วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2559

พ่อครู แม่ครู และคำว่า "ลูก" ทางนาฏศิลป์ดนตรี

พ่อครู แม่ครู และคำว่า "ลูก" ทางนาฏศิลป์ดนตรี
๑. การเรียก "พ่อครู" "แม่ครู" ทางนาฏศิลป์ดนตรี อาจจะได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนา ที่ถือว่า "พระอุปัชฌาย์" เป็นพ่อของเราในทางธรรม เพราะท่านบวชเรียนให้เรา ให้กำเนิดเราในทางธรรม (สังเกตว่าผู้บวชเรียนต้องทิ้งชื่อเก่า ตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ เช่นชื่อผมจากนายสมภพ เป็น จารุธมฺโม ภิกขุ) ในทางนาฏศิลปดนตรีคงนำความเชื่อนี้มาบางส่วน คือ เชื่อว่าครูเป็นผู้ให้กำเนิดเราทางนาฏศิลป์ดนตรี ท่านเป็นผู้จับข้อมือเรารำเป็นท่านแรก จับมือเราตีฆ้องเป็นท่านแรก จากที่เรารำไม่เป็น ตีไม่เป็น (ธรรมเนียมวิทยาลัยนาฏศิลปมาจากวังสวนกุหลาบ ถึงแม้ใครจะรำเป็น เล่นดนตรีเป็น แต่เมื่อสมัครเข้าเรียนในวิทยาลัยนาฏศิลป ต้องทิ้งของเดิมหมด-เหมือนทิ้งชื่อเดิม- แล้วมาเริ่มต้นใหม่ เริ่มปฏิบัติเหมือนธรรมเนียมในวัง เช่น การนุ่งโจงผ้าแดง การหมอบกราบเจ้านาย การกราบครู การรำเพลงช้าเพลงเร็ว แม่ท่ายักษ์ แม่ท่าลิง การตีตับต้นเพลงฉิ่ง ฯลฯ ทุกคนต้อง "เริ่มใหม่" พร้อมกันหมด ไม่ว่าจะเรียนมาจากไหนก็ตาม) ด้วยเหตุนี้ เราจึงเรียกครูที่ให้กำเนิดเราเป็นครั้งแรกทางนาฏศิลป์ดนตรีว่า "พ่อครู" "แม่ครู" ด้วยความเคารพอันสูงยิ่ง เพราะท่าน "อาสุโสทางโลก" คือ อายุมากกว่าเรา และ "อาวุโสทางธรรม" คือ ประพฤติปฏิบัติชอบมากกว่าเรา ความเชื่อเช่นนี้ได้ผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่น (ไม่รู้ว่าความเชื่อไหนเกิดก่อน) ทำให้เราพลอยเรียก "พ่อครู" "แม่ครู" ที่สอนนาฏศิลปดนตรีพื้นบ้านให้เราด้วย เช่น ผมเรียก "พ่อครูคำ กาไวย์" เพราะท่านสอนให้ผมตีกลองสะบัดชัย ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ให้ผมเป็นท่านแรก ผมเรียก "พ่อครูมานพ ยาระณะ" เพราะท่านสอนผมตีกลองไชยมงคล ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิงสาวไหมแมงบ้ง เป็นท่านแรก และทั้งสองท่านก็มีความอาวุโสทางโลกคือ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อผม และมีอาวุโสทางธรรม คือ ประพฤติปฏิบัติชอบ น่าเคารพศรัทธา เหมาะสมที่จะเรียกว่า "พ่อครู"
๒. ครูนาฏศิลป์ดนตรี (บางท่าน โดยเฉพาะครูผู้หญิง) มักจะเรียกลูกศิษย์ว่า "ลูก" (ครูผู้ชายในสมัยผมเรียนนาฏศิลปเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๒๔ ไม่เคยได้ยินท่านเรียกลูกศิษย์ว่าลูก จะเรียกชื่อเต็มมากกว่า เช่น สมภพ นพพร ณรงค์ มงคล ฯลฯ พอเริ่มสนิทก็จะเริ่มเรียกชื่อพยางค์เดียวหรือเรียกชื่อเล่น เช่น ไอ้ภพ ไอ้ติ๊ก ไอ้รงค์ ไอ้คล ฯลฯ เรียกด้วยความรัก ไม่เคยเรียกว่าลูก เราก็ไม่ได้เรียกท่านว่าพ่อ อาจจะเป็นเพราะเราโตเป็นวัยรุ่นแล้ว และท่านจะยังหนุ่มๆ อยู่ บางท่านยังไม่แต่งงาน บางท่านแต่งแล้วแต่ยังไม่มีลูก หรือมีลูกก็ยังเล็กมาก แต่เราก็เรียกครูของครูเรา คือ ครูผู้ใหญ่ที่อาวุโสแล้วว่า "พ่อ" เช่น พ่อหยัด พ่อหร่าม พ่อเริ่ม พ่อกรี พ่ออาคม ฯลฯ ท่านก็เรียกเราว่า เธอบ้าง ไอ้หนูบ้าง เด็กๆบ้าง บางครั้งอาจจะเรียกบางคนว่าลูกเช่นกัน แต่ผมไม่เคยถูกเรียกเช่นนั้น) การเรียกลูกศิษย์ว่า "ลูก" ของแม่ครูทั้งหลาย เป็นการเรียกด้วยความรัก ความเมตตา เพราะท่านอาวุโสแล้ว พวกเราก็อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับลูกหลานท่าน ท่านจึงเมตตาเรา เอ็นดูเรา น้ำเสียงที่เรียกเราว่า "ลูก" นั้น เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาต่อเรา เราก็เรียกท่านว่า "แม่" ด้วยความเต็มใจ เช่น แม่มุล แม่เหลย แม่ปราณี แม่นพ แม่ยะ ฯลฯ เพราะท่าน "อาวุโสทางโลก" คือ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับแม่ของเรา และท่านก็ "อาวุโสทางธรรม" คือ ให้กำเนิดเราทางนาฏศิลป์ดนตรีเป็นท่านแรก มีความรู้ความสามารถสร้างสรรค์ท่ารำ ระบำ ให้เราได้ร่ำเรียนกัน และวัตรปฏิบัติกิริยามารยาทของท่านก็น่าเคารพนับถือ
๓. ปัจจุบันคำเรียก "พ่อครู" "แม่ครู" "พ่อ" "แม่" "ลูก" ทางนาฏศิลป์ดนตรีเริ่มผิดเพี้ยนแปรเปลี่ยนไป เฉกเช่นกับคำเรียกพระสงฆว่า "ครูบา" ในภาคเหนือ คือ เริ่มไม่ยึดหลัก "อาวุโสทางโลก" และ "อาวุโสทางธรรม" บ่อยครั้งที่ผมได้ยินนักศึกษาูฝึกสอนทางนาฏศิลป์ดนตรี (ป.ตรี ปี ๕ อายุประมาณ ๒๒-๒๔) เรียกนักเรียนลูกศิษย์ (ป.๑-ม.๖ อายุ ๘-๑๖ ปี) ว่า "ลูก" อย่างนั้น "ลูก" อย่างนี้ เลียนแบบบรมครูทางนาฏศิลป์ดนตรีที่ตนเคยได้ยินได้ฟังมา บางครั้งก็ได้ยินลูกศิษย์ (อายุ ๑๗-๑๘) เรียกครู (อายุ ๓๐ ต้นๆ) ว่า "พ่อครู" อย่างนั้น "พ่อครู" อย่างนี้ (เหมือนที่หลายวัดเรียกพระที่อายุประมาณ ๒๕-๓๕ ว่า "ครูบา" อย่างนั้น "ครูบา" อย่างนี้) ความปร่าแปร่งผิดเพี้ยนเช่นนี้ อาจจะเกิดจาก "อวิชชา" คือ ความไม่รู้ เห็นเขาเรียกก็เรียกตามกันมา หรือเกิดจาก "อหังการ์" เราก็ไม่อาจจะรู้ได้ แต่นี่คือความจริงในโลกแห่งนาฏศิลป์ดนตรีไทยในปัจจุบัน (ผมไม่รู้ว่านาฏศิลป์ดนตรีสากลจะเรียกหรือไม่) และในโลกของสมมติสงฆ์ ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่า "ผิด" หรือ "ถูก" เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรผิดทั้งหมดหรือถูกทั้งหมด ผมได้แต่เพียงบันทึก "สังเกตอาการ" วัฒนธรรมไทยที่เริ่มแปรเปลี่ยนไปของสังคมกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่แทรกตัวอยู่ในมุมหนึ่งของโลกใบเล็กๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ ก็เท่านั้นเอง
สงกรานต์ปีนี้ "ลูกศิษย์" จะสระเกล้าดำหัว "พ่อครู" "แม่ครู" ในความหมายของใคร อย่างไร ก็เป็นเชื่อของแต่ละบุคคล แต่ถ้ายึดหลัก "อาวุโสทางโลก" และ "อาวุโสทางธรรม" ได้ ก็จะดีไม่น้อย
ผศ.สมภพ เพ็ญจันทร์
๑๕ เมษายน ๒๕๕๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น