วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2559

พ่อครู แม่ครู และคำว่า "ลูก" ทางนาฏศิลป์ดนตรี

พ่อครู แม่ครู และคำว่า "ลูก" ทางนาฏศิลป์ดนตรี
๑. การเรียก "พ่อครู" "แม่ครู" ทางนาฏศิลป์ดนตรี อาจจะได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนา ที่ถือว่า "พระอุปัชฌาย์" เป็นพ่อของเราในทางธรรม เพราะท่านบวชเรียนให้เรา ให้กำเนิดเราในทางธรรม (สังเกตว่าผู้บวชเรียนต้องทิ้งชื่อเก่า ตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ เช่นชื่อผมจากนายสมภพ เป็น จารุธมฺโม ภิกขุ) ในทางนาฏศิลปดนตรีคงนำความเชื่อนี้มาบางส่วน คือ เชื่อว่าครูเป็นผู้ให้กำเนิดเราทางนาฏศิลป์ดนตรี ท่านเป็นผู้จับข้อมือเรารำเป็นท่านแรก จับมือเราตีฆ้องเป็นท่านแรก จากที่เรารำไม่เป็น ตีไม่เป็น (ธรรมเนียมวิทยาลัยนาฏศิลปมาจากวังสวนกุหลาบ ถึงแม้ใครจะรำเป็น เล่นดนตรีเป็น แต่เมื่อสมัครเข้าเรียนในวิทยาลัยนาฏศิลป ต้องทิ้งของเดิมหมด-เหมือนทิ้งชื่อเดิม- แล้วมาเริ่มต้นใหม่ เริ่มปฏิบัติเหมือนธรรมเนียมในวัง เช่น การนุ่งโจงผ้าแดง การหมอบกราบเจ้านาย การกราบครู การรำเพลงช้าเพลงเร็ว แม่ท่ายักษ์ แม่ท่าลิง การตีตับต้นเพลงฉิ่ง ฯลฯ ทุกคนต้อง "เริ่มใหม่" พร้อมกันหมด ไม่ว่าจะเรียนมาจากไหนก็ตาม) ด้วยเหตุนี้ เราจึงเรียกครูที่ให้กำเนิดเราเป็นครั้งแรกทางนาฏศิลป์ดนตรีว่า "พ่อครู" "แม่ครู" ด้วยความเคารพอันสูงยิ่ง เพราะท่าน "อาสุโสทางโลก" คือ อายุมากกว่าเรา และ "อาวุโสทางธรรม" คือ ประพฤติปฏิบัติชอบมากกว่าเรา ความเชื่อเช่นนี้ได้ผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่น (ไม่รู้ว่าความเชื่อไหนเกิดก่อน) ทำให้เราพลอยเรียก "พ่อครู" "แม่ครู" ที่สอนนาฏศิลปดนตรีพื้นบ้านให้เราด้วย เช่น ผมเรียก "พ่อครูคำ กาไวย์" เพราะท่านสอนให้ผมตีกลองสะบัดชัย ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ให้ผมเป็นท่านแรก ผมเรียก "พ่อครูมานพ ยาระณะ" เพราะท่านสอนผมตีกลองไชยมงคล ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิงสาวไหมแมงบ้ง เป็นท่านแรก และทั้งสองท่านก็มีความอาวุโสทางโลกคือ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อผม และมีอาวุโสทางธรรม คือ ประพฤติปฏิบัติชอบ น่าเคารพศรัทธา เหมาะสมที่จะเรียกว่า "พ่อครู"
