วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เนื้อเรื่องย่อค่าวซอในธรรม เรื่อง เจ้าสุวัตร์-นางบัวคำ หรือ โสวัต (ภาคกลาง)



เนื้อเรื่องย่อค่าวซอในธรรม เรื่อง
เจ้าสุวัตร์-นางบัวคำ หรือ โสวัต (ภาคกลาง)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมภพ  เพ็ญจันทร์
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม
๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๗

พญาอาทิตย์ เจ้าเมืองพาราณสี มีมเหสีชื่อนางจันทเทวี  มีโอรสองค์หนึ่งชื่อ เจ้าสุวัตร์ (โสวัต) ซึ่งคือพระโพธิสัตว์จุติลงมาเกิด เมื่อเจ้าสุวัตร์อายุ ๑๖ ปี พระบิดาปรารถนาจะหาพระชายาให้ แต่เจ้าสุวัตร์ก็ไม่ถูกพระทัยหญิงสาวคนใด กล่าวฝ่ายนางบัวคำ (นางปทุมมา) ซึ่งถือกำเนิดในดอกบัว พระฤๅษีมาพบเข้า จึงเก็บไปเลี้ยงไว้เป็นลูกบุญธรรม นางบัวคำเสี่ยงพวงมาลัยอธิษฐานให้พบเจอเนื้อคู่แล้วลอยลงในแม่น้ำ วันหนึ่งเจ้าสุวัตร์ลงเล่นน้ำ พวงมาลัยนาง  บัวคำก็ลอยเข้าสวมข้อมือเจ้าสุวัตร์ เจ้าสุวัตร์ประหลาดใจมาก จึงออกตามหาเจ้าของพวงมาลัยพร้อมกับม้ากัณฐกะ เจ้าสุวัตร์พบนางบัวคำที่ศาลากลางป่าคนเดียวจึงได้เกี้ยวพาราสีกัน นางบัวคำพาเจ้าสุวัตร์เข้าพบพระฤๅษี  พระฤๅษีทราบด้วยญาณวิเศษว่าทั้งสองเป็นเนื้อคู่กัน ก็ยกนางบัวคำให้เป็นมเหสีเจ้าสุวัตร์
ทั้งคู่อยู่ปรนนิบัติพระฤๅษีอย่างมีความสุข ช่วงเวลานั้นมียักษ์ตนหนึ่งได้มาลักม้ากัณฐักของเจ้าสุวัตร์หนีหายไป วันหนึ่งเจ้าสุวัตร์และนางบัวคำได้เข้าป่าเพื่อหาอาหาร  มีพรานป่าใจโฉดคนหนึ่งอยากได้นางบัวคำเป็นเมีย จึงได้ลอบยิงธนูสังหารเจ้าสุวัตร์และฉุดนางบัวคำไป พระฤๅษีได้มาช่วยเหลือชุบชีวิตเจ้าสุวัตร์ให้ฟื้น เจ้าสุวัตร์ต้องการออกตามหานางบัวคำและม้ากัณฐัก พระฤาษีจึงมอบของวิเศษให้ คือ น้ำมนต์วิเศษ ธนูสิงห์ และดาบแก้วกัญชัย  ฝ่ายนางบัวคำถูกพรานป่าจับตัวไป ได้ออกอุบายแกล้งบีบนวดให้พรานป่าจนม่อยหลับ  นางใช้มีดของนายพรานฆ่านายพรานตาย หนีกระเซอะกระเซิงไปเพียงลำพัง ขณะนั้นนางท้องได้ ๗ เดือนแล้ว
เจ้าสุวัตร์ออกตามหานางบัวคำและม้ากัณฐัก ไปเจอจระเข้ตัวหนึ่งนอนตายอยู่ นึกสงสารจึงใช้น้ำมนต์วิเศษชุบให้ฟื้น จระเข้กลับกลายเป็นหญิงสาวรูปงามนามว่า นางสมุทรชา (สมุดต๊ะจา) ซึ่งเป็นเงือกรักษาแม่น้ำแห่งนั้น เจ้าสุวัตร์ได้นางเป็นเมีย นางสมุทรชาช่วยเจ้าสุวัตร์ข้ามแม่น้ำใหญ่มาถึงเมืองยักษ์ชื่อยักษ์เวระมติ  เจ้าสุวัตร์ได้สนมยักษ์ชื่อนางสีวลีเป็นสนม   นางสีวลีได้ช่วยเหลือให้เจ้าสุวัตร์ได้ม้ากัณฐักซึ่งยักษ์เวระมติลักมากลับคืน  และยังช่วยให้เจ้าสุวัตร์ได้นางสุกกะรักลูกสาวยักษ์เวรามติเป็นเมียอีกด้วย เจ้าสุวัตร์ได้มอบแหวนให้นางสุกกะรักไว้ต่างหน้า (มาถึงตอนนี้ เจ้าสุวัตร์มีเมีย ๓ คนแล้ว คือ นางบัวคำ นางสมุทรชา นางสุกกะรัก ไม่นับนางสีวลีซึ่งเป็นเพียงนางสนม)    ต่อมายักษ์เวระมติรู้เรื่องเจ้าสุวัตร์แอบเป็นชู้กับลูกสาวตน จึงโกรธแค้นยกทัพมาหมายฆ่าเจ้าสุวัตร์ กลับถูกเจ้าสุวัตร์ฆ่าตาย เจ้าสุวัตร์จึงขี่ม้ากัณฐักออกตามหานางบัวคำต่อไป
ฝ่ายนางบัวคำ  ออกติดตามหาเจ้าสุวัตร์ ได้ถูกนายสำเภาฉุดขึ้นเรือหวังลวนลาม แต่นางตั้งจิตอธิษฐานจนนายสำเภาทั้งหลายไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวนางได้  เมื่อถึงโอกาสนางแอบหนีลงจากเรือสำเภาไปลงเรือเล็กพายหนีไป  บางบัวคำพายเรือมาเจอนางสุกกะรักซึ่งเหาะติดตามหาเจ้าสุวัตร์สามี นางสุกกะรักหมดแรงเหาะต่อไปจึงตกลงในแม่น้ำ นางบัวคำเห็นเข้าจึงช่วยเหลือ  เมื่อไต่ถามกันนางสุกกะรักบอกว่าออกตามหาสามีชื่อเจ้าสุวัตร์ นางบัวคำเห็นแวนที่นางสวมใส่ก็จำได้ รู้ว่าเจ้าสุวัตร์ยังไม่ตาย นึกดีใจ ทั้งสองจึงร่วมใจกันออกตามหาเจ้าสุวัตร์  เมื่อมาถึงชายฝั่ง นางบัวคำได้คลอดลูกออกมาเป็นชาย แต่ประสบเคราะห์กรรมถูกงูพิษกัดตาย นางสุกกะรักตกใจไม่รู้จะช่วยเหลืออย่างไร จึงอุ้มลูกชายนางบัวคำออกตามหาเจ้าสุวัตร์เพียงลำพัง
