นาฏศิลป์ไทย
ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง เรือม ตารี
ระบำ รำ
ฟ้อน เซิ้ง เรือม
ตารี (Taree)
เป็นคำนำหน้าชื่อเรียกการแสดงที่แสดงคนเดียวหรือเป็นหมู่ แต่ไม่มีเรื่องราว
ไม่มีพระเอก นางเอก ผู้ร้าย เหมือนโขน ละคร ลิเก ฯลฯ เน้นเพียงความสนุกสนาน
ครึกครื้น สวยงาม มีการแปรแถวที่หลากหลาย มีเครื่องแต่งกายวิจิตรสวยงาม แสดงถึงวัฒนธรรมของชุมชนถิ่นนั้น
มีการบรรเลงดนตรีประกอบ บางชุดการแสดงอาจจะมีเพลงร้องด้วย
สาเหตุที่เรียกชื่อการแสดงแตกต่างกันไป
โดยเรียกทั้ง ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง เรือม ตารี นั้น ก็เป็นเพราะ “ภาษา” ที่แตกต่างกันนั่นเอง ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ
ต่างก็เรียกว่า “Dance” เหมือนกัน
แต่ถ้าแยกตามภูมิภาคของไทย จะแยกได้ดังนี้
·
ภาคกลาง
เรียกว่า ระบำ และ
รำ
·
ภาคเหนือ
เรียกว่า ฟ้อน
·
ภาคอีสานตอนบน (ไทย-ลาว) เรียกว่า
ฟ้อน และ เซิ้ง (“เซิ้ง” แปลว่า การร้อง ดังนั้น การเซิ้ง ก็คือ การร้องไปด้วย
ฟ้อนไปด้วยพร้อมๆกัน เช่น เซิ้งบั้งไฟ เป็นต้น)
·
ภาคอีสานตอนล่าง (ไทย-เขมร) เรียกว่า เรือม แปลว่า รำ
·
ภาคใต้ตอนบน เรียกว่า
รำ และ ระบำ
·
ภาคใต้ตอนล่าง (ไทย-มลายู) เรียกว่า ตารี (Taree) แปลว่า ระบำ
แม้ว่าโดยหลักๆ แล้ว
เราจะเรียกการแสดงที่ไม่เน้นเรื่องราวนี้ว่า ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง เรือม ตารี
แตกต่างกันไปตามภูมิภาค หรือ ท้องถิ่นนั้นๆ ก็ตาม
แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยเราเป็นรัฐหนึ่งเดียว ใช้ภาษาเดียวกันทั่วประเทศ
โดยใช้ภาษาไทยกลาง ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ดังนั้น
จึงมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านภาษากัน โดยเฉพาะคนท้องถิ่นต้องเรียนภาษาไทยกลาง
ทำให้การเรียกชื่อ ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง เรือม ตารี ปะปนกันไป ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือ
เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม นักปราชญ์ราชบัณฑิต ผู้รู้ และครูบาอาจารย์ด้านนาฏศิลป์ไทย
ได้พยายามให้ความหมาย หลักการ ในการแยกแยะหรือเรียกชื่อชุดการแสดง ว่าชุดใด คือ
“ระบำ” หรือ “รำ” ไว้ ดังต่อไปนี้
๑. ความหมาย
ก. “ระบำ” หมายถึง
“การฟ้อนรำเป็นชุดกัน
ฟ้อนรำเป็นชุดกัน”
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน : ๒๕๒๕)
“ศิลปะแห่งการรำประเภทต่างๆ
ที่ผู้แสดงรำพร้อมกันเป็นหมู่” (จาตุรงค์
มนตรีศาสตร์ : ๒๕๒๗)
“การฟ้อนร่วมกันเป็นหมู่หรือกลุ่ม
โดยไม่มีเรื่อง ไม่มีนิยาย” (สุจิตต์
วงษ์เทศ : ๒๕๓๒)
“การแสดงนาฏยศิลป์ตั้งแต่
๒ คนขึ้นไป ด้วยวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง
มีการดำเนินกระบวนฟ้อนรำตั้งแต่ต้นจนจบในเวลาอันสั้น ประกอบด้วยดนตรี อาจมีบทร้อง
อุปกรณ์การฟ้อนรำ ไม่มีตัวละครดำเนินเรื่อง” (สุรพล วิรุฬห์รักษ์ : ๒๕๔๙)
ข. “รำ” หมายถึง
“กิริยาแสดงท่าเคลื่อนไหวคนเดียวหรือหลายคน
โดยมีลีลาและแบบท่าของการเคลื่อนไหว และมีจังหวะลีลาเข้ากับเสียงที่ทำจังหวะ
เพลงร้อง หรือเพลงดนตรี, อาการที่แสดงท่าคล้ายคลึงเช่นนั้นฟ้อน” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน : ๒๕๒๕)
“ศิลปะแห่งการรำเดี่ยว
รำคู่ เช่น รำฉุยฉาย รำอาวุธ ถ้าหนักไปทางเต้นก็มี เช่น รำโคม” (จาตุรงค์ มนตรีศาสตร์ : ๒๕๒๗)
“การละเล่นเดี่ยวหรือคู่
ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับอาวุธและการต่อสู้ เช่น รำดาบ รำกระบี่กระบอง รำเขนง
