วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2564

การละครตะวันตก ตอนที่ 2 (อิทธิพลการละครตะวันตกที่มีต่อการละครในประเทศไทย)

เอกสารประกอบการสอน วิชาการละครตะวันตก

ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564

จัดทำโดย ผศ.สมภพ  เพ็ญจันทร์

วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

กระทรวงวัฒนธรรม 


การละครตะวันตก (ตอนที่ 2)


อิทธิพลการละครตะวันตกที่มีต่อการละครในประเทศไทย

            การละครของไทยในที่นี้ จะขอแบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ ละครไทยยุคดั้งเดิม  ละครไทยยุคปรับปรุงขึ้นจากของเดิม และละครไทยยุคใหม่ (ละครร่วมสมัยของไทย)

1. ละครไทยยุคดั้งเดิม

ละครไทยยุคดั้งเดิม เริ่มมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีด้วยกัน 3  ประเภท คือ ละครโนราชาตรี  ละครนอก และละครใน ซึ่งในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึง

2. ละครไทยยุคปรับปรุงขึ้นจากของเดิมด้วยอิทธิพลของละครตะวันตก

ละครยุคปรับปรุงขึ้นจากของเดิม เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411 – 2453) ซึ่งตรงกับยุคเริ่มต้นของละครตะวันตกสมัยใหม่ในทวีปยุโรป(The  Modern Theatre ประมาณปี พ.ศ. 2418 -  2490)   

ในสมัยนี้ เมืองไทยเราเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งทางราชการได้ส่งนักเรียนไทยชุดแรก จำนวน 3 คน ไปเรียนต่อที่ยุโรป  คือ ที่ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ส่งเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงและลูกผู้ดีไทย จำนวนประมาณ 206 คน ไปศึกษาต่อในยุโรปตะวันตก ในประเทศอังกฤษ เยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี เดนมาร์ก และฝรั่งเศส ทำให้บุคคลชั้นสูงกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลด้านการศึกษา และความเจริญต่างๆ จากประเทศทางยุโรปเป็นอันมาก

2.1 อิทธิพลละครตะวันตกต่อละครพันทาง

ในปี พ.ศ.2400 (1857) เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ได้ร่วมคณะทูตไปประเทศอังกฤษ  ท่านได้รับชมการแสดงละครตะวันตก เมื่อกลับมาจึงได้ปรับปรุงคณะละครของท่าน โดยตั้งโรงละครอย่างตะวันตก ชื่อ ปริ้นซ์เธียเตอร์ (Prince Theatre) และ เล่นในคืนเดือนหงาย มีแสงสว่างเล่นละครได้ (เมื่อก่อนไม่มีไฟฟ้า) ประมาณ 7 วัน โดยติดประกาศว่าวีค (Week) หรือ 7 วันนี้จะเล่นเรื่องอะไร คนทั่วไปไม่เข้าใจความหมาย จึงให้คำว่า “วิก” แทนคำว่า “โรงละคร”

การแสดงละครของท่าน มีการเก็บเงินค่าเข้าชม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากละครตะวันตกเช่นเดียวกัน ละครเจ้าพระยามหินทรฯ นำเรื่องต่างชาติต่างภาษามาแสดง เช่น ราชาธิราช พระลอ ฯลฯ จึงเรื่องว่า “ละครพันทาง” (พันทาง แปลว่า สิ่งต่างชนิดกัน แล้วมาผสมกัน)

อาจนับได้ว่าละครพันทางเป็นละครไทยประเภทแรกที่ได้รับอิทธิพลจากละครตะวันตก

2.2 อิทธิพลละครตะวันตกต่อละครดึกดำบรรพ์

ในปี พ.ศ.2434 (1891) เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ได้ไปยุโรป มีโอกาสได้ชมละครโอเปร่า (Opera) เมื่อกลับมาจึงเล่าถวายและกราบทูลชวนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงร่วมมือจัดทำละครโอเปร่าแบบไทยขึ้น สร้างโรงละครที่บริเวณวังบ้านหม้อ ตั้งชื่อโรงละครนี้ว่า "โรงละครดึกดำบรรพ์"

ละครดึกดำบรรพ์ได้รับอิทธิพลจากละครตะวันตก ในเรื่องการสร้างเวที ฉาก แสง สี เสียง เทคนิคพิเศษในการแสดง มีการใช้ไฟให้ทราบว่าฉากนั้นเป็นกลางวัน กลางคืน มีฟ้าแลบ ไฟลุก  การแต่งหน้า เครื่องดนตรี (วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์) การจัดทำบท การแสดงที่ดำเนินเรื่องที่รวดเร็ว ย่อเรื่องละครที่เคยเล่นหลายคืนจบ ให้จบได้ใน 3-4 ชั่วโมง การจัดที่นั่งของคนดู และการเก็บเงินค่าเข้าชม

 

2.3 อิทธิพลละครตะวันตกต่อละครร้อง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ “พระบิดาแห่งละครร้อง” เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ทรงแตกฉานในภาษาอังกฤษ แม้จะไม่เคยศึกษาต่อต่างประเทศ

ในปี พ.ศ.2450 (1907) รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งที่ 2 ได้ทอดพระเนตรการแสดงละครโอเปร่าของฝรั่งเศส เรื่อง มาดามบัตเตอร์ฟลาย (Madam Butterfly) ซึ่งเป็นเรื่องความรักและความผิดหวัง ระหว่างสาวญี่ปุ่นชื่อโจโจ้ซังกับทหารหนุ่มฝรั่ง เมื่อเสด็จกลับเมืองไทย ได้ทรงเล่าให้กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ฟัง

กรมพระนราธิปฯ จึงทรงดัดแปลงเรื่องนี้ เป็นละครร้องของไทย ชื่อเรื่อง สาวเครือฟ้า เป็นเรื่องความรักและความผิดหวังระหว่างสาวเหนือชื่อ สาวเครือฟ้ากับทหารหนุ่มจากกรุงเทพฯ ชื่อ ร้อยตรีพร้อม ได้แสดงถวายหน้าพระนั่งรัชกาลที่ 5 เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก นับเป็นการเริ่มกำเนิดละครร้อง ตั้งชื่อคณะละครของพระองค์ว่า “ละครปรีดาลัย”

อิทธิพลละครตะวันตกที่มีต่อละครร้อง คือ เรื่องที่แสดง ฉาก เวทีการแสดง ที่นั่งคนดู วิธีการแสดง ใช้ท่าทางแบบสามัญชน (ไม่รำ) ดนตรี เพลงร้อง

 

2.4 อิทธิพลละครตะวันตกต่อละครพูด

รัชกาลที่ 6 ของไทยได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งละครพูด” เพราะพระองค์ทรงสามารถในการละครพูดเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องเอง กำกับการแสดงเอง ตลอดจนทรงแสดงด้วยพระองค์เองอีกด้วย ทั้งนี้สาเหตุเพราะพระองค์ได้ประสบการณ์จากการไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษและได้ทอดพระนตรละครตะวันตกหลายต่อหลายเรื่องนั่นเอง

ในปี พ.ศ.2436 (1893) รัชกาลที่ 6 (พระชนมายุ 12 พรรษา) ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ได้ทรงทอดพระเนตรละครตะวันตกหลายเรื่อง ในโรงละครต่างๆ  ในขณะนั้นกรุงลอนดอนมีโรงละครประมาณ 50 โรง ตัวอย่างละครและโรงละครที่ได้เสด็จทอดพระเนตร เช่น

ปี 2438 (1894) ทอดพระเนตรเรื่อง Petticoat Purfidy ของ Sir Charles Young ณ โรงละคร St.George’s Hall นอกกรุงลอนดอน, เรื่อง A Commission ของ Weedon Grossmith, ละคร Pantomime เรื่อง Cinderrella  ณ โรงละคร Druly Lane

ปี 2439 (1895) ทอดพระเนตรเรื่อง For the Crown ของ Francois Coppee ณ โรงละคร Lyceum, เรื่อง One of the Best ของ Sir Seymour Hicks ที่โรงละคร Adelphi, ทอดพระเนตรโอเปร่า เรื่อง Grand Duke ของ Gilbert และ Sullivan ที่โรง Savoy

ปี 2440 (1895) พระชนมายุ 17 พรรษา ทอดพระเนตรละคร Pantomime เรื่อง Cinderrella ที่โรงละคร Garrick (คงจะโปรดเรื่องนี้มาก เพราะทอดพระเนตรเป็นครั้งที่ 3 แล้ว), ทอดพระเนตรเรื่อง One Summer’s day ของ H.V.Esmond ที่ Comedy Theatre, เรื่อง Diplomacy ของ Victorien Sardon ที่โรงละคร Bracknell 

ปี 2441 (1896) ทอดพระเนตรการแสดงละครตะวันตกที่ประเทศฝรั่งเศส  จำนวน 9 เรื่อง

ปี 2445 เสด็จกลับเมืองไทย

พ.ศ.2453 รัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์

พ.ศ.2454 ตั้งกองเสือป่า, พระราชนิพนธ์ละครพูดแบบตะวันตกที่พระองค์เคยทอดพระเนตรให้กองเสือป่าแสดงเพื่อความบันเทิงและเพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารกับสาธารณะ เช่น เรื่องหัวใจนักรบ (ได้รับยกย่องว่าเป็นยอดแห่งบทละครพูด), เห็นแก่ลูก, ฉวยโอกาส, , เสียสละ, กลแตก, ตบตา, ชิงนาง, ปล่อยแก่, มัทนะพาธา  ฯลฯ

งานนิพนธ์ประเภทละครของพระองค์ ได้รับอิทธิพลจากงานประพันธ์ของกวีต่างชาติหลายคน เช่น

เรื่อง ตั๊กแตน ของ เอมิเล่ แฟแบร์ (Emile Fabre) ซึ่งมาจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส เรื่อง เลซ์ โซเตอะแรลซ์ (Les Sauterelles) หรือ

เรื่อง ท่านรอง ของโรเบิร์ต มาร์แชลล์ (Robert Marshall) จากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง เซกัน อิน คอมมานด์ (Second in Command)

เรื่อง เพื่อนตาย ของ Arnold Golsworthy และ E.B. Norman จากต้นฉบับเรื่อง My Friend Jarlet

พ.ศ.2468 รัชกาลที่ 6 สวรรคต

 

2.5 อิทธิพลละครตะวันตกต่อละครเวที (ละครเพลง)

 

      2.5.1 คณะละครราตรีพัฒนา

 

                ใน ปี พ.ศ. 2467 (สมัยปลายรัชกาลที่ 6) บริษัทสยามภาพยนตร์ นำโดยนายสิน สีบุญเรือง (ทิดเขียว) ได้นำคณะละครไทยไปแสดงที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 6 เดือน หลังกลับมา ในปี พ.ศ.2468 นายสิน ศรีบุญเรือง ได้ตั้งคณะละครขึ้นชื่อว่า “คณะราตรีพัฒนา” ปรับปรุงเล่นละครร้องตามแบบละครตะวันตก  และนำคณะละครคณะนี้ไปแสดงตามโรงหนัง ในสังกัดของบริษัทสยามภาพยนตร์ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

        2.5.2 คณะละครจันทโรภาส

                 ก่อตั้งโดยนายจวงจันทร์ จันทร์คณา (พรานบูรพ์)

                  พ.ศ.2468 (1925) นายจวงจันทร์ (พรานบูรพ์)  เริ่มทำงานในคณะละครราตรีพัฒนา ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา โดยจวงจันทร์ทำหน้าที่บอกบทละครอยู่หลังฉาก ขณะเดียวกันก็เขียนบทกวีในนาม "อำแดงขำ" เรื่องอ่านเล่นในนามปากกา "รักร้อย" และเริ่มแต่งบทละครเรื่อง "ทะแกล้วทหารสามเกลอ" ขึ้นเป็นเรื่องแรก ก็ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี จนได้เป็นผู้แต่งบทละครเอง กำกับการแสดงเอง และได้ใช้นามปากกา "พรานบูรพ์" เป็นครั้งแรก เมื่อเขียนเรื่อง "เหยี่ยวทะเล"

                  พรานบูรพ์ได้ดัดแปลงเพลงไทยเดิมที่มีลูกคู่ร้องรับมาสู่แบบสากล โดยที่ทำนองเพลงที่ใช้กับบทละครร้องยุคนั้น มีลูกคู่ยืดยาดเกินควร จึงใส่เนื้อร้องเต็มหรือตัดให้กระชับแทนลูกคู่ใช้ดนตรีคลอ โดยใช้เครื่องดนตรีฝรั่งบรรเลงแทนเครื่องปี่พาทย์ เป็นที่นิยมกันมาก

                  เมื่อประมาณปี 2474 (1931) คณะละครราตรีพัฒนายุบคณะ พรานบูรพ์ได้จัดตั้งคณะละครชื่อ "จันทรโรภาส" แสดงแบบละครตะวันตก ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน (ใช้ผู้หญิงแสดงเป็นพระเอก เพราะต้องถูกเนื้อต้องตัวกันกับนางเอก ซึ่งถ้าใช้ชายจริง-หญิงแท้ ก็จะผิดวัฒนธรรมสมัยนั้น ที่ห้ามชาย-หญิงถูกเนื้อต้องตัวกัน)

                  เรื่องที่ละครคณะจันทรโรภาสแสดงและที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เช่น เรื่องจันทร์เจ้าขา, โรสิตา ฯลฯ

2.6 อิทธิพลละครตะวันตกต่อละครหลวงวิจิตรวาทการ

      ในปี พ.ศ.2463 (1920) พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ รับราชการในสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

       พ.ศ.2469 (1926) รับราชการในสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

        พ.ศ.2477 (1934) เป็นอธิบดีกรมศิลปากร จัดตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ (วิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน)

        พ.ศ.2478 (1935) แสดงละครปลุกใจเรื่อง เลือดสุพรรณ โดยใช้ศิลปินจากกรมศิลปากรและนักเรียนจากโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์เป็นผู้แสดง ละครเรื่องเลือดสุพรรณ ได้รับอิทธิพลมาจากละครตะวันตก เช่น การใช้วงดนตรีสากลประกอบการแสดง ฉาก แสง สี เสียง บท และวิธีการแสดง ซึ่งความรู้ด้านการละครแบบตะวันตก ท่านคงได้รับชมเมื่อสมัยที่ท่านรับราชการอยู่ที่กรุงปารีสและกรุงลอนดอนนั่นเอง

         การแสดงละครหลวงวิจิตรวาทการ ได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นละครเวที เนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์ สนองนโยบายรัฐบาลในการปลุกใจให้รักชาติ

          ละครเรื่องอื่นๆ ที่แสดงในยุคนั้น เช่น เจ้าหญิงแสนหวี ศึกถลาง อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนผาเมือง เป็นต้น

 

2.7 อิทธิพลละครตะวันตกต่อละครเวทีในโรงภาพยนตร์ยุค 2480

 

       พ.ศ.2481 (1938 สมัยรัชกาลที่ 8) รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายสร้างชาติให้เจริญทัดเทียมมหาอำนาจทางตะวันตก จึงส่งเสริมวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเต็มที่ รวมถึงศิลปะการแสดงด้วย

        พ.ศ.2482 (1939) เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

        พ.ศ.2488 (1945) สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (6 ปี)

        ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2482-2488) ได้มีการจัดแสดงละครเวทีในโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง แทนการฉายภาพยนตร์ที่ขาดแคลนเพราะภัยสงคราม การละครเวทีจึงรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง  (โรงภาพยนตร์ไทย ก่อตั้งประมาณปี พ.ศ.2448 สมัยรัชกาลที่ 5 และเริ่มแพร่หลายใน พ.ศ.2470)

 

        ละครเวทีเป็นพัฒนาการของละครที่มาแทนที่ละครร้อง มีลักษณะการแสดงเป็นละครพูด ชายจริงหญิงแท้  (เดิมละครร้องใช้ผู้หญิงล้วน เพราะมีข้อห้ามเรื่องชาย-หญิงถูกเนื้อต้องตัวกัน แต่สมัยนี้วัฒนธรรมที่ห้ามชาย-หญิงถูกเนื้อต้องตัวกันเริ่มคลี่คลาย อาจเป็นเพราะคนไทยได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น)

 

        ละครเวทีมีลักษณะการร้องที่แตกต่างจากละครร้อง(ละครเพลง) คือ ดำเนินเรื่องด้วยการพูด มีการใส่เพลงประกอบเพื่อเสริมอารมณ์ของเรื่อง การแสดงสมจริง แต่งกายตามท้องเรื่อง หรูหราด้วยการใช้เทคนิคด้านฉาก ใช้ดนตรีสากลบรรเลงประกอบ

 

         ลักษณะและองค์ประกอบของละครเวที แสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมแบบตะวันตกอย่างชัดเจน เช่น มีการโหมโรงด้วยวงออเคสตร้า เพลงที่นำมาบรรเลงมาจากละครโอเปร่าเรื่องต่างๆ เช่น มาดามบัตเตอร์ฟลาย, เฟ้าส์, จูจินเจา หรือ ตัดตอนมาจากเพลงซิมโฟนีของนักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียง เช่น ร็อสซินี, ไชคอฟสกี้, สเตร้าท์ เป็นต้น

 

         คณะละครเวทีที่มีชื่อเสียงยุคนี้ เช่น คณะศิวารมณ์  คณะเทพศิลป์ คณะผกาวลี  คณะอัศวินการละคร คณะชื่นชุมนุมศิลปิน คณะนิยมไทย เป็นต้น   

 

          นักแสดงละครในคณะเหล่านี้ต่อมาก็กลายเป็นนักร้องและดาราภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น สวลี ผกาพันธุ์, ลมูล อติพยัคฆ์, สุพรรณ บูรณพิมพ์, ชูศรี มีสมมนต์, ดอกดิน กัญญามาลย์, สมพงษ์ พงษ์มิตร เป็นต้น

 

          ละครเวทีแบบตะวันตกในยุคนี้รุ่งเรืองมาก มีการแข่งขันกันสร้างโรงมหรสพขนาดใหญ่ หรูหรา ทันสมัยและแปลกใหม่ ทำให้วัฒนธรรมความบันเทิงแบบตะวันตกยิ่งเติบโต มีการนำเทคโนโลยีและเทคนิคการแสดงของละครตะวันตกมาใช้ เพื่อสร้างความสนใจแก่ผู้ชม

 

          เรื่องที่แสดงละครเวทีมาจากนิยายแปลจากตะวันตก เช่น เรื่องเต็ลมา (Thelma) ของ มารี แมคเคย์  และเรื่องไทยๆ เช่น ดรรชนีนาง, ข้ามมหาสมุทร, ขุนเหล็ก, ยอดขุนพล, เกียรติศักดิ์ทหารเสือ, พันท้ายนรสิงห์, ผู้ชนะสิบทิศ, ราชันย์ผู้พิชิต เป็นต้น

 

