เอกสารประกอบการสอน
วิชา
ศ ๔๐๒๐๑ นาฏศิลป์ไทยวิจักขณ์ ระดับชั้น ปวช.๑
จัดทำโดย
คุณครูสมภพ เพ็ญจันทร์
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
มารยาทในการเป็นผู้ชมที่ดี
ผู้ชม
เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของละคร เพราะหากขาดผู้ชมแล้ว
ความพยายามของผู้เขียนบทละคร ผู้แสดง ผู้กำกับการแสดง ผู้ออกแบบและสร้างฉาก
และผู้ร่วมงานในด้านการจัดเสนอละครทุกคน
ในการที่จะสร้างสรรค์ละครที่ดีมีคุณค่าก็จะไร้ความหมาย ศิลปะทุกชนิดที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมา
มีจุดประสงค์ที่จะสื่อสารต่อมนุษย์ด้วยกันให้ได้รับรู้ในความคิดอ่าน ความรู้สึก
ความงาม หรือคุณธรรมที่มีอยู่ในศิลปะนั้นๆ
ผู้ชมละคร คือ ผู้ที่รับรู้คุณค่าของละคร
มีปฏิกิริยาตอบโต้ ได้รับแง่คิด ความเห็นที่อาจไปกล่อมเกลานิสัยใจคอ รสนิยม
หรือเจตคติของตนที่มีต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิต ในขณะเดียวกันเมื่อผู้ชม คือ
ผู้ที่วิจักขณ์ (แปลว่า ที่รู้แจ้ง ที่เห็นแจ้ง ฉลาด มีสติปัญญา เชี่ยวชาญ ชำนาญ)
และวิจารณ์การละคร
ปฏิกิริยาของผู้ชมที่มีต่อละครจึงกลับมามีอิทธิพลต่อผู้สร้างสรรค์ละครเป็นอย่างมาก
เมื่อผู้ชมมีความสำคัญยิ่งต่อการแสดงโขน-ละคร
ดังนั้น ผู้ชมเองก็ต้องมีมารยาทที่ดีในการชมโขน-ละคร
ในที่นี้จะขอแนะนำมารยาทที่ดีโดยทั่วไปของผู้ชมโขน-ละครให้นักเรียนนำไปประพฤติปฏิบัติ
เพื่อว่าเวลานักเรียนไปดูโขน-ละครจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
ในการไปชมการแสดงโขน-ละครนั้น มีข้อปฏิบัติ
๓ ขั้นตอนใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ก่อนรับชมการแสดง ขณะชมการแสดง และหลังชมการแสดง
ก. ข้อปฏิบัติก่อนรับชมการแสดง
๑. ตรวจสอบวัน
เวลา สถานที่แสดงให้ชัดเจน กำหนดเส้นทางการเดินทาง พาหนะที่จะเดินทาง
เผื่อเวลาการจราจรที่คับคั่ง โดยควรไปถึงก่อนเวลาแสดงไม่น้อยกว่า ๔๕ นาที
๒. แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย
ไม่นุ่งกางเกงขาสั้น เสื้อแขนกุด สวมรองเท้าแตะ โดยดูให้เหมาะสมกับกาละ (เวลา)
และเทศะ (สถานที่) ควรเตรียมเสื้อผ้ากันหนาวไปให้พร้อม
กรณีดูในโรงละครที่ติดแอร์คอนดิชั่น
๓. รับประทานอาหาร
น้ำดื่ม แต่พอเหมาะ ไม่มากไม่น้อย หรือรสจัดเกินไป เพราะอาจทำให้ท้องเสีย ท้องร่วง
หรือเกินอาการหิวจัดได้
เพราะการแสดงโขน-ละครในดรงละครส่วนใหญ่จะใช้เวลาใม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมง
๔. ทำธุระส่วนตัว
เข้าห้องน้ำ ให้เรียบร้อยล่วงหน้าก่อนการแสดงอย่างน้อย ๓๐ นาที
๕. เข้าประจำที่นั่งก่อนการแสดงจะเริ่มล่วงหน้าอย่างน้อย
๑๕ นาที
๖. ปิดโทรศัพท์มือถือ