รำพัดชา ใกล้เคียงกับคำว่าว่า เต้น จึงใช้ รำเต้น” (สุจิตต์ วงษ์เทศ : ๒๕๓๒)
ค. “ฟ้อน” หมายถึง
“รำ,
ระบำ ” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน : ๒๕๒๕)
๒. หลักการเรียกว่า
“ระบำ” “รำ” “ฟ้อน” “เซิ้ง” “เรือม” “ตารี”
หลักการที่เราจะเรียกการแสดงชุดใดว่า
“ระบำ” “รำ” “ฟ้อน” “เซิ้ง” “เรือม” หรือ “ตารี” นั้น อาจจะใช้หลักการต่อไปนี้
รำ หรือ
ระบำ
๑. ถ้ามีคนรำคนเดียว
เรียกว่า “รำ” เท่านั้น เช่น รำฉุยฉาย รำสีนวล รำมโนห์ราบูชายัญ รำพลายชุมพล
รำอวยพร รำแม่บทนางนารายณ์ ฯลฯ
๒. ถ้ามีคนรำ
๒ คน หรือ รำคู่
๑) รำคู่เชิงอาวุธ
เรียกว่า “รำ” เท่านั้น เช่น รำพลอง-ไม้สั้น รำกระบี่-กระบอง ฯลฯ
๒) รำคู่เบิกโรง
เรียกว่า “รำ” เท่านั้น เช่น
รำฉุยฉายกิ่งไม้เงินทอง รำประเลง ฯลฯ
๓) รำที่ตัดตอนจากโขน-ละคร
แต่ละตัวมีบทบาทของตนเอง เรียกว่า “รำ” เท่านั้น เช่น รำพระรามตามกวาง รำพระลอตามไก่ รำย่าหรันตามนกยูง รำหนุมานจับนางเบญกาย
รำรถเสนจับม้า ฯลฯ
๔) รำคู่
แต่ของเดิมคือการรำเดี่ยวมาก่อน ให้เรียก “รำ” ตามชื่อเดิม เช่น รำสีนวล รำฉุยฉาย
เป็นต้น ไม่ให้เรียกว่า “ระบำ”
๕) ถ้ารำ ๒
คน นอกเหนือจากที่กล่าวมา อาจเรียกได้ทั้ง รำ และ ระบำ เช่น รำสุโขทัย หรือ
ระบำสุโขทัย, รำประทีปทอง หรือ
ระบำประทีปทอง เป็นต้น
๓. ถ้ามีคนรำ
๓ คนขึ้นไป
๑) ถ้าของเดิมเป็นการรำเดี่ยว
ให้เรียกว่า “รำ” เท่านั้น เช่น รำฉุยฉาย รำสีนวล ฯลฯ ไม่ให้เรียกว่า ระบำฉุยฉาย
ระบำสีนวล ฯลฯ
๒) ถ้าเป็นรำที่ดัดแปลงมาจากของต่างชาติ นิยมเรียกว่า “รำ” มากกว่า “ระบำ” เช่น
จีนรำพัด ญวนรำกระถาง เป็นต้น
๓) ถ้าเดิมเป็นรำหมู่ของชาวบ้าน
นิยมเรียกว่า “รำ” ไม่เรียก “ระบำ” เช่น รำวงแบบบท รำวงมาตรฐาน รำโทน รำวงหน้านาค
รำมังคละ เต้นกำรำเคียว รำกลองยาว รำเหย่อย เป็นต้น
๔) ถ้าผู้รำแต่งยืนเครื่อง
หรือ แต่งนางใน นิยมเรียกว่า “ระบำ” เช่น ระบำเทพบันเทิง ระบำพรหมาสตร์
ระบำกฤดาภินิหาร ระบำฉิ่ง ระบำกรับ ฯลฯ
๕) ถ้าตัดตอนมาจากละคร
โขน มักเรียกว่า “ระบำ” เช่น ระบำกวาง
ระบำบันเทิงกาสร ระบำปลา ระบำเงือก ระบำนกเขา ฯลฯ
๖) ถ้าเป็นการแสดงแบบพื้นเมือง
หรือของท้องถิ่นต่างๆ จะเรียกว่า “รำ” หรือ “ระบำ” ก็ได้ เช่น รำทอซิ่นตีนจก หรือ
ระบำทอซิ่นตีนจก, รำเบญจรงค์ หรือ
ระบำเบญจรงค์ ฯลฯ
ฟ้อน
เซิ้ง เรือม ตารี
๑. “ฟ้อน”
ใช้เรียกรำหรือระบำ ของวัฒนธรรมภาคเหนือและภาคอีสาน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม
ฟ้อนวี ฟ้อนที ฟ้อนภูไท ฟ้อนแขบลาน ฟ้อนคอนสวรรค์ ฯลฯ
๒. “เซิ้ง” ใช้เรียกชุดฟ้อนที่มีการร้องไปด้วย เช่น
เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งตังหวาย เซิ้งสาละวัน ฯลฯ
๓. “เรือม” ใช้เรียก รำหรือระบำ ในกลุ่มวัฒนธรรมไทย-เขมร เช่น
เรือมตล็อค เรือมอันเร ฯลฯ
๔. ตารี” (Taree) ใช้เรียก รำหรือระบำ ในกลุ่มวัฒนธรรมไทย-มลายู เช่น ตารีกีปัส ตารีปายง
ตารีบุหงารำไป ฯลฯ
เอกสารอ้างอิง
จาตุรงค์ มนตรีศาสตร์. นาฏศิลป์ศึกษา. กรุงเทพฯ : อักษรสยามการพิมพ์, ๒๕๒๗.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
อักษรเจริญทัศน์
พิมพ์ครั้งที่ ๓, ๒๕๓๐.
ศิลปากร, กรม. วิพิธทัศนา. กรุงเทพฯ : บริษัทเซเว่นพริ้นติ้งกรุ๊ป, ๒๕๔๒.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. ร้องรำทำเพลง.
กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน,
๒๕๓๒.
สุมิตร เทพวงษ์. ระบำ รำ ฟ้อน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๖
สุรพล วิรุฬรักษ์. นาฏยศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๙.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น