          ในปี พ.ศ.2494 (1951 สมัยรัชกาลที่ 9)  ภาพยนตร์ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น โรงละครทั้งหลายก็ปรับตัว เลิกการแสดงละครหันไปฉายภาพยนตร์แทน  รวมทั้งโทรทัศน์เริ่มเข้ามาในเมืองไทย เมื่อ พ.ศ.2498

 

          พ.ศ.2504 (1961) ละครเวทีเสื่อมความนิยม และสูญหายไปจากสังคมไทย

 

3. ละครไทยยุคใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากละครตะวันตก (ละครร่วมสมัยของไทย)

 

3.1 ละครเวทีร่วมสมัย ยุค 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519

 

ปี พ.ศ.2501-2516 (1958-1973) ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหาร

พ.ศ.2501 (1958) เกิดการปฏิวัติ

พ.ศ.2501-2506 (1958-1963) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

พ.ศ.2506-2516 (1963-1973) จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

ในท่ามกลางการปกครองแบบเผด็จการทหาร เป็นเวลากว่า 15 ปี กลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต้องการจะเสนอความคิดและความรู้สึกของนักศึกษาในสมัยนั้น ให้ประจักษ์ในเจตจำนงแก่สายตาผู้ชม เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงปัญญาสังคม ปัญหาการเมืองการปกครอง และปัญหาวัฒนธรรมบางด้าน ที่กำลังเสื่อมโทรมลง

ความรู้สึกกดดันอันรุนแรงจากสภาพบ้านเมือง ทำให้นักศึกษาหัวก้าวหน้าต้องการสื่อสาร ชี้แจง ความเป็นจริงในสังคม ออกมาตีแผ่ให้ประชาชนรับรู้กันในทันที โดยผ่านการแสดงละครสมัยใหม่ ที่ได้รับอิทธิพลจากละครตะวันตก

 เริ่มจาก ปี พ.ศ.2512 (1969) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม เรียกชื่อว่า “กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว” มีสมาชิกคนสำคัญ เช่น สุชาติ  สวัสดิ์ศรี,  นิคม  รายวา, เธียรชัย ลาภนันท์, วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์, วินัย อุกฤษ, วิทยากร เชียงกูล, ธัญญา ผลอนันต์, คำรณ คุณะดิลก  และรุ่นต่อๆ มา เช่น สำเริง   คำพะอุ,  ประเสริฐ  จันดำ, เป็นต้น กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวส่วนใหญ่เน้นศึกษาและทำงานด้านวรรณกรรม   (คนกลุ่มนี้ปัจจุบันเป็นนักเขียนระดับแนวหน้าของไทย)

 

ยุคแรก กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร ทำงานในพื้นที่ชนบท เน้นเนื้อหาละครเกี่ยวกับความเป็นอยู่ ปัญหาของคนในชนบท และสิทธิประชาชน และนำกลับมาแสดงในกรุงเทพฯ ทำให้คนเมืองได้เห็นปัญหาของคนในต่างจังหวัด หลังจากนั้นได้เปิดอบรมให้กับนักศึกษาจากหลากหลายสถาบัน สร้างสรรค์ทั้งงานละครข้างถนนและละครเวทีเต็มรูปแบบ

 

ปี พ.ศ.2514-2516 (1971-1973) กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวบางคนได้ปลุกวิญญาณละครเวทีแบบตะวันตกให้ฟื้นคืนชีพ เริ่มจากเสนอผลงานละครเวทีออกมาหลายเรื่อง เช่น นายอภัยมณี, ฉันเพียงอยากออกไปข้างนอก , นกที่บินข้ามฟ้า, งานเลี้ยง ฯลฯ ซึ่งเป็นละครที่พยายามแสวงหาคุณค่าของชีวิตและจิตใจในสังคม

 

ในช่วงนี้ บทละครตะวันตกได้ถูกแปลและออกนำแสดงในมหาวิทยาลัยหลายเรื่อง  มหาวิทยาลัยที่มีบทบาทด้านละครเวที คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาธรรมศาสตร์

ละครเวทีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในปี พ.ศ.2513 (1970) อาจารย์สดใส พันธุมโกมล ภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แปลและกำกับการแสดงละคร เรื่อง ตุ๊กตาแก้ว (The Glass Menagerie) ของ เทนเนสซี วิลเลียมส์ (Tennessee Williams) แสดงที่ห้องหกสิบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติเทนเนสซี วิลเลียมส์ (Tennessee Williams)

 

1911 (2454)    เกิดที่เมืองโคลัมบัส รัฐมิสซิสซิปปี สหรัฐอเมริกา ชื่อจริงของเขาชื่อ

โทมัส เลเนียร์ วิลเลียมส์ 3 (Thomas Lanier Williams III)

1924 (2467)   อายุ 13 ปี เริ่มเขียนเรื่องราวและบทกวี

1928 (2471)    อายุ 17 ปี เรื่องสั้นของเขา ชื่อ “The Vengeance of Nitocris”

ได้รับการตีพิมพ์ใน Weird Tales

1929 (2472)    อายุ 18 ปี ลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยมิสซูรี โคลัมเบีย

1930 (2473)   อายุ 19 ปี เขียนบทละครเรื่องแรก เรื่อง Beauty Is The Word 

1936 (2479)   อายุ 25 ปี เข้ารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน

เริ่มเขียนบทละครที่จะผลิตโดยกลุ่มละครท้องถิ่น 

1937 (2480)   อายุ 26 ปี ย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยไอโอวาเพื่อศึกษาการเขียนบทละคร 

1938 (2481)   อายุ 27 ปี จบการศึกษา เริ่มใช้ชื่อเทนเนสซี วิลเลียม ในการเขียนบทละคร

1940 (2483)  อายุ 29 ปี) ศึกษาการเขียนบทละครที่ New School ภายใต้ John

Gassner ละครเรื่อง Battle of Angels ของเขาเปิดแสดงในบอสตัน

1944 (2487)   อายุ 33 ปี ตุ๊กตาแก้ว (The Glass Menagerie) ซึ่งได้รับรางวัล

Donaldson Award  และ New York Drama Critics 'Circle Award เมื่อปี 2488 (1945)

1947 (2490)   อายุ 36 ปี รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา (A Streetcar Named Desire)

ได้รับรางวัล New York Drama Critics 'Circle Award, Donaldson Award,

1948 (2491)   อายุ 37 ปี รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา (A Streetcar Named Desire)

ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize)

1951 (2494)   อายุ 40 ปี The Rose Tatto ได้รับรางวัล Tony Awards

1956 (2499)  อายุ 45 ปี Cat on a Hot Tin Roof ได้รับรางวัล Tony Awards

1962 (2505)   อายุ 51 ปี The Night of the Iguana ได้รับรางวัล Tony Awards

1983 (2526)   อายุ 72 ปี เสียชีวิต

 

เรื่องย่อละคร เรื่อง ตุ๊กตาแก้ว (The Glass Menagerie)

 

ตุ๊กตาแก้ว (The Glass Menagerie) เป็นเรื่องที่แสดงถึงสภาพจิตใจอันว้าวุ่นของมนุษย์ที่ไม่สามารถจะก้าวตามสิ่งแวดล้อมและสังคมเครื่องจักรกลไกของโลกสมัยใหม่ได้ และในที่สุดก็จำต้องหาทางหนี...หนีจากโลกของความเป็นจริง ความจริงที่ตนไม่เข้าใจและรับไม่ได้ไปสู่โลกแห่งความฝันอันเลื่อนลอย

Tennessee Williams ได้สร้างเรื่องโดยใช้บันไดหนีไฟของอพาตเมนต์ของครอบครัววิงฟิลด์เป็นสัญลักษณ์ของการที่ทุกคนในครอบครัวนี้ต่างก็พยายามที่จะหนีจากไฟแห่งความขมขื่นของชีวิต

อแมนดา วิงฟิลด์ ผู้เป็นแม่ พยายามหนีจากสภาพที่ยากจน สภาพของภรรยาที่ถูกสามีทอดทิ้ง สภาพของแม่ที่มีลูกสาวพิการ และลูกชายที่ตนไม่สามารถควบคุมได้ กลับสู่ความหลังเมื่อครั้งยังสาว และพยายามสร้างความหวังว่า วันหนึ่ง บุตรสาวก็จะต้องได้พบกับชายในฝันที่จะมาทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับแช่มชื่นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ลอรา วิงฟิลด์ บุตรสาวผู้พิการของ อแมนดา เนื่องจากขาพิการและมีนิสัยขี้อายมาแต่เด็ก จึงทำให้ไม่สามารถจะเผชิญกับโลกภายนอกได้ ลอราหนีไปสู่โลกแห่งจินตนาการที่ประกอบด้วยสัตว์ตัวเล็กๆ ที่ทำด้วยแก้วซึ่งเธอรักปากชีวิตจิตใจ เพราะสัตว์แก้วเหล่านั้นคือเพื่อนของเธอ เพื่อนที่ไม่มีวันทำให้เธอช้ำใจ เพื่อนที่จะไม่เหยียดหยามความพิการของเธอ.... และลอราก็มีความสุขอยู่ในโลกที่ทำด้วยแก้ว ที่แสนจะบอบบาง แต่มีความงามอย่างประหลาดแฝงอยู่

ทอม วิงฟิลด์ น้องชายของลอรา ซึ่งไฝ่ฝันจะเป็นนักประพันธ์ แต่ต้องทนอยู่กับสภาพของการเป็นคนงานในโรงงานทำรองเท้าด้วยความจำเป็นของชีวิต แต่ในที่สุดก็ "หนี" ออกจากบ้านไปสู่อิสรภาพและความหวังของชีวิตที่ไฝ่ฝัน

Tennessee Williams วาดภาพตัวละครทั้งสามนี้ได้อย่างละเอียดอ่อน และเต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ ที่จริงเรื่องนี้ก็มาจากตอนหนึ่งของชีวิตจริงของเขา ซึ่งเป็นตอนที่ขมขื่นที่สุดในชีวิตของเขานั่นเอง

ขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่าง ยังเป็นความฝันและความหวังอันเลื่อนลอยอยู่นั้น จิม โอคอนเนอร์ ชายหนุ่มธรรมดาๆ ก็ก้าวเข้ามาสู่วงจรชีวิตของครอบครัวนี้ จิมอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ชื่นชมในความก้าวหน้าทางวัตถุ ก้าวไปตามสังคม ลอรา (บุตรสาวผู้พิการของอแมนดา) เคยแอบหลงรักจิมอย่างเงียบๆ เมื่อสมัยอยู่โรงเรียน เมื่อลอราได้พบกับจิมอีกครั้ง จึงฝันว่าจะได้ครองรักกับจิม แต่ความฝันก็เป็นแค่ความฝัน เมื่อจิมบอกว่าเขามีคู่หมั้นแล้ว สร้างความผิดหวังให้แก่ลอร่าเป็นอย่างยิ่ง

อแมนดา ได้ทะเลาะกับทอมผู้เป็นลูกชาย สุดท้ายทอมตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ทำให้อแมนด้าเสียใจอย่างยิ่ง ความหวังและความฝันของเธอพังทลายลงหมดสิ้น

 ละครสรุปให้เห็นภาพว่า ภาพฝันกับภาพจริงก็ย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมดา แต่ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุเท่านั้นแหละหรือ ที่จำเป็นสำคัญต่อชีวิตมนุษย์? ความสำเร็จเท่านั้นแหละหรือ ที่ทำให้คนเป็นคน? ใครเล่าจะชี้ขาดลงไปได้ว่าอะไรคือความสำเร็จ อะไรคือความล้มเหลว?

อะไรคือความฝัน? อะไรคือความจริง? และชีวิตคืออะไร?

    

ประวัติรองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล

ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและโทรทัศน์) ประจำปี 2554

 

2476 (1933)   เกิดที่กรุงเทพมหานคร บิดาเป็นนักดนตรี มารดาเป็นอดีตนางเอก

ภาพยนตร์

2495 (1952)   จบมัธยมบริบูรณ์ มาแตร์เดอีวิทยาลัย

2499 (1956)  จบปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2500 (1957)   รับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2505 (1962)   จบปริญญาโทศิลปะการแสดงละคร (Master of Arts in Theater)

จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลลิส สหรัฐอเมริกา

(University of California at Los Angeles : UCLA)

2514 (1971)     ก่อตั้งภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทยที่ก่อตั้งภาควิชาศิลปะการละคร

2536(1993)    เกษียณอายุราชการ

2554 (2011)    ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและ

โทรทัศน์)

ปัจจุบัน 2564 (2021)  อายุ 88 ปี

 

ผลงานกำกับการแสดงละครเวที

 

2507 (1964)   The Importance Of Being Ernest ของ Oscar Wilde

แสดงในนามของภาควิชาภาษาอังกฤษ ที่หอประชุมคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2508 (1965)   The Matchmaker ของ Thornton Wilder แสดงในนาม

ของภาควิชาภาษาอังกฤษ ที่ หอประชุมคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

2509 (1966)  ลูกของแม่ จากบทละครเรื่อง The Silver Cord ของ Sydney Howard

สร้างบทภาษาไทยโดย ศศิธร ผลประสิทธิ์ แสดงที่ หอประชุม คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2513 (1970)    ตุ๊กตาแก้ว จากบทละครเรื่อง The Glass Menagerie ของ Tennessee

Williams แสดงที่ ห้องหกสิบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2514 (1971)     ตุ๊กตาแก้ว จากบทละครเรื่อง The Glass Menagerie ของ Tennessee

Williams แสดงที่ หอประชุม เอยูเอ 

2516 (1973)    เกิดเป็นตัวละคร จากบทละครเรื่อง Six Characters in Search of an

Author ของ Luigi Pirandello แสดงที่โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก)

2517 (1974)    เกิดเป็นตัวละคร จากบทละครเรื่อง Six Characters in Search of an

Author ของ Luigi Pirandello แสดงที่โรงละครอักษรศาสตร์

2518 (1975)    ดวงสุดา รณกร จากบทละคร Hedda Gabler ของ Henrik Ibsen

แสดงที่โรงละครอักษรศาสตร์

2520 (1977)    แผลในดวงใจ ประกอบด้วยบทละครสองเรื่อง คือผู้ชนะและผู้แพ้

ผู้ชนะจากบทละครเรื่อง The Stronger ของ August Strindberg

และผู้แพ้ จาก With All My Love I Hate You ของ Linda Mitchell

2521 (1978)    ยอดปรารถนา จากบทละครเรื่อง The American Dream ของ

Edward Albee แสดงที่โรงละครอักษรศาสตร์

2522 (1979)    คนดีที่เสฉวน จากบทละครเรื่อง Good Woman of Setzuan ของ

Bertolt Brecht แสดงที่โรงละครอักษรศาสตร์

2525 (1982)    พรายน้ำ จากบทละครเรื่อง Ondine ของ Jean Giraudoux แสดงที่

โรงละครอักษรศาสตร์

2546 (2003)  ยอดปรารถนา จากบทละครเรื่อง The American Dream ของ

Edward Albee แสดงที่โรงละครกรุงเทพ

2550 (2007)   ล่ามดี บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงแต่งแปลงจากบทละครเรื่อง The Good Interpreter ของ Tristan Bernard แสดงที่ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต ในงานเทวาลัยรำฦก : รวมพลคนอักษรฯ

(2009)         ล่ามดี บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงแต่งแปลงจากบทละครเรื่อง The Good Interpreter ของ Tristan Bernard แสดงที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

ละครเวทีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

พ.ศ.2515 (1972) อาจารย์มัทนี  รัตนิน ได้แปลและกำกับการแสดงละคร เรื่อง รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา (A Streetcar Named Desire) ของ เทนเนสซี วิลเลียมส์ 

(Tennessee Williams)

 

เรื่องย่อละคร เรื่อง รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา (A Streetcar Named Desire)

 

เนื้อเรื่องโดยสรุปกล่าวถึง ผู้หญิงแต่งตัวดูดีคนหนึ่ง ชื่อ 'บลังช์ ดูบัวสร์เดินทางจากเมืองชนบทในมลรัฐ มิสซิสซิปปี้ เพื่อมาหาน้องสาวของเธอที่แต่งงานแล้วและกำลังตั้งครรภ์ชื่อ 'สเตลล่าซึ่งสเตลล่าอาศัยอยู่กับสามีที่ชื่อ 'สแตนลีย์ชายร่างกายใหญ่แข็งแรงและอารมณ์หุนหัน ชอบทำลายข้าวของ บลังช์ เปรยว่าเธอเพียงต้องการมาเยี่ยมน้องสาวช่วงลาพักร้อนจากการเป็นครูที่บ้านเกิด 

ทว่าเมื่อวันผ่านเลยนานเข้า ความจริงที่เธอปกปิดไว้สมัยอยู่ที่ 'เบล รีฟ' บ้านเกิดของเธอไม่ว่าจะเป็น การที่ต้องขายบ้านคฤหาสน์เก่าแก่ของบรรพบุรุษเพื่อใช้หนี้สินที่หมดไปกับเสื้อผ้าอาภรณ์และน้ำหอม ขณะเดียวกันความรักที่อับปางเพราะเธอได้รู้ว่าชายหนุ่มคนรักของเธอมีพฤติกรรมรักร่วมเพศและเขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย ทำให้เธอมีอาการทางจิต และติดสุราอย่างหนัก

นอกจากนี้เธอยังเคยเป็นโสเภณีในโรงแรมแห่งหนึ่ง เรื่องราวฉาวโฉ่ของเธอนี้เองเริ่มเป็นที่หนาหูจนถูกขับไล่ออกมาจากเมืองเล็ก ๆ แห่งนั้น เธอสิ้นหนทางไปจึงตัดสินใจมาอาศัยร่วมกับน้องสาวของเธอ และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสุดฉาวคาวโลกีย์ที่เกิดขึ้นภายในแฟลต เมืองนิว ออร์ลีนส์ ที่มีรถรางสายที่ชื่อว่า 'Desire' (แปลว่า ปรารถนา) ตัดผ่าน

จุดที่เป็น conflict (ปมขัดแย้ง) ของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อ สแตนลีย์พาเพื่อน ๆ มาเล่นไพ่โปกเกอร์ที่แฟลต หนึ่งในเพื่อนคนหนึ่งของสแตนลีย์ชื่อ 'มิทช์' ได้หลงเสน่ห์ บลังช์(ซึ่งให้ท่า) ทั้งสองเริ่มติดต่อ มีการเดท พัฒนาความสัมพันธ์ไปจนถึงขั้นต่างฝ่ายต่างต้องการแต่งงาน ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างบลังช์และน้องเขยคือสแตนลีย์ก็ไม่ราบรื่นนัก 