กล่าวฝ่ายพญาเจ้าเมืองจำปา ออกประพาสป่าล่าสัตว์มาถึงชายฝั่งน้ำ เห็นนางบัวคำนอนตายก็สงสาร จึงให้หมอช่วยกันรักษาจนนางฟื้นคืนชีวิตมาได้  พญาจำปาขอให้นางเป็นมเหสี แต่นางบัวคำขอเป็นเพียงธิดา โดยอธิษฐานให้น้ำนมไหลจากอกพญาจำปา ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นไปตามคำอธิษฐานพญาจำปาจึงรับนางเข้าเมือง นางบัวคำขอให้พญาเจ้าเมืองสร้างศาลาริมทางไว้หลังหนึ่ง ให้ช่างเขียนรูปเล่าเรื่องราวหนหลังของนางกับเจ้าสุวัตร์ สั่งความกับคนเฝ้าศาลาว่า หากเห็นผู้หนึ่งผู้ใดมาดูภาพวาดแล้วร้องไห้ ให้มาแจ้งแก่นาง
ฝ่ายนางสุกกะรัก อุ้มลูกของนางบัวคำรอนแรมมาในป่า นางเทพธิดาตนหนึ่งซึ่งอดีตชาติเคยเป็นมเหสีเจ้าสุวัตร์เกิดความสงสาร จึงเนรมิตเมืองขึ้นเมืองหนึ่งชื่อ เวียงพาง โดยเทพธิดาเป็นผู้ครองเมือง ซึ่งมีแต่ผู้หญิงล้วนไม่มีผู้ชายเลย นางเทพธิดาได้รับนางสุกกะรักและโอรสเจ้าสุวัตร์ที่เกิดกับนางบัวคำได้อาศัยอยู่  ต่อมานางสุกกะรักได้คลอดธิดา  นางจึงตั้งชื่อธิดาของนางว่า “ไชยา” และตั้งชื่อโอรสนางบัวคำว่า “ทุกขะกุมาร”
กล่าวถึงเจ้าสุวัตร์ออกตามหานางบัวคำพร้อมกับม้ากัณฐัก  เห็นพญาครุฑจับนาคโบยบินมาจึงช่วยเหลือพญานาค ใช้ธนูสิงห์ยิงพญาครุฑจนปล่อยนาคตกลงมาพื้นดิน พญานาคกลายเป็นมนุษย์ ขอบคุณเจ้าสุวัตร์ที่ช่วยชีวิต มอบธิดาชื่อ “นางสุกันธา” เป็นมเหสี (นับเป็นคนที่ ๔) เจ้าสุวัตร์ออกเดินทางต่อ ระหว่างทางได้นางกินรีเป็นมเหสี  (เป็นคนที่ ๕)
เจ้าสุวัตร์ออกเดินทางต่อ ได้ช่วยเหลือชุบชีวิตช้างเผือกเชือกหนึ่งชื่อมงคลหัตถี  ซึ่งตายเพราะช้างดำที่โหดร้ายชื่อ คีรีหว้ายฟ้า  เจ้าสุวัตร์ช่วยเหลือช้างเผือกมงคลหัตถี จนช้างเผือกมงคลหัตถีสามารถล้างแค้นฆ่าช้างดำคีรีหว้ายฟ้า ได้ลูก เมีย ลูกน้อง กลับคืนมาในโขลง  ช้างเผือกมงคลหัตถีซึ้งใจในคุณของเจ้าสุวัตร์ จึงพาเจ้าสุวัตร์ไปเวียงพางคำ เมืองของนางเทพธิดา ซึ่งนางสุกกะรักและลูกทั้ง ๒ คนอาศัยอยู่
เจ้าสุวัตร์พบนางสุกกะรัก และได้นางเทพธิดาเป็นเมีย (คนที่ ๖) เมื่อนางเทพธิดากลับมาใช้ชีวิตแบบมนุษย์ เวียงพางคำที่เป็นเมืองเนรมิตก็หายวับไป เจ้าสุวัตร์จึงต้องฝากเมียทั้ง ๒ นาง และโอรส-ธิดา ไว้กับพระฤาษี ก่อนออกติดตามหานางบัวคำกับม้ากัณฐักต่อไป
เจ้าสุวัตร์กับม้ากัณฐักเดินทางมาถึงเมืองจำปาของนางบัวคำ เจ้าสุวัตร์ได้ไปอาศัยอาหารจากโรงศาลาริมทาง เมื่อไปอ่านภาพวาดที่เขียนเรื่องราวของพระองค์กับนางบัวคำก็ร้องไห้  คนเฝ้าศาลาริมทางจึงรีบไปบอกนางบัวคำ  นางบัวคำกับเจ้าสุวัตร์จึงได้พบกัน
เจ้าสุวัตร์พามเหสีทั้ง ๖ นางมาอยู่กับพระฤาษี ต่อมาพระฤาษีเนรมิตม้าวิเศษให้เจ้าสุวัตร์พามเหสีทั้ง ๖ นาง คือ นางบัวคำ (เกิดในดอกบัว) นางสมุทรชา (เงือก) นางสุกกะรัก (มนุษย์แต่เป็นลูกสาวยักษ์) นางสุกันธา (ลูกสาวพญานาค) นางกินรี และนางเทพธิดา กลับเมืองพาราณสี พร้อมกับโอรสนางบัวคำ คือ ทุกขะกุมาร และธิดานางสุกกะรัก ชื่อ ไจยา 
พญาอาทิตย์ยกเมืองพาราณสีให้เจ้าสุวัตร์ขึ้นครองราชย์ ต่อมาเจ้าสุวัตร์พานางบัวคำ ไปกราบพระฤาษีผู้เลี้ยงนางบัวคำมา พระฤาษีได้สอนสั่งเจ้าสุวัตร์ให้ครองเมืองด้วยทศพิธราชธรรม ซึ่งเจ้าสุวัตร์ได้ปฏิบัติตามและครอบครองเมืองพาราณสีจนทำให้อาณาประชาราษฎร์มีความสุข
(ดูรายละเอียดได้ในบทละครพื้นบ้านล้านนา เรื่อง เจ้าสุวัตต์-นางบัวคำ)

หนังสืออ้างอิง
ค่าวซอเรื่องธรรมเรื่องเจ้าสุวัตร์. เชียงใหม่ : ร้านประเทืองวิทยา , มปพ.มปป.
