วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง เรือม ตารี

นาฏศิลป์ไทย
ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง เรือม ตารี
                ระบำ  รำ  ฟ้อน  เซิ้ง  เรือม  ตารี (Taree)  เป็นคำนำหน้าชื่อเรียกการแสดงที่แสดงคนเดียวหรือเป็นหมู่ แต่ไม่มีเรื่องราว ไม่มีพระเอก นางเอก ผู้ร้าย เหมือนโขน ละคร ลิเก ฯลฯ เน้นเพียงความสนุกสนาน ครึกครื้น สวยงาม มีการแปรแถวที่หลากหลาย มีเครื่องแต่งกายวิจิตรสวยงาม แสดงถึงวัฒนธรรมของชุมชนถิ่นนั้น มีการบรรเลงดนตรีประกอบ บางชุดการแสดงอาจจะมีเพลงร้องด้วย
  สาเหตุที่เรียกชื่อการแสดงแตกต่างกันไป โดยเรียกทั้ง ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง เรือม ตารี นั้น ก็เป็นเพราะ “ภาษา”  ที่แตกต่างกันนั่นเอง ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ต่างก็เรียกว่า “Dance” เหมือนกัน แต่ถ้าแยกตามภูมิภาคของไทย จะแยกได้ดังนี้
·         ภาคกลาง              เรียกว่า  ระบำ และ  รำ
·         ภาคเหนือ             เรียกว่า ฟ้อน
·         ภาคอีสานตอนบน (ไทย-ลาว)         เรียกว่า ฟ้อน และ เซิ้ง (“เซิ้ง” แปลว่า การร้อง ดังนั้น การเซิ้ง ก็คือ การร้องไปด้วย ฟ้อนไปด้วยพร้อมๆกัน เช่น เซิ้งบั้งไฟ เป็นต้น)
·         ภาคอีสานตอนล่าง (ไทย-เขมร)      เรียกว่า เรือม แปลว่า รำ
·         ภาคใต้ตอนบน    เรียกว่า  รำ และ ระบำ
·         ภาคใต้ตอนล่าง (ไทย-มลายู)           เรียกว่า  ตารี (Taree) แปลว่า ระบำ
แม้ว่าโดยหลักๆ แล้ว เราจะเรียกการแสดงที่ไม่เน้นเรื่องราวนี้ว่า ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง เรือม ตารี แตกต่างกันไปตามภูมิภาค หรือ ท้องถิ่นนั้นๆ ก็ตาม  แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยเราเป็นรัฐหนึ่งเดียว ใช้ภาษาเดียวกันทั่วประเทศ โดยใช้ภาษาไทยกลาง ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ดังนั้น จึงมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านภาษากัน โดยเฉพาะคนท้องถิ่นต้องเรียนภาษาไทยกลาง ทำให้การเรียกชื่อ ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง เรือม ตารี ปะปนกันไป  ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือ เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม นักปราชญ์ราชบัณฑิต ผู้รู้ และครูบาอาจารย์ด้านนาฏศิลป์ไทย ได้พยายามให้ความหมาย หลักการ ในการแยกแยะหรือเรียกชื่อชุดการแสดง ว่าชุดใด คือ “ระบำ”  หรือ “รำ” ไว้ ดังต่อไปนี้
๑.      ความหมาย
ก.      “ระบำ” หมายถึง
“การฟ้อนรำเป็นชุดกัน ฟ้อนรำเป็นชุดกัน”  (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน : ๒๕๒๕)  
“ศิลปะแห่งการรำประเภทต่างๆ ที่ผู้แสดงรำพร้อมกันเป็นหมู่” (จาตุรงค์  มนตรีศาสตร์  : ๒๕๒๗)
“การฟ้อนร่วมกันเป็นหมู่หรือกลุ่ม โดยไม่มีเรื่อง ไม่มีนิยาย” (สุจิตต์  วงษ์เทศ : ๒๕๓๒)
“การแสดงนาฏยศิลป์ตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ด้วยวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง มีการดำเนินกระบวนฟ้อนรำตั้งแต่ต้นจนจบในเวลาอันสั้น ประกอบด้วยดนตรี อาจมีบทร้อง อุปกรณ์การฟ้อนรำ ไม่มีตัวละครดำเนินเรื่อง” (สุรพล  วิรุฬห์รักษ์ : ๒๕๔๙)     
ข.      “รำ” หมายถึง
“กิริยาแสดงท่าเคลื่อนไหวคนเดียวหรือหลายคน โดยมีลีลาและแบบท่าของการเคลื่อนไหว และมีจังหวะลีลาเข้ากับเสียงที่ทำจังหวะ เพลงร้อง หรือเพลงดนตรี, อาการที่แสดงท่าคล้ายคลึงเช่นนั้นฟ้อน”  (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน : ๒๕๒๕) 
“ศิลปะแห่งการรำเดี่ยว รำคู่ เช่น รำฉุยฉาย รำอาวุธ ถ้าหนักไปทางเต้นก็มี เช่น รำโคม” (จาตุรงค์  มนตรีศาสตร์  : ๒๕๒๗)
“การละเล่นเดี่ยวหรือคู่ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับอาวุธและการต่อสู้ เช่น รำดาบ รำกระบี่กระบอง รำเขนง รำพัดชา ใกล้เคียงกับคำว่าว่า เต้น จึงใช้ รำเต้น” (สุจิตต์  วงษ์เทศ : ๒๕๓๒)
ค.      “ฟ้อน” หมายถึง
“รำ, ระบำ ”  (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน : ๒๕๒๕) 