นานวันบลังช์กับสแตนลีย์ยิ่งเกิดความรังเกียจต่อกันและกัน ซึ่งเป็นสแตนลีย์นี้เองที่นำความลับของบลังช์มาเปิดเผยทีละนิดๆ สเตลล่าและมิทช์ เพื่อนสนิทของเขาได้รับรู้เรื่องราวทั้งหลายของบลังช์ ซึ่งน้องสาวของเธอก็ไม่ปักใจเชื่อ ด้านมิทช์เองก็เริ่มสงสัยในพฤติกรรมของบลังช์ ไม่ว่าจะเป็นการที่หล่อนไม่เคยตอบรับเดทในช่วงเวลากลางวัน และพยายามไปในสถานที่ที่มีแสงไฟน้อยเท่านั้น ซึ่งนั่นมีสาเหตุเพราะว่าหล่อนมีอายุหลักสามเข้าไปแล้ว แต่เพื่อการพยายามหลอกลวงคนอื่นเรื่องอายุด้วยการแต่งหน้า ฉีดน้ำหอม และใช้วาจาดึงดูดให้หลงใหล

เหตุการณ์เริ่มบานปลายเมื่อมิทช์ในสภาพมึนเมาเข้ามาหาบลังช์ที่แฟลตซึ่งอยู่โดยลำพัง ขณะที่สแตนลีย์พาสเตลล่าไปโรงพยาบาลเพราะเธอใกล้คลอด มิทช์ ใช้โอกาสนี้ในการเค้นความจริงออกมา แม้ตอนแรกบลังช์จะปฏิเสธเสียงแข็งแต่สุดท้ายเธอก็ยอมรับว่าเรื่องราวเป็นความจริง รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุสิบหกปีที่โรงเรียนที่เธอเคยสอน

มิทช์พยายามจะข่มขืนเธอแต่เธอตะโกนเรียกให้คนช่วย มิทช์จึงวิ่งหนีไปด้วยความตกใจ จุด climax (จุดสูงสุด) ของเรื่องมาอยู่ที่ฉากนี้ เมื่อสแตนลีย์กลับมาจากโรงพยาบาล และอยู่กับบลังช์สองต่อสอง ทั้งคู่เริ่มมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง บลังช์พยายามใช้ขวดแก้วที่แตกเพื่อป้องกันตัว แต่สุดท้ายด้วยร่างกายและพลังกำลังที่อ่อนแอกว่า ท้ายสุดเธอจึงถูกสแตนลีย์ข่มขืน

ฉากสุดท้ายของเรื่องเป็นภาพวงไพ่โปกเกอร์ในแฟลตอีกครั้ง แต่ครั้งนี้บลังช์กำลังอาบน้ำ สเตลล่ากับเพื่อนบ้านช่วยกันเก็บข้าวของใส่กระเป๋าเดินทางให้เธอ เพื่อเตรียมเดินทางไปหาชายคนรักในอดีตของเธอที่ปัจจุบันเป็นเศรษฐีบ่อน้ำมัน (สร้างมโนภาพ)

แต่สุดท้ายเรื่องราวก็เฉลย สแตนลีย์และสเตลล่านี้เองที่โทรเรียกหมอและพยาบาลจากโรงพยาบาลบ้า (จิตเวช) มารับตัวบลังช์ไป แม้ว่าเธอ(บลังช์) จะพยายามอธิบายต่อน้องสาวของเธอว่าถูกสแตนลีย์ข่มขืน แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ

ภาพสุดท้ายของเรื่องจบลงที่ สเตลล่านั่งร้องไห้อยู่บนขั้นบันไดกับการจากไปของพี่สาวหน้าทางเข้าแฟลตโดยมี สแตนลีย์คอยปลอบอยู่ข้าง ๆ

รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา ได้รับการจงใจสร้างให้เป็นละคร เพื่อแสดงเรื่องราวทางเพศ เน้นมุมมองจากฝ่ายหญิงคือให้บลังช์รู้สึกหวั่นไหวไปกับรูปร่างบึกบึนของสแตนลีย์ในช่วงแรกที่ทั้งคู่พบกัน เช่นเดียวกับสเเตลลาถึงแม้จะเกลียดชังสามีในเรื่องความก้าวร้าวของเขาและการปฏิบัติไม่ดีต่อพี่สาวของเธอ แต่ดูเหมือนจะถูกพันธนาการโดยเสน่ห์ทางเพศของสามี

ส่วนที่ทำให้คนดูในอเมริกายุคนั้นน่าจะตกใจคือ พฤติกรรมในอดีตของบลังช์ที่  ค่อยๆ โผล่ออกมา เช่นการสารภาพของเธอต่อมิทช์ในงานเต้นรำ เธอบอกเขาว่าเธอเคยแต่งงานกับเด็กหนุ่มคนหนึ่ง แต่แล้วเธอได้ต่อว่าเขาหลังจากล้มเหลวเรื่องบนเตียง ทำให้ท้ายสุดสามีของเธอไปฆ่าตัวตาย ในละครบอกชัดเจนว่า เพราะความกดดันที่สามีของบลังช์เป็นชายรักร่วมเพศ หากเป็นปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สังคมเมื่อ 60 ปีที่แล้วของอเมริกา ยังไม่ยอมรับคนที่เป็นรักร่วมเพศ

แต่ที่ทำให้คนดูตกใจยิ่งกว่าคือการไปเสาะแสวงหาข้อมูลของสแตนลีย์ว่าที่จริงแล้วที่บลังช์ถูกไล่ออกจากอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียน เพราะไปมีความสัมพันธ์กับเด็กนักเรียนหนุ่มและเธอก็ผันอาชีพไปเป็นโสเภณีโดยมีนิวาสสถานอยู่ในโรงแรมชั้นสอง ส่วนบ้านถูกธนาคารยึด

นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์อีกมากมายที่หนังนำเสนอเพื่อสื่อแบบตรงไปตรงมาหรือขัดแย้งกันเองเช่นชื่อของบลังช์ที่เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่าสีขาว ดูจะขัดแย้งกับปมอดีตที่ดำมืดของเธอ และเธอมักจะชอบอยู่ในความมืด อันส่อให้เห็นว่าเธอชอบซ่อนเร้นตัวจากภาพลักษณ์อันเลวร้ายอีกด้วย

เช่นเดียวกับชื่อเรื่องที่ชื่อ A Streetcar Named Desire (รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา) ซึ่งปกติแล้วเป็นชื่อของรถรางในเมืองนิวออร์ลีนที่บลังช์ได้โดยสารไปบ้านน้องสาว แต่ “ความปรารถนา” ในที่นี้น่าจะหมายถึงของความรู้สึกของบลังช์เอง จะว่าการที่เธอเป็นโสเภณีก็หาใช่เพราะความยากแค้นเพียงอย่างเดียว หากเกิดจากความปรารถนาของตัวเองที่เกิดจากความเหงาลึกๆ แต่ทางวงการจิตวิทยากลับเรียกว่า Nymphomania  พร้อมๆ กับอาการโรคประสาท ซึ่งอาการโรคประสาทนี้จะเป็นเหมือนกับเกราะที่สร้างโลกส่วนตัวให้กับบลังช์หลงละเมอว่าเธอยังเป็นสาวผู้ดีและมีหนุ่มไฮโซมาพัวพันเธออยู่เหมือนเดิม 

ต่อมาสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเมื่อเธอพบว่าทั้งสแตนลีย์และมิทช์ต่างรู้อดีตของตน โดยเฉพาะมิทช์ถึงกลับปฏิเสธไม่ยอมขอเธอแต่งงานดังที่ตั้งใจไว้แต่แรก และเป็นฟางเส้นสุดท้ายในคืนวันที่สเเตลลาไปคลอดลูก เธอถูกสแตนลีย์ข่มขืน โลกมายาที่เธอเฝ้าทะนุทะนอมได้แตกสลายลงจากน้ำมือของผู้ชายที่เธอเห็นว่าชั้นต่ำ บลังช์จึงเข้าไปสู่โลกแห่งความบ้าอย่างสมบูรณ์ เรื่องจึงจบลงที่สแตนลีย์ให้เจ้าหน้าที่ 2 คนจากโรงพยาบาลบ้ามารับบลังช์ไปรักษา ซึ่งเธอก็ยินยอมโดยดีพร้อมกับพูดประโยคที่แสนจะโด่งดังว่า

 

“ไม่ว่าคุณเป็นใคร ฉันมักจะพึ่งพิงความเมตตาจากคนแปลกหน้าเสมอ”

 

นั่นคือเธอจะพึ่งได้กับคนแปลกหน้าเกือบตลอดเวลาที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้เธอก็ใช้ผู้ชายแปลกหน้าในการบรรเทาความเหงา และตอนจบ คนแปลกหน้าก็มาช่วยพาเธออกไปจากกลุ่มคนที่เธอรู้จักแต่ทำให้ร้าวรานใจ ราวกับจะเป็นการพลิกสามัญสำนึกของคนทั่วไปที่เห็นว่าคนรู้จักดีกว่าคนแปลกหน้า 

 

ทุกคนราวกับจะรู้ว่าสแตลีย์ได้ทำอะไรลงไปกับบลังช์ สแตลลาถึงกลับอุ้มลูกหนีขึ้นไปอาศัยอยู่กับเพื่อนบ้านเพื่อเป็นการลงโทษสแตนลีย์ แต่สุดท้ายเธอก็กลับมาหาเขาเหมือนเดิมเพราะไม่สามารถขัดขืนความรัก (หรือว่าเซ็กส์ ?) ที่มีต่อสามีไม่ไหว ดังนั้นคำว่า ความปรารถนาจึงรวมไปถึงความต้องการกันและกันของสแตลลาและแสตนลีย์อีกด้วย สามีและภรรยาคู่นี้มักจะมีความสัมพันธ์กันแบบที่เราเห็นกับหลายคู่ คือถึงสามีจะรุนแรงกับภรรยาจนโกรธกัน แต่ต่อมาทั้งคู่ก็จะคืนดีกันแบบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น อันเป็นคำตอบว่าทำไมผู้หญิงถึงชอบผู้ชายเลว ๆ อาจเพราะผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีความสุขในฐานะถูกกระทำ มากกว่าผู้ชายก็เป็นได้

รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของเทนเนสซี่ วิลเลียมส์ นักประพันธ์บทละครผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ยี่สิบแห่งวงการวรรณคดีอเมริกัน วิธีการที่เขานำมาใช้แทนการแสดงอารมณ์อันฟุ่มเฟือยแบบเมโลดราม่านั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ทฤษฎีของคอนสแตนติน สตานิสลาฟกี้ นักประพันธ์และผู้กำกับละครเวทีชาวรัสเซีย ซึ่งทฤษฎีของเขามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวงการละครเวทีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ทฤษฎีดังกล่าวโดยภาพรวมคือการลบล้างประเพณีนิยมเก่าๆ ของละครเวที โดยแทนที่ด้วยบทบาทการแสดงที่สมจริง ผ่านการฝึกฝนของนักแสดงไม่ว่าจะเป็น สมาธิ การจดจำด้านอารมณ์ ความสามารถทางการแสดง(กายภาพ) และความสามารถในการวิเคราะห์บทละครได้ด้วยตนเอง เป็นต้น 

ในปัจจุบัน รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา ยังคงเป็นบทละครชิ้นเอกแห่งวงวรรณคดีอเมริกันที่มีการศึกษาแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงในภาควิชาเกี่ยวกับการแสดงในมหาวิทยาลัยของไทย ก็ได้มีการนำบทละครดังกล่าวมาแสดงอย่างต่อเนื่องอีกเช่นกัน

ประวัติศาสตราจารย์ ดร. มัทนี รัตนิน

ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวที) ประจำปี 2560

2564 (         2021) อายุ 84 ปี

 

1 พฤษภาคม 2480      เกิดที่กรุงเทพมหานคร

การศึกษา
2498 (1955)   จบ ม.ปลาย จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย

2499 (1956)  ระดับอุดมศึกษา สอบเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สอบชิงทุนรัฐบาล สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปศึกษาที่ Wellesley

College สหรัฐอเมริกา ณ วิชาเอกภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส ได้เรียนวิชา

วรรณกรรมการละครบางวิชา

2504 (1961)   จบปริญญาโทจาก Middlebury Graduate School of French

ประเทศสหรัฐอเมริกา

2505 (1962)   รับราชการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้รับทุน

1. ทุนศึกษาเกี่ยวกับศิลปะและวรรณกรรมการละครของ Shakespeare ที่เมือง Stratford-upon-Avon ประเทศอังกฤษ

2. ทุนศึกษาวิชาการแสดงและการกำกับการแสดง ณ The Royal Academy of Dramatic Arts

3. ทุนศึกษาวิชาการผลิตงานโทรทัศน์ ซึ่งรวมถึงการเขียนบท การกำกับ แสง เสียง การตัดต่อ จาก British Brodcasting Corporation B.B.C. และ The Royal Television Society ประเทศอังกฤษ

2521 (1978)    จบปริญญาเอก จาก School of Oriental and African Studies

(S.O.A.S) มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ

2522 (1979)    ได้รับทุนจาก The American Council of Learned Societies

ไปศึกษาในฐานะ Research Fellow School of Drama, Yale University สหรัฐอเมริกา โดยทำงานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับวรรณกรรมบทละครของนักการละครชาวอเมริกันเช่น Tennessee Williams, Eugene O’Neill, Edward Albee, Arthur Miller

2529 (1986)   ริเริ่มหลักสูตรสาขาวิชาการละครขึ้นในคณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2540 (1997)   เกษียณอายุราชการ

 

ผลงานละคร ทั้งด้านการเขียนบท ดัดแปลงบท กำกับการแสดง และผู้อำนวยการสร้าง เช่น

 

2514 (1971)     อวสานของเซลส์แมน (Death of a Salesman)

2515 (1972)     รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา (A Street Car Named Desire)

2519 (1976)    อันตราคนี (Antigone)

2522 (1979) บุษบาริมทาง (My Fair Lady)

2524 (1981) ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้ (The Importance of Being Earnest)

2525 (1982) มงปามหาบุรุษ (Macbeth)

2526 (1983) เหมียว (Cat)

2528 (1985) แมรี่-อลิสาเบธ (Mary- Elizabeth)

2529 (1986) สิ้นแผ่นดิน (Trojan Woman)

2532 (1989) รักนี้มีราคา (The Merchant of Venice)

2537 (1994) ฝันของจูเลียต (Romeo & Juliet)

ฯลฯ

 

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  (เหตุการณ์นักศึกษาเดินขบวนขับไล่รัฐบาลทหารออกจากอำนาจ เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา) การละครเวทีด้านการเมืองมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มีจัดการแสดงละครเวทีร่วมสมัยหลายเรื่อง เช่น เรื่องชั้นที่เจ็ด ของสุชาติ  สวัสดิ์ศรี  และมีละครการเมืองที่เสนอภาพความทุกข์ยาก ให้ความเห็นใจผู้ต่ำต้อย แพร่หลายไปตามเมืองต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการแสดงละครเรื่อง “เจ้าดำจะไปไหน?” ซึ่งมีเนื้อหาทันสมัย เหมาะกับเหตุการณ์ ในขณะที่ฝ่ายปกครองสร้างขบวนการใส่ร้ายป้ายสี ลอบยิงลอบฆ่าชาวนาผู้เรียกร้องความเป็นธรรม ละครเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก

ละครเวทีร่วมสมัยระยะนี้ มีการแสดงและเทคนิคต่างๆ ก้าวหน้ากว่าเดิมมาก เช่น การฉายสไลด์เป็นฉาก การสอดใส่ดนตรีเพื่อชีวิตเป็นเสียงประกอบ การแสดงแบบไม่มีเสียงประกอบหรือละครใบ้ (Pantomime)  รวมถึงการแสดงเดี่ยว (การแสดงคนเดียว แต่เหมือนมีคนอื่นเล่นด้วย)

ละครเรื่อง “นี่แหละโลก” ของชมรมละครเพื่อการศึกษา  เป็นละครที่มุ่งทางเนื้อหาสาระและศิลปะการละครสมัยใหม่เป็นสำคัญ ไม่ผูกพันอยู่กับการจัดฉาก หรือเครื่องแต่งกาย ผู้แสดงเกือบทุกคนสวมเสื้อยืดและกางเกงขายาว มีเฉพาะบางคนเท่านั้นที่แต่งกายแปลกออกไป เพื่อให้เห็นถึงฐานะความแตกต่างตามบทได้ชัดเจนขึ้นเท่านั้นเอง การจัดฉากเกือบจะไม่มี ถ้าไม่นับผ้าสีฟ้าผืนใหญ่ที่เอามากางออกให้เห็นว่าเป็นแม่น้ำ ป้ายบอกชื่อสถานที่และป้ายคำขวัญ เครื่องประกอบฉากบางอย่าง เช่น โต๊ะ ม้านั่ง โทรศัพท์ เครื่องจักร ฯลฯ ก็ใช้คนแสดงทำท่าเอา

รูปแบบลักษณะละครเช่นนี้ ได้รับอิทธิพลตะวันตกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะจากละครแนวแอบเสิร์ด  ที่มักจะทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความว่างเปล่า ฉากประกอบด้วยวัสดุง่ายๆ มีอยู่ฉากเดียว ปราศจากการเคลื่อนย้ายใดๆ ละครแนวนี้ที่เคยถูกตัดตอนหรือดัดแปลงมาแสดง เช่น เรื่องคอยโกโดท์ (Waiting for Godot) ของ แซมมวล  เบ็คเก็ท, เดอะ ซู สตอรี่ (The Zoo Story) ของ เอ็ดเวิร์ด อัลบี (Edward Albee)  เป็นต้น

 

 

ประวัติเอ็ดเวิร์ด อัลบี (Edward Albee) 

1928 (2471)    เกิด ที่วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

1947 (2490)   อายุ 19 ปี สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยทรินิตี้ ในฮาร์ตฟอร์ด

รัฐคอนเนตทิคัต

1950 (2493)   อายุ 22 ปี เริ่มแสดงละคร

1959 (2502)   อายุ 31 ปี ละคร The Zoo Story

1963 (2506)   อายุ 35 ปี ละคร Who's Afraid of Virginia Woolf?

