วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กลองไชยมงคล กลองสะบัดชัย กลองอุ่นเมือง ที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี



บทความวิชาการ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมภพ  เพ็ญจันทร์
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม
 มิถุนายน  ๒๕๕๗

กลองไชยมงคล กลองสะบัดชัย กลองอุ่นเมือง
ที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี

          บทความนี้เขียนขึ้นเพราะความกระหายใคร่รู้ที่มาของกลองไชยมงคล และกลองสะบัดชัย ซึ่งวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ เปิดสอนให้นักเรียน โดยมีพ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นบรมครูด้านกลองสะบัดชัย และพ่อครูมานพ  ยารณะ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นพ่อครูด้านกลองไชยมงคล  ส่วนเรื่องราวของกลองอุ่นเมือง (ก๋องหลวง?) นั้น ผู้เขียนนำมาบันทึกไว้ด้วย เพื่อการศึกษาค้นคว้าต่อไปในอนาคต เรื่องราวในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่มีเรื่องราวของกลองไชยมงคลและกลองสะบัดชัยบรรจุอยู่ มีดังนี้ครับ
          กล่าวถึงพระญายีบา เจ้าเมืองหริภุญชัย หลังจากถูกพระญามังรายยกทัพจากเชียงแสนเชียงรายมาตีแตกพ่าย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๘๒๔ (ปีเต่าสะง้า) แล้ว ก็หนีไปอยู่กับพระญาเปิกผู้เป็นลูก ณ เมืองเขลางค์นคร หรือเมืองลำปาง (ผมมีเกร็ดขอแทรกตรงนี้เพื่อเป็นความรู้ว่า พระญาเปิกนี้คือ ชื่อเจ้าพ่อขุนตาน ที่ชาวลำปางตั้งศาลและรูปเคารพไว้ที่ดอยขุนตาน ระหว่างที่เราขับรถไป-มา ระหว่างเชียงใหม่-ลำปางนั่นเอง เพราะพระญาเปิกได้สู้รบกับทัพพระญามังราย และเสียชีวิตที่ดอยขุนตานนี้)
พระญามังรายก็ส่งอุปนิกขิต (สายลับ) ไปสืบข่าว อุปนิกขิตซุ่มสืบข่าวอยู่ ๑๔ ปี พอปี พ.ศ.๑๘๓๙ ปีก่อตั้งเวียงเชียงใหม่ (ปีรวายสัน) อุปนิกขิตสายลับรู้ว่าพระญายีบาและพระญาเปิก รวบรวมกองทัพเตรียมจะมาตีเมืองหริภุญชัยกับคืน และจะตีเวียงกุมกามด้วย จึงรีบมารายงานพระญามังราย ตอนนี้ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บันทึกเรื่องกลองไว้ว่า
 
“....เจ้ามังรายรู้ขร่าวสารคำอันนั้น ลุกขึ้นตบมือ ๓ ทีกล่าวสีหนาทองอาจว่า ปางนี้คูจักได้ประจญแพ้ข้าเสิก์แท้แล ว่าอั้น (แพ้ เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ชนะ) เจ้าพระญามังรายจิ่งหื้อตีกลองร้องปล่าวหื้อสรบหมู่ริพลชู่ประการ...” (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๒๕๓๘ หน้า ๓๖)

บทบาทของกลองตอนนี้ คือ การตี “กลอง” เป็นสัญญาณเพื่อประชุมทัพ (ไม่ได้ระบุชื่อว่า “กลองชัยมงคล” หรือ “กลองสะบัดชัย”)  

ในการรบที่เวียงกุมกาม ทัพเชียงใหม่ มี “เจ้าขุนคราม” โอรสพระญามังราย อาสารบกับทัพพระญาเปิกที่เข้าตีเวียงกุมกาม เจ้าขุนครามประชุมแม่ทัพนายกองว่าจะทำศึกตีกระหนาบโอบล้อมทัพพระญาเปิก มีถึงเวลารบก็ตีกลองให้สัญญาณ ตอนนี้ตำนานฯ บันทึกไว้ว่า
“...เจ้าขุนครามแต่งกลเสิก็ฉันนี้ แล้วค็หื้อสัญญาริพลเคาะคล้องโย้งตีกลองชัยยกสกุลโยธาเข้าชูชนพระญาเปิก ยู้ขึ้นมา วันนั้นแล...” (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๒๕๓๘ หน้า ๓๙)