๒.    หลักการเรียกว่า “ระบำ” “รำ” “ฟ้อน” “เซิ้ง” “เรือม” “ตารี”
หลักการที่เราจะเรียกการแสดงชุดใดว่า “ระบำ” “รำ” “ฟ้อน” “เซิ้ง” “เรือม” หรือ “ตารี” นั้น อาจจะใช้หลักการต่อไปนี้
รำ หรือ ระบำ
๑.      ถ้ามีคนรำคนเดียว เรียกว่า “รำ” เท่านั้น เช่น รำฉุยฉาย รำสีนวล รำมโนห์ราบูชายัญ รำพลายชุมพล รำอวยพร รำแม่บทนางนารายณ์ ฯลฯ
๒.    ถ้ามีคนรำ ๒ คน หรือ รำคู่
๑)     รำคู่เชิงอาวุธ เรียกว่า “รำ” เท่านั้น เช่น รำพลอง-ไม้สั้น รำกระบี่-กระบอง ฯลฯ
๒)    รำคู่เบิกโรง เรียกว่า “รำ” เท่านั้น  เช่น รำฉุยฉายกิ่งไม้เงินทอง รำประเลง ฯลฯ
๓)    รำที่ตัดตอนจากโขน-ละคร แต่ละตัวมีบทบาทของตนเอง เรียกว่า “รำ” เท่านั้น  เช่น  รำพระรามตามกวาง รำพระลอตามไก่  รำย่าหรันตามนกยูง รำหนุมานจับนางเบญกาย รำรถเสนจับม้า ฯลฯ
๔)    รำคู่ แต่ของเดิมคือการรำเดี่ยวมาก่อน ให้เรียก “รำ” ตามชื่อเดิม เช่น รำสีนวล รำฉุยฉาย เป็นต้น ไม่ให้เรียกว่า “ระบำ”
๕)    ถ้ารำ ๒ คน นอกเหนือจากที่กล่าวมา อาจเรียกได้ทั้ง รำ และ ระบำ เช่น รำสุโขทัย หรือ ระบำสุโขทัย,  รำประทีปทอง หรือ ระบำประทีปทอง เป็นต้น
๓.     ถ้ามีคนรำ ๓ คนขึ้นไป
๑)     ถ้าของเดิมเป็นการรำเดี่ยว ให้เรียกว่า “รำ” เท่านั้น เช่น รำฉุยฉาย รำสีนวล ฯลฯ ไม่ให้เรียกว่า ระบำฉุยฉาย ระบำสีนวล ฯลฯ
๒)    ถ้าเป็นรำที่ดัดแปลงมาจากของต่างชาติ  นิยมเรียกว่า “รำ” มากกว่า “ระบำ” เช่น จีนรำพัด ญวนรำกระถาง  เป็นต้น
๓)    ถ้าเดิมเป็นรำหมู่ของชาวบ้าน นิยมเรียกว่า “รำ” ไม่เรียก “ระบำ” เช่น รำวงแบบบท รำวงมาตรฐาน รำโทน รำวงหน้านาค รำมังคละ เต้นกำรำเคียว รำกลองยาว รำเหย่อย เป็นต้น
๔)    ถ้าผู้รำแต่งยืนเครื่อง หรือ แต่งนางใน นิยมเรียกว่า “ระบำ” เช่น ระบำเทพบันเทิง ระบำพรหมาสตร์ ระบำกฤดาภินิหาร ระบำฉิ่ง ระบำกรับ ฯลฯ
๕)    ถ้าตัดตอนมาจากละคร โขน มักเรียกว่า “ระบำ” เช่น  ระบำกวาง ระบำบันเทิงกาสร     ระบำปลา ระบำเงือก ระบำนกเขา ฯลฯ
๖)     ถ้าเป็นการแสดงแบบพื้นเมือง หรือของท้องถิ่นต่างๆ จะเรียกว่า “รำ” หรือ “ระบำ” ก็ได้ เช่น รำทอซิ่นตีนจก หรือ ระบำทอซิ่นตีนจก,  รำเบญจรงค์ หรือ ระบำเบญจรงค์  ฯลฯ
ฟ้อน เซิ้ง เรือม ตารี
๑.      “ฟ้อน” ใช้เรียกรำหรือระบำ ของวัฒนธรรมภาคเหนือและภาคอีสาน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนวี ฟ้อนที ฟ้อนภูไท ฟ้อนแขบลาน ฟ้อนคอนสวรรค์ ฯลฯ
๒.     “เซิ้ง” ใช้เรียกชุดฟ้อนที่มีการร้องไปด้วย เช่น เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งตังหวาย เซิ้งสาละวัน ฯลฯ
๓.      “เรือม” ใช้เรียก รำหรือระบำ ในกลุ่มวัฒนธรรมไทย-เขมร เช่น เรือมตล็อค  เรือมอันเร  ฯลฯ