ได้รับรางวัลโทนี (Tony Awards) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับศิลปะการแสดงละครเวทีบรอดเวย์ของชาวอเมริกัน  ถือเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของการแสดงละครเวทีในสหรัฐอเมริกา เปรียบเสมือนรางวัลออสการ์ของทางฝั่งละครเวที

1964 (2507)   อายุ 36 ปี ละคร The Ballad of Sad Cafe ได้รับรางวัล Tony Awards

1965 (2508)   อายุ 37 ปี Tiny Alice ได้รับรางวัล Tony Awards

1967 (2510)    อายุ 39 ปี A Delicate Balance ได้รับรางวัล Tony Awards

1975 (2518)    อายุ 47 ปี Seascape ได้รับรางวัล Tony Awards

1994 (2537)   อายุ 66 ปี Three High Women ชนะรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize)

ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศแก่คนทำงานในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย วรรณกรรม ละคร และบทประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดรางวัลหนึ่งของโลก บริหารจัดการโดยมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

2002 (2545)   อายุ 74 ปี The Goat, or Who Is Sylvia? ได้รับรางวัล Tony Awards

2016 (2559)   เสียชีวิต อายุ 88 ปี

 

 

เดอะ ซู สตอรี่ (The Zoo Story) ของ เอ็ดเวิร์ด อัลบี (Edward Albee)

แก่นของเรื่อง เดอะ ซู สตอรี่ (The Zoo Story) อัลบีต้องการแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ในโลกปัจจุบันเหมือนกับถูกขังอยู่ในกรง โดยมีกฎเกณฑ์และ ค่านิยมต่างๆในสังคม แยกทุกคนออกจากกัน การทำลายสิ่งที่กีดขวางมนุษย์ลงได้นั้น จะต้องใช้ความรุนแรง

โครงเรื่อง เดอะ ซู สตอรี่ (The Zoo Story) มีอยู่ว่า ปีเตอร์ (Peter) เป็นคนชั้นกลาง ท่าทางดี เป็นที่ยอมรับของสังคม นั่งพักผ่อนอยู่ในสวนสาธารณะ และเจอร์รี่ (Jerry) เป็นฮิปปี้ที่ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ของสังคมเดินมาพบปีเตอร์นั่งอยู่ จึงชวนสนทนา

เจอร์รี่พูดวนเวียนเรื่องเขาไปเที่ยวสวนสัตว์มา แต่ไม่ยอมเล่าเรื่องในสวนสัตว์ซักที และพูดเรื่องราวชีวิตของเขาให้ปีเตอร์ฟังว่าเขาต้องผจญกับอะไรบ้าง (ซึ่งตัวละครที่เขาเล่าเปรียบเสมือนสัตว์ที่ถูกขังกรงอยู่ในสวนสัตว์นั่นเอง) คำถาม-คำตอบของเจอร์รี่เต็มไปด้วยปรัชญา ซึ่งอัลบีต้องการสื่อมาถึงผู้ชมได้ขบคิด  ตอนท้ายเรื่องเมื่อปีเตอร์จะกลับบ้าน เจอร์รี่ไม่ยอมให้กลับ เขาแกล้งยั่วยุให้ปีเตอร์แสดงความเป็นสัตว์ร้ายออกมาโดยการแย่งม้านั่งของปีเตอร์และไล่ปีเตอร์ไปนั่งที่อื่น ทั้งคู่ถกเถียงและจะชกต่อยกัน แต่เจอร์รี่กลับชักมีดพกสั้นออกมาและโยนมีดพกให้ปีเตอร์ เพื่อให้การต่อสู้ดูสูสี ปีเตอร์กลัวและไม่ยอมสู้ด้วย   เจอร์รี่จึงเข้าไปจับคอเสื้อปีเตอร์พร้อมกับพูดยั่วยุให้ต่อสู้  ปีเตอร์จึงตัดสินใจหยิบมีดมาถือไว้ในมือ เพียงเพื่อข่มขู่และไล่เจอร์รี่ให้ออกไปให้พ้น แต่เจอร์รี่กลับพุ่งเข้าหาปีเตอร์อย่างรวดเร็วและใช้มีดเสียบท้องตัวเอง ทำให้ปีเตอร์ตกใจสุดขีด  

แต่ทั้งๆ ที่เจอร์รี่กำลังจะตาย เขากลับขอบคุณปีเตอร์ เขาสารภาพว่าที่เขาไม่อยากให้ปีเตอร์ไป เพราะเขารู้สึกเหงาและต้องการเพื่อนคุย เจอร์รี่ได้ค้นพบแล้วว่า มนุษย์ปัจจุบันไม่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน และถูกแบ่งแยกออกจากกันด้วยลูกกรง เปรียบเสมือนสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์ ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้นั่นเอง

ละครเรื่อง เดอะ ซู สตอรี่ นี้ เป็นละครสั้น องก์เดียวจบ มีตัวละครเพียง 2 คนสนทนาโต้ตอบกัน มีลักษณะเป็นละครแอบเสิร์ด คือ ไม่มีการบรรยายลักษณะตัวละครที่มีลักษณะกำหนดตายตัวแน่นอน ไม่มีเหตุการณ์ที่มีความหมายเฉพาะ และโครงเรื่องไม่ได้มีสาเหตุและผลลัพธ์อย่างเด่นชัด

ตัวละครในเรื่องนี้มีเพียงสองคน คือปีเตอร์และเจอร์รี่ ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะ  เจอร์รี่เพราะมีความสำคัญมากในการทำให้ปีเตอร์ค้นพบความจริงของความเป็นมนุษย์

เจอร์รี่ ลักษณะภายนอกเป็นชายอายุประมาณ 30 กว่าปี แต่งกายไม่เรียบร้อย เหมือนพวกฮิปปี้ ร่างกายเริ่มอ้วนแล้วไม่หล่อ แม้ว่าในอดีตน่าจะเป็นคนหน้าตาดี เจอร์รี่มีความเห็นว่า โลกนี้เปรียบเสมือนเป็นสวนสัตว์ขนาดใหญ่ มนุษย์มีความรู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนถูกขังอยู่ในกรง กั้นระหว่างสัตว์กับสัตว์ มนุษย์กับสัตว์ มนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับลักษณะธรรมชาติที่เหมือนกับสัตว์ของตนเองด้วย

ฉะนั้นเจอร์รี่พยายามทำลายกรงขังเพื่อหาทางติดต่อกับเพื่อนมนุษย์ จะพยายามคุยกับปีเตอร์ ชายที่แต่งตัวและมีท่าทางไปชนชั้นกลางอายุประมาณ 40 ปี เป็นผู้มีความคิดว่างเปล่า แล้วเข้ากันได้ดีกับชีวิตปัจจุบันที่ไร้แก่นสาร กรงที่ขังปีเตอร์ไว้ คือสรรพสิ่งและความคิด

ปีเตอร์ไม่พอใจที่เจอร์รี่พยายามทำให้เขาต้องยอมรับว่าเขามีความรู้สึกเหงาในโลกปัจจุบัน เจอร์รี่พยายามสร้างความสัมพันธ์กับปีเตอร์ โดยการสอบถามถึงครอบครัวเขา     ปีเตอร์ไม่พอใจ เพราะกลัวว่าเจอร์รี่จะรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของเขา

เมื่อความพยายามของเจอร์รี่ที่จะถามปีเตอร์ไม่ได้ผล เขาจึงเปลี่ยนวิธีการโดยการเล่าเรื่องของเขาให้ปีเตอร์ฟัง แม้ว่าจะเป็นการออมค้อม เพราะต้องใช้เวลามากกว่าที่ปีเตอร์จะเข้าใจความรู้สึกของตนเอง แต่เจอร์รี่ก็ยินดี  เขาเล่าประวัติของเขาให้ปีเตอร์ฟัง ว่าเขากำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 10 ปี แม่แยกกับพ่อโดยหนีตามชู้ไปและถูกฆ่าตาย พ่อถูกรถชนตาย เขาไปอยู่กับน้าสาวน้องของแม่ ซึ่งก็ตายเมื่อเขาจบ ม.ปลาย เขามีประสบการณ์ทางเพศกับเด็กผู้ชายเมื่อายุ 15 ปี เขาเป็นโสดและเช่าห้องเล็กๆ อยู่ บนตึกเช่าชั้นที่สี่ ผู้ร่วมห้องเช่าคนอื่นๆ ดูจะมีชีวิตที่เศร้าหมองและไม่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเลย เจ้าของตึกเช่าเป็นผู้หญิงที่น่ารังเกียจ สกปรก หื่นกระหาย ชอบลวนลามเขา เธอมีหมาสีดำ ที่ดุร้ายเหมือนปีศาจ

เขายังบอกปีเตอร์เกี่ยวกับสมบัติส่วนตัวว่า เขามีเพียงมีด ส้อม จาน แก้ว กรอบรูปที่ว่างเปล่า (เขาไม่มีภาพพ่อแม่ เพราะไม่อยากจำภาพพ่อแม่ของเขา) เป็นการแสดงถึงชีวิตที่ว่างเปล่า เงียบเหงา และมีปัญหา

จากบทสนทนาระหว่างเจอร์รี่และปีเตอร์ จะเห็นได้ว่า อัลบี (ผู้แต่งบทละคร) ไม่คิดว่าการแต่งงานจะเป็นการแก้ปัญหาความรู้สึกโดดเดี่ยวและว้าเหว่ เจอร์รี่เข้าใจธรรมชาติของตนเองว่า ต้องการมีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เขาจึงพยายามสนทนากับปีเตอร์ เพื่อให้ปีเตอร์เข้าใจความรู้สึกของตนเอง แต่เจอร์รี่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมนุษย์ในสังคมถูกตัดขาดออกจากกัน ถูกขังอยู่ในกรง เหมือนสัตว์ที่ถูกขังอยู่ในกรงสวนสัตว์

เมื่อเจอร์รี่บรรยายถึงเจ้าของตึกเช่าและหมาของเธอ ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเสมือนว่าตึกเช่านั้นคือนรก มีหมาคอยเฝ้าประตูให้คนผ่านเข้าไป หมาสีดำดุร้ายจะคอยไล่กัดเขาทุกครั้งที่จะขึ้นตึก เจอร์รี่ต้องต่อสู้กับหมาสีดำตัวนั้นเพื่อขึ้นไปบนห้องของตนเองตลอดเวลา

แต่เจอร์รี่เชื่อว่าเขาสามารถสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์และสัตว์ในสังคมได้ เขาจึงพยายามผูกมิตรกับหมา โดยการซื้อเนื้อในแฮมเบอร์เกอร์ให้มันกิน แต่ก็ไร้ผล ดังนั้นปีเตอร์จึงวางแผนฆ่ามัน โดยผสมยาเบื่อหนูในเนื้อแฮมเบอร์เกอร์โยนให้มันกิน หมากินและล้มป่วย เจ้าของหมาร้องไห้คร่ำครวญกับปเจอร์รี่ เจอร์รี่เห็นความโศกเศร้าของเจ้าของตึกเช่า เขาจึงคิดว่าหมาไม่สมควรตาย เขาคิดว่าความสัมพันธ์ของเขากับหมาควรเป็นในทางที่ดีขึ้น

เหมือนปาฎิหารย์ หมาอาการดีขึ้นจากยาพิษ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเจอร์รี่กับหมา กลับเลวร้ายลง เพราะหมาไม่ไล่กัด ไม่มองเขา และไม่ยุ่งกับเขาอีกเลย

จากบทสนทนานี้ จะเห็นว่าเจอร์รี่มีความเห็นว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์เกิดได้ยาก เพราะมนุษย์พยายามสร้างกำแพงล้อมตัวเองไว้ เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมั่นคงและปลอดภัย เหมือนหมาที่ปกป้องดินแดนตัวเองไม่ให้เจอร์รี่เข้ามารุกล้ำที่ของมันได้

ปีเตอร์เข้าใจว่าเจอร์รี่ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับเขา เขาจึงแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจ

เจอร์รี่ไม่ละความพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพี่เตอร์ โดยการเข้าไปใกล้และเล่นจักจี้ที่เอวปีเตอร์ แต่ปีเตอร์ก็ไม่เล่นด้วย

เจอร์รี่ต้องการทำลายกรงที่ขวางกั้นความสัมพันธ์ของมนุษย์ให้หมดสิ้นไป เขาคิดว่า ทางเดียวที่ทำได้คือการใช้ความรุนแรง เขาจึงขมขู่บังคับให้ปีเตอร์สละม้านั่งยาวของสวนสาธารณะที่เขาเป็นประจำนั่งให้เจอร์รี่  แต่ปีเตอร์ไม่ยินยอม เพราะเขาครอบครองม้านั่งยาวตัวนี้มาหลายปีแล้ว เขาเตือนเจอร์รี่ด้วยความโกรธและบอกว่าจะแจ้งตำรวจ เจอร์รี่จึงยั่วยุให้ปีเตอร์ต่อสู้แย่งชิงม้านั่งกับเขา เพื่อให้ปีเตอร์แสดงสัญชาตญาณสัตว์ออกมา เหมือนหมาที่หวงถิ่นของมันเอง

เจอร์รี่โยนมีดสั้นให้ปีเตอร์ฆ่าเขาเสียเพื่อรักษาม้านั่งตัวนี้ไว้ ปีเตอร์หยิบมีดสั้นมาถือหวังเพียงเพื่อเพื่อป้องกันตัวเองและไล่เจอร์รี่ให้ไปให้พ้น แต่เจอร์รี่กลับกระโจนประชิดตัว ปีเตอร์และใช้มีดสั้นแทงตัวเองจนมิดด้าม ปีเตอร์ตกใจสุดขีด พูดได้เพียงแต่ว่าพระเจ้าช่วย

ก่อนที่เจอร์รี่จะสิ้นชีวิต เขากลับกล่าวขอบคุณปีเตอร์ที่ช่วยทำให้เขาได้ตายสมความปรารถนา เขาสารภาพว่าที่เขาไม่อยากให้ปีเตอร์จากไป เพราะเขารู้สึกเหงาและไม่มีเพื่อน เจอร์รี่ได้ค้นพบว่ามนุษย์ในโลกปัจจุบันไม่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน และถูกแบ่งแยกออกจากกันด้วยลูกกรง เปรียบเสมือนสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์ที่มีลูกกรงล้อมรอบ จึงไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้นั่นเอง

ในปี พ.ศ.2519 (1976) อาจารย์มัทนี  รัตนิน ได้แปลและกำกับการแสดงละคร เรื่อง แอนทิกอนนี (Antigone รัชกาลที่ 6 ทรงแปลและให้ชื่อแบบไทยๆ ว่าอันตราคนี) ของ ฌอง อานูย (Jean Anoutlh) นักการละครชาวฝรั่งเศส จัดแสดงครั้งแรกที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2519 โดยมีการดัดแปลงให้เข้ากับสภาพสังคมไทย 2 ประการคือ

ประการแรก คือมีการแปลงชื่อตัวละครและสถานที่แบบกรีก ให้เป็นชื่อแบบไทยๆ

ประการที่สอง คือมีการเสริมขยายคำพูดบางคำพูดเข้าไป เพื่อให้พาดพิงถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยของไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2519 ก่อนเกิดเหตุการณ์ตุลามหาวิปโยคในช่วงเดือนตุลาคม 2519 ไม่นาน ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่มีกิจกรรมทางประชาธิปไตยสูงสุดยุคหนึ่งของประเทศไทย

 

ประวัติของฌ็อง อานูย (Jean Anoutlh)

 

1910 (2453)    เกิดที่ประเทศฝรั่งเศส

1928 (2470)   ลาออกจากโรงเรียนกฎหมายเพราะไม่มีเงิน มาทำงานในโรงพิมพ์

1930 (2472)   อายุ 20 ปี ถูกคัดเลือกไปเป็นทหาร

1931 (2473)    อายุ 21 ปี ปลดทหารแล้ว แต่งงานกับนักแสดงที่ชื่อ มอแนล วาล็องแต็ง

(Monelle Valentin) และมีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน

1932 (2474)   อายุ 22 ปี เขียนบทละครเรื่อง L’Hermine ซึ่งบทละครเรื่องนี้ ประสบ

ความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยบทละครเรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบทละครที่ดี

1937 (2479)   อายุ 27 ปี เขียนบทละครเรื่อง Le voyageur sans bagage เป็นบทละคร

ที่ประสบความสำเร็จอีกบทละครหนึ่ง ซึ่งบทละครเรื่องนี้ถูกนำมาเล่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึง 190 ครั้ง

1944 (2486)  อายุ 34 ปี เขียนบทละครเรื่อง แอนทิกอนนี (Antigone) ออกมาแสดง ซึ่ง

บทละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก บทละครเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงโศกนาฏกรรม ที่สะท้อนให้เห็นถึงชะตากรรมของมนุษย์ ผู้ผยองในความยิ่งใหญ่ของตนเอง จนก่อให้เกิดเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความพินาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

1953 (2495)   อายุ 43 ปี แต่งงานใหม่ครั้งที่ 2 มีบุตรอีก 3 คน

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา ผลงานของเขาก็เริ่มน้อยลง เนื่องจากเขารู้สึกเบื่อหน่ายกับการวิจารณ์ ดังนั้นเขาจึงใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดษ

1987 (2530)   เสียชีวิต อายุได้ 77 ปี

 

ที่มาของละครเรื่องแอนทิกอนนี (Antigone)

ละครเรื่องแอนทิกอนนี (Antigone) เป็นละครที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งทางการเมืองและปรัชญาความคิด ระหว่างแอนทิกอนนี (Antigone) เด็กสาวที่ต้องการเสรีภาพแห่งความคิด และ ครีออน (Créon) ผู้ปกครอง ที่ต้องการระเบียบ วินัย กฎเกณฑ์และกฎหมาย ที่จะปกครองประชาชนให้อยู่ในความสงบสันติ โดยยอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม

จุดประสงค์ที่เขียนเรื่องนี้ ในปี 2485 (1942) และนำออกแสดงในปี 2487 (1944) เนื่องจาก ในปีนั้นเป็นช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 (2482-2488) เป็นช่วงที่ลัทธินาซีได้แผ่ อำนาจปกครองยุโรปรวมทั้งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ชาวฝรั่งเศสถูกกดขี่ข่มเหงและถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมาก

ฌอง อานูย จึงต้องการที่จะให้ละครเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนให้แก่ชาวฝรั่งเศสในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพกลับคืนมา โดยเปรียบ Antigone เป็นชาวฝรั่งเศส และเปรียบ Créon เป็นนาซีนั่นเอง

ละครได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของแต่ละฝ่าย ซึ่งต่างก็มีปรัชญาชีวิตและอุดมการณ์ของตน ฝ่ายหนึ่งจำต้องทำหน้าที่เพื่อรักษากฎหมายและความสงบสุขของบ้านเมืองให้ดีที่สุด แม้จะต้องทำในสิ่งที่ขัดต่ออุดมการณ์ของตัวเอง นั่นก็คือตัวละครที่ชื่อ Créon  อีกฝ่ายหนึ่งบูชาในอุดมการณ์ของตนเองแม้จะต้องตาย ก็คือตัวละครเอกที่ชื่อ Antigone

ฌอง อานูย สามารถชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของแต่ละฝ่ายนี้ได้ ซึ่งแม้แต่ฝ่ายเผด็จการนาซียังยอมให้นำเรื่องนี้ออกแสดง และละครเรื่องนี้ยังส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสหลายๆคนลุกขึ้นสู้กับอำนาจเผด็จการเพื่อเรียกร้องอิสรภาพกลับคืนสู่ประเทศฝรั่งเศส

เรื่องย่อละคร เรื่อง แอนทิกอนนี (Antigone ชื่อไทยว่า อันตราคนี)

อีดีปุส (Oedipus) เป็นบุตรของลาอิอุส (Laius) กษัตริย์ของนครธีบส์ (Thebes) กับพระราชินีโจคาสตา (Jocasta) โหรได้ทำนายก่อนที่อีดีปุสจะเกิดว่า  อีดีปุสจะเป็นผู้สังหารบิดาของตัวเอง และจะแต่งงานกับมารดาของตัวเอง รวมถึงจะนำเคราะห์กรรมต่าง ๆ นานา มาสู่นครธีบส์

