เอกสารประกอบการสอนวิชานาฏศิลป์โขนยักษ์
รวบรวมโดย ครูสมภพ เพ็ญจันทร์
ครู (ชำนาญการพิเศษ)
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
๑๓ เมษายน
๒๕๕๔
รำตรวจพลโขนยักษ์
การแสดงโขน
เนื้อหาสำคัญเป็นการจำลองรูปแบบของการจัดทัพ
และยุทธกรีฑาของกองทัพในสมัยโบราณ
อย่างน้อยที่สุดรูปแบบที่ปรากฏอยู่
เชื่อกันว่าเป็นรูปแบบของการจัดทัพในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ถึงต้นรัตนโกสินทร์ ตามหลักฐานที่ปรากฏคือจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ราชทูตชาวฝรั่งเศส
โขนมีมานานแล้วไม่น้อยกว่ารัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สันต์ ท.โกมลบุตร, ๒๕๔๘)
การจัดทัพในระยะนี้
เน้นความสำคัญอยู่ที่นายทัพ หรือแม่ทัพเป็นประการสำคัญ บุคคลผู้เป็น
นายทัพนี้จะมีอำนาจสูงสุด
และจะอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญที่สุดของกองทัพ คือ ทัพหลวง จากนั้นจึงลดหลั่นความสำคัญไปในตำแหน่งรองฯ คือ
ทัพหน้า และทัพหลัง ซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญในกองทัพ
ดังที่กล่าวแล้วว่า
เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ของการแสดงโขน
มุ่งที่การทำศึกสงครามซึ่งความงดงามอยู่ที่กระบวนการจัดทัพตรวจพล สามารถสะท้อนภาพของการจัดทัพในการทำสงคราม
ในยุคต้นรัตนโกสินทร์อย่างเด่นชัด
การตรวจพล
หมายถึง ขั้นตอนและวิธีการจัดเตรียมกองทัพให้พร้อมที่จะทำศึกสงครามกับฝ่ายศัตรู
การแสดงโขนในสมัยโบราณ เมื่อยังยังเป็นมหรสพของแผ่นดิน ขึ้นตรงกับกระทรวงวังนั้น
จากคำบอกเล่าของครูทรวง ปรางโพธิอ่อน ศิลปินโขนสังกัดกระทรวงวัง
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ท่านเล่าให้ฟังว่า การตรวจพลในยุคนั้น มีความประณีตวิจิตรบรรจงมาก
งามทั้งไพร่พลบริวาร งามทั้งตัวนายที่เต้นตรวจพล
เป็นการประกวดประขันอวดฝีมือของกองทัพแต่ละฝ่าย ฝ่ายยักษ์นั้นเล่าก็เข้มแข็งดุดัน
ทรงอำนาจราชศักดิ์อย่างยิ่งใหญ่ ฝ่ายพลับพลา คือ พระราม พระลักษมณ์ ก็สง่างามผึ่งผาย
แวดล้อมไปด้วยพญาวานรที่เข้มแข็งหาญกล้า
สิบแปดมงกุฎแต่ละนายก็คล่องแคล่วว่องไว
เขน และคนธงก็กล้าแกร่งไม่แพ้ฝ่ายยักษ์
กล่าวง่ายๆ ขั้นตอนการตรวจพลนั้น เป็นหัวใจของการแสดงโขนอย่างแท้จริง
การจัดลำดับความสำคัญในกองทัพ
(เรียงตามลำดับท่าเต้นตรวจพล)
กองทัพทศกัณฐ์
๑.
ธงยักษ์
๒.
เขนยักษ์
๓.
เสนายักษ์
๔.
ยักษ์เสนา
(มโหทร เปาวนาสูร)
๕.
จอมทัพ
(ทศกัณฐ์)
กองทัพยักษ์ตนอื่นๆ
๑.
ธงยักษ์
๒.
เขนยักษ์
๓.
เสนายักษ์
๔.
