วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

ความรู้เรื่อง ยักษ์ มาร อสูร กุมภัณฑ์ แทตย์ รากษส ในวรรณคดีไทย


เอกสารประกอบการสอน วิชานาฏศิลป์โขนยักษ์
จัดทำโดย อาจารย์สมภพ  เพ็ญจันทร์ ครู (ชำนาญการพิเศษ)
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
๑๓ เมษายน ๒๕๕๕

 ความรู้เรื่อง ยักษ์ มาร อสูร กุมภัณฑ์ แทตย์ รากษส ในวรรณคดีไทย

 

ความนำ

          ในการฝึกหัดโขนของไทยเรานั้น ปัจจุบันแบ่งนักเรียนฝึกฝนเป็น ๓ กลุ่ม คือ พระ ลิง ยักษ์ (อดีตมีฝึกตัวนาง ปัจจุบันไม่มีแล้ว มักใช้ตัวโขนพระที่มีจริตคล้ายหญิง มาแสดงเป็นตัวนางแทน) การฝึกเป็นตัวพระและตัวลิงนั้น ฝึกให้เป็นฝ่ายธรรมะ คือ ฝ่ายดี ฝ่ายชนะ ส่วนการฝึกหัดตัวยักษ์ จะอยู่ฝ่ายอธรรม คือ ฝ่ายชั่ว ฝ่ายที่ถูกปราบจนพ่ายแพ้  แล้วจริงๆ ยักษ์ เป็นฝ่ายชั่วจริงหรือ? เป็นฝ่ายอธรรมจริงหรือ? เอกสารฉบับนี้จะพยายามไขข้องใจดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป ที่ฝึกหัดเป็น “ตัวยักษ์” จะได้รู้ความเป็นมาของตัวแสดงที่ตนเองฝึกฝนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ยักษ์ มาร อสูร กุมภัณฑ์ แทตย์ รากษส คืออะไรกันแน่? 
ก.      ยักษ์, มาร, อสูร, กุมภัณฑ์, แทตย์ คือพวกเดียวกัน     
      คำว่า “ยักษ์” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ กล่าวว่าหมายถึง “อมนุษย์พวกหนึ่ง ถือกันว่ามีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว มีเขี้ยวงอก ใจดำอำมหิต ชอบกินมนุษย์ กินสัตว์ โดยมากมีฤทธิ์เหาะได้ จำแลงตัวได้, บางทีใช้ปะปนกับคำว่า อสูร และ รากษส ก็มี”
      อาจารย์ประจักษ์ ประภาพิทยากร (๒๕๒๙ หน้า ๘๐)  กล่าวว่า “ยักษ์ เป็นภูตจำพวกหนึ่ง เรียกกันว่า อสูร แปลว่าพวกอริกับเทวดา สิ่งมีชีวิตจำพวกนี้ มีทั้งใจดีและใจร้าย รูปร่างน่าเกลียดและน่ากลัว มีเขี้ยวยื่นออกมาจากปาก เป็นลูกพระกัศยป  มีเจ้าหรืออธิบดีชื่อ ท้าวกุเวร อาศัยอยู่ทั้งในสวรรค์และโลกมนุษย์ มีทั้งดีและชั่ว”
       คำว่า “มาร” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๐ กล่าวว่าหมายถึง “เทวดาจำพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ทำบุญ ; ยักษ์”
       คำว่า “กุมภัณฑ์” ในพจนานุกรมฉบับเดียวกันกล่าวว่าหมายถึง “ยักษ์”
       คำว่า “แทตย์” ในพจนานุกรมกล่าวว่าหมายถึง “ยักษ์, อสูร”      อาจารย์ประจักษ์ ประภาพิทยากร (๒๕๒๙ หน้า ๘๐)  กล่าวว่า “แทตย์ เป็นอสูรจำพวกหนึ่ง เป็นลูกของนางทิติกับพระมหาฤาษีกัศยป”