กษัตริย์ลาอิอุสจึงเอาอีดีปุสไปปล่อยทิ้งไว้กลางป่าหวังให้ตายไปเอง แต่ในเมื่อสวรรค์ลิขิตไว้แล้ว จึงมีคนเลี้ยงแกะคนหนึ่งมาพบและช่วยอีดีปุสเอาไว้ ต่อมาอีดีปุสได้กลายเป็นบุตรบุญธรรมของกษัตริย์โพลิบุส (Polybus) แห่งเมืองคอรินท์ (Corinth) กับพระราชินีเมโรเพ (Merope) ซึ่งไม่มีบุตรด้วยกัน ทั้งคู่จึงเลี้ยงดูอีดีปุสจนเติบใหญ่

เมื่ออีดีปุสได้ยินคำทำนายเกี่ยวกับตัวเองว่าจะเป็นผู้ฆ่าพ่อตัวเองก็สำคัญผิดคิดว่าตนเองจะฆ่าพ่อคือกษัตริย์โพลิบุส อีดีปุสจึงได้หลบหนีออกจากเมืองคอรินท์เพื่อจะไม่ต้องอยู่ใกล้กับกษัตริย์โพลิบุสอีก

ระหว่างทางที่อิดีปุสหนีจากเมืองนั้นเอง เขาได้พบกับชายที่ถือไม้เท้านั่งอยู่บนรถม้าลาก และกล่าวให้อีดีปุสหลีกทางให้รถม้าผ่านไป แล้วฟาดไม้เท้าในมือไปยังศีรษะของอีดิปัส เขาเลยตอบโต้จนชายบนรถม้าถึงแก่ความตาย โดยไม่รู้เลยว่านั้นคือพ่อแท้ๆ ของตน จึงเป็นอันว่าคำทำนายข้อแรกกลายเป็นความจริงไปโดยที่แม้แต่อีดีปุสก็ไม่รู้ตัว

หลังจากนั้นเมื่ออีดีปุสสามารถกำจัดสฟิงซ์ที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวเมืองได้แล้ว อีดีปุสจึงได้รับการเชิญให้เป็นกษัตริย์เมืองธีบส์ และแต่งงานกับพระนางโจคาสตา (Jocasta) โดยไม่รู้เลยว่าเป็นมารดาแท้ ๆ ของตนเองอีกด้วย

 

อีดีปุส มีลูกกับพระนางโจคาสตา 4 คน ลูกชายคนโต ชื่อ อีตีโอคลีส (Eteocles) คนรองชื่อ โพลีนีกีส (Polynices) คนที่สามเป็นผู้หญิงชื่อ อิสมินี (Ismene) และคนสุดท้องเป็นลูกสาวชื่อ แอนทิกอนนี (Antigone) นางเอกของเรื่องนี้

หลังจากมีลูกแล้ว นครธีบส์ที่เคยรุ่งเรืองก็ตกต่ำลง ซึ่งโหรทำนายว่าเหตุร้ายดังกล่าวเกิดจากอีดีปุส ในที่สุดเมื่อสืบสาวความจริงจนพบว่าอีดีปุสได้กระทำปิตุฆาตและแต่งงานกับมารดาตนเองจริง ๆ ตามคำทำนาย อีดีปุสจึงเสียใจและรังเกียจตัวเองถึงทำร้ายตัวเองจนตาบอด ก่อนจะเนรเทศตัวเองออกจากเมืองโดยไร้จุดหมาย ส่วนพระนางโจคาสตา (Jocasta) ก็ฆ่าตัวตาย

คณะมนตรีแห่งรัฐได้ลงมติให้ลูกชายของอิดีปุส 2 คน ผลัดกันขึ้นครองราชย์คนละหนึ่งปี แต่ปรากฎว่าพี่ชายคนโตคือ อีตีโอคลีส (Eteocles) เมื่อครองราชย์ครบ 1 ปีแล้ว กลับไม่ยอมลงจากบัลลังก์ จึงเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น โพลีนิกีส (Polynices) ผู้เป็นน้อง ได้ไปขอความช่วยเหลือจากต่างเมือง พี่น้องทั้งสองต่อสู้กันและแทงกันตายทั้งคู่

 

คณะมนตรีแห่งรัฐ ได้ลงมติเลือกครีออน (Creon) พี่ชายของราชินีโจคาสตาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองธีบส์ ครีออนทำการฝังศพอีตีโอคลีสผู้พี่ชายอย่างสมเกียรติ แต่ออกคำสั่งไม่ให้ผู้ใดชำระหรือฝังศพโพลีไนซีสผู้น้องชาย และห้ามไม่ให้ไว้ทุกข์ด้วย หากใครฝ่าฝืนต้องโดนประหาร

แอนทิกอนนี น้องสาวคนสุดท้องของโพลีไนซีส ได้ถูกหมั้นหมายไว้กับไฮมอน (Haemon) ลูกชายของกษัตริย์ครีออน แต่แอนทิกอนนีต้องการฝังศพให้โพลีไนซีสผู้เป็นพี่ชายคนรอง เพราะตามประเพณีทางศาสนาของเมืองธีปส์นั้น เมื่อคนตายลงจะต้องทำพิธีฝังศพทันที วิญญาณผู้ตายจึงจะไปสู่สุคติ 

แอนทิกอนนีได้ตัดสินใจไม่แต่งงานกับไฮมอน และฝ่าฝืนคำสั่งของครีออน โดยลักลอบไปฝังศพโพลีไนซีส แต่แอนทิกอนีถูกจับได้และนำไปให้ครีออนสอบสวน

แอนทิกอนนีและครีออน ต่างฝ่ายโต้แย้งกันด้วยเหตุผลของตนเองอย่างดุเดือด ซึ่งนับว่าเป็นจุดสำคัญของละครเรื่องนี้ เช่น

 

แอนทิกอนนี “หลานมี หน้าที่ต้องทำให้เขา”

 

แอนทิกอนนี “ อย่างน้อยเราก็ต้องทำในสิ่งที่เราควรทำ สิ่งใดที่เราสามารถทำได้เราก็ต้องทำ”

 

แอนทิกอนนี “เราต้องมีสิทธิ์เสรีภาพที่จะเลือก รับสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้อง และ ปฏิเสธ สิ่งที่ผิดที่ชั่ว”

 

แอนทิกอนนี “หลานมาเพื่อปฏิเสธลุงและเพื่อจะตายเท่านั้น”

 

แอนทิกอนนี “ฉันไม่ต้องการความสุขจอมปลอมของแก ฉันจะไม่ยอมแพ้ จะไม่ยอมลดหย่อนต่อรองอะไรทั้งสิ้น ฉันต้องการชีวิตที่สมบูรณ์  ต้องการทุกสิ่งในชีวิตทั้งหมด เวลานี้ เดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ได้ทั้งหมดก็ไม่เอามันเลย อย่ามีชีวิตอยู่ต่อไปเลย”

 

ครีออน “ไม่มีใครจะต้องเคารพกฎหมายยิ่งไปกว่าคนที่ออกกฎหมายเองหรอก เจ้าเป็นลูกเป็นหลานของผู้ออกกฎหมาย เจ้าจะต้องเคารพกฎหมาย”

 

ครีออน “หน้าที่ฉันบังคับให้ฉันทำอย่างนี้ เมื่อฉันรับหน้าที่นี้แล้ว ฉันก็ต้องทำหน้าที่นี้ให้ถูกต้อง”

 

ครีออน “แกต้องเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เราจะมีกบฎในครอบครัวอีกคนหนึ่งไม่ได้”

 

ครีออน “ตอนนี้บ้านเมืองกำลังฉิบหายวอดวาย ถึงต้องมีคนเสียสละสักคนมายอมรับเป็นกัปตัน แกไม่เห็นหรือว่าเรือนี่มันรั่วสักร้อยแห่งพันแห่ง”

 

ในการพิจารณาคดี แอนทิกอนนีให้การว่าตนทราบคำสั่งของครีออนดี แต่ตัดสินใจฝ่าฝืน โดยอ้างว่าเป็นการทำตามบัญญัติของสวรรค์ (divine law) ที่สูงกว่ากฎหมายของมนุษย์ ทำให้แอนทิกอนนีถูกพิพากษาลงโทษให้ฝังทั้งเป็น

 

แอนทิกอนนีต้องโทษให้ถูกฝังทั้งเป็นอยู่ในถ้ำตามคำสั่งของครีออน และต่อมาแม้ ครีออนจะเปลี่ยนใจคิดปล่อยตัวแอนทิกอนนี แต่แอนทิกอนนีก็ตัดสินใจผูกคอตายในถ้ำเสียแล้ว  และไฮมอน (Haemon) คู่หมั้นของแอนทิกอนนี ลูกชายของครีออน ก็แทงตัวตายตามคนรักไปในถ้ำนั้นเอง เมื่อเรื่องทราบถึงยูรีดีซี (Eurydice) ภริยาของครีออน เธอก็ฆ่าตัวตายตามลูกชายไปด้วย

 

            ครีออนจัดการวางศพไฮมอนและแอนทิกอนนีเคียงคู่กันบนลานหินภายในถ้ำแห่งนั้น เมื่อครีออนกลับบ้านและทราบว่ายูรีดีซีผู้เป็นเมียฆ่าตัวตาย เขาก็แต่เพียงรับรู้และกล่าวว่า 

 

ครีออน “หลับไปอีกคนหนึ่งละหรือ หลับเสียทีก็คงสบายนะ”

 

ครีออนเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีในเย็นวันนั้นตามปรกติและกล่าวว่า

 

“มีภาระบ้านเมืองจะต้องทำกันอีกมาก คนเราจะงอมืองอเท้า ปฏิเสธไม่ยอมรับผิดชอบไม่ได้ เขารังเกียจว่างานสปกปรก แต่ถ้าเราไม่ทำ ใครล่ะจะทำ? ใคร?”

 

ละครทิ้งท้ายให้ผู้ชมได้คิดว่า

 

“เกียรติยศ คุณค่า และศักดิศรีของมนุษย์เราอยู่ที่ไหนครับท่าน อยู่ที่เสรีภาพในการเลือกชีวิตและความตาย หรืออยู่ที่หน้าที่ความรับผิดชอบและความเสียสละ”

 

3.2 ละครเวทีร่วมสมัย ยุคหลัง 6 ตุลาคม 2519 – พ.ศ.2527

 

                  หลังเกิดเหตุการณ์ปราบขบวนการนักศึกษาอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519  ละครเวทีร่วมสมัยของไทยก็หยุดชะงักลง นักคิดนักเขียนจำนวนไม่น้อยต้องลี้ภัยทางการเมืองเข้าไปต่อสู้ในป่า  อีกทั้งกระบวนการทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป  คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ให้ความสนใจไปกับการเต้นรำมากกว่าจะหาเวลามาชมละครเวที หรือไม่ก็เข้าโรงภาพยนตร์ นอนดูโทรทัศน์ วีดีโอ อยู่ที่บ้าน  การละครเวทีกลายเป็นสิ่งตากซาก  ถึงจะจัดแสดงบ้างบางคราวก็ไม่มีผู้สนใจอย่างแท้จริง นอกจากละครตลกสนุกรื่นรมย์ มุ่งให้ความบันเทิงเป็นหลัก ความคิดเป็นรอง

 

3.3 ละครเวทีร่วมสมัย ยุค พ.ศ.2527 - พ.ศ.2550

 

                 ในยุคหลัง พ.ศ.2527  ผู้คนสมัยนั้นเริ่มหันมามองภาพอดีต ว่าเป็นภาพที่เปี่ยมเสน่ห์ชวนหลงใหล  อาจเป็นเพราะภาพยนตร์หลายเรื่องมีเนื้อหาย้อนเวลาหาอดีต            ดีไซเนอร์ได้ออกแบบเครื่องแต่งกายเมื่อหลายสิบปีก่อนมาประยุกต์ใช้  มีร้านอาหารที่ตกแต่งด้วยวัสดุอุปกรณ์ของเก่า  และตกแต่งหน้าตาของร้านให้ดูโบราณกว่าปัจจุบัน   ทำให้ผู้คนเริ่มแสวงหาความบันเทิงแบบฉบับเดิม คือ ละครเวที

                  ละครเวทีร่วมสมัยในยุคนี้ ได้ขยายออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย  เช่น โรงแรมมณเฑียร ได้สร้างโรงละคร “มณเฑียรทองเธียเตอร์” จัดแสดงละครเวทีรูปแบบใหม่ ที่ผู้ชมทานอาหารไปด้วย ดูละครไปด้วย  เรื่องที่แสดง เช่น เรื่องใต้แสงเทียน  พระลอพูดภาษาอังกฤษ ฯลฯ ขณะเดียวกันเกิด “กลุ่มละคร 21 พิจิก”  จัดแสดงที่หอประชุม เอ.ยู.เอ. นำบทประพันธ์ที่ตัดตอนมาจากนวนิยายเรื่องยาวหรือเรื่องสั้นมาจัดแสดง เช่น เรื่องผมฆ่าพ่อ  ไม้เรียวอันสุดท้าย เป็นต้น

 

                 ในปี พ.ศ.2528 – 2529 นักทำละครยุคบุกเบิก คือ อาจารย์รัศมี   เผ่าเหลืองทอง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมมือกับสุชาติ  สวัสดิ์ศรี  ในนาม “คณะละครสองแปด” จัดการแสดงละครเวที เรื่อง ชีวิตของกาลิเลโอ (Life of Galileo)  บทประพันธ์ของ แบร์ทอลล์  เบรชท์ (Bertolt Brecht) ได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม  ทั้งในด้านคนดูและสื่อมวลชน

 

      ละคร เรื่อง ชีวิตของกาลิเลโอ ก่อให้เกิดการถกเถียงกันในหมู่นักวิจารณ์มากที่สุดเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้เพราะละครเรื่องนี้ตีความไปได้หลายนัย และก็เป็นเรื่องที่ชี้ประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผลกระทบของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อชีวิตมนุษย์และความอยู่รอดของมนุษยชาติ

 

      กาลิเลโอเป็น “ตัวแทน” ของความคิดใหม่ ที่เข้ามาล้มล้างความคิดเก่า เขาเป็นนักปฏิวัติทางความคิดและเขาเป็นคนของคนยุคใหม่ และคนหัวใหม่ก็มองเขาในฐานะผู้นำและพร้อมที่จะให้การสนับสนุน

 

เรื่องย่อ ชีวิตของกาลิเลโอ (Life of Galileo) 

 

กาลิเลโอ เกิดที่ประเทศอิตาลี เมื่อ ค.ศ.1564 (2107 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น) ซึ่งในขณะนั้นมนุษย์เชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและเชื่อว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก ซึ่งเป็นคำสอนของศาสนาคริสต์ ซึ่งอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล 

 

ฉากที่ 1 กาลิเลโอ กาลิเลอี อาจารย์สอนคณิตศาสตร์แสนยากจน ที่มหาวิทยาลัยปาดัว ตัดสินใจที่จะพิสูจน์ระบบโคเปอร์นิคัสใหม่ (ระบบโคเปอร์นิคัสคือ ระบบที่กล่าวว่าโลกหมุนรอบดวงทิตย์ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก) เขามีศิษย์เอกคนหนึ่ง ชื่อแอนเดรีย (Andrea) ซึ่งเป็นลูกชายของแม่บ้านของเขาเอง

 

ฉากที่ 2 ด้วยความยากจน กาลิเลโอจึงคบคิดกับเพื่อนนำกล้องส่องทางไกล ที่มีผู้ประดิษฐ์คิดค้นได้ในฮอลแลนด์มาดัดแปลงใหม่ แล้วไปนำเสนอสภาสูงรัฐเวนิสว่าเขาประดิษฐ์ขึ้นเอง  การหลอกลวงครั้งนั้น เขาได้รับการขึ้นเงินเดือนอีกเท่าตัว

 

ฉากที่ 3 ในปี 1610 กาลิเลโอค้นพบปรากฏการณ์ของท้องฟ้า ที่พิสูจน์ว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ภายใต้คำเตือนของเพื่อนกาลิเลโอว่าจะมีผลกระทบจากการค้นพบของเขา กาลิเลโอคิดว่าความเชื่อของเขาเป็นเหตุผลของมนุษย์

 

ฉากที่ 4 ปี 1612 กาลิเลโอก่อให้เกิดการถกเถียงในเมืองฟลอเรนซ์ การค้นพบของเขาด้วยกล้องโทรทรรศน์เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือในหมู่นักวิชาการที่นั่น

 

ฉากที่ 5 ปี 1614 คำสอนเรื่องโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ของกาลิเลโอขัดแย้งกับคัมภีร์ไบเบิล เขาถูกประณามว่าแนวคิดของเขาที่หาว่าโลกเคลื่อนที่ เป็นแนวคิดอันตรายและอาจเป็นพวกนอกรีต เขาต้องเกิดความขัดแย้งกับนักบวชสำนักวาติกัน แม้ว่านักดาราศาสตร์ประจำสำนักวาติกันจะยอมรับว่า การค้นพบของเขาถูกต้อง แม้แต่พระสันตะปาปาซึ่งเป็นนักวิทยาศาตร์เหมือนกัน ยังถูกบังคับจากคณะกรรมการว่า นโยบายอยู่เหนือเหตุผล

 

ฉากที่ 6 ปี 1616 กาลิเลโอถูกสอบสวน คณะผู้สอบสวนห้ามเขาสอนและตีพิมพ์หนังสือเรื่องโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์

 

ฉากที่ 7 การสนทนาของกาลิเลโอ, นักบวชหนุ่มมาพูดคุยกับเขา นักบวชรูปนั้นเกิดมาในตระกูลชาวบ้านธรรมดา ทั้งสองอภิปรายถกเถียงกันถึงเรื่องวิทยาศาสตร์กับศาสนา

 

ฉากที่ 8 ปี 1632 กาลิเลโอตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “บทสนทนาว่าด้วยโลกสองระบบ” แปดปีหลังจากความเงียบ มีสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ พระองค์เป็นนักคณิตศาสตร์ พระองค์ได้สนับสนุนให้กาลิเลโอศึกษาวิจัยในหัวข้อเรื่องความร้อนของดวงอาทิตย์

 

ฉากที่ 9 ปี 1632 : เขาถูกสอบสวนโดยศาลศาสนา นักวิชาการที่มีชื่อเสียงของโลก ถูกเรียกมาโดยผู้พิพากษาทางศาสนาในกรุงโรม กาลิเลโอและลูกสาวของเขากำลังรอการตัดสินของแกรนด์ดยุค (ผู้ปกครองที่มีอำนาจรองจากกษัตริย์) ในห้องโถงและบันไดของพระราชวังเมดิชิ ในเมืองฟลอเรนซ์

 

ฉากที่ 10 สมเด็จพระสันตะปาปาในเมืองวาติกัน สันตปาปาเออร์บันที่ 8, อดีตเป็นพระคาร์ดินัลบาร์เบอรินี่ ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นพระคาร์ดินัลสอนสวน