จอมทัพ
๑. ธงยักษ์
“ธง”
ที่มีความหมายเกี่ยวกับการทหาร ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ผืนผ้า โดยมากเป็นสีและบางอย่างมีลวดลายเป็นรูปต่างๆ
สำหรับใช้เป็นเครื่องหมายบอกตำแหน่งในราชการ เช่น ธงแม่ทัพนายกอง ฯลฯ
ธงที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ทหารและการรบ เช่น ธงชัย ธงชัยเฉลิมพล ธงชาย
ธงมหาราชใหญ่ ฯลฯ
“ธงชัย”
หมายถึง ธงซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะ
“ธงชัยเฉลิมพลทหารบก”
มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ ๗๐ เซนติเมตร ตรงกลางผืนธงมีรูปอุณาโลมทหารบก
และมีชื่อหน่วยทหารสีแดงขลิบริมสีเหลือง เป็นแถวโค้งโอบใต้อุณาโลม
ผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎ
และเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง
ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมสีเหลือง รัศมีสีฟ้า
ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลืองกว้าง ๒
เซนติเมตร
“ธงชาย”
หมายถึง ธงรูปสามเหลี่ยมใช้ในกองทัพบก (ปรากฏในคำพากย์รถยักษ์ว่า “พระที่นั่งบัลลังก์เลิศเฉิดฉาย งอนระหงธงชาย ปลิวคว้างมากลางเมฆา)
“ธงมหาราชใหญ่” ธงสำหรับพระมหากษัตริย์
รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นสีเหลือง
มีรูปพระครุฑพ่าห์ สีแดงอยู่ตรงกลาง
สำหรับ
“ธงยักษ์” ในการแสดงโขนของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ นั้น เป็นธงรูปสามเหลี่ยม
พื้น สีแดง ขลิบเหลือง ตรงกลางปักเป็นรูปลายกนกหน้ายักษ์ ตัวยักษ์ที่ถือธงไม่ปรากฏชื่อ
(ลิงที่ธงธงทัพของพระราม เป็นสิบแปดมงกุฎ ชื่อ ไชยามพวาน) สันนิษฐานว่า
การใช้ธงยักษ์รูปสามเหลี่ยม
เพื่อไม่ให้เหมือนกับธงชัยเฉลิมพลหรือธงมหาราชใหญ่ของจริง ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้เหมาะสมกับการแสดง
เมื่อดูไกลๆ จะเห็นได้ชัด ส่วนการปักเป็นรูปกนกหน้ายักษ์คงไม่มีความหมายอะไร
เพียงแต่ให้ทราบว่าเป็นฝ่ายยักษ์เท่านั้น (ฝ่ายพระรามเป็นรูปกงจักร หมายถึง
ทัพพระจักรี หรือทัพพระราม หรือพระนารายณ์ นั่นเอง) แต่นี่ก็เป็นการสันนิษฐานของผู้เขียนเท่านั้น
ไม่มีหลักฐานที่มาแต่อย่างใด
๒. เขนยักษ์
“เขน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
แปลว่า “เรียกพวกโขนพวกหนึ่ง ออกเต้นเป็นพลรบเมื่อเวลายกทัพ เรียกว่า เต้นเขน”
อีกความหมายหนึ่ง แปลว่า “เครื่องมือสำหรับป้องกันอาวุธ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า”
สมเด็จฯ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทรงกล่าวว่า คำว่าเขนมีในการเล่นโขนหนัง เป็นพวกพล จะต้องแปลว่า ป้องกัน
พระยาอนุมานราชธน กล่าวว่า เขน มาจากคำว่า “แขญ” ในภาษาไทยใหญ่ มีความหมายว่า
