ฟ้อนสาวไหม วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
ฟ้อนสาวไหม เป็นชื่อเรียกการแสดงพื้นเมืองชุดหนึ่งของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ที่ได้นำฟ้อนของเดิมมาพัฒนาขึ้น
คำว่า ฟ้อน หมายถึง
ศิลปะแห่งกระบวนท่าในการร่ายรําที่มีลีลาท่าทางสอดประสาน เขาด้วยกันอย่างกลมกลืน
เพื่อสื่อความหมาย หรือแสดงอารมณ์ให้ปรากฏออกมาในลักษณะต่างๆ คำว่า สาว หมายถึง
การชัก การดึง
คำว่า ไหม หมายถึง
เส้น ด้ายที่นำมามาทอผ้า
ดังนั้นคำว่า ฟ้อนสาวไหม
จึงหมายถึง
ศิลปะแห่งกระบวนท่าในการร่ายรําที่แสดงออกถึงวิธีการชัก หรือวิธีการดึงเส้นด้ายออกจากรังไหมแล้ว
นำมาถักทอเป็นผืนผ้า
ฟ้อนสาวไหม เป็นนาฏกรรมที่สะท้อนรูปแบบศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึงของคนไทย
ทางภาคเหนือที่นำความเกี่ยวโยงระหว่างวิถีชีวิตทางเกษตรกรรมมาแสดงออกในรูปแบบทาง
นาฏศิลป์ ฟ้อนสาวไหมมีวิวัฒนาการ ๔ ระยะ
คือ
ระยะเริ่มแรก
พ่อครูกุย สุภาวสิทธิ์
เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์ท่าฟ้อนโดยได้แนวคิดจากวิถีการ
ดำรงชีวิตทางด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านแบบครบวงจร ที่มักจะมีการปลูกต้นหม่อน เก็บฝ้าย
สาวไหมและทอผ้า อันเป็นกระบวนการที่น่าสนใจและน่านำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราว ด้วยแนวคิดดังกล่าว ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและนำมาสู่การกำหนดเนื้อหาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวดัง
กล่าวในที่สุดก็นำมาสู่การแสดงชุดหนึ่ง เรียกว่า
ฟ้อนสาวไหม และต่อมาการแสดงชุดนี้พ่อครูกุย
สุภาวสิทธิ์ ได้ถ่ายทอดให้ บุตรสาวคือ ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์
ระยะที่สอง แม่ครูพลอยสี
สรรพศรี (ช่างฟ้อนเก่าในคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ)
ได้เห็นการฟ้อนสาวไหมของครูนางบัวเรียว
รัตนมณีภรณ์ ก็เกิดความสนใจ ครั้นเมื่อมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน
ฟ้อนสาวไหมจึงได้ถูกหยิบยกขึ้นมาปรับท่ารําบางท่า
โดยแทรกลีลาท่ารําของนาฏศิลป์ไทยเข้ากับท่าฟ้อนเดิม
ระยะที่สาม ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โรงเรียนนาฏศิลปเชียงใหม่ ต้องการที่จะอนุรักษ์ฟ้อนสาวไหม จึงได้เชิญแม่ครูพลอยสี สรรพศรี เข้ามาเป็นครูพิเศษถ่ายทอดท่าฟ้อนสาวไหมให้ครูโรงเรียนนาฏศิลปเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นมีครูฉวีวรรณ สบฤกษ์ ครูอัจฉรา สุภาไชยกิจ
และครูสามปอยดง เครือนันตา ซึ่งเป็นครูสอนนาฏศิลป์ละคร ได้
เป็นศิษยรุ่นแรกที่ได้รับการถ่ายทอดท่าฟ้อนสาวไหม
ครั้นเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการถ่ายทอดท่าฟ้อนสาวไหม แม่ครูพลอยสี
สรรพศรี ได้กล่าวไว้ว่า การฟ้อนชุดนี้สามารถที่จะทำการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้
เพราะว่าก่อนหน้า แม่ครูพลอยสีก็เคยทำการปรับปรุงมาแล้ว
ระยะทีสี่ ปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พ่อครู กาไวย์
ได้นำการฟ้อนสาวไหมอีกรูปแบบหนึ่ง เข้ามาเผยแพร่ในวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ จากภาพการแสดงที่ปรากฎ ทำให้ครูฉวีวรรณ สบฤกษ์ เกิดความประทับใจ นำไปสู่การสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ในที่สุดเนื้อหาในการสนทนา จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนในเชิงสร้างสรรค์