ตอนนี้ ตำนานบันทึกเป็น ชื่อ “กลองชัย” บทบาทของกลองคือ ตีบอกสัญญาณให้เข้ารบ

หลังจากทัพเชียงใหม่รบชนะทัพพระญายีบาและพระญาเปิกแล้ว พระญามังรายก็แสดงความยินดีกับลูกๆ ที่คุมทัพไปและทหารทั้งมวล ตอนนี้ตำนานฯ บันทึกเรื่องกลองไว้ว่า
 “...เจ้ามังรายยินดีเซิ่งลูกตนกับทังขุนบ้านขุนเมืองชู่คน ค็หื้อตีกลองอุ่นเมืองทั่วเวียงเชียงใหม่แลกุมกาม ๗ วัน ๗ คืน เลี้ยงดูหมู่ริพลทั้งมวลชู่คน...”
“...ส่วนตนเจ้าพระญาครามนั้น เจ้ามังรายค็หื้อเมืองเชียงดาวทังมวลเปนรางวัล ...หื้อเมียนาง ๔ คน ช้างพลาย ๔ ตัว ช้างพัง ๔ ตัว ... กับดุริยดนตรีเปนต้นว่า กลองไชย พาทย์พิณ พุลุลาภา ปลี่ห้อ แตรสังข์พร้อมชู่ประการ...” (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๒๕๓๘ หน้า ๔๑)
ตอนนี้ปรากฏเป็นชื่อ “กลองอุ่นเมือง” บทบาทของกลองนี้ คือ ตีเพื่อประกาศชัยชนะ และปรากฎชื่อ “กลองไชย” ให้เป็นดุริยดนตรีสำคัญคู่บ้านเมือง

ประมาณปี พ.ศ.๑๘๗๑ (ปีเปิกสี) หลังจากสร้างเวียงเชียงใหม่ได้ ๔๒ ปี พระญาแสนพู กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ องค์ที่ ๓ (หลานพระญามังราย) ได้แต่งตั้งพระญาคำฟูให้รักษาเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระองค์เองเสด็จไปประทับอยู่ที่เชียงราย และสร้างเมืองเชียงแสนขึ้น พระองค์ก็ไปประทับที่  เชียงแสน ในตอนนี้ ตำนานฯ ได้บันทึกถึงเรื่องการสร้างกลองประจำเมืองไว้ ๓ ลูก ดังนี้

“...เจ้าพระญาแสนพูค็หื้อไปส้างบ้านอัน ๑ ยังดอนหัวแท่น  ยังมีในวัน ๑ พระญาแสนพูนอนในบ้านนั้น ยามจักใกล้รุ่ง หันยังนิมิตต์ฝันว่า ชายผู้ ๑ มาจากับตนว่า คูจักมาแปลงกลอง ๓ ลูก จักรักษาเมืองเชียงใหม่ลูก ๑  จักรักษาเมืองเชียงรายลูก ๑    ลูก ๑ จักรักษาเมืองเชียงแสนหนี้  ชะแล ว่าอั้น
พระญาแสนพูสะดุ้งตื่น รุ่งเช้า ซัดตาผ่อเมือเหนือ หันไม้ลำ ๑ ค้างอยู่หัวดอนแท่น จิ่งหื้อไพเอามา รู้จักว่าเป็นไม้ดู่ จิ่งตัดเป็นกลองสามลูก ลูกเคล้าหื้อเอามาไว้เปนกลองยามในหอกลางเวียงเชียงใหม่,   ลูก ๑ ไว้กับหอกลองกลางเวียงเชียงราย,  ลูก ๑ ไว้หอกลองกลางเวียงเชียงแสน ที่วัดพระหลวง วันนี้แล....”   (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๒๕๓๘ หน้า ๔๗)