ป้องกัน ปัดเป่า ขัดขวางไว้ เอาอะไรกั้นไว้ ดังนั้น พวกเขนก็คือ พลเขน
ซึ่งเป็นพวกทหารเดินเท้าใช้อาวุธสั้น เมื่อใช้อาวุธสั้นและเดินดิน ควรมีโล่แขนด้วย
(พูนพิศ อมาตยกูล : ๒๕๕๒ หน้า
๙๗-๙๘)
กล่าวโดยสรุปแล้ว พวกเขน น่าจะหมายถึง
พลทหารเดินเท้า ที่ถืออาวุธทั้งสั้น ยาว ถือทั้งโล่ ดั้ง เขน นำหน้ากองทัพ เป็นพลทหารที่มีจำนวนมาก
และเข้าปะทะต่อสู้ข้าศึกบนภาคพื้นดิน (ไม่ขี่ม้า หรือขี่ช้าง)
เมื่อปรับมาเป็นการแสดงโขน จึงใช้ผู้แสดงเด็กๆ จำนวนมาก เดินอยู่สองข้างของกองทัพ
ถืออาวุธสั้น (เขนลิง ถือดาบ) อาวุธยาว (เขนยักษ์ถือหอก) โดยไม่มีเครื่องป้องกัน
(ถ้าถือโล่ ดั้ง เขน ก็คงไม่ผิดอะไร)
ในการแสดงโขน
พวกเขนมีแต่ท่าเต้นตรวจพล ไม่มีท่ารบกันแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะครูผู้ฝึก
หรือผู้ควบคุมฝึกซ้อมการแสดง เห็นว่ายังเป็นเด็กๆ อยู่ ความรู้พื้นฐานด้านโขนยังไม่มากพอ
ออกท่าทางยังไม่ได้ จึงไม่ได้คิดท่ารบให้ แต่ถ้าปัจจุบันจะคิดท่ารบของเขน
ก็น่าจะเป็นไปได้ไม่น่าจะผิดอะไร แต่นี่เป็นความเห็นของผู้เขียนล้วนๆ
ไม่มีหลักฐานใดรองรับ
๓. เสนายักษ์
“เสนา” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
แปลว่า “ไพร่พล” คำว่า “เสนายักษ์”
ในการแสดงโขน น่าจะหมายถึง “ไพร่พลยักษ์”
ซึ่งก็มีความหมายแยกออกไปอีกว่า
“ไพร่” เป็นภาษาโบราณ หมายถึง ชาวเมือง
พลเมืองสามัญ
“ไพร่พล” หมายถึง
กำลังทหาร กำลังคน
“ไพร่สม”
(โบราณ) ชายฉกรรจ์อายุครบ ๑๘ ปี เข้ารับราชการทหาร ฝึกหัดอยู่ ๒ ปี แล้วย้ายมาเป็นไพร่หลวง
(น่าจะเทียบได้กับทหารเกณฑ์สมัยนี้ แต่เพิ่มอายุเป็น ๒๐ ปี)
“ไพร่หลวง”
(โบราณ) พลที่เข้าประจำการแล้ว (น่าเปรียบเทียบได้กับ นายสิบทหาร จ่าทหาร
ในสมัยนี้)
ดังนั้น
“เสนายักษ์” น่าจะหมายถึง กองกำลังพล ที่มาจากคนธรรมดาสามัญ
โดยเกณฑ์มาจากชายที่มีอายุ ๑๘-๒๐ ปี เข้าประจำกองกำลังในกองทัพ คงจะการฝึกฝีมือด้านการรบมาพอสมควร
อาจเป็นทั้งทหารเกณฑ์และทหารอาชีพ แต่ยศไม่สูงนัก และมีเป็นจำนวนมาก
๔. ยักษ์เสนา
“ยักษ์เสนา”
ในเรื่องรามเกียรติ์ หมายถึงยักษ์ ๒ ตนของกรุงลงกา คือ “มโหทร” และ “เปาวนาสูร”
คำว่า “ยักษ์เสนา” น่าจะมาจากคำว่าว่า “ยักษ์เสนาบดี” หรือ “ยักษ์เสนาธิการ”
คำว่า
“เสนาบดี” แปลว่า “แม่ทัพ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เจ้ากระทรวง”
คำว่า
“เสนาธิการ” แปลว่า “ตำแหน่งผู้เตรียมเรื่องเสนอแม่ทัพ”
แต่ในสมญาภิธานรามเกียรติ์
(นาคะประทีป : ๒๕๑๕) กล่าวว่า มโหทร และ เปาวนาสูร เป็น “เสนายักษ์” ของกรุงลงกา ในจำนวน ๒๐ ตน (น่าจะเป็นรามเกียรติ์ฉบับวาลมิกิ)
ซึ่งมีชื่อในทำเนียบดังนี้
๑.
การุณราช
(หน้าสีหงส์เสน)
๒.
