พรหมจักรชาดก
พรฯ฿หมฯจักรฯ ชาด฿กฯ
ในอดีตกาลยังมีกษัตริย์องค์หนึงชื่อ “พญาวิโรหาราชา” เสวยราชที่เมืองลังกา
มีอัครมเหสีชื่อกัญจนเทวี มีโอรส ๒ องค์คือ วิโรหาราชกุมารและนันทกุมาร
เมื่อวิโรหาราชกุมารอายุ ๑๖ ปีและนันทกุมารอายุ ๑๓ ปี ต่างก็เรียนรู้ศิลปศาสตร์และไตรเพททังมวล
ส่วนวิโรหาราชกุมารนันมีของทิพย์คู่บุญคือ เกือกทิพย์
ธนูทิพย์และดาบทิพย์คือดาบสรีกัญไชย ต่อมาวิโรหาราชกุมารก็อภิเษกสมรสและรับสมบัติแทนพระบิดาสืบมา
พญาวิโรหามีฤทธิ์เป็นอันมาก อาจใช้เกือกทิพย์เหาะไปที่ต่างๆ วันหนึ่งวิโรหาได้เนรมิตกายเป็นพระอินทร์ไปเสพสุขกับนางสุธัมมา
เมื่อพระอินทร์ได้หลักฐานว่าพญาวิโรหาเข้าหาเมียของตนเช่นนั้นก็คิดว่า หากจะกำจัดพญาวิโรหาเสีย
ก็ย่อมไม่สมควรแก่ความเป็นหัวหน้าเทวดาจึงปล่อยตัววิโรหาไปในที่สุด
เมื่อถึงกำหนดที่นางสุธัมมาจะจุติแล้ว พระอินทร์ก็ให้นางไปเกิดในเมืองลังกาเพื่อทำลายพญาวิโรหา
นางจึงไปปฏิสนธิในครรภ์ของนางเกสี เมื่อคลอดแล้วพญาวิโรหาก็ตั้งชื่อว่ารัตนกุมารี
โชติพราหมณ์ที่พญาวิโรหาเชิญมาก็ทำนายว่ากุมารีนันมีบุญนัก แต่นางจะทำให้พญาวิโรหาถึงแก่ความพินาศ
ควรที่จะนำไปลอยแพเสีย เมื่อนำนางไปลอยเเพแล้ว แพของรัตนกุมารีก็ลอยไปติดที่ท่าน้ำของฤาษีรูปหนึ่ง
ซึ่งก็ได้รับเอากุมารีนั้นไปเลี้ยงจนโตขึ้นมา และได้ชื่อใหม่ว่า “นางสีดา” และนางก็ให้ความอุปฐากแก่ฤาษีเหมือนเป็นบิดาของตนเรื่อยมา
ในเมืองพาราณสี มีกษัตริย์ชื่อท้าวพรหมทัต มีมเหสีซี่อนางสุคันธเกสีเทวี
เมื่อครบกำหนดที่พระโพธิสัตว์จะจุตินั้น ก็ได้มาปฏิสนธิเป็นโอรสของท้าวพรหมทัต
และได้รับการขนานพระนามว่า “พรหมจักร” อีกปีหนึ่งต่อมาก็มีราชโอรสอีกองค์หนึ่งชื่อว่า
“รัมมจักร” เมื่อกุมารทั้งสองมีอายุได้ ๑๖ ปี และ ๑๕ ปี
ก็ได้พากันไปเรียนวิชาการรบพุ่งต่างๆ ที่เมือง
ตักกสิลาเป็นเวลา ๑ เดือน เมื่อจบแล้วก็เดินทางกลับพาราณสี ในขณะที่เดินผ่านป่าแห่งหนึ่งได้พบครุฑกำลังรบกันอยู่
พรหมจักรก็ยิงถูกครุฑผู้น้องตกลงมาตาย พญาครุฑผู้พี่จึงได้เข้ามาขอเป็นข้าช่วงใช้ จากนั้นสองพี่น้องก็เดินทางต่อไปอีก
16 วันก็ถึงเมืองพาราณสี ท้าวพรหมทัตก็ได้อภิเษกให้พรหมจักรเป็นกษัตริย์และตั้งรัมมจักรเป็นอุปราช
คืนหนึ่งพรหมจักรฝันไปว่า ได้นางเทพธิดามาเป็นชายา แต่กลับถูกวิทยาธรตนหนึ่งมาลักไป
