วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วิธีการทำกลองสะบัดชัย







การจัดการความรู้

เรื่อง การทำกลองสะบัดชัย
โดย วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

สรุปองค์ความรู้

1.       การคัดเลือกชนิดและคุณภาพของไม้ที่ใช้ทำตัวหุ่นกลอง
2.       การคัดเลือกหนังหุ้มกลอง
3.       ทักษะความรู้ความสามารถขอบุคคลที่ขุดเจาะกลอง
4.       การขึ้นหน้ากลอง
5.       การวิพากษ์คุณภาพเสียงของกลอง



                    จัดหาไม้ให้ได้ตามขนาดทีต้องการประดิษฐ์กลอง ตกแต่งให้เป็นรูปทรงกลม เจาะเนื้อไม้ทีจะทำกลองตรงส่วนกลางออก เหลือส่วนทีจะทำเป็นขอบของกลองใว้ แล้วนำหนังสัตว์(ควาย)มาหุ้มไม้ทีขุดเจาะเพื่อทำกลองใว้ทั้งสองด้าน ถักร้อยตรึงหนังควายหรือทีจะเรียกว่าหน้ากลองทั้งสองด้านด้วยเชือกหรือหนังสัตว์ทีตัดให้เป็นเส้นยาว แล้วดึงชักเชือกทีร้อยไว้จนหน้ากลองทั้งสองด้านตึงมีเสียงทีเกิดจากการตีดังจนเป็นทีพอใจ ตกแต่งตัวกลองด้วยเสื้อกลอง ตัดเย็บด้วยผ้าสีงดงาม ทำคานหามด้วยไม้กลึ่งกลมสองอันประกอบเข้ากับกลองทั้งสองด้าน (บน ล่าง) ประดับตัวกลองกับคานหามด้วยไม้แกะเป็นรูปตัวพญานาค ประกอบเข้ากับคานหามอยู่ข้างกลองทั้งสองด้านโดยให้หัวของพญานาคอยู่ด้านบนหน้าพญานาคหันออกจากตัวกลอง เป็นความเข้าใจของข้าพเจ้าเกี่ยวกับวิธีการทำกลองสะบัดชัย
กลองสะบัดชัย เป็นกลองที่ผลิตจากไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่เช่นไม้ขนุนไม้ต้นลานเป็นต้นนำมาตัดหรือกลึงให้เป็นรูปทรงกระบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25 – 30 นิ้ว ลึกประมาณ15-20 นิ้ว  ทำการเจาะรูตรงบริเวณจุดศูนย์กลางของกลองโดยใช้สว่านเจาะนำให้ทะลุอีกด้านจากนั้นใช้ค้อนกับสิ่วเจาะให้มีความกว้างมากขึ้นจนถึงขอบกลองที่ได้กำหนดไว้  ด้านหน้าของกลองขึงด้วยหนังวัวทั้ง 2 ด้าน โดยทำการตัดหนังวัวตามแนวขอบกลองเป็นวงกลม  จากนั้นทำการถักหูหิ่งเพื่อใช้สำหรับคล้องสายเร่งเสียงซึ่งปัจจุบันทำมาจากเชือกไนลอน  เมื่อคล้องหูหิ่งทั้งสองด้านแล้วค่อย ๆ ดึงให้ตึงจากนั้นจะใช้สว่านเจาะบริเวณด้านข้างตัวกลองเพื่อใช้น๊อตยึดติดกับคานแบกทั้งด้านบนและด้านล่างพร้อมกับนาคไม้แกะสลักยึดติดกับคานทั้งสองด้านของกลอง

                 ไม้ที่ทำส่วนใหญ่เป็นไม้มะม่วง อาจจะเป็นไม้เนื้อไม่แข็งมากนัก หาง่ายในท้องถิ่น แต่ปัจจุบันต้องไปหาไกลขึ้น จากอีสาน ใต้ เพราะในภาคเหนือมีลดน้อยลง การจัดหามักจะสั่งไปทางผู้รับจ้างส่งไม้เหล่านี้ ซึ่งติดต่อกันมายาวนาน จะมีไม้มาลงเป็นครั้งๆ ไป แล้วแต่จะสั่ง ส่วนพิธีกรรมและความเชื่อในการตัดไม้นั้น ทางชมรมฯ ไม่มีแล้ว เพราะไม่ได้ตัดไม้เอง ส่วนผู้ตัดไม้จะมีหรือไม่ ไม่ทราบได้  ส่วนความเชื่ออื่นๆ ก็จะมีพิธีไหว้ครูช่างทำกลองทุกปี ในวันขึ้นปีใหม่เมือง เดือนเมษายน ส่วนใหญ่จะใช้วันที่ 1 เมษายน โดยผู้ทำพิธีเป็นป้อหนาน (ผู้บวชพระแล้ว) ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้าน เครื่องพิธีก็เหมือนไหว้ครูทั่วไป เช่น หมาก พลู บุหรี่ กล่วย อ้อย เหล้าขาว น้ำขมิ้น ส้มป่อย ฯลฯ ตามธรรมเนียมของชาวล้านนา ระยะเวลาที่ทำหุ่นกลอง เดี๋ยวนี้ถือฤกษ์สะดวก เพราะใช้เครื่องจักรและส่วนใหญ่เป็นกลองเพื่อการแสดง ไม่ใช่กลองศักดิ์สิทธิ์                          
                   การหาไม้และเลือกไม้ สำหรับเจาะเป็นหุ่นกลองจะไปหาไม้ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ไม้มะขาม มะม่วง ไม้ขนุน ไม้ปันแข ไม้งุ้น ปัจจุบันนิยมใช้ไม้ฉำฉา เพราะเป็นไม้หาได้ง่าย เมื่อเจาะนำมาทำเป็นเสียงกลองแล้วจะมีเสียงดังก้องกังวาน ไม้ที่จะใช้ต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ ๒๐ นิ้วขึ้นไป นำมาตัดเป็นท่อนยาวประมาณ  ๑  ฟุตครึ่ง แล้วนำมาเจาะตรงกลาง การลงมือเจาะต้องหาฤกษ์หาวันในการเจาะ หรือที่เรียกว่า ตี๋กุ้มเจ่น ตี๋กุ้มจ๊าด โดยดูจากปฏิทินล้านนา ในอดีตใช้เวลาในการเจาะนานเกือบหนึ่งสัปดาห์ การเจาะจะค่อยๆเจาะตรงกลางก่อน บางทีถ้าไม้เนื้อแข็งมากก็จะเจาะแบบจุดไปเผาตรงกลางทิ้งไว้หนึ่งคืน ก็จะประหยัดเวลาไปเยอะ  แต่ปัจจุบันมีเลื่อยที่สามารถเจาะได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นมาก การทำเหงือกกลองจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า อ้งมืออีวอก ในการช่วยเจาะ  เมื่อเจาะได้ขนาดตามที่ต้องการแล้วก็จะขัดเกลาให้เรียบและสวยงาม เตรียมสำหรับขึ้นหน้ากลองต่อไป







                    หนังที่นิยมนำมาหุ้มกลองสะบัดชัยคือ หนังวัว เพราะมีความนุ่มกว่าหนังชนิดอื่นๆ สำหรับหนังควายไม่นิยม เพราะมีหนังหนา ไม่อ่อนนุ่ม ตีแล้วไม่มีความไพเราะ การซื้อหนัง ซื้อมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ถนนช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ เพราะเป็นแหล่งของแขกอิสลาม ที่ทำอาชีพฆ่าวัว การซื้อจะไปเลือกด้วยตนเอง เมื่อซื้อมาแล้วจะนำมาขึงให้ตึง ตากแดดไว้จนแห้ง เมื่อต้องการจะนำหนังวัวมาหุ้มกลอง ก็จะนำหนังมาแช่น้ำเป็นเวลา 1 คืน จนหนังอ่อนนุ่ม โดยจะมีกลิ่นเหม็นแต่พอทนได้ จากนั้นนำหนังมาหุ้มหุ่นกลองซึ่งขุดไว้แล้ว  โดยใช้เชือกไนล่อน มาสานร้อยทำ “คร่าวหูหิ่ง” บางครั้งก็ใช้หนังควายเพราะเหนียวทนทาน การสานเชือกร้อยคร่าวหูหิ่งจะมีความยากและสลับซับซ้อนพอสมควร ต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ จากนั้นก็นำหนังมาหุ้มกลอง โดยใช้เชือกไนล่อนร้อยขึงสลับไปมาทั้งสองด้าน จนหนังขึงตึง ตีได้ความไพเราะ
                   หนังหน้ากลองสะบัดชัย จะใช้หนังวัว ซึ่งด้านในต้องขูดเศษเนื้อและเอ็นออกให้หมดก่อนหุ้มกลอง หนังวัวที่ใช้ถ้าตายฟ้าผ่ายิ่งดี จากนั้นจะนำหนังที่ได้ไปตากให้แห้ง เมื่อหนังแห้งดีแล้วจึงตัดหนังเป็นวงกลม โดยใช้ ผังเวียง วัดขนาดหน้ากลอง ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่กว่าตัวกลอง ที่จะทำเพื่อเข้าห่วงเจาะรูและร้อยหนัง ปัจจุบันหนังวัวที่ใช้ทำกลองเป็นหนังฟอกซึ่ง ซื้อมาจาก อ.เมือง ลำปาง หรือตำบลช้างคลาน เชียงใหม่ ในราคากิโลกรัมละ ๓๕ บาท  ก่อนที่จะเจาะรูจะต้องนำหนังไปแช่น้ำก่อน ๑ คืน และต้องแช่ในอ่างหรือบ่อที่ทำขึ้นมา จะไม่นำไปแช่ในแม่น้ำหรือลำเหมือง เพราะว่าน้ำเหล่านั้นไหลผ่านจากที่ต่างๆมา ไม่เหมาะที่จะนำหนังหน้ากลองไปแช่ จากนั้นก็จะนำหนังกลองมาเจาะรูสำหรับร้อยหูหิ่ง ซึ่งจะต้องเจาะ ๒ รูให้ตรงกันไปเป็นคู่ การเจาะรูจะต้องเจาะให้ได้จำนวนที่เป็นเลขมงคล โดยมีการนับและขยับไปมาจนได้เลขมงคล โดยการนับดังนี้  ตีลงโต้ง ตีลงนา ตีหาเปื้อน ตีหาข่วงมิตรสหาย  ตีบ่าวายกุ๊มเฒ่า  ตีกิ๋นเหล้า




                   คานหามบนและล่างของกลองสะบัดชัย นิยมใช้ไม้กะท้อน เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งและหาได้ง่าย การยึดไม้คานบนกับคานล่างไว้กับตัวกลอง จะใช้น็อตยึดให้แข็งแรง จากนั้นใช้ไม้ที่แกะสลักเป็นพญานาค ประกบยึดด้านข้าง ไม่ให้ตัวกลองขยับไปมาได้ การแกะสลักเป็นรูปพญานาคใช้ช่างพื้นบ้าน เหตุที่วาดเป็นรูปพญานาคเพราะเห็นตัวอย่างมาจากบันได้นาคที่วัด
                   






                   การทำไม้สำหรับตีกลอง นิยมใช้ไม้มะขามมาเหลาหรือกลึงให้เกลี้ยง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ  ๑.๕ เซนติเมตร มีความยาวประมาณหนึ่งศอก-ก้อย คือวัดความยาวตั้งแต่ศอกถึงนิ้วก้อยหรือประมาณ    ฟุต มีติ่งหัวท้าย เจาะรูทะลุหากันหัว ๒ รู  ท้ายสองรู สำหรับใส่ฟางซึ่งจะทำเป็นฟู่ตกแต่งให้สวยงาม  ส่วนตัวตีกับตัวท้าย เริ่มต้นจากการนำหนังวัวมาแช่น้ำ ๑ คืน นำมาตัดให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๑ นิ้วครึ่ง ยาว ๘ นิ้ว นำมาขดเป็นวงกลมที่มีเส้นรอบวง ๔  นิ้ว สำหรับทำเป็นตัวตี  ส่วนตัวท้ายก็มีขนาดเล็กลง โดยมีเส้นรอบวงประมาณ ๓  นิ้ว  การทำตัวตีและตัวท้าย เริ่มจากนำยางยืดสีขาวยาวประมาณ ๒  ฟุต มาพันรอบวงกลมจากนั้นนำผ้ายีนส์ ซึ่งตัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งกว้างประมาณ ๑นิ้วครึ่ง- ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๑ เมตร จำนวน ๑ เส้น มาพันสอดแนวขวางจนหมดผ้า จากนั้นใช้ผ้าสีแดงจำนวน ๒ เส้นขนาดเดียวกันมาพันต่อจนหมด ทำลักษณะเดียวกันทั้งตัวตีและตัวท้าย แล้วก็นำมาประกอบกับไม้ตี


          การทำกลองสะบัดชัย เป็นศิลปหัตถกรรมที่อยู่คู่กับชาวล้านนาไทยมาอย่างยาวนาน ความสำคัญของการทำกลองสะบัดชัยคือ การแสดงให้เห็นว่าชุมชนล้านนาของเรา เป็นชุมชนที่เจริญแล้ว มีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน คนล้านนาเป็นคนที่ใฝ่ใจในพระพุทธศาสนา ที่สอนให้คนประพฤติดี การทำกลองเพื่อบูชาพระพุทธศาสนาและใช้ในกิจการของวัด เป็นการทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นอาชีพสุจริตที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้  วัฒนธรรมการทำกลองสะบัดชัยจึงเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวล้านนา ที่ควรรักษาไว้
          ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทำกลองสะบัดชัย มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมล้านนา          
1.ในทั้งแง่ของอัตลักษณ์ท้องถิ่น
                   2. มีทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ
                   3. มีทั้งในแง่ของความเป็นปึกแผ่นของสังคม
                   

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ละครล้านนาเรื่องบัวระวงส์หงส์อามาต กับคติความเชื่อทางพุทธศาสนาเรื่องทำดีได้ดีและทำชั่วได้ชั่ว

ละครล้านนาเรื่องบัวระวงส์หงส์อามาต
กับคติความเชื่อทางพุทธศาสนาเรื่องทำดีได้ดีและทำชั่วได้ชั่ว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมภพ  เพ็ญจันทร์
ค.ม.(อุดมศึกษา)
ภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

ละครล้านนา เรื่อง บัวระวงส์หงส์อามาต เป็นผลงานสร้างสรรค์ของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๖ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตผลงานละครสร้างสรรค์จากบทวรรณกรรมที่มีคุณค่าของชาวล้านนาในรูปแบบการแสดงละคร  นำเสนอคติ ความเชื่อ คำสอน ศิลปะ วัฒนธรรม จารีต ประเพณี การแต่งกาย การพูด ดนตรี ฟ้อน การจ๊อย ซอ วิถีชีวิต และองค์ความรู้อื่นๆ ของคนล้านนาในรูปแบบของการแสดงละครเวที  เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ได้ฝึกประสบการณ์ด้านการจัดการแสดงละคร  และเพื่อใช้สื่อด้านการแสดงละครเวทีส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ประกอบคุณงามความดี ละเว้นความชั่ว ตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ชาดกเรื่องบัวระวงส์หงส์อามาต (อ่านว่า หง-อา-หมาด) เป็นชาดกนอกนิบาตที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเรื่องหนึ่งจากจำนวน ๑๐๐ กว่าเรื่องของดินแดนล้านนา  คำว่าชาดก หรือ นิบาตชาดก หมายถึง เรื่องราวในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก  ส่วนชาดกนอกนิบาตหมายถึงชาดกที่พระสงฆ์หรือปราชญ์ชาวบ้านแต่งขึ้นอยู่นอกพระไตรปิฎก แต่เป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ที่ต่อมาได้ตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน  (๑)
ความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ปรากฏอยู่ในพระพุทธศาสนา โดยกล่าวว่าพระโพธิสัตว์มีภพภูมิอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต  ซึ่งมีพระโพธิสัตว์ ๓ ประเภท  คือ  ปัญญาธิกโพธิสัตว์   สัทธาธิกโพธิสัตว์   และ  วีริยาธิกโพธิสัตว์  ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ว่าจักได้ตรัสรู้แน่นอน  เป็น “นิยตโพธิสัตว์” เหมือนพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ (๒)


        (๑) อุดม  รุ่งเรืองศรี.  วรรณกรรมล้านนา.  (เชียงใหม่ : สุเทพการพิมพ์, ๒๕๕๐) หน้า ๖๐
        (๒) สุรีย์  มีผลกิจ. สังสารวัฏ. (พิมพ์ครั้งที่ ๒  กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
๒๕๕๕) หน้า ๗๕
เนื้อเรื่องโดยย่อของเรื่องบัวระวงส์หงส์อามาตมีอยู่ว่า พญากาไลย  ครองเมืองจำปา  มีมเหสีเอกชื่อจันทาเทวี มีราชโอรส ๒ องค์ คือ เจ้าชายสุริยา และเจ้าชายบัวระวงส์หงส์อามาต ซึ่งคือพระโพธิสัตว์จุติลงมาเกิด ส่วนมเหสีรองชื่อนางกาไวย มีโอรสชื่อ ไชยทัต  พญาเจ้าเมืองคิดจะมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าชายสุริยาและเจ้าชายบัวระวงส์  นางกาไวยเกิดความอิจฉาริษยาจึงปรึกษานันทเสนาผู้เป็นพ่อ  ออกอุบายเชิญโอรสทั้งสองไปยังปราสาทของนาง  และใส่ร้ายโอรสทั้งสองว่าจะปลุกปล้ำกระทำมิดีมิร้ายง พญาเจ้าเมืองจึงสั่งประหารชีวิตโอรสทั้งสอง แต่นางจันทาเทวีพระมารดาได้ติดสินบนเพชฌฆาตไม่ให้ประหารลูกของนาง   และแอบขโมยแก้ววิเศษคู่เมืองมอบให้เจ้าชาย  บัวระวงส์นำติดตัวไปด้วย
           เจ้าชายสุริยาและเจ้าชายบัวระวงส์ ได้ออกผจญภัยมากมาย เจ้าชายสุริยาได้มีราชรถมาเกยให้ไปเป็นเจ้าเมืองปัญจรา ส่วนเจ้าชายบัวระวงส์ ได้ใช้ชีวิตตกระกำลำบากเพื่อชดใช้กรรมเก่าที่สร้างไว้แต่ชาติปางก่อน พระองค์ได้ถูกเศรษฐีใจร้ายแอบอ้างว่าเป็นเจ้าของแก้ววิเศษ แย่งแก้ววิเศษจากพระองค์ไปและจับขังคุกไว้ แต่ด้วยบุญญาบารมีของพระโพธิสัตว์ ทำให้พระองค์ผ่านพ้นวิกฤตนานัปประการ จนได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เมืองสุวัณพรหมา และพบหน้าองค์พระเชษฐา
เจ้าชายสุริยาและเจ้าชายบัวระวงส์ได้พากันเดินทางกลับไปยังเมืองจำปา  นางกาไวยได้ยุยงพญาเจ้าเมืองมิให้รับโอรสทั้งสองเข้าเมือง พร้อมกับให้เจ้าชายไชยทัตและนันทเสนาผู้เป็นพ่อ พาทหารออกมาต่อสู้ แต่สุดท้ายนางกาไวย เจ้าชายไชยทัตและนันทเสนาก็ถูกธรณีสูบ ตกลงไปเมืองนรกเหมือนเทวทัตผู้คอยกลั่นแกล้งพระพุทธเจ้า  
พญากาไลยได้ยกเมืองจำปาให้เจ้าชายบัวระวงส์หงส์อามาตขึ้นครองราชย์ พร้อมชายา ๓ องค์ คือ นางฆาระวี  นางปทุมมา และนางพิมพา  ส่วนเจ้าชายสุริยาเสด็จกลับคืนไปครองเมืองปัญจรา ทั้งสองพระองค์ได้ปกครองไพร่ฟ้าประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา
การแสดงละครเรื่องบัวระวงส์หงส์อามาต เริ่มด้วยการอื่อโคลงหรืออื่อกะโลง ซึ่งเป็นอ่านโคลงตามท่วงทำนองของล้านนา โดยมีบทโคลงว่า
ประนมกรนบกราบไหว้             ยอคุณ
จักไขเรื่องท้าวต๋นบุญ                         หน่อเหน้า(๓)
โพธิสัตว์อธิคุณ                                เทวโลก บนแล
บัวระวงส์หงส์อามาตเจ้า                      ปิ่นเกล้าพุทธังกูร
การอ่านบทโคลงหรือการอื่อกะโลงนี้ เป็นการสร้างบรรยากาศการแสดงให้คนดูรู้ว่า ก่อนเริ่มการแสดงจะมีการไหว้คุณพระพุทธ  คุณพระธรรม   คุณพระสงฆ์   เพื่อแสดงความเคารพสูงสุดต่อองค์