กาลสูร
(หน้าสีดำ)
๓.
นนทจิตร
(หน้าสีมอคราม)
๔.
นนทไพรี
(หน้าสีมอหมึก)
๕.
นนทยักษ์
(หน้าสีขาบ)
๖.
นนทสูร (หน้าสีขาว)
๗.
เปาวนาสูร
(หน้าสีขาว)
๘.
พัทกาวี (หน้าสีเหลือง)
๙.
ภานุราช (หน้าสีเขียว)
๑๐.
มหากาย (หน้าสีม่วงแก่)
๑๑.
มโหทร (หน้าสีเขียว)
๑๒.
รณศักดิ์ (หน้าสีจันทร์)
๑๓.
รณสิทธิ์ (หน้าสีดินแดง)
๑๔.
โรมจักร (หน้าสีหงสบาท)
๑๕.
ฤทธิกาสูรหรือเวรัมภ
(หน้าสีหงส์ชาด)
๑๖.
ไวยกาสูร
หรือ ศุกสารณ์ (หน้าสีเขียว)
๑๗.
ไวยวาสูร
หรือ วรวาสูร (หน้าหงส์ดิน)
๑๘.
สุขาจาร (หน้าสีเขียว)
๑๙.
อสูรกัมปั่น (หน้าสีเขียว)
๒๐.
อิทธิกาย (หน้าสีม่วงอ่อน)
ในความเห็นของผู้เขียนนั้น
เมื่อไทยเราปรับบทเรื่องรามเกียรติ์แล้วนำมาแสดงโขน โดยคิดท่าเต้นตรวจพลของ
“ยักษ์เสนา” คือ มโหทรและเปาวนาสูร เพื่อให้แตกต่างจากท่าเต้นของ “เสนายักษ์” จึงควร “ยกฐานะ” อสูรทั้ง ๒๐ ตน เป็น
“ยักษ์เสนา” (ยักษ์มียอด) ด้วย
๕. อสูรนายกองตระเวน
อสูรนายกองตระเวนเมืองลงกา มีจำนวน ๗ ตน
และมีบทบาทต่างๆ กัน คือ
๑.
กุมภาสูร หน้าสีเขียว กองตระเวนเฝ้าเขามรกต
๒.
ผีเสื้อสมุทร
หน้าสีหงส์ดิน รักษาด่านหลังสมุทร
๓.
ฤทธิกัน
หน้าแดงชาด รักษาทางอากาศ
๔.
วายุพักตร์
หน้าสีเมฆ รักษาริมฝั่งสมุทร
๕.
วิชุดา หน้าสีฟ้าแลบ รักษาริมฝั่งสมุทร
๖.
สารัณทูต หน้าสีขาว คอยข่าวศึก
(เป็นกองคอยเหตุของลงกา)
๗.
อากาศตไล หน้าสีแดงเสน เสื้อเมืองลงกา (ผีหรืออมนุษย์จำพวกหนึ่งมีสี่หน้าแปดมือ
มีหน้าที่อยู่รักษาเมือง)
เอกสารอ้างอิง
หมวดวิชานาฏศิลป์โขน
วิทยาลัยนาฏศิลป. คู่มือการสอนนาฏศิลป์โขนยักษ์
เล่มที่ ๒ รำตรวจพลและ
การรบในนาฏศิลป์โขน. เอกสารการสัมมนาท่ารำนาฏศิลป์โขน ณ
วิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพฯ ๑๒-๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๗.
พูนพิศ อมาตยกูล,ศาสตราจารย์ นายแพทย์. เพลงดนตรี : สมเด็จฯ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ถึงพระยาอนุมานราชธน. สำนักพิมพ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์
มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ :
บริษัทเคล็ดไทยจำกัด, ๒๕๔๒.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์,
๒๕๓๐.
สันต์
ท.โกมลบุตร,ผู้แปล. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. พิมพ์ครั้งที่
๒ นนทบุรี :
สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, ๒๕๔๘.
นาคะประทีป (นามแฝง). สมญาภิธานรามเกียรติ์
ของ นาคะประทีป. กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์คลังวิทยา,
๒๕๑๕.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น