๒. ครูนาฏศิลป์ดนตรี (บางท่าน โดยเฉพาะครูผู้หญิง) มักจะเรียกลูกศิษย์ว่า "ลูก" (ครูผู้ชายในสมัยผมเรียนนาฏศิลปเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๒๔ ไม่เคยได้ยินท่านเรียกลูกศิษย์ว่าลูก จะเรียกชื่อเต็มมากกว่า เช่น สมภพ นพพร ณรงค์ มงคล ฯลฯ พอเริ่มสนิทก็จะเริ่มเรียกชื่อพยางค์เดียวหรือเรียกชื่อเล่น เช่น ไอ้ภพ ไอ้ติ๊ก ไอ้รงค์ ไอ้คล ฯลฯ เรียกด้วยความรัก ไม่เคยเรียกว่าลูก เราก็ไม่ได้เรียกท่านว่าพ่อ อาจจะเป็นเพราะเราโตเป็นวัยรุ่นแล้ว และท่านจะยังหนุ่มๆ อยู่ บางท่านยังไม่แต่งงาน บางท่านแต่งแล้วแต่ยังไม่มีลูก หรือมีลูกก็ยังเล็กมาก แต่เราก็เรียกครูของครูเรา คือ ครูผู้ใหญ่ที่อาวุโสแล้วว่า "พ่อ" เช่น พ่อหยัด พ่อหร่าม พ่อเริ่ม พ่อกรี พ่ออาคม ฯลฯ ท่านก็เรียกเราว่า เธอบ้าง ไอ้หนูบ้าง เด็กๆบ้าง บางครั้งอาจจะเรียกบางคนว่าลูกเช่นกัน แต่ผมไม่เคยถูกเรียกเช่นนั้น) การเรียกลูกศิษย์ว่า "ลูก" ของแม่ครูทั้งหลาย เป็นการเรียกด้วยความรัก ความเมตตา เพราะท่านอาวุโสแล้ว พวกเราก็อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับลูกหลานท่าน ท่านจึงเมตตาเรา เอ็นดูเรา น้ำเสียงที่เรียกเราว่า "ลูก" นั้น เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาต่อเรา เราก็เรียกท่านว่า "แม่" ด้วยความเต็มใจ เช่น แม่มุล แม่เหลย แม่ปราณี แม่นพ แม่ยะ ฯลฯ เพราะท่าน "อาวุโสทางโลก" คือ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับแม่ของเรา และท่านก็ "อาวุโสทางธรรม" คือ ให้กำเนิดเราทางนาฏศิลป์ดนตรีเป็นท่านแรก มีความรู้ความสามารถสร้างสรรค์ท่ารำ ระบำ ให้เราได้ร่ำเรียนกัน และวัตรปฏิบัติกิริยามารยาทของท่านก็น่าเคารพนับถือ
๓. ปัจจุบันคำเรียก "พ่อครู" "แม่ครู" "พ่อ" "แม่" "ลูก" ทางนาฏศิลป์ดนตรีเริ่มผิดเพี้ยนแปรเปลี่ยนไป เฉกเช่นกับคำเรียกพระสงฆว่า "ครูบา" ในภาคเหนือ คือ เริ่มไม่ยึดหลัก "อาวุโสทางโลก" และ "อาวุโสทางธรรม" บ่อยครั้งที่ผมได้ยินนักศึกษาูฝึกสอนทางนาฏศิลป์ดนตรี (ป.ตรี ปี ๕ อายุประมาณ ๒๒-๒๔) เรียกนักเรียนลูกศิษย์ (ป.๑-ม.๖ อายุ ๘-๑๖ ปี) ว่า "ลูก" อย่างนั้น "ลูก" อย่างนี้ เลียนแบบบรมครูทางนาฏศิลป์ดนตรีที่ตนเคยได้ยินได้ฟังมา บางครั้งก็ได้ยินลูกศิษย์ (อายุ ๑๗-๑๘) เรียกครู (อายุ ๓๐ ต้นๆ) ว่า "พ่อครู" อย่างนั้น "พ่อครู" อย่างนี้ (เหมือนที่หลายวัดเรียกพระที่อายุประมาณ ๒๕-๓๕ ว่า "ครูบา" อย่างนั้น "ครูบา" อย่างนี้) ความปร่าแปร่งผิดเพี้ยนเช่นนี้ อาจจะเกิดจาก "อวิชชา" คือ ความไม่รู้ เห็นเขาเรียกก็เรียกตามกันมา หรือเกิดจาก "อหังการ์" เราก็ไม่อาจจะรู้ได้ แต่นี่คือความจริงในโลกแห่งนาฏศิลป์ดนตรีไทยในปัจจุบัน (ผมไม่รู้ว่านาฏศิลป์ดนตรีสากลจะเรียกหรือไม่) และในโลกของสมมติสงฆ์ ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่า "ผิด" หรือ "ถูก" เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรผิดทั้งหมดหรือถูกทั้งหมด ผมได้แต่เพียงบันทึก "สังเกตอาการ" วัฒนธรรมไทยที่เริ่มแปรเปลี่ยนไปของสังคมกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่แทรกตัวอยู่ในมุมหนึ่งของโลกใบเล็กๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ ก็เท่านั้นเอง
สงกรานต์ปีนี้ "ลูกศิษย์" จะสระเกล้าดำหัว "พ่อครู" "แม่ครู" ในความหมายของใคร อย่างไร ก็เป็นเชื่อของแต่ละบุคคล แต่ถ้ายึดหลัก "อาวุโสทางโลก" และ "อาวุโสทางธรรม" ได้ ก็จะดีไม่น้อย
ผศ.สมภพ เพ็ญจันทร์
๑๕ เมษายน ๒๕๕๙

ผู้อาวุโสและการสระเกล้าดำหัว

ผู้อาวุโสและการสระเกล้าดำหัว
๑. ผู้อาวุโสทางธรรม ตอนผมบวชอายุได้ ๒๗ ปี บวช ณ วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ เป็นเวลาราว ๔ เดือน วันแรกที่เข้าวิหารทำวัตรเช้า เห็นอาสนะแถวหน้าสุดว่าง (เป็นนักเรียนชอบนั่งแถวหน้า เป็นครูเวลาประชุมก็ชอบนั่งแถวหน้า) จึงเข้าไปนั่งตามความเคยชินทางโลก พระอาจารย์ท่านเมตตาสอนว่า นั่งไม่ได้ แถวหน้าเป็นของพระอาวุโส คำว่า "อาวุโส" ในทางธรรม นับอายุพรรษาที่เข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ รูปใดบวชก่อนก็อาวุโสกว่ารูปที่บวชทีหลัง ไม่ได้นับอายุที่เกิดเหมือนทางโลก (ในทางธรรมนั้นถือกันว่า พระอุปัชฌาย์เป็นพ่อคนที่สองของเรา เป็นผู้ให้กำเนิดเราในทางธรรม เป็นพระผู้อาวุโสทางธรรมด้วย) ดังนั้น เมื่อนับอาวุโสในการบวชเป็นพระภิกษุว่าท่านใดบวชก่อนเป็นผู้อาวุโสกว่า พระพุทธเจ้าจึงมีอาวุโสในทางธรรมสูงสุด (แม้จะตรัสรู้เมื่อพระชนมายุเพียง ๓๕ ปีเท่านั้น) พระสงฆ์สาวกแม้จะมีอายุทางโลกมากกว่าพระพุทธเจ้า (อายุ ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี) แต่อาวุโสทางธรรมน้อยกว่าพระพุทธองค์ ก็ต้องกราบไหว้พระพุทธเจ้า คือนอกจากกราบไหว้ในฐานะศาสดาแล้ว ก็กราบไหว้ในฐานะพระองค์ท่านมี "อาวุโสทางธรรม" สูงสุด นี่เป็นการนับอาวุโสในทางธรรม (สังเกตเวลาเรานิมนต์พระมาทำพิธีกรรมทางศาสนา ท่านจะเรียงอาวุโสทางธรรมหรืออายุพรรษาที่บวช ไม่ใช่เรียงตามอายุทางโลกหรืออายุที่เกิด)