ก่อนจะเข้าโรงละคร หากจะพูดคุยธุระให้คุยให้เสร็จสิ้นก่อนเข้าไปในโรงละคร
๗. ขณะรอทำการแสดง
และมีแสงสว่างเพียงพอ ควรอ่านสูจิบัตรให้ครบทุกหน้า ตรวจดูรายชื่อนักแสดง
ผู้กำกับการแสดง อ่านเนื้อเรื่องย่อ ฉาก ที่จะแสดง
เพื่อช่วยให้การชมการแสดงเป็นไปอย่างราบรื่น และมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้
๘. ถวายความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี
โดยยืนนิ่ง ห้ามพูดคุยส่งเสียงดัง
ข. ข้อปฏิบัติขณะชมการแสดง
๑. ก่อนเริ่มการแสดง
หากมีพิธีกร หรือมีพิธีการที่สำคัญ ต้องให้เกียรติพิธีกรและพิธีการนั้น
โดยการตั้งใจฟัง หรือปรบมือในเวลาที่เหมาะสม
๒. เมื่อเริ่มเปิดฉากหรือเปิดม่านทำการแสดงในทุกฉาก
ต้องปรบมือให้เกียรติการแสดงและผู้แสดงด้วยความเต็มใจ
เช่นเดียวกับเมื่อจบฉาก ปิดม่าน ปิดไฟ หรือตัวแสดงเข้าโรง
๓. มีสมาธิ
ตั้งใจชมการแสดง โดยเฉพาะตั้งใจฟังบทร้อง บทพูด บทพากย์-เจรจา
ซึ่งจะสื่อความหมายให้ผู้ชมได้เข้าใจหรือรับรู้ถึงอารมณ์ของผู้แสดง
๔. ไม่พูดคุย
วิพากษ์ วิจารณ์การแสดง ขณะผู้แสดงทำการแสดงอยู่บนเวที
๕. ในธรรมเนียมการแสดงโขน
เมื่อผู้แสดงทำท่าขึ้นลอย ผู้ชมจะต้องปรบมือให้กำลังใจ
๖. เมื่อมีผู้แสดงออกมาใหม่ในฉากนั้นๆ
จะต้องปรบมือให้กำลังใจ เช่น พระรามจะออกตรวจพล หลังจากพญาวานรตรวจพลแล้ว ก็ต้องปรบมือต้อนรับและให้กำลังใจผู้แสดงเป็นพระรามด้วย
เป็นต้น
๗. ควรตั้งใจดูนักแสดงที่เราสนใจเป็นพิเศษ
เพื่อติดตามดูบทบาท การพูด บุคลิกลักษณะ เรื่องราว ชีวิต ของตัวแสดงตัวนั้นๆ จะทำให้เรามีความสนุกในการดูโขน-ละคร
๘. ในฐานะนักเรียน
เรียนอยู่ในวิทยาลัยนาฏศิลป ควรจะดูการแสดงให้ลึกซึ้งกว่าคนดูทั่วไป เช่น
นักเรียนวิชาเอกโขน-ละคร ควรดูลีลาท่ารำ การตีบท รำหน้าพาทย์ ท่วงทำนองการพูด
การพากย์-เจรจา การเข้า-ออกของตัวละคร การสอดแทรกระบำ การแปรแถว เสื้อผ้า
เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ฯลฯ ส่วนนักเรียนวิชาเอกดุริยางค์ไทย ควรดูวิธีการบรรเลงประกอบการแสดง
ท่วงทำนองเพลง การบรรจุเพลง อารมณ์เพลง จังหวะของเพลง การขับร้อง
การแต่งตัวของนักดนตรี เป็นต้น
๙. ในฐานะนักเรียนทางศิลปะ
นักเรียนควรสังเกตในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ฉาก เทคนิคพิเศษ เสียงประกอบ แสงประกอบ
อุปกรณ์บนเวที การจัดที่นั่งของคนดู การบริการคนดู การจำหน่ายตั๋ว ฯลฯ
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในวิชาชีพของนักเรียนในอนาคต
๑๐. เมื่อมีการหยุดพักครึ่งเวลา (Intermission)
ประมาณ ๑๕ นาที ควรรีบเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำ โทรศัพท์ หรือทำธุระอื่นๆ
ให้เรียบร้อย และรีบเข้าประจำที่นั่งก่อนการแสดงจะเริ่มขึ้น
๑๑.