ทำให้กระบวนการฟ้อนสาวไหมได้รับการ ปรับปรุงและวิวัฒน์ตัวเองขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ให้มีลีลาอ่อนช้อยงดงามแบบนาฏศิลป์ จนกระทั่งเกิดฟ้อนสาวไหมรูปแบบเฉพาะตัว ซึ่งมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง อันถือได้ว่าเป็ ต้นแบบของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ที่ได้สืบสาน ถ่ายทอด และเผยแพร่ มาจนถึงทุกวันนี้ นับว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง
ที่ควรค่าแก่การศึกษาและสืบสานเอาไว้
ท่าฟ้อนสาวไหม มีทั้งหมด ๑๘
ท่า เมื่อลำดับแล้วมีดังนี้
๑. ท่าสาวไหมสูง (ท่าออก)
๒. ท่าม้วนไหมใต้ศอก(ท่าเข้าเปี๋ย)
๓. ท่าไหว้
๔. ท่าบิดบัวบาน
๕. ท่าดึงไหม (เรียงไหม)
๖. ท่านำไหมเข้ากลุ่ม ขวา, ซ้าย
๗. ท่าม้วนไหมใต้ศอก (ท่าเข้าเปี๋ย)
๘. ท่าสาวไหมต่ำ (ท่าเก็บตะกอ)
๙. ท่าสาวไหมพันหลัก (วนไหม)
๑๐. ท่าสาวไหมข้างตัว
๑๑. ท่าพุ่งกระสวย
๑๒. ท่าม้วนไหมใต้ศอก
๑๓. ท่าล้างไหม
๑๔. ท่านำไหมไปผึ่งแดด แก้ปมไหม
๑๕. ท่าลองนุ่งผ้าถุง (ลองสวมผ้าถุงเมื่อทอเสร็จ)
๑๖. ท่าเลือกผ้า
๑๗. ท่าม้วนไหมใต้ศอก
๑๘. ท่าสาวไหมสูง (ท่าเข้า)
ดนตรี ใช้วงดนตรีพื้นเมือง ประกอบด้วย
สะล้อลูกสาม ๑ คัน
สะล้อ ลูกสี ๑ คัน
สะล้อ หลวง ( สะล้อสามสาย ) ๑ คัน
ซึงลูกสาม ๑ ตัว
ซึงลูกสี่ ๑ ตัว
ซึงหลวง ๑ ตัว
ขลุ่ยพื้นเมือง ๑
เลา
กลองพื้นเมือง ๑
ลูก
ทำนองเพลงที่ใช้บรรเลงชื่อเพลงสาวปั่นฝ้าย ท่อนที่หนึงเป็นทำนองเก่าที่มีมาแต่ดั้งเดิม ครังหนึ่ง
เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ เคยนำเอาเพลงนี้ที่มีเพียงท่อนเดียวมาบรรเลงประกอบ
ฟ้อนสาวไหม และด้วยความที่ไม่ยาวนักของทำนองเพลง จึงทำให้การบรรเลงตต้องมีการกลับต้น
วนกลับไปกลับมาสิบกว่าเที่ยว จึงทำให้เกิดความกังวลในอรรถรสเพลง
ด้วยเหตุดังกล่าวครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ (ขณะมาช่วยราชการทีโรงเรียนนาฏศิลปเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๔ ) ได้เล่าให้ฟังเมื่อคราวจัดงานเสวนาเรื่อง เจ้าสุนทร ณ
เชียงใหม่ ตำนานทางการช่าง เรือจ้างผู้สร้างคน ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ณ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ความตอนหนึ่งว่า
“เจ้าลุงครับ(เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่) ผมเห็นว่าควรจะแต่งทำนองเพลงสาวไหมเพิ่มเติมให้มีความยาวมากกว่านี้ หากเจ้าลุงไม่แต่ง ผมจะแต่งให้เอง หากทำนองไม่กลมกลืนกัน อย่าว่ากันนะ” เพียงประโยคคำพูดดังกล่าว
ได้กระตุ้นก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและนำมาซึ่งผลสำเร็จที่ตามมาเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น
เพลงสาวไหมท่อน ๒ ก็ถือกำเนิดขึ้นโดยความรู้ความสามารถของ เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ ด้วยลีลาทำนองที่มีการล้อ
การเหลื่อม พริ้วไหวอย่างงดงามไพเราะ ครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ จึงได้นำเพลงล่องแม่ปิงเข้ามาบรรเลงเชื่อมต่อ ยิ่งทำให้เกิดความไพเราะสง่างามมากยิ่งขึ้น
ในที่สุด ด้วยความลงตัวกลมกลืนกันอย่างสมบูรณ์ของทำนองเพลงทั้งสอง ที่จะขาดเพลงหนึ่งเพลงใดมิได้
จึงเป็นที่มาของเพลงสาวไหม อันเป็นที่หมายรู้ของคนโดยทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่,
2552.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น