 

ฉากที่ 11 ปี 1633 เขาถูกตัดสินว่าต้องสงสัยร้ายแรงในการเป็นพวกนอกรีต เพราะในสมัยนั้นผู้ใดที่ไม่เชื่อฟังในคำสั่งสอนของพระสันตปาปาจะถือว่าเป็กบฏ กาลิเลโอถูกควบคุมตัวอย่างเข้มงวด

 

ฉากที่ 12 ปี 1634-1642 กาลิเลโอ กาลิเลอี ถูกควบคุมตัวเป็นนักโทษตามผลการไต่สวน โดยถูกกักตัวให้อยู่แต่ในบ้านในชนบทใกล้เมืองฟลอเรนซ์ เขาเขียนงานวิชาการต่อไป โดยที่พวกพระนักบวชไม่ขัดขวาง ขอเพียงแต่ให้เก็บไว้ห้ามเผยแพร่ แต่เขาทำสำเนาเก็บไว้และแอบมอบงานเขียนสำคัญของเขาชื่อ “การอภิปราย” (Discorsi) ให้แอนเดรียศิษย์รัก

 

ฉากที่ 13 ปี 1637 แอนเดรียลักลอบนำหนังสือของกาลิเลโอ ชื่อ “การอภิปราย”  ข้ามพรมแดนอิตาลีไปเยอรมัน จนไปสู่จุดหมายปลายทางคือ ฮอลแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพในทางความคิดในสมัยนั้น หนังสืออันเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาซึ่งเขียนโดยกาลิเลโอจึงได้เล็ดลอดมาสู่ชาวโลกจนถึงปัจจุบัน

 

บทสรุปท้ายของละคร เป็นคำพูดของกาลิเลโอ

 

“ขอให้พวกเจ้าจงช่วยปกป้องประทีปแห่งวิทยาการ จงใช้มัน แต่อย่าใช้ในทางที่ผิด

อย่าให้ประทีปนี้กลายเป็นไฟบรรลัยกัลป์มาเผาผลาญเราเองจนหมดสิ้น”

 

                ในปี พ.ศ.2533 อ.มัทนี รัตนิน ได้จัดแสดงละครเพลง เรื่อง บุษบาริมทาง (อีสาน) โดยแปลงมาจากบทละครตะวันตก เรื่อง My Fair Lady ของจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw)

 

ประวัติจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw)

 

จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1856 (พ.ศ.2399) เป็นนักเขียนบทละครชาวไอริช เกิดที่เมืองดับลิน ย้ายมาอยู่กรุงลอนดอนเมื่ออายุได้ 20 ปี และพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษจนตลอดชีวิต เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการประพันธ์เพลงและเขียนบทวิจารณ์วรรณกรรม ต่อมาจึงหันมาเขียนบทละคร และมีความชำนาญในการประพันธ์บทละครแนวชีวิต ชอว์มีผลงานบทละครมากกว่า 60 เรื่อง ส่วนใหญ่มีเนื้อหาที่สะท้อนถึงปัญหาสังคม เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี ค.ศ. 1925 (พ.ศ.2468) และได้รับรางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ในปี ค.ศ. 1938 (พ.ศ.2481) ผลงานละครที่มีชื่อเสียงได้แก่

 

ค.ศ.1905 (2448) Man and Superman

ค.ศ. 1913 (2456)  Pygmalion (My Fair Lady)

ค.ศ. 1923 (2466) Saint Joan

 

เขาเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1950 (2493) อายุ 94 ปี

 

เรื่องย่อ My Fair Lady (บุษบาริมทาง)

 

ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด (ค.ศ.1901 หรือ พ.ศ.2444) นางเอกชื่อ อลิซา ดูลิตเติล (Eliza Doolittle) เป็นสาวขายดอกไม้ที่พูดสำเนียงคอคนี่ (Cockney คนจนในย่านลอนดอนตะวันออก การพูดฟังแล้วจะเหมือนพูดไม่เต็มคำ ออกเสียงไม่สุด) ที่มีสำเนียงหนาและเข้าใจยาก เธอได้มาพบกับพระเอก ศาสตราจารย์เฮนรี ฮิกกินส์ นักสัทศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงที่สวนสธารณะ ฮิกกินส์ทนไม่ได้กับความหยาบคายของภาษาถิ่นของอลิซา (เพลง"Why Can't the English?") ฮิกกินส์ยังได้พบกับพันเอกพิกเคอริง นักภาษาศาสตร์อีกคนหนึ่ง และเชิญเขาให้มาพบในฐานะแขกของบ้าน

 

อลิซาและเพื่อนๆ อยากจะรู้ว่าการใช้ชีวิตของคนร่ำรวยจะเป็นอย่างไรกันนะ (เพลง"Wouldn't It Be Loverly?")

อัลเฟรด พี. ดูลิตเติ้ล พ่อของอลิซามีอาชีพเป็นคนกวาดขยะ ฐานะยากจน เขาแวะขอเงินไปทั่ว เพื่อซื้อเหล้าดื่มในตอนเช้า (เพลง With a Little Bit of Luck)

 

ไม่นานหลังจากนั้น อลิซามาที่บ้านของฮิกกินส์ เพื่อจะเรียนวิชาการพูด เพื่อที่เธอจะได้ทำงานเป็นผู้ช่วยในร้านขายดอกไม้ ฮิกกินส์เดิมพันกับพิกเคอริงว่าภายในหกเดือน จะสอนให้อลิซาพูดอย่างถูกต้อง เขาจะทำให้เธอเป็นผู้หญิงในสังคมชั้นสูง (Lady)

 

อลิซากลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของฮิกกินส์ แม้ว่าฮิกกินส์จะมองว่าตัวเองเป็นผู้ชายใจดีเกินไป ที่ไม่สามารถเข้ากับผู้หญิงได้ (เพลง "I'm an Ordinary Man” ) แต่สำหรับคนอื่นๆ แล้ว เขาก็ดูเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองและเกลียดผู้หญิง

 

อลิซาต้องอดทนกับการเรียนวิชาการพูดกับฮิกกินส์ เพราะความเข้มงวดในการสอนของเขา อลิซาผิดหวังมาก เธอฝันถึงวิธีต่างๆ ที่จะฆ่าเขา (เพลง " Just You Wait")

 

คนรับใช้ของฮิกกินส์พร่ำบ่นถึงบรรยากาศที่ตึงเครียด เพราะการเรียนไม่มีความคืบหน้าเลย (เพลง "The Servants' Chorus”)

ขณะที่ฮิกกินส์กำลังจะเลิกล้มความคิดที่จะสอนอลิซาต่อไป  จู่ๆ อลิซาก็ท่องแบบฝึกหัดสำนวนของเธอ ในรูปแบบชนชั้นสูงที่สมบูรณ์แบบได้ (เพลง "The Rain in Spain")

 

แม้ว่าคุณเพียร์ซแม่บ้าน จะยืนกรานให้อลิซาเข้านอน แต่เธอก็บอกว่าเธอตื่นเต้นเกินกว่าจะนอน (เพลง "I Could Have Danced All Night")

ในการทดสอบสาธารณะครั้งแรกของเธอ ฮิกกินส์พาอลิซาไปนั่งชั้นพิเศษที่สนามแข่งม้าแอสคอตของชนชั้นสูง (เพลง "Ascot Gavotte ")

 

แม้ว่าอลิซาจะทำให้ทุกคนตกใจเมื่อเธอลืมตัวขณะดูการแข่งขันและเปลี่ยนกลับไปใช้ภาษาหยาบคาย แต่เธอก็เป็นที่ถูกใจของเฟรดดี้ เอนส์ฟอร์ด-ฮิลได้ เฟรดดี้โทรหาอลิซาในเย็นวันนั้น และเขาประกาศว่าเขาจะรอเธอที่ถนนนอกบ้านของฮิกกินส์ (เพลง "On the Street Where You Live")

ณ งานเต้นรำของสถานทูต เป็นการทดสอบครั้งสุดท้ายของอลิซ่า ที่เธอต้องทดสอบให้ผ่านไปยังฐานะผู้หญิงสังคมชั้นสูง หลังจากเตรียมตัวมาหลายสัปดาห์ เธอก็พร้อม สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษทุกคนที่งานเต้นรำชื่นชมเธอ และราชินีแห่งทรานซิลเวเนียเชิญเธอไปเต้นรำกับเจ้าชาย (เพลง "Embassy Waltz") นักสัทศาสตร์ชาวฮังการีชื่อซอลตัน คาร์ปาตี้ (Zoltan Karpathy)  พยายามสืบเสาะประวัติที่มาของอลิซา   ฮิกกินส์อนุญาตให้คาร์ปาตี้เต้นรำกับอลิซา

 

งานเต้นรำประสบความสำเร็จ คาร์ปาตี้ได้ประกาศให้อลิซาเป็นเจ้าหญิงฮังการี พิกเคอริงและฮิกกินส์ฉลองอย่างมีความสุขในความสำเร็จ โดยไม่สนใจอลิซา (เพลง " You Did It”)

 

อลิซาถูกดูถูกที่ไม่ได้รับการยกย่องในความสำเร็จของเธอ เธอจึงเก็บของและออกจากบ้านฮิกกินส์ เมื่อเธอจากไป เธอก็พบเฟรดดี้ ซึ่งเริ่มบอกเธอว่าเขารักเธอมากแค่ไหน แต่เธอบอกเขาว่าเธอได้ยินคำพูดมามากพอแล้ว ถ้าเขารักเธอจริงๆ เขาควรจะแสดงออกมา (เพลง "Show Me")

 

อลิซาและเฟรดดี้กลับมาที่โคเวนท์ การ์เดน แต่เธอกลับพบว่าที่นั่นเธอไม่รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน พ่อของเธออยู่ที่บ้านนั้นด้วย และพ่อได้บอกเธอว่า พ่อได้รับมรดกที่น่าประหลาดใจจากเศรษฐีชาวอเมริกันซึ่งทำให้เขากลายเป็นคนชั้นกลางที่น่านับถือ และตอนนี้เขาต้องแต่งงานกับคนรักใหม่ของเขา พ่อของอลิซาและเพื่อนๆ ของเขามีความสนุกสนานก่อนงานแต่งงาน (เพลง "Get Me to the Church on Time")

ฮิกกินส์ตื่นขึ้นในเช้าวันรุ่งขึ้น เขาพบว่าตัวเองแปลกไปที่ไม่มีอลิซาอาศัยอยู่ด้วย เขาสงสัยว่าทำไมเธอถึงจากไปหลังจากงานเต้นรำ และสรุปว่าผู้ชาย (โดยเฉพาะตัวเขาเอง) นั้นเหนือกว่าผู้หญิงมาก (เพลง "A Hymn to Him ") พิกเคอริงสังเกตเห็นว่าฮิกกินส์ไม่สนใจเขาแล้ว จึงย้ายออกจากบ้านฮิกกินส์ด้วย

 

ฮิกกินส์ไปเยี่ยมบ้านแม่อย่างสิ้นหวัง ซึ่งเขาพบอลิซาที่นั่น อลิซาประกาศว่าเธอไม่ต้องการฮิกกินส์อีกต่อไป (เพลง " Without You ")

 

ขณะที่ฮิกกินส์เดินกลับบ้าน เขาก็ตระหนักว่าเขารู้สึกผูกพันกับอลิซามากขึ้น (เพลง "I've Grown Accustomed to Her Face)

 

เมื่อถึงบ้าน เขาทบทวนบันทึกที่เขาทำขึ้นในวันแรกที่อลิซามาหาเขาเพื่อเรียนเป็นครั้งแรกด้วยความรู้สึกซาบซึ้ง และได้ยินคำพูดที่หยาบคายของเขาเอง จู่ๆ อลิซาก็ปรากฏตัวขึ้นในบ้านของเขา ศาสตราจารย์ฮิกกินส์เยาะเย้ยและถามว่า "อลิซา รองเท้าแตะของฉันอยู่ไหน?"

ละครเรื่องนี้จบแบบ Happy Ending คือ พระเอกและนางเอกได้ครองรักกัน

 

 

                ในปี พ.ศ.2537 อ.มัทนี รัตนิน ได้จัดแสดงละครเพลง เรื่อง ฝันของจูเลียตและเวสต์ไซต์สตอรี่  โดยดัดแปลงมาจากบทละครตะวันตก 2 เรื่อง คือ เรื่องโรมิโอและจูเลียต (Romeo and Juliet) ของวิลเลียม เช็คสเปียร์ (William Shakespeare)  และเรื่อง เวสต์ไซต์สตอรี่ (West side story) ของอาเธอร์ ลอเร็นท์ (Arthur Laurents)  

            เรื่องโรมิโอและจูเลียต ได้กล่าวถึงแล้วในบทที่ 1 ในบทนี้จะกล่าวถึงเรื่อง  เวสต์ไซต์สตอรี่ (West side story) ของอาเธอร์ ลอเร็นท์ (Arthur Laurents) 

 

ประวัติอาเธอร์ ลอเรนส์  (Arthur Laurents) 

1917 (2460) เกิดที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

1937 (2480) อายุ 20 ปี จบมหาวิทยาลัยคอร์แนล 

เรียนเขียนบทละครวิทยุที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ทำงานเป็นนักเขียนบทละครวิทยุ บทละคร ผู้กำกับละคร ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์

1957 (2490)   อายุ 40 ปี ละครเพลง West Side Story  

ได้รับรางวัล Tony Nomination for Best Musical

1959 (2492)   อายุ 42 ปี ละครเพลง Gypsy 

ได้รับรางวัล Tony Nomination for Best Musical

1967 (2500)   อายุ 50 ปี ละครเพลง Hallelujah, Baby! 

ได้รับรางวัล Tony Award for Best Musical

1991 (2534)    อายุ 74 ปี ละครเพลงเรื่องสุดท้าย เรื่อง Nick & Nora

2011 (2554)    เสียชีวิต อายุ 94 ปี

 

เรื่องย่อละครเพลง เรื่องเวสต์ไซต์สตอรี่ (West side story)

 

แก๊งวัยรุ่นที่เป็นคู่แข่งกันสองแก๊งค์คือ แก๊งค์เจ็ต (Jets หรือแก๊งค์เรือยนต์เจ็ต เป็นชาวอเมริกันผิวขาว) และ แก๊งค์ชาร์ค (Sharks หรือแก๊งค์ฉลาม เป็นชาวเปอโตริกัน) ทั้งสองแก๊งค์ปะทะต่อสู้กันเพื่อยึดครองความเป็นเจ้าถิ่น ที่ Upper West Side ของ New York City

ทั้งสองแก๊งค์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย คือ เจ้าหน้าที่ครัพกี้ (Krupke) และ ร้อยตำรวจเอกแช้งค์ (Schrank) มาห้ามปรามให้หยุดการปะทะกัน

ทีมเจ็ตส์วางแผนที่จะรับประกันได้ว่าจะสามารถยึดครองถนนย่านนั้นต่อไป  ริฟฟ์ (Riff) หัวหน้าแก๊งค์เจ็ตส์ แนะนำวิธีเตรียมการต่อสู้กับแก๊งค์ชาร์ค เขาวางแผนที่จะท้าดวลกับเบอร์นาโด (Bernardo) หัวหน้าแก๊งค์ชาร์ค ที่ลานเต้นรำของย่านใกล้ๆ

ในคืนนั้น ริฟฟ์ต้องการเกลี้ยกล่อมโทนี่ (Tony พระเอก) เพื่อนสนิทของเขาและอดีตสมาชิกทีมเจ็ตส์ให้ไปพบกับทีมเจ็ตส์ที่งานเต้นรำ ลูกทีมเจ็ตส์บางคนไม่แน่ใจในความภักดีของเขา แต่ริฟฟ์ยืนกรานว่าโทนี่ยังคงเป็นหนึ่งในสมาชิกของแก๊งค์เจ๊ต (เพลง "Jet Song ")

ริฟฟ์พบกับโทนี่ ขณะที่โทนี่ทำงานที่ร้านขายยาของด็อค เพื่อชักชวนให้เขามาต่อสู้ โทนี่ปฏิเสธ แต่ริฟฟ์ชนะใจเขา โทนี่มั่นใจว่ามีสิ่งหนึ่งที่สำคัญอยู่ตรงหัวมุมถนน (เพลง "Something's Coming")

มาเรีย (Maria นางเอก) ทำงานในร้านขายชุดเจ้าสาวกับแอนนิต้า (Anita) ซึ่งเป็นแฟนสาวของเบอร์นาร์โดพี่ชายของมาเรีย (เบอร์นาร์โดหัวหน้าแก๊งค์ชาร์ค)

มาเรียเพิ่งมาจากเปอร์โตริโกเพื่อแต่งงานกับชิโน เพื่อนของเบอร์นาร์โด มาเรียสารภาพกับแอนนิต้าว่าเธอไม่ได้รักชิโน แอนนิต้าตัดชุดให้มาเรียใส่ไปงานเต้นรำ

ที่งานเต้นรำ หลังจากแนะนำตัว วัยรุ่นก็เริ่มเต้น ในไม่ช้าก็มีการแข่งเต้นก็เริ่มขึ้น (เพลง "Dance at the Gym")

ในระหว่างนั้นเอง โทนี่และมาเรีย (ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการเต้นท้าประลอง) พบกันอีกฟากหนึ่งของห้อง  พวกเขาเต้นรำด้วยกัน ลืมความตึงเครียดในห้อง และตกหลุมรักกัน แต่เบอร์นาร์โดดึงน้องสาวของเขาจากโทนี่และส่งเธอกลับบ้าน

ริฟฟ์และเบอร์นาโด ตกลงที่จะดวลกันที่ร้านขายยาของด๊อค ซึ่งถือว่าเป็นกลาง

แม้โทนี่ (พระเอก) จะอยู่แก๊งค์เจ๊ต แต่เขากลับหลงรักมาเรีย (นางเอกซึ่งเป็นน้องสาวหัวหน้าแก๊งค์ชาร์ค ซึ่งเป็นศัตรูกัน) โทนี่แอบไปหามาเรียและร้องเพลงจีบมาเรีย (เพลง "Maria")

มาเรียปรากฏตัวบนบันไดหนีไฟ และทั้งสองก็แอบมาแสดงความรักต่อกัน (เพลง "Tonight")

ในขณะเดียวกัน แอนิต้า โรซาเลีย และผู้หญิงในแก๊งค์ชาร์คคนอื่นๆ พูดคุยถึงความแตกต่างระหว่างดินแดนเปอร์โตริโกและแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยที่แอนนิต้าปกป้องอเมริกา และโรซาเลียชื่นชมเปอร์โตริโก (เพลง "America")

แก๊งค์เจ็ตส์เริ่มหงุดหงิดระหว่างรอแก๊งค์ชาร์คที่ร้านขายยาของดอค ริฟฟ์ช่วยให้พวกเขาปลดปล่อยความก้าวร้าวออกมา (เพลง "Cool")

