตให้โรงละครบรอดเวย์ เปิดทำการแสดงได้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ภายใต้มาตรการคือ  ผู้ชมละครต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 และสวมหน้ากากเพื่อเข้าร่วมการแสดง โดยอนุญาตให้เด็กๆ ที่ไม่มีสิทธิ์รับการฉีดวัคซีนเข้าร่วมการแสดงและเข้าชม หากได้รับการทดสอบหาไวรัสเรียบร้อยแล้ว

            รายชื่อละครบรอดเวย์ที่จะเปิดทำการแสดง ในวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน 2021  เช่น 

1. เรื่อง Hamilton: An American Musical เป็นละครเพลงที่ร้องและแร็พโดยลิน-มานูเอล มิแรนดา (Lin-Manuel Miranda) เป็นเรื่องราวของ อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน ซึ่งเป็นรัฐบุรุษ นักการเมือง นักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้บัญชาการทหาร ทนายความ นายธนาคาร และนักเศรษฐศาสตร์ แฮมิลตันเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา มิแรนดากล่าวว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจให้เขียนละครเพลงหลังจากอ่านชีวประวัติของแฮมิลตันในปี 2547 การแสดงนี้ดึงเอาดนตรีแนวฮิปฮอป รวมทั้งเพลงแนวอาร์แอนด์บี ป๊อป โซล และการแสดงสไตล์ดั้งเดิม มีการคัดเลือกนักแสดงที่ไม่ใช่คนผิวขาว แสดงเป็นบุรุษผู้ก่อตั้งและบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ มิแรนดาอธิบายถึงละครแฮมิลตันว่า เกี่ยวกับเรื่อง "อเมริกาที่ผ่านมา และอเมริกาที่เป็นอยู่ปัจจุบัน"

2. Chicago (The musical) ถือได้ว่าเป็นละครบรอดเวย์ที่มีองค์ประกอบตามแบบฉบับของละครบรอดเวย์อย่างสมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ โดยมีเนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวที่เต็มไปด้วยการฆาตรกรรม ความโลภ การคดโกง ความรุนแรง ความเห็นแก่ได้ การคบชู้ ร่วมทั้งการทรยศหักหลัง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ล้วนแล้วเกิดขึ้นจริงในสังคมทุกยุคทุกสมัย เป็นการแสดงที่สะท้อนออกมาเสียดสีสังคมได้อย่างยอดเยี่ยม ผ่านออกมาจากการแสดงการเต้นและการร้องระดับมืออาชีพ รวมทั้งความเป็นทีมเวิร์กของทีมนักแสดง ที่นำเสนอออกมาโชว์ในแต่ละฉากจนสามารถสะกดทุกสายตาของผู้ชมได้อย่างดีเยี่ยม  ละครเรื่องนี้อ้างอิงมาจากชีวิตจริงของสองฆาตกรสาว บิวลาห์ อันนาน และ เบลว่า การ์ทเนอร์ ในช่วงปี 1920 (2463) บิวลาห์ อันนาน ถูกจับเนื่องจากเธอยิงชายชู้ของตัวเอง และคดีของเธอก็กลายมาเป็นที่สนอกสนใจของสื่อ เธออ้างว่าปืนกระบอกนั้นเกิดลั่นขึ้นมาระหว่างที่ทั้งเธอและชู้รักกำลังแย่งปืนกัน ทนายความได้เข้ามามีบทบาทในพลิกคดี จนสองฆาตกรสาวถูกปล่อยตัวออกมาจากคุก และได้รับชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่นิยมอย่างที่เธอทั้งสองคนรอคอย