๒. ผู้อาวุโสทางโลก นับวัน เดือน ปี ที่เราเกิดจริง (อายุจริง) โดยเราให้ความเคารพนับถือพ่อแม่ เพราะท่านให้กำเนิดเรา เลี้ยงดูเราและเป็นผู้ "อาวุโส" กว่าเรา เราเคารพนับถือปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา เพราะท่าน "อาวุโส" กว่าเราและมีพระคุณต่อเราคือเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็ก นอกจากนี้คนไทยเรามักจะเรียกคนทั่วไปว่าเป็น ผู้ "อาวุโส" เมื่อเห็นว่าอายุมากพอสมควร (บางท่านก็ว่า ๖๐ ปีขึ้นไป) และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมมาบ้างแล้ว (มีความอาวุโสทางธรรมมากกว่าเรา) ท่านเหล่านี้มีความน่าเคารพนับถือ น่ากราบไหว้ (ที่หมู่บ้านผม ผมยังไม่เห็นใครไปสระเกล้าดำหัว ลุงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป แต่เป็นลุงขี้เมาประจำหมู่บ้าน เมาได้ทั้งวัน กลิ่นเหล้าเหม็นคลุ้งไปหมดเลย)
การสระเกล้าดำหัว บิดา มารดา พระอุปัชฌาย์ ครู อาจารย์ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ยึดหลักทั้ง "ผู้ให้กำเนิด" "ผู้มีพระคุณ" "ผู้อาวุโส" "ผู้มีธรรมะ" เป็นหลักปฏิบัติที่เราได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนา เป็นหลักที่ถูกต้องทั้ง "อาวุโสทางธรรม" และ "อาวุโสทางโลก"
ส่วนการสระเกล้าดำหัวผู้อาวุโสนอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งสองประการนี้ ก็สุดแล้วแต่วิธีคิดของคนแต่ละกลุ่ม แต่ละคณะ ว่าจะยึดหลักอาวุโสอะไรหรือใช้แนวคิดอะไร เช่น ยศ ตำแหน่ง รุ่น ฯลฯ แต่สำหรับผมแล้ว การสระเกล้าดำหัวตามประเพณีปี๋ใหม่เมือง ควรยึดหลัก "อาวุโสทางธรรม" และ "อาวุโสทางโลก" ก็เพียงพอแล้ว
ผศ.สมภพ เพ็ญจันทร์
๑๔ เมษายน ๒๕๕๙

การไหว้ การดำหัว และคำสอนของพ่อ

การไหว้ การดำหัว และคำสอนของพ่อ
สมภพ (ถาม) พ่อ เมื่อก่อนคนเมืองเปิ้นไหว้กั๋นก่อครับ?
พ่อน้อยเป็ง (ตอบ) บ่ไหว้ เปิ้นไหว้ก่าพระเจ้า (พระพุทธรูป) ไหว้ตุ๊ ไหว้พระ เต้าอั้น (เท่านั้น) คนเมืองเป็นตั๊ก (ทักทาย) กั๋นว่า กิ๋นข้าวแล้วกา เต้าอั้น เปิ้นบ่าไหว้ เปิ้นกลั๋วอายุสั้น เปิ้นบอกเปิ้นบ่ใช่คนมีบุญ บ่าต้องมาไหว้เปิ้น ไปไหว้พระเจ้า ไหว้ตุ๊ (พระ) ไหว้พระ (เณร) ปุ้น เปิ้นมีบุญ
