เนื้อเรื่องย่อค่าวซอในธรรม
เรื่อง
เจ้าสุวัตร์-นางบัวคำ
หรือ โสวัต (ภาคกลาง)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมภพ เพ็ญจันทร์
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม
๓๑
ธันวาคม ๒๕๕๗
พญาอาทิตย์
เจ้าเมืองพาราณสี มีมเหสีชื่อนางจันทเทวี
มีโอรสองค์หนึ่งชื่อ เจ้าสุวัตร์ (โสวัต) ซึ่งคือพระโพธิสัตว์จุติลงมาเกิด
เมื่อเจ้าสุวัตร์อายุ ๑๖ ปี พระบิดาปรารถนาจะหาพระชายาให้ แต่เจ้าสุวัตร์ก็ไม่ถูกพระทัยหญิงสาวคนใด
กล่าวฝ่ายนางบัวคำ (นางปทุมมา) ซึ่งถือกำเนิดในดอกบัว พระฤๅษีมาพบเข้า
จึงเก็บไปเลี้ยงไว้เป็นลูกบุญธรรม
นางบัวคำเสี่ยงพวงมาลัยอธิษฐานให้พบเจอเนื้อคู่แล้วลอยลงในแม่น้ำ วันหนึ่งเจ้าสุวัตร์ลงเล่นน้ำ
พวงมาลัยนาง บัวคำก็ลอยเข้าสวมข้อมือเจ้าสุวัตร์
เจ้าสุวัตร์ประหลาดใจมาก จึงออกตามหาเจ้าของพวงมาลัยพร้อมกับม้ากัณฐกะ เจ้าสุวัตร์พบนางบัวคำที่ศาลากลางป่าคนเดียวจึงได้เกี้ยวพาราสีกัน
นางบัวคำพาเจ้าสุวัตร์เข้าพบพระฤๅษี
พระฤๅษีทราบด้วยญาณวิเศษว่าทั้งสองเป็นเนื้อคู่กัน
ก็ยกนางบัวคำให้เป็นมเหสีเจ้าสุวัตร์
ทั้งคู่อยู่ปรนนิบัติพระฤๅษีอย่างมีความสุข
ช่วงเวลานั้นมียักษ์ตนหนึ่งได้มาลักม้ากัณฐักของเจ้าสุวัตร์หนีหายไป วันหนึ่งเจ้าสุวัตร์และนางบัวคำได้เข้าป่าเพื่อหาอาหาร มีพรานป่าใจโฉดคนหนึ่งอยากได้นางบัวคำเป็นเมีย
จึงได้ลอบยิงธนูสังหารเจ้าสุวัตร์และฉุดนางบัวคำไป พระฤๅษีได้มาช่วยเหลือชุบชีวิตเจ้าสุวัตร์ให้ฟื้น
เจ้าสุวัตร์ต้องการออกตามหานางบัวคำและม้ากัณฐัก พระฤาษีจึงมอบของวิเศษให้ คือ
น้ำมนต์วิเศษ ธนูสิงห์ และดาบแก้วกัญชัย
ฝ่ายนางบัวคำถูกพรานป่าจับตัวไป
ได้ออกอุบายแกล้งบีบนวดให้พรานป่าจนม่อยหลับ
นางใช้มีดของนายพรานฆ่านายพรานตาย หนีกระเซอะกระเซิงไปเพียงลำพัง ขณะนั้นนางท้องได้
๗ เดือนแล้ว
เจ้าสุวัตร์ออกตามหานางบัวคำและม้ากัณฐัก
ไปเจอจระเข้ตัวหนึ่งนอนตายอยู่ นึกสงสารจึงใช้น้ำมนต์วิเศษชุบให้ฟื้น
จระเข้กลับกลายเป็นหญิงสาวรูปงามนามว่า นางสมุทรชา (สมุดต๊ะจา) ซึ่งเป็นเงือกรักษาแม่น้ำแห่งนั้น
เจ้าสุวัตร์ได้นางเป็นเมีย
นางสมุทรชาช่วยเจ้าสุวัตร์ข้ามแม่น้ำใหญ่มาถึงเมืองยักษ์ชื่อยักษ์เวระมติ เจ้าสุวัตร์ได้สนมยักษ์ชื่อนางสีวลีเป็นสนม นางสีวลีได้ช่วยเหลือให้เจ้าสุวัตร์ได้ม้ากัณฐักซึ่งยักษ์เวระมติลักมากลับคืน
และยังช่วยให้เจ้าสุวัตร์ได้นางสุกกะรักลูกสาวยักษ์เวรามติเป็นเมียอีกด้วย เจ้าสุวัตร์ได้มอบแหวนให้นางสุกกะรักไว้ต่างหน้า