       ส่วนคำว่า “อสุร” “อสุรี” “อสุเรศ” และ “อสูร” ในพจนานุกรมให้ความหมายไว้ดังนี้
                         “อสุร” (อะสุระ)  หมายถึง “อมนุษย์พวกหนึ่งเป็นศัตรูต่อเทวดา, แทตย์ ยักษ์ มาร ผี”
            “อสุรี” หมายถึง “อสูร, ยักษ์”
                     “อสุเรศ” หมายถึง ยักษ์
                             “อสูร” หมายถึง  “ยักษ์”   
        อาจารย์ประจักษ์ ประภาพิทยากร (๒๕๒๙ หน้า ๑๘๑)  กล่าวว่า คำว่า “อสูร” หรือ “อสุรา” แปลว่า “ผู้ไม่ดื่มสุรา, ผู้เห็นโทษของสุรา”  เรื่องราวมีอยู่ว่า เดิมอสูรนั้น เป็นพระอินทร์อยู่ในสรวงสวรรค์ มีนิสัยชอบดื่มสุรากับพวกเทวดาอยู่เป็นนิจ  ต่อมามีมนุษย์ชื่อ มฆะ กับพวก ๓๓ คน ประกอบกรรมดี ๗ ประการ คือ  อุปการะพ่อแม่   เคารพผู้สูงอายุ   เจรจาด้วยคำหวาน   ไม่พูดให้ร้ายผู้ใด    ยินดีในการบริจาค   มีสัตย์   และระงับโทสะจริต
               ด้วยกรรมดีดังกล่าว และกรรมดีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ทำศาลาพักร้อน บ่อน้ำ ฯลฯ มฆะกับพวกทั้ง ๓๓ คน จึงได้ไปเกิดเป็นเทวดาในสรรค์ชั้นดาวดึงส์  มฆะได้เป็นพระอินทร์ (พระอินทร์จึงมีชื่อเรียกว่า ท้าวมัฆวาน) เพื่อนๆ อีก ๓๒ คน ได้เป็นเทวดา เช่น พระมาตุลี (มีหน้าที่ขับรถ) พระเวสสุกรรม (นายช่าง) พระสุริยะ พระพิรุณ เป็นต้น
               กล่าวถึงพระอินทร์เก่ากับพวกที่ชอบดื่มเหล้า เมื่อรู้ว่ามฆะมานพกับพวกมาเกิดเป็นเทวดา ก็จัดสุรามาเลี้ยงดูกันเป็นที่สำราญ พระอินทร์ใหม่กับพวกไม่ยอมดื่ม ปล่อยให้พระอินทร์เก่ากับพวกเมามายจนไม่สติ พระอินทร์ใหม่กับพวกก็จับเหวี่ยงลงจากสวรรค์  ถึงกาลสิ้นบุญไม่ได้เป็นพระอินทร์ กลายเป็น “อสูร”   มีถิ่นที่อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ   พระอินทร์เก่าได้ชื่อว่า   “ท้าวเวปจิต”   หรือ “ท้าวไพจิตราสูร”   หรือ
“ท้าวเนวาสิกาสูร” เป็นหัวหน้าของอสูรทั้งหลาย  พระอินทร์เก่าและเทวดากลุ่มนี้ เห็นโทษของการดื่มสุรา จึงเลิกโดยเด็ดขาด เลยได้ชื่อว่า “อสุรา” หรือ “อสูร” คือ ผู้ไม่ดื่มสุราอีกต่อไป นั่นเอง