๔.     ตารี” (Taree)  ใช้เรียก รำหรือระบำ ในกลุ่มวัฒนธรรมไทย-มลายู เช่น ตารีกีปัส ตารีปายง ตารีบุหงารำไป ฯลฯ

เอกสารอ้างอิง
จาตุรงค์  มนตรีศาสตร์. นาฏศิลป์ศึกษา.  กรุงเทพฯ : อักษรสยามการพิมพ์, ๒๕๒๗.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
อักษรเจริญทัศน์ พิมพ์ครั้งที่ ๓, ๒๕๓๐.
ศิลปากร, กรม. วิพิธทัศนา. กรุงเทพฯ : บริษัทเซเว่นพริ้นติ้งกรุ๊ป, ๒๕๔๒.
สุจิตต์  วงษ์เทศ. ร้องรำทำเพลง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๓๒.
สุมิตร  เทพวงษ์. ระบำ รำ ฟ้อน.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๖
สุรพล วิรุฬรักษ์. นาฏยศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๙.

จารีตนาฏศิลป์ไทย

เอกสารประกอบการสอนวิชา พื้นฐานนาฏกรรมไทย
ชั้น มัธยมศีกษาปีที่ ๔ วนศ.เชียงใหม่
จัดทำโดย ครูสมภพ  เพ็ญจันทร์