ผมเชื่อพ่อ พ่อเป็นครูคนแรกของผม "การไหว้" และคำว่า "สวัสดี" เป็นวัฒนธรรมประดิษฐ์ใหม่ของชาวสยาม ตอนเป็นเด็กผมไม่เห็นพ่อไหว้ใครเลย แม้แต่ป้อแขว่น (พ่อกำนัน) การที่ "ผู้น้อย ต้องคอยก้ม ประนมกร" ต้องไหว้ ต้องเคารพ เป็นวัฒนธรรมสยามที่มาครอบงำล้านนาผ่านข้าราชการ โรงเรียน สถาบันการศึกษา เป็นวัฒนธรรมเชิงอำนาจ เหมือนกับการ "ดำหัว" ที่ในอดีตคนเมืองจะสระเกล้าดำหัว คนเฒ่าคนแก่ ป้ออุ้ยแม่อุ้ย ด้วยความเคารพอันสูงยิ่ง (เกือบเท่าพระสงฆ์) แต่ปัจจุบัน "การไหว้" และ "การดำหัว" ถูกบิดเบือนในลักษณะเชิงอำนาจการปกครอง รุ่นน้องต้องไหว้รุ่นพี่ (กูเป็นรุ่นพี่ มึงต้องไหว้กู) ผู้น้อยต้องสระเกล้าดำหัวผู้ใหญ่ (กูเป็นนาย มึงเป็นลูกน้อง) การที่นำเอาวัฒนธรรมไปรับใช้ "อำนาจ" เชิงปกครอง ทำให้เราได้เห็นประเพณี (ผมอยากใช้คำว่า "การกระทำของคนกลุ่มหนึ่ง" มากกว่า) ที่เพี้ยนๆ ในโรงเรียนหรือ สถาบันการศึกษา หลายครั้งหลายหนที่เราจะเห็นรุ่นน้อง "ไหว้" รุ่นพี่ด้วยความหวาดกลัว ไหว้ทุกครั้ง ไหว้ทุกรอบ ที่เดินผ่านกัน วันละ ๑๐ รอบ ก็ไหว้ ไหว้ ไหว้ ไหว้ แต่เราก็จะเจอเหตุการณ์ที่ นร.นศ.ก้มหน้าก้มหน้าเดินเล่นมือถือจน "เกือบชน" ครู อาจารย์ หรือผู้ใหญ่ โดยไม่มีแม้แต่คำว่า "ขอโทษ" ไม่มีการไหว้ การทักทาย (ก่อไม่ได้สอนเราอ่ะ ไม่รู้จักอ่ะ) เพราะ นร.นศ.ไม่ได้มีความ "หวาดกลัว" ครูอาจารย์เหมือนกลัวรุ่นพี่ (ระวังตัวไว้นะมึง ซ่าส์กับรุ่นพี่เหรอ อย่าให้กูเจอข้างนอกก็แล้วกัน) ฯลฯ และเราจะเห็นกิจกรรม (อย่าเรียกประเพณีเลย) ที่ผู้น้อย (อายุ ๕๕ ๕๖ ๕๗ ๕๘ ๕๙ แต่เป็นผู้น้อย) ดำหัวอย่างนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ (อายุ ๔๕ ๔๖ ๔๗ ๔๘ ๔๙ แต่เป็นผู้ใหญ่) แล้วก็นั่งพับเพียบรับพรจาก "ผู้ใหญ่" (แต่อายุน้อย 555) ไปตามๆเขาด้วยความหวาดกลัว (ระวังถูกเจ้านายเพ่งเล็งนะเธอ) ฯลฯ ความผิดเพี้ยนเช่นนี้ เกิดขึ้นจากคนกลุ่มเล็กๆ (ที่เรียกกิจกรรม) จนกระทั่งลุกลามใหญ่โตจนเราพบเห็นทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล อบต. เทศบาล อบจ. จังหวัด จนกระทั่งเริ่มลุกลามเข้าไปในสถาบันการศึกษา ระดับชนชั้นปัญญาชนของประเทศ แล้วเริ่มขยายเป็นคนกลุ่มใหญ่ (ที่เรียกประเพณี) แล้วก็คงถูกบรรจุเป็น "ประเพณี" ที่ทรงคุณค่าของไทยเราที่ควรจะสงวนรักษาไว้ตราบนานเท่านาน
(พอละ...เปิดแอร์นอนอยู่บ้านดีกว่า ไม่ดำหัวใคร ไม่ให้ใครมาดำหัว รอวันพญาวัน จะสระเกล้าดำหัวแม่คนเดียวเท่านั้น และจะเอาเสื้อผ้าเก่าๆ ของพ่อมาสระสรง (สะ-หละ-สะ-หลง) ด้วยน้ำส้มป่อย ซุกไว้ใต้หมอน นอนคนเดียวเย็นๆ สบายๆ ....กิ๋นข้าวกั๋นหรือยังครับ?)
ผศ.สมภพ เพ็ญจันทร์
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
๑๓ เมษายน ๒๕๕๙