ความฝันนี้ทำให้พรหมจักรคิดออกเดินป่าค้นหานางแก้วคู่บุญ ฝ่ายพระอินทร์เมื่อเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่นางสีดาควรจะได้พบกับโพธิสัตว์
จึงแปลงเป็นกวางทองมาชักนำให้นายพรานตามไปจนพบนางสีดา เมื่อเห็นนางงามเช่นนั้น นายพรานก็คิดจะไปทูลให้พญา วิโรหาของตนให้รู้ ระหว่างทางกลับเมืองลังกานั้น
นายพรานก็ได้พบพ่อค้าต่างเมืองอีกหลายคน ก็เล่าเรื่องนางสีดาให้ฟังพ่อค้าเหล่านั้นก็นำกิตติศัพท์ความงามของนางสีดาเล่าต่อกันไปและนำไปกราบทูลกษัตริย์ของตน
ส่วนพรานผู้นั้นเมื่อถึงลังกาแล้วก็ไปทูลพญาวิโรหา ซึ่งพระองค์ก็รีบยกพลไปขอนางสีดาทันที
ฝ่ายกษัตริย์อื่นๆ อีกร้อยเอ็ดเมืองต่างก็มาด้วยความประสงค์อย่างเดียวกัน พระฤาษีจึงให้กษัตริย์เหล่านั้นยิงธนูดู
ผู้ใดยิงได้จึงจะได้นาง กษัตริย์ทุกองค์รวมทั้งวิโรหาด้วยก็ไม่มีผู้ใดยิงได้ กษัตริย์ต่างๆ
ก็พากันกลับไปหมด พญาวิโรหาก็ให้กองทัพยกกลับไป ส่วนตัวเองก็แอบอยู่ในบริเวณนั้นเพื่อรอโอกาสอยู่
ฝ่ายพรหมจักรและทหารคู่ใจ 5
นายเดินทางจากพาราณสีได้ 7 วัน ได้รบชนะยักษ์ตนหนึ่ง
ซึ่งก็ได้แก้ววิเศษชื่อ “ทิพพจักขุ” และยักษ์นั้นขอเป็นข้าช่วงใช้ด้วย จากนั้นจึงเดินทางต่อไป
บังเอิญไปพบนางสีดาซึ่งสรงน้ำในสระแห่งหนึ่ง ทั้งสองเกิดเสน่หาต่อกัน พรหมจักรจึงไปขอนางจากฤาษี
ซึ่งฤาษีก็ให้พรหมจักรลองขึ้นสายธนูและยิงก้อนหินให้ดู พรหมจักรสามารถทำได้อย่างง่ายดาย จึงได้รับนางสีดาและธนูเป็นรางวัล
พรหมจักรจึงพานางคืนสู่กุรุรัฏฐนคร
ฝ่ายพญาวิโรหาเมื่อทราบเหตุด้วยตาทิพย์ ก็เนรมิตกายเป็นกวางทอง
มาล่อให้พรหมจักรตามไป แล้วแปลงเป็นฤาษีบิดาบุญธรรมของนางสีดาเข้ามาหานางและอุ้มเอานางสีดาเหาะไปลังกา
ระหว่างทางก็ได้ผ่านป่างิ้วซึ่งเป็นป่าที่อยู่ของครุฑ พญาครุฑจึงพาบริวารเข้าจิกตีวิโรหาแต่ก็พ่ายแพ้
ถูกพญาวิโรหาฟันร่วงลงสู่พื้นจนหมดสิ้น เมื่อถึงลังกาแล้วพญา วิโรหาจะเข้าเสพสุขกับนาง ก็เกิดรุ่มร้อนไปหมด
จึงให้นางอยู่ที่ปราสาทแห่งหนึ่งเพื่อจะหาวิธีจะได้นางต่อไป
ทางด้านพรหมจักรเมื่อทราบว่าเมียหายก็ออกตามจนไปพบพญาครุฑและบริวารที่บาดเจ็บ
ครุฑเหล่านั้นได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้พรหมจักรฟัง พรหมจักรก็ได้ช่วยเสกเป่าด้วยมนต์ให้ครุฑเหล่านั้นหายเป็นปกติดังเดิม
พรหมจักรเดินทางต่อไป ได้พบ “พญากาวินทะ” ซึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งและได้นางวานรตัวหนึ่งเป็นเมีย