(ข้อมูลบางแห่งกล่าวว่า พญาพรหมเทพแต่ง หลัง พ.ศ.๒๔๐๐ ไม่นาน
ดูใน อุดม  รุ่งเรืองศรี วรรณกรรมล้านนา. หน้า ๕๑๒ )

วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557

นาฏศิลป์หรือฟ้อนของล้านนา



นาฏศิลป์หรือฟ้อนของล้านนา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมภพ เพ็ญจันทร์
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

นาฏศิลป์หรือฟ้อนล้านนา มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นพิเศษเฉพาะตัว ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะมรดกทางวัฒนธรรมล้านนา ที่สั่งสม สืบทอดต่อมาเป็นระยะอันยาวนานนับพันปี  ในบทความครั้งนี้ ผมขอแบ่งอธิบายฟ้อนล้านนาเป็น ๓ ช่วงระยะเวลาคือ
            ช่วงที่ ๑ ฟ้อนตั้งแต่สมัยดั้งเดิม มาถึงฟ้อนในวังพระราชชายาเจ้าดารารัศมี (พ.ศ.๒๔๕๗)
  ช่วงที่ ๒ ฟ้อนในวังพระราชชายาเจ้าดารารัศมี (พ.ศ.๒๔๕๗) ถึง ก่อนตั้งวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ (พ.ศ.๒๕๑๓)
  ช่วงที่ ๓ ฟ้อนนับตั้งแต่ก่อตั้งวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๑๔ ถึง พ.ศ.๒๕๕๗)

ช่วงที่ ๑
ฟ้อนสมัยดั้งเดิมถึงฟ้อนในวังพระราชชายาเจ้าดารารัศมี (พ.ศ.๒๔๕๗)
ฟ้อนล้านนายุคดั้งเดิม จะกล่าวรวมๆ ตั้งแต่พระญามังรายตั้งเวียงเชียงใหม่ (พ.ศ.๑๘๓๙) หรือเมื่อประมาณ ๗๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา และสมัยพม่าปกครองเมืองเชียงใหม่และล้านนา เป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี (พ.ศ.๒๑๐๑-๒๓๑๗) โดยเราคงต้องหาร่องรอยหลักฐานจากวรรณกรรมต่างๆ ในที่นี้ขอสืบค้นร่องรอยจากหลักฐาน ๔ เล่ม คือ (๑) เรื่องจามเทวีวงศ์ ของพระโพธิรังสี แต่งเมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๐ อายุ ๕๐๐ ปี (๒) โคลงนิราศหริภุญชัย แต่งประมาณปี พ.ศ.๒๐๐๐-๒๑๘๑ อายุ ๕๐๐ ปี (๓)  เทศน์มหาชาติ กัณฑ์มหาราช ฉบับ ไม้ไผ่แจ้เรียวแดง ซึ่งมีอายุประมาณ ๓๐๐ ปี และ (๔) ตำนานพื้นเมืองฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปีนี้ ซึ่งระบุว่าใช้ฉบับวัดพระงาม จารเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๗ (จ.ศ.๑๒๑๖) อายุ ๒๐๐ ปี
(๑) ในเรื่องจามเทวีวงศ์ กล่าวไว้ตอนพระเจ้ามหันตยศมีพระประสงค์จะบูชาสรีรกิจของพระนางจามเทวี ไว้ว่า
“...แล้วเชิญพระศพไปยังสุสาน ด้วยเครื่องบูชาสักการใหญ่ กึกก้องไปด้วยการฟ้อนรำขับร้อง แวดล้อมไปด้วยบริวารเป็นอันมาก....(นัจ์จคีตวาทิตสังฆุฏ์เฐหิ)...”
“...แล้วจึงเชิญพระอัฏฐิธาตุนั้นมาโดมปัจฉิมทิศาภาคเหนือพระนคร ด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมด้วยเครื่องประโคม คือ กลอง แลสังข์ แลตะโพน แลบัณเฑาะว์ แลกลองยาว  มีเสียงอันไพเราะน่าฟัง....(นัจ์จคีตวาทิเตหิ เภรึสํขมุรชปัณ์ฑวมุขรสรสัท์ทวัน์เตหิ)......”
จากเหตุการณ์นี้พอจะเห็นภาพว่า ในอาณาเขตหริภุญไชยขณะนั้น มีความเชื่อเรื่องคนดีตายแล้วจะได้ไปสวรรค์ เมื่อพระนางจามเทวีสวรรคต จุติจากมนุษย์โลกนี้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต  และเพื่อเป็นการส่งดวงวิญญาณสู่สวรรค์ ก็มีบูชาด้วยการฟ้อนรำขับร้อง เป็นความเชื่อของศาสนาพุทธ ปะปนกับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์  (คล้ายกับการแสดงโขนหน้าไฟปัจจุบัน ที่เชื่อว่ากษัตริย์เป็นเทพเจ้า เมื่อสวรรคตแล้วก็เสด็จคืนสู่สวรรค์จึงต้องมีการแสดงเฉลิมฉลองด้วยเรื่องรามเกียรติ์)
(๒) โคลงนิราศหริภุญชัย ตอนที่บรรยายถึงงานนมัสการพระธาตุ แล้วมีกลุ่มช่างฟ้อนระบำมาฟ้อนหางนกยูง ความว่า
                   จิ่งเสลิยยอริยาตรฟ้อน     เฟือนฟัด
แวววาดหางยูงกวัด                  แกว่งเต้น
เงินทองระบำทัด                     ทอมทอด งามเอ่
ตามพวกคันธัพพ์เหล้น               หลากแล้หลายระบำ
บทโคลงนี้เล่าถึงการฟ้อนรำ ที่ใช้หางนกยูงมาประกอบการฟ้อน คนฟ้อนหรืออุปกรณ์การฟ้อนประดับด้วยเครื่องเงินเครื่องทอง และฟ้อนไปตามเพลงต่างๆ (ระบำ แปลว่า เพลง) ที่นักดนตรี (คนธรรพ์) เล่น
          ภมุกคิ้วค้อมโก่ง            โกทัณฑ์
แอวอ่อนกำพลพัน                   รวบรั้ง
กทลีลดาวัลลิ์                        ลมเพิก พัดเอ่
เพิงแพ่งพลับเต้าตั้ง                  เติ่งผังผายกระจวณ
          บทนี้แปลความได้ว่า คนฟ้อนคิ้วโก่งเหมือนคันธนู เอวคาดด้วยผ้าขนสัตว์ ลมพัดเปิดให้เห็นท่อนขางามดังท่อนหยวก อกเหมือนผลพลับที่กำจายกลิ่น (อธิบายให้เห็นภาพว่าผู้ฟ้อนเป็นผู้หญิง)
บางบทถุยท่อนติ้ว         เชิงชิน เช่นแม่
ยอบาทฉุยฉายยิน                   งึดด้วย
รอยเรียนแต่เดิมกิน                  นรีราช ชารือ
บุญค่อยชูชักส้วย                    สู่สู้สมสนอง
          บทนี้ แปลความได้ว่า ในบางบท คนฟ้อนซอยเท้าได้งดงามมากจริงๆ (หรือจับหิ้วเชิงผ้าแล้วซอยเท้าได้งามจริงๆ)  การใช้เท้าเยื้องกรายฉุยฉายไปมาก็น่าฉงนสนเท่ห์ หรือคนฟ้อนจะเรียนมาจากราชาแห่งกินรี จึงฟ้อนได้งามนัก ขอให้บุญช่วยชักนำพี่ให้เอนไปสมกับน้องด้วย (บทโคลงนี้บรรยายกิริยาท่าทางของผู้ฟ้อน น่าแปลกใจเหมือนกันที่มีคำว่า “ฉุยฉาย” ทำให้ผู้เขียนกระหวัดใจนึกไปถึง “รำฉุยฉาย” ในปัจจุบัน ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ที่ทางล้านนาจะมีรำฉุยฉาย ก็ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป)
          (๓) เวสสันตรชาดก ฉบับ ไม้ไผ่แจ้เรียวแดง กัณฑ์ที่ ๑๑ กัณฑ์มหาราช กล่าวถึงตอนท้าวสัญชัย สั่งให้ทหารและชาวบ้าน เตรียมจัดการต้อนรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ที่จะเสด็จกลับคืนนคร ความที่เกี่ยวข้องกับการฟ้อนว่าดังนี้
“...ดาบกับลาถือเอาหรอก ยาววาสอกปลาย ๓ ฝู เชิงกลิ้งดูไววาด ครุมครามคราดเยี้ยะธะลิงธะลาย ชะเลิยดาบเจื่องจ้าน แม่ ๔ ด้านเลิยไพ เชิงชายไวทรงแทบ เชิงหรอกอัน ๑ ชื่อว่าแม่หมัดนอนแกลบหลอนวาง เชิงหรอกอัน ๑ ชื่อว่าแม่เสือลากหางเหินหรอก ช้างงาทอกตวงเต็ก กำแพงเพ็กดินแตก พาดพกแวดไวเวียน อินท์ทือเทียนถ่อมถ้า เกินก่ายฟ้าสวักพระญาอินทร์ นางเกี้ยวเกล้าชินเชิงถี่ ช้องนางควี่เกล้าพ้น เพกชายส้นกินหยาบ ใจเคริงคราบปานไฟ ตีนมือไวเที่ยงเท้า...”
