วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

กลองแซะและฟ้อนเจิงมือเปล่า พ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ โดยสมภพ เพ็ญจันทร์


กลองแซะและฟ้อนเจิงมือเปล่า
ของพ่อครูคำ  กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕

กลองแซะ เป็นกลองขึงสองหน้า เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ตัวกลองสูง (หรือหนา) ประมาณ ๒๐ เซนติเมตร การขึงกลองใช้สลัก หรือ ลิ่ม (คำเมือง เรียกว่า แซ่)
การตีกลองแซะ ใช้ไม้ไผ่ ๒ อัน  มือขวาตีด้วยไม้ไผ่ ขนาดยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร มีลักษณะแบน กว้างประมาณ ๔ เซนติเมตร ไม่หนามากนัก ส่วนมือซ้ายตีด้วย “ไม้แซะ” มีลักษณะเป็นไม้ไผ่ ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ลักษณะแบน แต่ปลายไม้ใช้มีดผ่าให้เป็นซี่เล็กๆ เหตุผลเพราะ เวลาตีกลองจะมีเสียงดัง “แซะ” แทนเสียงฉาบ
เครื่องประกอบจังหวะในการตีแซะ ใช้เฉพาะโหม่ง ไม่มีฉาบใหญ่หรือฉว่า เหมือนกลองสะบัดชัย หรือกลองล้านนาชนิดอื่นๆ
พ่อครูคำ  กาไวย์ (สัมภาษณ์ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๔) กล่าวว่า กลองแซะ เป็นกลองที่มีมานานแล้วนับ ๑๐๐ ปี เป็นกลองชนิดแรกๆ ของล้านนาที่พ่อครูคำเคยได้เห็น ได้ยินเสียง และได้ฝึกตี  โดยตอนเด็กๆ ขณะพ่อครูคำอายุ ๗-๘ ขวบ เมื่อมีงานปอยบวชลูกแก้ว (บวชเณร – คนล้านนา นิยมบวชเณรเป็นงานใหญ่โต ในขณะที่บวชพระกลับไม่ใหญ่โตเท่า แตกต่างจากภาคกลาง ที่จะงานบวชพระจะจัดใหญ่มาก ส่วนบวชเณรจะไม่เอกิเกริกเท่า) พ่อครูคำ  จะได้ยินเสียงตีแซะลอยมาไกลๆ พ่อครูก็จะปีนไม้ (ต้นมะขาม?) ขึ้นไปสูงๆ แล้วเงี่ยหูฟังว่า กลองมาจากทิศทางไหน แสดงว่างานปอยบวชลูกแก้วอยู่ทางทิศนั้น วันรุ่งขึ้นพ่อครูคำ ก็จะไปแอ่ว (ไปเที่ยว) ในงานเป็นที่สนุกสนาน
พ่อครูคำ กล่าวต่อไปว่า กลองแซะ นั้นมีมาก่อนกลองใดๆ ทั้งหมด ต่อมาก็เป็นกลองสิ้งบ่อม (กลองยาวของล้านนา) กลองปู่เจ่ (ของไต หรือไทยใหญ่) และกลองสะบัดชัย ตามลำดับ เมื่อมีกลองอื่นๆ เข้ามา กลองแซะก็ค่อยๆ เลือนหายไป จนถึงขณะนี้ (พ.ศ.๒๕๕๔) หาคณะหรือคนตีกลองแซะได้น้อยมาก ยังมีคณะพ่อครูคำ  กาไวย์ ที่อนุรักษ์ไว้ได้
กลองแซะ นิยมตีประกอบการฟ้อนเจิงมือเปล่า ฟ้อนดาบ และตีในขบวนแห่ลูกแก้วจากบ้านไปที่วัด หรือพาลูกแก้วไปแอ่ว (พาลูกแก้วหรือเด็กที่จะบวชเณรไปเยี่ยมบ้านต่างๆ เพื่อบ้านนั้นๆ จะได้ทำบุญ คนล้านนาเชื่อกันว่าทำบุญกับลูกแก้วได้บุญเยอะ) 