ตอนนี้ ตำนานใช้คำว่า “กลองยาม” ถ้าหากบ้านเมืองยังสงบสุข กลองทั้ง ๓ ลูก ซึ่งมีอายุกว่า ๗๐๐ ปี คงจะยังคงอยู่ แต่ปัจจุบันคงสูญสลายไปกับกาลเวลาแล้ว น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

พ.ศ.๑๘๘๑ (ปีเปิกยี) พระญาคำฟู ครองเมืองเชียงใหม่ เป็นลำดับที่ ๔ ได้รบกับพระญากาวน่านที่เมืองฝาง การรบเป็นไปอย่างชุลมุน องค์กษัตริย์ นายทัพ ทั้งสองฝ่าย รบกันบนหลังช้าง ในตอนนี้ตำนานฯ ได้บันทึกบทบาทของกลองไว้ว่า

“...บ่าวกาวน่านผู้ ๑ ชื่อว่าขุนยอน งวากชนช้างอองขวานคำ พระญาคำฟูค็หื้อเคาะคล้อง    ตีกลองสะบัดชัยยอพลเสิก็เข้าล้องล้อมเอาอองขวานคำได้ แล้วหมู่พลเสิก็พระญาพระญากาวน่านลวดหักหนี...” (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๒๕๓๘ หน้า ๔๗)

ตอนนี้ ตำนานใช้คำว่า “กลองสะบัดชัย” บทบาทของกลอง คือ ตีบอกสัญญานให้เข้ารบ

พ.ศ.๑๙๓๑ พระญากือนา กษัตริย์เชียงใหม่ลำดับที่ ๖ สวรรคต ท้าวมหาพรหมพี่ชายพระญากือนา จะมาชิงเมืองเชียงใหม่จากเจ้าแสนเมืองมา โอรสพระญากือนา จึงยกทัพออกจากเชียงรายมาตั้งทัพอยู่นอกเวียงเชียงใหม่ เรียกอัครมหาเสนาของเชียงใหม่ชื่อ แสนผานอง มาบอกว่า จะมาสักการะพระศพ  แสนผานองรู้เท่าทันว่าอาจะมาชิงเมืองหลาน จึงปิดประตูเมือง จัดทหารเข้าเวรยามแข็งขัน แล้วจัดประลองไก่ชนเสี่ยงทายว่าไก่ใครจะชนะ ปรากฏว่าไก่เจ้าแสนเมืองมาชนะ ก็โห่ร้องกันขึ้นดังสนั่น ตอนนี้ตำนานฯ บันทึกไว้ในเรื่องกลองอย่างน่าสนใจว่า

“...แล้วจิ่งสว่ายไกล่  ได้ไกล่คุ้มแสนเมืองมา ได้ไกล่บ่อนวางคุ้มพลแสน  จิ่งหื้อเคาะคล้องโย้ง ตีกลองสะบัดชัยโห่ร้องอยู่นั่นคับเวียง  ท้าวมหาพรหมได้ยิน ว่า เขาบ่เปนเราหั้นดาย ว่าอั้น...”   (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๒๕๓๘ หน้า ๕๑)

ตอนนี้ ตำนานใช้คำว่า “กลองสะบัดชัย” บทบาทของกลอง คือ ตีประกอบการโห่ร้องของทหารหาญในกองทัพ ที่ไก่ชนเสี่ยงทายได้รับชัยชนะ เป็นการตีประโคมเพื่อปลุกใจให้ฮึกเหิมเตรียมรบกับข้าศึก

พ.ศ.๑๙๔๕ สมัยเจ้าพระญาสามฝั่งแกน กษัตริย์เชียงใหม่องค์ที่ ๘  พระญาห้อเจ้าลุ่มฟ้ามารุกรานเชียงแสน พระญาสามฝั่งแกน จึงให้เจ้าแสนชัยปราบศัตรู คุมพล ๘ หมื่นไปช่วยป้องกันเมืองเชียงแสน โดยแต่งกลศึกให้กองทัพห้อ (ฮ่อ) มาติดกับดัก ตำนานบันทึกว่า