3. Wicked (The musical) เป็นละครที่สร้างจากนิยายแฟนตาซีในดินแดนของพ่อมดแม่มดออซ (Oz) โดยเอาตัวร้ายมาเขียนใหม่ให้กลับกลายเป็นนางเอก เนื้อเรื่องดัดแปลงจากนิยาย แต่ก็ประสบความสำเร็จล้นหลาม ฉากบนเวทีของ Wicked สวยและอลังการมาก สองข้างเวทีจะเป็นหอบันได แต่งด้วยรูปเครื่องกล ฟันเฟืองขนาดยักษ์ เหนือเวทีมีมังกรเป็นโครงโลหะกางปีกเกาะอยู่เหนือแผ่นที่ดินแดนออซ ที่เขียนแบบโบราณ ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนเป็นดินแดนแห่งเวทมนตร์  เนื้อเรื่องย่อเป็นเรื่องของแม่มดสาวที่เป็นเพื่อนรักกันสองคน แต่รักชายคนเดียวกัน คนหนึ่งกายสีเขียว คนหนึ่งธรรมดา ทั้งสองคนเข้าโรงเรียนเตรียมเวทย์มนต์  แม่มดเขียวเก่งทั้งเรียน ทั้งร่ายเวทย์มนต์  จนพ่อมดอ๊อซ เจ้าของดินเเดน เรียกเธอไปพบเพื่อจะใช้ประโยชน์จากเวทย์มนต์ของเธอ ทำการปกครองดินแดนออซแบบเผด็จการ ทำให้ดินแดนที่สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตเท่าเทียม จะต้องถูกแบ่งเเยกเป็นชนชั้น แม่มดเขียวรับไม่ได้กับเเนวคิดการปกครองแบบนี้  เลยกลายเป็นศัตรูของผู้นำ และหนีไปพร้อมกับพระเอก

4. Waitress (The musical Comedy) ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์ เป็นละครเพลงแนวตลกขบขัน เบาสมอง คลายเครียด เรื่องย่อมีอยู่ว่า เจนน่า เป็นสาวเสิร์ฟชาวใต้ที่มีพรสวรรค์ในการทำพายชั้นเลิศ แต่ชีวิตคู่กลับแสนขมขื่น เพราะ เอิร์ล สามีของเธอนั้นจัดอยู่ในประเภทผู้ชายห่วยแตกและจอมเผด็จการเป็นที่สุด ทั้งนี้เรื่องราวดูจะแย่ลงตรงที่ว่าเจนน่าเกิดท้องขึ้นมา ระหว่างที่เธอกำลังทำอะไรไม่ถูกกับปัญหาตรงหน้า เรื่องราวก็ดูถ้าจะวุ่นวายมากยิ่งขึ้นกับการเข้ามาของหมอจิม  หมอใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในเมืองๆนี้ ผู้รับหน้าที่หมอฝากครรถ์ของเธอเอง ความรักค่อยๆก่อขึ้นระหว่างคนทั้งสอง แต่ผลลัพธ์สุดท้ายอาจไม่เป็นดั่งนิยายชวนฝัน ในเมื่อหมอจิมนั้นแต่งงานแล้ว!

5. Hadestown (The musical) เป็นละครเพลงที่ดัดแปลงจากตำนานเทพนิยายกรีก เรื่องราวความรักของออร์เฟอุส (Orpheus) กับยูไรดิช  (Eurydice)  ออร์เฟอุส (พระเอก) เป็นบุตรครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ เครื่องดนตรีประจำกาย คือ พิณ (Lyre) ที่ไพเราะ สามารถสะกด นก ปลา สัตว์น้ำ ก้อนหินกับต้นไม้ ให้ต้องร่ายรำ ส่วนยูไรดิซ (นางเอก) เป็นนางไม้ที่เคลิบเคลิ้มไปกับเสียงเพลงของอาร์เฟอุส จนยอมปรากฎตัวจากแมกไม้มาพบกันเป็นรักแรกพบ ไม่ยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งห่างจากตัวไปไกล สุดท้ายทั้งสองก็ได้แต่งงานกัน แต่อริสเทซุส (Aristaeus) เทพชั้นรอง ที่แอบรักฝ่ายหญิงทำการแย่งชิงเจ้าสาว จนทั้งสองต้องวิ่งหนี ยูไรดิซ (นางเอก) วิ่งไปเหยียบโดนงูพิษกัดจนเสียชีวิต ด้วยความรักภรรยามาก ออร์เฟอุส (พระเอก) จึงตามวิญญาณคนรักไปยังยมโลก  ผู้ครองยมโลกใจอ่อน ยอมคืนชีวิตให้กับยูรีไดซ์ แต่มีข้อแม้ว่า ออร์เฟอุสต้องเดินนำหน้าภรรยาแต่ห้ามหันมามองนาง ซึ่งออร์เฟอุสก็รับปาก แต่เขาพลาดหันไปมองหญิงสาวสุดที่รักในจังหวะที่เขาปีนปากถ้ำสู่โลกเบื้องบน จนทำให้ภรรยาของเขาต้องจากเขาไปอีกครั้งอย่างไม่มีวันกลับมา ละครเพลงเรื่อง Hadestown นี้ อาศัยโครงเรื่องดังกล่าว แต่ดัดแปลงเรื่องราว ดนตรี เพลงร้อง ให้เป็นแบบยุคปัจจุบัน