(๓) หน่อเหน้า แปลว่า หน่อพระโพธิสัตว์เจ้า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนเริ่มการแสดง เหมือนกับการเทศนาธรรมที่ต้องกราบคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก่อน เพื่อเป็นสิริมงคลต่อองค์นักเทศน์และต่อผู้ชมผู้ฟังทุกคน
การแสดงเริ่มด้วยการตีกลองศึก ๗ ใบ เจ้าชายสุริยาและเจ้าชายบัวระวงส์ฝึกซ้อมการต่อสู้เจิงดาบแบบล้านนา ขณะฝึกซ้อมอยู่นั้นพญาก๋าไลย นางจั๋นตา พร้อมนางกาไวย ไชยทัต และนันทเสนา ออกมายืนดูการฝึกซ้อม  พญาก๋าไลยรู้ตัวว่าพระองค์นั้นชราภาพมากแล้ว จึงตัดสินใจยกราชสมบัติให้เจ้าชายสุริยา และให้เจ้าชายบัวระวงส์เป็นอุปราช ดังบทการแสดงว่า
-ร้องเพลงพญาเจ้า-
                             จักตั้งบุตต๋า  สองคนหน่อเนื้อ  หื้อไว้สืบสาวครองดิน(๔)
เจ้าสุริยา หันดีเป๋นจิ๋ง(๕)  เป๋นเจ้าแผ่นดิน  ประชาไพร่ฝ้า
ส่วนบัวระวงส์  หื้อเป๋นหัวหน้า  อุปราชาเคียงเจ้า

เมื่อพญาก๋าไลยประกาศมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าชายสุริยาและให้เจ้าชายบัวระวงส์เป็นอุปราช  ทำให้นางกาไวยผู้เป็นมเหสีฝ่ายซ้ายเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก นางเห็นว่าพญาก๋าไลยไม่มีความยุติธรรม ที่ไม่มอบบ้านเมืองใดให้แก่เจ้าชายไชยทัตโอรสของนางเลย  ดังบทการแสดงที่ว่า
-ร้องเพลงกั๋วเหลือ-
                             นางก๋าไวย  เมียป๋ายท่านเจ้า(๖)     หัวใจมันเมาต่ำคล้อย 
พั่นดั่งตั๋วกู(๗)  อั้นเป๋นเมียน้อย                ก็มีลูกหน้อยตึงคน(๘) 
จื้อไชยทัต  ลูกฮักเทียมต๋น(๙)                 บ่ใช่เจื้อคน ไพร่ไทต่ำหล้า (๑๐)
หากโลหิตเดียว  สาวเกลี๋ยวร่วมหน้า         แต่ต่างมารดาเต้าอั้น(๑๑)
พระปิตต๋า  สังมาปะล้ำ                       บ่ปล๋งมอบบ้านอันใด(๑๒)
กึดเถิงลูกหน้อย ปุ๋นดีหมองใจ๋(๑๓)             นางกาไวย โทสาเคียดกล้า(๑๔)
(๔) บุตต๋า แปลว่า บุตร , หื้อ แปลว่า ให้, สืบสาว แปลว่า สืบสันตติวงศ์
(๕) หันดีเป๋นจริง แปลว่า พิจารณาดีแล้วเห็นควรว่า
(๖) เมียป๋าย แปลว่า มเหสีคนสุดท้าย ในที่นี้หมายถึงมเหสีฝ่ายซ้าย
(๗) พั่นดั่งตั๋วกู แปลว่า อันตัวเรานั้น
(๘) ก็มีลูกหน้อยตึงคน แปลว่า เรามีลูกน้อยอยู่หนึ่งคน
(๙) จื้อไชยทัต  ลูกฮักเทียมต๋น แปลว่า ชื่อไชยทัต ซึ่งเป็นลูกรักของนาง มีศักดิ์ศรีเท่ากับเจ้าชายสุริยาและเจ้าชายบัวระวงส์ทุกอย่าง
(๑๐) บ่ใช่เจื้อคน ไพร่ไทต่ำหล้า แปลว่า ไม่ใช่เชื้อสายของไพร่ชั้นต่ำ
(๑๑) สาวเกลี๋ยวร่วมหน้า แต่ต่างมารดาเต้าอั้น แปลว่า เป็นสายโลหิตบิดาเดียวกัน แต่ต่างมารดากันเท่านั้น
(๑๒) พระปิตต๋า แปลว่า พระบิดา,  สังมาปะล้ำ แปลว่า ทำกันมากเกินไป, บ่ปล๋ง แปลว่า ไม่ยกให้
(๑๓) กึดเถิงลูกหน้อย ปุ๋นดีหมองใจ๋ แปลว่า คิดถึงลูกน้อยแล้ว นางเกิดความเศร้าหมองขุ่นมัวในจิตใจ            
(๑๔) โทสาเคียดกล้า แปลว่า เกิดโทสะ เกิดความโมโห เกิดความเคียดแค้นอย่างรุนแรง

ด้วยความเคียดแค้นที่ก่อขึ้นในใจ นางกาไวยจึงริเริ่มประกอบกรรมชั่ว โดยปรึกษานันทเสนาผู้เป็นพ่อ ทั้งคู่วางแผนช่วงชิงราชสมบัติ โดยนันทเสนาออกอุบายวางยาเสน่ห์ให้พญากาไลยเสวย จนพระองค์มีพระอาการหลงเชื่อคำยุยงของนางกาไวยทุกอย่าง วันหนึ่งนางกาไวยออกอุบายเชิญโอรสทั้งสองไปร่วมเสวยอาหารมื้อเย็นด้วย นางทำท่ายั่วยวนโอรสหนุ่มทั้งสองต่างๆ นานา ดังบทร้องว่า