(มาถึงตอนนี้ เจ้าสุวัตร์มีเมีย ๓ คนแล้ว คือ นางบัวคำ นางสมุทรชา นางสุกกะรัก
ไม่นับนางสีวลีซึ่งเป็นเพียงนางสนม) ต่อมายักษ์เวระมติรู้เรื่องเจ้าสุวัตร์แอบเป็นชู้กับลูกสาวตน
จึงโกรธแค้นยกทัพมาหมายฆ่าเจ้าสุวัตร์ กลับถูกเจ้าสุวัตร์ฆ่าตาย
เจ้าสุวัตร์จึงขี่ม้ากัณฐักออกตามหานางบัวคำต่อไป
ฝ่ายนางบัวคำ ออกติดตามหาเจ้าสุวัตร์
ได้ถูกนายสำเภาฉุดขึ้นเรือหวังลวนลาม
แต่นางตั้งจิตอธิษฐานจนนายสำเภาทั้งหลายไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวนางได้ เมื่อถึงโอกาสนางแอบหนีลงจากเรือสำเภาไปลงเรือเล็กพายหนีไป
บางบัวคำพายเรือมาเจอนางสุกกะรักซึ่งเหาะติดตามหาเจ้าสุวัตร์สามี
นางสุกกะรักหมดแรงเหาะต่อไปจึงตกลงในแม่น้ำ นางบัวคำเห็นเข้าจึงช่วยเหลือ
เมื่อไต่ถามกันนางสุกกะรักบอกว่าออกตามหาสามีชื่อเจ้าสุวัตร์
นางบัวคำเห็นแวนที่นางสวมใส่ก็จำได้ รู้ว่าเจ้าสุวัตร์ยังไม่ตาย นึกดีใจ
ทั้งสองจึงร่วมใจกันออกตามหาเจ้าสุวัตร์ เมื่อมาถึงชายฝั่ง
นางบัวคำได้คลอดลูกออกมาเป็นชาย แต่ประสบเคราะห์กรรมถูกงูพิษกัดตาย
นางสุกกะรักตกใจไม่รู้จะช่วยเหลืออย่างไร จึงอุ้มลูกชายนางบัวคำออกตามหาเจ้าสุวัตร์เพียงลำพัง
กล่าวฝ่ายพญาเจ้าเมืองจำปา
ออกประพาสป่าล่าสัตว์มาถึงชายฝั่งน้ำ เห็นนางบัวคำนอนตายก็สงสาร
จึงให้หมอช่วยกันรักษาจนนางฟื้นคืนชีวิตมาได้
พญาจำปาขอให้นางเป็นมเหสี แต่นางบัวคำขอเป็นเพียงธิดา โดยอธิษฐานให้น้ำนมไหลจากอกพญาจำปา
ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นไปตามคำอธิษฐานพญาจำปาจึงรับนางเข้าเมือง นางบัวคำขอให้พญาเจ้าเมืองสร้างศาลาริมทางไว้หลังหนึ่ง
ให้ช่างเขียนรูปเล่าเรื่องราวหนหลังของนางกับเจ้าสุวัตร์ สั่งความกับคนเฝ้าศาลาว่า
หากเห็นผู้หนึ่งผู้ใดมาดูภาพวาดแล้วร้องไห้ ให้มาแจ้งแก่นาง
ฝ่ายนางสุกกะรัก
อุ้มลูกของนางบัวคำรอนแรมมาในป่า นางเทพธิดาตนหนึ่งซึ่งอดีตชาติเคยเป็นมเหสีเจ้าสุวัตร์เกิดความสงสาร
จึงเนรมิตเมืองขึ้นเมืองหนึ่งชื่อ เวียงพาง โดยเทพธิดาเป็นผู้ครองเมือง
ซึ่งมีแต่ผู้หญิงล้วนไม่มีผู้ชายเลย นางเทพธิดาได้รับนางสุกกะรักและโอรสเจ้าสุวัตร์ที่เกิดกับนางบัวคำได้อาศัยอยู่ ต่อมานางสุกกะรักได้คลอดธิดา นางจึงตั้งชื่อธิดาของนางว่า “ไชยา”
และตั้งชื่อโอรสนางบัวคำว่า “ทุกขะกุมาร”
กล่าวถึงเจ้าสุวัตร์ออกตามหานางบัวคำพร้อมกับม้ากัณฐัก