อย่าลุกเข้า-ออกระหว่างทำการแสดง เพราะรบกวนสมาธิของคนอื่นๆ และเป็นการเสียมารยาทอย่างมากด้วย
๑๒. โรงละครทุกแห่งจะห้ามนำน้ำดื่ม
อาหาร เข้าไปรับประทานในโรงละคร จึงไม่ควรละเมิดข้อห้ามโดยเด็ดขาด
๑๓. เมื่อการแสดงโขน-ละครจบแล้ว
อย่ารีบลุกในทันที ควรสังเกตว่าจะมีพิธีการต่อไปหรือไม่
ปัจจุบันนิยมให้ผู้แสดงทุกคน ออกมาขอบคุณผู้ชมทีละกลุ่ม ผู้ชมต้องให้เกียรติโดยการปรบมือ
และอาจมีตัวแทนผู้ชมขึ้นไปมอบช่อดอกไม้ให้ผู้แสดง และผู้กำกับการแสดง
ค. หลังจากชมการแสดง
๑. สำรวจดูบริเวณที่นั่ง
ว่าหลงลืมหรือทำสิ่งของตกหล่นหรือไม่ หากมีขยะก็ต้องเก็บให้เรียบร้อย
๒. ขณะเดินออกจากโรงละคร
ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์การแสดงหรือผู้แสดงในทันที
เพราะอาจทำให้เกิดการขัดแย้งกับคนดูคนอื่น ที่ไม่เห็นด้วยกับเราก็ได้
๓. บันทึกข้อคิด
ความทรงจำ เรื่องราวดีๆ คำพูดดีๆ คำสอนใจดีๆ ที่เราได้รับจากโขน-ละคร ในวันนั้นในทันทีที่มีโอกาส
อย่าปล่อยเวลาเนิ่นนานหลายวัน จะทำให้เราหลงลืมสิ่งดีๆ นั้นหมด
ซึ่งนับว่าน่าเสียดายเป็นย่างยิ่ง
๔. เก็บสูจิบัตร
ภาพถ่าย ซีดีที่ระลึก บันทึกความรู้ที่เราได้รับ ลงในแฟ้มให้เป็นระบบ
สามารถนำมาใช้ได้ในทันทีเมื่อถึงเวลาที่เราต้องการ
สรุป
ข้อปฏิบัติทั้งหมดนี้
เป็นข้อปฏิบัติโดยทั่วไปของการชมการแสดงโขน-ละคร ซึ่งอาจมีข้อปฏิบัติ ข้อห้าม
อื่นๆ อีก ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานที่หรือการแสดงครั้งนั้นๆ เช่น การแสดงบางแห่งห้ามถ่ายภาพขณะทำการแสดง
เพราะเป็นเรื่องของการทำธุรกิจ การละเมิดลิขสิทธิ์ หรือมารยาทในโรงละครนั้นๆ ในบางครั้ง
หากเป็นการแสดงรอบพิเศษหรือรอบเสด็จพระราชดำเนินของพระราชวงศ์ชั้นสูง
ก็อาจมีการกำหนดการแต่งกายไว้ในบัตรเข้าชมด้วย
ซึ่งนักเรียนจะต้องทำการศึกษาล่วงหน้าให้ละเอียด มิฉะนั้น
อาจไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าชมการแสดงในรอบนั้นๆ ได้
มารยาทในการชมการแสดงโขน-ละคร
ถือว่าเป็นมารยาทของบุคคลที่มีการศึกษาแล้ว
เป็นมารยาทที่ประพฤติปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวทั่วโลก ดังนั้น
เมื่อนักเรียนมีโอกาสเข้ารับการชมการแสดงโขน-ละครของไทย
หรือรับชมการแสดงของชาติอื่นๆ หากนำข้อปฏิบัตินี้ไปใช้
ก็จะทำให้นักเรียนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีการศึกษา เป็นอารยะชน คือ
เป็นผู้เจริญแล้ว นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
วิชาการ,กรม. (๒๕๒๙) หนังสือเรียนศิลปกรรม
ศิลปะการละครเบื้องต้น ๑-๒ ตอนที่ ๑
ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น