ลูกที่เกิดมานั้นให้ชื่อว่า “หรมาร” และเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์เป็นอันมาก พญากาวินทะกล่าวว่าตนเป็นน้องของ
“พญากาสีกราช” ผู้ครองเมืองกาสี
คราวหนึ่งมีควายตัวหนึ่งมีนางควายเป็นเมียได้หมื่นตัว ก็ได้ฆ่าลูกที่เป็นตัวผู้หมด
ครั้งนั้นมีนางควายตัวหนึ่งตั้งท้องแล้วไปคลอดในถ้ำแห่งหนึ่ง ตกลูกเป็นตัวผู้ ลูกควายนั้นเมื่อเจริญวัยก็ได้ฝึกฝนการต่อสู้
จนเห็นว่าสามารถต่อสู้กับพ่อตัวเองได้แล้ว จึงไปท้าพ่อควายให้มาลองต่อสู้กัน การรบคราวนั้นพ่อควายแพ้ ลูกควายก็ได้ครองฝูงสืบมาต่อมา เมื่อลูกควายมีความหยิ่งผยองในฤทธิ์ของตนมากขึ้น
ก็พาบริวารไปทำลายไร่นาของชาวเมืองกาสี พญาสีกราชก็รบกับควายและไปสู้กันต่อในถ้ำ พร้อมกับสั่งพญากาวินทะและอำมาตย์ให้คอยดูว่า
ถ้าเลือดข้นไหลออกมาก็แสดงว่าเป็นเลือดควาย หากเลือดที่ไหลออกมาเหลวใส ก็หมายความว่าตนเสียทีแล้ว
ให้เอาหินปิดถ้ำและให้พญากาวินทะครองเมืองแทน ครั้งนั้นพญากาสีกราชชนะและฆ่าควายได้
แต่เลือดควายที่ไหลออกมานั้นปนกับน้ำ จึงดูเหมือนกับเลือดเหลวใส พญากาวินทะและอำมาตย์จึงชวนกันปิดถ้ำ
แล้วกลับไปยังเมืองพาราณสีและอภิเษกพญากาวินทะเป็นกษัตริย์ ฝ่ายพญากาสีกราชเห็นถ้ำ ปิดอยู่ก็โกรธ จึงทลายถ้ำแล้วขับไล่พญากาวินทะออกจากเมือง
พญากาวินทะจึงไปอยู่ป่าและได้เมียเป็นวานรตั้งแต่บัดนั้น
พรหมจักรได้เล่าเรื่องของตนให้พญากาวินทะฟังบ้าง ซึ่งพญากาวินทะก็เห็นใจและอาสาจะช่วยพรหมจักรรบกับ วิโรหา จากนั้นพรหมจักร พญากาวินทะ หรมาร และบ่าวไพร่ก็เดินทางเข้าสู่เมืองกาสีเพื่อหาทางช่วยให้พญากาวินทะได้ครองเมือง
แต่ได้ทราบว่าพญากาสีกราชสิ้นพระชนม์ไปแล้ว เสนาอำมาตย์จึงเชิญพญากาวินทะขึ้นครองเมืองกาสีต่อไป
หลังจากนั้นพรหมจักรก็ส่งสาส์นไปกราบทูลเรื่องต่างๆ ให้พญาพรหมทัตเป็นบิดาทรงทราบ
แล้วจึงขอกองทัพจากเมืองกาสีและกองทัพจากร้อยเอ็ดหัวเมืองเพื่อไปรบกับพญาวิโรหา คราวนั้นรมจักรผู้เป็นอุปราชเมืองพาราณสีก็ได้ยกพลมาที่เมืองกาสี
พญากาวินทะก็จัดทัพใหญ่โดยมีพระองค์เองและหรมารเป็นแม่ทัพ เมื่อกองทัพต่างๆพร้อมแล้วก็ออกเดินทางใช้เวลา
3 เดือนก็บรรลุถึงฝั่งมหาสมุทร จึงได้หาทางข้ามมหาสมุทรต่อไป
จากนั้นการสร้างสะพานก็เริ่มขึ้น หรมารเอาเถาวัลย์และหวายผูกติดเอวของตนเหาะไปถึงเกาะกลางน้ำ