“...อัน ๑ ท่านทั้งหลายจุ่งตั้งไว้ยังน้ำทธิน้ำมันงาใหม่ สัปปิใส่นมง้ว เหล้าขมหนัวเข้าป้าง ชาวไร่ส้างแปลงไว้ต้อน หื้อคนฝูงช่างฟ้อนไพรอดยุกิน....
จากเวสสันดรชาดกฉบับดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าบรรยากาศในสมัยนั้น มี “ช่างฟ้อน” แล้ว และที่เขียนบรรยายไว้เป็นการ “ฟ้อนเจิงหอก”
(๔) ในหนังสือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี กล่าวว่า ในสมัยพระเจ้า      กาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง จนบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง ในปี พ.ศ.๒๓๓๙  มีการเฉลิมฉลองสมโภชเมืองด้วยการ “ขับฟ้อน” ความว่า
“...เมืองรัตตนติงสาพระนคอรเชียงใหม่ ... ประกอบไพด้วยเข้าเหล้าชิ้นปลาอาหาร พล้าว ตาล หมาก พลู ... เข้าหนาปลาถูก สนุกสุขสานต์ กินทานเหล้นมโหสรพ พอยลาม ช้อย ซอ สี่บทกันโลง ดีดสี ตีเป่า ขับฟ้อนต่างๆ เสียงภิภาด ค้อง กลอง ขลุ่ย แน แตรเหริน  แคน  ค้อย  ติ่ง  ธะล้อสีซอ เพียะ พิณ ปัณเฑาะว์ หอยสังข์ เปนอันสนั่นนันเนืองอุกขะหลุกชู่ค่ำเช้า  บ่หม่นหมองเส้าในสาสนา...”   
ตำนานพื้นเมืองฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปีนี้ ระบุว่าใช้ฉบับวัดพระงามซึ่งจารเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๗ (จ.ศ.๑๒๑๖) เป็นหลัก ถ้าดูปี พ.ศ. ก็พบว่าจารเมื่อ ๑๖๐ ปี ที่ผ่านมา แสดงว่าขณะนั้นมี “การฟ้อน” แล้ว และถ้าเชื่อว่ามีการฟ้อนจริงๆ ในเหตุการณ์ฉลองเมืองเชียงใหม่เมื่อ ปี พ.ศ.๒๓๓๙  “การฟ้อน” ก็มีมา ๒๑๘ ปีแล้ว  แต่ “การฟ้อน” ที่ว่านี้ จะมีฟ้อนอะไรบ้าง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ไม่ได้ระบุไว้ 
อาจารย์ธีรยุทธ  ยวงศรี (๒๕๔๐ : ๖๒) ได้เสนอไว้ว่า ฟ้อนพื้นเมืองของชาวล้านนา มี ๗ กระบวนฟ้อน คือ (๑) ฟ้อนแห่ครัวทาน หรือฟ้อนเล็บ (๒) ฟ้อนดาบ (๓) ฟ้อนเจิง (๔) ฟ้อนผีมด (๕) ฟ้อนหางนกยูง (๖) ฟ้อนแง้น (๗) ฟ้อนปั่นฝ้าย
๑. ฟ้อนแห่ครัวทาน หรือฟ้อนเล็บ (ถ้าไม่สวมเล็บบางท่านเรียกว่า ฟ้อนเมือง) สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฟ้อนที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่และล้านนามายาวนาน สังเกตดูได้จากเป็นการฟ้อนยืด-ยุบตามจังหวะง่ายๆ เป็นสามัญลักษณะไม่ซับซ้อน เป็นประเพณีรวมกลุ่มกันฟ้อนระบำรำเต้นเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน ส่วนการสวมเล็บนั้น ในปัจจุบันอาจจะมองว่าเพื่อความสวยงาม เป็นศิลปะ แต่สมัยโบราณนั้นพบว่าการสวมเล็บปลอมมักจะคู่กับการสวมหน้ากากในพิธีกรรมเข้าทรงของแม่มดหมอผี หัวหน้าเผ่าพันธุ์ ทั้งนี้เพื่อติดต่อเชื่อมโยงกับบรรพชนที่มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติให้มาช่วยรักษาโรค และบางทีเพื่อกำจัดเหตุร้ายต่างๆ๑๐ เรื่องของการทำมือหรือนิ้วมือให้ยาวโตเกินจริง ที่ใช้ประกอบการละเล่นหรือระบำรำเต้นในพิธีกรรม เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความเหนือมนุษย์ที่มีพลังอำนาจพิเศษ ทั้งการสวมหน้ากาก การสวมเล็บปลอม มีในพิธีกรรมดึกดำบรรพ์ของคนทุกชาติพันธุ์ในโลก ไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว เฉพาะในไทยมีหลักฐานจากภาพเขียนสีตามเพิงผาและผนังถ้ำ พบหลายแห่งทั่วทุกภาคตั้งแต่เหนือ อีสาน กลาง ใต้ ๑๑ เพราะฉะนั้น อาจจะสันนิษฐานได้ว่า ฟ้อนเล็บ เป็นที่เก่าแก่ของดินแดนล้านนาที่มานานนับพันปี โดยสืบทอด พัฒนามาจากพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษตามที่กล่าวมา
  เอกลักษณ์ของฟ้อนเล็บอีกประการหนึ่งคือ “ท่าฟ้อน” ถ้าเราตามรอยจากชื่อท่าฟ้อน คนเมืองหรือคนล้านนา ก็เรียกชื่อท่าฟ้อนเฉพาะของคนเมืองที่ไม่ตรงกับคนภาคกลาง (แม้ท่าจะคล้ายกันก็ตาม) เช่น ท่ายอน ท่าตักบ้วง ท่าก๋าตากปีก ฯลฯ ซึ่งชื่อท่าเหล่านี้คงจะสืบทอดกันปากต่อปากเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลจากนาฏศิลป์ราชสำนักสยาม ในสมัยพระราชาชายาเจ้าดารารัศมี
๒. ฟ้อนดาบ คงจะเป็นฟ้อนอาวุธที่มีมายาวนานแล้ว สังเกตจากชื่อท่าฟ้อนดาบของพ่อครูคำ  กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ ที่มีชื่อท่าหลายท่าที่เรียกคล้ายกันกับชื่อท่าเจิงหอก ในเทศน์มหาชาติฉบับไม้ไผ่แจ้เรียวแดง กัณฑ์มหาราช ชื่อท่าฟ้อนดาบของพ่อครูคำ กาไวย์ ประกอบด้วย ท่าบิดบัวบาน  เกี้ยวเกล้า  ล้วงใต้เท้ายกแหลก  มัดแกบก้องลงวาง  เสือลากหางเหล้นรอก  ช้างงาตอกต๋งเต็ก  กำแพงเพ็กดินแตก  ฟ้าแมบบ่ทันหัน  ช้างงาบานเดินอาจ    ปลาต้อนหาดเหินเหียน   อินทร์ทือเทียนถ่อมถ้า  เกิ๋นก่ายฟ้า  ส้วกก้นพญาอินทร์  แซวซูดน้ำบินเหิน  สางลายเดินเกี้ยวกล่อม  คีมไฮฮ่อม  ถีบโฮ้ง  ควงโค้งไหล่สองแขน  วนแวนล้วงหนีบ  ชักรีบแทงสวน  มนม้วนสีไคล  ชักแทงใหม่ถือสัน  ช้างตกมันหมุนวนเวียนรอบ  เสือคาบรอกลายแสง  สินส้น  สินปลาย  ลายแทง  กอดแยง  แทงวัน  ฟันโข่  บัวบานโล่  ลายสาง น้อมกราบก้มลงวาง๑๒