จารีตนาฏศิลป์ไทย
ก.      จารีตที่เป็นข้อปฏิบัติ
๑.      การแสดงโขนและละคร จะเริ่มบรรเลงด้วยเพลง “วา” และจบการแสดงด้วยเพลง “กราวรำ”
๒.      การแสดงโขน จะเริ่มการแสดงต้องให้ “ตัวพระ” หรือ “ตัวยักษ์” ลงโรง (ฉากแรก)
๓.      ตำแหน่งของนักแสดงบนเวที  กำหนดให้ “ด้านขวาของเวที” เป็นฝ่ายธรรมะ “ด้านซ้ายของเวที” เป็นฝ่ายอธรรม
๔.      การนั่งของนักแสดง กำหนดให้ “ตัวนาง” นั่งทาง “ขวามือ” ของตัวพระ ยักษ์ หรือลิง  และในฉากที่มีการเข้าเฝ้า ตัวละครสำคัญจะนั่งทาง “ขวามือ” ของกษัตริย์ 
๕.      ในการแสดง “โขนหน้าจอ” ให้ตั้ง “เตียงเล็ก” ด้านในชิดจอ
๖.      การตั้งเครื่องราชูปโภค กำหนดดังนี้ “ด้านซ้ายของเตียง” ตั้งพานพระศรี (พานหมาก) และพระแสง (อาวุธ)  “ด้านขวาของเตียง” ตั้งพระสุพรรณศรี (กระโถน) และกาน้ำ
๗.      กางวาง หมอนสามเหลี่ยม (หมอนขวาน) และ หมอนสี่เหลี่ยม (หมอนหน้าอิฐ) ให้วางทางด้าน“ซ้ายมือของผู้แสดง”  (ในฉากวิมาน ห้ามไม่ให้ใช้เครื่องราชูปโภคและหมอน)
๘.      นางกำนัลที่ทำหน้าที่ “โบกพัด” ให้อยู่ “ด้านขวาของเตียง”  ส่วนหน้าที่ “โบกแส้” อยู่ “ด้านซ้ายของเตียง”  (เวลานอนตัวละครจะหันศีรษะไปทางซ้ายของเตียง การโบกพัดจึงต้องโบกทางปลายเท้า)
๙.      การใช้อาวุธในการแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง มีข้อปฏิบัติคือ (๑) ต้องเป็นสิ่งจำลองห้ามใช้ของจริง (๒) การจับถือต้องจับแบบ “ซ่อนคม” คือหันคมเข้าในตัว (๓) การพุ่ง ขว้าง แทงอาวุธ “ห้าม” ไม่ให้อาวุธหลุดจากมือ เช่น รามสูรขว้างขวานต้องใช้วิธี “ขว้างแบบซ่อนขวาน” (๔) อาวุธศรหรือธนู จะไม่มีสาย เพราะหากต่อการควบคุมทิศทาง
๑๐.  การแต่งตัวโขน ก่อนสวมสังวาลย์หรือหัวโขน จะต้องรำลึกถึงพระคุณครูอาจารย์ การสวมสังวาล จะต้องสวมเป็นชิ้นสุดท้าย และต้องครูผู้ใหญ่สวมให้
๑๑.   การกลางกลด  จะกางเฉพาะตัวแสดงที่เป็นพระมหากษัตริย์ อุปราช ในการแสดงโขนหน้าจอ คนกางกลดจะอยู่ด้านขวา ตัวแสดงจะใช้มือซ้ายแตะที่ขอบพระตูโขน เรียกว่า “เท้าฉาก”  ส่วนในการแสดงโขนฉาก โขนกลางแปลง ละคร คนกางกลดจะอยู่ด้านซ้าย ตัวแสดงจะใช้มือแตะที่ด้ามกลด เรียกว่า “เท้ากลด”  สรุปคือ การ “เท้าฉาก” เป็นจารีตของโขน ส่วนการ “เท้ากลด” เป็นจารีตของละครที่โขนบางประเภทยืมมาใช้
๑๒.   ในขณะตรวจพล คนกางกลดจะหมุนกลดไปด้วย เรียกว่า “กลิ้งกลด”
๑๓.   จารีตในการเรียกเพลงหน้าพาทย์โขน ถ้ามีตัวโขนที่มีศักดิ์สูงอยู่ในฉาก เมื่อถึงบทที่ตัวโขนศักดิ์ต่ำกว่าจะต้องรำหน้าพาทย์ ผู้พากย์จะไม่เรียกหน้าพาทย์ชั้นสูง จะเรียกหน้าพาทย์ปกติทั่วไปแทน เช่น ถ้าอินทรชิตกราบทูลลาทศกัณฐ์ไปทำสงคราม ทศกัณฐ์ยังประทับอยู่ จะเรียกเพลง “เสมอธรรมดา” ไม่เรียกเพลง “เสมอมาร” ซึ่งเป็นหน้าพาทย์ชั้นสูง เป็นต้น
๑๔.   การเรียงลำดับความสำคัญในการแสดง เมื่อมีการแสดงพร้อมกัน จะต้องให้ “หนังใหญ่” ขึ้นก่อน ตามด้วยการแสดง “โขน” และ การแสดง “ละคร” เป็นลำดับสุดท้าย
๑๕.   จารีตของนักแสดง เมื่อได้ยินการบรรเลง “เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง” จะต้องยกมือไหว้รำลึกถึงคุณครูอาจารย์ที่ท่านได้สั่งสอนอบรมมา
๑๖.   เมื่อจบการแสดงในแต่ละครั้ง แต่ละรอบ นักแสดงจะขอขมาลาโทษและให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน เป็นการสร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะศิลปินด้วยกัน
ข.      จารีตที่เป็นข้อห้าม
๑.      ห้ามวางหัวโขนยักษ์ซ้อนบนหัวโขนลิง
๒.      ห้ามนอนในขณะแต่งเครื่องโขน-ละคร
๓.      ห้ามข้ามเครื่องแต่งกายและอาวุธที่ใช้แสดงต่างๆ
๔.      ห้ามมิให้ตั้งจอโขนรับตะวันและขวางทิศทางลม
๕.      ห้ามมิให้ถือหัวโขนห้อยหัวลง หรือนำอาวุธยาวๆ เสียบหัวโขนไว้
๖.      ห้ามมิให้ใช้นิ้วมือหรือวัตถุใดๆ แหย่งช่องตาหัวโขน
๗.      ห้ามมิให้รำหน้าพาทย์แบบเล่นๆ หรือพร่ำเพรื่อ การรำจะต้องรำให้จบเพลงทุกครั้ง
๘.      ห้ามมิให้ตัวแสดงสำคัญตายกลางโรง