แล้วเอาเถาวัลย์หวายนั้นผูกกับต้นไม้ใหญ่ ถัดนั้นจึงเอาไม้ไผ่ไม้กลวงทำเป็นทุ่นลอย
เพื่อลำเลียงอุปกรณ์และเริ่มลงหลักสร้างสะพานต่อมา ในขณะนั้นพวกสัตว์น้ำก็ได้มาทำร้ายผู้คนจนล้มตายไปมาก
หรมารจึงต้องดำน้ำลงไปรักษาการณ์อยู่ การสร้างสะพานดำเนินไปเดือนหนึ่งจึงสำเร็จลง แล้วจึงพากันยกพลข้ามสะพานไปสู่ลังกา
ในขณะที่หรมารรักษาการณ์ในน้ำนั้น ยังมีนาคสาวตนหนึ่งชื่อ “นาคมาลิกา”
ได้ดูดกินน้ำปนเหงื่อและปัสสาวะของ หรมารจึงตั้งครรภ์
เมื่อบิดานางรู้เรื่องทั้งหมด ก็แปลงเป็นคนไปดูการสร้างสะพาน บังเอิญมีครุฑบินผ่านมาเห็นจึงเข้าจับพญานาคแปลงแล้วบินไปทางเมืองลังกา
ขนาดนั้นพญาวิโรหาออกมานั่งผิงแดดอุ่นในยามเช้าอยู่
เห็นครุฑแสดงอาการไม่เกรงตนจึงใช้ธนูยิงครุฑ
ครุฑตกใจจึงปล่อยนาคแล้วหนีไปหาพรหมจักร พร้อมทั้งอาสาจะช่วยพรหมจักรรบกับวิโรหา
ฝ่ายนาคเมื่อพ้นจากความตายแล้ว
ก็ไปเล่าเรื่องการสร้างสะพานแก่พญาวิโรหาพร้อมทั้งอาสาจะช่วย
ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายส่งทหารออกลาดตระเวนนั้น พรหมจักรก็ให้หรมารไปสืบข่าวว่านางสีดาจะยังคงรักตนหรือไม่
พร้อมทั้งส่งสาส์นไปให้นางด้วย หรมารเหาะไปแต่เหาะข้ามเมืองลังกาไปถึงป่าหิมพานต์
จึงเข้าไปถามทางจากฤาษีตนหนึ่งแล้วพักอยู่ด้วยในคืนนั้น
รุ่งเช้าฤาษีไปบิณฑบาตและสั่งห้ามมิให้หรมารไปทางทิศเหนือของอาศรม
แต่หรมารไม่เชื่อจึงถูกยักษ์แปลงเป็นปลิงพันขาพญาวานรไว้ เพื่อจะลากลงไปกินในสระ ต่างฝ่ายต่างดึงกันอยู่
เมื่อฤาษีกลับมาพบเข้าจึงถ่มน้ำลายถูกปากปลิง ปลิงก็ปล่อย
เมื่อรับประทานอาหารแล้วฤาษีก็บอกทางไปเมืองลังกาแก่หรมาร
เมื่อหรมานพบกับนางสีดาแล้าก็ถวายสาส์น นางสีดาจึงสั่งความไปทูลให้พรหมจักรรีบยกทัพมารับนาง
ในตอนเดินทางกลับนั้นหรมารอยากรู้ทางเข้าออกของเมือง จึงมาที่เสนาทั้งหลายชุมนุมกันอยู่และถูกจับไปนอกเมือง
เสนาจึงเอาหญ้าคามัดหลังหรมารแล้วจุดไฟเผาและปล่อยไป หรมารจึงไปสู่เรือนของพญาและอามาตย์ทั้งหลายจนไฟไหม้ทั้งเมือง
แล้วหรมารก็โดดลงน้ำเพื่อดับไฟและเหาะกลับไปยังกองทัพของพรหมจักร
พรหมจักรเริ่มเคลื่อนทัพตีหัวเมืองลังกาเข้าไปตามลำดับ
ทหารของลังกาที่พ่ายแพ้จึงไปทูลให้พญาวิโรหาทรงทราบ ซึ่งวิโรหาก็สั่งให้จัดทัพและเรียกพลจากเมืองต่างๆ
ไปรวมกัน แล้วจึงสังเวยอารักษ์ประจำเมือง จากนั้นจึงเคลื่อนทัพออกไป มีนายทัพชื่อต่างๆ