ท่าฟ้อนดาบของพ่อครูมานพ  ยาระณะ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๘ คือ ท่าสางหลวง ท่าสางเกิ่ง ท่าติดกะ ท่าปรมะ ท่าเกิ๊ดหาญ  ท่าต่างด้าม ท่าเขยาะก๋า-ท่าตอกด้าม ท่าออกวงเกวี๋ยน ท่าปู๋จาตะวัน ท่าสีไคลปิ้น ท่าสีไคล  ท่าหลดศอก  ท่าหลดศอกข้ามดาบ ท่าดาบผางประทีป ท่าต่อยด้าม ท่าสูนเก๊า ท่าสูนป๋าย ท่าหมอกคลุมเมือง ท่าแซวซูดน้ำ ท่าลงดาบ ท่าไหว้ดาบ๑๓
๓. ฟ้อนเจิง เป็นการฟ้อนที่มีมากสำนัก หลากหลายท่วงท่าลีลา เช่น ฟ้อนเจิงมือเปล่าของพ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ มีชื่อท่าคือ ตบขนาบ เกี้ยวเกล้าลายทาง เสือลากหางเหลียวเหล่า แม่ฮ้อยคำเล่าตี๋ไป แม่หมอบไหวหลบหลีก ก๋าตากปีกบินบน บะผาบมนลายถี่ จ๊องนางกี้เวียนวน เสือหมอบยนใส่เญื่อ บะก่ำเครือยุ่มผุก บะผาบตุบเหลียวหลัง เกิ้ดเกิ้งกั๋นฟ้าผ่า     วิ้ดวิ่งล่าเลยไป สาวไหมลายงามซึมซาบ ตบมะผาบจ๊างต้อดงวง๑๔
ท่าฟ้อนเจิงของพ่อครูมานพ  ยาระณะ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๘ คือ ท่าสางหลวงหรือท่าสางวงเกวี๋ยน ท่าปรมะ ท่าหานเจิง ท่าต่างเจิง ตบบะผาบเก้า ท่าขอพรแม่พระธรณี ท่าเขยาะก๋าถอยหลัง ท่าเขยาะก๋าไปด้านหน้าไล่ภัยไป ท่าสาวไหมแมงบ้ง ท่าฟ้อนยุ่ม ท่าติดกะ ท่าธรณีรีดผม ท่าบูชาตะวัน ท่าแมงม้าหางงอนหรือตั๊กแตนตำข้าว๑๕  
๔. ฟ้อนผีมดผีเม็ง เป็นการฟ้อนผีที่พบเห็นได้โดยทั่วไป ไม่มีท่วงท่าแน่นอนตายตัว แต่ก็เห็นร่วงรอยของการฟ้อนแบบพื้นบ้านอยู่พอสมควร (รวมถึงเห็นอิทธิพลของการแต่งตัวแบบมอญ และพม่าด้วย)
๕. ฟ้อนหางนกยูง เป็นฟ้อนที่มีอยู่ในคุ้มหลวง ถือเป็นฟ้อนประกอบอิสริยยศของเจ้าผู้ครองน่าน ใช้ฟ้อนนำหน้าขบวนเสด็จในโอกาสไปทำบุญที่วัดสำคัญๆ เช่น วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดพระธาตุเขาน้อย จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฟ้อนนำกินนำทาน” โดยผู้ฟ้อนจะสวมเสื้อราชปะแตน นุ่งผ้าโจงกระเบน ฟ้อนประกอบกับวงกลองที่ใช้ประโคมในงานนั้น เช่น วงกลองคุม วงกลองอืด วงกลองต๊อบส้อง เป็นต้น จุดประสงค์หนึ่งของการฟ้อนชนิดนี้ คือ เพื่อดูแลความเรียบร้อยของเส้นทางเสด็จ บางคราวมีชาวบ้านมาคอยชมบารมีของเจ้าผู้ครองนครอย่างเนืองแน่นจนกีดขวางเส้นทาง จึงต้องโบกหางนกยูงเพื่อเป็นสัญญาณขยายแนวถนน  เดิมให้สัญญาณโดยการใช้ดาบ แต่ดูแล้วไม่เป็นมิตรกับประชาชนและเกรงจะเป็นอันตราย จึงเปลี่ยนจากดาบเป็นหางนกยูงแทน ท่าฟ้อนมี ๗ ท่า คือ ถวายบูชาบิดบัวบาน นำทานสานเกี้ยวเกล้า สนเค้าก่อกุศล สนเข้ากาตากปีก ฟ้อนฟีกลายสาง สั่นหางอินทร์ทือเทียนถ่อมฟ้า และปลาเลียบหาดวาดงาม ๑๖    
๖. ฟ้อนแง้น เป็นการฟ้อนประกอบการขับซอของชาวเมืองน่าน เมืองแพร่ ปัจจุบันยังพบเห็นการฟ้อนแง้นอยู่โดยทั่วไป
๗. ฟ้อนปั่นฝ้าย เป็นการฟ้อนประกอบการขับซอทำนองปั่นฝ้ายของชาวเมืองน่าน เมืองแพร่ ต่อมาดัดแปลงเป็น “ฟ้อนสาวไหม” ผู้ฟ้อนมีทั้งหญิงทั้งชาย ซึ่งฟ้อนสาวไหมนี้มีหลากหลายลีลา บางท่านก็ดัดแปลงมาจาก “ฟ้อนเจิงสาวไหม” ซึ่งหาอ่านรายละเอียดได้ไม่ยากนัก
ถ้าเราศึกษาท่าฟ้อนแห่ครัวทานหรือฟ้อนเล็บ ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ฟ้อนผีมด ฟ้อนหางนกยูง ฟ้อนแง้น และฟ้อนปั่นฝ้าย โดยสามารถปฏิบัติหรือฟ้อนได้ เราก็จะเห็นภาพลางๆ ว่าฟ้อนของบรรพบุรุษในล้านนาของเรา มีท่วงท่าในการฟ้อนอย่างไร ถ้าศึกษาการฟ้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ท่าฟ้อนมองเซิงของชาวไตใหญ่บ้านภูมินทร์-ท่าลี่ อ.เมือง จ.น่าน ซึ่งมีท่าไหว้ ท่าบิดบัวบาน ท่ากาตากปีก ท่าแฮ้งปีกหัก ท่าเกี้ยวเกล้าส่องแว่น และท่าปลาเลียบหาด๑๗  ฟ้อนดาบชาวไตใหญ่ของครูส่างคำ  จางยอด ซึ่งมีท่าแม่กิมไฮ แม่กว้างหลวง แม่กว้างปลายฮ้วม แม่กาสิก แม่แซวสิดน้ำ แม่สางผม แม่เสือหมอบ แม่ต้องฟ้า แม่ต๋างกับ แม่ปอดแหวน แม่พันลาย แม่พันสิก แม่งาตั้ง แม่ฮ้อย และแม่เต๋าหาญ๑๘  ศึกษาท่าฟ้อนของชาวไตเขิน ไตยอง ไตลื้อ และไตอื่นๆ เราคงจะปะติดปะต่อภาพการฟ้อนล้านนาสมัยดั้งเดิมมาจนถึงยุคพระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้

ช่วงที่ ๒
ฟ้อนในวังพระราชชายาเจ้าดารารัศมี (พ.ศ.๒๔๕๗) ถึง ก่อนตั้งวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ (พ.ศ.๒๕๑๓)
          ตั้งแต่ยุคพระเจ้ากาวิละ (พ.ศ.๒๓๒๙) มาถึงยุคพระราชชายาฯ (พ.ศ.๒๔๕๗) ล้านนาได้กลายเป็นเมืองประเทศราชของสยาม ดังนั้น อิทธิพลจากราชสำนักสยาม (เมืองกอก) จึงได้ค่อยๆ แผ่อิทธิพลมาครอบงำล้านนา รวมถึงอิทธิพลทางด้านนาฏศิลป์ดนตรีด้วย มีเรื่องเล่ากันมาว่า พระเจ้าเชียงใหม่กาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๕ โอรสของพระเจ้ากาวิละ ได้เคยแสดงโขนเป็นตัวอินทรชิต เมื่อเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในรัชกาลที่ ๑   ๑๙