๙.      ห้ามมิให้ผู้แสดงเดินผ่านบนเวทีโดยไม่เคารพ
๑๐.   ห้ามมิให้ถวายเครื่องสังเวยในตอนเย็น และไม่มีพิธีเบิกหน้าพระในการแสดงโขน-ละครในงานราชการ (งานหลวง)

ค.        จารีตที่เป็นเคล็ดลาง
๑.      หัวหลุดกลางโรง ห้ามถอด ต้องให้ครูผู้ใหญ่ต่อหัว (ยอด) ให้
๒.      ถอดหัวไม่ออก ต้องขอขมาครูและให้ครูผู้ใหญ่ถอดให้
๓.      สุนัขวิ่งผ่านหน้าโรงหรือหน้าจอโขน เป็นลางดี นำมาซึ่งความสำเร็จ
๔.      แมววิ่งผ่านหน้าโรงหรือหน้าจอโขน เป็นสิ่งไม่ดี เป็นอัปมงคล
๕.      ถ้าโรงชำรุดหรือหักพังในขณะแสดงถือว่าเป็นสิ่งไม่ดี


เอกสารอ้างอิง

ประเมษฐ์  บุณยะชัย.  จารีตนาฏศิลป์ไทย.  เอกสารประกอบการสอนวิชาจารีตนาฏศิลป์ไทย

สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรุงเทพมหานคร, 2546.

ลำดับเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ในพิธีไหว้ครูโขน-ละคร

เอกสารประกอบการสอน
วิชา ศ ๓๐๒๐๑ วิชาพื้นฐานนาฏกรรมไทย  ชั้น ม.๔
จัดทำโดย ครูสมภพ   เพ็ญจันทร์  วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

ลำดับเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ในพิธีไหว้ครูโขน-ละคร
(ครูวีระชัย  มีบ่อทรัพย์ ทำพิธี ณ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ วันพฤหัสบดี ๒๘ มิ.ย.๕๕)

