วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2559

ผู้อาวุโสและการสระเกล้าดำหัว

ผู้อาวุโสและการสระเกล้าดำหัว
๑. ผู้อาวุโสทางธรรม ตอนผมบวชอายุได้ ๒๗ ปี บวช ณ วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ เป็นเวลาราว ๔ เดือน วันแรกที่เข้าวิหารทำวัตรเช้า เห็นอาสนะแถวหน้าสุดว่าง (เป็นนักเรียนชอบนั่งแถวหน้า เป็นครูเวลาประชุมก็ชอบนั่งแถวหน้า) จึงเข้าไปนั่งตามความเคยชินทางโลก พระอาจารย์ท่านเมตตาสอนว่า นั่งไม่ได้ แถวหน้าเป็นของพระอาวุโส คำว่า "อาวุโส" ในทางธรรม นับอายุพรรษาที่เข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ รูปใดบวชก่อนก็อาวุโสกว่ารูปที่บวชทีหลัง ไม่ได้นับอายุที่เกิดเหมือนทางโลก (ในทางธรรมนั้นถือกันว่า พระอุปัชฌาย์เป็นพ่อคนที่สองของเรา เป็นผู้ให้กำเนิดเราในทางธรรม เป็นพระผู้อาวุโสทางธรรมด้วย) ดังนั้น เมื่อนับอาวุโสในการบวชเป็นพระภิกษุว่าท่านใดบวชก่อนเป็นผู้อาวุโสกว่า พระพุทธเจ้าจึงมีอาวุโสในทางธรรมสูงสุด (แม้จะตรัสรู้เมื่อพระชนมายุเพียง ๓๕ ปีเท่านั้น) พระสงฆ์สาวกแม้จะมีอายุทางโลกมากกว่าพระพุทธเจ้า (อายุ ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี) แต่อาวุโสทางธรรมน้อยกว่าพระพุทธองค์ ก็ต้องกราบไหว้พระพุทธเจ้า คือนอกจากกราบไหว้ในฐานะศาสดาแล้ว ก็กราบไหว้ในฐานะพระองค์ท่านมี "อาวุโสทางธรรม" สูงสุด นี่เป็นการนับอาวุโสในทางธรรม (สังเกตเวลาเรานิมนต์พระมาทำพิธีกรรมทางศาสนา ท่านจะเรียงอาวุโสทางธรรมหรืออายุพรรษาที่บวช ไม่ใช่เรียงตามอายุทางโลกหรืออายุที่เกิด)
๒. ผู้อาวุโสทางโลก นับวัน เดือน ปี ที่เราเกิดจริง (อายุจริง) โดยเราให้ความเคารพนับถือพ่อแม่ เพราะท่านให้กำเนิดเรา เลี้ยงดูเราและเป็นผู้ "อาวุโส" กว่าเรา เราเคารพนับถือปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา เพราะท่าน "อาวุโส" กว่าเราและมีพระคุณต่อเราคือเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็ก นอกจากนี้คนไทยเรามักจะเรียกคนทั่วไปว่าเป็น ผู้ "อาวุโส" เมื่อเห็นว่าอายุมากพอสมควร (บางท่านก็ว่า ๖๐ ปีขึ้นไป) และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมมาบ้างแล้ว (มีความอาวุโสทางธรรมมากกว่าเรา) ท่านเหล่านี้มีความน่าเคารพนับถือ น่ากราบไหว้ (ที่หมู่บ้านผม ผมยังไม่เห็นใครไปสระเกล้าดำหัว ลุงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป แต่เป็นลุงขี้เมาประจำหมู่บ้าน เมาได้ทั้งวัน กลิ่นเหล้าเหม็นคลุ้งไปหมดเลย)
การสระเกล้าดำหัว บิดา มารดา พระอุปัชฌาย์ ครู อาจารย์ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ยึดหลักทั้ง "ผู้ให้กำเนิด" "ผู้มีพระคุณ" "ผู้อาวุโส" "ผู้มีธรรมะ" เป็นหลักปฏิบัติที่เราได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนา เป็นหลักที่ถูกต้องทั้ง "อาวุโสทางธรรม" และ "อาวุโสทางโลก"
ส่วนการสระเกล้าดำหัวผู้อาวุโสนอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งสองประการนี้ ก็สุดแล้วแต่วิธีคิดของคนแต่ละกลุ่ม แต่ละคณะ ว่าจะยึดหลักอาวุโสอะไรหรือใช้แนวคิดอะไร เช่น ยศ ตำแหน่ง รุ่น ฯลฯ แต่สำหรับผมแล้ว การสระเกล้าดำหัวตามประเพณีปี๋ใหม่เมือง ควรยึดหลัก "อาวุโสทางธรรม" และ "อาวุโสทางโลก" ก็เพียงพอแล้ว
ผศ.สมภพ เพ็ญจันทร์
๑๔ เมษายน ๒๕๕๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น