จำนวน ๖ นายควบคุมไปตั้งรับข้าศึก ทัพฝ่ายพรหมจักรซึ่งมีนายทัพ ๘
นายก็เข้าต่อสู้กัน รัมมจักรจึงร่ายมนตร์เกิดเป็นเกวียนไฟ
ไล่ทัพลังกาจนพ่ายไป ทัพของพญาวิโรหาเสียนายทัพไป ๓ นายและเสียทหารไปหมื่นเศษ ในการรบครั้งต่อมา
“นันทะ” อุปราชฝ่ายลังกาถูกจับได้และลังกาเสียขุนทัพไปอีก ๕ นาย
รวมกับเสียทหารอีกหลายโกฏิจนไม่อาจนับได้ แล้วทัพของพรหมจักรก็เข้าล้อมเมืองลังกา
ครั้งนั้นวิโรหาและรัมมจักร ได้ต่อสู้กันด้วยการเสกมนตร์เป็นน้ำ ไฟ ลม
หรือภาพยนตร์ จนพญาวิโรหาเกิดแค้นใจที่ตนมีฤทธิ์ ซึ่งไม่มีใครต้านทานได้ ยังมาถูกลองฤทธิ์เช่นนี้
พรหมจักรส่งสาส์นถึงพญาวิโรหาให้ส่งนางสีดาคืน หากไม่คืนก็ให้มาชนช้างในวันรุ่งขึ้น
พญาวิโรหาเรียกนาคให้นาคยกทัพไปช่วย จากนั้นก็กรีฑาพล เมื่อทัพทั้งสองเผชิญหน้ากัน
ทัพนาคบุกเข้าไปจนกองทัพของพรหมจักรระส่ำระสาย จึงขอให้ครุฑมาช่วยจนนาคหนีไป
แล้ววิโรหาก็ใช้ธนูสิงห์ยิงครุฑจนแตกพ่ายไป ครั้งนั้นวิโรหาเนรมิตกายมี ๑๐ เศียร ตาแดงดังไฟ
ถือดาบสรีกัญไชยเข้ารุกจนนายทหารฝ่ายพรหมจักรล้มตายไปมาก เมื่อค่ำลง ทั้งสองฝ่ายก็ยกทัพกลับ
พอเช้าขึ้นก็ออกมารบกันใหม่ เป็นเวลานานถึง ๑๐ เดือน
พญานาคเห็นว่าจะรบกับพรหมจักรบนดินไม่ได้ ก็อาสาพญาวิโรหาว่าจะดั้นแผ่นดินไปที่ทัพพรหมจักร
แล้วลักตัวพรหมจักรไปบาดาลและก็ทำได้สำเร็จ เกิดโกลาหลทั่วไปในทัพของพรหมจักร
เจ้านันทะอนุชาของวิโรหาซึ่งถูกขับและหนีมาอยู่กับพรหมจักรก็บอกว่าพรหมจักรถูกนาคลักตัวไปและให้หรมารติดตามไปจนถึงเมืองนาค
แล้วพาตัวพรหมจักรกลับค่าย ฝ่าย “หรยี” เป็นลูกของหรมารกับนางนาคมาลิกา เห็นผู้มาชิงนักโทษจึงเข้าไปต่อต้าน
เมื่อรู้จักกันแล้วหรมารจึงสั่งหรยีให้อยู่กับแม่และหรมารก็พาพรหมจักรกลับคืนไป
ถัดมาอีก ๓ วันพญาวิโรหาก็ยกทัพใหญ่ออกมารบกับพรหมจักร โดยเนรมิตกายมี
๑๐ เศียร เหาะมาท้ารบกับพรหมจักร คราวนั้นพญาวิโรหายิงธนูมาถูกที่พระบาทของพรหมจักรแล้วยกทัพกลับไป
พรหมจักรได้รับความทรมานมากจากพิษธนู เสนาฝ่ายพรหมจักรก็ได้ปรึกษากันและถามเจ้านันทอุปราช
เจ้านันทอุปราชก็บอกว่ายาที่จะรักษาพิษธนูนันอยู่ที่จอมดอยจิกดวงปลี พญากาวินทะจึง
ให้หรมารเหาะไปนำมาฝนทาที่พระบาท พิษธนูจึงหายไป
เมื่อหายปวดจากพิษธนูแล้ว พรหมจักรก็ปรึกษากับรัมมจักร, พญากาสี, หรมารและเสนาทั้งหลายว่า