6.The Lion King (The musical) สร้างจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นของวอลล์ ดิสนีย์ ในปี 1994 และจากละครเรื่องแฮมเล็ตของวิลเลียม เชคสเปียร์ ละครเพลงเรื่องThe Lion King เป็นเรื่องราวของซิมบ้า (พระเอก) ลูกสิงโตผู้รักการผจญภัยและกระฉับกระเฉง ผู้เป็นราชาแห่ง Pride Lands ดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองและสวยงาม ในทุ่งหญ้าสะวันนาของแอฟริกา เมื่อมูฟาซาพ่อของซิมบ้าถูกฆ่าโดยสการ์ลุงของเขา ซิมบ้าก็เชื่อว่าการตายของพ่อเป็นความผิดของเขา และเขาได้รับการยุยงให้หนีไปตลอดกาล สการ์ได้ยึดอำนาจแทนพ่อของซิมบ้า ดินแดนแห่งความภาคภูมิใจต้องพบกับความมืดและความรกร้างซึ่งมีเพียงซิมบ้าเท่านั้นที่จะช่วยสัตว์ในอาณาจักรได้ นำเสนอเพลงคลาสสิกจากภาพยนตร์เรื่อง "Circle of Life", "I Just Can't Wait to Be King", "Hakuna Matata" และ "Can You Feel the Love Tonight" The Lion King เป็นเรื่องราวและการแสดงเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ครอบครัว และความรับผิดชอบที่ผู้คนทุกวัยชื่นชอบทั่วโลก

7. Come From Away (The musical) ละครเล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิตจริงของชาวเกาะ Gander, เกาะ Newfoundland และผู้โดยสารเกือบ 7000 สายการบิน ที่ถูกบังคับให้ลงจอดที่นั่นเมื่อน่านฟ้าสหรัฐปิดในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 เพราะเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินและบังคับให้ชนตึกเวิลด์เทรด นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา นักแสดงสิบสองคนเล่าเรื่องของชาวเกาะทั้งสองและผู้โดยสารเครื่องบิน เผยให้เห็นถึงความกลัวและความไม่แน่นอนที่มาพร้อมกับการโจมตีของผู้ก่อการร้าย รวมถึงความเอื้ออาทรและความเห็นอกเห็นใจที่ลึกซึ้งของคนแปลกหน้า เพลง Come From Away ผสมผสานทั้งรูปแบบละครเพลงแบบดั้งเดิม ("Me and the Sky", "Stop the World") รวมถึงการเรียบเรียงแบบดั้งเดิมของนิวฟันด์แลนด์ ("Heave Away", "Screech In") ชาวเกาะแตกต่างจากผู้โดยสารที่มาจากที่ต่างๆ นอกเหนือจากการแสดงเหตุการณ์ในสี่วันแล้ว ตัวละครก็ก้าวออกจากเรื่องราวเพื่อบรรยายเหตุการณ์ ฉากในละครมีน้อยมาก โดยใช้โต๊ะเพียงไม่กี่ตัวและเก้าอี้สิบสองตัวเพื่อเป็นเครื่องบิน รถประจำทาง และสถานที่ต่างๆ ภายในเมือง Gander ผู้สร้าง Come From Away ระบุว่านี่ไม่ใช่เรื่องราวในวันที่ 11 กันยายน แต่เป็นเรื่องราวในวันที่ 12 กันยายน ซึ่งเป็นเรื่องราวของคนที่ดีที่สุดต้องฝากถึงกัน และเป็นเครื่องเตือนใจว่าเราทุกคนสามารถทำสิ่งดีๆ ให้กันและกันได้ อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด

8.The book of Mormon (The musical) เป็นละครเพลงสนุกสนาน แฝงแง่คิด เป็นเรื่องราวการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของมิชชันนารีหนุ่ม 2 คน คือ “เอ็ลเดอร์ไพรซ์” ที่มีความสามารถ กระตือรือร้น และ “เอ็ลเดอร์คันนิงแฮม” จอมโง่ที่โกหกในทางพยาธิวิทยา ถูกจับคู่กันและส่งไปยังประเทศยูกันดา เพื่อปฏิบัติภารกิจสองปีที่น่าผิดหวังของมิชชันนารี เพราะดูเหมือนว่าประชากรในท้องถิ่นจะให้ความสำคัญกับความยากจน ความอดอยาก การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และขุนศึกเผด็จการที่อยู่ท่ามกลางพวกเขามากกว่าศาสนา พวกเขากำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ขณะที่เอ็ลเดอร์ไพรซ์ต่อสู้กับความคาดหวังและความสงสัยของเขาเอง เอ็ลเดอร์คันนิงแฮมต่อสู้กับการที่ไม่สามารถจำพระคัมภีร์หรือบอกความจริงได้ เอลเดอร์แมคคินลีย์ต่อสู้กับความเป็นเกย์ของเขา และนาบาลุงกิ สาวสวยชาวยูกันดาต่อสู้เพื่อรักษาความหวังและความฝันของเธอให้คงอยู่ ท่ามกลางความหวาดกลัวและความไม่แน่นอน

9.Dear Evan Hansen (The musical) บอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มที่ชื่ออีวาน (พระเอก) ซึ่งเป็นโรควิตกกังวลทางสังคม ดร. เชอร์แมน นักบำบัดโรคของเขา แนะนำให้เขาเขียนจดหมายถึงตัวเอง โดยเขียนรายละเอียดว่าเขามีอะไรดีๆ บ้างในแต่ละวัน  ไฮดี้ แม่ของเขาแนะนำว่า ให้เขาขอให้ทุกคนเซ็นชื่อที่เฝือกแขนของเขา เพื่อจะได้มีเพื่อนและเป็นการผูกมิตร ต่อมาเกิดเหตุการณ์เพื่อนร่วมชั้นของอีวานชื่อคอนเนอร์ฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า  อีวานพยายามจะปลอบโยนครอบครัวที่โศกเศร้าของเพื่อน เพราะเขาชอบไฮดี้ (นางเอก) น้องสาวของผู้ตาย  เขาแสร้งทำเป็นว่าเขาเป็นเพื่อนที่ดีกับคอนเนอร์ (ซึ่งไม่มีเพื่อนเลยแม้แต่คนเดียว) เขาปลอมจดหมายที่ส่งทางอีเมล์เพื่อพิสูจน์มิตรภาพระหว่างเขากับคอนเนอร์ผู้ตาย ทุกคนเชื่อเขา  อีวานได้เงินทุนจัดทำ “โครงการรำลึกถึงคอนเนอร์” อย่างเป็นทางการ เขากล่าวสุนทรพจน์ที่สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับความเหงาและมิตรภาพของเขากับคอนเนอร์ ซึ่งกลายเป็นกระแสไวรัลอย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์  ขณะที่ชื่อเสียงของอีวานโด่งดังขึ้นในชั่วข้ามคืน เขากลับถูกดึงดูดลึกลงไปเรื่อยๆ ในเรื่องของการโกหก เขาทะเลาะกับแม่ที่เลี้ยงเขามา เขาขาดเยื่อใยกับแม่ เขามีความรัก เขาสนิทสนมกับครอบครัวของแฟนสาวที่ร่าเริงสดใส และที่สำคัญคือเขาไม่ใช่คนที่ไม่มีตัวตนอีกต่อไป แต่ในที่สุด ความจริงเริ่มปิดไม่มิด อีวานถูกบังคับให้ตัดสินใจ ว่าเขาจะอยู่ในโลกแห่งการโกหกที่เขาสร้างขึ้น หรือเขาจะตัดสินใจเปิดเผยความจริงทั้งหมด แต่ต้องสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเคยต้องการ?