-ร้องเพลงดาคัว-
                              แม่น้าก๋าไวย จัดก๋านต้อนรับ        จ๋าต่อเจ้าสองจาย
ว่าสองลูกฮัก จุ่งกิ๋นต๋ามใจ๋                    จิ้นปล๋าอันใด แม่ดาไว้เสี้ยง
นางเยี้ยะแต่งตั๋ว หื้อหัวเกล้าเกลี้ยง           แป๋งต๋าเมียงม่ายจู๊
สองเจ้ากุ๋มมาร บ่เข้าใจ๋ฮู้                     ว่าเป๋นเล่ห์กล ของนางก๋าไวย

พระโอรสทั้งสองไม่หลงกลนางกาไวย  นางจึงแกล้งฟ้องพญาก๋าไลยใส่ร้ายโอรสทั้งสองว่าจะปลุกปล้ำกระทำมิดีมิร้ายแก่นาง  พญาก๋าไลยถูกยาเสน่ห์จึงหลงเชื่อนางกาไวยถูกประการ พระองค์โกรธมากสั่งประหารชีวิตโอรสทั้งสอง ดังบทการแสดงว่า
-ร้องเพลงห้าว-
                   พระองค์ท่านท้าว เคียดห้าวเหลือใจ๋          มาเหมือนถ่านไฟ เผาใจ๋บ่หน้อย
บ่ไต่ถามหา  โทสต๋าถี่ถ้อย                              จักดับอินทรีย์ม้วยมิด
จุ่งเอาฆ่าเสีย  ดับจิตชีวิต                               อย่าสังเวชหน้าตั๋วมัน

นางจันทาเทวีพระมารดาทราบข่าวพระโอรสถูกพระบิดาประหารชีวิต จึงได้แอบขโมยแก้ววิเศษคู่เมืองซึ่งได้มาในวันประสูติพระโอรสบัวระวงส์ติดตัวไปและรีบออกไปช่วยเหลือพระโอรส นางได้มอบแก้วแหวนเงินทองเพื่อติดสินบนเพชฌฆาตไม่ให้ประหารลูกของนาง  ดังบทการแสดงว่า
-ขับจ๊อย-
                             พระนางจั๋นตา มือก๋ำถงขวัญ        เอาคำหลายปัน ซ่อนผืนแผ่นผ้า
แล้วยื่นหื้อปั๋น คนหาญพวกฆ่า               ว่าขอเตอะนา สูไท้
ขอเป๋นน้ำใจ๋ เอาลูกข้าไว้                     จักยกคำหื้อ คนปัน
อู้กั๋นซักซ้อม ตกลงเป๋นกั๋น                    เงียบหายปิดบัง อาณัติกั๋นมั่น

เพชฌฆาตซึ่งรู้อยู่แล้วว่าพระโอรสทั้งสองไม่มีความผิดถูกใส่ร้าย จึงบังเกิดความสงสารปล่อยตัวเจ้าชายไป และแกล้งนำเลือดสัตว์มาป้ายที่ดาบเพชฌฆาตเพื่อทูลโกหกพญาก๋าไลยและนางกาไวยว่า ได้ประหารพระโอรสแล้ว ทั้งสองพระองค์ก็หลงเชื่อ พระนางจันทา ได้เตรียมห่อข้าวเป็นเสบียงอาหารให้โอรสทั้งสองได้เสวยระหว่างทาง และมอบแก้ววิเศษคู่เมืองให้เจ้าชายบัวระวงส์    ก่อนจากกันนางร่ำไห้สั่งสอนโอรสทั้งสอง และพระโอรสที่ปลอบโยนผู้เป็นแม่ เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก ดังบทการแสดงที่ว่า
-ร้องเพลงแม่ฟ้าหลวง-
                   แม่จั๋นตานาง สั่งสองน้องอ้าย       ว่าจงไปดีแต้ตั๊ก
หื้อฮักแปงกั๋น เนอเจ้าลูกฮัก                  จักหนีออกบ้าน เมืองคน
ยามเข้าป่าไม้ นาไลไพรสณฑ์                 หื้อผ่อตังบน ตังเหนือลุ่มใต้
ควรสาหื้อสา ควรไหว้หื้อไหว้                 อย่าไปพาโลล่ายฮ้อน
ขอเตวดา ฮักษาพร่ำพร้อม           ฮักษาลูกเต้ายามไป
ฝูงหมู่เคราะห์ร้าย หื้อค้ายหนีไกล๋            สัพพจังไร อย่ามาเติกป้าน