กระบวนท่าฟ้อนเจิง (มือเปล่า) ของพ่อครูคำ  กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ
ใช้แสดงรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๒ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา  ผมทำคำแปลเป็นภาษาไทยกลางไว้  อาจจะความหมายผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ก็เป็นไปในทำนองนี้ หรือแนวทางนี้ ถ้าปรับอีก ๒-๓ ครั้ง หรือสัมภาษณ์พ่อครูคำ กาไวย์ อย่างจริงๆ จังๆ สัก ๒-๓ ครั้ง ก็น่าจะได้ความหมายที่ถูกต้องใกล้เคียง โดยอาจจะต้องศึกษาเอกสารอื่นๆ เช่น พจนานุกรมล้านนา มาเทียบเคียงด้วย
ท่าที่ ๑          ตบขนาบ (ขะ-หนาบ) เกี้ยวเกล้าลายทาง
(ตบขนาบ คล้ายกับ ตบมะผาบ แต่ตีมือไปที่หน้าอก แขน ข้อศอกส่วนคำว่า “ลายทาง” = เดินไปตามทาง, เส้นทาง, ถนนหนทาง)
ท่าที่ ๒          เสือลากหาง  เหลียวเหล่า
(เหล่า = ป่าละเมาะ  ป่าที่ไม่รกทึบนัก ป่าที่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน) 
ท่าที่ ๓          แม่ฮ้อยคำ  เล่าตี๋ไป
(แม่ฮ้อยคำ =  ท่าที่อันตราย ถ้าไม่ให้เงิน (คำ) ๑ พวง ครูจะไม่ต่อท่าฟ้อนนี้ให้  ส่วนคำว่า “เล่า” มาจาก “เล่าลือ” และคำว่า  ตี๋ แปลว่า ตี)
ท่าที่ ๔          แม่หมอบไหว  หลบหลีก
(หมอบลงไป แล้วทำท่าเหมือนหลบหลีกคู่ต่อสู้) 
ท่าที่ ๕          ก๋าตากปีก  บินบน
(ก๋าตากปีก คือ กาตากปีก   บินอยู่บนท้องฟ้า) 


ท่าที่ ๖          บ่าผาบมน  ลายถี่
(บ่าผาบ = ตบมะผาบ  , มน = หมุนไปรอบตัว  ถี่ = กระชั้นชิดกัน ตบติดต่อกันไปถี่ๆ เร็วๆ) 
ท่าที่ ๗          จ๊องนางกี้  เวียนวน
(จ๊อง = ช้องผม   นาง = ผู้หญิง  กี้ = คลี่ผม  ม้วนผมหมุนวนไป) 
ท่าที่ ๘          เสือหมอบยน  ใส่เญื่อ
(ยน = กระโจน  เญื่อ = เหยื่อ) 
ท่าที่ ๙          บ่ก่ำเครือ   ยุ่มผุก
(บ่ก่ำ = มะกล่ำ ลูกแดงๆ จุดดำ ,  ยุ่ม = กอบ, โกย , ผุก ผ็อก =      ปาใส่ โยนใส่  แปลทั้งหมดว่า กอบหรือโกยลูกมะกล่ำเครือ แล้วปาใส่คู่ต่อสู้ เหมือนโกยฝุ่นขว้างใส่ตาคู่ต่อสู้ )
ท่าที่ ๑๐        บ่าผาบตุ๊บ    เหลียวหลัง
(บ่าผาบ = ตบมะผาบ, ตุ๊บ = ทุบ   ท่านี้เอามือทั้งสองตบมะผาบที่กลางหลัง (หัวไหล่) แล้วเอี้ยวตัวเหลียวมอง ) 
ท่าที่ ๑๑        เกิ้ดเกิ้งกั๋น    ฟ้าผ่า
(เกิ้ดเกิ้ง = ป้องกัน,  กั๋น = กัน   ท่านี้เอามือทั้งสองไขว้กั้นศีรษะตนเอง  เหมือนกลัวฟ้าผ่า) 
ท่าที่ ๑๒        วิ้ดวิ่งล่า         เลยไป
(วิ้ด = กระโดดข้าม ,  ท่านี้ต่อจากท่า ๑๑ เกิ้ดเกิ้งกั๋น  ฟ้าผ่า  โดยเดินหมุนเป็นวงกลมทวนเข็มนาฬิกา) 
 (ท่าก่อนจับดาบ)
(ก)      สาวไหมลายงาม   ซึบซาบ
(เป็นกระบวนท่าสาวไหมแบบครูคำ  กาไวย์ มีความสวยงามยิ่ง) 
(ข)      ตบบ่าผาบ จ๊างต้อดงวง
 (จ๊างต๊อดงวง = ช้างทอดงวง   เป็นลีลาตบมะผาบแบบหนึ่ง) 
สมภพ  เพ็ญจันทร์
๒๙ พฤศจิกายน  ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น