บัดนี้รบกันมาได้ ๑๐ เดือนแล้วและเสียโยธาไปมากมาย ยังไม่สามารถเอาชนะกันได้ มีวิธีไหนที่จะปราบวิโรหาได้
เมื่อถามเจ้านันทอุปราชนัน เจ้านันทอุปราชก็บอกให้นำเอาดินติดหางครกกระเดื่อง กับไม้ซีกจากชานบ้านและดินพอกหางหมู
รวมกันไปใส่ที่ยอดฉัตร แล้วไปทำพลีกรรม เลี้ยงผีอารักษ์ที่ชื่อ “ราพณาสูร” ซึ่งสถิตอยู่ที่ไม้แคฝอยด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง
มีเหล้า ๑๐๐ ไห และความเผือกหนุ่มมาพล่าและแกง กับทางหมูด่างขาวที่เท้ามีกีบติดกัน
ปรุงเป็นอาหารอย่างดีไปให้ราพณาสูรอารักษ์ประจำเมืองนั้น ราพณาสรจะแปลงเป็นแร้งมากินเครื่องเซ่น
แล้วให้หาชายที่ไม่เคยมองหน้าสตรีครบ ๓ ปี เป็นผู้น้าวธนูยิงผีอารักษ์แปลงนั้นและให้ยิงพญาวิโรหาจึงจะสำเร็จ
เมื่อสืบดูแล้วทราบว่า รัมมจักรเป็นผู้เดียวที่ไม่เคยมองหน้าสตรีมาสี่ปีแล้ว และหรมารก็ได้ไปยืมคนธนูและลูกศรมาจากนางยักษ์ตนหนึ่งมาได้
จากนั้นจึงดำเนินการตามคำของนันทอุปราชทุกประการ ทั้งการสังเวยอารักษ์
การประหารอารักษ์และการนําสิ่งอัปมงคลไปใส่ที่ยอดฉัตรของพญา วิโรหา
รุ่งขึ้น ปีนใหญ่ฝ่ายพรหมจักรก็ยิงเปิดสงคราม
แล้วเคลื่อนทัพเตรียมปล้นเอาเมือง พญากสีเขียนสาส์นลงบนแผ่นไม้ไปท้ารบ
พญาวิโรหาโกรธมากก็เหาะมารบด้วยกายเนรมิตและรบกันด้วยอาคม เมื่อได้โอกาสรัมมจักรจึงยิงธนูไปถูกพญาวิโรหาที่สีข้างตกลงมาตาย
พรหมจักรจึงยกทัพเข้าเมืองลงกาและได้พบกับนางสีดา หลังจากที่ได้ปูนบำเหน็จนายทัพและทหารแล้า
พรหมจักรก็ โปรดให้หรมารนำเอาธนูไปคืนนางยักษ์
เมื่อเสร็จสงครามแล้วเสนาลังกาจึงขอไถ่เอาเจ้านันทอุปราชไปเป็นกษตริย์แทนพญาวิโรหา
พรหมจักรและคณะจึงได้ช่วยงานอภิเษกนันทอุปรารเป็นกษัตริย์แล้ายกทัพกลับตามเส้นทางเดิมซ่อมสะพานเชือกที่เคยทำไว้
เมื่อข้ามไปเสร็จแล้วจึงทำลายสะพานนั้นเสีย ครั้นกลับถึงเมืองกาสีแล้วจึงมีการเลี้ยงฉลองกันอย่างครึกครื้น
เมื่อพักอยู่ที่เมืองกาสีพอสมควรแล้วพรหมจักรก็ยกทัพกลับเมืองพาราณสี
อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่พรหมจักร ไปประพาสอุทยาน นางสีดาซึ่งกำลังทรงพระครรภ์อยู่ได้พักอยู่ที่ปราสาท
ครั้งนั้นนางสนมทั้งหลายอยากเห็นรูปของพญาวิโรหาจึงขอให้นางสีดาวาดให้ดู ขณะที่วาดถืงเศียรที่
7 นั้น บังเอิญพรหมจักรเสด็จมา นางสีดาเกรงพรหมจักรจะเห็นเข้า
จึงเอากระดานที่วาดรูปพญาวิโรหานั้นซ่อนไว้ใต้อาสนะของพรหมจักร