แก๊งค์ชาร์คมาถึงเพื่อหารือเกี่ยวกับอาวุธที่จะใช้ในการต่อสู้ โทนี่ (พระเอก) แนะนำ "การต่อสู้ที่ยุติธรรม" (หมัดเท่านั้น) ซึ่งหัวหน้าแก๊งค์ทั้งสองเห็นด้วย แม้จะมีการประท้วงของสมาชิกคนอื่นๆ เบอร์นาร์โดคิดว่าเขาจะชกกับโทนี่ แต่เขาต้องชกกับดีเซล รองหัวแก๊งค์แทน

วันรุ่งขึ้นที่ร้านขายและเช่าชุดเจ้าสาว มาเรีย (นางเอก) อารมณ์แจ่มใส เธอคาดหวังว่าจะได้เจอโทนี่ (พระเอก) อีกครั้ง แต่เธอก็รู้สึกผิดหวังเมื่อได้ทราบเรื่องการนัดชกต่อยที่กำลังจะเกิดขึ้นจากแอนนิต้า เมื่อโทนี่มาถึง มาเรียขอร้องให้โทนี่ห้ามสองแก๊งค์ไม่ให้ต่อสู้กัน โทนี่ตอบตกลง ก่อนที่เขาจะจากไป ทั้งสองหนุ่มสาววาดฝันถึงงานแต่งงานของทั้งคู่ (เพลง "One Hand, One Heart")

โทนี่ มาเรีย แอนนิต้า เบอร์นาโดและแก๊งค์ชาร์ค ริฟฟ์และแก๊งค์เจ็ท ทุกคนต่างก็รอคอยเหตุการณ์ที่จะมาถึงในคืนนั้น (เพลง "Tonight Quintet")

ทั้งสองแก๊งส์นัดดวลกันที่ใต้ทางด่วน และเมื่อการต่อสู้ระหว่างเบอร์นาร์โดกับดีเซลเริ่มต้นขึ้น โทนี่ก็มาถึงและพยายามจะหยุดมัน แม้ว่าเบอร์นาร์โดจะเหน็บแนมและยั่วยุโทนี่ เยาะเย้ยความพยายามของเขาที่จะสร้างสันติภาพ โทนี่ยังคงสงบนิ่ง เมื่อเบอร์นาร์โดผลักโทนี่ ริฟฟ์ต่อยเบอร์นาโดเพื่อปกป้องโทนี่ ทั้งสองดึงมีดพกสปริงออกมาและต่อสู้กัน (เพลง "The Rumble")

โทนี่พยายามจะเข้าไปห้ามทั้งคู่ แต่โดยไม่ได้ตั้งใจ โทนี่ทำให้ริฟฟ์ถูกเบอร์นาร์โดแทงตาย ด้วยความโกรธจัด โทนี่จึงแทงเบอร์นาร์โด(พี่ชายนางเอก) ตาย ทั้งสองแก๊งค์เข้าต่อสู้ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด

เสียงไซเรนตำรวจใกล้เข้ามาทุกคนวิ่งหนีกระจัดกระจาย ยกเว้นโทนี่ ที่ยืนตกใจกับสิ่งที่เขาทำ มีทอมบอยคนหนึ่ง ซึ่งปรารถนาเข้าแก๊งค์เจ็ต ได้บอกให้โทนี่หนีจากที่เกิดเหตุในวินาทีสุดท้าย พร้อมเอามีดพกไปด้วย ทิ้งร่างของรีฟฟ์และเบอร์นาร์โดไว้

กล่าวถึงมาเรีย (นางเอก) ที่ยังไม่ทราบเรื่อง กำลังร้องเพลงอย่างร่าเริงกับเพื่อนของเธอ โรซาเลีย เทเรซิตา และฟรานซิสก้าว่าเธอกำลังมีความรัก (เพลง "I Feel Pretty")

ชิโน (แฟนเก่าของมาเรีย) นำข่าวมาว่าโทนี่ฆ่าเบอร์นาร์โดพี่ชายของมาเรียตาย และหนีไปแล้ว มาเรียได้แต่อธิษฐานว่าสิ่งที่ชิโนบอกกับเธอเป็นเรื่องโกหก

โทนี่แอบมาพบมาเรีย เธอทุบหน้าอกเขาด้วยความโกรธ แต่เธอก็ยังรักเขา ทั้งคู่วางแผนที่จะหนีไปด้วยกัน (การแสดงจะคล้ายกับฝัน โดยให้ผนังห้องนอนของมาเรียเลือนหายไป) และฝันว่าจะครองรักกันอย่างสุขสงบ (เพลง "Somewhere")

สมาชิกแก๊งเจ็ตสองคนคืออาหรับและเบบี้จอห์น (A-Rab และ Baby John) ถูกจู่โจมเข้าจับโดยเจ้าหน้าที่ครัพกี้ แต่พวกเขาก็สามารถหลบหนีเขาได้ พวกเขาประชุมในที่ซ่อนของแก๊งค์ เพื่อปลุกขวัญตัวเอง เขาเยอะเย้ยเจ้าหน้าที่ครัพกี้ และผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่ไม่เข้าใจพวกเขา (เพลง Gee, Officer Krupke )

สมาชิกคนอื่นๆ มาถึงและบอกพวกแก๊งค์เจ็ตส์ว่า มาเรียกำลังสอดแนมชาวเปอร์โตริกัน เธอรู้ว่าชิโนมีปืนและกำลังตามล่าโทนี่ สมาชิกในแก๊งค์แยกกันเพื่อตามหาโทนี่และปกป้องเขา

แอนนิต้า (แฟนของเบอร์นาโดที่ตาย) ผู้โศกเศร้า มาที่อพาร์ตเมนต์ของมาเรีย โทนี่รีบออกจากห้อง เขาบอกให้มาเรียไปพบเขาที่ร้านด๊อค เพื่อที่พวกเขาจะได้หนีไปนอกประเทศ แม้ว่าเธอจะพยายามปกปิดเรื่องนี้ แต่แอนนิต้าก็รู้ว่าโทนี่แอบมาพบมาเรีย และแสดงความโกรธจัด (เพลง "A Boy Like That") มาเรียตอบโต้ด้วยการบอกแอนิต้าว่าความรักมีพลังเพียงใด (เพลง "I Have a Love ") แอนนิตาตระหนักว่ามาเรียรักโทนี่มากเท่ากับที่เธอรักเบอร์นาร์โด เธอยอมรับว่าชิโนมีปืนและกำลังตามล่าโทนี่

ร.ท. แชร้งค์ มาเพื่อสอบถามมาเรียเกี่ยวกับการตายของพี่ชายของเธอ แอนนิต้าตกลงจะไปที่ร้านด๊อค เพื่อบอกโทนี่ให้รอมาเรีย น่าเสียดายที่แก๊งค์เจ๊ทซึ่งรวมตัวกันที่ร้านด๊อค ได้พบ โทนี่ก่อน และพวกเขาก็ล้อเลียนแอนนิต้า ด้วยการใส่ร้ายป้ายสีเหยียดเชื้อชาติและพยายามข่มขืนเธอ ด๊อคมาถึงและห้ามพวกเขาไว้ แอนนิต้าโกรธจัด และโกหกพวกแก๊งค์เจ็ตส์ว่า ชิโน่ได้ยิงมาเรียตายแล้ว

ด็อกเล่าเรื่องชิโน่ฆ่ามาเรียให้โทนี่ฟัง โทนี่ซึ่งฝันอยากจะไปชนบทเพื่อสร้างครอบครัว มีลูกกับมาเรียเสียใจมาก เมื่อรู้สึกว่าชีวิตไม่มีอะไรให้ต้องอยู่อีกต่อไป โทนี่จึงออกไปตามหาชิโน เพื่อขอร้องให้ชิโน่ฆ่าเขาด้วยเช่นกัน แต่พอโทนี่เห็นว่ามาเรียยังมีชีวิตอยู่ ทั้งคู่กำลังจะวิ่งโผเข้ากอดกัน ชิโนก็มาถึงพอดีและยิงโทนี่ล้มลง

สมาชิกแก๊งค์เจ็ท แก๊งค์ชาร์ค และผู้ใหญ่ยืนรายล้อมสองคู่รัก มาเรียอุ้มโทนี่ไว้ในอ้อมแขนของเธอ (และร้องเพลง " Somewhere " อย่างเบาๆ) โทนี่สิ้นใจตายในอ้อมกอดของมาเรีย

ด้วยความโกรธที่เพื่อนคนหนึ่งต้องตาย แก๊งค์เจ็ทจะพุ่งเข้าหาเรื่องแก๊งค์ชาร์ค มาเรียคว้าปืนที่ชิโน ชี้กราดไปที่ทุกคน เธอบอกกับทุกคนว่า พวกเขาทั้งหมดฆ่าโทนี่และคนอื่นๆ เพราะพวกเขาเกลียดชังกัน และ "ตอนนี้ฉันก็ฆ่าได้ เพราะตอนนี้ฉันมีความเกลียดชังแล้ว!” เธอตะโกน

อย่างไรก็ตาม มาเรียไม่สามารถตัดสินใจเหนี่ยวไกปืนได้และวางปืนลง เธอร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยความเศร้าโศก สมาชิกทั้งหมดของทั้งสองแก๊งค์ค่อยๆ เคลื่อนเข้ามารวมตัวกันที่ร่างของโทนี่ แสดงให้เห็นว่าความบาดหมางจบลงแล้ว

แก๊งค์เจ็ตส์และแก๊งค์ชาร์ครวมตัวกันเป็นขบวน ช่วยกันแบกร่างโทนี่ไป โดยมีมาเรียเป็นคนสุดท้ายในขบวน

 (ละครเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่อง โรมิโอและจูเลียต ความรักของสองหนุ่มสาว ที่คนสองตระกูลเกลียดชังกัน)

(จบการแสดง)

 

                ในปี พ.ศ.2533 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้จัดแสดงละครเพลง เรื่อง เดอะแฟนธ่อม ออฟ ดิโอเปร่า (The Phantom of the Opera) ของ แอนดรูว์ ลอยด์ เว็บเบอร์ (Andrew Lloyd Webber) ที่หอประชุมจุฬาฯ

 

ประวัติแอนดรูว์ ลอยด์ เว็บเบอร์ (Andrew Lloyd Webber)

 

1948 (2491)   เกิด ที่เคนซิงตัน ลอนดอน ประเทศอังกฤษ พ่อเป็นนักดนตรีและ

นักแต่งเพลง แม่เป็นนักดนตรีเล่นไวโอลินและเปียนโน

1957 (2500)   อายุ 9 ปี เริ่มแต่งเพลง

1965 (2508)   อายุ 17 ปี เรียนเกี่ยวกับละครเพลง ที่วิทยาลัยดนตรีราชสำนัก

มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด

1965 (2508)   อายุ 17 ปี ทำละครเพลงเรื่องแรก เรื่อง The likes of Us

1978 (2521)    อายุ 30 ปี ละครเพลงยอดเยี่ยม เรื่อง Evita

1981 (2524)    อายุ 33 ปี ละครเพลงยอดเยี่ยม เรื่อง Cat

1986 (2529)   อายุ 38 ปี ละครเพลงยอดเยี่ยม เรื่อง The Phantom of the Opera

1992 (2543)   อายุ 44 ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวิน ตำแหน่ง บารอน ลอยด์ เว็บเบอร์

2021 (2564)   อายุ 73 ปี ยังมีชีวิตอยู่ และทำละครเพลงเรื่อง ซินเดอเรลล่า

 

เรื่องย่อละครเพลงเรื่อง เดอะแฟนธ่อม ออฟ ดิโอเปร่า (The Phantom of the Opera)

 

ในปี 1881 (2424) ในการฝึกซ้อมเพื่อคัดเลือกนักแสดงสำหรับการแสดงโอเปร่าเรื่องใหม่เรื่อง “ฮันนิบาล” (เพลง "Hannibal Rehearsal")  ขณะที่คาลอตต้า นักร้องเสียงโซปราโน นางเอกประจำโรงละครโอเปร่า กำลังฝึกซ้อมทำนองเพลง ปรากฎว่าฉากก็ปลิวตกลงมาอย่างน่าประหลาดใจ เหล่านักร้องประสานเสียงเริ่มกังวลกระซิบกระซาบกันว่า “เขามาแล้ว ปีศาจของโอเปร่า”  ฟิลแมนและอังเดร เจ้าของโรงโอเปร่าคนใหม่ พยายามที่จะอธิบายเหตุการณ์ว่าไม่ได้สำคัญอะไร แต่คาร์ลอตต้าโกรธมากและประกาศลาออก ไม่ทำการแสดง

 

มาดามกิรี่ (Madame Giry) นักเต้นและเมียลับๆ ของเจ้าของโรงโอเปร่า มาบอกให้ฟิลแมนและอังเดรว่า คริสติน  (Christine นางเอก) นักร้องประสานเสียงและลูกสาวกำพร้าของนักไวโอลินชื่อดัง ได้รับการ "ฝึกสอนมาอย่างดี" สามารถร้องเพลงในบทบาทของคาลอตต้าที่ลาออกไปได้ ผู้จัดการจึงคัดเลือกคริสตินให้แสดงนำอย่างไม่เต็มใจ เพราะการแสดงครั้งนี้บัตรขายไปหมดแล้ว ยกเลิกไม่ได้ แต่ทุกคนกลับพบว่าคริสตินมีความสามารถจริงๆ ขณะที่คริสตินร้องเพลงระหว่างการแสดงในรอบค่ำนั้น ราอูล (Raoul) ผู้อุปถัมภ์โรงละครโอเปร่าคนใหม่ มาหาเธอและจำได้ว่าเธอเป็นเพื่อนเล่นในวัยเด็กของเขา (เพลง "Think of Me")

ที่ด้านหลังเวที หลังจากการแสดงเปิดตัวอย่างดีเยี่ยม คริสตินสารภาพกับเม็กเพื่อนของเธอและเป็นลูกสาวของมาดามกีรีว่า การร้องเพลงของเธอได้รับแรงบันดาลใจจากครูสอนพิเศษที่ไม่มีใครรู้จัก ซึ่งเธอรู้แค่เป็น "นางฟ้าแห่งเสียงเพลง" เท่านั้น (เพลง "Angel of Music")

ราอูล (พระเอก) ไปเยี่ยมคริสตินในห้องแต่งตัวของเธอ และทั้งสองก็รำลึกถึงเรื่องราวของ "นางฟ้าแห่งเสียงเพลง" ที่พ่อผู้ล่วงลับของเธอเคยเล่าให้พวกเขาฟัง คริสตินแน่ใจว่าทูตสวรรค์มาเยี่ยมเธอและสอนให้เธอร้องเพลง (เพลง "Little Lotte")

ราอูลดื่มด่ำกับสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นจินตนาการและยืนกรานที่จะพาคริสตินไปทานอาหารเย็น เมื่อราอูลออกไปหยิบหมวก คริสตินได้ยินเสียง “แฟนธ่อม” (Phantom แปลว่าปีศาจ เป็นตัวเอกของเรื่อง) กำลังส่งเสียงว่ากำลังหึงหวงเธอ คริสตินอ้อนวอนให้เขาเปิดเผยตัวตนออกมา แฟนธ่อมจึงปรากฏตัวในกระจกของเธอ ("The Mirror/Angel of Music)

คริสตินถูกดูดเข้าไปในกระจกเพื่อไปหาแฟนธ่อมอย่างไม่อาจต้านทานได้  เขาพาเธอลงไปในท่อระบายน้ำใต้พื้นโรงอุปรากร ทั้งสองขึ้นเรือลำเล็กและข้ามทะเลสาบใต้ดินไปยังถ้ำลึกลับของแฟนธ่อม (เพลง "The Phantom of the Opera" เป็นเพลงเอกของเรื่อง)

แฟนธ่อมอธิบายว่าเขาเป็นคนเลือกให้คริสตินเป็นตัวเอกในโอเปร่าเรื่องฮันนิบาลของเขา เขายังเผยกระจกที่สะท้อนภาพของหญิงที่เขาจะแต่งงานด้วย ภาพในกระจกชี้เป็นภาพของคริสติน เธอตกใจมากจึงเป็นลมล้มพับไป แฟนธ่อมคลุมร่างเธออย่างอ่อนโยนด้วยเสื้อคลุมของเขา แล้ววางเธอลงนอนบนเตียง (เพลง “The Music of the Night)

ขณะที่แฟนธ่อมกำลังนั่งแต่งเพลงที่ออร์แกนของเขา คริสตินก็ตื่นขึ้นมาพร้อมกับเสียงเพลงจากกล่องดนตรีรูปลิง (เพลง "I Remember ") เธอหลบอยู่ข้างหลังแฟนธอม ถอดหน้ากากเขาออก และเห็นใบหน้าที่เสียโฉมของแฟนธ่อม  เขาโกรธในความอยากรู้อยากเห็นเธอ แต่เขาก็ได้แสดงออกมาว่า เขารักเธอ (เพลง "Stranger Than You Dreamed It")

ที่โรงละครโอเปร่า โจเซฟ บูเกต์ หัวหน้างานแสดงละครเวทีของโอเปร่า กำลังหลอกนักร้องหญิงด้วยการเล่าเรื่องผีของโรงละครโอปร่า และเพลงปัญจาบอันน่ากลัวของเขา มาดามกีรี่เตือนบูเกต์ ให้หยุดเล่าเรื่องไร้สาระ (เพลง "Magical Lasso")

ณ สำนักงานของผู้จัดการโรงละคร มาดามกีรีได้ส่งโน้ตจากแฟนธ่อมที่บอกว่า เขาต้องการให้คริสตินแสดงแทนคาร์ลอตตา ในละครโอเปร่าเรื่องใหม่ เรื่อง อิล มูโต แต่ฟีร์มินและอังเดร กลับยืนยันกับคาร์ลอตต้านางเอกคนเก่าที่กำลังโกรธจัดว่า เธอจะยังคงเป็นดารานำแสดงต่อไป (เพลง "Prima Donna”)

การแสดงรอบปฐมทัศน์ของเรื่องอิลมูโต้ดำเนินไปได้ด้วยดี จนกระทั่งแฟนธ่อมร่ายเวทมนตร์ให้การร้องเสียงสูงระดับนางเอกโอเปร่าของคาร์ลอตต้าเหลือเพียงเสียงเหมือนกบ  เฟอร์มินรีบคลี่คลายสถานการณ์โดยประกาศให้ผู้ชมทราบว่าคริสตินจะรับหน้าที่นักแสดงนำฝ่ายหญิง เขาสั่งให้ผู้ควบคุมวงนำระบำบัลเล่ต์ไปแสดงหน้าเวทีเพื่อให้ผู้ชมได้รับความบันเทิง

ทันใดนั้น ศพของโจเซฟ บูเก้ ก็หล่นลงมาห้อยกับคานค้ำหลังคา มีเชือกปัญจาบรัดคออยู่  สร้างความโกลาหลวุ่นวายเกิดขึ้นทั่วโรงละคร ท่ามกลางเสียงหัวเราะอันชั่วร้ายของแฟนธ่อม (เพลง "Poor Fool, He Makes Me Laugh ")