                     ๑.         สาธุการ                         เชิญประธาน จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (พิธีพุทธ)
                     ๒.         พราหมณ์เข้า                    ครูผู้ทำพิธี (สมมติว่าเป็นพราหมณ์) เดินเข้าสู่พิธี
                     ๓.         มหาชัย                          เชิญประธาน จุดธูปเทียนบูชาครูเทพ (เป็นพิธีพราหมณ์)
ครูกล่าวอัญเชิญเทวดา (บท สัคเค กาเม...........)
                     ๔.         โหมโรง                          โหมโรงเพื่อแสดงว่าเริ่มต้นงานพิธีไหว้ครู
(จุดธูป ครูอ่านโองการ ให้ทุกคนว่าตามครู  บทบูชาพระอิศวร พระนารายณ์ เทพ.....)
                     ๕.         สาธุการกลอง                   บูชาพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม เทพ ฯลฯ
                     ๖.         ตระเชิญ                        อัญเชิญเทพยดาทุกองค์
                     ๗.         ตระสันนิบาต                   เทพยดามาชุมนุมพร้อมกัน  (สันนิบาต แปลว่า การชุมนุม)
                     ๘.         เหาะ                            อัญเชิญครูเทพเจ้าเดินทางมาทางอากาศ
                     ๙.         ตระนารายณ์บรรทมสินธุ์      อัญเชิญพระนารายณ์
(ครูอ่านโองการ ให้ทุกคนว่าตามครู บทบูชาพระวิษณุกรรม พระปัญจสีขร พระปรคนธรรพ
พระฤาษีทั้ง ๗ ตน ...........)
                   ๑๐.       ตระพระปรคนธรรพ            อัญเชิญพระปรคนธรรพ  (บรมครูด้านดนตรี บางตำราว่า
เป็นองค์เดียวกับพระนารทฤๅษี หรือ ฤๅษีนารอด)
                   ๑๑.       กลม                             พระนารายณ์เดินทางสู่พิธี (บางครั้งเรียกว่า กลมนารายณ์)
                   ๑๒.       บาทสกุณี                       อัญเชิญครูพระใหญ่ เช่น พระราม พระลักษมณ์ ฯลฯ
                   ๑๓.       เชิดฉิ่ง                           อัญเชิญครูเดินทางมา
                   ๑๔.       เพลงช้า-เพลงเร็ว               อัญเชิญ ครูพระ-ครูนาง
                   ๑๕.       รุกร้น                           อัญเชิญครูลิงเดินทางมาเป็นทัพใหญ่
                   ๑๖.       เสมอข้ามสมุทร                 ครูลิง เดินทางข้ามมหาสมุทรมาสู่พิธี
(ถึงตรงนี้ เป็นเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. ครูให้ศิษย์อาวุโสคนใดคนหนึ่งถวายข้าวพระพุทธ...เป็นพิธีพุทธ)   
                   ๑๗.       กราวนอก                       อัญเชิญครูลิง
                   ๑๘.       กราวใน                         ครูยักษ์ เดินทางมาเป็นกองทัพใหญ่
                   ๑๙.       ดำเนินพราหมณ์                อัญเชิญครูพราหมณ์ ครูฤาษี นักบวช ทุกองค์
                   ๒๐.       เสมอมาร                        อัญเชิญครูยักษ์ มาร รากษส เข้าสู่พิธี
                   ๒๑.       เสมอผี                          อัญเชิญภูตผีปีศาจ เข้าสู่พิธี
(ผู้ร่วมพิธีจุดธูปเทียน ครูอ่านโองการเชิญพระพิราพ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นปางดุร้ายของพระอิศวร)
                   ๒๒.       องค์พระพิราพเต็มองค์          อัญเชิญครูพระพิราพ
                   ๒๓.       ลงสรง                           อัญเชิญครูสรงน้ำ แต่งตัว
(เพลงนี้ จะเชิญประธานในพิธี ผู้มีเกียรติ ครูอาวุโสทั้งหลาย  สรงน้ำเทวรูปปางศิวะนาฏราช)
                   ๒๔.       เสมอเข้าที่                      อัญเชิญครูประทับบนที่ ที่จัดไว้ให้
                   ๒๕.       เชิด                              ครูทุกองค์เข้าประจำที่
(เพลงเชิดนี้  ตัวแทนศิษย์จะพากันรำถวายเครื่องสังเวย)
                   ๒๖.       นั่งกิน                           อัญเชิญครูเสวยกระยาหาร
                   ๒๗.       เซ่นเหล้า                        อัญเชิญครูดื่มสุราเมรัย
(จบแล้ว บรรดาศิษย์ที่ติดตามครูผู้นำทำพิธี จะช่วยกันตระเตรียมทำพิธีครอบและมอบ
 ครูผู้นำทำพิธีอัญเชิญศีรษะครูพระภรตฤๅษี มาสวมไว้ครึ่งศีรษะ สมมติตัวเองเป็นพระภรตฤๅษี)
                   ๒๘.       เสมอเถร                        ครูภรตฤาษีรำเข้าสู่พิธี
(รำจบแล้ว ครูภรตฤๅษีถามว่า ลูกศิษย์พร้อมแล้วหรือยัง ทุกคนตอบว่า พร้อมแล้วครับ/พร้อมแล้วค่ะ   ครูกล่าวว่า ให้ทุกคนสวัสดีมีชัย)
                   ๒๙.       มหาชัย                          ครูภรตฤๅษีทำ “พิธีครอบ” ให้แก่ศิษย์ชุดแรก
ซึ่งทุกคนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ (ซึ่งจะฝึกสอนในปีที่ ๕)