ขอบุญกุศล ปกบนเสี้ยงถ้าน                  หื้อเป๋นเงาบังร่มลับ
สองเจ้าปุตต๋า ยอมือนิ้วทับ                    สาหว่านไหว้พรดี
แล้วปลอบแม่ไท้ จั๋นตาเกสี                    ว่าก้อยอยู่ดี เนอแม่เป๋นเจ้า
อย่าไปถือกั๋มม์ ถือเวรเงื่อนเหง้า              กับไผ๋คนใดตอบต๊า
อย่าไปกึ้ดใจ๋ ว่าลูกก๋ำพร้า                     ได้พลัดพรากหน้าหนีไป
กั๋มม์เวรจ้าดแล้ว มาตันเต็งใจ๋                 บ่จ้างเยี้ยะใดเนอแม่เป๋นเจ้า
เจ้าชายสุริยาและเจ้าชายบัวระวงส์ ได้ออกผจญภัยมากมาย จนมาถึงปัญจรานครซึ่งว่างเว้นเจ้าเมือง มีแต่พระธิดาชื่อปทุมวดี เสนาอำมาตย์จึงพึ่งบุญญาบารมีของพระอินทร์ เสี่ยงทายราชรถไปหากราชรถไปหยุด ณ บ้านของชายใด ก็จะอัญเชิญขึ้นเป็นกษัตริย์ขึ้งครองราชย์ พร้อมกับอภิเษกเจ้าหญิงปทุมวดีให้เป็นมเหสี  เจ้าชายสุริยาและเจ้าชายบัวระวงส์ ได้มายุดยั้งพักนอน ณ ศาลาริมทางกลางป่า ด้วยบุญญาบารมีของพระอินทร์ ราชรถได้หยุดที่เจ้าชายทั้งสองบรรทมอยู่ แต่ด้วยเวรกรรมของพระโพธิสัตว์บัวระวงส์ยังไม่หมดสิ้น พระอินทร์จึงกำบังร่างเจ้าชายบัวระวงส์ไว้ ไม่ให้ผู้ใดมองเห็น เสนาอำมาตย์เห็นเจ้าชายสุริยานอนหลับใหลไม่ได้สติอยู่เพียงองค์เดียว จึงอัญเชิญขึ้นราชรถแห่เข้าไปในวังและทำการอภิเษกให้ขึ้นครองราชย์ ดังบทการแสดงที่ว่า
-ร้องคร่าวซอ ทำนองพระลอ-
                   อินตาเตพต๊าว จ้วยจั๊กเดินจ๋อน               ม้าอัสดร ลากรถนำหน้า (รับ)
                    ฮื้อไปฮอดเถิง ยังพระหน่อหล้า               เจ้าสุริยา   ต๋นรุ่งเรืองศรี
พญาอินทร์ตา กำบังอินทรีย์                  กับถงแก้วมณี บัวระวงส์น้องไว้ (รับ)
                   บ่ฮื้อ ไผหัน เหนือตกออกใต้                  สมคนิงใน เตวา
หื้อหันก้าเจ้า องค์พระเชษฐา                 คือเจ้าสุริยา ปี้เนอ (รับ)
                   ขบวนม้าแก้ว สู่เขตสะหรี๋                     ยั้งพักทันที ตึงบ่หนี แล้วนั้น (รับ)
                    หันก้าสุริยา  นิ่งหลับอยู่หั้น                  องค์จ๋อมเจ้าจั้น หลับบ่เฟือนไหว
เสนาไปฮ้อง ยังหลับเงียบไบ้                  ไปฮ้องจะใด ตึงบ่ไหวก่อแต๊เล้า (รับ)
                   เอามือสอดหลัง สอดคอหน่อเหน้า           ใส่รถเลื่อนเจ้า กุมมาร
หมู่คนหลวงหลาย ไหว้สายอสาน             แห่เข้าเวียงวัง ไปเนอ (รับ)
เจ้าชายบัวระวงส์ ได้ใช้ชีวิตตกระกำลำบากเพื่อชดใช้กรรมเก่าที่สร้างไว้แต่ชาติปางก่อน พระองค์ได้ถูกเศรษฐีปาละผู้มีใจโหดร้ายแอบอ้างว่าเป็นเจ้าของแก้ววิเศษ แย่งแก้ววิเศษจากพระองค์ไปและจับพระองค์ขังคุกไว้ แต่ได้ฆาระวีลูกสาวเศรษฐีคอยช่วยเหลือจนบังเกิดความรักต่อกัน
วันหนึ่งเจ้าชายบัวระวงส์ ได้ถูกใช้ไปทำงานในเมือง เจ้าหญิงพิมพาพระธิดาเจ้าเมืองพาราณสีผ่านมาพบเข้า ด้วยเคยเป็นคู่บุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อน เจ้าหญิงจึงมีจิตปฏิพัทธ์ต่อชายนักโทษ ดังบทการแสดงที่ว่า
-อ่านคร่าว-
          บัวระวงส์ท้าว บ่เสี้ยงเวรกั๋มม์       ถูกไจ๊ทำงาน  เป๋นทาสอยู่หั้น
ได้ฆาระวี   มีใจ๋ว่าอั้น                        จ้วยเหลือองค์หน่อไท้ 
วันหนึ่งต๋นบุญ  ถูกบังคับไจ๊                  ไปตางนอกทำงาน
เผ้วถางขุดไม้ อยู่ใกล้สถาน                   คุ้มของนงคราญ ปิมปาลูกเจ้า
บัวระวงส์  ปะองค์หน่อเหน้า                 เกิดความฮักเจ้าทันที
เพราะปิมปาน้อง   เจ้าจ๋อมสะหรี๋            กับจ๋อมภูมี    เกยเป๋นคู่สร้าง
นางไจ๊ทาสา  เตียวมาแอมข้าง               มอบหมากเมี้ยงหื้อจาย
บัวระวงส์ท้าว    จุ้มจื้นหัวใจ๋                  แย้มยิ้มเป๋นนัย    สุขใจ๋แต้เจ้า...สุขใจ๋แต้เจ้า
กล่าวฝ่ายเศรษฐีปาละ ตั้งแต่แย่งแก้ววิเศษจากเจ้าชายบัวระวงส์มาก็ยากจนลง จึงให้หมอดูทำนาย หมอดูทำนายว่าเพราะแก้ววิเศษนั้นเป็นของสูงค่าเกินไปไม่คู่ควรกับเศรษฐี  เศรษฐีจึงคิดนำเอาแก้วไปขายให้กับเจ้าเมืองสุวัณณพรหมา ดังบทการแสดงที่ว่า
-อ่านคร่าว-
          กล่าวเถิงเศรษฐี  คนใจ๋บาปหนา    ลู่แก้วเจ้ามาเฮือน
ต่อมาสินทรัพย์ อันใดก่อเปลื๋อง               สังมาฮ้อนเฮือน บ่เย็นจุ้มบ้าน
จึ๋งตัดสินใจ๋ ขายเสียว่าอั้น                    ค่าของมันบ่หน้อย
          เจ้าเมืองสุวัณพรหมาไม่ตอบรับเรื่องซื้อแก้ววิเศษ โดยกล่าวว่าขณะนี้บ้านเมืองสุวัณพรหมา มียักษ์ลงมากินคน ต้องส่งคนให้ยักษ์กินวันละคนๆ จนชาวเมืองเดือดร้อนไปหมด เจ้าเมืองประกาศให้หาคนดีมีฝีมือไปปราบยักษ์ ใครปราบได้จะยกเมืองให้ครองครึ่งหนึ่ง พร้อมกับยกเจ้าหญิงปทุมมาให้เป็นมเหสี  เศรษฐีปฏิเสธที่จะช่วยปราบยักษ์ แต่จะมอบนักโทษคือเจ้าชายบัวระวงส์ให้เป็นอาหารยักษ์  เจ้าเมืองสุวัณณพรหมาถามเรื่องราวข้อเท็จจริงจากเจ้าชายบัวระวงส์  เจ้าชายเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง เจ้าเมืองบังคับให้เศรษฐีคืนแก้ววิเศษให้เจ้าชาย  เจ้าชายบัวระวงส์จึงรับอาสาไปปราบยักษ์  ดังบทการแสดงที่ว่า
-ร้องเพลงฟู่จ๋า-
          บัวระวงส์ท้าว เล่าเรื่องหนหลัง     หื้อเจ้าเมืองฟัง จ๋นหมดจ๋นเสี้ยง
เจ้าเมืองบังคับ เศรษฐีหน้าเมี้ยง              หื้อคืนแก้วเจ้า โดยเร็วโดยไว
โพธิสัตว์เจ้า ฮับแก้วงามใส          แล้วอาสาไป ปราบยักษ์เถื่อนกล้า

-อ่านคร่าว-
กุ๋มมารหน่อต้าว บ่มีใจ๋เกร๋ง         เทียวไปเล็งๆ จ๋นถึงตี้หั้น
แล้วอธิฎฐาน ด้วยบุญจั้นๆ                   หลอนกูหล้างยัง ปราบทิส
ขอหื้อสีแสง มณีลูกติ๊บ                        เป๋นไฟวู่ไหม้ ผับไป
          มณีโชติช้อย หยวาด ยวา แสงใส   เกิดก๋ายเป๋นไฟ อัคคีวู่ต้อง
ส่วนเจ้ายักขี ใจ๋มันเดือดข้อง                  ฟั่งลุกมาพลัน บ่จ๊า
ตะหยะต๋างหยาง พ่างซ่างคั่งคว้า             มาหาหน่อหล้า ทันที
          เจ้ายกดาบติ๊บ กั๋ญไจยสะหรี        ฟันไปแลที ถูกคอยักข์เถ้า
ปุดตกตี้หนอง ก๋องลงฮิมเจ้า                  บ่กลับคืนมา ป๋อกปิ๊ก
ยักษ์เถ้าผีมาร เลยดับจีวิต                    กับองค์หน่อเจ้า ไปดาย   

เมื่อเจ้าชายบัวระวงส์ปราบยักษ์ได้ จึงได้ครองเมืองสุวัณณพรหมา พร้อมได้เจ้าหญิงปทุมมาเป็นมเหสี เจ้าชายได้อภิเษกนางฆาระวีขึ้นเป็นมเหสีองค์ที่สอง และเจ้าหญิงพิมพาเป็นมเหสีองค์ที่สาม ดังบทการแสดงที่ว่า
-ร้องเพลงบัวระวงส์-
          เอาสามเมียแปง เจ้าบิดแย่งไว้      มาต่างห้อง คนเมือง
ปทุมมาน้อง ทองใบสีเหลือง                  ฆาระวีเมือง บุญเรืองหน่อเหน้า
นางพิมพา ธิดาชาติเจ้า                       สามนางเลา อยู่พร้อม
ได้เป๋นสมเด็จ พระนางนั่งล้อม                กับต๋นท่านเจ้า สามี
เอาสามเมียแปง เลิศลักษณ์อิตถี    มาอยู่ร่วมห้อง บุรี
บัวระวงส์ไท้ ปราบไพรโลกี๋                   เสวยบุรี นครใหญ่กว้าง
อยู่สุขขะเสม  บำเพ็ญบุญสร้าง               ต๋ามทศธัมม์ บ่ม้าง
ฝูงกติธัมม์ บ่หื้อได้ว้าง                         สมสืบสร้าง เมืองพิงค์

          ต่อมาเจ้าชายบัวระวงส์คิดถึงเจ้าชายสุริยาพี่ชายจึงออกติดตามหา    โดยนางฆาระวีซึ่งกำลังตั้งท้องขอเดินทางไปด้วย ระหว่างเดินทางไปกลางแม่น้ำ   ทั้งคู่ถูกพายุพัดจนแยกจากกัน เจ้าชาย   บัวระวงส์ไปขึ้นฝั่งที่เมืองปัญจรา ครั้นเห็นภาพวาดของตนกับพี่ชายที่ศาลาหน้าเมืองก็นั่งร้องไห้  ทหารรีบไปทูลเจ้าสุริยา พี่น้องทั้งคู่จึงพบกันสมความตั้งใจ   เจ้าชายบัวระวงส์ได้สร้างศาลาพร้อมกับวาดรูปเรื่องราวของตนกับนางฆาระวีไว้  สั่งความว่าหากมีผู้หญิงอ่านเรื่องราวแล้วร้องไห้ให้รีบมากราบทูลโดยเร็ว 
ฝ่ายนางฆาระวีหลังจากขึ้นฝั่งแล้วได้ไปอาศัยอยู่กับสองสามีที่มีอาชีพเป็นคนจับปลา หลังจากนางคลอดลูกแล้ว จึงออกตามหาพระสวามี จนกระทั่งมาเห็นเรื่องราวของตนในศาลาเมืองปัญจราก็ร้องไห้ ทหารรีบไปกราบทูลเจ้าบัวระวงส์  ในที่สุดทั้งคู่ก็พบกัน เจ้าชายสุริยาและเจ้าชายบัวระวงส์ได้รวบรวมกำลังทหารเดินทางกลับไปยังเมืองจำปา เพราะเป็นห่วงและคิดถึงพระนางจันทาพระราชมารดา ดังบทการแสดงละครที่ว่า
-อ่านคร่าว-
          บัวระวงส์ท้าว บุญน้าวมาหา        พบสุริยา ตี้เมืองลุ่มใต้
จึ่งตกลงกั๋น รวบรวมพลได้                    ปิ๊กจำป๋าเมือง  แม่ฮัก
โยธาหลวงหลาย ติดต๋ามคั่งคัก               จ๋นเต๋มต้งกว้าง นาเฟือง
คนหลายมากล้ำ ตวยหน่อคำเหลือง          รี้พลสามเมือง คนหลายโกฏิตื้อ
                             หน่อเจ้าตังสอง พักดีนิ่งดื้อ ปลงเครื่องครัวมี จุ๊ไว้
กลั๋วพระปิตต๋า สะดุ้งคลั่งไคล้                 ใจ๋ตื่นเต้นสำคัญ
จิ่งหื้อล่ามใช้ พระกราบรองก๋าร              บอกพระภูบาล ปิตต๋าป้อเจ้า
ว่าสุริยา ตี้เป๋นลูกเต้า                         กับบัวระวงส์ หน่อน้อง
จักมาแอ่วหา ญาติพวกเพื่อนพ้อง   ได้พลัดพรากห้อง เมินมา
อาลัยหาล้ำ ปิตต๋ามาต๋า                      ได้เอาโยธา มาหลายบ่เหล้น
ขออย่าตกใจ๋ หะทัยตื่นเต้น                   กึดเป๋นเสิ้กมา ลู่รบ
บ่ถ้าสงสัย น้ำใจ๋จักคด                        อันสองลูกเต้ามาดี
ครั้นมาถึงเมืองจำปาแล้ว นางกาไวยได้ยุยงพญาเจ้าเมืองมิให้รับโอรสทั้งสองเข้าเมือง พร้อมกับให้เจ้าชายไชยทัตและนันทเสนาผู้เป็นพ่อ พาทหารออกมาต่อสู้ แต่ในที่สุดนางกาไวย เจ้าชายไชยทัตและนันทเสนาก็ถูกแผ่นดินสูบลงไปเมืองนรก (เหมือนท้าวเทวทัตผู้คอยกลั่นแกล้งพระพุทธเจ้า)  ดังบทการแสดงละครที่ว่า
-อ่านคร่าว-
                             ทั้งไชยทัต กาไวยบาปหนา          นันทเสนา กั๋มม์ตวยตันได้
ต่างตกจ๊างต๋าย ลงดินต่ำใต้                   สู่นรกอบาย ตี้ตึ้ก
          แผ่นดินหนา ลั่นลงคะลึก           เป๋นช่องอ้า อมเอา
ลวดหมดเสี้ยงซ้ำ บันดาหมู่เขา               มีโต๋ดบ่เบา สามคนตี้หั้น
          ฉากสุดท้ายของการแสดง ได้กล่าวว่าเจ้าชายบัวระวงส์ เจ้าชายสุริยา มเหสี และผู้ประกอบคุณงามความดีทั้งหมดได้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ส่วนนางกาไวย นันทเสนา ไชยทัต เศรษฐีปาละ และผู้ประกอบกรรมชั่วต่อองค์พระโพธิสัตว์ต้องตกนรก ได้รับความทุกข์ทรมาน ดังบทการแสดงที่ว่า