“...ยามแตรจักใกล้เที่ยงวัน หร้อยกพลเสิก็เข้ามา  ชาวเราจิ่งเคาะคล้อง ตีสะบัดชัย ยอพลเสิก็กวมปีกกากุมติดไว้...”   (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๒๕๓๘ หน้า ๕๙)

ตอนนี้ ตำนานใช้คำว่า “กลองสะบัดชัย” บทบาทของกลอง คือ ตีบอกสัญญานให้เข้ารบ

พ.ศ.๑๙๔๘ สมัยเจ้าพระญาสามฝั่งแกนเช่นกัน  ตำนานฯ ได้บันทึกถึงบทบาทของกลองในการตีเพื่อบอกเวลาไว้ว่า

“...ในวันนั้นบ่ทันค่ำ  ยามกลองแลง  บังเกิดเปนฝนเปนลม  ฟ้าเผียะ ๓ ที...”   (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๒๕๓๘ หน้า ๕๙)

คำว่า “แลง” แปลว่า ตอนเย็น  คำว่า “ยามกลองแลง” คือ เวลาที่กลองตีบอกเวลาตอนเย็น
ในปฏิทินล้านนา พ.ศ.๒๕๕๕ ฉบับวัดธาตุคำ (๒๕๕๕ หน้า ๑๕) กล่าวถึงช่วงเวลาหรือ “ยาม” ของล้านนาว่า
“ยาม คือ การแบ่งเวลาในวันหนึ่งๆ ออกเป็น ๑๖ ส่วน คือ กลางคืน ๘ ส่วน กลางวัน ๘ ส่วน  ส่วนหนึ่งมี ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที เรียกว่า ๑ ชั่วยาม”
ในปฏิทินล้านนาฉบับดังกล่าว (๒๕๕๕ หน้า ๑๖) ได้ระบุถึง “ยามชนะวันในแต่ละวัน” ซึ่งปรากฏยามที่เกี่ยวกับ “กลอง” คือ
“ยามกลองงาย”           เวลา ๐๗.๓๑ – ๙.๐๐ น. ช้างชนะราชสีห์
“ยามกลองบ่าย” เวลา ๑๒.๐๑ – ๑๓.๓๐ น. พระอินทร์ชนะไอศวร
ส่วน “ยามกลองแลง” ในพจนานุกรมภาษาล้านนา ฉบับเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา (๒๕๕๐ หน้า ๔๑๐) ระบุว่า เป็นเวลา ๑๖.๓๐ – ๑๗.๐๐ น. ตรงกับคำว่า “ยามค่ำ” ในปฏิทินล้านนาฉบับวัดธาตุคำ
จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฯ นี้ แสดงว่าบทบาทของ “กลองล้านนา” นอกจากใช้ในการตีบอกสัญญาณในการรบแล้ว ยังใช้ตีบอกสัญญาณเวลาต่างๆ ด้วย

พ.ศ.๑๙๙๙ สมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ ๙ มหาราชของอาณาจักรล้านนา ได้กระทำศึกกับพระบรมไตรโลกนารถ กษัตริย์กรุงอโยธยา พระบรมไตรโลกนารถ ได้ตั้งทัพที่ฟากน้ำแม่ราชธานี (น่าจะเป็นแม่น้ำยม เพราะคนสุโขทัยเรียกเมืองตัวเองว่าราชธานี แม่น้ำยมไหลผ่านสุโขทัยหรือราชธานี จึงเรียกว่า น้ำแม่ราชธานี ปัจจุวบันยังมีหลักฐานปรากฎ คือ วัดราชธานี ติดลำน้ำยมกลางเมืองสุโขทัย) พระเจ้าติโลกราช ตั้งทัพที่ตีนเขาบาดาย (น่าจะอยู่ในเขตเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยหรืออำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เพราะน้ำแม่ราชธานีหรือน้ำแม่ยม จะไหลผ่านอำเภอวังชิ้นและอำเภอศรีสัชนาลัย)
ในการรบครั้งนี้ ต่างฝ่ายต่างใช้ใช้กลศึกอย่างเต็มที่ ครั้งหนึ่ง หมื่นด้ง ทหารฝ่ายพระเจ้าติโลกราช ออกอุบายใช้ทหารโห่ร้อง ตีฆ้อง ตีกลองสะบัดชัย ทำเสียงอึกทึกครึกโครม ชักลากกิ่งไม้ให้ฝุ่นตลบ เสมือนหนึ่งว่ามีทัพเป็นหมื่นเป็นแสนจะเข้าตีทัพอโยธยา (เหมือนอุบายในเรื่องสามก๊กเลย)     ตำนานฯ บันทึกว่า