ข.      รากษส (อ่านว่า ราก-สด)    
       ในหนังสือสมญาภิธานรามเกียรติ์ กล่าวถึงนางกากนาสูร  ชิวหา  มารีศ ฯลฯ ว่า “เป็นรากษสแห่งกรุงลงกา” นักเรียนทราบหรือไม่ว่า “รากษส” คือใคร? แตกต่างจากยักษ์หรืออสูร อย่างไร?
       คำว่า “รากษส” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๐ กล่าวว่าหมายถึง        “ยักษ์ร้าย, ผีเสื้อน้ำ”
                     อาจารย์ประจักษ์ ประภาพิทยากร (๒๕๒๙ หน้า ๑๘๑)  กล่าวว่า รากษสเป็นอสูรจำพวกหนึ่ง ซึ่งมีทั้งดีและชั่ว อาศัยอยู่ตามป่าช้า ชอบกวนพวกพราหมณ์ในขณะทำพิธี มักกวนพราหมณ์ผู้ตั้งใจสมาธิ เข้าสิงในซากศพ กินคน และรบกวนให้ร้ายแก่มนุษย์ในอาการต่างๆ คัมภีร์ปุราณะว่า เกิดแต่ “รากษะพราหมณ์” ผู้เป็นลูกพระกัศยปกับนางขศา
                     ในหนังสือ “เทวโลก” เขียนโดย “พลูหลวง” (๒๕๓๐ หน้า ๑๐๓)  กล่าวว่า รากษสเป็นอมนุษย์ ผู้เคยรบกับพระอินทร์และเทวดา หลังจากการพ่ายแพ้อย่างยับเยินครั้งสุดท้าย พวกรากษสได้หนีลงไปซ่อนตนอยู่ภายใต้น้ำ ใต้ทะเล ใต้ห้วยหนองคลองบึง มีกล่าวถึงรากษสอยู่ในคัมภีร์ฤคเวท
                 ตามคัมภีร์กล่าวว่า พวกรากษส อาจปรากฏในรูปของสุนัข นกฮูก นกกลางคืน ลิง และอีแร้ง (น่าจะรวมถึงอีกา ซึ่งเป็นเหตุผลว่า นางกากนาสูรในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีชาติเป็นอีกา ถูกระบุว่าเป็นรากษส มิใช่ยักษ์ ทำให้ลูกชาย คือชิวหาและมารีศ เป็นรากษสด้วย) พวกนี้จะห้อมล้อมวนเวียนรอบเจ้าสาว เขาจึงต้องมีพิธีโยนเสี้ยนขึ้นไปบนอากาศ เพื่อทำให้ตำตาเหล่ารากษส

สรุป
ยักษ์ มาร อสูร กุมภัณฑ์ แทตย์ รากษส  เป็นฝ่ายตัวร้าย หรือ ฝ่าย “อธรรม” ในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งคอยทำร้าย ขัดขวาง ฝ่ายพระรามและพลลิง ซึ่งเป็นฝ่ายดี หรือ ฝ่าย “ธรรมะ”  เมื่อคำว่า ยักษ์ มาร อสูร กุมภัณฑ์ แทตย์ รากษส  มาอยู่ในความเชื่อของสังคมคนไทย  ก็มีการวาดภาพให้    ยักษ์ มาร อสูร กุมภัณฑ์ แทตย์ รากษส  ดูน่าเกลียดน่ากลัว  เพื่อให้คนไทยซึ่งนับถือศาสนาพุทธ ไม่ปฏิบัติความชั่ว ยึดมั่นแต่ทำความดี เพื่อมิให้ต้องเกิดเป็น   ยักษ์ มาร อสูร กุมภัณฑ์ แทตย์ รากษส  ที่น่าเกลียดน่ากลัวในชาติหน้า แม้แต่จิตใจของคนเราแต่ละคน ก็มีทั้ง “ฝ่ายเทพ-ฝ่ายมาร” หรือ “ความดี-ความชั่ว” อยู่ในตัว ดังนั้น นักเรียนพึงพิจารณาว่าตัวเองนั้นประพฤติดี เลิกทำความชั่ว ในแต่ละวัน หรือไม่? 
ในส่วนของนักแสดงฝ่ายยักษ์นั้น ก็พึงเข้าใจในบุคลิกของ  ยักษ์ มาร อสูร กุมภัณฑ์ แทตย์ รากษส  เพื่อนำมาเลียนแบบในการแสดง เพื่อให้คนดูได้เห็นลักษณะการแสดงที่สมบทบาทมากที่สุด เพื่อคุณภาพในการแสดงและคุณภาพของเราเอง



เอกสารอ้างอิง
ประจักษ์  ประภาพิทยากร. เทวดานุกรมในวรรณคดี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๙.
พลูหลวง. เทวโลก.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๓๐.
ราชบัณฑิตยสถาน.  พจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕.  กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์,
๒๕๓๐.


1 ความคิดเห็น: