เอกสารประกอบการสอนวิชา พื้นฐานนาฏกรรมไทย
ชั้น มัธยมศีกษาปีที่ ๔ วนศ.เชียงใหม่
จัดทำโดย
ครูสมภพ เพ็ญจันทร์
จารีตนาฏศิลป์ไทย
ก. จารีตที่เป็นข้อปฏิบัติ
๑. การแสดงโขนและละคร
จะเริ่มบรรเลงด้วยเพลง “วา” และจบการแสดงด้วยเพลง “กราวรำ”
๒. การแสดงโขน
จะเริ่มการแสดงต้องให้ “ตัวพระ” หรือ “ตัวยักษ์” ลงโรง (ฉากแรก)
๓. ตำแหน่งของนักแสดงบนเวที กำหนดให้ “ด้านขวาของเวที” เป็นฝ่ายธรรมะ
“ด้านซ้ายของเวที” เป็นฝ่ายอธรรม
๔. การนั่งของนักแสดง
กำหนดให้ “ตัวนาง” นั่งทาง “ขวามือ” ของตัวพระ ยักษ์ หรือลิง และในฉากที่มีการเข้าเฝ้า ตัวละครสำคัญจะนั่งทาง
“ขวามือ” ของกษัตริย์
๕. ในการแสดง
“โขนหน้าจอ” ให้ตั้ง “เตียงเล็ก” ด้านในชิดจอ
๖. การตั้งเครื่องราชูปโภค
กำหนดดังนี้ “ด้านซ้ายของเตียง” ตั้งพานพระศรี (พานหมาก) และพระแสง (อาวุธ) “ด้านขวาของเตียง” ตั้งพระสุพรรณศรี (กระโถน)
และกาน้ำ
๗. กางวาง
หมอนสามเหลี่ยม (หมอนขวาน) และ หมอนสี่เหลี่ยม (หมอนหน้าอิฐ)
ให้วางทางด้าน“ซ้ายมือของผู้แสดง” (ในฉากวิมาน
ห้ามไม่ให้ใช้เครื่องราชูปโภคและหมอน)
๘. นางกำนัลที่ทำหน้าที่
“โบกพัด” ให้อยู่ “ด้านขวาของเตียง”
ส่วนหน้าที่ “โบกแส้” อยู่ “ด้านซ้ายของเตียง” (เวลานอนตัวละครจะหันศีรษะไปทางซ้ายของเตียง
การโบกพัดจึงต้องโบกทางปลายเท้า)
๙. การใช้อาวุธในการแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง
มีข้อปฏิบัติคือ (๑) ต้องเป็นสิ่งจำลองห้ามใช้ของจริง (๒) การจับถือต้องจับแบบ
“ซ่อนคม” คือหันคมเข้าในตัว (๓) การพุ่ง ขว้าง แทงอาวุธ “ห้าม”
ไม่ให้อาวุธหลุดจากมือ เช่น รามสูรขว้างขวานต้องใช้วิธี “ขว้างแบบซ่อนขวาน” (๔)
อาวุธศรหรือธนู จะไม่มีสาย เพราะหากต่อการควบคุมทิศทาง
๑๐. การแต่งตัวโขน
ก่อนสวมสังวาลย์หรือหัวโขน จะต้องรำลึกถึงพระคุณครูอาจารย์ การสวมสังวาล
จะต้องสวมเป็นชิ้นสุดท้าย และต้องครูผู้ใหญ่สวมให้
๑๑. การกลางกลด จะกางเฉพาะตัวแสดงที่เป็นพระมหากษัตริย์ อุปราช
ในการแสดงโขนหน้าจอ คนกางกลดจะอยู่ด้านขวา ตัวแสดงจะใช้มือซ้ายแตะที่ขอบพระตูโขน
เรียกว่า “เท้าฉาก” ส่วนในการแสดงโขนฉาก
โขนกลางแปลง ละคร คนกางกลดจะอยู่ด้านซ้าย ตัวแสดงจะใช้มือแตะที่ด้ามกลด เรียกว่า
“เท้ากลด” สรุปคือ การ “เท้าฉาก”
เป็นจารีตของโขน ส่วนการ “เท้ากลด” เป็นจารีตของละครที่โขนบางประเภทยืมมาใช้
๑๒. ในขณะตรวจพล คนกางกลดจะหมุนกลดไปด้วย เรียกว่า
“กลิ้งกลด”
๑๓. จารีตในการเรียกเพลงหน้าพาทย์โขน
ถ้ามีตัวโขนที่มีศักดิ์สูงอยู่ในฉาก
เมื่อถึงบทที่ตัวโขนศักดิ์ต่ำกว่าจะต้องรำหน้าพาทย์
ผู้พากย์จะไม่เรียกหน้าพาทย์ชั้นสูง จะเรียกหน้าพาทย์ปกติทั่วไปแทน เช่น
ถ้าอินทรชิตกราบทูลลาทศกัณฐ์ไปทำสงคราม ทศกัณฐ์ยังประทับอยู่ จะเรียกเพลง
“เสมอธรรมดา” ไม่เรียกเพลง “เสมอมาร” ซึ่งเป็นหน้าพาทย์ชั้นสูง เป็นต้น
๑๔. การเรียงลำดับความสำคัญในการแสดง
เมื่อมีการแสดงพร้อมกัน จะต้องให้ “หนังใหญ่” ขึ้นก่อน ตามด้วยการแสดง “โขน” และ
การแสดง “ละคร” เป็นลำดับสุดท้าย
๑๕. จารีตของนักแสดง เมื่อได้ยินการบรรเลง
“เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง” จะต้องยกมือไหว้รำลึกถึงคุณครูอาจารย์ที่ท่านได้สั่งสอนอบรมมา
๑๖. เมื่อจบการแสดงในแต่ละครั้ง แต่ละรอบ
นักแสดงจะขอขมาลาโทษและให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน
เป็นการสร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะศิลปินด้วยกัน
ข. จารีตที่เป็นข้อห้าม
๑. ห้ามวางหัวโขนยักษ์ซ้อนบนหัวโขนลิง
๒. ห้ามนอนในขณะแต่งเครื่องโขน-ละคร
๓. ห้ามข้ามเครื่องแต่งกายและอาวุธที่ใช้แสดงต่างๆ
๔. ห้ามมิให้ตั้งจอโขนรับตะวันและขวางทิศทางลม
๕. ห้ามมิให้ถือหัวโขนห้อยหัวลง
หรือนำอาวุธยาวๆ เสียบหัวโขนไว้
๖. ห้ามมิให้ใช้นิ้วมือหรือวัตถุใดๆ
แหย่งช่องตาหัวโขน
๗. ห้ามมิให้รำหน้าพาทย์แบบเล่นๆ
หรือพร่ำเพรื่อ การรำจะต้องรำให้จบเพลงทุกครั้ง
๘. ห้ามมิให้ตัวแสดงสำคัญตายกลางโรง
๙. ห้ามมิให้ผู้แสดงเดินผ่านบนเวทีโดยไม่เคารพ
๑๐. ห้ามมิให้ถวายเครื่องสังเวยในตอนเย็น
และไม่มีพิธีเบิกหน้าพระในการแสดงโขน-ละครในงานราชการ (งานหลวง)
ค. จารีตที่เป็นเคล็ดลาง
๑. หัวหลุดกลางโรง
ห้ามถอด ต้องให้ครูผู้ใหญ่ต่อหัว (ยอด) ให้
๒. ถอดหัวไม่ออก
ต้องขอขมาครูและให้ครูผู้ใหญ่ถอดให้
๓. สุนัขวิ่งผ่านหน้าโรงหรือหน้าจอโขน
เป็นลางดี นำมาซึ่งความสำเร็จ
๔. แมววิ่งผ่านหน้าโรงหรือหน้าจอโขน
เป็นสิ่งไม่ดี เป็นอัปมงคล
๕. ถ้าโรงชำรุดหรือหักพังในขณะแสดงถือว่าเป็นสิ่งไม่ดี
เอกสารอ้างอิง
ประเมษฐ์ บุณยะชัย.
จารีตนาฏศิลป์ไทย.
เอกสารประกอบการสอนวิชาจารีตนาฏศิลป์ไทย
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
กรุงเทพมหานคร, 2546.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น