“...หมื่นด้งจิ่งแต่งริพลเสิก็หื้อคืนหลังพุ่น ๔ พันคน หื้อแต่งชักเค็ดไม้ลากไพ หื้อกุ่นเท่าฟ้า อัน ๑  หื้อเอาเดงช้างกับจองวองช้างไพซุ่มอยู่ยังคุ่ม แล้วหมื่นด้งหื้อเคาะคล้องโย้ง ตีสะบัดชัย เป่าพุลุ   ลาภา ปลี่หร้อ ยอพลเสิก็เข้า ฝูงอยู่คุ่มไม้ค็สว่ายเดงช้าง ตีจองวองยู้เข้าไพ โห่ร้องมี่นันมากนัก...”  (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๒๕๓๘ หน้า ๖๙)

หลังจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้เขียนระบุถึง “กลองสะบัดชัย” ในการรบระหว่างพระเจ้าติโลกราชและพระบรมไตรโลกนารถแล้ว ตำนานฯ ก็ไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของ “กลอง” ที่ใช้ในบทบาทต่างๆ โดยเฉพาะบทบาทในการเป็น “กลองศึก” อีกเลย ผู้เขียนสันนิษฐานว่า เพราะรูปแบบการรบๆ ช่วงหลัง พ.ศ.๒๑๑๒ (ปีเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑)  เปลี่ยนไป เริ่มมีการใช้ “ปืน” ในการรบ (ตำนานฯ เรียกว่า “สินาด” “สินาดนกกก”)  การรบเพื่อกอบกู้เชียงใหม่คืนจากหงสาวดี เป็นแบบ “น้ำน้อย” กับ “ไฟ” ฝ่ายเชียงใหม่เป็นน้ำน้อยที่แพ้ไฟจากหงสาวดี เพราะมีกำลังพลน้อยกว่ามาก จึงใช้วิธี “ก่อจลาจล” “ซุ่มโจมตี” “ตีหัวเข้าบ้าน” มากกว่าที่จะรบกันแบบกองทัพใหญ่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้กลองสะบัดชัยตีให้อึกทึกครึกโครม เพราะการ “ซุ่มโจมตี” ต้องใช้ “ความเงียบ” เป็นหลักสำคัญ
หลัง พ.ศ.๒๓๑๐  พระเจ้าตากสินมหาราช ใช้ยุทธวิธี  “รบแบบกองโจร” ซุ่มโจมตีทัพ       หงสาวดี จนกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ   พระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละ จึงขอความช่วยเหลือจากกองกำลังพระเจ้าตากสิน เพื่อร่วมกันขับไล่หงสาวดีออกจากเชียงใหม่ จนประสบความสำเร็จ พระยา    กาวิละ ได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าตากสินเป็น “พระเจ้ากาวิละ” ให้ครองเชียงใหม่ เป็นเมืองประเทศราชของธนบุรี การรบช่วงหลังนี้ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ไม่ได้บันทึกบทบาทของกลองที่เกี่ยวกับการรบอีกเลย แต่บันทึกบทบาทของกลองที่เป็นมหรสพเฉลิมฉลองต่างๆ เช่น

ปี พ.ศ.๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้นให้เจริญรุ่งเรืองเหมือนเดิม ในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ตำนานบันทึกว่า

“...เข้าหนาปลาถูก สนุกสุขสานต์ กินทานเหล้นมโหรสพ พอยลาม ช้อย ซอ สี่บทกันโลง ดีดสี ตีเป่า ขับฟ้อนต่างๆ เสียงภิภาด ค้อง กลอง ขลุ่ย แน แตรเหริน แคน ค้อย ติ่ง ธะล้อสีซอ เพียะ พิณ บัณเฑาะว์ หอยสังข์ เปนอันสนั่นนันเนืองอุกขะหลุกชู่ค่ำเช้า บ่หม่นหมองเส้าในสาสนา...”  (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๒๕๓๘ หน้า ๑๔๕)