ท่ามกลางความโกลาหลที่ตามมา คริสตินจึงหนีขึ้นไปบนหลังคาพร้อมกับราอูล และเล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับผีปิศาจใต้ดินของเธอ (เพลง "Why Have You Brought Me Here?/Raoul, I've Been There ") ราอูลไม่ค่อยเชื่อแต่สัญญาว่าจะรักและปกป้องเธอ (เพลง “All I Ask of You”) แฟนธ่อมที่ได้ยินการพูดคุยทนาของทั้งสอง เกิดความผิดหวังที่อกหัก และสาบานว่าจะแก้แค้น ("All I Ask of You (Reprise) ในหอประชุมเกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญ เมื่อโคมระย้าตกลงไปบนพื้นเวที

หกเดือนต่อมา โรงโอเปร่าเป็นเจ้าภาพงานเต้นรำสวมหน้ากาก แฟนธ่อมที่หายตัวไปตั้งแต่เกิดภัยพิบัติจากโคมระย้าหล่นลงพื้นเวที ก็ปรากฏตัวในชุดสีแดงแห่งความตาย เขาประกาศว่าเขาได้เขียนโอเปร่าชื่อดวน ฮวน ไทรอั้มแพลนท์ (Don Juan Triumphant) และขอให้คริสติน (ซึ่งตอนนี้หมั้นกับราอูลแล้ว) เป็นนักแสดงนำ เขาดึงแหวนหมั้นของคริสตินออกจากสร้อยที่คล้องคอเธอแล้วหายวับไปในพริบตา (เพลง "Masquerade/Why So Silent ")

ราอูลกล่าวหามาดามกีรี่ และเรียกร้องให้เธอเปิดเผยสิ่งที่เธอรู้เกี่ยวกับแฟนธ่อม มาดามกีรี่อธิบายอย่างไม่เต็มใจว่า แฟนธ่อมเป็นนักวิชาการ นักมายากล สถาปนิก นักประดิษฐ์ และนักประพันธ์ที่เก่งกาจ ที่เกิดมาพร้อมกับใบหน้าที่ผิดรูป สังคมหวาดกลัวและประณาม เขาถูกขังอยู่ในกรงอย่างโหดร้ายเพื่อให้คนชื้อตั๋วเข้าชมในงานเทศกาลท่องเที่ยว  ในที่สุดเขาก็หลบหนีออกมาได้ และเข้าไปหลบภัยใต้โรงละครโอเปร่า

ราอูลวางแผนที่จะใช้รอบปฐมทัศน์เรื่องดอน ฮวน ทรัมป์แพลนท์  เพื่อทำการดักจับตัวแฟนธ่อม และยุติความหวาดกลัว เขาอ้างว่าแฟนธ่อมจะเข้าร่วมการแสดงรอบปฐมทัศน์ของโอเปร่า และขอร้องให้คริสตินที่ไม่เต็มใจ ช่วยล่อแฟนธ่อมให้เข้ามาในกับดัก (เพลง "Notes/Twisted Every Way"")

ระหว่างความรักที่เธอมีต่อราอูลและความเกรงกลัวต่อแฟนธ่อม คริสตินไปเยี่ยมหลุมศพของบิดาของเธอและปรารถนาคำแนะนำจากเขา (เพลง "Wishing You Were Somehow Here Again ") แฟนธ่อมปรากฏตัวบนสุสาน (เพลง "Wandering Child") คริสตินเริ่มยอมจำนนต่ออิทธิพลของแฟนธ่อม แต่ราอูลมาช่วยเธอ   แฟนธ่อมเยาะเย้ยราอูล ขว้างลูกบอลไฟใส่เขา จนกระทั่งคริสตินขอร้องราอูลให้ช่วยพาเธอออกไป แฟนธ่อมโกรธมาก จึงประกาศสงครามกับทั้งคู่ (เพลง "Bravo Monsieur")

ในการแสดงโอเปร่าเรื่องดอน ฮวน ไทรอัมป์แพลนท์  ซึ่งแสดงนำโดยคริสตินและมีเปียงจี้แสดงเป็นพระเอกของเรื่อง  ในระหว่างการร้องเพลงคู่ (ซึ่งในเรื่องพระเอกจะใส่ชุดคลุมปิดหน้า)  คริสตินต้องตกใจว่า แฟนธ่อมเข้ามาแสดงเป็นพระเอกแทนเปียงกี้ได้อย่างไร (เพลง "Don Juan Triumphant/The Point of No Return")

คริสตินถอดหน้ากากแฟนธ่อมออกโดยเขาไม่ทันระวัง เปิดเผยให้เห็นถึงใบหน้าที่บิดเบี้ยวของแฟนธ่อมต่อผู้ชมที่ตกตะลึง  เมื่อถูกเปิดเผย แฟนธ่อมก็รีบลากคริสตินออกจากเวทีและกลับไปที่ถ้ำของเขา

 

ด้านหลังเวทีพบศพของเปียงกี้พระเอกโอเปร่าถูกรัดคอตาย โรงอุปรากรตกอยู่ในความโกลาหล ฝูงชนที่โกรธแค้น สาบานว่าจะล้างแค้นให้กับการฆาตกรรมบูเก้ต์และเปียงกี้ ทุกคนออกค้นหาแฟนธ่อม มาดามกิรีบอกราอูลถึงวิธีค้นหาถ้ำใต้ดินของแฟนธ่อมและเตือนเขาให้ระวังเชือกวิเศษของแฟนธ่อมให้ดี (เพลง "Down Once More/Track Down This Murderer")

ภายในถ้ำ แฟนธ่อมบังคับให้คริสตินสวมชุดแต่งงาน เธออธิบายว่าเธอไม่กลัวรูปร่างหน้าตาของเขา แต่กลัวธรรมชาติภายในของเขามากกว่า ราอูลมาถึงถ้ำและติดกับดักถูกเชือกปัญจาบมัดตรึงไว้ แฟนธ่อมยื่นคำขาดให้คริสตินว่า ถ้าเธอจะอยู่กับเขา เขาจะไว้ชีวิตราอูล แต่ถ้าเธอปฏิเสธ ราอูลจะต้องตาย (เพลง "The Point of No Return Rerise") เธอบอกแฟนธ่อมว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวและจูบเขา

หลังจากได้รับความรักและจูบแรกในชีวิต แฟนธ่อมได้ปล่อยราอูลเป็นอิสระ และสารภาพกับคริสตินว่าเขารักเธอ คริสตินร้องไห้ มอบแหวนแต่งงานไว้กับงาน และออกจากถ้ำกลับไปกับราอูล ทิ้งให้แฟนธ่อมต้องอกหักและอยู่อย่างเดียวดายอีกครั้ง

 

กลุ่มคนผู้โกรธแค้นเข้ามาในถ้ำเพื่อตามจับแฟนธ่อม  แฟนธ่อมไม่สะทกสะท้าน เขานั่งอยู่บนบัลลังก์พร้อมผ้าคลุมร่างสีดำ  เม็ก (เพื่อนของคริสติน) เข้ามาดึงเสื้อคลุมสีดำออก แต่ร่างของแฟนธ่อมกลับล่องหนหายไป เหลือไว้แต่เพียงหน้ากากของเขาเท่านั้น  (เพลง "Finale ")

 

จบการแสดง

 

การละครของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากละครตะวันตก ยุคระหว่าง พ.ศ.2527 - พ.ศ.2550 นี้ ทำให้เกิดคณะละครเล็กๆ มากมาย เช่น กลุ่มละครมายา กลุ่มละครพับเพียบ กลุ่มละครมะนาวหวาน กลุ่มละครธรรมดา กลุ่มละครฉค้วน  ภัทราวดีเธียเตอร์  โรงละครกรุงเทพ กาดเธียเตอร์เชียงใหม่  เป็นต้น

 

3.4 ละครเวทีร่วมสมัย ยุค พ.ศ.2551-2562

 

                 มาถึงในยุคปัจจุบัน  ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะทางด้านคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ วัยรุ่น หนุ่มสาว นักเรียน นักศึกษา เยาวชนรุ่นใหม่ ตลอดจนคนวัยทำงานทุกคน ต่างได้รับอิทธิพลจากความทันสมัย ทุกคนต่างสนใจทุ่มเทไปที่การพูดคุยกันไปวันๆ  ความสนุกสนานบันเทิง  การท่องเว็บ  สื่อลามก  ฯลฯ การที่ละครเวทีจะแทรกตัวลงไปเป็นเรื่องที่ลำบากมากกว่าเดิม  แต่ละครเวทีก็ปรับตัวเอง โดยมุ่งเน้นไปที่ความบันเทิงมากยิ่งขึ้น

 

          ประดิษฐ์  ประสาททอง  (2551 : หน้า 59) เจ้าของรางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงคนแรกของไทย กล่าวไว้ว่า ละครเวทีร่วมสมัยปัจจุบันของไทยเรา อาจจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มละครโรงใหญ่ กลุ่มละครสถาบัน และกลุ่มละครโรงเล็ก

 

ก. กลุ่มละครโรงใหญ่  

 

                  เน้นเพื่อความบันเทิงและธุรกิจ เช่น รัชดาลัยเธียเตอร์ ของถกลเกียรติ  วีรวรรณ  ซึ่งเป็นละครที่นำเอาการค้านำ  ศิลปะเอาไว้ทีหลัง เน้นคนดูเยอะๆ     เน้นความบันเทิง  ความสุขของคนดู  เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีความรู้หรือจริงจังกับศิลปะการแสดง ผลงานของถกลเกียรติส่วนใหญ่เป็นละครเพลง (Musical)   เช่น  เรื่องทวิภพ  ฟ้าจรดทราย ข้างหลังภาพ โจโจ้ซัง แม่นาคพระโขนง เป็นต้น 

 

                    ละครคณะอื่นๆ เช่น สยามนิรมิต เป็นละครเวทีแนวโชว์อลังการ (Stage Show) ขายนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่เน้นเนื้อหาสาระ แต่เน้นโชว์ความวิจิตรตระการตา โดยให้ความคิดหรือความรู้แก่ชาวต่างชาติเกี่ยวกับทัศนคติ ความคิด และความเชื่อของคนไทย เช่น เรื่องนรกสวรรค์ วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ฯลฯ ผ่านความหรูหราฟู่ฟ่า แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องร่วมสมัยปัจจุบัน (Contemporary)  ว่าคนไทยอยู่ตรงไหน  กำลังจะไม่มีกินอย่างไรบ้าง  วัตถุประสงค์เดียวคือ ต้องการหนีจากความเป็นจริง  เพื่อไปอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ  หรือเพื่อเป็นการสร้างจินตภาพให้กับนักท่องเที่ยวหรือแม้แต่คนไทย  ที่ไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหน ซึ่งละครโรงใหญ่ประเภทนี้ รวมไปถึงคาบาเร่ต์โชว์ เน้นความสวยงาม อลังการ

 

             ข. กลุ่มละครสายสถาบัน

 

      ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดสังคมการละคร เพราะสถาบันที่สอนศิลปะการละครในหลักสูตร ก็จะผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ด้านศิลปะการละครมารับใช้สังคม ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ออกมาสร้างละครเวทีโดยตรง แต่คนเหล่านี้ก็จะไปทำในสายอื่นๆ ที่เป็นเรื่องของเวที (stage) กับการสร้างสรรค์บนเวที  และจำนวนไม่น้อยที่ทำงานเพื่อยังชีพเพื่อมีรายได้  แต่เมื่อมีเวลาว่างก็จะมาทำละครเล็กๆ เพื่อเลี้ยงจิตวิญญาณ  เนื่องจากบางอย่างเราต้องทำเพื่อกินเพื่ออยู่  แต่บางอย่างก็ต้องทำเพื่อให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์   นอกจากนี้ ละครสายสถาบันยังช่วยสร้างละครเวที ในแง่ที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อน แม้จะไม่ได้เป็นรูปธรรม แต่ก็อยู่ในกลุ่มของคนที่มีความรู้ความเข้าใจ  ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ เมื่อจบมาแล้วก็จะกลายมาเป็นผู้ผลิต เช่น ผู้อำนวยการแสดง หรือโปรดิวเซอร์ (Producer) หรือช่วยสนับสนุน หาทุน กระทั่งกลายมาเป็นผู้ชม

                      รายชื่อสถาบันที่มีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรศิลปะการแสดง (รวบรวมโดยนิตยสาร Exit เมื่อเดือนกันยายน-ตุลาคม  2549)  มี  5  มหาวิทยาลัย คือ

1)     ภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

2)    ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3)    สาขาวิชาการละคร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4)   สาขานาฏยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

5)    สาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ 

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

ค. กลุ่มละครโรงเล็ก

 

                  กลุ่มละครโรงเล็กหรือกลุ่มละครนอกกระแส  เป็นละครกลุ่มสำคัญในแง่ของความเป็นตัวตน  เป็นกลุ่มทางเลือกอีกทางหนึ่ง (Alternative) ในวงการเรียกว่า กลุ่มละครตายยาก เพราะคนเหล่านี้ไม่มีรัฐบาล ไม่มีสถาบันดูแล  ไม่มีมีทุน  มีแต่ใจศรัทธา  และความมุ่งมั่นอาจหาญ มาก่อตั้งคณะละครของตนเอง  โดยที่บางคณะยึดเป็นอาชีพทำอย่างจริงจัง  โดยไม่มีอาชีพอื่นรองรับ  บางคณะก็มีอาชีพอื่นๆ แต่มาทำละครเพื่อเสริมจิตวิญญาณและศิลปะไว้  ซึ่งกลุ่มเหล่านี้นับวันก็ยิ่งจะเติบโตขึ้น

 

                       กลุ่มละครโรงเล็กหรือกลุ่มละครนอกกระแสนี้ ปัจจุบันมีประมาณ 60 กลุ่ม (รวบรวมโดยนิตยสาร I am Magaine กรกฎาคม-สิงหาคม 2551)   เช่น กลุ่มละครมะขามป้อม  พระจันทร์เสี้ยวการละคร  ภัทราวดีเธียเตอร์  ว้าวคอมปานี   แปดคูณแปด  บีฟลอร์   มรดกใหม่  มันตาศิลปะการแสดง  เครือข่ายหน้ากากเปลือย  เสาสูง  กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์  กลุ่มละครกั๊บไฟ  ดอกไม้การบันเทิง  บลูบ๊อกซ์  ฯลฯ

 

  3.5 ละครเวทีร่วมสมัยยุคโควิด 19 (พ.ศ.2563-2564)

 

หลังจากเกิดโรคระบาดโควิด 19 ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2562 (ค.ศ.2019) เป็นต้นมา วงการบันเทิงทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง  ในประเทศไทยได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมา หลังจากรัฐบาลได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานในยามวิกาล สถานบันเทิงทุกแห่งทุกสั่งปิด รวมถึงโรงละครด้วย จึงเกิดภาวะชะงักงันของวงการละครสมัยใหม่ในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

 

ธรรมจักร พรหมพ้วย. คณะละครราตรีพัฒนา ละครไทยไปเมืองนอกที่กลับมาพัฒนา

เป็นความบันเทิงใหม่ของชาวกรุง. https://www.academia.edu/

สืบค้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564

 

เทพ บุญตานนท์. บทละครพูด พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 เครื่องมือที่ทรงใช้สื่อสาร

กับสาธารณะ.  มติชนออนไลน์ 12 พฤศจิกายน 2562

 

บุศยารัตน์  คู่เทียม. ละครพูดในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.

นิตยสารศิลปากร ปีที่ 50 ฉบับที่ 1 ม.ค.-ก.พ.2550 หน้า 74-91

 

มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.

บทภาพยนตร์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.

กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2526.

 

ศิลปากร,กรม. ชุมนุมบทละครและบทคอนเสิต พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์.  กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร, 2506.

 

พูนพิศ อมาตยกุล,บรรณาธิการ.  เพลง ดนตรีและนาฏศิลป์จากสาส์นสมเด็จ.  นครปฐม :

สำนักพิมพ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2552.

 

เริง  รณกร และ สวรรญา  อิสราพร (2529). จังหวะก้าวการละครเวที.  สูจิบัตรการแสดง

ละครเวทีเรื่องปล้น(ไม่)เงียบ จัดโดยโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์

ณ ทรินิตี้ ฮอลล์ วันที่ 19 – 30 พฤศจิกายน 2529

 

สดใส พันธุมโกมล (2531). ศิลปะการละครเบื้องต้น 1-2 ตอนที่ 1. พิมพ์ครั้งที่ 5

หนังสือเรียนวิชาศิลปกรรม ศ 031 032 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2524 ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

 

สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. ชีวิตแห่งละคร. ประวัติพลตรี หลวงวิจิรวาทการ

กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2528.

 

สุรพล  วิรุฬห์รักษ์.  นาฏยศิลป์ในรัชกาลที่ 9. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัย, 2549.

 

พระจันทร์เสี้ยวการละคร https://www.facebook.com/theatrestudiesandnews

            สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564

 

ประวัติเทนเนสซี วิลเลียมส์ (Tennessee Williams)

https://www.greelane.com/th   สืบค้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564

 

รางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัย 2557  https://www.voicetv.co.th/read/171786  สืบค้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564

 

ประวัติเอ็ดเวิร์ด อัลบี (Edward Albee) https://www.britannica.com/biography/Edward-Albee

สืบค้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564

 

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์  - 12:52 -- Atthasit Muangin  รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา  https://blogazine.pub/blogs/atthasit-muangin/post/5887

โพสเมื่อวันที่ 16 November, 2559 สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564

 

Kamon Kongnisai รถรางคันนั้นชื่อ ‘ปรารถนา’

โพสเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2558  สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564

 

'รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา' (A Streetcar Named Desire)

https://www.behance.net/gallery/81335661/My-Literary-Reviews

สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564

 

Antigone

https://www.encyclopedia.com/literature-and-arts/classical-literature-mythology-and-folklore/folklore-and-mythology/antigone

Updated Jun 11 2018  สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564

 

สุวภัทร พันธ์ปภพ “Antigone อันตราคนี”  สื่อการสอนประกอบวิชา 0606220 วรรณกรรมศิลปะการละครตะวันตก Literature of Western Drama Theatre https://fineart.msu.ac.th/e-documents/myfile สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564

 

ประวัติจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์  https://en.wikipedia.org/wiki/George_Bernard_Shaw

สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564

 

ละครเพลง “My Fair Lady”   https://en.wikipedia.org/wiki/My_Fair_Lady

สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564

 

ประวัติอาเธอร์ ลอเร็นซ์  https://en.wikipedia.org/wiki/Arthur_Laurents

สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564

 

“ละครเพลง west side storyhttps://en.wikipedia.org/wiki/West_Side_Story

สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564

 

ประวัติแอนดรู ลอยด์-เวบเบอร์ https://en.wikipedia.org/wiki/Andrew_Lloyd_Webber

สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564

 

ละครเพลง “Phantom of The Opera” 

https://en.wikipedia.org/wiki/The_Phantom_of_the_Opera_(1986_musical)

สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น