วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กลองแซะ





กลองแซะ
ของพ่อครูคำ  กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕
 
กลองแซะ เป็นกลองขึงสองหน้า เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ตัวกลองสูง (หรือหนา) ประมาณ ๒๐ เซนติเมตร การขึงกลองใช้สลัก หรือ ลิ่ม (คำเมือง เรียกว่า แซ่)
การตีกลองแซะ ใช้ไม้ไผ่ ๒ อัน  มือขวาตีด้วยไม้ไผ่ ขนาดยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร มีลักษณะแบน กว้างประมาณ ๔ เซนติเมตร ไม่หนามากนัก ส่วนมือซ้ายตีด้วย “ไม้แซะ” มีลักษณะเป็นไม้ไผ่ ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ลักษณะแบน แต่ปลายไม้ใช้มีดผ่าให้เป็นซี่เล็กๆ เหตุผลเพราะ เวลาตีกลองจะมีเสียงดัง “แซะ” แทนเสียงฉาบ
เครื่องประกอบจังหวะในการตีแซะ ใช้เฉพาะโหม่ง ไม่มีฉาบใหญ่หรือฉว่า เหมือนกลองสะบัดชัย หรือกลองล้านนาชนิดอื่นๆ
พ่อครูคำ  กาไวย์ (สัมภาษณ์ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๔) กล่าวว่า กลองแซะ เป็นกลองที่มีมานานแล้วนับ ๑๐๐ ปี เป็นกลองชนิดแรกๆ ของล้านนาที่พ่อครูคำเคยได้เห็น ได้ยินเสียง และได้ฝึกตี  โดยตอนเด็กๆ ขณะพ่อครูคำอายุ ๗-๘ ขวบ เมื่อมีงานปอยบวชลูกแก้ว (บวชเณร – คนล้านนา นิยมบวชเณรเป็นงานใหญ่โต ในขณะที่บวชพระกลับไม่ใหญ่โตเท่า แตกต่างจากภาคกลาง ที่จะงานบวชพระจะจัดใหญ่มาก ส่วนบวชเณรจะไม่เอกิเกริกเท่า) พ่อครูคำ  จะได้ยินเสียงตีแซะลอยมาไกลๆ พ่อครูก็จะปีนไม้ (ต้นมะขาม?) ขึ้นไปสูงๆ แล้วเงี่ยหูฟังว่า กลองมาจากทิศทางไหน แสดงว่างานปอยบวชลูกแก้วอยู่ทางทิศนั้น วันรุ่งขึ้นพ่อครูคำ ก็จะไปแอ่ว (ไปเที่ยว) ในงานเป็นที่สนุกสนาน
พ่อครูคำ กล่าวต่อไปว่า กลองแซะ นั้นมีมาก่อนกลองใดๆ ทั้งหมด ต่อมาก็เป็นกลองสิ้งบ่อม (กลองยาวของล้านนา) กลองปู่เจ่ (ของไต หรือไทยใหญ่) และกลองสะบัดชัย ตามลำดับ เมื่อมีกลองอื่นๆ เข้ามา กลองแซะก็ค่อยๆ เลือนหายไป จนถึงขณะนี้ (พ.ศ.๒๕๕๔) หาคณะหรือคนตีกลองแซะได้น้อยมาก ยังมีคณะพ่อครูคำ  กาไวย์ ที่อนุรักษ์ไว้ได้
กลองแซะ นิยมตีประกอบการฟ้อนเจิงมือเปล่า ฟ้อนดาบ และตีในขบวนแห่ลูกแก้วจากบ้านไปที่วัด หรือพาลูกแก้วไปแอ่ว (พาเด็กที่บวชเณรไปเยี่ยมบ้านต่างๆ เพื่อให้บ้านนั้นๆ ได้ทำบุญ เพราะคนล้านนาเชื่อกันว่า ทำบุญกับลูกแก้วได้บุญเยอะ) 

สมภพ  เพ็ญจันทร์
๙ มิถุนายน ๒๕๕๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น