ปี พ.ศ.๒๓๖๐ สมัยพระยาธรรมลังกา (พระเจ้าช้างเผือก) เจ้าเมืองราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนองค์ที่ ๒  เกิดเหตุการณ์ประหลาดคือ ต้นกล้วยเกิดเป็นดอกบัวคำ ที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง เจ้าเมืองจึงให้ขุด       ต้นกล้วยแห่แหนเข้ามาในเวียง ตำนานบันทึกว่า

“...แล้วค็หามแหร่แหรนเข้ามาสู่เวียง เถิงหน้าข่วงพระราชชะวังหลวง แล้วค็หื้อส้างแปลงยังมัณฑัปปะหลัง ๑ เอาต้นกล้วยดอกบัวคำเข้าตั้งไว้ในท่ำกลางมัณฑัปปะ แล้วค็สงเสพด้วยตุริยนนตรี คล้องกลอง ยิ้งซออุ่นงัน ได้ ๗ วัน ๗ คืน.....”  (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๒๕๓๘ หน้า ๑๕๗-๑๕๘)

กล่าวโดยสรุปแล้ว ชื่อของกลองไชยมงคล และกลองสะบัดชัย ต่างปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่  ตัวสะกดอาจจะแตกต่างกันไป เป็น “ไชยมงคล” “ชัยมงคล” “สะบัดชัย” “สะบัดไชย” ก็แล้วแต่การเลือกใช้ เพราะต้นฉบับเดิมเป็นตัวเขียนคำเมืองหรือตั๋วเมืองล้านนา เมื่อปรับมาเป็นภาษาเขียนไทยกลางแล้ว ก็สุดแต่ใครจะเลือกใช้ แต่ความหมายก็คงเหมือนกัน คือ “ชัยชนะ” ส่วนโอกาสที่มีการตีกลองไชยมงคล และกลองสะบัดชัย (บางครั้งก็มีชื่อ “กลองอุ่นเมือง” ด้วย) มีหลายโอกาสด้วยกัน คือ ตีเพื่อเป็นสัญญาณประชุมทัพ,   ตีบอกสัญญาณให้เข้ารบ, ตีประกาศชัยชนะ, ตีประโคมปลุกใจให้ฮึกเหิม, ตีประกาศบอกเวลา (กลองยาม) และ ในช่วงท้ายๆ ประมาณ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา กลองถูกนำมาใช้ในการมหรสพ งานเฉลิมฉลอง สนุกสนานรื่นเริง เพราะการรบได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากการใช้ดาบ หอก รบประชิดกัน มีการส่งสัญญาณเข้ารบ  กลายเป็นการรบแบบซุ่มเงียบจู่โจม หรือใช้ปืนไฟยิงระยะไกล ไม่ต้องตีกลองบอกสัญญาณอีก  กลองศึกที่แต่เดิมใช้ในสนามรบ เก็บไว้ในวัง (ฝ่ายอาณาจักร)  ก็ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ในวัดเพื่อการศาสนา (ฝ่ายพุทธจักร) และชาวบ้านได้นำมาตีแห่แหนเป็นการสนุกสนานรื่นเริงในปัจจุบัน.   

เอกสารอ้างอิง

พระครูอดุลสีลกิตติ์และคณะลูกศิษย์วัดธาตุคำ. ปฏิทินล้านนา พ.ศ.๒๕๕๕ (ฉบับวัดธาตุคำ).
ลำพูน : ณัฐพลการพิมพ์, ๒๕๕๔.
ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎเชียงใหม่.
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. จัดพิมพ์เพื่อร่วมสมโภชเมืองเชียงใหม่
ในวาระที่มีอายุครบ ๗๐๐ ปี  เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, ๒๕๓๘.
สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่. พจนานุกรมภาษาล้านนา ฉบับ
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา พิมพ์ครั้งที่ ๒ เชียงใหม่ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์, ๒๕๕๐.  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น