พรหมจักรประทับนั่งบนอาสนะนั้น รูปของพญาวิโรหาก็พูดว่า
เป็นกษัตริย์เหมือนกันกลับมานั่งบนหัวกันแบบนี้ช่างดูหมิ่นกันจริงๆพรหมจักรเปิดอาสนะดูพบรูป
จึงบริภาษนางสีดาว่ามีใจยินดีกับพญาวิโรหาจึงวาดภาพไว้ดูต่างหน้า บริภาษแล้วขับไล่นางออกจากเมืองไป
นางสีดาเมื่อถูกเนรเทศเช่นนั้นก็เข้าไปลาผู้ที่เกี่ยวข้องเดินทางออกจากเมือง
เมื่อเหนื่อยอ่อนนางก็พักที่ใต้ร่มไม้ แล้วอธิษฐานขอให้เทวดาทั้งหลายช่วยนางด้วย
ครั้งนั้นเมื่อพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระอินทร์ที่เคยอ่อนนุ่มก็แข็งกระด้าง
พระอินทร์ก็ทรงทราบเรื่องด้วยทิพยเนตร จึงเสด็จแปลงกายมาลองใจนางสีดา เมื่อเห็นว่านางยังภักดีต่อพรหมจักรมั่นคงนัก
พระอินทร์ก็เนรมิตปราสาทให้นางประทับอยู่ในป่า
เมื่อครบกำหนดนางสีดาคลอดโอรสที่มีลักษณะงดงาม
นางก็ประทับอยู่ที่ปราสาทนั้นเป็นเวลานานใน 3 เดือน
เมื่อนางสีดาเสด็จไปแล้วพรหมจักรก็ได้แต่ซึมเศร้า
บ้านเมืองก็หมองหม่นเงียบสงัดไปหมด ครั้งนั้น เทวดาดลใจให้นางแก้วจันทาธิดาของอำมาตย์ผู้ใหญ่คนหนึ่งไปทูลเล่าว่า
ที่นางสีดาวาดรูปนั้นไม่ใช่เพราะจิตปฏิพัทธ์ แต่หากทำตามคำขอของนางสนมทั้งหลาย เมื่อพรหมจักรทราบความจริงก็ดีพระทัย
วันหนึ่งเทวดาเข้าดลใจม้าทรงของพรหมจักรให้แล่นไปสู่ปราสาทนางสีดา เมื่อนายม้าออกตามหาม้าก็ไปพบนางสีดาเข้า
จึงกลับไปกราบทูลท้าวพรหมจักร ท้าวพรหมจักรจึงไปรับนางกลับเมือง ตั้งชื่อโอรสว่า “พิมพาวัตติกุมาร”
คืนหนึ่ง
พรหมจักรรำพึงว่าหากตนจะได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ขอพระอินทร์มาค้ำชูสมภารแห่งตนเถิด
เมื่อ พระอินทร์ทราบเรื่องจึงบันดาลให้มีสมบัติ
7
ประการของพระยาจักรพรรดิราชและนำนางแก้วชื่อ “สุคันโธ” มาจากอุตตรกุรุทวีปไปเป็นมเหสีฝ่ายซ้ายแก่พระยาจักรพรรดิราชองค์ใหม่และเฉลิมพระนามว่า
“พระญาพรหมจักกวัตติราชเจ้า” แล้วตั้งน้องให้เป็น “รัมมจักกราชะ” และเวนราชสมบัติบ้านเมืองให้
พร้อมทั้งนำ “นางราชกัญญา” อันมีเชื้อชาติขัตติยะมาเป็นมเหสีแก่รัมมจักกราชะอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
อุดม รุ่งเรืองศรี. วรรณกรรมล้านนา. ปรับปรุงครั้งที่ 5
และพิมพ์ครั้งที่ 2
กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2546.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น