เห็นพญาครุฑจับนาคโบยบินมาจึงช่วยเหลือพญานาค
ใช้ธนูสิงห์ยิงพญาครุฑจนปล่อยนาคตกลงมาพื้นดิน พญานาคกลายเป็นมนุษย์
ขอบคุณเจ้าสุวัตร์ที่ช่วยชีวิต มอบธิดาชื่อ “นางสุกันธา” เป็นมเหสี (นับเป็นคนที่ ๔)
เจ้าสุวัตร์ออกเดินทางต่อ ระหว่างทางได้นางกินรีเป็นมเหสี (เป็นคนที่ ๕)
เจ้าสุวัตร์ออกเดินทางต่อ
ได้ช่วยเหลือชุบชีวิตช้างเผือกเชือกหนึ่งชื่อมงคลหัตถี ซึ่งตายเพราะช้างดำที่โหดร้ายชื่อ
คีรีหว้ายฟ้า เจ้าสุวัตร์ช่วยเหลือช้างเผือกมงคลหัตถี
จนช้างเผือกมงคลหัตถีสามารถล้างแค้นฆ่าช้างดำคีรีหว้ายฟ้า ได้ลูก เมีย ลูกน้อง
กลับคืนมาในโขลง
ช้างเผือกมงคลหัตถีซึ้งใจในคุณของเจ้าสุวัตร์ จึงพาเจ้าสุวัตร์ไปเวียงพางคำ
เมืองของนางเทพธิดา ซึ่งนางสุกกะรักและลูกทั้ง ๒ คนอาศัยอยู่
เจ้าสุวัตร์พบนางสุกกะรัก
และได้นางเทพธิดาเป็นเมีย (คนที่ ๖) เมื่อนางเทพธิดากลับมาใช้ชีวิตแบบมนุษย์
เวียงพางคำที่เป็นเมืองเนรมิตก็หายวับไป เจ้าสุวัตร์จึงต้องฝากเมียทั้ง ๒ นาง
และโอรส-ธิดา ไว้กับพระฤาษี ก่อนออกติดตามหานางบัวคำกับม้ากัณฐักต่อไป
เจ้าสุวัตร์กับม้ากัณฐักเดินทางมาถึงเมืองจำปาของนางบัวคำ
เจ้าสุวัตร์ได้ไปอาศัยอาหารจากโรงศาลาริมทาง
เมื่อไปอ่านภาพวาดที่เขียนเรื่องราวของพระองค์กับนางบัวคำก็ร้องไห้ คนเฝ้าศาลาริมทางจึงรีบไปบอกนางบัวคำ นางบัวคำกับเจ้าสุวัตร์จึงได้พบกัน
เจ้าสุวัตร์พามเหสีทั้ง
๖ นางมาอยู่กับพระฤาษี ต่อมาพระฤาษีเนรมิตม้าวิเศษให้เจ้าสุวัตร์พามเหสีทั้ง ๖ นาง
คือ นางบัวคำ (เกิดในดอกบัว) นางสมุทรชา (เงือก) นางสุกกะรัก
(มนุษย์แต่เป็นลูกสาวยักษ์) นางสุกันธา (ลูกสาวพญานาค) นางกินรี และนางเทพธิดา
กลับเมืองพาราณสี พร้อมกับโอรสนางบัวคำ คือ ทุกขะกุมาร และธิดานางสุกกะรัก ชื่อ
ไจยา
พญาอาทิตย์ยกเมืองพาราณสีให้เจ้าสุวัตร์ขึ้นครองราชย์
ต่อมาเจ้าสุวัตร์พานางบัวคำ ไปกราบพระฤาษีผู้เลี้ยงนางบัวคำมา
พระฤาษีได้สอนสั่งเจ้าสุวัตร์ให้ครองเมืองด้วยทศพิธราชธรรม ซึ่งเจ้าสุวัตร์ได้ปฏิบัติตามและครอบครองเมืองพาราณสีจนทำให้อาณาประชาราษฎร์มีความสุข
(ดูรายละเอียดได้ในบทละครพื้นบ้านล้านนา
เรื่อง เจ้าสุวัตต์-นางบัวคำ)
หนังสืออ้างอิง
ค่าวซอเรื่องธรรมเรื่องเจ้าสุวัตร์. เชียงใหม่ : ร้านประเทืองวิทยา
, มปพ.มปป.
(ข้อมูลบางแห่งกล่าวว่า
พญาพรหมเทพแต่ง หลัง พ.ศ.๒๔๐๐ ไม่นาน
ดูใน อุดม รุ่งเรืองศรี วรรณกรรมล้านนา. หน้า ๕๑๒ )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น