          อิทธิพลละครจากภาคกลางที่เห็นชัดเจน คือ ใน พ.ศ.๒๔๔๔ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ ๕ แต่งตั้งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๘  เจ้าหลวงองค์ใหม่ได้ปฏิวัติกิจการบางอย่างในคุ้มหลวง  โดยจัดตั้งให้มี “เขน” หรือทหารรักษาการณ์ มีหน้าที่เล่นละคร ทรงให้มีคณะละครในคุ้มหลวงตามแบบราชสำนักทางกรุงเทพฯ มีโรงละครใหญ่ตั้งอยู่ในคุ้มหลวง (บริเวณโรงเรียนยุพราชในปัจจุบัน) เปิดการแสดงให้ประชาชนดูอย่างเสรี ไม่มีการเก็บเงิน พ่อเจ้าได้นำครูละครผู้หนึ่งชื่อ แม่ครูจาด มาทำการฝึกสอน โดยนำมาจากกรุงเทพฯ แม่ครูจาดนี้เดิมเป็นคนของเจ้าอุปราชบุญทวงศ์ ละครที่เล่นในสมัยนั้นเป็นละครรำ เช่น พระอภัยมณี, ลักษณวงศ์ และอิเหนา ตัวละครที่มีชื่อเสียง เช่น หม่อมผาด (บุษบา)  หม่อมวาด (อิเหนา) หม่อมแส (จินตหรา,มะเดวี) หม่อมพัน (ดาหา) หม่อมโหมด หม่อมทิม  หม่อมคำ  และหม่อมแมว  ซึ่งส่วนมากเป็นหม่อมของเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์  ๒๐
พ.ศ.๒๔๕๑-๒๔๕๒ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีในรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จกลับเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๑ ได้ทรงจัดฝึกซ้อมละครเรื่อง พระลอตอนพระลอตามไก่, สาวเครือฟ้า และอิเหนาตอนตัดดอกลำเจียกจนถึงบุษบาสี่ยงเทียน ให้คณะละครรำของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๘ เพื่อแสดงในงานฉลองกู่พระญาติวงศ์ ณ วัดสวนดอก ๒๑
พ.ศ.๒๔๕๗ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีในรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จกลับเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ และประทับอยู่อย่างถาวร ณ คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง ของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ พระราชชายาฯ ได้ทรงนำละครเรื่องสุวรรณหงส์และนารายณ์ปราบนนทุกมาแสดง โดยดัดแปลงให้เข้ากับศิลปะละครรำของภาคเหนือ ๒๒

          ร่องรอยที่พบอีกคือ วรรณกรรมคำคร่าวของล้านนา ซึ่งแต่งประมาณสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เขียนเรื่องการเฉลิมฉลองสมโภช โดยมีชื่อการแสดงของสยามมากมาย เช่น คร่าวซอเรื่อง บัวระวงส์หงส์อามาต  จากเอกสารใบลาน (ไม่ทราบปีที่จาร) กล่าวถึงตอนราชาภิเษกบัวระวงส์ขึ้นครองเมืองว่า
“...หื้อป่าวเกณฑ์กั๋น  ช่าวซอช่างจ๊อย  มีทังขลุ่ยแก้วแควง (แตรวง) / ทังซึงสะล้อ พินพาดเหล้นโขน สายหนังหุ่นยนต์ เหล้นกลแบบห้อ...” ๒๓
คร่าวซอเรื่อง หงส์หิน แต่งโดยเจ้าสุริยะวงษ์ (ประมาณหลัง พ.ศ.๒๔๐๐) กล่าวถึงตอนราชาภิเษกเจ้าหงส์หินขึ้นครองเมืองว่า
“...กันว่าแล้ว เสร็จสัพยังก๋าร ก็ตั้งแต่งงาน โดยก๋ารละเหล้น /....... / กล๋องแขกรำกริด มองเซิงต่องสู้ เซิ้งลาวแคนป่าวนับ / ยิ่งซอนัน เชิงกั๋นกั่งกั๊ด ฟ้อนม่านเต้นรำทวน / ละครป่าวร้อง พิพาทย์ก๋องก๋วน หลายคะบวน  ซะป๊ะเครื่องเหล้น /........ / หล้างผ่องนั้น ผ่อเหล้นโขนหนัง เมื่อกลางวันยัง เถิงเดิ้กเตี่ยงข้อน / อุ้มลูกจู๋งหลาน ห่อเข้ามาป้อน เมาละครม่านเงี้ยว...” ๒๔
          การละเล่น “แตรวง” “รำกริช” “การตีกลองแขก” “ละคร” “พิณพาทย์” “โขน” “หนัง” ที่คนล้านนาเชียงใหม่ในขณะนั้นได้ดู ล้วนเป็นอิทธิพลของนาฏศิลป์ดนตรีจากราชอาณาจักรสยามทั้งสิ้น
          พระราชชายาฯ ทรงเอาพระทัยใส่ฟ้อนพื้นเมืองทางเหนือเป็นอย่างมาก ทรงหัดลูกหลานของเจ้านายฝ่ายเหนือที่เข้ามาถวายตัวอยู่ในวังกับพระองค์ท่าน ให้เป็นช่างฟ้อนประจำวัง และถึงแม้จะอยู่คุ้มเจ้านายอื่น หรือเป็นลูกหลานของมหาดเล็กและข้าหลวง หากทรงเห็นว่ามีแววก็จะรับสั่งให้เข้ามาซ้อมในวังด้วยและออกแสดงในเวลาที่มีงานเฉลิมฉลองต่างๆ แม่ครูที่สอน เป็นช่างฟ้อนคุ้มเจ้า     อินท วโรรสฯ อาทิ หม่อมวาด หม่อมแส  หม่อมพันธ์  หม่อมคำ ครูหลง ครูเผื่อน ครูตุ้ย นายน้อย  ชมภูรัตน์, นายบาง วาฤทธิ, สุดใจ ไม่ทราบนามสกุล และวันดี  จุฬานนท์ ระบำและฟ้อนที่โปรดให้ฝึกมีหลายประเภท เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนม่านแม่เล้ ฟ้อนม่านมุ้ยเซียงตา ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนมอญหรือผีมด จีนรำพัด ระบำงู  ๒๕
นอกจากนี้ยังมีครูสอนนาฏศิลป์ไทยสองท่านที่มีชื่อเสียงว่าเป็นคนเก่งมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเคยเป็นนักแสดงอยู่ในวังสวนกุหลาบและในวังเพชรบูรณ์  ๒ ท่าน คือ ครูลมุล  ยมะคุปต์ และครูเฉลย  ศุขะวณิช  ได้ขึ้นไปช่วยสอนและออกแบบท่าละครและการฟ้อนรำถวาย จนได้ไปคิดท่าฟ้อนต่างๆ อาทิ ฟ้อนโยคีถวายไฟให้เป็นผลสำเร็จ ๒๖ ด้านดนตรีไทยก็มีครูรอด  อักษรทับ ครูชั้น  อักษรทับ  ครูฉัตร  สุนทรวาทิน  ครูช่อ  สุนทรวาทิน  มาช่วยสอน ๒๗ ศิลปะด้านดนตรี ขับร้อง และการฟ้อนรำของพระราชพระราชชายาฯ จึงได้รับอิทธิพลจากราชสำนักกรุงเทพฯ เข้ามาปะปนไม่มาก็น้อย และอิทธิพลของนาฏศิลป์ดนตรีไทย ยังแผ่ขยายมาถึงดนตรีและการแสดงพื้นเมืองด้วย ดังเช่นที่พ่อครูมานพ  ยาระณะ ศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวไว้ว่า ท่านได้เรียนการตีมองเซิงแบบราชสำนักพระราชชายาฯ จากครูรอด  อักษรทับ๒๘