                   ๓๐.       ประสิทธิ                        ครูภรตฤๅษีทำ “พิธีมอบ” ให้แก่ศิษย์ชุดแรกที่จะเป็นครูผู้สอนต่อไป
ในอนาคต (พิธีมอบ กระทำโดยการมอบอาวุธต่างๆ ที่ใช้ในการแสดงโขน-ละคร เช่น ศร จักร พระขรรค์ ฯลฯ ให้แก่ศิษย์ ศิษย์รับทูนเหนือศีรษะเดินออกนอกบริเวณมณฑลพิธีไป)
(ต่อจากพิธีมอบ ก็จะเป็น “พิธีครอบ” หรือเจิมหน้าผาก โดยไม่มีการบรรเลง ใช้เวลาระยะประมาณ ๑-๒ ชั่วโมง เมื่อเสร็จแล้ว ครูภรตฤๅษี จะประทับเป็นประธานเพื่อดูศิษย์รำถวายมือ เพลงช้า-เพลงเร็ว และต่อท่ารำหน้าพาทย์ชั้นสูงต่างๆ ซึ่งบรมครูได้กำหนดไว้ว่าต้องต่อทำรำเมื่อครอบครูแล้วเท่านั้น   เช่น รำ ตระนิมิต ตระบองกัน ชำนาญ บาทสกุณี คุกพาทย์ รัวสามลา เป็นต้น  เมื่อเสร็จแล้ว ครูภรตฤษี ก็จะประทับยืนบนผ้าขาวที่ปูลาดไว้ กล่าวอำนวยชัยให้พรศิษย์ทุกคน แล้วเตรียมเดินทางกลับ)
                   ๓๑.       พราหมณ์ออก                   ครูภรตฤๅษีร่ายรำ เพื่อเดินทางกลับ
(ครูผู้ทำพิธี ถอดศีรษะพระครูภรตฤๅษีออก กลับมาเป็นพราหมณ์ผู้ทำพิธีเช่นเดิม)
                   ๓๒.       พระเจ้าลอยถาด                ครูเสวยเสร็จ นำถาดหรือภาชนะใส่อาหารลอยน้ำไป
(ดังพระพุทธเจ้าฉันอาหารที่นางสุชาดาถวายเสร็จ ก็เสี่ยงสัจจะอธิษฐาน ลอยถาด  ทวนน้ำไป- ดูพุทธประวัติ)
                   ๓๓.       โปรยข้าวตอก                   โปรยข้าวตอกอัญเชิญครูกลับ
(ครูผู้ทำพิธี นำศิษย์ทุกคนรำโปรยเข้าตอก อัญเชิญครูกลับ)
                   ๓๔.       กราวรำ                         ผู้ร่วมพิธีทุกคนร่วมร่ายรำ แสดงความยินดี
                   ๓๕.       เชิด                              เสร็จพิธีไหว้ครู ทุกคนร่วมโห่ร้องไชโย ๓ ครั้ง เดินทางกลับ
(เสร็จพิธี)

อาจารย์สมภพ   เพ็ญจันทร์

บันทึกเมื่อวันพฤหัสบดีที่  ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๕