10.To Kill A Mockingbird เป็นละครที่เล่าเรื่องย้อนไปในปี ค.ศ. 1935 ในเมืองเมย์คอมป์ (เมืองสมมติ) รัฐแอละแบมา สหรัฐอเมริกา เป็นเมืองที่มีการเหยียดเชื้อชาติเป็นอย่างสูง มีเด็กหญิงผิวขาวคนหนึ่ง ชื่อ ฌอง หลุยส์ ฟินช์ หรือ “สเก๊าท์” ที่ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ไร้กังวลและมีสิทธิพิเศษเพราะเธอเป็นคนผิวขาว     แต่ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อสเก๊าส์เห็นพ่อของเธอ ซึ่งเป็นทนายความผิวขาว ปกป้องทอม โรบินสัน ชายผิวดำผู้บริสุทธิ์ ให้พ้นจากโทษประหารชีวิต สเก๊าท์เริ่มตระหนักว่าการที่สังคมมองว่า “บางสิ่งเป็นความจริง” ไม่ได้หมายความว่า “สิ่งนั้นเป็นความจริง”  และด้วยความช่วยเหลือจากแอตติคัสและเจมส์ พี่ชายของเธอ สเก๊าท์จึงได้เรียนรู้ว่า “การเติบโต” มักจะหมายถึง “การทำสิ่งที่ถูกต้อง” แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงก็ตาม หนังสือ ภาพยนตร์ และละครเรื่อง To Kill A Mockingbird ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของสหรัฐอเมริกา ที่เกี่ยวกับพลังของความไร้เดียงสา ศีลธรรม และความรักในวัยเด็ก 



เอกสารอ้างอิง

 เจตนา นาควัชะ. วรรณกรรมละครของแบร์ทอลท์ เบรชท์ การศึกษาเชิงวิจารณ์.

กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, 2546.

นพมาศ  ศิริกายะ และคณะ. (2528). ศิลปะการละครเบื้องต้น 1-2 ตอนที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 1

หนังสือเรียนวิชาศิลปกรรม ศ 031 032 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2524 ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). ปรัชญากรีกบ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก.

พิมพ์ครั้งที่ 6  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2550.

เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง. คอยโกโดต์. สุดยอดบทละครแนวแอบเสิร์ดโดยแซมมวล

เบ็คเก็ตต์  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2539.

เริง  รณกร และ สวรรญา  อิสราพร (2529). จังหวะก้าวการละครเวที.  สูจิบัตรการแสดง

ละครเวทีเรื่องปล้น(ไม่)เงียบ จัดโดยโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์

ณ ทรินิตี้ ฮอลล์ วันที่ 19 – 30 พฤศจิกายน 2529

สดใส พันธุมโกมล (2531). ศิลปะการละครเบื้องต้น 1-2 ตอนที่ 1. พิมพ์ครั้งที่ 5

หนังสือเรียนวิชาศิลปกรรม ศ 031 032 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2524 ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

สุรพล  วิรุฬห์รักษ์.  นาฏยศิลป์ปริทรรศน์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัย, 2547.

Oscar  G. Brockett. (1974). The Theatre an Introduction.  Third  Edition,

USA : Holt, Rinehart and Winston Inc.

https://board.postjung.com/679253  “ละครโอเปร่า”

สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2564

https://www.greelane.com/th “เฮนริค อิบเซ่น”

สืบค้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564

https://www.greelane.com/th/ “อาเธอร์ มิลเลอร์”

สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564

https://www.thewrap.com/broadway-shows-close-early-coronavirus-shutdown-hangmen-virginia-woolf/

สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564

https://www.cnbc.com/2020/09/29/coronavirus-broadway

สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564

https://deadline.com/2021/09/bcurtain-up-times-square-festival-broadway-concert

สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564

https://www.nytimes.com/2021/07/30/theater/broadway-audiences-vaccine

สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564

https://en.wikipedia.org/wiki/Hamilton_(musical)

สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564

https://americanidiotonbroadway.com/

สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564

https://en.wikipedia.org/wiki/Wicked_(musical)

สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564

https://stageagent.com/shows/musical/1581/the-lion-king

สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564

https://stageagent.com/shows/musical/8452/come-from-away

สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564

https://stageagent.com/shows/musical/1287/the-book-of-mormon

สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564

https://stageagent.com/shows/musical/7745/dear-evan-hansen

สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564

https://stageagent.com/shows/play/2081/to-kill-a-mockingbird

สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น