-ขับต๋ำนองเพลงพลานุภาพ-
ทำดีส่งสู่สวรรค์                      แดนวิมาน
ทำชั่วไฟนรกผลาญ                           มอดไหม้
ธรรมะพระพุทธองค์สอน                     มนุษย์โลก เฮาแฮ
บัวระวงส์หงส์อามาตไท้                       ฝากไว้ เตือนต๋น (เฮาเฮย)

ในเรื่องกรรมดีและกรรมชั่วของมนุษย์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในโกศลสังยุตว่า มนุษย์มี ๒ จำพวก คือ มนุษย์ที่ประกอบแต่กรรมดีเป็นนิจเรียกว่า “บัณฑิตมนุษย์” ส่วนมนุษย์ที่ประกอบแต่กรรมชั่วเป็นนิจเรียกว่า “พาลมนุษย์” (๒๐)
เจ้าชายบัวระวงส์หงส์อามาต เจ้าชายสุริยา พระนางจันทา คือตัวอย่างของบัณฑิตมนุษย์ คือ เป็นมนุษย์ที่มีจิตกุศล ประพฤติกุศลธรรมบถ ๑๐ มี กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นสัมมาทิฎฐิ มีความเห็นถูก ดำริถูก บัณฑิตย่อมประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ คือ
ธิติ       ประพฤติตนให้ประกอบด้วยปัญญา พิจารณาเห็นคุณและโทษ
ขันติ     ประพฤติตน อดทน อดกลั้น ไม่วู่วามด้วยอำนาจโทสะ
สัจจะ   ประพฤติตนด้วยความซื่อสัตย์ ความเที่ยงธรรม
วิริยะ    มีความเพียร ประพฤติแต่สิ่งที่เป็นกุศล
สัญญมะ ประพฤติตนประกอบด้วยศีล ๕ เป็นนิจศีล ศีล ๘ เป็นอดิเรกศีล
          ผู้ประพฤติธรรม ๕ ประการนี้ ชื่อว่า “บัณฑิตมนุษย์” จักถึงซึ่งความสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคล มีความเจริญบังเกิดแก่ตนทั้งภพนี้ภพหน้า ได้สัมฤทธิ์สมบัติสุขในมนุษย์ เทวโลก และนิพพานสมบัติในชาติสุดท้าย

(๒๐) สุรีย์  มีผลกิจ. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๘๐
สำหรับนางกาไวย นันทเสนา ไชยทัต และเศรษฐีปาละ ในเรื่องบัวระวงส์หงส์อามาตนี้ เป็นตัวแทนของ “ฝ่ายคนชั่ว” หรือ “พาลมนุษย์” คือ มนุษย์ที่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี  คิดแต่สิ่งที่ชั่ว ที่ไม่มีประโยชน์ ด้วยอำนาจของ อภิชฌา พยายาท และมิจฉาทิฏฐิ  จะกล่าวถึงสิ่งใดก็กล่าวแต่ทุพภาษิต วจีทุจริต ประกอบด้วย มุสาวาท ปิสุณาวาท ผรุสวาท และสัมผัปปลาปวาท จะทำการสิ่งใดก็กระทำแต่สิ่งที่ชั่วที่เป็นกายทุจริต ประกอบด้วย ปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร
พาลมนุษย์ จะกระทำการสิ่งใด ย่อมทำด้วยอำนาจของโทสะ
พาลมนุษย์ มีกายสมาจารมิได้เสมอกัน ปากอย่างหนึ่ง ใจอย่างหนึ่ง
พาลมนุษย์ ย่อมดีแต่ต่อหน้า เจรจาไพเราะ ลับหลังนินทา เหยียบย่ำ
          พาลมนุษย์ ย่อมมีจิตมากด้วยโลภะ มิได้รู้จักคนดีคนชั่ว เห็นบาปว่าเป็นบุญ ที่เป็นคุณก็เห็นเป็นโทษ ถูกสั่งสอนก็ขึ้งโกรธเคียดแค้น ไม่รับโอวาท ไม่รู้จักความอ่อนน้อม กระด้างเหมือนเสาหิน
คนพาลย่อมเสวยทุกข์ในปรโลก เมื่อละโลกไปแล้ว ย่อมเข้าถึง อบายทุคติ วินิบาต นรก เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรก และไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด เฉกเช่นนางกาไวย ไชยทัต นันทเสนา และเศรษฐีปาละ ที่กระทำบาปกรรมต่อเจ้าชายบัวระวงส์ เจ้าชายสุริยา และพระนางจันทาเทวี
ละครล้านนา เรื่อง บัวระวงส์หงส์อามาต จึงเป็นละครสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ที่มีแก่น (Theme)  ของเรื่อง“การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” อย่างชัดเจน  ทำให้ผู้ชมได้ตระหนักรู้ถึงการประกอบกรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว ซึ่งจะช่วยสร้างสรรค์ให้สังคมไทยเป็นสังคมของคนดีตลอดไป


เอกสารอ้างอิง
เชียงใหม่,วิทยาลัยครู. ค่าวบัวรวงส์หงส์อามาต. ต้นฉบับจากคุณทวี สว่างปัญญางกูร
ปริวรรตโดยนักศึกษาวิชาเอกวัฒนธรรมศึกษา รุ่นที่ ๑ , ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม
สหวิทยาลัยล้านนา เอกสารลำดับที่ ๒๒ , กรกฎาคม ๒๕๓๐.
โลมาวิสัย,พระยา. โคลงเรื่องหงส์ผาคำ. เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม, มปพ. มปป.
ศิวาพร  วัฒนรัตน์.  วรรณกรรมนิทานคำโคลงของล้านนา ลักษณะเด่น ภูมิปัญญาและคุณค่า.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  เชียงใหม่ : หจก.ธนุชพริ้นติ้ง, ๒๕๕๔.
สกุล  มหาวีโร, พระมหา.  บัวรวงศ์หงส์อำมาตย์. วัดชัยศรีภูมิ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
เชียงใหม่ : หสน. ส.ทรัพย์การพิมพ์, ๒๕๕๓.
ศิวาพร  วัฒนรัตน์.  วรรณกรรมนิทานคำโคลงของล้านนา.  เชียงใหม่ : หจก.ธนุชพริ้นติ้ง, ๒๕๕๔.

อุดม  รุ่งเรืองศรี.  วรรณกรรมล้านนา.  เชียงใหม่ : สุเทพการพิมพ์, ๒๕๕๐.