ต่อไปนี้จะกล่าวถึงฟ้อนล้านนา รูปแบบพระราชชายาเจ้าดารารัศมีพอสังเขป
(๑) ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเมือง หรือ ฟ้อนเทียน มีท่าฟ้อนที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของราชสำนักสยามในบางท่า ประกอบด้วย ท่าไหว้ ท่าบิดบัวบาน ท่ากลางอัมพร ท่าสอดสูงจีบหลัง ท่าบัวชูฝัก ท่ากราย ท่าสะบัดจีบ ท่าผาลาเพียงไหล่ ท่าสอดสร้อย ท่ากินนรรำ ท่ายอดตอง ท่าพรหมสี่หน้า ท่ากระต่ายต้องแร้ว ท่าจีบคู่งอแขน ท่ายอนมือ ท่าตากปีก (สำหรับท่าเชื่อมมี ๓ ท่า คือ ท่ากังหันร่อน ท่าจีบส่งหลัง และท่าตั้งวง) ๒๙
(๒) ฟ้อนม่าน มี ๒ ชุด คือ ฟ้อนม่านมุ้ยเซียงตา ๓๐  กับฟ้อนม่านแม่เล้ คำว่า “ม่าน” เป็นคำเรียกชาวพม่าของคนล้านนาในสมัยนั้น ฟ้อนทั้ง ๒ ชุด จึงมีลีลาท่าฟ้อนแบบพม่าและไทยผสมกัน
(๓) ฟ้อนเงี้ยว คำว่า “เงี้ยว” เป็นคำเรียกของคนล้านนาที่เรียกชาวไทใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐฉาน ในประเทศสหภาพเมียนมาร์ ชาวเงี้ยวหรือชาวไทยใหญ่ เดินทางติดต่อกับล้านนามาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ๓๑ 
(๔) ฟ้อนน้อยไจยาและนางแว่นแก้ว เป็นฟ้อนที่อยู่ในละครร้องเรื่องน้อยไจยา ซึ่งพระราชชายาฯ โปรดให้จัดการแสดงขึ้น ๓๒ 



ช่วงที่ ๓
ฟ้อนนับตั้งแต่ก่อตั้งวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๑๔ ถึง พ.ศ.๒๕๕๗)
          วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ ตามนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้นที่ต้องการอนุรักษ์ เผยแพร่ นาฏศิลป์และดนตรีไทยไปสู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย และส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ นาฏศิลป์และดนตรีพื้นบ้านพื้นเมืองควบคู่กันไป ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ จึงได้สร้างสรรค์ฟ้อนล้านนาขึ้นใหม่หลายชุด ตลอดเวลา ๔๓ ปีที่ก่อตั้งวิทยาลัยฯ มา ภายใต้การควบคุมและอาศัยความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ของศิลปินแห่งชาติ ๓ ท่าน คือ
          ๑. พ่อครูคำ  กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ สร้างสรรค์ฟ้อนสาวไหมชาย-หญิง๓๓     ฟ้อนวี๓๔  ฟ้อนกมผัด  ฟ้อนโจ้ข้าว  ปะถะมะลายเจิง
๒. แม่ครูสมพันธ์  โชตนา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ อดีตช่างฟ้อนในวังพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีผลงานสร้างสรรค์ คือ ระบำชาวเขา ระบำชาวเขา ๒ เผ่า ๓๕
          ๓. พ่อครูมานพ  ยาระณะ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๘ สร้างสรรค์ฟ้อนผางชาย  ฟ้อนผางหญิง  ฟ้อนหอก  ฟ้อนเจิง  ฟ้อนฉาบ  ฟ้อนสาวไหมแมงบ้ง
          นอกจากนี้วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ยังได้สร้างสรรค์ฟ้อนล้านนาชุดใหม่ โดยคณะครูของวิทยาลัยฯ อีกหลายชุด เช่น ฟ้อนที ๓๖  ฟ้อนนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่  เป็นต้น
          ยังมีฟ้อนล้านนาชุดใหม่ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยมหาวิทยาลัย โรงเรียน และสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในรอบ ๔๐ ปีที่ผ่านมาอีกมากมาย เช่น ฟ้อนจ้อง ฟ้อนก๋ายลาย ฟ้อนหริภุญชัย ฟ้อนละกอน ฟ้อนขันดอก ฯลฯ

สรุป
          นาฏศิลป์หรือฟ้อนล้านนา ก็เปรียบประดุจสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตทั่วไป ที่มีวัฎจักรของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ฟ้อนล้านนากำเนิดขึ้นควบคู่ไปกับอาณาจักรล้านนา ซึ่งเคยรุ่งเรือง ร่วงโรย ไปตามกระแสแห่งกาลเวลา อย่างไรก็ตามศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่กับมวลมนุษยชาติ ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ศิลปะก็จะดำรงคงอยู่ตลอดไป เช่นเดียวกับนาฏศิลป์หรือฟ้อนล้านนา ที่ต้องอยู่เคียงคู่ไปกับคนล้านนาตลอดไป.

เชิงอรรถ

พระโพธิรังษี. จามเทวีวงศ์. ๒๕๕๔ หน้า ๒๑๑
เรื่องเดียวกัน หน้า ๒๑๒
อุดม รุ่งเรืองศรี. “โคลงนิราศหริภุญชัย” ใน วรรณกรรมล้านนา. ๒๕๔๖ หน้า ๓๘๕
เรื่องเดียวกัน หน้า ๓๘๕
เรื่องเดียวกัน หน้า ๓๘๕
อุดม รุ่งเรืองศรี. เวสสันตรชาดก ฉบับ ไม้ไผ่แจ้เรียวแดง. ๒๕๔๕ หน้า ๔๐๘
เรื่องเดียวกัน หน้า ๔๑๐
วิทยาลัยครูเชียงใหม่. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. ๒๕๔๕ หน้า ๔๐๘
ธีรยุทธ  ยวงศรี.  ๒๕๔๐ หน้า ๖๒
๑๐ สุจิตต์ วงษ์เทศ “หน้ากากและเล็บปลอม เพื่อพลังศักดิ์สิทธิ์ในโขนละคร” ใน มติชนสุดสัปดาห์.
ฉบับประจำวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน – ๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ หน้า ๗๗
๑๑ เจนจิรา  เบญจพงศ์ “สวมเล็บปลอมสมมติคนให้พิเศษในพิธีกรรม” ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์.
ฉบับวันศุกร์ที่ ๑๑ – วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ หน้า ๔๖
๑๒ สนั่น  ธรรมธิ.  นาฏดุริยการล้านนา. สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เชียงใหม่ : สุเทพการพิมพ์, ๒๕๕๐.
๑๓ ศราวุฒิ  กันธาและคณะ.  ฟ้อนดาบ : กรณีศึกษาพ่อครูมานพ  ยาระณะ ศิลปินแห่งชาติ
พุทธศักราช ๒๕๔๘. ศิลปนิพนธ์หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา ภาควิชานาฏศิลป์ศึกษา คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (ห้องเรียนเครือข่ายวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่) พ.ศ.๒๕๕๕
๑๔ สมภพ  เพ็ญจันทร์และคณะ.  ปะถะมะลายเจิง. เอกสารประกอบการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์
ประจำปี ๒๕๕๖ ของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม
๑๕ วิกานดา  ดวงสมรและอุษณีย์  คำนนท์คอม.  เจิงมือเปล่า : กรณีศึกษาพ่อครูมานพ  ยาระณะ
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน พุทธศักราช ๒๕๔๘. ศิลปนิพนธ์หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา ภาควิชานาฏศิลป์ศึกษา คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (ห้องเรียนเครือข่ายวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่) พ.ศ.๒๕๕๕
๑๖ ยุทธพร  นาคสุข.  วงกลองเมืองน่าน : วงกลองคุม วงกลองอืด วงกลองล่องน่าน (มงสดสึ้ง)
และฟ้อนล่องน่าน. เชียงใหม่ : มรดกล้านนา, ๒๕๕๐.
๑๗ ภมรพรรณ  พุทธิและคณะ.  ฟ้อนมองเซิง : กรณีศึกษาชุมชนบ้านภูมินทร์-ท่าลี่. ศิลปนิพนธ์
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา ภาควิชานาฏศิลป์ศึกษา คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (ห้องเรียนเครือข่ายวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่) พ.ศ.๒๕๕๖
๑๘ วสันต์  ติ๊บจา.  ฟ้อนดาบไต : กรณีศึกษาครูส่างคำ  จางยอด. ศิลปนิพนธ์หลักสูตรศึกษาศาสตร
บัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา ภาควิชานาฏศิลป์ศึกษา คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (ห้องเรียนเครือข่ายวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่) พ.ศ.๒๕๕๓
๑๙ ธีรยุทธ  ยวงศรี.  ๒๕๔๐ หน้า ๖๒
๒๐ ธนิต  อยู่โพธิ์. “ตำนานโขนหลวง” ใน  โขน.  พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา,
๒๕๓๙.
๒๑ ศศิธร  ณ พัทลุง. เพ็ชรล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ ๒ เชียงใหม่ : บริษํทนอร์ทเทิร์น พริ้นติ้ง จำกัด,
๒๕๓๘.
๒๒ นงเยาว์  กาญจนจารี. ดารารัศมี. พิมพ์ครั้งที่ ๒ เชียงใหม่ : สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, ๒๕๔๑
๒๓ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูเชียงใหม่. บัวรวงส์หงอามาต. นักศึกษาวิชาเอกวัฒนธรรมศึกษา
รุ่นที่ ๑ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ปริวรรตจากต้นฉบับอักษรล้านนาของคุณทวี สว่างปัญญากูร
เอกสารลำดับที่ ๒๒ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สหวิทยาลัยล้านนาเชียงใหม่ กรกฎาคม ๒๕๓๐
(อัดสำเนา)
๒๔ เจ้าสุริยะวงษ์. ค่าวซอเรื่องธรรมหงส์หิน. เชียงใหม่ : ประเทืองวิทยา, มปป.
๒๕ นงเยาว์  กาญจนจารี. ดารารัศมี. พิมพ์ครั้งที่ ๒ เชียงใหม่ : สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, ๒๕๔๑
๒๖ รุจิพร  ประชาเดชสุวัฒน์. ดารารัศมี สายใยรักสองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒.
๒๗ พูนพิศ  อมาตยกุล. “พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระจริยาวัตรและงานส่งเสริมการดนตรีและ
นาฏศิลป์ของชาติไทย” ใน ดารารัศมี. พิมพ์ครั้งที่ ๑ เชียงใหม่ : สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, ๒๕๔๒
๒๘ เฉลิมภัทร  ขำสุวรรณ์. ศิลปะการตีกลองมองเซิง : กรณีศึกษาครูมานพ  ยาระณะ
ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๘. ศิลปนิพนธ์หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา ภาควิชานาฏศิลป์ศึกษา คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (ห้องเรียนเครือข่ายวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่) พ.ศ.๒๕๕๓
๒๙ ดิษฐ์  โพธิยารมณ์และคณะ. ฟ้อนเมือง รูปแบบพระราชชายาเจ้าดารารัศมี. โครงการธำรงรักษา
ดนตรี การแสดง และการละเล่นพื้นบ้านด้วยระบบการศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่, ๒๕๕๐.
๓๐ ทัดดาว เปี่ยมสุวรรณ์. ฟ้อนม่านมุยเซียงตาชาย-หญิง. เอกสารประกอบการสอนรายวิชา 
นาฏศิลป์ไทย (ละคร) ๘ ชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพปีที่ ๓ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่, ๒๕๕๓.
๓๑ สุกัญญา  ชมภูรัตน์. ฟ้อนเงี้ยวภาคเหนือ. เอกสารประกอบการสอนรายวิชา ศ ๒๒๒๐๑
นาฏศิลป์ไทย (ละคร) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่, ๒๕๕๔.
๓๒ ทิพวรรณ  กรรมสิทธิ์. ฟ้อนน้อยไจยา-แว่นแก้ว. เอกสารประกอบการสอนรายวิชา 
นาฏศิลป์ไทย (ละคร) ๙ ชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพปีที่ ๓ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่, ๒๕๕๔.
๓๓ ศิริเพ็ญ  วิไลลักษณ์เลิศ. ฟ้อนสาวไหม. บทเรียนคอมพิเวอตร์ช่วยสอนวิชานาฏศิลป์ไทย (ละคร)
          ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่, ๒๕๕๑.
๓๔ สุกัลยา  ตั้นชีวะวงศ์. ฟ้อนวี. เอกสารประกอบการสอนรายวิชานาฏศิลป์ไทย (ละคร)
ชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพปีที่ ๑ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่, ๒๕๕๓.
๓๕ จิรากัน  รัตนทัศนีย์. ระบำชาวเขาเผ่าลีซอ (ลีซู). เอกสารประกอบการสอนรายวิชา 
นาฏศิลป์ไทย (ละคร)  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่, ๒๕๕๓.
๓๖ ฐิติรัตน์  สุวรรณอาภรณ์. ฟ้อนที. เอกสารประกอบการสอนรายวิชานาฏศิลป์ไทย (ละคร) ๔
ชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพปีที่ ๑ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่, ๒๕๕๔.